ฉบับที่ 168 การสำรวจราคากระเบื้องลอนคู่

“อย่างที่หลายๆ ประเทศทั่วโลกบอกอย่างชัดเจนว่า “แร่ใยหิน” หรือ “แอสเบสตอส” (Asbestos) ซึ่งมักใช้ในอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ ท่อน้ำซีเมนต์ ผ้าเบรค และคลัทช์ นั้นเป็นวัตถุอันตราย เนื่องจากก่อให้เกิดโรคร้ายต่อมนุษย์หากหายใจเข้าไป เช่น โรคมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด จนหลายๆ ประเทศได้สั่งห้ามผลิตและใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินแล้ว และแม้ว่าจะมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2554 ที่เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการอันตรายของแร่ใยหิน ตามยุทธศาสตร์ ‘สังคมไทยไร้แร่ใยหิน’ ที่เสนอโดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กฎหมายว่าด้วยการนำเข้าและส่งออก กฎหมายว่าด้วยโรงงาน และกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แต่ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงยังไม่มีการปฏิบัติตามมติ ครม.ดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลา อีกทั้งผู้ประกอบการที่ยังมีความต้องการใช้แร่ใยหินชนิดนี้อยู่  ได้พยายามให้ข้อมูลในเรื่องของ ราคาสินค้าที่อาจทำให้ผู้บริโภครับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นหากเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีแร่ใยหิน ส่วนในประเทศไทยของเรา มากกว่าร้อยละ 90 ของแร่ใยหินที่นำเข้า จะใช้เพื่อการผลิตสินค้าประเภทซีเมนต์ใยหินเช่น กระเบื้องทนไฟ กระเบื้องมุงหลังคา ท่อซีเมนต์ และประมาณร้อยละ 7 ใช้เพื่อการผลิตสินค้าประเภทเบรค คลัทช์ ที่เหลืออีกร้อยละ 3 ใช้ในการผลิตสินค้าอื่นๆ เช่นฉนวนกันความร้อน กระเบื้องยางปูพื้น ภาชนะพลาสติก เสื้อผ้าทนไฟ กระดาษลูกฟูก สายฉนวนเตารีด เป็นต้น แต่ก็ยังมีอุตสาหกรรมผลิตกระเบื้องซีเมนต์ในบ้านเรา  ที่ยังคงผลิตสินค้าประเภทกระเบื้องมุงหลังคาแบบมีแร่ใยหินอยู่เนื่องจากมีความแข็งแรง ทนทาน ราคาถูกกว่ากระเบื้องแบบไร้แร่ใยหิน ทั้ง ๆ ที่ราคากระเบื้องทั้งสองแบบอาจจะมีราคาที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ทางแผนงานฯ จึงร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และเครือข่ายผู้บริโภค จัดให้มีการสำรวจราคากระเบื้องมุงหลังคาที่มีและไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลในการผลักดัน กระตุ้นให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าที่ไม่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ เป็นทางเลือกในผู้บริโภคที่ตระหนักในเรื่องของสุขภาพ ของตัวเองเเละคนงานก็ย่อมเลือกเเบบไม่มีเเร่ใยหิน  รณรงค์ให้ผู้ประกอบการผลิตกระเบื้องที่ไม่มีส่วนผสมแร่ใยหิน และสุดท้ายก็เพื่อให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน รศ.ดร.ภก.วิทยา  กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ---------------------------------------------------- 1.ระยะเวลาการสำรวจ เริ่มตั้งแต่วันที่     10 - 28 ก.พ. 2558 2.การเลือกพื้นที่สำรวจ เลือกจากเขตสาธารณสุขจำนวน 12 เขต เขตละ 2 จังหวัด โดยวิธีการจับสลาก รวม 24 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ พิษณุโลก สุโขทัย นครสวรรค์ ชัยนาท ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี สกลนคร นครราชสีมา ชัยภูมิ อุบลราชธานี มุกดาหาร* นครศรีธรรมราช สุราษฎรธานี สงขลา ตรัง บวกกรุงเทพฯ  เขตชั้นใน และชั้นนอก 3.การสำรวจราคากระเบื้องมุงหลังคา 3.1สำรวจราคาจากร้านค้าไทวัสดุก่อสร้าง และ ร้านค้าในเขตอำเภอเมือง ของจังหวัดเป้าหมาย 3.2สำรวจราคากระเบื้องลอนคู่ขนาด 4 มม. สีซีเมนต์และสีมาตรฐาน และกระเบื้องลอนคู่ขนาด 5 มม. สีซีเมนต์และสีมาตรฐาน 4.สัมภาษณ์ช่างมุงกระเบื้องหลังคา เรื่องความรู้เกี่ยวกับแร่ใยหิน ในทุกจังหวัดเป้าหมาย จำนวนทั้งสิ้น 48   ราย               เรื่องเล่าจากช่างมุงหลังคา ความเห็นจากช่าง/ผู้รับเหมา การสำรวจความเห็นจากช่าง/ผู้รับเหมารวม 48 คน ในพื้นที่จังหวัดที่เข้าร่วมการสำรวจ พบว่า กระเบื้องที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดในกลุ่มนี้ 5 อันดับแรกคือ กระเบื้องตราช้าง กระเบื้องตราเพชร กระเบื้องตราห้าห่วง กระเบื้องตราลูกโลก และกระเบื้องทีพีไอ ตามลำดับ กระเบื้องที่ช่างเหล่านี้เลือกใช้บ่อยที่สุด 3 แบรนด์ได้แก่ ตราช้าง ตราเพชร และตราห้าห่วง ตามลำดับ  เหตุผลอันดับต้นๆที่ช่างเลือกใช้กระเบื้องตราช้างคือความแข็งแรงทนทานและความเป็นที่นิยม สำหรับกระเบื้องตราเพชรอันดับหนึ่งคือราคา ตามด้วยความแข็งแรงทนทาน และเหตุผลที่เลือกกระเบื้องตราห้าห่วงอันดับแรกคือความแข็งแรงทนทาน ตามด้วยราคา ในกรณีที่ลูกค้าขอคำแนะนำ ...(จะใช้ยี่ห้ออะไรดีนะช่าง) ยี่ห้อที่ถูกแนะนำโดยช่างกลุ่มนี้มากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่ ตราช้าง (ร้อยละ 66.7)  ตามด้วยตราเพชร (ร้อยละ 14.6) ตราลูกโลก (ร้อยละ 10.4) และตราห้าห่วง (ร้อยละ 8.3)  ด้วยเหตุผลเรื่องความแข็งแรงทนทานและราคาเป็นหลัก ในกรณีที่ลูกค้าเจาะจงเลือก … จากประสบการณ์ของช่าง แบรนด์ที่ลูกค้าเจาะจงเลือกใช้มากที่สุดได้แก่ ตราช้าง (ร้อยละ 88.9) ตราเพชร (ร้อยละ 24.4) ตามด้วยตราลูกโลกและตราห้าห่วง (ร้อยละ 17.8 เท่ากัน) ความเข้าใจเรื่องแร่ใยหิน ช่าง/ผู้รับเหมาประมาณร้อยละ 70 ทราบว่ากระเบื้องมุงหลังคาทำจากวัสดุอะไรบ้าง ร้อยละ 50 ตอบว่ารู้จักแร่ใยหิน และกระเบื้องที่ช่าง/ผู้รับเหมาเชื่อว่ามีแร่ใยหินได้แก่ (เรียงตามลำดับความถี่ของการเลือกตอบ) ตราเพชร ตราลูกโลก ตราห้าห่วง ตราช้าง และตราทีพีไอ มากกว่าร้อยละ 60 เชื่อว่าแร่ใยหินเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะสุขภาพของช่างที่ทำงานกับกระเบื้อง   *หมายเหตุ ช่าง/ผู้รับเหมาที่ให้ข้อมูลในการสำรวจครั้งนี้ มีอายุระหว่าง 27 ถึง 67 ปี และทำงานในวงการก่อสร้างเป็นเวลา 3 ถึง 48 ปี   ความเห็นของช่าง/ผู้รับเหมาต่อเรื่องอันตรายของแร่ใยหิน กลุ่มที่เห็นว่าแร่ใยหินมีอันตรายต่อคนทำงานและผู้อยู่อาศัย “เชื่อว่าแร่ใยหินมีอันตรายจึงเลือกซื้อ/ใช้กระเบื้องประเภทที่ไม่มีแร่ใยหิน” “แนะนำผู้ว่าจ้างให้ใช้กระเบื้องหลังคาแบบที่ไม่มีใยหิน” “เวลาตัดจะสวมหน้ากากกันฝุ่น แต่ถ้ามีรุ่นใหม่ที่ไม่มีแร่ใยหินมีออกมาขายมากขึ้น คิดว่าคงเลือกใช้           แบบไม่มีแร่ใยหิน” “ลูกน้องบางคนเป็นโรคทางเดินหายใจ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะแร่ใยหินหรือไม่” “เวลาเจาะ ตัด จะมีฝุ่นเข้าจมูก อาจทำให้เกิดโรคตามมา” “เวลาตัดฝุ่นฟุ้งกระจายมากกว่ากระเบื้องชนิดอื่นๆ” “ถ้ามีอันตราย คนที่ได้รับอันตรายมากสุดคือช่าง ผู้อยู่อาศัยอาจได้รับอันตรายบ้างแต่ไม่เสี่ยงเท่า    ช่าง” “อันตรายกับช่างที่สัมผัส อันตรายกับผู้อยู่อาศัยจากฝุ่นใยหินที่ฟุ้งกระจายในบ้าน” “อันตรายต่อช่าง หายใจไม่ออก ป้องกันโดยการใช้ผ้าปิดจมูก แต่ไม่น่ามีผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัย” “อาจเป็นอันตรายต่อตัวช่างเพราะต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด แต่ไม่แน่ใจว่าอันตรายกับผู้อยู่อาศัยหรือไม่”        “เป็นอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย” “มีอันตรายถ้าใช้ระยะยาว เพราะมีส่วนประกอบเป็นวัสดุที่ก่อมะเร็ง” “ฝุ่นและสิ่งสกปรกจากแผ่นกระเบื้องทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้” “มีผลต่อสิ่งแวดล้อม น้ำฝนไม่สะอาด ส่งผลต่อสุขภาพ” “อันตรายแต่ต้องรู้จักวิธีใช้” “อาจทำให้เกิดมะเร็งได้” “โรคปอด โรคผิวหนัง” “น่าจะอันตรายแต่ผู้รับเหมาส่วนใหญ่ให้ลูกจ้างให้ใส่หน้ากากและดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ อยากให้ตรวจสอบวัสดุก่อสร้างว่ามีแร่นี้หรือไม่ ถ้ามีควรแจ้งผู้รับเหมา ลูกค้า หน่วยงานรัฐต้องเข้ามา   จัดการ”   กลุ่มที่เห็นว่าแร่ใยหินไม่มีอันตรายต่อคนทำงานและผู้อยู่อาศัย “ไม่น่าจะมีอันตรายเพราะเป็นสิ่งที่คนใช้กันเยอะ” “ใช้กันทั่วไปในการสร้างที่อยู่อาศัย” “ยังไม่เคยเห็นผลกระทบต่อร่างกาย” “ไม่แน่ใจเพราะยังไม่เห็นผลโดยตรง” “ไม่น่าจะอันตรายเพราะไม่ได้สัมผัสเป็นเวลานาน” “คิดว่าแร่ใยหินไม่อันตราย แต่ฝุ่นละอองจากกระเบื้องทุกชนิดมีอันตราย” “ไม่น่าจะอันตราย เพราะนำมาสร้างที่อยู่คน การผลิตต้องมีมาตรฐาน”  

อ่านเพิ่มเติม >