ฉบับที่ 250 กระเช้าสีดา : ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาไม่รักหรอก

              มีข้อสังเกตอยู่ว่า แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำคุกรุ่นอยู่เป็นเบื้องหลัง แต่ทว่าจิตสำนึกของคนไทยก็มักเลือกที่จะ “ซุกขี้ฝุ่นไว้ใต้พรม” หรือใช้วิธีหรี่ตาให้กับความขัดแย้งต่างๆ แต่ในขณะที่สังคมไทยพยายามปิดบังอำพรางเชื้อฟืนแห่งความขัดแย้งเอาไว้ กลับเป็นละครโทรทัศน์ที่เลือกจะ “เลิกพรมขึ้นมาดูขี้ฝุ่นที่อยู่ใต้พื้น” และนำความเหลื่อมล้ำขัดแย้งมาเผยให้ได้เห็นกันอยู่ทุกค่ำคืน         และหนึ่งในความขัดแย้งที่มักถูกมานำเสนอเป็นเรื่องเล่าของละครโทรทัศน์ ก็หนีไม่พ้นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นที่แตกต่าง ซึ่งต่างก็ช่วงชิงโอกาสและอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจสังคม และยังเป็นเส้นเรื่องในสมรภูมิความขัดแย้งระหว่างผู้หญิงสองคนในละครโทรทัศน์เรื่อง “กระเช้าสีดา”         เมื่อสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยอ่านนิทานตำนานของต้นไม้ที่ชื่อ “กระเช้าสีดา” ว่า แต่เดิมไม้เถาพันธุ์นี้เป็นกระเช้าของนางสีดาที่ทำตกไว้ในป่า ระหว่างที่นางถูกทศกัณฐ์อุ้มลักพาตัวไปจากพระราม จากนั้นทวยเทพยดาเบื้องบนจึงบันดาลดลให้กระเช้ามีรากงอกออกมาเป็นไม้เถา เพื่อรำลึกถึงชะตากรรมของนางสีดาในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์         แม้ในทุกวันนี้ ต้นกระเช้าสีดาจะยังมีข้อถกเถียงว่า ใช่ต้นไม้กาฝากที่เฝ้าคอยดูดน้ำเลี้ยงจากไม้ใหญ่ หรือเป็นไม้เถาที่เพียงอิงแอบอาศัยไม้อื่นเพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยกันแน่ แต่สำหรับในละครโทรทัศน์แล้ว กระเช้าสีดาเป็นอุปมาอุปไมยถึงกลุ่มคนชั้นล่างที่แอบอิงเอาแต่จะเกาะกินเซาะทำลายชนชั้นนำที่วางสถานะเศรษฐกิจสังคมไว้สูงส่งกว่า         หากกระเช้าสีดาเป็นไม้เลื้อยที่ต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไม้อื่น ตัวละครอย่าง “รำนำ” ก็เหมือนจะถูกสร้างขึ้นให้เป็นภาพแทนของเถาไม้แห่งชนชั้นล่างดังกล่าว รำนำเติบโตเป็นเด็กรับใช้ และเป็นลูกของ “นุ่ม” สาวใช้ในบ้านของ “ลือ” เนื่องจากบิดาเสียชีวิตตั้งแต่เล็กๆ ลือจึงสงสารและเอ็นดูเด็กหญิง เพราะคิดเสมอว่า เด็กที่ขาดพ่อก็ขาดซึ่งความอบอุ่น เลยอนุญาตให้รำนำนับถือเรียกเขาว่า “คุณอา” ทั้งที่ลึกๆ ในใจนั้น รำนำกลับแอบผูกจิตปฏิพัทธ์ให้กับ “คุณอา” ผู้เป็นญาติสมมติมาตั้งแต่เติบโตเข้าสู่วัยสาว         ตรงข้ามกับผู้หญิงอีกคนอย่าง “น้ำพิงค์” ซึ่งละครเปิดฉากแรกก็แนะนำให้ผู้ชมรับรู้สถานภาพของเธอในฐานะประธานบริหารเจ้าของบริษัทรถยนต์นำเข้าจากยุโรป และด้วยความมั่งคั่งร่ำรวยเพราะ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด” เช่นนี้เอง เมื่อน้ำพิงค์แต่งงานมาใช้ชีวิตคู่อยู่กินกับลือ จึงเท่ากับการทำลายความฝันและพรากความหวังที่รำนำจะได้ครอบครองเป็นเจ้าของหัวใจหนุ่มใหญ่ที่เธอแอบหลงรักมานานแล้ว         ความแตกต่างทางสถานะเศรษฐกิจและหน้าตาทางสังคมของผู้หญิงสองคนที่โคจรให้มาอยู่ร่วมชายคาเดียวกัน โดยที่คนหนึ่งเป็นเด็กรับใช้ลูกแม่บ้าน กับอีกคนหนึ่งเป็นหญิงที่เพียบพร้อมชื่อเสียงเงินทอง จึงไม่ต่างจากพื้นที่ภูเขาไฟใต้สมุทรที่ความขัดแย้งแห่งชนชั้นรอคอยวันปะทุขึ้นมา         เมื่อไม่มีต้นทุนชีวิต รำนำก็ได้แต่เชื่อว่า การอยู่เฉยๆ เป็น “ข้าวรอคอยฝน” คงไม่ใช่คำตอบในชีวิตของเธอ ผู้หญิงที่เกิดมาในสถานะแบบชนชั้นล่างจึงต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไขว่คว้าโอกาสด้วยสองมือของตนเอง         ประโยคที่รำนำเน้นย้ำกับแม่ว่า “พวกเราเป็นคนต่ำต้อย ไม่มีใครเขาประเคนอะไรให้เราหรอก ถ้าเราอยากได้ เราก็ต้องแย่งเอง” อีกนัยหนึ่งก็คือการประกาศเจตนารมณ์ว่า แม้จะ “เกิดมาเป็น” ชนชั้นที่ไม่มีปัจจัยการผลิตและอภิสิทธิ์ใดๆ แต่ก็ใช่ว่าเธอจะมีจิตสำนึกที่ศิโรราบต่อสถานะอันเหลื่อมล้ำดังกล่าวนั้น         ด้วยเหตุฉะนี้ ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อยืนยันเจตจำนงแห่งปัจเจกบุคคลจึงเริ่มต้นขึ้น และแม้จะไม่มีต้นทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด หากทว่า “นารีก็ยังมีรูปที่เป็นทรัพย์” รำนำจึงวางแผนหว่านเสน่ห์ยั่วให้ลือลุ่มหลง และมีสัมพันธ์เกินเลยกับเธอ รวมไปถึงพยายามทำทุกวิถีทางให้ “ความลับไม่เป็นความลับ” จนสามารถเขย่าขาเตียงของลือกับน้ำพิงค์ และนำไปสู่การหย่าร้างจากกันได้ในที่สุด         แต่ทว่า ข้อเท็จจริงบางอย่างที่รำนำก็ต้องเรียนรู้ในสนามต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ สำหรับชนชั้นนำอย่างน้ำพิงค์แล้ว เนื่องจากมีทั้งต้นทุนทางเศรษฐกิจสังคมที่ล้นเกิน แถมยัง “สวยเลือกได้” อีก สโลแกนของคนกลุ่มนี้จึงครวญออกมาเป็นวลีที่ว่า “ถ้าเขาจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” เพราะแม้จะเลิกรากับลือไป เธอก็พร้อมจะมีหนุ่มโสดในฝันอย่าง “อำพน” มาจ่อคิวรอคอยดูแล ก่อนจะก้าวเป็น “สามีแห่งชาติ” ในลำดับถัดมา         ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถลำเข้าสู่สมรภูมิเกมแห่งชนชั้นแล้ว รำนำก็ได้สำเหนียกว่า ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจสังคมต่างถักสานโครงข่ายผลประโยชน์ระหว่างกันของคนกลุ่มนี้เอาไว้ ทั้งผลประโยชน์ด้านสว่างและด้านมืดที่โยงใยอย่างซับซ้อน โดยที่ลูกสาวคนใช้อย่างเธอยากนักจะเข้าไปเจียดแบ่งผลประโยชน์มาดอมดมได้บ้างเลย         เริ่มจากหนุ่มหล่อลูกชายของเจ้าของธุรกิจสื่อรายใหญ่อย่าง “เวไนย” ผู้เคยแอบหลงเสน่ห์ที่รำนำโปรยไว้ให้ แต่เมื่อรู้ภายหลังว่ารำนำเป็นลูกสาวใช้และเป็นอนุภรรยาของลือ เขาก็เลือกสลัดเธอทิ้งไป พร้อมๆ กับสนับสนุนมารดาให้ใช้อำนาจสั่งปลดรำนำจากพรีเซนเตอร์โฆษณาสินค้า ตามมาด้วย “ศศี” นักธุรกิจสาวที่คอยกีดกันความรักที่รำนำมีต่อลือ จนสร้างความขัดแย้งของผู้หญิงสองคนชนิด “ตายไม่เผาผี” กันเลย         แถมด้วย “พาที” ผู้บริหารธุรกิจกลางคืน ก็หลอกใช้รำนำเป็นเครื่องมือเพื่อกรุยทางสู่ผลประโยชน์ของเขา ไปจนถึง “ท่านจรินทร์” นักการเมืองใหญ่ที่ไม่เพียงเห็นรำนำเป็นเพียงของเล่นชั่วครั้งคราว หรือหลอกใช้เธอให้เป็นบันไดเอาชนะคู่แข่งทางการเมืองเพื่อขึ้นสู่อำนาจ แต่ยังสั่งฆ่าเธอได้เมื่อของเล่นชิ้นนี้หมดประโยชน์ลง         ในวังวนความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเช่นนี้ คนชั้นล่างผู้เสียเปรียบก็ยิ่งถูกทำให้เสียเปรียบ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขูดรีดผลประโยชน์จากกลุ่มคนที่เหนือกว่าอยู่วันยังค่ำ แถมซ้ำด้วยการถูกยัดเยียดฝากฝัง “ความรู้สึกผิด” เอาไว้ในความคิดของชนชั้นล่างโดยคนกลุ่มเดียวกันเอง เหมือนกับที่แม่นุ่มก็พูดย้ำเตือนสำนึกอันผิดพลาดของรำนำว่า “คุณค่าของคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเกิดมาแบบไหน หรือพ่อแม่มีอาชีพอะไร แต่มันอยู่ที่การกระทำ ถ้าทำตัวไร้ค่า ต่อให้รวยล้นฟ้า ก็ไร้ค่าอยู่ดี”         ด้วยต้นทุนที่ไม่เท่าเทียมกันในสนามรบนี้ แม้ในตอนจบเรื่อง รำนำอาจจะพิชิตหัวใจของลือและลงเอยใช้ชีวิตคู่กับเขาได้ก็ตาม แต่ “ราคาที่ต้องจ่ายเป็นค่าตอบแทน” สำหรับผู้หญิงชนชั้นล่างนั้นก็ช่างแพงแสนแพงเหลือเกิน ทั้งถูกทำร้ายจนเหลือเพียงร่างพิการ ทั้งเสียลูกที่อยู่ครรภ์ ไปจนถึงสูญเสียชีวิตแม่นุ่มผู้ได้ชื่อว่าหวังดีที่สุดในชีวิตของเธอ         ในฉากท้ายๆ ของเรื่อง ทางออกของความขัดแย้งได้รอมชอมขึ้น เมื่อรำนำและน้ำพิงค์หันหน้ามาปรับความเข้าใจกัน แต่เมื่อผู้หญิงจากชนชั้นที่แตกต่างหันมาพูดคุยกันอีกคำรบหนึ่งเช่นนี้ บางทีละครก็ทิ้งคำถามให้ชวนคิดว่า ระหว่างผู้หญิงที่ “ยืนเฉยๆ เขาก็รัก” กับผู้หญิงที่ “ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อให้มีตัวตนทางเศรษฐกิจสังคม” นั้น คนกลุ่มใดกันแน่ที่เป็นไม้เลื้อยหรือกาฝากที่เกาะเกี่ยวพันไม้อื่นเพื่อมีชีวิตอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >