ฉลาดซื้อ ตรวจปลาทูน่ากระป๋อง พบปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน เตือนคนรักสุขภาพหากทานบ่อยอาจสะสมโลหะหนักในร่างกาย

        จากข่าวองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงสุ่มตรวจปลากระป๋อง 46 ตัวอย่าง (ซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง/ ทูน่า 20 ตัวอย่าง/ ปลาตะเพียน 7 ตัวอย่าง) พบว่าในปลาซาร์ดีน 19 ตัวอย่าง มีถึง 17 ตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนจากแคดเมียม และสองตัวอย่างในนั้นเป็นปลาซาร์ดีนจากเมืองไทยที่มีระดับการปนเปื้อนของแคดเมียม 0.11 mg/kg และ 0.13 mg/kg ซึ่งเกินระดับปลอดภัย (0.1 mg/kg) ตามกฎหมายใหม่ของฮ่องกงที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตในบ้านเรา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา และนำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพื่อหาการปนเปื้อนของโลหะหนักสามชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียมการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ประเทศไทยกำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ สามารถตรวจพบปริมาณปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และมีปริมาณตะกั่วได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่องอาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทส่วนการปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ประเทศไทยกำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 98 ) พ.ศ. 2529 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน  ผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทั้ง 28 ตัวอย่าง พบว่าทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม แต่ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า ตัวอย่างที่พบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทน้อยที่สุด (0.023 มก./กก.) มีสองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลืองตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอทมากที่สุด (0.189 มก./กก.) ได้แก่ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือสำหรับการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.การปนเปื้อนแคดเมียม ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมน้อยที่สุด (0.004 มก./กก.) สองตัวอย่างได้แก่ 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อนของแคดเมียมมากที่สุด (0.029 มก./กก.) หนึ่งตัวอย่างได้แก่ ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ          ภก.วรวิทย์ กิตติวงศ์สุนทร  ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าโลหะหนัก เช่น ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม ที่ปนเปื้อนในอาหารทะเล เกิดจากอุตสาหกรรม เช่น การทําเหมืองแร่ การผลิตกระดาษ  อุตสาหกรรมหนักต่างๆ หรือ การใช้อุปกรณ์ที่มีโลหะหนักเป็นองค์ประกอบ เช่น ท่อส่งน้ำ ท่อระบายน้ำ แบตเตอรี สายเคเบิล เม็ดสี พลาสติก พีวีซี ยาฆ่าแมลง  โลหะหนักเหล่านี้ปนเปื้อนแหล่งน้ำหรือกระจายในชั้นบรรยากาศและตกลงสู่ทะเล  สะสมในแต่ละลําดับชั้นของห่วงโซ่อาหารการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนโลหะหนักในอาหาร โดยหลักการจะกำหนดให้ต่ำกว่าระดับการบริโภคที่จะก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ โดยมีมาตรฐานกลางระหว่างประเทศ  แต่ประเทศหรือรัฐใด จะกำหนดมาตรฐานให้เข้มงวดกว่าเกณฑ์กลางก็ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะคุ้มครองความปลอดภัยให้ประชาชนผู้บริโภคของตนได้ดียิ่งขึ้นผู้บริโภคที่เลือกรับประทานปลาทูน่ากระป๋องเพราะมีโปรตีนสูงและให้แคลอรีต่ำนั้น ควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะสลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยเกินไปก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ด้านปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (45 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่  และตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (350 มิลลิกรัม) ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง จึงควรอ่านฉลากและบริโภคในปริมาณที่เหมาะสมปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง          อ่าน “ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง”  ฉบับเต็มได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3448ติดตามทุกเรื่องราวเกี่ยวกับผู้บริโภคได้ที่เพจ Facebook/นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค            

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ผลทดสอบโลหะหนักในปลาทูน่ากระป๋อง

        ปลาทูน่า (Tuna) เป็นปลาทะเลที่อยู่กันเป็นฝูง เคลื่อนที่ว่องไว อาศัยอยู่ตามเขตชายฝั่งและทะเลน้ำลึก ปลาทูน่าเป็นปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากที่สุด และ ติด 1 ใน 5 ของอาหารทะเลที่ผู้คนทั่วโลกนิยมบริโภค โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมจับมาเป็นอาหาร นั้นมีอยู่ 5 ชนิด ได้แก่ ปลาทูน่าท้องแถบ (Skipjack Tuna), ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellowfin Tuna), ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore Tuna), ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin Tuna) และ ปลาทูน่าตาโต (Bigeye Tuna) โดยสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นิยมนำมาทำปลากระป๋องถึงร้อยละ 58 คือ ปลาทูน่าท้องแถบ         นอกจากความนิยมรับประทานปลาทูน่าสดๆ อย่าง ซาชิมิ (Sashimi) กับ ซูชิ (Sushi) ซึ่งเป็นอาหารญี่ปุ่นแล้ว ยังนิยมนำปลาทูน่ามาทำปลากระป๋องอีกด้วย ปลาทูน่าอุดมไปด้วยโปรตีน และ โอเมก้า 3 ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูง ลดไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ทั้งยังให้ไขมันต่ำและเป็นไขมันดี รวมถึงมีแร่ธาตุและวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี และเป็นเนื้อสัตว์ประเภทที่ย่อยง่ายอีกด้วย         ปลาทูน่ากระป๋องสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแซนวิชทูน่าที่เหมาะเป็นอาหารเช้า ผัดกะเพราทูน่า ทูน่าคอร์นสลัด ขนมจีนน้ำยาปลาทูน่า น้ำพริกทูน่ารับประทานคู่กับผักสด เป็นต้น แต่นอกจากความอร่อยของทูน่ากระป๋อง ก็ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการปนเปื้อนของโลหะหนักในอาหารทะเล เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โดยเฉพาะปรอท ซึ่งโลหะหนักเหล่านี้เป็นพิษต่อร่างกายหากได้รับในปริมาณมากหรือสะสมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งการปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านี้มาจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ขาดระบบการจัดการที่ดี ปล่อยโลหะหนักสู่สภาพแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล และมหาสมุทร ทำให้สัตว์ทะเลปนเปื้อนโลหะหนักเหล่านั้น และสุดท้ายก็เข้าสู่วงจรห่วงโซ่อาหารของเราผู้บริโภค          เพื่อเป็นการเฝ้าระวังความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารให้กับผู้บริโภค ฉลาดซื้อภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจำนวนทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในเดือนพฤษภาคม 2563 นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของโลหะหนัก 3 ชนิด ได้แก่ ปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม โดยผลการตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางต่อไปนี้ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น สรุปผลทดสอบ          จากผลตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนักทั้งสามชนิดในผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องข้างต้น สรุปได้ว่า         ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่าง มีปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว หรือ แคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข         โดยการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอทและตะกั่ว ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 355) พ.ศ. 2556 เรื่อง อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ได้กำหนดให้อาหารในภาชนะบรรจุที่เป็นโลหะ ตรวจพบปริมาณปรอท ได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับอาหารทะเล และ ตรวจพบปริมาณตะกั่ว ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม         สำหรับการปนเปื้อนของแคดเมียม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลา ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม          ซึ่งจากผลทดสอบหากเปรียบเทียบปริมาณการปนเปื้อนโลหะหนักแต่ละประเภทจะพบว่า        ปรอท (Mercury)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่          1) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า                 ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ SEALECT ซีเล็ค ทูน่าสเต็กในน้ำมันถั่วเหลือง / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.023 มก./กก.        - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของปรอท มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่         1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า             ตรวจพบปริมาณปรอท เท่ากับ 0.189 มก./กก.         ตะกั่ว (Lead)         สำหรับการตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของตะกั่วนั้น ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบ หรือพบแต่น้อยกว่า 0.008 มก./กก.          แคดเมียม (Cadmium)         - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม น้อยที่สุด 2 ตัวอย่าง ได้แก่                 1) ยี่ห้อ ROZA โรซ่า ทูน่าก้อน ในน้ำมันพืช / BigC สาขาสุขสวัสดิ์            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก. และ  2) ยี่ห้อ TCB ทีซีบี ทูน่าชนิดก้อนในน้ำแร่ / FoodLand หลักสี่             ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.004 มก./กก.          - ตัวอย่างที่ตรวจพบปริมาณการปนเปื้อนของแคดเมียม มากที่สุด 1 ตัวอย่าง ได้แก่      1) ยี่ห้อ SEALECT Fitt ซีเล็ค ฟิตต์ ทูน่าสเต็กในน้ำเกลือ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า            ตรวจพบปริมาณแคดเมียม เท่ากับ 0.029 มก./กก.         ทั้งนี้ ผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทปรอท ตะกั่ว และแคดเมียม ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกตปริมาณโซเดียม         จากการสำรวจปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ จากข้อมูลโภชนาการบนฉลากบรรจุภัณฑ์ พบว่า        ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ Tops ท็อปส์ ทูน่าสเต็กในน้ำแร่ / Tops market สาขาเซ็นจูรี่ พลาซ่า มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 45 มิลลิกรัม          และ ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค มากที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ BROOK บรุค ปลาทูน่าในน้ำมันถั่วเหลือง / Tesco Lotus สาขา ถ.สุขสวัสดิ์ มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค เท่ากับ 350 มิลลิกรัม  คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค        แม้ว่าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องจะมีคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะให้โปรตีนสูง ให้แคลอรีต่ำ แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของโลหะหนัก แม้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่หากรับประทานบ่อยครั้งจนเกินไป ก็อาจเกิดการสะสมของโลหะหนักในร่างกายได้ จึงควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะ สลับกับการบริโภคอาหารประเภทอื่น        ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ปรับปรุงประกาศฉบับเดิมคือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 355 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ให้เป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 414 โดยลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่  20 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้หลังครบ 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจานุเบกษา  ประกาศฯ ฉบับนี้กำหนดให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของแคดเมียมในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตะกั่วในอาหารประเภทปลาได้ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และปรอทในอาหารประเภทปลาทูน่า โดยอยู่ในรูปเมธิลเมอร์คิวรี (methyl mercury) ได้ไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม  ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์ปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักประเภทแคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในปลาทูน่ากระป๋องไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 28 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 211 เป็นไปได้ไหม หนอนในปลากระป๋อง

     ปลากระป๋องเป็นอาหารสำเร็จรูป ดังนั้นเมื่อเปิดฝาจึงนำมาทานได้ทันที และยังใช้เป็นวัตถุดิบทำได้อีกหลายเมนู เช่น ยำปลากระป๋อง ต้มยำปลากระป๋อง คะน้าผัดปลากระป๋อง เป็นต้น  พูดแล้วหลายคนอาจน้ำลายสออยากรับประทานขึ้นมาทันที แต่ช้าก่อนลองอ่านเรื่องราวของผู้ร้องรายนี้ดูก่อน     เย็นวันหนึ่งในหน้าร้อนของเดือนเมษายน คุณภูผาอยากทานยำปลากระป๋อง และนึกขึ้นได้ว่าซื้อปลากระป๋องไว้ตั้งแต่เดือนมีนาคม จากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งยังเหลืออยู่หลายกระป๋อง จึงไปหยิบมาเพื่อเตรียมทำอาหาร โดยคุณภูผาได้เปิดฝากระป๋องแล้ววางพักไว้ก่อน แล้วจึงหันไปซอยพริก ซอยหอมแดง เด็ดใบโหระพาเตรียมไว้ จากนั้นจึงหันกลับมาจะเอาปลากระป๋องเทใส่จาน เตรียมคลุกเคล้ากับวัตถุดิบที่เตรียม   แล้วพลันสายตาอันว่องไว ก็สังเกตเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติอยู่ในปลากระป๋อง มีลักษณะตัวเรียวยาวสีขาว คล้ายหนอนผุดขึ้นมาจากเนื้อปลากระป๋อง เมื่อเขย่ากระป๋องก็ผุดออกมาเป็นตัว จึงโทรศัพท์ไปตามหมายเลขที่อยู่ข้างกระป๋องทันที เพื่อแจ้งเรื่องที่พบ และหวังให้บริษัทผู้ผลิตตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วยังได้รีบไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้บ้านไว้อีกด้วย  ซึ่งคุณตำรวจแนะนำให้คุณภูผาแจ้งร้องเรียนไปที่ สคบ. (สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ด้วยอีกทางหนึ่ง ประจวบเหมาะพอดี ในขณะลงบันทึกประจำวันมีนักข่าวอยู่ในสถานีตำรวจด้วย จึงทำข่าวเรื่องพบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋องยี่ห้อดัง ทำให้คุณภูผากลายเป็นคนในข่าวไปทันที  ตอนสายๆ ของวันรุ่งขึ้น คุณภูผาเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตามคำแนะนำของคุณตำรวจ โดยนำปลากระป๋องที่พบสิ่งปนเปื้อนไปด้วย เจ้าหน้าที่ได้รับเรื่องร้องเรียนไว้ และแนะว่า ต้องไปให้ทาง อย. ตรวจสอบ ดังนั้นตอนบ่ายของวันเดียวกันจึงเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนและตรวจสอบกระบวนการผลิต แต่เจ้าหน้าที่ของ อย. ได้แจ้งว่าไม่ต้องร้องเรียนแล้ว เพราะทาง อย.ไปตรวจโรงงานผู้ผลิตแล้วเมื่อเช้า ตามข่าวและทาง อย.ไม่พบสิ่งผิดปกติอันใด  ส่วนตัวขาวๆ ที่พบนั้น น่าจะเป็นหนอนแมลงวัน และได้อธิบายวงจรชีวิตหนอนแมลงวันให้คุณภูผาฟัง ซึ่งรับฟังแล้วผู้ร้องยังไม่เข้าใจดีนักและค้างคาใจอยู่  จึงโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาจากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อขอคำแนะนำ เบื้องต้นทางศูนย์ฯ จึงได้ขอให้เจ้าหน้าที่ อย. รับเป็นเรื่องร้องเรียนไว้ก่อน และให้ผู้ร้องตักแบ่งตัวอย่างปลากระป๋องครึ่งหนึ่งไว้ให้กับ อย. เพื่อให้ตรวจสอบว่าสิ่งผิดปกติที่พบคืออะไรตอนนั้นคุณภูผาได้แอบสงสัยและตั้งคำถามในใจว่า ทำไม อย.สรุปผลการตรวจโรงงานได้รวดเร็ว เนื่องจากเพิ่งเป็นข่าวเมื่อวานช่วงค่ำเอง หลังจากร้องเรียนกับหน่วยงานทั้งสองผ่านไป ผู้ร้องได้นำตัวอย่างปลากระป๋องที่เหลือมามอบให้ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เพื่อหาทางตรวจสอบว่าหนอนที่พบหรือสิ่งปนเปื้อนนั้นคืออะไรกันแน่แนวทางแก้ไขปัญหา   เบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิ ได้แนะนำข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่า ร้านค้าผู้จำหน่ายปลากระป๋องอาจเข้าข่ายจำหน่ายอาหารปนเปื้อน ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์นั้น มีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ    ขณะเดียวกันเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ปรึกษานักวิชาการเพื่อหาวิธีการตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในปลากระป๋อง นักวิชาการแนะนำว่าให้ผู้ร้องสอบถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่า ตรวจสอบอะไร และใช้วิธีไหนตรวจสอบ เพื่อการตรวจสอบจะได้ไปในทิศทางเดียวกันและไขข้อข้องใจของทุกฝ่าย ผู้ร้องได้ติดต่อ อย. เพื่อสอบถาม และแจ้งกลับมายังศูนย์พิทักษ์ฯ ว่า อย.แจ้งว่าไม่ทราบจะตรวจอะไรเหมือนกัน ศูนย์พิทักษ์ฯ จึงปรึกษานักวิชาการอีกครั้ง และส่งตรวจห้องปฏิบัติการ ผลการตรวจพบว่าสิ่งปนเปื้อนที่พบเป็นหนอนแมลงวันหัวเขียว การฟักตัวของไข่ต้องอาศัยอากาศในการเจริญเติบโต หนอนจึงไม่สามารถอยู่ในปลากระป๋องที่ปิดสนิทโดยไม่มีอากาศได้ หนอนแมลงวันที่ผู้ร้องพบจึงไม่สามารถพบในกระบวนการผลิตได้ ซึ่งกระป๋องอาจมีรอยรั่วหลังจากที่ซื้อสินค้ามา   เมื่อทราบผลการตรวจสอบศูนย์พิทักษ์ฯ ได้แจ้งให้คุณภูผาทราบ  และแจ้งว่า สคบ. ได้นัดผู้ร้องให้เจรจากับบริษัทผู้ผลิตปลากระป๋อง ซึ่งอาจฟ้องร้องคุณภูผาที่ทำให้เกิดข่าวสร้างความเสียหาย อย่างไรก็ตามผลการเจรจาคือ คุณภูผากับบริษัทต่างฝ่ายต่างไม่ฟ้องคดีกันและทำบันทึกกันไว้ที่ สคบ.     เพื่อให้ครอบคลุม เนื่องจากสถานที่เก็บปลากระป๋องก่อนจำหน่ายอาจไม่มีการดูแลที่ดี ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ทำหนังสือขอทราบผลการดำเนินการกรณีร้องเรียนที่คุณภูผา ร้องไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดย อย. ได้แจ้งผลการดำเนินการว่า ได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกที่ผู้ร้องได้ซื้อสินค้ามาตรวจสอบแล้ว ไม่พบสิ่งผิดปกติ อีกทั้งได้ตรวจสถานที่ผลิต  ซึ่งผลปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2552 21 ต.ค. 52 ระวัง!!! อาหารกระป๋องของ “บ.กิ่งแก้วฟู้ดส์” และ “บ.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์ เทรดดิ้ง” นพ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าจากการเฝ้าระวังสถานการณ์ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋อง ยังคงพบผลิตภัณฑ์ ลิ้นจี่กระป๋อง ตราชาวดอย เน่าเสียก่อนหมดอายุ และพบผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องลำไยในน้ำเชื่อมตราชาวดอย ผลิตโดย หจก.ไทย เอ ดี ฟู้ดส์เทรดดิ้ง จ.เชียงราย วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด ซึ่งบริษัทดังกล่าวยกเลิกใบอนุญาตผลิตอาหารไปแล้วตั้งแต่วันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา รวมทั้งบริษัททองกิ่ง-แก้วฟู้ดส์ จำกัด จ.สมุทรสาคร ได้ขาดการต่ออายุใบอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ซึ่งมีผลให้เลขทะเบียนตำรับอาหารทั้งหมดของบริษัทสิ้นสภาพไปด้วย ดังนั้น อย.จึงประกาศเตือนผู้บริโภคอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องและผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทั้ง 2 บริษัทนี้มารับประทาน เพื่อความปลอดภัยในการบริโภค และหากพบเห็นผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทดังกล่าววางจำหน่าย สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. โทร.1556 หรือที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ   27 ต.ค. 52ทดสอบ “เน็ต” เร็วแค่ 70% ของโฆษณาหลังจากที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ร่วมกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดตัวโครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ต ปี 2552 หรือ ‘สปีดเทสต์’ ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. – 25 ต.ค. ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาข้อมูลการให้บริการอินเตอร์เน็ตของผู้ประกอบการ (ไอเอสพี) ผ่านเว็บไซต์หลักของโครงการคือ www.speedtest.or.th จากผลการทดสอบที่ความเร็วต่ำกว่า 12 เมกะบิตต่อวินาทีลงมา และเป็นการให้บริการผ่านเทคโนโลยี ADSL คิดเป็นจำนวน 7.5 แสนราย พบว่าความเร็วที่ได้ประมาณ 70% จากที่โฆษณา โดยอินเตอร์เน็ตในเครือสามารถ คอร์ปอเรชั่น ให้บริการได้ดีที่สุด นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสบท.กล่าวว่า หากไอเอสพีต้องการใช้ความเร็วเป็นจุดขาย ก็ควรปรับคุณภาพให้ได้ตามที่โฆษณาจริงๆ แต่หากทำไม่ได้จริงก็ควรลดค่าบริการลงให้เหมาะกับคุณภาพพ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวว่า สิ่งที่สมาคมฯ กับสบท.เปิดเผยในครั้งนี้ เป็นข้อมูลเชิงสถิติ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปปรับปรุงแก้ไขซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวมด้วย ทั้งนี้ผู้ใช้บริการควรให้ความสำคัญกับการตรวจวัดความเร็ว หมั่นตรวจสอบความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ใช้อยู่เป็นประจำ  29 ต.ค. 52มายังไง?! “เศษลวด” ในยาพารานายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่มีผู้บริโภคพบเศษลวดในยาพาราเซตามอลขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งหลังจากตรวจสอบเศษลวดดังกล่าว คาดว่าน่าจะเกิดจากตะแกรงหรือแร่งสำหรับร่อนยา รวมทั้งการตั้งระบบการไหลของยาที่ผลิตเสร็จแล้วเร็วเกินไป จึงทำให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตามได้เรียกเก็บยาล็อตดังกล่าวจากทั่วประเทศแล้ว ส่วนจะให้บริษัทเอกชนผลิตยาพาราเซตามอลต่อหรือไม่ อยู่ที่องค์การเภสัชจะพิจารณาต่อไป ขณะเดียวกันหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการทบทวนเพื่อลดปริมาณพาราเซตามอลในตัวยา จากเดิมคือ 500 มล./เม็ด ให้เหลือเพียง 325 มล./เม็ด เพื่อช่วยลดความแรงของฤทธิ์ยาลง ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่ายังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดได้ ทำให้อย.ของไทยเร่งทบทวนการใช้ยาพาราเซตามอลอย่างเหมาะสม 31 ต.ค. 52อย.เตือนอย่าเชื่อโฆษณากาแฟลดความอ้วนปัจจุบันมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปจำนวนมากที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงว่ามีผลในการลดน้ำหนัก ผิวสวย รูปร่างดี ฯลฯ นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า แม้ที่ฉลากจะระบุส่วนประกอบว่า มีไฟเบอร์ คอลลาเจน แอลคาร์นีทีน หรือโครเมียม แต่ยังไม่มีข้อมูลทางการวิจัยยืนยันว่า สารดังกล่าวมีผลในการลดน้ำหนัก ทำให้ผิวสวย หรือเพิ่มความงามแต่อย่างใด ส่วนเลขสารบบอาหารที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นเป็นเพียงการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ สถานที่ผลิต และส่วนประกอบเท่านั้น ไม่ได้รับรองการโฆษณาใดๆ และอย.ก็ไม่อนุญาตให้กล่าวอ้างสรรพคุณลดความอ้วนหากพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์กาแฟที่โอ้อวดเกินจริง สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน อย.โทร.1556  สภาผู้บริโภคฯ ร้องสคบ.คุมบริการมือถือเติมเงินสภาผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมและเครือข่ายผู้บริโภค ยื่นข้อเสนอต่อ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ขอให้แก้ไขประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 เพื่อควบคุมโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยประเด็นหลักๆ ที่เครือข่ายผู้บริโภคต้องการให้แก้ไข ประกอบด้วย การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินต้องไม่มีลักษณะบังคับให้ผู้ใช้ใช้ภายในเวลาจำกัด ซึ่งระยะเวลาในการใช้บริการขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 180 วัน และต้องมีระบบคืนเงินส่วนที่เหลือที่ไม่ได้ใช้ให้กับผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ผู้ให้บริการต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการให้บริการเสริมใดๆ บนเครือข่ายของตัวเอง โดยมีการชี้แจงค่าบริการและข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบริการอย่างชัดเจนซึ่งเหตุผลที่เครือข่ายผู้บริโภคเข้ามาร้องต่อสคบ. ในครั้งนี้เพราะเห็นว่า สคบ. สามารถเอาผิดกับผู้ให้บริการได้ทั้งทางแพ่งและอาญา ซึ่งดีกว่าประกาศของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เรื่องมาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ที่มีอำนาจเพียงการบอกเลิกสัญญาผู้ประกอบการเท่านั้นด้าน นายพิฆเนศ ต๊ะปวง ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา กล่าวว่า สคบ. ยินดีรับข้อเสนอ และนำไปศึกษาต่อว่าอยู่ในส่วนที่ สคบ. สามารถดำเนินการได้หรือไม่ พร้อมแนะให้ สภาผู้บริโภครวบรวมผู้ใช้โทรศัพท์ที่ถูกเอาเปรียบส่งให้ สคบ. ฟ้องผู้ประกอบการ เพื่อให้เห็นผลที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ เมื่อศาลตัดสินจะได้นำมายกเป็นกรณีตัวอย่าง แต่ที่ผ่านมาการฟ้องร้องไม่ค่อยจริงจัง เพราะสามารถไกล่เกลี่ยชดเชยค่าเสียหายกันได้ เครือข่ายผู้บริโภคร่วมพลัง! ส่งตรงข้อเสนอถึง กทช. ก่อนประมูล 3Gมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดโครงการปฏิบัติการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้น ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศครั้งที่ 1 ในการทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายรวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคกรณีการประมูลคลื่น 3G ของคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)นางสาวจุฑา สังคชาติ ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคใต้ กล่าวถึงประเด็นราคาประมูลและจำนวนใบอนุญาตว่า ต้องมีการออกมาตรการเรื่องการแข่งขัน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการส่งข้อมูลหรือภาพ โดยนำมาตรการดังกล่าวไปเปิดรับฟังความคิดก่อนเปิดประมูล และควรกำหนดคุณสมบัติผู้ประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องเป็นผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยเท่านั้น ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในการประมูลใบอนุญาตและผู้ให้บริการควรคิดค่าบริการอย่างเป็นธรรมนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวถึงเรื่องเงื่อนไขการประมูลระยะเวลาใบอนุญาตและความครอบคลุมการให้บริการ ในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายว่า ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขการประมูลให้ชัดเจน เช่น ต้องจัดบริการให้เข้าถึงอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น คนพิการ ต้องแจ้งโครงสร้างต้นทุนการให้บริการ เพื่อกำหนดราคาการให้บริการที่มีมาตรฐาน กทช.ต้องดูแลสัดส่วนของกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้ามาในตลาดการแข่งขัน และสัมปทานต้องไม่มีข้อกำหนดที่ปิดโอกาสในการขอสัมปทานในระบบอื่นในครั้งต่อไปดร.เรืองชัย ตันติยนนท์ สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสงขลา เสนอประเด็นการติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงานตามใบอนุญาตหรือเงื่อนไขการให้บริการว่า จะต้องมีกลไกการติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน ทั้งก่อนและหลังการประมูล อีกทั้งต้องมีกติกากำกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการอย่างเข้มแข็งและจริงจัง มีบทลงโทษที่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ กทช. ต้องสนับสนุนให้องค์กรผู้บริโภคเป็นกลไกเฝ้าระวังเพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินงาน และรัฐบาลต้องเร่งให้มีองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61ด้านนายสวัสดิ์ เฟื่องฟู ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคเหนือ กล่าวถึงประเด็นกลไกการกำกับเนื้อหาในระบบ 3G ว่า ต้องจัดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลระดับประเทศ มีองค์ประกอบจากทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้กำกับดูแล ผู้บริโภค เข้าไปกำกับดูแลและมีบทบาททั้งเชิงการให้คุณและให้โทษ โดยทำงานร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน รวมทั้งผู้ได้รับใบอนุญาตต้องกำหนดหรือสร้างเงื่อนไข สำหรับผู้ให้บริการเสริม ทั้งเนื้อหา ภาพ ข้อมูลให้ชัดเจนขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า จะนำข้อเสนอ ไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อเร่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 61 หลังจากนั้นจะนำเสนอข้อมูลให้กับคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติในวันที่ 12 พ.ย. และจะส่งข้อเสนอต่อคณะกรรมการไอซีที สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค และนักสิทธิมนุษยชนของวุฒิสภา เพื่อตรวจสอบว่าข้อเสนอดังกล่าวจะสามารถดำเนินการได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้จะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของ กทช. เกี่ยวกับกรณี 3G ให้ประชาชนทราบ ทั้งนี้หากข้อเสนอไม่ได้รับการปฏิบัติและดำเนินการ หรือการประมูลเกิดความไม่ชอบมาพากล อาจจะใช้ มาตรา 11 ตามพระราชบัญญัติฮั้วการประมูลมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินการต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 “เอ๊ะ ทำไมปลากระป๋องนี้ดูเหมือนมีพยาธิ”

เชื่อว่าใครหลายคนอาจติดใจในรสชาติปลากระป๋อง เพราะไม่ว่าจะนำไปใส่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำเป็นยำแซ่บ หรือกินคู่กับข้าวเปล่าร้อนๆ ก็อร่อยไปหมด ซึ่งหลักการสำคัญในการเลือกปลากกระป๋องมารับประทานก็เป็นเรื่องทั่วไป เช่น การดูวันเดือนปีที่ผลิต หมดอายุ กระป๋องอยู่ในสภาพดี อย่างไรก็ตามหากเราเลือกแล้วอย่างรอบคอบ แต่กลับพบว่าเมื่อเปิดมารับประทาน ปลากระป๋องนั้นมีสิ่งแปลกปลอม ที่ดูคล้ายกับพยาธิอยู่ด้วย เราจะทำอย่างไรคุณนกได้ซื้อปลากระป๋องยี่ห้อ อะยัม (AYAM) มารับประทาน จากห้างสรรพสินค้าเทสโกโลตัส สาขาปิ่นเกล้า ราคากระป๋องละ 32 บาท ซึ่งหลังจากรับประทานก็รู้สึกว่ารสชาติผิดปกติไปจากที่เคยกิน และเมื่อตรวจสอบปลาชิ้นนั้นดีๆ ก็พบสิ่งแปลกปลอมที่มีลักษณะเป็นเส้นๆ อยู่ในน้ำซอส จึงคาดเดาไปว่าเจ้าสิ่งนี้มันคือพยาธิแน่ๆ ถึงจุดนี้บางคนอาจจะนำไปทิ้งอย่างรวดเร็วด้วยความขยะแขยง แต่คุณนกผู้ร้องได้เก็บชิ้นส่วนที่น่าตกใจนั้นไว้ และนำมาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเพื่อหาความเป็นธรรมแนวทางการแก้ไขปัญหาหลังจากศูนย์พิทักษ์สิทธ์ได้รับเรื่องร้องเรียน จึงส่งตัวอย่างที่ผู้ร้องนำมาให้กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมง ช่วยตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าใช่พยาธิหรือไม่ พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาร่วมฟังผลการทดสอบ ซึ่งผลปรากฏว่า ตัวอย่างดังกล่าวไม่มีลักษณะที่บ่งชี้ว่าเป็นกลุ่มพยาธิ แต่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อปลาที่เปื่อยยุ่ยเท่านั้น พอได้ฟังอย่างนี้หลายฝ่ายต่างก็พากันโล่งใจ อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีนี้ทางบริษัทผู้ผลิตก็ไม่ได้นิ่งเฉย โดยมีการชี้แจงเพิ่มเติมว่า ชิ้นเนื้อที่เปื่อยยุ่ยนั้นอาจเกิดจากคุณภาพและขนาดปลาแต่ละรอบที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งได้ประสานงานไปยังบริษัทใหญ่ที่ประเทศอินโดนีเซีย ให้ควบคุมดูแลปลาแต่ละรอบให้มีความสมบูรณ์เท่ากันมากขึ้น นอกจากนี้ยังชดเชยผู้ร้องด้วยปลากระป๋องใหม่อีกด้วย ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นผู้ผลิตไม่ละเลยเรื่องทุกข์ร้อนของผู้บริโภค ซึ่งต้องขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ และตัวผู้บริโภคเองที่ไม่ละเลยสิทธิของตัวเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 117 ซื้อนมแถมมอด

เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา มีคุณพ่อ คุณแม่ลูกอ่อนวัยขวบเศษคู่หนึ่ง ได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสองสามีภรรยาคู่นี้ให้รายละเอียดว่า ในเย็นย่ำวันหนึ่งของปลายเดือนธันวาคม 2552 ตนได้ไปซื้อนมผงสำหรับทารกและเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปียี่ห้อซิมิแลค เกน แอดวานซ์ ขนาดบรรจุ 900 กรัม จำนวน 2 กระป๋อง ราคากระป๋องละ 341 บาทกับห้างสรรพสินค้าโลตัส สาขาปทุมธานี เหตุที่ซื้อเพราะเคยเห็นโฆษณาจึงตัดสินใจเลือกให้ลูกกินตั้งแต่วัย 6 เดือนเช้าตรู่ของสองวันต่อมา หลังจากนมกระป๋องเดิมที่มีอยู่หมด คุณพ่อคุณแม่จึงได้เปิดหนึ่งในกระป๋องนมที่ซื้อมาใหม่เพื่อเตรียมชงนมให้ลูกกิน แต่ต้องตกใจเป็นอย่างมากเมื่อเปิดกระป๋องนม เพราะพบเนื้อนมในกระป๋องมีสีน้ำตาลเข้มทั้งหมดแทนที่จะเป็นสีขาวเหลืองอย่างที่คุ้นเคย แต่สิ่งที่สร้างความขยะแขยงไปกว่านั้นคือ มีตัวแมลงเล็กๆ คล้ายตัวมอดเดินไต่ยั้วเยี้ยปะปนอยู่ในเนื้อนมเต็มไปหมด เห็นสภาพเนื้อนมอย่างนั้นแล้วจึงรีบนำฝากระป๋องนมปิดนมกระป๋องนั้นทันที แล้วคว้านมผงอีกกระป๋องที่เหลืออยู่มาเปิดตรวจสอบเช่นกัน โชคดีไม่พบความผิดปกติใดๆ แม้จะคลางแคลงใจว่าจะมีอะไรอยู่ในกระป๋องนมที่เหลืออยู่หรือไม่ แต่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากยังเช้าตรู่มากและนมหมดไม่เหลืออยู่ในบ้านเลย จึงจำเป็นต้องใช้นมในกระป๋องที่เหลืออยู่นั้นชงนมให้ลูกกิน วันนั้นพ่อแม่ลูกอ่อนทั้งสองก็อยู่ไม่สุข เห็นแต่ภาพแมลงยั้วเยี้ยในกระป๋องนมเต็มไปหมด จึงได้นำนมกระป๋องที่เกิดปัญหามาตรวจสอบกันอย่างละเอียดอีกครั้ง จึงพบว่าบริเวณปากกระป๋องนมมีการบุบ ซึ่งในตอนที่ซื้อมานั้นไม่สังเกตเห็นเพราะห้างสรรพสินค้าจะมีการใส่ที่ครอบป้องกันการขโมยไว้บริเวณปากกระป๋อง และในวันที่ซื้อเท่าที่เห็นบนชั้นวางสินค้าก็เหลือนมยี่ห้อนี้เพียง 2 กระป๋องเท่านั้น เมื่อได้รายละเอียดคร่าวๆ แล้ว จึงโทรศัพท์ไปที่คอลเซนเตอร์ของบริษัทผู้นำเข้านมคือ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด เพื่อขอให้นำนมไปตรวจว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้น ซึ่งต่อมาบริษัทแสดงความรับผิดชอบโดยแจ้งว่าจะเปลี่ยนนมกระป๋องใหม่มาให้ และมอบกระเช้าของขวัญเพื่อเป็นการแสดงน้ำใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมรับตัวอย่างนมไปตรวจ ในวันเดียวกันได้มีการร้องเรียนไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าแห่งนั้น และยังได้ร้องเรียนไปที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) อีกด้วย ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 บริษัทแอ๊บบอตได้มีจดหมายยืนยันถึงกระบวนการผลิตนมที่มีมาตรฐานและมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตอย่างสม่ำเสมอ และได้กล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับกระป๋องที่บุบว่า ผลิตภัณฑ์รุ่นนี้พบว่ามีมาตรฐานคุณภาพสูงในขณะที่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยสินค้าเพื่อจำหน่ายจากโรงงาน อาจเป็นไปได้ที่กระป๋องถูกทำให้เสียหายระหว่างขนส่ง หรือขณะเก็บรักษาก่อนจำหน่าย หรือหลังจำหน่าย หลังได้รับจดหมายพ่อแม่ลูกอ่อน เห็นว่ายังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนว่ามีแมลงเข้าไปอยู่ในกระป๋องนมได้อย่างไร ก็เฝ้ารอติดตามผลการร้องเรียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่อยมา ส่วนนมที่ชงให้ลูกกินนั้นได้เปลี่ยนยี่ห้อใหม่หลังเกิดปัญหาไม่นาน แนวทางแก้ไขปัญหา หลังจากที่ร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปลายปี 2552 ไม่เห็นความคืบหน้า พ่อแม่ลูกอ่อนสองท่านนี้เห็นข่าวมูลนิธิฯ ตึกถูกไฟไหม้ จึงได้นำปัญหานี้มาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ ที่สำนักงานชั่วคราว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2553 ในเดือนเดียวกัน มูลนิธิฯ จึงได้นัดผู้แทนของห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส คือ บริษัท เอก-ชัย ดริสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัดและบริษัทแอ๊บบอต เข้าร่วมการเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้บริโภค และได้ส่งตัวอย่างนมผงไปที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 อุบลราชธานี เพื่อทำการตรวจสอบผลการเจรจาไกล่เกลี่ยผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองได้มีโอกาสชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้บริโภคและรับที่จะนำข้อมูลจากปัญหาที่เกิดขึ้นไปพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการประกอบการให้ดียิ่งขึ้นต่อไป พร้อมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้บริโภคร่วมกันเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท โดยแบ่งจ่ายบริษัทละ 25,000 บาทส่วนผลการตรวจสอบศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ได้ความว่า แมลงที่พบในนมผงที่ส่งมาตรวจสอบนั้น เป็นแมลงชนิดเดียวกัน มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า มอดแป้ง เป็นแมลงในวงศ์ Tenebrionidae อันดับ Coleoptera ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Tribolium spp.มอดแป้งเป็นแมลงขนาดเล็ก มีสีน้ำตาลแดง มักพบตามบริเวณที่แห้ง นอกจากนี้อาจพบในผลิตภัณฑ์อาหารแห้งที่เก็บรักษาไว้ มอดแป้งเป็นศัตรูในโรงเก็บ และพบทำลายผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเมล็ดธัญพืช...ในส่วนนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ตั้งขอสันนิษฐานว่า การที่ปากกระป๋องมีรอยบุบก่อนจะถึงมือผู้บริโภคอาจทำให้เกิดการฉีกขาดของแผ่นวัสดุที่ปิดกั้นบริเวณปากกระป๋องเป็นรูรั่วที่เล็กมาก ทำให้มอดแป้งที่อาจเกาะกินอยู่กับสินค้าผลิตภัณฑ์ประเภทธัญพืชซึ่งเก็บรักษาอยู่ในที่เดียวกันหรือใกล้เคียง น่าจะเล็ดลอดเข้าไปอยู่อาศัยทำมาหากินกับนมผงที่กระป๋องมีรอยบุบนี้ได้ และหากพนักงานของผู้ประกอบธุรกิจไม่ตรวจสอบให้ดีและคัดแยกออกไป นมกระป๋องนี้จึงถึงมือผู้บริโภคในท้ายที่สุดได้อย่างไรก็ดีขอขอบพระคุณผู้ประกอบธุรกิจทั้งสองที่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้บริโภค นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดีและน่ายกย่องที่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ จะได้นำไปปฏิบัติต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 อาหารกระป๋อง

อาหารกระป๋องเป็นหนึ่งในความสำเร็จอันน่าทึ่งของการถนอมอาหารที่มนุษย์คิดขึ้นมาได้ ก่อนที่จะรู้ถึงสาเหตุจริงๆ ที่ทำให้อาหารบูดเสีย ประวัติศาสตร์ของอาหารกระป๋องเริ่มต้นที่ขวดแก้ว โดยนาย นิโคลัส ฟรองชัวร์ อัปแปร์ต  ชาวฝรั่งเศส ได้สนองนโยบายด้านการสงครามของกษัตริย์นโปเลียน ที่ประกาศจะให้รางวัลแก่ผู้ที่คิดค้นวิธีการเก็บรักษาอาหารได้นานๆ สำหรับใช้เป็นเสบียงในกองทัพ งานนี้นายนิโคลัส รับเงินไป 12,000 ฟรังส์ กับวิธีการนำอาหารใส่ขวดแก้วแล้วผนึกฝาให้แน่นพร้อมกับต้มขวดบรรจุอาหารในน้ำเดือด วิธีนี้คือการสเตอริไลเซชั่น(Sterilization) หรือกระบวนการใช้ความร้อนเพื่อทำลายจุลินทรีย์อย่างสมบูรณ์ ซึ่งยังคงเป็นวิธีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องน่าทึ่งเพราะขณะนั้นยังไม่มีใครทราบว่า สาเหตุที่ทำให้อาหารบูดเสียมาจากจุลินทรีย์ และการใช้ความร้อนคือการทำลายเจ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ พวกนี้ จากขวดแก้วได้พัฒนามาเป็นกระป๋องที่ผลิตจากโลหะ และต่อยอดไปสู่การบรรจุอาหารในถุง(pouch) ซึ่งทำจากวัสดุพลาสติกประเภทต่างๆ แต่กระป๋องโลหะยังคงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและการนำวัสดุมารีไซเคิลได้ใหม่ อาหารบรรจุกระป๋องที่ผลิตด้วยกรรมวิธีที่ดี สามารถเก็บรักษาได้นานราว 2 ปี เว้นพวกที่มีความเป็นกรด เช่น ผลไม้กระป๋อง ผลิตภัณฑ์หมักดอง ไม่ควรเก็บเกินกว่า 18 เดือน อาหารกระป๋องควรอยู่ในสภาพดีเมื่อเลือกซื้อ ไม่บุบ บวม และเนื่องจากอาหารกระป๋องอยู่ในสภาพไม่มีอากาศ หากมีลมพุ่งออกมาจากกระป๋องในขณะเปิดควรทิ้งไปทันที ห้ามกิน //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 153 เช็คสารตะกั่วใน “ปลาทูน่ากระป๋อง”

ถ้าย้อนไปเมื่อก่อน คนไทยเราอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับปลาทูน่า เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมทานปลาทะเล ด้วยราคาที่แพงกว่าปลาน้ำจืด แม้ชื่อจะคล้ายกับปลาทูบ้านเรา แต่เราก็แทบไม่เห็นบ้านไหนเสิร์ฟเมนูที่ทำจากปลาทูน่าเป็นกับข้าวมื้อเย็น วันเวลาเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็รู้จักปลาทูน่า ไปต้องลำบากไปเดินเลือกซื้อในตลาด ไม่ต้องเหนื่อยขอดเกล็ด ล้างหั่นทำความสะอาด เพราะเดี๋ยวนี้ปลาทูน่าหาทานง่ายยิ่งกว่าปลาชนิดไหนๆ เพราะมันถูกบรรจุมาในกระป๋อง  แค่แวะร้านสะดวกซื้อก็ได้ทานปลาทูน่าสมใจ แต่ปัญหาก็แอบมากลับทูน่ากระป๋องเหมือนกัน เรามักจะได้ยินข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่ามีการตรวจพบสารปนเปื้อนทั้งในทูน่าสดและทูน่ากระป๋อง อย่างเมื่อปีก่อนเคยมีข่าวว่าหลายประเทศในสหภาพยุโรปต้องสั่งระงับการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องจากประเทศไทย เพราะตรวจพบสารฮีสตามีน (histamine) ซึ่งเป็นสารพิษที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ทั่วโลกยังมีการเฝ้าระวังเรื่องของการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารทะเล เพราะสารตะกั่วที่เกิดจากบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมต่างไหลลงสู่ทะเล แล้วแทรกซึมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตในทะเล ซึ่งปลาทูน่าถือเป็นอาหารทะเลที่มีผู้นิยมบริโภคกันมาก การจับตาดูจึงมีมากเป็นพิเศษ เกริ่นมาซะยาวเพราะอยากจะบอกว่า “ฉลาดซื้อ” ฉบับนี้จะพาไปดูกันว่า ปลาทูน่ากระป๋องที่วางขายอยู่ในท้องตลาดบ้านเรานั้น มีการปนเปื้อนของสารตะกั่วหรือเปล่า ไขข้อข้องใจให้กับผู้บริโภค ต่อไปจะได้ทานปลาทูน่ากระป๋องได้อย่างมั่นใจ แถมด้วยการเช็คปริมาณโซเดียม ดูสิว่าทานปลาทูน่ากระป๋องแล้วจะสุขภาพดีเพราะมีคุณค่าทางอาหาร หรือจะต้องป่วยเสียก่อนเพราะร่างกายดันได้รับโซเดียมมากเกินไป   ผลการทดสอบ ฉลาดซื้อได้สุ่มตัวอย่างปลาทูน่ากระป๋องจำนวน 16 ตัวอย่าง 8 ยี่ห้อ โดยแต่ละยี่ห้อจะแบ่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืช และชนิดที่ปรุงในน้ำเกลือ อย่างละ 1 ตัวอย่าง โดยการตรวจวิเคราะห์หาการปนเปื้อนของสารตะกั่วนั้น ฉลาดซื้อได้ส่งไปตรวจยัง ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 จ.อุบลราชธานี ส่วนการตรวจดูข้อมูลปริมาณโซเดียม ฉลาดซื้อใช้วิธีคำนวณจากปริมาณโซเดียมที่แจ้งไว้ในฉลากโภชนาการข้างกระป๋อง   การปนเปื้อนสารตะกั่ว สำหรับผลวิเคราะห์การปนเปื้อนสารตะกั่ว ถือว่าเป็นข่าวดีของผู้บริโภคเพราะปลาทูน่ากระป๋องทุกตัวอย่างที่เราส่งตรวจ ไม่พบการปนเปื้อนของสารตะกั่ว จากนี้ไปเราก็สามารถทางปลาทูน่ากระป๋องกันได้อย่างสบายใจ แต่แม้จะปลอดจากสารตะกั่ว แต่อาจต้องระวังการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์อื่นๆ ที่อาจป่นเปื้อนมากับเนื้อปลา ซึ่งเกิดขึ้นได้จากขั้นตอนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะฉะนั้นวิธีแก้ง่ายๆ คือการปรุงเนื้อปลาทูน่าให้สุกก่อนทาน แม้ปลาทูน่ากระป๋องจะผ่านกรรมวิธีทำให้เนื้อปลาสุกมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ทำให้สุกอีกทีเพื่อความปลอดภัย   ปริมาณโซเดียม ส่วนเรื่องของปริมาณโซเดียมในทูน่ากระป๋อง ซึ่งถือเป็นสิ่งที่คนชอบทานปลาทูน่ากระป๋องต้องระวังเป็นพิเศษ  เพราะในปลาทูน่า 1 กระป๋องอาจมีโซเดียมถึง 1 ใน 4 ของปริมาณโซเดียมที่เหมาะต่อร่างกายคนเราใน 1 วัน (ไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม) จากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมในปลาทูน่ากระป๋องจากข้อมูลในฉลากโภชนาการ พบว่าประมาณโซเดียมจะอยู่ที่ประมาณ 300 – 600 มิลลิกรัมต่อ 1 กระป๋อง (น้ำหนัก 185 กรัม แต่ถ้าเฉพาะน้ำหนักเนื้อปลาจะอยู่ที่ 140 กรัม) เพราะฉะนั้นเราควรทานทูน่ากระป๋องแต่พอดี ควรทานให้เป็นอาหารมื้อหลักมากว่าเป็นเมนูทานเล่น ทานเต็มที่ไม่ควรเกินวันละ 1 กระป๋อง และต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารประเภทอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย สำหรับใครที่คิดว่าปลาทูน่ากระป๋องชนิดที่ปรุงในน้ำมันพืชจะมีปริมาณโซเดียม น้อยกว่าปลาทูน่ากระป๋องที่ปรุงในน้ำเกลือคงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เพราะจากการตรวจเช็คปริมาณโซเดียมที่แจ้งในฉลากโภชนาการ  พบว่าปลาทูน่าในน้ำมันพืช 1 กระป๋องมีปริมาณโซเดียมมากกว่าปลาทูน่าในน้ำเกลือถึง 50 -100 มิลลิกรัมเลยทีเดียว   ---------------------------------------------------- ฉลาดซื้อแนะนำ -ปลาทูน่ากระป๋องที่ดี ต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอมใดๆ ปนเปื้อนมากับเนื้อปลา -เนื้อปลาต้องสุก ต้องไม่มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ เช่น กินเหม็น หรือ กลิ่นหืน -เนื้อปลาต้องไม่นิ่มเละ หรือ กระด้างเกินกว่าที่ควรจะเป็น เนื้อไม่มีลักษณะพรุนแบบรังผึ้ง -เนื้อปลาต้องไม่เป็นสีที่ชวนให้น่าสงสัยว่าเกิดการผิดปกติ เช่น สีเขียว หรือสีที่มีลักษณะคล้ำ -เนื้อปลาต้องไม่มีผลึกใส ซึ่งเป็นผลึกเกลือ ของสารประกอบของแมกนีเซียม ฟอสเฟต และแอมโมเนีย มักเกิดกับอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบ ทำปฏิกิริยากับโปรตีน สาเหตุของการเกิดผลึกเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ เป็นการบ่งชี้ว่าวัตถุดิบไม่สด มีคุณภาพไม่ดี หรือขั้นตอนการผลิตไม่เหมาะสม -เลือกกระป่องที่อยู่ในสภาพดี ไม่บวม บุบ เบี้ยว ไม่มีสนิม -อ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนตัดสินใจซื้อ บนฉลากต้องมี ชื่อสินค้า ชื่อของเหลวที่ใส่มาพร้อมเนื้อปลา เช่น ปลาทูน่าในน้ำเกลือ ปลาทูน่าในน้ำมัน ฯลฯ ต้องบอกส่วนประกอบ มีฉลากโภชนาการ บอกชื่อที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ -ปลาทูน่ากระป่องที่เปิดกระป๋องแล้วแต่ยังทานไม่หมด ควรเก็บเข้าตู้เย็นและเปลี่ยนมาใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด ป้องกันเชื่อโรคเข้าไปปนเปื้อน -----------------------   ปลาทูน่ากระป๋องที่เรากินส่วนใหญ่ ทำจากปลาทูน่านำเข้า แม้ประเทศไทยเราจะได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องออกไปขายทั่วโลก แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศไทยเรายังคงต้องใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตอย่างเนื้อปลาทูน่าสดปริมาณมากกว่า 8 แสนตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 80 ของปลาทูน่าที่ใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เท่ากับว่ามีเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เป็นปลาทูน่าที่เราจับได้จากประมงไทย เหตุผลที่ไทยเรายังคงต้องสั่งนำเข้าปลาทูน่ามากมายขณะนี้ เป็นเพราะด้วยคุณภาพของปลาทูน่าที่จับได้ในทะเลไทยส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และมีปริมาณน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ที่สำคัญคือความด้อยด้านเทคโนโลยีและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับปลาทูน่า การประมงน้ำลึกของไทยยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ การเลือกนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจึงดูเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์การผลิตได้มากกว่า   ข้อมูลปี 2553 ประเทศไทยเรานำเข้าปลาทูน่าปริมาณรวม 816,473 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ต้องจ่ายไป 35,656 ล้านบาท ขณะที่ ปริมาณการส่งออกทูน่ากระป๋องในปีเดียวกัน อยู่ที่ 521,205 ตัน คิดเป็นรายได้กลับเข้าประเทศ 51,942 ล้านบาท ที่มา : กรมการค้าต่างประเทศ   รู้จักกับปลาทูน่าที่ถูกจับลงกระป๋อง -ปลาทูน่าท้องแถบ (Skip-Jack Tunas) ถือเป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่นิยมใช้ในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องมากที่สุดในปัจจุบัน ถึงเกือบร้อยละ 80 ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ตัวหนึ่งหนักประมาณ 3 – 7 กิโลกรัม เนื้อปลาจะมีค่อนข้างดำ -ปลาทูน่าครีบเหลือง (Yellow Fin Tunas) สายพันธ์นี้จะอาศัยอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกทั้งตะวันตกและตะวันออก ลำตัวมีความยาวประมาณ 27-60 นิ้ว เป็นสายพันธ์ปลาทูน่าที่มีขนาดใหญ่ บางตัวหนักถึง 20 กิโลกรัม เนื้อจะมีสีขาว คุณภาพดีกว่าปลาทูน่าท้องแถบ แต่ราคาก็สูงกว่าตามไปด้วย -ปลาทูน่าครีบยาว (Albacore or Long Finned Tunas) อยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ ลักษณะและขนาดจะคล้ายกับปลาทูน่าครีบเหลือง -ปลาทูน่าชนิดอื่นๆ ได้แก่ ปลาทูน่าตาโต ทูน่าครีบน้ำเงิน เป็นต้น ซึ่งเป็นปลาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่จะเอาไปทำปลาดิบมากกว่าบรรจุลงกระป๋อง เพราะคุณภาพจะดีกว่า ราคาก็จะแพงกว่า   ---------------------------------------------------- กินปลาทูน่าแบบรักษ์โลก ถ้าสังเกตที่ข้างกระป๋องปลาทูน่าดีๆ จะเห็นสัญลักษณ์ "Dolphin Safe" ที่เป็นรูปปลาโลมา เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา ซึ่งเป็นข้อตกลงทีมาจากบัญญัติคุ้มครองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลของสหรัฐฯ  (Marine Mammal Protection Act-MMPA)  ที่กำหนดห้ามไม่ให้ขายปลาทูน่าที่จับโดยเรือประมงทั้งในหรือต่างประเทศที่ใช้อวนแบบ purse seine  หรืออวนที่ดักล้อมเป็นระยะทางยาวเป็นไมล์   เพราะอวนชนิดนี้ไม่ได้จับได้เฉพาะปลาทูน่าเท่านั้น แต่ยังจับเอาปลาโลมาติดมาด้วย เพราะปลาทูน่าถือเป็นอาหารของปลาโลมา ในฝูงปลาทูน่าจึงมักมีปลาโลมาเกาะกลุ่มอยู่ด้วย ที่ผ่านมามีปลาโลมาที่ต้องตายเพราะอุตสาหกรรมประมงทูน่าหลายล้านตัว สหรัฐอเมริกาจึงทำมาตรการณ์ร่วมกับองค์การการค้าโลก (WTO) ให้ทุกประเทศที่จะทำการค้าปลาทูน่าทั้งสดและบรรจุกระป๋องต้อง ทำประมงจับทูน่าแบบอนุรักษ์ ไม่ทำร้ายปลาโลมา รวมถึงจับปลาทูน่าเท่าที่จำเป็น   ประโยชน์ของปลาทูน่า ความนิยมในการทานทูน่ากระป๋องที่มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช้เฉพาะแค่เมืองไทย แต่คนทั่วโลกก็ชื่นชอบปลาทูน่ากระป๋อง ไม่ใช่แค่เพราะความสะดวก แต่ยังรวมถึงเรื่องของคุณประโยชน์ที่ได้ ปลาทูน่าไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือที่บรรจุกระป๋อง จะมีกรดไขมันกลุ่มโอเมก้า 3 และมีดีเฮชเอ (Docosahexaenoic acid (DHA)) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกายแต่ร่างกายเราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ประโยชน์ของกรดไขมันเหล่านี้ ช่วยเสริมสร้างความแข้งแรงให้กับเซลล์ ช่วยในการทำงานของระบบสมอง ระบบประสาท ที่สำคัญในโอเมก้า 3 ยังมีสาร เอชดีแอล โคเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ซึ่งเป็นโคเลสเตอรอลชนิดดี ที่จะไปช่วยจัดโคเลสเตอรอลชนิดเลวออกไปจากร่างกาย ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ แถมปลาทูน่ายังให้โปรตีนที่สูงอีกต่างหาก   ตารางแสดงผลทดสอบปริมาณโซเดียมและการปนเปื้อนของสาตะกั่วในทูน่ากระป๋อง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 127 โซเดียมในปลากระป๋อง

  ปลากระป๋องถือเป็นอีกหนึ่งอาหารที่อยู่คู่ครัวคนไทย ยิ่งในยุคที่ข้าวยากหมากแพง หมูแพง ผักแพง น้ำมันก็แพง จะซื้อหาอะไรมาทำกับข้าวก็ปวดหัวปวดใจ จะกินอะไรก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเป็นห่วงเงินในกระเป๋า ปลากระป๋องนี่ล่ะ เป็นทางเลือกสำหรับคนงบน้อยแต่อร่อยแล้วก็อิ่มด้วย ในยามยากปลากระป๋องยังเป็นที่พึ่งพาสำหรับผู้ประสบภัยต่างๆ  ในเวลาที่บ้านเมืองเจอภัยพิบัติ ทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม หรือแม้แต่คนที่เดินทางไกล เข้าป่าฝ่าดง ซึ่งการหุงหาอาหารกินเองเป็นเรื่องลำบาก ปลากระป๋องและรวมถึงอาหารกระป๋องชนิดอื่นๆ นับเป็นตัวช่วยที่ดี เพราะจะเปิดกินเมื่อไหร่ก็ได้สะดวกสบาย แถมเก็บไว้ได้นานเป็นปี ที่สำคัญคือราคาไม่แพงมาก แต่ปลากระป๋องก็คืออาหารแปรรูปชนิดหนึ่ง คุณค่าทางอาหารที่มีก็ต้องสูญเสียไปตามขั้นตอนการผลิต เรียกว่าเทียบไม่ได้กับอาหารที่ทำสดๆ ใหม่ๆ แถมถ้ากินมากเกินไปร่างกายของเราก็มีสิทธิเสี่ยงโรคร้ายทั้ง โรคไต โรคหัวใจ ความดัน จาก “โซเดียม” ที่มีอยู่ในปลากระป๋อง   ปลากระป๋องถือเป็นอาหารที่ผลิตในระบบอุตสาหกรรม ผลิตเพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งขายออกไปทั่วโลก โรงงานผลิตปลากระป๋องในบ้านเราก็จะตั้งอยู่ในจังหวัดที่อยู่ใกล้หรือติดกับทะเล โดยเฉพาะหลายจังหวัดในภาคใต้ รวมถึงจังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร และกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ใกล้กับทรัพยากรในการผลิต ส่วนประกอบหลักๆ ในการผลิตปลากระป๋องก็คือ ปลา ที่เรารู้จักกันดีก็คือ ปลาซาร์ดีน ปลาแมคเคอเรล และปลาทูน่า แต่ผู้ผลิตบางรายก็เลือกใช้ปลาทูแขกหรือปลาทูลังแทนปลาซาร์ดีน เพราะปลาซาร์ดีนหายากมากในทะเลบ้านเรา ซึ่งปลาทูแขกหรือปลาทูลังก็จัดอยู่ในสายพันธุ์เดียวกันกับปลาซาร์ดีน ส่วนประกอบถัดมาที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ซอสปรุงรส ที่นิยมกันมากๆ ก็คือ ซอสมะเขือเทศ น้ำมัน หรือน้ำกลือ แต่เดี๋ยวนี้ก็พัฒนาดัดแปลงทำเป็นสูตรแกงต่างๆ ทั้ง พะแนง มัสมั่น แกงเขียวหวาน ฉู่ฉี่ เป็นการเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ไม่จำเจอยู่แค่ปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศ และอย่างสุดท้ายก็คือ กระป๋อง ทำจากดีบุกหรืออะลูมิเนียมซึ่งกระป๋องที่ใช้สำหรับบรรจุอาหารส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี----------------------------------------------- ผลทดสอบปริมาณโซเดียมในปลากระป๋อง +ฉลาดซื้อสุ่มตัวอย่างปลากระป๋องที่ขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาดจำนวน 18 ยี่ห้อ แบ่งเป็น ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ 12 ยี่ห้อ และปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศอีก 6 ยี่ห้อ + Thai RDI (Thai Recommended Daily Intakes) แนะนำปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมกับการบริโภคต่อวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป คือไม่เกิน 2,400 มิลลิกรัม  +ซูเปอร์ซีเชฟ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ พบมีปริมาณโซเดียมต่อ 1 กระป๋องมากที่สุดคือ 823.05 มิลลิกรัม หรือประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณที่แนะนำในการบริโภคต่อวัน ซึ่งก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง เพราะอย่าลืมว่าอาหารเกือบทุกอย่างที่รับประทานในแต่ละวันที่โซเดียมเป็นส่วนประกอบเกือบทุกชนิดมากน้อยแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอาหารจานหลักต่างๆ ที่ต้องมีการเติมเครื่องปรุงรส ไม่ว่าจะเป็น น้ำปลา ซีอิ้ว ให้โซเดียมสูง น้ำปลาหรือซีอิ้ว 1 ช้อนชามีโซเดียมประมาณ 350 – 500 มิลลิกรัม นี่ยังไม่รวมพวกขนมขบเคี้ยวต่างๆ ที่หลายๆ ชอบรับประทานเป็นอาหารว่าง ซึ่งมีโซเดียมอยู่สูงเช่นกัน  +ส่วนประกอบหลักของปลากระป๋องในซอสมะเขือเทศก็คือ ปลาและซอสมะเขือเทศ ซึ่งในซอสมะเขือเทศนั่นแหละที่เป็นแหล่งของโซเดียม นอกจากนี้ผู้ผลิตเค้ายังมีการเติมทั้งเกลือและโมโนโซเดียมกลูตาเมต ที่ล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งของโซเดียมอีกด้วย +เพราะคนไทยเราพิถีพิถันในเรื่องอาหารการกิน ปลากระป๋องก็เลยต้องเอามาปรุงใหม่เพื่อให้อร่อยถูกใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีที่นำปลากระป๋อ งมาอุ่นร้อนก่อนรับประทาน เมนูยอดฮิตก็ต้องให้ต้มยำปลากระป๋อง แต่ต้องระวังเวลาปรุงรสด้วยนะอย่าให้เค็มเกินไป เพราะปลากระป๋องก็มีโซเดียมสูงอยู่แล้ว เติมโซเดียมจากน้ำปลาเข้าไปอีกจะยิ่งอันตราย  +อีกเมนูปลากระป๋องสุดโปรดของหลายๆ คนก็คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับปลากระป๋อง เพราะแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 1 ซอง ก็มีโซเดียมอยู่ถึง 1,500 – 1,800 มิลลิกรัม ถ้ารวมกับปลากระป๋องเข้าไปอีก รับรองโซเดียมพุ่งปี๊ดแน่นอน โปรดระวัง+อายุของปลากระป๋องจะอยู่ที่ 2 ปี แต่ปลากระป๋องที่เก็บไว้นานๆ หรือใกล้วันหมดอายุก็ไม่ควรรับประทาน เพราะยิ่งนานๆ เนื้อปลาก็จะยิ่งเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ   วิธีเลือกซื้อปลากระป๋อง+ต้องมีฉลากแสดงข้อมูล ชื่ออาหาร ชื่อ - ที่อยู่ผู้ผลิต วันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ ส่วนประกอบ ข้อมูลโภชนาการ ที่สำคัญที่สุดคือฉลากต้องเป็นภาษาไทย  +ดูความเรียบร้อยของกระป๋อง ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ กระป๋องต้องไม่บุบหรือบวม หรือมีรอยขีดข่วน ต้องเช็คดูตามตะเข็บของกระป๋องว่าไม่มีรอยรั่วซึม ซึ่งอาจทำให้อากาศและเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในกระป๋องทำให้อาหารเน่าเสีย ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากขั้นตอนการขนส่งหรือจัดเก็บ ส่วนการที่กระป๋องบวมอาจมีสาเหตุจากขั้นตอนการไล่อากาศออกไม่หมด ทำให้ยังมีออกซิเจนหลงเหลืออยู่ในกระป๋องซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับสารเคลือบในกระป๋องทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนทำให้กระป๋องบวม  +ลักษณะของกระป๋องที่ดีต้องมีลักษณะมันแวววาว ไม่มีรอยผิดปกติบนพื้นผิวกระป๋องทั้งภายนอกและภายใน +เมื่อเปิดกระป๋องแล้ว กลิ่นและสีของอาหารต้องอยู่ในลักษณะปกติ ไม่ผิดเพี้ยน สีไม่คล้ำ ไม่มีกลิ่นเหม็น ถ้าหากเปิดกระป๋องออกมาแล้วดูน่าสงสัยก็ไม่ควรรับประทาน +ปลากระป๋องควรนำไปใส่ในภาชนะอุ่นให้ร้อนอีกครั้งก่อนรับประทาน หรือถ้าเปิดแล้วกินไม่หมด ควรเทเปลี่ยนใส่ในภาชนะอื่น แล้วนำไปแช่ในตู้เย็น ป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ในอากาศทำปฏิกิริยากับสารเคลือบที่อยู่ในกระป๋อง +ส่วนเรื่องการเก็บรักษานั้นต้องเก็บในอุณหภูมิห้อง อย่าเก็บในที่ที่มีอากาศร้อน เพราะจะทำให้อาหารที่อยู่ในกระป๋องเน่าเสียได้ ยิ่งถ้าอากาศร้อนหรืออยู่ในที่ที่อุณหภูมิสูงมากๆ กระป๋องอาจระเบิดได้---------------------------------------------------------   ปลาซาร์ดีน เป็นชื่อเรียกของปลาขนาดเล็กมีหลากหลายสายพันธุ์ คำว่าซาร์ดีนมาจากชื่อเกาะซาร์ดีเนียซึ่งอยู่ในทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นแหล่งที่มีปลาซาร์ดีนอุดมสมบูรณ์ ปลาซาร์ดีนเป็นอาหารที่มีประโยชน์มาก มีโอเมก้า – 3 ที่ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ แถมยังมีวิตามินดี วิตามินบี 12 และโปรตีน ส่วน ปลาแมคเคอเรล เป็นปลาที่อยู่ในสายพันธุ์เดียวกับปลาซาร์ดีนแต่ว่าจะมีขนาดใหญ่กว่า ปลาทูก็อยู่ในสายพันธุ์เดียวกันกับปลาแมคเคอเรล ทั้งปลาซาร์ดีนและปลาแมคเคอเรลถือเป็นสัตว์ลำดับแรกๆ ในห่วงโซ่อาหาร ทำให้การปนเปื้อนของปรอทที่มักพบในอาหารทะเลมีค่อนข้างน้อย   คนไทยชอบกินปลากระป๋องอะไรกัน?ปลาซาร์ดีน 67%ปลาแมคเคอเรล 18%ปลาทูน่า 12% อื่นๆ 3% ข้อมูลจาก บทความเรื่อง “ผลวิจัย Most Admired & Why We Buy 2008” นิตยสาร brandage มกราคม 2551   ชื่อสินค้า ปริมาณ ราคา ผู้ผลิต ส่วนประกอบ ปริมาณโซเดียม / 1 กระป๋องตามที่แจ้งในฉลาก (มิลลิกรัม) ผลทดสอบ ข้อมูลโภชนาอื่นๆ ที่ระบุบนฉลาก มีที่เปิดแบบฝาดึง ปริมาณโซเดียม / 100 กรัม(มิลลิกรัม) ปริมาณโซเดียม เมื่อเทียบ / 1 กระป๋อง (มิลลิกรัม) ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศ 1.ซูเปอร์ซีเชฟ น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.ไอ.เอส.เอ.แวลู จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศเข้มข้น 35% เกลือแกง 2.5% น้ำมันถั่วเหลือง 1.5% น้ำ 1% 780 มก. 531 มก. 823.05 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 2.รูปสามเหลี่ยม น้ำหนักเนื้อ 75 กรับ น้ำหนักสุทธิ 125 กรัม 14 บ. บ.เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 32% อื่นๆ 8% ไม่ระบุ 497 มก. 621.25 มก. เจือสี ไม่มี 3.ซูมาโก น้ำหนักเนื้อ 75 กรับ น้ำหนักสุทธิ 125 กรัม 15 บ. บ.เจริญอุตสาหกรรม จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 32% อื่นๆ 8% ไม่ระบุ 494 มก. 617.5 มก. เจือสี ไม่มี 4.บิ๊กซี น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 37% น้ำมันถั่วเหลือง 2% เกลือ 1% 700 มก. 443 มก. 686.65 มก. ไม่ระบุ ไม่มี 5.ตราแฮปปี้มาก น้ำหนักเนื้อ 87 กรัม น้ำหนักสุทธิ 145 กรัม   บ.ทูพลัส ฟู้ด อินดัสเตรียล จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทส 38% น้ำตาล 1% เกลือ 1% ไม่ระบุ 430 มก. 623.5 มก. เจือสีธรรมชาติ ไม่มี 6.ซีเล็ค น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 37% น้ำมันถั่วเหลือง 2% เกลือ 1% ไม่ระบุ 424 มก. 657.2 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 7.แม็กกาแรต น้ำหนักเนื้อ 90 กรัม น้ำหนักสุทธิ 140 กรัม 11 บ. บ.วี เค แฟคตอรี่ จำกัด ปลาซาร์ดีน 65% ซอสมะเขือเทศ 30% น้ำมันถั่วเหลือง 4.6% ผงชูรส 0.1% ไมระบุ 394 มก. 551.6 มก. ไมระบุ ไม่มี 8.ซีคราวน์ น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 14.50 บ. บ.สมุยฟูดส์ จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 27% เกลือ 1% 760 มก. 392 มก. 607.6 มก. ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต มี 9.ท๊อปส์ น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 15 บ. บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 39.95%   700 มก. 378 มก. 585.9 มก. ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต, ไดโซเดียม 5 กัวไนเลต, ไดโซเดียม 5 ไอโนชิเดต มี 10.สามแม่ครัว น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.รอยัลฟู้ดส์ จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศเข้มข้น 36.47% เกลือ 1.14% น้ำตาล 0.72% 800 มก. 374 มก. 579.7 มก. ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต มี 11.โฮม เฟรช มาร์ท น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 13.50 บ. บ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 37% น้ำมันถั่วเหลือง 2% เกลือ 1% ไม่ระบุ 348 มก. 539.4 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 12.อะยัม น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 28 บ. บ.ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด ปลาซาร์ดีน 60% ซอสมะเขือเทศ 36% น้ำมันถั่วเหลือง 2.9% เกลือ 1% 700 มก. 330 มก. 511.5 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย, ผงชูรส ไม่เจือสี มี ปลาแมคเคอเรลในซอสมะเขือเทศ 13.ไฮคิว น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ปลาแมคเคอรเล 65% ซอสมะเขือเทศ 30% เกลือ 2.50% น้ำมันปาล์ม 2.50% 600 มก. 484 มก. 750.2 มก. ไม่เจือสี ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 14.ตราคุ้มค่า เทสโก้ น้ำหนักเนื้อ 87 กรัม น้ำหนักสุทธิ 145 กรัม   บ.สมุยฟู้ดส์ จำกัด ปลาแมคเคอเรล 60% ซอสมะเขือเทศ 6% เกลือไอโอดีน 1% 620 มก. 456 มก. 661.2 มก. ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมท เจือสีธรรมชาติ ไม่มี 15.โรซ่า น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม   บ.ไฮคิว แคนนิ่ง (ปัตตานี) จำกัด ปลาแมคเคอเรล 65% ซอสมะเขือเทศ30% เกลือ 2.5% น้ำมันปาล์ม 2.5% 540 มก. 447 มก. 692.85 มก. ไม่เจือสี ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 16.นกพิราบ น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 13.50 บ. บ.สันติภาพ (ฮั่วเพ้ง 1958) จำกัด ปลาแมคเคอเรล 60% ซอสมะเขือเทศ 38% เกลือแกง 1.1% กัวร์กัม 0.5% 490 มก. 444 มก. 688.2 มก. ใช้โมโนโซเดียมกลูตาเมต ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี 17.ปุ้มปุ้ย   น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 13 บ. บ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) ปลาแมคเคอเรล 60% ซอสมะเขือเทศ 37% น้ำมันถั่วเหลือง 1.6% เกลือ 1.4% 680 มก. 438 มก. 678.9 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย ไม่ใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหาร มี 18.ทีซีบี น้ำหนักเนื้อ 93 กรัม น้ำหนักสุทธิ 155 กรัม 14.25 บมจ.ทรอปิคอล เคนนิ่ง (ประเทศไทย) ปลาแมคเคอเรล 66% ซอสมะเขือเทศ 30.8% น้ำมันถั่วเหลือง 2.6% เกลือ 0.6% 580 มก. 360 มก. 558 มก. ไม่ใช้วัตถุกันเสีย มี   ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น ทดสอบโดย สถาบันโภชนาการ ม.มหิดล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 151 กระแสต่างแดน

ไถ่บาปให้ชะมด โทนี่ ไวลด์ นักธุรกิจรายแรกที่ทำให้โลกตะวันตกได้รู้จักกับกาแฟขี้ชะมด(ที่ฝรั่งเรียกกันว่า Kopi Luwak) ออกมาชักชวนให้คอกาแฟทั้งหลายเลิกดื่มกาแฟดังกล่าว เขาบอกว่าทุกวันนี้แทบจะไม่มีกาแฟขี้ชะมดแบบดั้งเดิมแล้ว ที่ขายกันอยู่ในอังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น หรือสิงคโปร์ตอนนี้ที่ราคากิโลกรัมละเกือบ 25,000 บาทนั้น ส่วนใหญ่ได้จากฟาร์มชะมดเลี้ยง ไม่ใช่ชนิดที่ต้องไปหาเก็บเองตามธรรมชาติเหมือนเมื่อก่อน ก่อนหน้านี้ ชาวไร่กาแฟบนเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย จะออกไปเก็บเมล็ดกาแฟจากมูลของชะมดที่แอบเข้ามาเลือกกินลูกกาแฟสุกแล้วถ่ายออกมา ซึ่งรวมๆ แล้วเก็บมาขายได้เพียงปีละ 500 กิโลกรัมเท่านั้น แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตทั่วโลกอยู่ที่ 50 ตันต่อปี ฟาร์มชะมดในอินโดนีเซียที่เลี้ยงชะมดไว้ 240 ตัว สามารถผลิตเมล็ดกาแฟดังกล่าวได้ถึง 7 ตัน โดยปกติแล้วชะมดจะออกหากินโดยลำพังในเวลากลางคืน แต่ “กระบวนการผลิต” กาแฟรสเลิศนี้เป็นการนำพวกมันมาอยู่รวมกันในกรง ทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อแย่งอาหาร นำไปสู่แผลเหวอะหวะและการติดเชื้อ  ซึ่งภาพดังกล่าวคือภาพที่สถานีโทรทัศน์บีบีซีนำออกมาเผยแพร่ และทำให้คนอังกฤษรวมถึงโทนี่ ไวลด์ไม่อยากดื่มกาแฟที่ว่าอีกต่อไป   ด้านสมาคมกาแฟขี้ชะมดแห่งอินโดนีเซียก็ออกมาชี้แจงว่า ชะมดมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายในกรงที่โอ่อ่า ด้วยเนื้อที่ถึง 2 ตารางเมตร และยืนยันว่าฟาร์มกรงโหดที่เป็นข่าวนั้นมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ตำนานกาแฟชะมดบนเกาะอังกฤษเริ่มขึ้นในปี  1981 เมื่อโทนี่ ไวลด์ ได้อ่านเรื่องของกาแฟโกปิ ลูวะ (ในนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟิก) ที่มีความหอมกลมกล่อมด้วยเมล็ดกาแฟจากมูลชะมด ที่มีกลิ่นเฉพาะตัวจากลำไส้และต่อมกลิ่นของมัน เมื่อถึงปี 1991 ที่เขามีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการจัดซื้อเมล็ดกาแฟของบริษัท เทย์เลอส์ ออฟ ฮาโรเกต ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายชาและกาแฟเจ้าเก่าแก่ของอังกฤษ เขาจึงลองซื้อมา 1 กิโลกรัม เรื่องราวของกาแฟที่เขาซื้อมา เข้าตาสื่อทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จนเขาต้องสั่งนำเข้ากาแฟดังกล่าวในที่สุด นอกจากกาแฟขี้ชะมดแล้วเรายังมีกาแฟขี้ช้าง กาแฟขี้นก กาแฟขี้ลิง ไว้สนองความต้องการอันดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ ณ จุดนี้กาแฟที่แพงที่สุดในโลกคือกาแฟที่ได้จากมูลของตัว Uchunari (คล้ายชะมด) ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในประเทศเปรู ... มันรู้ชะตากรรมของตัวเองหรือยังหนอ ...     เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ โกง เป็นที่รู้กันดีว่าการจัดงานเลี้ยงตามธรรมเนียมจีนนั้นต้องยิ่งใหญ่อลังการและอาหารต้องหรูเลิศ ประเทศจีนมีค่าใช้จ่ายในการจัดงานเลี้ยงที่หน่วยงานรัฐเป็นเจ้าภาพถึงปีละ 300,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,000,000 ล้านบาท ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง จึงประกาศห้ามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และข้าราชการทหารจัดงานเลี้ยงโดยใช้เงินหลวงเด็ดขาด นี่เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามคอรัปชั่น นโยบายดังกล่าวสั่นสะเทือนธุรกิจส่งออกอาหารแห้ง(โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ และรังนก) มิใช่น้อย อย่างน้อยบริษัทจดทะเบียนของฮ่องกง 2 บริษัท ได้แจ้งต่อผู้ถือหุ้นถึงความเสี่ยงที่ผลกำไรจากการประกอบการในปีนี้อาจลดลงเพราะมาตรการรัดเข็มขัดและปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนแผ่นดินใหญ่ นโยบายนี้ยังเกี่ยวข้องไปถึงเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่เพิ่งจะผ่านไป  รัฐบาลจีนประกาศห้ามการให้ของขวัญกันด้วยขนมไหว้พระจันทร์ชนิดหรูหรา ที่ทำให้สงสัยได้ว่าเป็นการให้สินบนมากกว่าการให้เพื่อแสดงความรัก ความหวังดี ปีนี้ขนมไหว้พระจันทร์ชนิดที่ใส่หูฉลาม หอยเป๋าฮื้อ รังนก หรือแม้แต่ใส่เงิน หรือทองลงไป จึงไม่ค่อยมีให้เห็นในตลาดแล้ว ข่าวบอกว่าชนิดที่ยังขายดี ที่คนซื้อไปเป็นของขวัญให้กันเป็นชนิดที่ราคาประมาณ 1,000 บาท ลืมบอกไปว่า รัฐบาลจีนเปิดสายด่วนให้ประชาชนโทรเข้าไปแจ้งเมื่อพบเห็นพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยฟุ่มเฟือยของข้าราชการด้วย   คราบที่ซักไม่ออก มาดูความคืบหน้าจากกรณีตึกรานาพลาซ่า ที่บังคลาเทศถล่มทับคนงานเสียชีวิตไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คนกันบ้าง มีการประเมินไว้ว่าจะต้องมีการให้เงินชดเชยไม่ต่ำกว่า 56 ล้านยูโรแก่เหยื่อของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ ล่าสุดข่าวบอกว่า ขณะนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีกประมาณ 300 รายที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอได้ ตามระเบียบแล้วรัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือประมาณ 600,000 บาท ให้แก่ญาติของเหยื่อที่ผ่านการตรวจดีเอ็นเอแล้วเท่านั้น เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการประชุมที่เมืองเจนีวา ระหว่างองค์กรที่รณรงค์เรื่องความเป็นธรรมต่อคนงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกับบรรดาเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่จ้างผลิตโดยโรงงานในตึกรานาพลาซ่า แต่การประชุมครั้งนั้นถือว่าล้มเหลว เพราะมีเพียงหนึ่งในสามของบริษัทดังกล่าวเข้าร่วมประชุม เจ้าใหญ่อย่าง Walmart  Benetton  และ Mango  ไม่ได้เข้าร่วมพูดคุยแสดงท่าที จะมีก็เพียงบริษัท Primark สัญชาติไอร์แลนด์เท่านั้นที่รับปากจะจ่ายเงินชดเชยเท่ากับเงินเดือนสามเดือนให้กับผู้บาดเจ็บหรือครอบครัวผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการจ่ายเพิ่มเติมจากการให้เงินชดเชยเบื้องต้นกับผู้เคราะห์ร้ายรายละ 6,000 บาท ในเดือนกรกฎาคม บังคลาเทศ ซึ่งมีโรงงานเสื้อผ้าสำเร็จรูปถึง 4,500 โรง ได้ประกาศใช้กฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของลูกจ้างและเข้มงวดกับมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการทำงานมากขึ้น   หมูกระป๋อง เพื่อคนที่คุณรัก เทศกาลไหว้พระจันทร์ของคนเกาหลีใต้ ไม่ต้องพึ่งพามูนเค้กหรือขนมไหว้พระจันทร์แต่อย่างใด เพราะสิ่งที่เขาอยากได้มากที่สุดคือ สแปม ไม่ใช่ชนิดที่หลอนคุณในคอมพิวเตอร์ แต่เป็นสแปม เนื้อหมูอัดกระป๋อง ที่คนเกาหลีได้รู้จักเป็นครั้งแรกเมื่ออเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพสมัยสงครามเกาหลี มันเป็นอะไรที่ดังกว่าโคคาโคล่าหรือเค เอฟ ซี และเป็นของขวัญที่ได้รับแล้วอบอุ่นใจอย่างบอกไม่ถูก ห้างต่างๆ จึงนิยมจัดแพ็คเก็จเป็นกล่องหรือตะกร้าของขวัญสวยหรูไว้ให้ซื้อกันได้สะดวก ชุดหนึ่งประมาณสองพันกว่าบาท  แม้ในอเมริกามันจะเป็นอาหารสำหรับคนรายได้น้อย แต่ที่นี่มันเป็นของโปรดของคนมีอันจะกิน คนเกาหลีเขายังมีสูตรอาหารที่ใช้เจ้าสแปมเป็นวัตถุดิบอยู่ไม่น้อย แต่ที่นิยมกันสุดๆ ได้แก่ “สตูว์กองทัพบก” (ดูจากชื่อแล้วน่าจะใหญ่กว่า “โจ๊กกองปราบ”) ตำรับนี้เกิดขึ้นช่วงหลังสงคราม  สแปมเป็นอาหารยอดนิยมที่มีการลักลอบนำออกมาจากกองทัพมาปล่อยในตลาดมืดมากที่สุด และชาวบ้านก็นิยมเอามาใส่ซุปรสแซ่บสไตล์เกาหลี ซึ่งยังเป็นที่นิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ร้านอาหารที่เชี่ยวชาญเมนูจากสแปมนั้นมีอยู่ทั่วไป แต่ถ้าจะให้ได้อารมณ์ท่านว่าต้องไปชิมสตูว์ดังกล่าวจากร้านที่ตั้งเรียงรายบนถนนที่ติดกับกองทัพฯ นั้นแล     รถเขียวเอื้ออาทร ก่อนหน้านี้ไม่นานรองประธานาธิบดีของอินโดนีเซียประกาศแผนลดปัญหาการจราจรให้กับเมืองจาการ์ต้า ตามแผนดังกล่าวนั้นเขาบอกว่า จะมีการนำระบบ ERP (Electronic Road Pricing) หรือการคิดค่าธรรมเนียมการใช้ถนนตามพื้นที่มาใช้ในจาการ์ต้า พร้อมกันนี้จะเพิ่มจำนวนรถประจำทาง เพิ่มความเข้มงวดให้เลนรถประจำทางมีแต่รถประจำทางจริงๆ นอกจากนั้นเขาจะปรับกฎเกณฑ์และเพิ่มค่าธรรมเนียมในการจอดรถริมถนนด้วย นี่เป็นเพียงบางส่วนของแผนที่มีถึง 17 ขั้นตอน แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ประกาศลดภาษีให้กับผู้ที่ซื้อรถยนต์ที่ผลิตในอินโดนีเซีย ที่มีราคาไม่เกิน 100 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 320,000 บาท) ที่วิ่งได้ 20 กิโลเมตรต่อน้ำมัน 1 ลิตร แผนนี้เข้าทางรถอีโคคาร์สองรุ่น ได้แก่ โตโยต้า Agya และไดฮัทสุ Ayla ที่ขณะนี้มียอดจองรวมกัน 18,000 คัน ... และผู้ประกอบการบอกว่าถึงสิ้นปีน่าจะมียอดจองประมาณ 30,000 คัน คนที่มึนที่สุดกับนโยบายนี้คือผู้ว่านครจาการ์ต้า ที่ในที่สุดตัดสินใจส่งจดหมายไปขอให้มีการทบทวนนโยบายรถเขียวเอื้ออาทรที่ว่านี้โดยพลัน เพราะเขามองว่าท้องถนนจาการ์ต้าคงรับมือกับรถใหม่ที่จะออกมาไม่ไหว และมันคงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปฏิบัติตามแผน 17 ขั้นตอนที่ว่า   //

อ่านเพิ่มเติม >