ฉบับที่ 224 คิดดี ๆ ถ้าจะเป็นพ่อ...เมื่อแก่

        โดยทั่วไปแล้วคนไทยที่ศึกษาถึงขั้นปริญญาตรี ไม่ว่าสาขาวิชาใด ควรได้รับข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพจากบางวิชาในสถานศึกษาว่า การมีลูกของผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี นั้นอาจเป็นผลเสียต่อความสมบูรณ์ของเด็กที่เกิดมา ซึ่งว่าไปแล้วแค่อายุที่เริ่มย่าง 30 ปี ผู้ที่ตั้งท้องจะเป็นแม่คนควรตรวจดูโครโมโซมในน้ำคร่ำของมดลูก(ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงกับโครโมโซมลูก) ว่า ผิดปรกติหรือไม่         การที่ผู้หญิงวัยกลางคนมีความเสี่ยงต่อการมีลูกปัญญาอ่อนในลักษณะกลุ่มอาการดาว์น (Down’s syndrome) สูงนั้น เพราะเซลล์ไข่ในรังไข่นั้นถูกสร้างมา จนเกือบสมบูรณ์ ตั้งแต่ก่อนออกจากท้องแม่แล้วถึงมาพัฒนาให้สมบูรณ์พร้อมผสมกับอสุจิในภายหลัง ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนเพศเมื่อเด็กหญิงเข้าสู่วัยสาว ดังนั้นเมื่อหญิงสาวมีอายุถึง 35 ปี ไข่ในรังไข่จึงกลายเป็น ไข่ที่เก่าเก็บ เสี่ยงต่อการเกิดความผิดปรกติต่อโครโมโซมของไข่ เนื่องจากช่วงเวลาที่สตรีเริ่มพัฒนาไข่จนถึงอายุ 35 ปี นั้นเป็นเวลาที่นานพอสำหรับไข่ที่ยังไม่พัฒนาต้องเผชิญโอกาสการสัมผัสสิ่งเป็นพิษเช่น เชื้อไวรัสที่ก่อโรคต่างๆ สารเคมี ซึ่งรวมถึงยาบำบัดโรค และรังสีต่างๆ ที่สามารถก่ออันตรายต่อโครโมโซมของไข่ได้         ผู้เขียนได้เห็นความเศร้าของเพื่อนบ้าน ซึ่งมีลูกคนที่สองเมื่ออายุ 39 ปี และแม้ได้รับการตรวจน้ำคร่ำจากโรงพยาบาลเอกชนเก่าแก่ โดยผลจากการตรวจบอกว่า โครโมโซมปรกติ แต่ลูกที่คลอดออกมากลับอยู่ในกลุ่มอาการดาว์น ซึ่งแสดงว่าการตรวจโครโมโซมนั้นมีความผิดพลาดได้ ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า ความแม่นยำของการตรวจนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 98 – 99 ซึ่งเป็นเรื่องยอมรับได้ทางวิทยาศาสตร์ที่ว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์ร้อยละ 100        ดังนั้นคนไทยรุ่นเจ็นวาย (Gen Y คือคนที่เกิดในระหว่างช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980 จนถึงปลายของช่วง ค.ศ. 1990 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกของ Gen X และเป็นหลานของ Baby Boomer) ที่เป็นคนชั้นกลางและยังมีปัญหาในการตัดสินใจไม่ได้ว่า มีครอบครัวดีหรือไม่ จนอายุล่วงเข้ากว่า 30 ปีแล้ว มักปักใจว่า ไม่มีลูกดีกว่า เพราะยังต้องก่อร่างสร้างตัว  ไปอีกหลายปีจึงพอเก็บเงินไว้กินเมื่อแก่ได้ อีกทั้งการมีลูกนั้นกวนทั้งตัวและกวนทั้งใจ เนื่องจากถ้าเป็นคนระดับคนชั้นกลาง ระหว่างการเลี้ยงลูกให้โตส่วนใหญ่ต้องหันดูสังคมรอบข้างว่า เขาทำอะไรกันบ้าง เพื่อให้เสมอหน้าเสมอตาคนอื่น รวมทั้งปัจจัยสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเมืองที่เอากันทุกท่า จึงทำให้คนในยุคเจ็นวายมองไม่เห็นความสุขในการมีลูก ตลอดถึงการไม่คิดจะมีแม้แต่ครอบครัวที่แยกออกมาจากพ่อแม่ ดังนั้นสุดท้ายแล้วเมื่อคิดไปคิดมาอย่างรอบคอบ พบว่ามันลำบากนักในการสืบเชื้อสาย ตัดวงจรของกรรมโดยไม่มีลูกมันเสียเลยดีกว่า        อย่างไรก็ดีคนชั้นกลางขึ้นไปถึงระดับบน ซึ่งมีเงินและมองเห็นอนาคตว่า ถ้ามีลูกแล้วเขาสามารถกำหนดให้เป็นอย่างไรก็ได้นั้น ก็ยังคงตั้งใจมีผู้สืบสายเลือด แต่กว่าจะคิดตัดสินใจมีลูกได้อายุก็เข้าวัยกลางคน ซึ่งในทางสรีระวิทยาแล้วผู้หญิงสามารถมีไข่สำหรับผสมกับอสุจิเป็นลูกได้จนถึงอายุประมาณ 40-50 ปี (ขึ้นอยู่กับกรรมของแต่ละคน) แต่โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงที่มีอายุเกิน 30 ปี ถ้ามีโอกาสได้ตั้งท้องก็ควรตรวจสอบโอกาสเกิดปัญหาของลูกเมื่อยังท้องอ่อนๆ อยู่ และถ้าผลออกมาเป็นบวกว่า โครโมโซมของลูกในถุงน้ำคร่ำมีความผิดปรกติ การตัดสินใจว่าจะเอาไว้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องใหญ่หลวงนัก         สำหรับผู้ชายนั้นส่วนใหญ่มักไม่นึกถึงอะไรเกี่ยวกับคุณภาพของอสุจิ เนื่องจากมักคิดว่า อสุจิของชายซึ่งสร้างในหลอดสร้างตัวอสุจิหรือ seminiferous tubule นั้นเป็นการสร้างแบบ วันต่อวัน (freshly prepare) ทั้งที่ในความจริงแล้วต้องใช้เวลาราว 74 วัน เพื่อพัฒนาเซลล์ที่เป็นส่วนประกอบของหลอดสร้างตัวอสุจิให้เป็นตัวอสุจิ เพียงแต่ว่ามีการสร้างอยู่ตลอดเวลาแล้วทยอยปล่อยออกมา ตามความต้องการใช้งาน ที่สำคัญคือ ผู้ชายส่วนมากมักไม่เคยได้รับการบอกกล่าวว่า เซลล์ซึ่งถูกนำมาใช้ผลิตเป็นอสุจิในแต่ละวันนั้น มันก็เก่าและแก่ได้ตามวันเวลาที่ผ่านไป เหมือนไข่ในรังไข่ของผู้หญิง         นิตยสาร Time ออนไลน์ มีบทความซึ่งชายทั้งโลกอาจไม่เคยนึกถึงในปี 2018 ชื่อ “Babies Born to Older Dads May Have a Higher Risk of Health Problems, Study Says” โดยมีใจความที่สรุปจากบทความวิชาการเรื่อง Association of paternal age with perinatal outcomes between 2007 and 2016 in the United States: population based cohort study (ปรากฏในวารสารออนไลน์ BMJ เมื่อ 31 ตุลาคม 2018) ซึ่งเป็นการทำวิจัยที่แบ่งกลุ่มพ่อของเด็กออกเป็น 5 กลุ่ม ตามช่วงอายุคือ อายุน้อยกว่า 25 ปี 25-34, 35-44, 45-54 ปีและอายุมากกว่า 55 ปี ขึ้นไป โดยผลสรุปที่ได้คือ ลูกของชายสูงอายุนั้นมีโอกาสสูงในการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดต่ำ มีปัญหาในการดื่มนม และอาจมีปัญหาทางสุขภาพอื่นแต่กำเนิดเช่น ระบบหายใจไม่ปรกติ         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมที่น่ากังวลใจสำหรับคนที่หวังเป็นพ่อแต่อายุมากคือ บทความเรื่อง Rate of de novo mutations and the importance of father’s age to disease risk ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2012 ว่า ทุกปีที่ผ่านไปสำหรับผู้ชายนั้น โอกาสเกิดการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอจะเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าเกิดแจ๊คพ็อตแตกการกลายพันธุ์นั้นไปปรากฏบนโครโมโซมของอสุจิที่ตำแหน่งซึ่งมีความสำคัญในการได้ลูกเป็นคนปรกติ โอกาสที่เด็กที่เกิดจากการผสมพันธุ์ด้วยอสุจิที่กลายพันธุ์ของพ่อจะเป็นโรคทางพันธุกรรมย่อมเกิดได้ งานวิจัยดังกล่าวได้ตรงกับสมมุติฐานที่มีผู้พบถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเด็ก (ที่เป็นลูกของพ่อที่แก่) ต่อการเป็นออทิสติก โรคทางจิตเวช โรคทางระบบประสาท ตลอดจนถึงมะเร็งในเด็ก         สำหรับสตรีที่มีสามีแก่นั้น เมื่อท้องแล้วจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของร่างกายที่อาจเสื่อมเร็วกว่าปรกติ โดยเฉพาะการเป็นเบาหวานช่วงตั้งท้อง(gestational diabetes) เนื่องจากขณะตั้งท้องนั้นรกได้สร้างฮอร์โมนบางชนิดในเลือดของแม่เพิ่มขึ้นจากสภาวะปรกติคือ cortisol และ progesterone เป็นตัวหลัก และมี human placental lactogen, prolactin และ estradiol เป็นตัวเสริม จนอาจก่อให้เกิดภาวะดื้ออินซูลินชั่วคราวเพื่อเพิ่มการใช้พลังงานจากไขมัน แล้วสงวนพลังงานจากน้ำตาลไว้ให้ลูกในท้อง         เหตุผลที่งานวิจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นนั้นมีความสำคัญมากต่อสหรัฐอเมริกา เพราะปัจจุบันชายอเมริกันต่างมีลูกเมื่ออายุมากขึ้นกว่าสมัย baby bloom ดังได้มีบทความวิจัยเรื่อง The age of fathers in the USA is rising: an analysis of 168,867,480 births from1972 to 2015 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Human Reproduction เมื่อปี  2017 กล่าวว่า ระหว่างปี 1972-2015 ค่าเฉลี่ยของอายุพ่อ เปลี่ยนจาก 27.4 ปี ไปเป็น 30.9 ปี อีกทั้งในบทความดังกล่าวได้อ้างต่อว่า อายุของแม่นั้นก็ได้เปลี่ยนจาก 24.7 ปี ในช่วง ค.ศ. 1972 เป็น 28.6 ปี ในช่วง ค.ศ. 2015 ด้วยเช่นกัน        สรุป การที่อายุของพ่อและแม่ที่ตั้งใจมีลูกเพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ว่าไปก็อาจดี เพราะถ้าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่ดีแล้วลูกก็ควรได้รับการอบรมให้เป็นคนทำมาหากินเป็น ดีกว่าการมีลูกที่แข็งแรงแต่อยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐานะไม่ดี จนเด็กต้องไร้การศึกษาและอบรม แต่จะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากถ้าปรากฏว่า หญิงหรือชายต้องรอสร้างฐานะจนแก่แล้วจึงคิดมีลูก ซึ่งน่าหมายถึงการสร้างทายาทที่อาจต้องกลายเป็นภาระของสังคม ซึ่งปัจจุบันมันดูไร้อนาคตเสียจริง ๆ

อ่านเพิ่มเติม >