ฉบับที่ 203 กลูโคซามีนลดอาการข้อเข่าเสื่อม...จริงหรือ

กลูโคซามีน เป็นสารชีวเคมีธรรมชาติที่สกัดออกมาได้จากเปลือกสัตว์ เช่น หอย กระดูกสัตว์ต่างๆ ไขกระดูก และราบางชนิด(สามารถสังเคราะห์กลูโคซามีนจากข้าวโพดเพื่อขายแก่ผู้ที่เป็นมังสวิรัติ) สารชีวเคมีนี้เมื่อเกิดในร่างกายมนุษย์ จะอยู่ในรูปกลูโคซามีน-6-ฟอสเฟต ส่วนที่มีการขายทั่วไปนั้นมักเป็นกลูโคซามีนซัลเฟต ทำหน้าที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างสารอื่นในกลุ่มน้ำตาลชนิดที่มีอะตอมไนโตรเจนในโมเลกุล(nitrogen-containing sugars)งานวิจัยบางชิ้นให้ผลว่า โมเลกุลกลูโคซามีนนั้น น่าจะถูกนำไปใช้สร้างน้ำหล่อลื่นข้อต่อต่างๆ ในขณะที่กลุ่มซัลเฟตที่ได้จากกลูโคซามีนซัลเฟตนั้น อาจมีส่วนร่วมในการสังเคราะห์กระดูกอ่อนด้วย ซึ่งสมมุติฐานนี้ไปสนับสนุนผลของบางการศึกษาที่พบว่า กลูโคซามีนที่ได้ผลนั้นต้องอยู่ในรูปกลูโคซามีนซัลเฟตเท่านั้น ไม่ใช่กลูโคซามีนไฮโดรคลอไรด์หรือเอ็นอะเซ็ตติลกลูโคซามีน ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีกลูโคซามีนซัลเฟตเป็นหลักมักมีการเติมสารอื่น เช่น คอนดรอยตินซัลเฟต(chondroitin sulfate) กระดูกอ่อนจากปลาฉลาม และสารอื่นเข้าไปด้วย โดยผู้ค้าหวังว่าจะช่วยให้การออกฤทธิ์ของกลูโคซามีนดีขึ้น แต่ยังไม่มีใครพิสูจน์ทางวิชาการได้ว่า หวังนั้นเป็นจริงเว็บของ MedlinePlus (https://medlineplus.gov) สังกัด National Library of Medicine ซึ่งเป็นห้องสมุดการแพทย์ของสหรัฐอเมริกาที่ใหญ่สุดในโลกให้ข้อมูลว่า กลูโคซามีนซัลเฟตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ให้ความหวังแก่ผู้มีอาการกระดูกเข่าเสื่อม ปวดข้อเนื่องจากยาบางชนิด กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดขากรรไกร ปวดเข่า ปวดหลัง ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง(Multiple Sclerosis) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการผลิตเป็นสินค้าผสมการบูรและ/หรือสารอื่นๆ ในรูปครีมใช้ทาลดอาการปวดตามข้ออีกด้วยNatural Medicines Comprehensive Database องค์กรด้านวิชาการหนึ่งสังกัด California State University ที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบำบัดโรคด้วยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติกล่าวว่า กลูโคซามีนซัลเฟตน่าจะใช้ได้ผลในการลดความเจ็บปวดของข้อเข่าเสื่อม ในระดับเดียวกันกับการใช้ยาพาราเซ็ตตามอลหรืออยากลุ่ม NSAIDs เพียงแต่ระยะเวลาต่างกันเท่านั้น อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่ากลูโคซามีนไม่มีประสิทธิผลในคนไข้บางกลุ่ม โดยเฉพาะพวกที่มีอาการเจ็บปวดมานาน อ้วน หรือเป็นผู้สูงวัยข้อมูลที่ดูดีอีกหน่อยหนึ่งในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า กลูโคซามีนอาจจะช่วยบรรเทาอาการข้อต่อสะโพกเสื่อมและข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม ยืดอายุข้อเข่าในผู้ที่กินติดต่อกัน อีกทั้งผู้ที่กินยานี้มีแนวโน้มว่าอาจจะไม่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อย่างไรก็ดีข้อมูลประการนี้ยังควรฟังหูไว้หูNatural Medicines Comprehensive Database ได้กล่าวอีกว่า มีงานวิจัยบางชุดที่ระบุว่า มีหลักฐานไม่พอที่กล่าวว่ากลูโคซามีน (ซึ่งใช้ร่วมกับสารธรรมชาติอื่น) มีประสิทธิผล ในคนไข้ที่มีปัญหาเจ็บข้อต่อ (เนื่องจากการใช้ยาเพื่อลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในการบำบัดมะเร็งเต้านมระยะต้น) คนไข้เจ็บกระเพาะปัสสาวะ(Interstitial cystitis) เจ็บเข่า ปวดขากรรไกร เป็นต้นความปลอดภัยของกลูโคซามีนเกี่ยวกับความปลอดภัยของกลูโคซามีนนั้น MedlinePlus กล่าวเป็นเชิงว่า ควรปลอดภัยถ้ากินอย่างถูกต้องตามที่เภสัชกรแนะนำ และน่าจะปลอดภัยกว่า กรณีที่ถูกฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 ครั้งต่อสัปดาห์นาน 6 สัปดาห์ หรือใช้ทาผิวหนังร่วมกับคอนดรอยตินซัลเฟต กระดูกอ่อนปลาฉลามและการบูรนาน 8 สัปดาห์ผลข้างเคียงของการกินกลูโคซามีนซัลเฟตนั้นมีรายงานว่า ในผู้บริโภคบางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ กรดไหลย้อน ถ่ายท้องและท้องผูก นอกจากนี้ผลข้างเคียงที่อาจเกิดเพิ่มเติมเฉพาะคนคือ ง่วงซึม ความผิดปรกติของผิวหนังและปวดหัว ที่สำคัญคือ หญิงตั้งท้องหรือให้นมลูกนั้นพึงระวัง เพราะยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของกลูโคซามีนซัลเฟตในประเด็นนี้ สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหอบหืดอาจต้องระวังเป็นพิเศษเพราะเคยมีการระบุปัญหาในรายงานทางวิชาการชิ้นหนึ่ง กลูโคซามีนนั้นทำให้ยาวอร์ฟาริน(ซึ่งใช้ลดอาการเลือดข้น) ออกฤทธิ์มากขึ้นจนทำให้ความดันโลหิตผู้ป่วยต่ำลง อีกทั้งยังมีรายงานที่ตั้งข้อสงสัยว่า กลูโคซามีนอาจไปวุ่นวายต่อประสิทธิภาพในการใช้ยาต้านมะเร็ง(chemotherapy)ในสหรัฐอเมริกากลูโคซามีนซัลเฟต ถูกให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เพราะจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(US.FDA) ไม่มีบทบาทในการควบคุมดูแลแต่อย่างใด แม้แต่อำนาจในการขอหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของสินค้าก็ไม่มี ยกเว้นเมื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารใดก่อปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้บริโภค งานจึงจะเข้าให้ US.FDA พิสูจน์และมีบทบาทในการฟ้องร้องสำหรับประเทศส่วนใหญ่ในสหภาพยุโรปนั้น กลูโคซามีนซัลเฟตถูกจัดให้เป็นยาจึงต้องขึ้นทะเบียนพร้อมหลักฐานทางวิชาการถึงประสิทธิผล พร้อมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการนำไปใช้บำบัดอาการปวดข้อต่างๆ อย่างไรก็ดีในปี 2014 OARSI (Osteo Arthritis Research Society International) ได้แถลงข่าวเป็นเชิงว่า ไม่แนะนำให้ใช้กลูโคซามีนบำบัดอาการปวดเข่า (เข้าใจว่าเป็นเพราะข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิผลยังสับสนอยู่)จากความไม่แน่นอนทางวิชาการเกี่ยวกับผลของกลูโคซามีนในการรักษาอาการเจ็บข้อต่างๆ นั้น ทางคณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย ได้ถอนรายชื่อของกลูโคซามีนออกจากบัญชียาหลัก ทำให้กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 แจ้งเวียน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้อำนวยการสถานพยาบาลของทางราชการ /สถานพยาบาลที่กระทรวงการคลังกำหนด เพื่อทราบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติ เรื่องการกำหนดรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยได้กำหนดให้ กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยติน ซัลเฟตและไดอะเซอเรน) ทุกรูปแบบและกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทา อาการข้อเสื่อม (ไฮยาลูโรแนนและอนุพันธ์) เป็นรายการยาที่ห้ามเบิกจ่ายจากระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และไม่ให้คณะกรรมการแพทย์ของสถานพยาบาลออกหนังสือรับรองการใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติกลุ่มดังกล่าว เนื่องจากกลุ่มยาดังกล่าวไม่มีความคุ้มค่าและมีประสิทธิผลไม่ชัดเจนอย่างไรก็ดีเมื่อเข้าไปในเว็บ www.hfocus.org/content/2015/05/10007 ก็ได้พบข้อมูลว่า ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 132 ตอนที่ 41) ได้ลงประกาศสำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ศาลปกครองได้พิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนกฏ นัยว่าเพื่อให้เป็นไปตามคําพิพากษาถึงที่สุดของศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขแดงที่ 502/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง และคําพิพากษาถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 503/2558 ระหว่าง ผู้ฟ้องคดี (ขอสงวนนาม) กับกระทรวงการคลัง โดยพิพากษา “เพิกถอนหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง แจ้งตามหนังสือกระทรวงการคลังด่วนที่สุด ที่ กค0422.2/ว127 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2553 ที่กําหนดให้กลุ่มยา SYSADOA (กลูโคซามีน คอนดรอยตินซัลเฟต และไดอะเซอเรน) ...” ดังกล่าวข้างต้น โดยให้การเพิกถอนคำสั่งกรมบัญชีกลางนั้นมีผลตั้งแต่วันที่มีการประกาศผลแห่งคําพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2558ผู้เขียนได้รับการบอกเล่ามาว่า การที่แพทย์จะจ่ายยาที่อยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติให้ผู้ป่วยซึ่งเป็นข้าราชการทั้งที่ยังดำรงตำแหน่งอยู่หรือเกษียณไปแล้วนั้น จำต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจ่ายยาดังกล่าว ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์หลายส่วนกังวล เพราะสุ่มเสี่ยงต่ออะไรหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศนี้ ดังนั้นผู้ที่ประสงค์จะกิน “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” ชนิดนี้คงต้องจ่ายเงินเองไปก่อน จนกว่าจะมีผลการพิสูจน์ว่าสารชีวเคมีชนิดนี้มีประสิทธิผลในการบำบัดอาการปวดข้อต่างๆ แล้วกลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

อ่านเพิ่มเติม >