ฉบับที่ 269 รวบแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง

        เดี๋ยวนี้หลายคนที่ช้อปออนไลน์มักจะเลือกซื้อจากร้านค้าที่มีบริการเก็บเงินปลายทาง เพราะไม่อยากเสี่ยงโอนเงินไปก่อนแล้วต้องมาลุ้นว่าจะได้ของชัวร์หรือตรงปกไหม แต่รู้หรือไม่ว่านี่กลับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพใช้สวมรอยหลอกให้เหยื่อจ่ายเงินรับพัสดุแบบเนียนๆ ทั้งที่ไม่ได้สั่งซื้อเลย ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วจำนวนมาก         เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์แกะรอยสืบสวนจากบริษัทรับส่งพัสดุแห่งหนึ่ง จนจับแก๊งหลอกส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางได้ 3 คน ที่โกดังสินค้าและบ้านพักแถวคลองหลวง ปทุมธานี ผู้ต้องหารับสารภาพว่าซื้อกล่องพัสดุที่ติดชื่อผู้รับปลายทางมาชื่อละบาท จำนวน 3,000 รายชื่อ และซื้อกล่องสินค้าแบบแพ็คสำเร็จมากล่องละ 7 บาท แต่จะติดราคาแพงๆ เก็บเงินปลายทาง จากนั้นว่าจ้างให้บริษัทขนส่งเอกชนมารับพัสดุไปส่งให้เหยื่อ โดยจะทำกันเป็นขบวนการตั้งแต่เจ้าของโรงงานผลิตกล่องพัสดุเก็บเงินปลายทางที่ใช้หลอกลวงเหยื่อ ไปจนถึงผู้ลักลอบนำรายชื่อข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เสียหายมาขายให้         มิจฉาชีพพวกนี้ได้ข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อมาจากหลายแหล่ง ได้แก่ เว็บไซต์เปิดรับสมัครงานปลอม ในคอมเมนต์เพจสั่งของ ในหน้าเพจร้านค้าออนไลน์ที่แจ้งการส่งสินค้า หน้ากล่องพัสดุที่ถูกทิ้งโดยไม่แกะหรือขีดฆ่าชื่อ-ที่อยู่ออกก่อน หรือซื้อมาจากบริษัทขนส่งพัสดุและบริษัทสมัครงาน          แก๊งนี้ได้ใจว่าหาเงินได้ง่าย หว่านส่งพัสดุเก็บเงินปลายทางออกไปวันละ 1,000 กล่อง แต่มีผู้รับตีกลับไม่ถึง 100 กล่อง ผู้เสียหายไม่เอาผิดเพราะคิดว่ามูลค่าเงินไม่เยอะ หรือหากเอาผิดก็เป็นเรื่องยากเพราะใช้ชื่อผู้ส่ง ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ปลอมทั้งหมด ดังนั้นใครที่ตกเป็นเหยื่อควรเข้าแจ้งความเอาผิดมิจฉาชีพพวกนี้ อย่าปล่อยให้พวกหลอกลวงลอยนวลได้อีกต่อไป แนวทางแก้ไขปัญหา ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะนำวิธีป้องกันและรับมือในกรณีนี้ว่า         1.หากไม่ได้สั่งสินค้า ให้ปฏิเสธการรับพัสดุทันที แต่หากเผลอรับเพราะลืม หรือไม่ได้แจ้งคนที่บ้านเอาไว้ ให้โทรศัพท์ติดต่อไปตามเบอร์ที่อยู่บนกล่องพัสดุนั้น หากติดต่อไม่ได้ให้สันนิษฐานว่าเป็นข้อมูลปลอม          2.ถ่ายรูปกล่องพัสดุ ที่อยู่ที่จัดส่งไว้เป็นหลักฐาน และไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาที่สถานีตำรวจในพื้นที่ หรือแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com หากจับกุมตัวได้ก็จะส่งฟ้องศาล ซึ่งผู้เสียหายควรไปให้การในชั้นศาล เพื่อเรียกเงินชดใช้ตามจำนวนที่จ่ายไปจริงในการรับพัสดุปลายทางที่ไม่ได้สั่งนั้น           3.ผู้เสียหายที่ถูกมิจฉาชีพนำชื่อไปแปะกล่องส่งพัสดุปลายทาง สามารถฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ "PDPA"  ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 แจ็กพอตเศษฝอยขัดหม้อในอาหารกล่อง

        ปัจจุบันการใช้บริการแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ในการทำธุระต่างๆ เพื่อความสะดวกสบาย มักเป็นตัวเลือกแรกของผู้บริโภคยุคใหม่ เรื่องราวของคุณน้ำตาลในครั้งนี้ ก็เช่นกันเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหารเดลิเวอรี่ ที่เธอได้เข้ามาเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคฟัง เผื่อว่าจะเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหา         เหตุการณ์มีอยู่ว่าเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา  คุณน้ำตาลกำลังนั่งประชุมงานอย่างเคร่งเครียดกับเพื่อนร่วมงานทั้งอาวุโสกว่าและคนรุ่นราวคราวเดียวกัน และเมื่อใกล้ถึงเวลาพักเที่ยง ณ ที่ห้องประชุมทุกคนได้เริ่มกดโทรศัพท์เข้าแอปพลิเคชันเพื่อเลือกสั่งอาหารกันทันที        สำหรับคุณน้ำตาลเลือกไปเลือกมาก็ได้อาหารที่ถูกใจนั้นคือ “ข้าวไก่ข้นออนเซ็น” เมื่อคุณน้ำตาลเลือกเสร็จ และทำรายการสั่งอาหารเรียบร้อยแล้ว ก็อดคิดถึงอาหารเที่ยงที่กำลังจะมาไม่ได้สมาธิประชุมเริ่มลดลงเรื่อยๆ เมื่ออาหารมาถึงทุกคนต่างไม่รีรอจัดการกับอาหารตรงหน้าของตน คุณน้ำตาลก็เช่นกัน แต่คำแรกก็ได้เรื่อง ...ขณะนำเข้าปากเธอสังเกตเห็นเศษอะไรสักอย่างเส้นหยิกๆ ตกใจสิ เศษอะไร! มองไปมองมาดันคล้ายเศษฝอยขัดหม้อ เลยให้เพื่อนร่วมงานที่นั่งอยู่ที่โต๊ะช่วยกันดูทันทีว่ามันคืออะไร สุดท้ายแล้วก็สรุปได้ว่ามันจะเป็นเศษฝอยขัดหม้อที่น่าจะหลุดออกมาตอนล้างกระทะ และมันมีขนาดที่เล็กมาก แม่ครัวอาจจะมองไม่เห็น         อดกิน คุณน้ำตาลหิวข้าวจนต้องฝากให้แม่บ้านช่วยซื้อมาให้ใหม่จากร้านค้าใกล้ที่ทำงานแทน ต่อมาหลังจากนั้น เธอก็เริ่มกระบวนการตามที่เคยได้รับคำแนะนำมา คือ ถ่ายรูปอาหารและสิ่งแปลกปลอมเก็บเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐาน  จากนั้นก็ติดต่อร้องเรียนในศูนย์ช่วยเหลือของทางแอปพลิเคชันที่เปิดไว้ให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุต่างๆ หากได้รับความเสียหายจากการใช้บริการ ต่อมาทางแอปฯ ได้จัดการชดเชยค่าเสียหายให้กับทางคุณน้ำตาลโดยการคืนเงินให้ และยังให้ voucher แก่คุณน้ำตาลเพื่อใช้ในการลดราคาสินค้าในการสั่งครั้งต่อไป         เมื่อได้รับคำตอบที่พอใจจากทางแอปฯ คุณน้ำตาลก็ลดความโมโหหิวลงไปได้ และรับประทานข้าวกลางวันอย่างมีความสุขขึ้น         ข้อคิดจากเรื่องนี้ หนึ่งความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้ การบ่นอาจไม่มีประโยชน์แต่การใช้สิทธิเรียกร้องเพื่อเยียวยาสิ่งที่เกิดขึ้นสามารถช่วยคุณได้ และสองอาหารกล่องก่อนที่เราจะรับประทานควรมองหรือสังเกตสักหน่อยก่อนรับประทาน จะช่วยให้ปัญหาไม่บานปลายเป็นผลเสียแก่สุขภาพ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 น้ำส้มกล่องหมดอายุ

        มินิมาร์ท หรือร้านสะดวกซื้อ ทำให้เราสามารถหาซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น เราก็สะดวกด้วย อยากได้อะไรก็สามารถเข้าไปซื้อได้เลย แต่บางทีความสะดวก ง่าย รวดเร็ว อาจไม่ได้หมายถึงว่า เราควรจะวางใจจนไม่รอบคอบ ทั้งในฝ่ายของผู้ประกอบการและผู้ซื้อ เรามาดูกรณีนี้กัน         ภูผา อยากดื่มน้ำส้มหวานๆ เย็นๆ ให้ชื่นใจสำหรับหน้าร้อนอันแสนทรมาน จึงแวะเข้าร้านสะดวกซื้อระหว่างเดินไปทำงาน ด้วยความรีบ (เพราะสายแล้ว) เขาเดินปรี่เข้าไปหยิบน้ำส้มในตู้แช่มา 1 กล่อง แล้วรีบไปจ่ายเงินโดยความรวดเร็ว พอถึงสำนักงานหลังจากสแกนนิ้วเข้าสถานที่ทำงานได้เรียบร้อย ก็เจาะกล่องน้ำส้มดูดอย่างว่องไว แต่แล้วก็ต้องหน้าเบ้เพราะพบว่ารสชาติแปลกๆ เขาจึงหมุนกล่องไปดูวันหมดอายุที่นี้แหละรู้เลยว่าทำไม น้ำส้มถึงรสชาติแปลกๆ นั่นก็เพราะว่า น้ำส้มกล่องนี้หมดอายุไปแล้ว 2 วัน “อ้าว หมดอายุแล้วเอามาวางขายได้ไง”  ภูผาไม่เข้าใจว่าทำไมร้านสะดวกซื้อถึงเอาสินค้าหมดอายุมาขายให้เขา ร้านสะดวกซื้อน่าจะตรวจสอบให้ดีกว่านี้นะ ออกจะเป็นร้านมากสาขาใหญ่เสียขนาดนั้น แม้ราคาน้ำส้มกล่องไม่กี่บาท แต่เขาไม่รู้ว่าเขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้างไหม เพราะว่าไม่อยากให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องธรรมดาๆ ไป จึงมาขอคำปรึกษามูลนิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา        ศูนย์พิทักษ์สิทธิ แนะนำว่าผู้ร้องสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้ดังนี้        1. ถ่ายรูปกล่องน้ำส้ม ถ่ายให้เห็นฉลากสินค้าวันผลิต – วันหมดอายุ ล็อตการผลิต พร้อมเก็บกล่องน้ำส้มและใบเสร็จจากร้านสะดวกซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วยป้องกันใบเสร็จลบเลือน)         2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความ ร้องทุกข์กล่าวโทษ ที่สถานีตำรวจบริเวณใกล้ที่ทำงาน เพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อร้านสะดวกซื้อที่ซื้อน้ำส้มมา ขอให้ทางร้านแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยต้องคิดให้ดีว่าจะให้ร้านสะดวกซื้อรับผิดชอบอย่างไร เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า, ขอเงินคืน, จ่ายค่าเสียเวลา, ค่าขาดประโยชน์, ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ หรือให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ถ้าไม่สามารถตกลงกับร้านสะดวกซื้อสาขาที่เกิดเหตุได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับบริษัท (สำนักงานใหญ่) โดยบรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า        กรณีจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 25 (4) ประกอบมาตรา 29 แห่งพระราชบัญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ซึ่งถือได้ว่าการจำหน่ายอาหารหมดอายุ เป็นอาหารที่ไม่ปลอดภัยในการบริโภค และบทลงโทษอยู่ในมาตรา 61 ระบุให้ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ผลทดสอบสารตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท

        ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง           การสุ่มเก็บตัวอย่างส้มทำในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 โดยเก็บจากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ ครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ แต่ไม่รวมสารกำจัดวัชพืชพาราควอตและไกลโฟเซต ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025   รายละเอียดการเก็บตัวอย่างทดสอบ          ส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile   สรุปผลการทดสอบจากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า        1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง  และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท        2. น้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่  น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC,  น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ ข้อสังเกตจากการทดสอบ         จากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน         สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้        1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ         2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ         3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%         4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง         “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ”  รายการวิเคราะห์ ชนิดและปริมาณค่าสารพิษตกค้าง สามารถเข้าดูรายละเอียดได้ที่ https://thaipan.org/action/2519  และสามารถดาวน์โหลด ผลทดสอบส้มฉลาดซื้อแนะ        • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย         • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง         • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 ผลทดสอบสารทาเลตและบีพีเอในผลิตภัณฑ์พลาสติกบรรจุอาหาร

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ          ทาเลท (Phthalates) เป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะ DEHP และ DINP (ชนิดของทาเลท) ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์         นอกจากนี้ยังมีสารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ ที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน กล่าวคือบีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร ทั้งนี้มนุษย์อาจจะได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ โดยสารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน         ดังนั้นเพื่อเป็นการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในสินค้าแก่ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค, สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกที่นำมาบรรจุอาหาร จำนวนทั้งหมด 30 ตัวอย่าง ประกอบด้วยภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป เพื่อดำเนินการตรวจวิเคราะห์หาสารทาเลตอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สารบีพีเอ โดยวิธีการทดสอบทาเลตอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. ส่วนการทดสอบ บีพีเอ (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) โดยบริษัท TUV เป็นผู้ดำเนินการตรวจวิเคราะห์ ผลการทดสอบ         ผลไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าเลย (ดูตารางที่ 1) และการทดสอบหาการปนเปื้อนของสารบิสฟีนอล (เอ) ผล ไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่า สรุป         ภาชนะบรรจุอาหารที่อยู่ในตลาดและได้รับการสุ่มตรวจ 30 ตัวอย่างทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารทาเลทหรือ บีพีเอเกินกว่าค่ามาตรฐาน         อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซีจะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ผู้บริโภคจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก   ตารางที่ 1          ทาเลทเป็นสารเคมีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกลซึ่งเมื่อเติมลงในพลาสติกแล้วจะทำให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น (ATSDR, 2002) phthalates ส่วนใหญ่โดยเฉพาะDEHP และ DINP ผลิตและใช้สำหรับการเคลือบของโพลิไวนิลคลอไรด์ (PVC) ซึ่งเป็นสารพลาสติกทั่วไปที่ใช้มากที่สุดในโลก มีการใช้งานตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล ของเล่นและผลิตภัณฑ์ในการดูแลเด็ก สหภาพยุโรปได้รับกำหนดทาเลท 5 ชนิดที่มีความสำคัญและต้องควบคุม ได้แก่ ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง: di-isononyl phthalate (DINP), di-isodecyl phthalate (DIDP) เป็น 80% ของทาเลทที่ใช้ในยุโรป ทาเลทที่มีน้ำหนักโมเลกุลต่ำ: dibutyl phthalate (DBP), benzyl-butyl phthalate (BBP), di-2-ethyl-hexyl phthalate (DEHP) ซึ่งมีอันตรายมากกว่าและเป็นพิษ         ผลที่ตามมาต่อสุขภาพของมนุษย์ที่เกิดจากการสัมผัสกับสารเหล่านี้เป็นที่สนใจอย่างมากในปัจจุบัน ความเป็นพิษของทาเลทมุ่งเป้าไปที่การรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysruptor) มีผลต่อฮอร์โมนทัยรอยด์ ฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Boas et al.)  ฮอร์โมนอินซูลิน ฮอร์โมนเพศ และส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ ตัวอ่อนในครรภ์มารดาที่ได้รับทาเลทพบว่าระยะห่างระหว่างรูทวารกับอวัยวะเพศมีลักษณะแคบกว่าเด็กปกติ (anogenital distance) (Swan et al.,Environ Health Perspect. 2005)  ทารกที่ได้รับสารทาเลทจากนมแม่ มีความสัมพันธ์กับความผิดปกติของฮอร์โมนเพศโดยลดฮอร์โมนเพศชาย และเกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศหญิง (Main et al., Environ Health Perspect. 2006) และยังมีความสัมพันธ์ระหว่างการได้รับสารทาเลท(ทั้งในครรภ์และระหว่างผู้ใหญ่) กับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น (Tang-Peronard et al., Obesity Reviews, 2011) และโรคเบาหวาน (Swensson et al., Envir. Res.) ในเพศชายที่ได้รับสารทาเลทสูงพบเชื้ออสุจิมีรูปร่างผิดปกติและมี DNA เสียหาย รวมทั้งพบการหลั่งฮอร์โมนของการสร้างน้ำนม (โปรแลคติน) (Duty et al., Hauser et al) พบว่าความเข้มข้นของสารเมตาโบไลต์ของทาเลทที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก (Trafno G. et al. tox. lett., 2011) อย่างมีนัยสำคัญ        แต่ก็อาจเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ กระบวนการก่อมะเร็งและแม้กระทั่งในความผิดปกติของออทิสติกสเปกตรัม พบว่า การได้รับทาเลทในวัยเด็กมีความเกี่ยวข้องกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรัง และโรคหอบหืด (Bornehag et al., 2004) (Jaakkola et al., 1999) การให้ DEHP ทำให้เกิดมะเร็งตับ (Ito et al., 2007) และตับอ่อนในหนู (Selenskas et al.,1995) พบเนื้องอกของระบบสืบพันธ์เช่น endometriosis และ uterine leiomyomata มีความสัมพันธ์กับระดับของสารทาเลท (Weuve et al., Environ Health Perspect. 2010) นอกจากนั้นยังมีการศึกษาในเด็กออทิสติก 48 คน พบว่าปัสสาวะของเด็กเหล่านี้มีสาร DEHP สูงกว่าเด็กปกติอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท        นับวันประชากรทั่วโลกจะได้รับสารทาเลทมากขึ้น การศึกษาการได้รับสาร DEHP ซึ่งเป็นทาเลทชนิดหนึ่ง ในประชากรผู้ใหญ่ชาวเยอรมันที่ไม่ได้ประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยง 85 ราย (Koch et al., 2003) และเด็กๆ 254 ราย (Becker et al., 2004) พบว่าเด็กได้รับสาร DEHP เข้าสู่ร่างกายสูงกว่าปริมาณอ้างอิง (RfD, 20 ไมโครกรัม/กก/วัน) ถึง 26 คน (ร้อยละ 10.23) ขณะที่ผู้ใหญ่พบสารสูงกว่าค่าอ้างอิง 7 คน (ร้อยละ 5.95) จึงสันนิษฐานได้ว่าเด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการได้รับ DEHP มากว่าผู้ใหญ่ และอาจเป็นเพราะการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้นในเงื่อนไขต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ในสหภาพยุโรปได้จำกัดการใช้ทาเลทในภาชนะอาหารหรืออุปกรณ์การกินทั้งหลายที่สัมผัสกับอาหารที่นำเข้าปากมาเป็นเวลาหลายปี  เนื่องจากอาจเกิดการเคลื่อนย้ายสารทาเลทจากภาชนะพลาสติกไปยังอาหาร พบว่ากระบวนการนี้จะถูกเร่งให้เร็วขึ้นโดยให้ความร้อน (Directive 2002/72/EC) และอาหารที่มีไขมัน         สารที่อยู่ในภาชนะบรรจุอาหาร น้ำดื่ม อีกชนิดหนึ่งที่มีผลรบกวนการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย (endocrine dysrupter)  ได้แก่ สารบีพีเอ บีพีเอเป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง และเป็นสารทำให้พลาสติกแข็งขึ้น พบในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นขวดน้ำดื่มโพลีคาร์บอเนต ขวดนมพลาสติกแข็ง ถ้วยน้ำสำหรับเด็ก ภาชนะบรรจุอาหารภาชนะใส่น้ำและยังใช้เคลือบในกระป๋องอาหาร มนุษย์ได้รับสารบีพีเอจากอาหารน้ำดื่มที่สัมผัสอยู่บนพื้นผิวภาชนะพลาสติกที่มีสารบีพีเอ สารบีพีเอสามารถหลุดออกจากภาชนะเข้าสู่อาหารน้ำดื่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีของเหลวที่ถูกทำให้ร้อนหรือภาชนะที่มีรอยขีดข่วน บีพีเอถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย         การศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีปริมาณสารบีพีเอวัดได้ในปัสสาวะ ในสัตว์ทดลองพบว่าสารบีพีเอเป็นสารก่อกวนต่อมไร้ท่อที่เลียนแบบผลของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งจะรบกวนการทำงานของฮอร์โมนหลายอย่างของร่างกายเช่น ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรน ฮอร์โมนทัยรอยด์ นอกจากนั้นยังพบว่า มีผลรบกวนระบบเผาผลาญอาหารได้แก่การทำงานของอินซูลิน และมีความสัมพันธ์กับกลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ การแท้งบุตรซ้ำ ความผิดปกติของโครโมโซมในทารกในครรภ์         ส่วนสารทาเลทยังถูกพบว่า ได้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมทั้งในดินและน้ำ. อาจส่งผลรบกวนระบบฮอร์โมนต่อมไร้ท่อของมนุษย์ได้ในห่วงโซ่อาหารและน้ำ (Rzybylinska P A and WyszkowskI M, ECOL CHEM ENG S. 2016)         มาตรฐานความปลอดภัยชองสารทั้งสองชนิดในผลิตภัณฑ์เด็กรวมทั้งภาชนะบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ที่เด็กเป็นผู้ใช้ ได้กำหนดค่าปริมาณสารทาเลตต่อน้ำหนักวัสดุ และปริมาณสารทาเลทหรือบีพีเอที่สามารถเคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติกมาปนเปื้อนกับอาหารหรือสามารถสัมผัสได้ทางผิวหนัง สูดดมหรือทางปาก หากเป็นภาชนะอาหารเพื่อดูว่าจะมีสารนี้รั่วไหลออกมาสัมผัสกับอาหารได้มากน้อยเพียงใด         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดสารทาเลทในของเล่นและผลิตภัณฑ์ของใช้กับเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาชนะและอุปกรณ์ที่สัมผัสอาหารและนำเข้าปาก โดยให้รวม สารทาเลท 4 ชนิด (จากเดิม 3 ชนิด) ได้แก่ DBP/ BBP/ DEHP + DIBP แล้วต้องน้อยกว่า 0.1% ของน้ำหนักวัสดุ และกำหนดค่าสารทาเลทที่เคลื่อนตัวออกมาจากพลาสติก (SML: specific migration limit) กำหนดไว้ที่ 60 มก./กก. (.006%)         สำหรับสารบีพีเอ ได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นโมโนเมอร์ในการผลิตวัสดุสัมผัสอาหารพลาสติก และยังใช้เพื่อผลิตวัสดุและสิ่งของอื่นๆ ที่สัมผัสกับอาหาร รวมทั้งอีพอกซีเรซินที่ใช้ในเคลือบเงา เมื่อเร็วๆ นี้ ค่า SML ใหม่ถูกกำหนดไว้ที่ 0.05 มก. (หรือ 50ไมโครกรัม) /กก. โดยระเบียบคณะกรรมาธิการ (EU) และไม่อนุญาติให้มีส่วนประกอบของสารนี้ในผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กอายุน้อยกว่าสามปี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค

        ฉลาดซื้อ ร่วมมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตรวจกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน เผยทุกตัวอย่างผ่าน ต้องระวังการเลือกเก็บชนิดพลาสติกในการบรรจุอาหารเพื่อการบริโภค         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2565) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสภาองค์กรของผู้บริโภค สุ่มเก็บกล่องพลาสติกบรรจุอาหารร้อน จำนวน 30 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบสารทาเลท และแถลงผลการสำรวจสารทาเลท สารอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกายในภาชนะบรรจุอาหารพลาสติก         รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ดำเนินการตรวจสอบสารทาเลท 7 ชนิด ในภาชนะบรรจุอาหารแบบพลาสติก และสาร BPA ทั้งหมด 30 ตัวอย่าง โดยมีทั้งภาชนะพลาสติกที่มีแบรนด์ ไม่มีแบรนด์ ซื้อจากห้าง ซื้อจากตลาด ซื้อจากร้าน 20 บาท ภาชนะที่บรรจุอาหารปรุงเสร็จในร้านสะดวกซื้อ และภาชนะที่จัดมาให้ในอาหารสำเร็จรูป โดยมีวิธีการเลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ดังนี้ เลือกกล่องภาชนะพลาสติกบรรจุอาหาร ชนิดที่มีสัญลักษณ์มาตรฐานอุตสาหกรรม หรือไม่มีสัญลักษณ์ที่ถูกต้อง เพื่อสำรวจระดับความเข้มข้นของสารทาเลท วิเคราะห์การปลดปล่อยสารทาเลท, BPA & BPA Substitutes, PVC ที่มีผลออกฤทธิ์ต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย และระดับความเข็มข้นของสารทาเลท โดยส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน เพื่อหาสารทาเลทอันตรายทั้ง 7 ชนิด และ สาร BPA โดยวิธีการทดสอบทาเลทอ้างอิงตาม EN 14372: 2004, Extraction with organic solvent, determination by GC-MS. โดยสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งทดสอบที่ห้องปฏิบัติการมาตรฐาน ในเดือนตุลาคม 2564         สรุปผลการวิเคราห์เป็นสิ่งที่น่ายินดีว่า กล่องพลาสติกบรรจุอาหารทั้งแบบราคาสูงและราคาต่ำ ไม่พบสารบีพีเอ และสารทาเลท เกินกว่าค่ามาตรฐาน ไม่พบสารทาเลททั้ง 7 ชนิด ดังกล่าวที่ระดับ 60 มก./กก. (.006%) หรือสูงกว่าตามตารางและรูป และการทดสอบ สารบิสฟีนอล (เอ) (Bisphenol A); CAS No. 80-05-7 ทดสอบโดยสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ และวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือ Liquid Chromatography-Mass Spectrometry (LC-MS) ผลไม่พบสารดังกล่าวที่ระดับ 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมหรือมากกว่าสารทาเลท 5 ชนิดที่สหภาพยุโรปอนุญาตให้ใช้ได้ในผลิตภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหาร ได้แก่            1. DBP (dibutyl phthalate)            2. BBP (butyl benzyl phthalate)            3. DEHP (Bis(2-ethylhexyl)phthalate)            4. DINP (diisononyl phthalate)             5. DIDP (diisodecyl phthalate)         ตั้งแต่ 7 กรกฎาคม 2020 สหภาพยุโรปจำกัดการใช้ DBP/ BBP/ DEHP ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภคทุกชนิด ที่ไม่เกิน 0.1% ของน้ำหนักวัสดุที่ผสมสารพลาสติไซเซอร์ (ก่อนหน้านั้น เกณฑ์ดังกล่าวใช้กับของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กเท่านั้น) โดยมีข้อเสนอจากผู้เชี่ยวชาญของ EFSA หรือ European Food Safety Authority เรื่องข้อกำหนดปริมาณการบริโภคต่อวัน (Tolerable Daily Intake) กำหนดให้รับทาเลท DBP, BBP, DEHP และ DINP เข้าร่างกายไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม  (µg/kg) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์          ส่วน DIDP ไม่ส่งผลกระทบต่อระดับเทสโตสเตอโรนในตัวอ่อน จึงเสนอใช้มาตรฐาน 150 µg/kg ต่อวัน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อตับแทน (อ้างอิงจากข้อมูล https://www.efsa.europa.eu/en/news/faq-phthalates-plastic-food-contact-materials)         รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาเลทเป็นกลุ่มของสารที่ส่วนใหญ่ใช้เป็นสารที่ผสมในพลาสติกชนิดพีวีซีเพื่อเพิ่มภาวะการคืนรูป ทาเลทไม่มีพันธะทางเคมีที่เชื่อมต่อกับพลาสติก ดังนั้นสารนี้จึงสามารถเคลื่อนย้ายออกจากผลิตภัณฑ์ไปเกาะติดกับสิ่งอื่นเช่นมือเมื่อมีการสัมผัสได้ ทาเลทมีหลายชนิด บางชนิดจัดว่าเป็นพิษต่อระบบการสืบพันธุ์และระบบต่อมไร้ท่อของร่างกาย โดยกลไกการออกฤทธิ์จะต้านแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย ดังนั้นในมาตรฐานสากลและในหลายประเทศได้มีการควบคุมสารทาเลท           อย่างไรก็ตามสารทาเลทในพลาสติกยังอาจก่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น เดียวกับตัวพลาสติกเอง เนื่องจากกระบวนการผลิตมีการปล่อยสารพิษเข้าไปในอากาศและน้ำทำให้เกิดภาวะมลพิษ และต้องอาศัยพลังงานสูง นอกจากนี้พลาสติกยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก การรีไซเคิลจะมีคุณภาพด้อยลงจากผลิตภัณฑ์ก่อนการรีไซเคิล ดังนั้นจึงไม่สามารถนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมได้ ซึ่งในกระบวนการรีไซเคิลนี้ต้องมีการเพิ่มวัตถุดิบหรือต้นทุนด้านอื่นๆอีกด้วย ส่วนการเผาขยะพลาสติกชนิดพีวีซี จะเป็นตัวก่อให้เกิดสารไดออกซิน ดังนั้นจึงควรลดการใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผู้ผลิตควรมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ในการดำเนินการเรื่องการจัดการขยะพลาสติก รวมทั้งการลงทุนในงานวิจัยด้านภาชนะบรรจุอาหารที่ปลอดภัยทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อคนโดยเฉพาะสำหรับเด็ก         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และนักวิชาการศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เราใช้กล่องบรรจุอาหารพลาสติกมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปัจจุบันมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ผู้บริโภคซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน การสั่งอาหารเดลิเวอรี หรือจากแอปสั่งอาหาร ทำให้ภาชนะบรรจุอาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวผู้บริโภคมาก และจากข้อมูลผู้บริโภคชาวกรุงเทพฯ ร้อยละ 22.7 ต้องการให้ทดสอบสำรวจบริการนำส่งอาหาร และถ้าผู้บริโภคต้องการให้นิตยสารฉลาดซื้อทดสอบอะไรก็แจ้งเข้ามาได้ เพราะเสียงของทุกท่านมีความหมายและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมได้  ในอนาคตอันใกล้นี้ฉลาดซื้อมีแผนจะทดสอบโคยใช้ข้อมูลความคิดเห็นของกลุ่มผู้บริโภคจำนวน 1,143 กลุ่มตัวอย่าง จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร ที่เราได้ให้ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกเราว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการเฝ้าระวัง และต้องการให้การทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มากถึงร้อยละ 77.2 และคิดว่าจะสามารถใช้ผลการทดสอบสินค้าและบริการเพื่อเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ร้อยละ 67.2  ซึ่งก็ตรงกับอำนาจและหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่เข้ามาสนับสนุนให้นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฝ้าระวังสินค้าบริการผ่านการทดสอบและสำรวจ        ด้านนายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การเฝ้าระวังสินค้าและบริการเป็นหน้าที่หนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค โดยสอบ. จัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ภายใต้ยุทธศาสตร์การสนับสนุนและดำเนินการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค สอบ. มีแผนงานสำคัญในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค โดยจัดทำโครงการสนับสนุนและดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสินค้าและบริการ เตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่กระทบต่อสิทธิผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคทันต่อสถานการณ์ กำหนดให้มีการสนับสนุนการทดสอบ สำรวจข้อมูลและวิเคราะห์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลจากการสำรวจหรือทดสอบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพ อนามัยของผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 สำรวจฉลากโภชนาการ “นมทางเลือกพร้อมดื่ม”

        ผลิตภัณฑ์นมที่เรารู้จักและดื่มกันมาเนิ่นนานคือ นมวัวและนมถั่วเหลือง แต่ปัจจุบันมีนมให้เลือกหลากหลายมาก ทั้งจากสัตว์คือนมแพะ และจากพืชคือนมข้าว นมถั่ว และนมมะพร้าว ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้นจัดเป็นทางเลือกให้กับคนที่แพ้น้ำตาลแลคโตสและโปรตีนจากนมวัว ต่อมากระแสนิยมเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพแพร่หลายในวงกว้าง ผู้ผลิตจึงพัฒนาสูตร ‘นมทางเลือกพร้อมดื่ม’ ต่างๆ มาตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเลือกอาหารการกินที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น         ทว่า นมเหล่านี้จะเป็นนมทางเลือกเพื่อสุขภาพตามที่มักพูดติดปากกันจริงแค่ไหน ฉลาดซื้อฉบับนี้จะพาไปสำรวจปริมาณสารอาหารในนมทางเลือกพร้อมดื่มจำนวน 16 ตัวอย่าง 10 ยี่ห้อ โดยดูฉลากว่ายี่ห้อไหนมีน้ำตาลมากหรือน้อยกว่ากัน รวมทั้งดูปริมาณพลังงาน โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตด้วย ซึ่งผลสำรวจจะเป็นอย่างไรนั้น เราไปดูกันผลสำรวจฉลากโภชนาการ“นมทางเลือกพร้อมดื่ม”         เมื่อเปรียบเทียบปริมาณพลังงาน น้ำตาล โปรตีนและคาร์โบไฮเดรต ต่อหนึ่งหน่วยบริโภค พบว่า         1.พลังงาน - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 180 กิโลแคลอรี ส่วนยี่ห้อบลูไดมอนด์ เครื่องดื่มน้ำนมอัลมอนด์ รสออริจินอล และ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีต่ำที่สุดคือ 45 กิโลแคลอรี         2.น้ำตาล - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีสูงที่สุดคือ 14 กรัม ส่วนยี่ห้อฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวัน นั้นไม่มีน้ำตาลเลย          3.โปรตีน - ยี่ห้อศิริชัย เครื่องดื่มนมแพะ ยูเอชที มีสูงที่สุดคือ 6 กรัม ส่วนนมที่มีโปรตีนต่ำที่สุดคือไม่ถึง 1 กรัม มี 4 ยี่ห้อ ได้แก่ ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท เครื่องดื่มน้ำนมมะพร้าว รสจืด, ซันคิสท์ เครื่องดื่มน้ำนมพิสทาชิโอ รสออริจินอล, ฟอร์แคร์บาลานซ์ออร์แกนิก เครื่องดื่มน้ำนมข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิก ไม่เติมน้ำตาล และ137 ดีกรี น้ำนมวอลนัท สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน         4.คาร์โบไฮเดรต - ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ มีสูงที่สุดคือ 31 กรัม และต่ำที่สุดคือ 1 กรัม ในยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมอัลมอนด์ สูตรไม่เติมน้ำตาล ผสมเมล็ดทานตะวันข้อสังเกต- แม้จะผลิตจากน้ำนมมะพร้าวเหมือนกัน แต่กลับให้พลังงานต่างกันมาก โดยตัวอย่างยี่ห้อเพียวฮาร์เวสต์ ให้พลังงาน 144.5 กิโลแคลอรี ในขณะที่ยี่ห้อยูเอฟซี เวลเวท ให้พลังงาน 50 กิโลแคลอรี- นมทางเลือกส่วนใหญ่มาจากพืช มีเพียงตัวอย่างเดียวคือ นมแพะที่มาจากสัตว์ -มี 8 ตัวอย่าง เติมน้ำตาลเพิ่มในส่วนผสม- มี 5 ตัวอย่าง เติมแคลเซียมธรรมชาติเพิ่มในส่วนผสม- มี 6 ตัวอย่าง ระบุว่า แต่งกลิ่นเลียนแบบธรรมชาติหรือแต่งกลิ่นธรรมชาติ- ยี่ห้อวี-ฟิท เครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอก มีน้ำตาล 14 กรัม ถ้าดื่มวันละ 2 กล่อง ก็จะได้รับน้ำตาลเกินต่อปริมาณที่แนะนำ คือไม่ควรเกินวันละ 24 กรัมต่อวัน (6 ช้อนชา) ในแต่ละวันแล้ว-หากลองคำนวณเปรียบเทียบราคาในปริมาณต่อกล่องที่ 180 มิลลิลิตร พบว่า ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 18-19 บาท ยี่ห้อ 137 ดีกรี น้ำนมพิสตาชิโอ เบลนด์หิมพานต์ สูตรดั้งเดิม ผสมเมล็ดทานตะวัน มีราคาสูงสุดอยู่ที่ 28 บาท ส่วนราคาต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 9-10 บาท ได้แก่ ยี่ห้อวี-ฟิท ทั้งเครื่องดื่มธัญญาหาร น้ำนมข้าวไรซ์เบอร์รี่ และเครื่องดื่มธัญญาหารน้ำนมข้าวกล้องงอกคำแนะนำ- ควรเขย่าก่อนดื่ม แช่เย็นจะช่วยให้ดื่มง่ายและอร่อยขึ้น ถ้าเปิดกล่องแล้วต้องแช่ตู้เย็น และควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน ถ้าเป็นกล่องใหญ่ภายใน 3-5 วัน- หากดื่มนมจากพืชเป็นหลัก ควรบริโภคอาหารหลากหลายให้ครบ 5 หมู่ควบคู่กัน เพราะนมจากพืชให้ปริมาณโปรตีน แคลเซียม และวิตามินต่างๆ น้อยกว่านมจากสัตว์ จึงควรเพิ่มโปรตีนจากไข่ หรือแคลเซียมจากปลาเล็กปลาน้อยเสริม หรือหากกินมังสวิรัติก็จัดเมนูเต้าหู้และผักใบเขียวเพิ่มด้วย- สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ควรเลี่ยงน้ำนมข้าวต่างๆ เช่น ข้าวสาลี ข้าวโพด เพราะมีส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตรวมอยู่ด้วย อาจมีผลกระตุ้นให้อาการเบาหวานกำเริบหรือแย่ลงได้- นมจากพืชไม่เหมาะให้เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโตดื่มเป็นหลัก เพราะให้พลังงานและโปรตีนน้อยกว่านมจากสัตว์ แต่ให้เด็กๆ ดื่มเสริมเพื่อให้ได้รับสารอาหารและรสชาติที่หลากหลายได้  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 ร้านข้าวกล่องที่วางแผนการผลิต เพื่อลดขยะจากอาหาร

เดินทีละก้าว กินข้าวที-ละ-คำคุณๆ เลือกซื้อข้าวกล่องจาก...ราคา หน้าตา รสชาติ หรือกล่อง ?          ฉลาดซื้อฉบับนี้พาไปรู้จักร้านขายข้าวกล่องออนไลน์ในจังหวัดระยอง ชื่อ ที -ละ-คำ ร้านที่สมาชิกในครอบครัว รวมใจมาร่วมมือกันทำเมนูอาหารสุขภาพด้วยความพิถีพิถัน ตั้งราคาสมเหตุสมผลแต่ผู้บริโภคสามารถจับต้องได้และเลือกวัตถุดิบแบบรู้ที่มา ใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญวางแผนการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อลดขยะจากอาหาร         คุณกิ๊บ-มณีรัตน์ นานาประเสริฐ เล่าย้อนว่า เมื่อราว 5 ปีก่อนตอนนั้นเธอทำงานเป็นออแกไนซ์ ที่ มักจะได้กินข้าวกล่องเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น ข้าวผัด ผัดกะเพรา ในระหว่างทำงาน ทำให้เบื่อข้าวกล่องมากๆ พอดีร้านส้มตำของที่บ้านปิดตัวลง เธอก็เลยชวนคนในบ้านให้มารับทำข้าวกล่องขาย โดยเลือกเมนูประจำบ้านมาเสนอลูกค้า เช่น ข้าวน้ำพริกกะปิ ข้าวพริกเกลือกุ้ง ข้าวไก่ย่างน้ำจิ้มแจ่ว ข้าวคลุกกะปิ ข้าวผัดปลาสลิด ในราคา 50-60 บาท เบื่อข้าวกล่อง แต่มาทำข้าวกล่องขาย         กิ๊บมีโอกาสทำงานร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เลยอินเรื่องอาหารปลอดภัย เรื่องสุขภาพ จึงตั้งใจทำข้าวกล่องที่เป็นข้าวหอมมะลิผสมข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นกึ่งอาหารสุขภาพ แต่ยังคงรสจัดจ้านแบบที่เรากิน แล้วลูกค้ากลุ่มแรกๆ ของเราก็พอดีเป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล คุณหมอ พยาบาล เขาแนะนำว่าให้ใส่ผักให้ครบสี ไม่ว่าเมนูอะไรให้มีผักด้วย จะเห็นเลยว่าข้าวกล่องของเราจะมีผักสีสันสวยงาม ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการแนะนำบอกต่อกัน เพราะเราไม่มีหน้าร้าน มีเพจอย่างเดียว หลายคนเคยได้รับข้าวกล่องตอนไปร่วมงานประชุม งานสัมมนา แล้วถูกใจ เขาก็จะมาสั่งค่ะ กินอย่างไร ทำขายอย่างนั้น         ที่บ้านจะพิถีพิถันเรื่องอาหารการกินมากๆ โดยเฉพาะการเลือกใช้วัตถุดิบ ต้องสดและสะอาด อย่างหมูบด เราจะไม่ซื้อหมูที่บดไว้สำเร็จแล้ว แต่จะให้ร้านขายหมูเจ้าประจำล้างหมูเนื้อแดงชิ้นๆ และล้างเครื่องบดให้ก่อนแล้วค่อยบดหมูให้เรา พอมารับทำข้าวกล่องขาย เราก็ยังทำแบบเดิมอยู่ แม้ว่าราคาจะสูงกว่าซื้อหมูบดสำเร็จก็ตาม เพื่อมั่นใจในความสะอาดและเป็นความสบายใจของแม่ครัวด้วยค่ะ           เมนูประจำบ้านที่เราชอบและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบจะเป็นข้าวน้ำพริกกะปิ ที่เราใช้กะปิระยองอย่างดี เอามาย่างไฟก่อน เพราะการตำน้ำพริกกะปิ จะเป็นเมนูที่ไม่ได้ผ่านความร้อนเลย เราจึงต้องเอากะปิมาย่างไฟ เพื่อให้มั่นใจว่ากะปิจะสะอาด ปลอดภัย เมนูแบบที่ร้านนำเสนอลูกค้าพอใจไหม           ก็มีขัดใจบ้าง อย่างช่วงหน้าฝน หน้ามรสุม พวกอาหารทะเลไม่สดมีแต่แบบแช่แข็ง เราเคยซื้ออาหารแช่แข็งมาลองทำกินเองก่อนแล้ว รู้สึกว่าไม่โอเค เราก็พยายามอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ บางคนก็ยอมเปลี่ยน เพราะเห็นว่าเราใส่ใจให้เขาจริงๆ แต่ก็มีที่ลูกค้าไม่ยอมเปลี่ยนเมนู เราก็ขออนุญาตไม่รับออเดอร์ ก็เสียดายนะ แต่รู้สึกว่าลูกค้าส่วนใหญ่เขาสั่งไปแจกต่อ บางที 100 กล่อง ถ้าวัตถุดิบไม่สดจะส่งผลกระทบกับคน 100 คน ถ้าเขากินแล้วท้องเสียขึ้นมา มันไม่คุ้มเลย เราก็เลือกไม่ทำดีกว่า แล้วเรื่องแผนการผลิตเพื่อลดขยะอาหารมีที่มาอย่างไร         เริ่มมาจากไอเดียที่เห็นว่าช่วงนี้ในสวนของที่บ้านมีหน่อไม้ผุดขึ้นเยอะ อ่อนๆ ชวนกินมาก จึงโพสต์พรีออเดอร์เมนูขนมจีนแกงเขียวหวานไก่ใส่หน่อไม้สด ซึ่งลูกค้าตอบรับดีมาก ดังนั้นส่วนใหญ่คือ เราจะเลือกใช้ผักในฤดูกาลมากกว่า เพราะเราเชื่อว่าการกินผักตามฤดู เกษตรกรจะไม่เร่งสารให้พืชผลโต วัตถุดิบหลายอย่างก็จะมาจากที่สวนเองด้วย เช่น หน่อไม้ มะเขือ กะเพรา พริก โหระพา สะระแหน่  เราปลูกแบบออแกนิก หรือถ้าใช้ผักที่สวนไม่มี เราก็ไปดูตามตลาดนัดที่ชาวบ้านเอามาขาย ถ้าไปตลาดใกล้ๆ แล้ววัตถุดิบไม่สด ไม่สวยถูกใจ ก็จะไปดูตลาดอื่นๆ ไปเรื่อยๆ จนพอใจ            แล้วทีนี้สมาชิกในครอบครัวแบ่งหน้าที่กันตามความถนัด ทุกเมนูต้องทดลองปรุงมาชิมก่อน แล้วคำนวณวัตถุดิบที่ต้องใช้ต่อกล่องก่อนถึงจะลงมือผลิตตามออเดอร์ลูกค้า เมื่อได้ออเดอร์ (มีทั้งแบบลูกค้ารีเควสมาและให้เราเสนอเมนูไป) พวกเราก็จะมานั่งดูว่าช่วงนี้มีเมนูอะไร ใครกินบ้าง มานั่งคุยกันในบ้าน อย่างเช่น ข้าวคลุกกะปิ เราจะลองทำกินกันก่อน ใช้ข้าวเท่าไหร่ ใช้กะปิเท่าไหร่ ใช้หมูเท่าไหร่ อะไรเท่าไหร่ต่อหนึ่งกล่อง ต้องเอามาคำนวณให้ได้ทั้งหมดก่อน แล้วก็มาคุยกันเรื่องรสชาติว่าแบบนี้เราชอบกันหรือเปล่า ส่วนใหญ่จะเอาแบบที่บ้านกินอร่อย ช่วยกันชิมช่วยกันติ เมื่อมีการคำนวณวัตถุดิบแต่ละเมนูมาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราจะไม่มีปัญหาวัตถุดิบส่วนเกินเยอะหรือวัตถุดิบเหลือเยอะ แล้วด้วยรูปแบบการรับทำตามออเดอร์ลูกค้านี้ ก็ทำให้เราวางแผนการซื้อวัตถุดิบได้ค่อนข้างเกือบพอดีกับออเดอร์ที่เข้ามา อาจมีบ้างที่เหลือ แต่ก็ไม่ได้เหลือมากจนเป็นปัญหาหรือกลายเป็นขยะ จัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อลดขยะพลาสติกด้วย         กิ๊บสนใจเรื่องการจัดการขยะและการจัดการสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว พอมาทำข้าวกล่องก็พยายามเลือกว่าจะใช้กล่องอะไร กล่องแบบไหนที่ตอบโจทย์ความสะดวกลูกค้า ต้นทุนของเรา แล้วก็เรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย คือลูกค้าที่เขาอินเรื่องสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็มี ถ้าเป็นลูกค้าประจำก็จะเอากล่องมาฝากไว้ให้ใส่เลย แต่ช่วงนี้มีโควิด-19 เราก็ต้องงดรับภาชนะจากลูกค้าก่อน         “ ช่วง 2 ปีแรก กิ๊บเลือกใช้กล่องกระดาษเพื่อลดขยะพลาสติก แม้ต้นทุนจะสูงก็ยอมแบกไว้ เพราะถูกใจลูกค้าและแม่ค้าก็สบายใจด้วย แต่ต่อมาเมื่อได้รับรู้ข้อมูลอัปเดตว่าขยะพลาสติกไม่ได้ไร้ค่าอีกต่อไป เพราะใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงได้ด้วย จึงเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกแทน ซึ่งช่วยลดต้นทุนลงได้ด้วย จริงๆ กล่องกระดาษที่เราใช้อยู่มันก็ไม่ใช่กระดาษ 100%  มันเคลือบพลาสติกไว้ด้วย การย่อยสลายก็ยังคงหลงเหลือเป็นนาโนพลาสติกอยู่ดี แล้วการจัดการขยะกล่องข้าวที่ทำจากกระดาษเคลือบพลาสติกนี้ ปลายทางคือถูกฝังกลบ เพราะเอาไปทำอะไรต่อไม่ได้ ซึ่งปัญหาคือพื้นที่การฝังกลบขยะของบ้านเราก็เหลือน้อยลงไปทุกที ”         พอดีได้มีโอกาสไปทำงานที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงงาน (Waste-To-Energy) คือเป็นการนำขยะทั่วไป ขยะพลาสติกที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นพลังงานความร้อน พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิงแห้ง (RDF) โดยผ่านกระบวนการต่างๆ และได้รู้ว่าที่ระยองมีบริษัทที่พัฒนาระบบการจัดการขยะที่มุ่งไปสู่เทคโนโลยีการแปลงขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า ในรูปแบบเชื้อเพลิงแห้งอยู่ด้วย จึงสนใจ เพราะแม้ว่าหัวใจจริงๆ ของการจัดการขยะคือ การลดปริมาณหรือทำให้เกิดเป็นขยะน้อยที่สุด แต่เราก็มองว่าในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานได้ก็น่าจะดีกว่าถูกฝังกลบ         กิ๊บคุยกับเพื่อนที่มีความรู้ว่าอยากเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบนี้  จะเอาไปทำ RDF ได้หรือเปล่า เขาก็ว่าแบบนี้ได้ แล้วสติ๊กเกอร์ที่ไม่ใช่กระดาษมันส่งผลต่อการเอาไปเผาหรือเปล่า เขาก็ว่าไม่ แบบนี้แหละ เป็นตัวเชื้อเพลิงอย่างดีเลย เราจะถามหาความรู้ก่อน เพื่อให้ชัวร์ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนของเรามันไม่ใช่แบบคิดไปเอง เมื่อเราศึกษาจนได้คำตอบว่าขยะพลาสติกทั่วไปที่รีไซเคิลไม่ได้นั้นนำไปผลิตเชื้อเพลิง RDF เพื่อป้อนสู่เตาเผาขยะได้ เราก็เปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติกเลย         ก่อนหน้านี้ ลูกค้ารับรู้ว่าเราใช้กล่องกระดาษเพื่อลดพลาสติก พอเปลี่ยนมาใช้กล่องพลาสติก เขาก็จะถามว่า เฮ้ย ไม่รักษ์โลกแล้วเหรอ เราก็บอกว่าไม่ใช่ แต่ตอนนี้มีวิธีจัดการที่ทำให้ขยะพลาสติกมันไปต่อได้แล้วไง เราก็โพสต์อธิบายบนเพจ ส่วนใหญ่คนไม่ค่อยรู้ว่าบ้านเรามีโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ บ้านเรามีโรงแยกขยะพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ไปทำ RDF นะ พอหลายคนรู้แล้วก็บอกว่า ดีจังเลย กิ๊บเชื่อว่าทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคร่วมมือกันจัดการขยะพลาสติกจากกล่องข้าวได้         โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ เขาจะเอาขยะขึ้นสายพาน แล้วดึงขยะที่เผาได้ออกมาทั้งหมด ปัญหาคือเศษอาหาร ความชื้น น้ำ ที่มีอยู่ในขยะพวกนี้ ในการคัดแยก ถ้าเขาเห็นว่ามีน้ำเยอะ มีความชื้น มันก็จะต้องผ่านหลายกระบวนการ ไปลดความชื้น หรือบางส่วนที่เขาแยกไม่ได้จริงๆ มันก็จะไม่ถูกนำไปใช้         พอคนไม่รู้ว่าขยะมันไปไหนต่อได้ เขาก็ไม่ทำ คือแยกไปก็เอาไปทิ้งรวมกัน คือถามว่าเขาเอาไปรวมกันไหม ใช่ รวมจริงๆ แต่พอรวมแล้วก็เอาไปแยกต่อจริงๆ เพราะฉะนั้นต่อให้เขาจะรวมหรือไม่รวม ถ้าเราแยก เขาจะทำงานง่ายขึ้น ตอนนี้เราชวนลูกค้าให้ช่วยกันแยกเศษอาหารออกจากกล่องพลาสติกหลังทานเสร็จ ในใจมีแพลนต่อไปว่าจะชวนลูกค้าประจำแยกกล่องพลาสติกแบบนี้เอาไว้ แล้วเราจะเก็บให้ค่ะ ในสถานการณ์วิกฤติปรับแผนธุรกิจอย่างไร         เมื่อโควิด-19 ระบาด จากเดิมที่รับออเดอร์ล็อตใหญ่ๆ 30-50 กล่องขึ้นไป ก็ต้องปรับมารับพรีออเดอร์ลูกค้ารายย่อย ส่วนใหญ่เป็นหมอ พยาบาล ครู พนักงานออฟฟิศ และคนทำงานที่บ้าน จัดส่งเองทุกออเดอร์ เพิ่งลงมือจริงจังเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา          แรกๆ บางวันได้ 10 กล่อง เราก็ทำ บางทีมันไม่ได้ยอดหรือไม่ได้กำไร ก็มองว่าอย่างน้อยเราก็ยังได้กิน ยังได้ค่ากับข้าวทำไปไม่ขาดทุนหรอกแม้ออเดอร์ไม่เยอะ แต่ก็ดีใจทุกครั้งที่ลูกค้าบอกว่าข้าวกล่องของเราไม่เคยทำให้ผิดหวัง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรามั่นใจว่าลูกค้ารับข้าวกล่องของเราไป ถ้าไม่กินเที่ยง แล้วไปกินเย็น ไม่เสียแน่นอน ตรงนี้เป็นเคล็ดลับเฉพาะของเราเลย         กิ๊บมองว่าลูกค้าเลือกซื้อข้าวกล่องจากข้อมูล จากความพิถีพิถันของวัตถุดิบมากขึ้น สังเกตจากช่วงแรกๆ ที่โพสต์ว่าวันนี้มีเมนูนี้นะ เขาจะเฉยๆ แต่ถ้าเราโพสต์ไปว่าวันนี้เรามีเมนูนี้ และบอกด้วยว่าวัตถุดิบเรามาจากที่นี่ เราเลือกใช้อันนี้ เหมือนเราใส่คอนเทนต์เข้าไป ลูกค้าก็จะอินบ็อกซ์มาสั่งกันรัวๆ แล้วยิ่งเราอธิบายเรื่องการใช้กล่องพลาสติกให้เข้าใจ เขาก็จะรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกอย่างจริงๆ เราใส่ใจด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ใส่ใจเพื่อโฆษณา แล้วลูกค้ารับรู้ได้ก็บอกต่อกันเองลูกค้าจะบอกว่าเราเป็นข้าวกล่องพรีเมี่ยมในราคาที่จับต้องได้          ตอนนี้พ่อค้าแม่ค้ามาขายข้าวกล่องกันเยอะ เราต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานของเราเอาไว้ให้ดีๆ เรามองว่าคำติของลูกค้าคือของขวัญที่เขายอมพูดความจริงกับเรา แล้วเราเอามาปรับเราก็จะอยู่ได้ ตอนนี้มีคนสั่งข้าวกล่องของเราไปให้บุคลากรทางการแพทย์และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เรื่อยๆ ซึ่งในสถานการณ์แบบนี้คิดว่า เราก็เดินกันไปทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ค่อยๆ ปรับตัวกันไป เหมือนเป็นกำลังใจให้ทั้งตัวเองและลูกค้าด้วย  วันนี้คุณสั่งข้าวกล่องแล้วหรือยัง ? ที-ละ-คำ เราใส่ใจในวัตถุดิบและพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อให้ทุกเมนูเป็นมื้อพิเศษFacebook : ข้าวกล่องของว่างระยอง link :   www.facebook.com/TeeLaKam.Rayongโทร : 086-6555443

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 237 ระวังเสียเงินกับพัสดุที่ไม่ได้สั่ง

        เมื่อการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ มิจฉาชีพก็ว่องไวในการหาทางฉกฉวยเงินของคุณจากธุรกิจนี้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งขอนำเสนอภัยแฝงอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้บริโภคควรรับทราบไว้         คุณนพวรรณโทรมาปรึกษากับศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวานกลับจากทำงานถึงบ้าน คุณป้าซึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันกับคุณนพวรรณยื่นกล่องพัสดุน้อยๆ ให้บอกว่า วันนี้มีคนนำมาส่งและเรียกเก็บเงินปลายทาง จำนวน 150 บาท ป้ามองแล้วแม้เห็นว่าชื่อผู้รับไม่ตรงกับคนในบ้าน แต่บ้านเลขที่ตรงกันจึงคิดว่าหลานหรือคุณนพวรรณอาจใช้ชื่ออื่นในการสั่ง อีกทั้งจำนวนเงินก็ไม่ได้มาก คุณป้าจึงจ่ายค่าสินค้าและเซ็นรับของไว้         คุณนพวรรณอึ้งไปสักพักและทบทวนว่าตนได้สั่งซื้อสินค้าอะไรไปหรือไม่ ก็คิดว่าไม่ และเมื่ออ่านชื่อที่อยู่ผู้รับซ้ำอีกครั้ง พบว่าแม้เลขที่บ้านตรงกันแต่เป็นคนละซอย เธอคิดว่าผู้ส่งซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทขนส่งคงเข้าใจผิด ผู้สั่งสินค้าจริงอาจจะกังวลที่ของไม่ถึงมือจึงโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของผู้รับที่แปะอยู่บนกล่องพัสดุ มีคนรับโทรศัพท์แต่พอเล่าเรื่องให้ฟัง คนตามจ่าหน้ากลับบอกว่าตนเองวันนี้ได้รับสินค้าที่สั่งไปแล้ว สินค้าที่อยู่กับคุณนพวรรณไม่น่าจะใช่ของตนเอง “อ้าว แล้วคราวนี้จะยังไง” สรุป “มีดโกนหนวดนี้เป็นของใคร” คุณนพวรรณเลยโทรไปตามเบอร์โทรศัพท์ของร้านค้าที่เป็นเจ้าของสินค้าก็ไม่มีผู้รับสาย เธอพยายามหลายรอบจนคิดว่าอาจจะไม่มีร้านนี้อยู่จริง “ดิฉันควรทำอย่างไรดี”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         เนื่องจากปรากฎเป็นข่าวเตือนภัยกันถึงเรื่องที่มีมิจฉาชีพส่งพัสดุราคาไม่แพงไปเรียกเก็บเงินปลายทาง ซึ่งผู้รับที่ไม่ได้อยู่บ้านในขณะที่สินค้ามาส่งจะไม่มีโอกาสปฏิเสธ แต่ญาติหรือคนที่อาศัยด้วยกันเป็นผู้รับสินค้า เมื่อเห็นว่าราคาเรียกเก็บเงินประมาณ 100-300 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินไม่มากก็จะออกเงินให้ไปก่อน แต่มารู้ทีหลังว่าผู้รับตามจ่าหน้าไม่ได้เป็นผู้สั่งสินค้า ก็ทำให้เสียเงินกันไปฟรีๆ เพราะสินค้าที่ได้มามักเป็นสินค้าที่ไม่มีประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือสินค้าที่มูลค่าน้อยกว่าจำนวนเงินที่เสียไป ซึ่งกรณีนี้หากผู้เสียหายต้องการให้เกิดการจัดการทางกฎหมายควรนำสินค้าไปแจ้งความกล่าวโทษกับร้านค้าหรือบริษัทที่ส่งสินค้ามาหลอกลวง         อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีคุณนพวรรณ เนื่องจากว่าบ้านเลขที่บนกล่องพัสดุมีบุคคลที่สั่งซื้ออยู่จริงเพียงแต่มีสินค้าชนิดเดียวกันนำไปส่งให้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า ผู้รับสั่งสินค้าผิดพลาด(สั่งซื้อซ้ำ) และพนักงานบริษัทขนส่งทำงานพลาด ดังนั้นทางศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ จึงช่วยประสานงานกับบริษัทขนส่ง ซึ่งเป็นตัวกลางในการนำส่งสินค้าแก้ไขปัญหาให้กับคุณนพวรรณ ทางบริษัทฯ ได้รับเรื่องไว้และส่งพนักงานไปรับสินค้าจากคุณนพวรรณพร้อมคืนเงินจำนวน 150 บาท และนำสินค้ากลับไปเพื่อดำเนินการจัดส่งให้ถูกต้องต่อไป        สำหรับผู้บริโภคที่พบกรณีปัญหาคล้ายกันนี้ หากพบพิรุธว่าเป็นการหลอกลวงให้เสียทรัพย์ ให้นำความไปแจ้งต่อตำรวจเพื่อดำเนินคดีในฐานฉ้อโกง แต่หากพบว่าน่าจะเป็นความผิดพลาดของบริษัทขนส่ง ให้ติดต่อกับบริษัทขนส่งที่รับผิดชอบส่งสินค้าผิดมาให้ท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป  และบอกกล่าวกับคนในบ้านไว้เสมอเมื่อตนเองสั่งสินค้าอะไรไป ของจะมาส่งวันไหน แต่หากว่ามีของมาส่งโดยไม่ได้บอกกล่าวไว้ให้ตรวจสอบรายชื่อและบ้านเลขที่ให้ดีๆ หากไม่ตรงกันกับบุคคลในบ้านและ/หรือที่อยู่ผิดควรปฏิเสธไม่รับสินค้า 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 ผลการทดสอบการใช้งานกล้องติดรถยนต์

        ผู้ใช้รถยนต์ในปัจจุบันมีความสนใจในการใช้งานกล้องติดรถยนต์มากขึ้น เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ขับและผู้ร่วมเส้นทางสัญจร โดยสามารถหาซื้อได้ทั่วไปในราคาที่ไม่สูงนัก อีกทั้งมียี่ห้อและรุ่นหลากหลาย ในการทดสอบกล้องติดรถยนต์เพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ เราสุ่มซื้อกล้องติดรถยนต์ที่ตัวอย่างจากท้องตลาดและร้านออนไลน์จำนวน 10 ยี่ห้อ ในราคาระหว่าง 1,290 ถึง 3,990  บาท (ราคาซื้อขายในท้องตลาด ระหว่างเดือนมิถุนายน – สิงหาคม 2562)        วิธีการทดสอบที่ใช้ดัดแปลงจากการทดสอบของนิตยสาร CHOICE  ออสเตรเลีย (https://www.choice.com.au/) โดยให้อาสาสมัครที่ใช้งานรถเป็นประจำ 3 คน ใช้งานกล้องจริงคนละ 10 ยี่ห้อแล้วให้ความคิดเห็น โดยทีมทดสอบได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการให้ความเห็นแล้วนำมาหาค่าเฉลี่ย (อาสาสมัครไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้งกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์กล้องติดรถยนต์) คะแนนในการสำรวจความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่        1) บรรจุภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ และการติดตั้ง (สำรวจ 6 หัวข้อ ได้แก่ ความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลในคู่มือการใช้งาน ความสะดวกในการติดตั้ง ความมั่นคงหลังการติดตั้ง ความสะดวกในการเปิด-ปิดกล้อง และความสะดวกในการเปิดดูภาพย้อนหลัง) ร้อยละ 30        2) การใช้งานในช่วงเวลากลางวัน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางวัน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางแดด) ร้อยละ 35        3) การใช้งานในช่วงเวลากลางคืน (สำรวจ 5 หัวข้อ ได้แก่ ทัศนวิสัย แสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ ความมั่นคงระหว่างรถวิ่งกลางคืน และความมั่นคงเมื่อรถจอดกลางคืน) ร้อยละ 35          ในภาพรวมสามารถสรุปได้ว่าผู้ทดลองใช้มีความพึงพอใจในระดับสูงกว่าระดับปานกลางทั้งด้านการติดตั้ง และการใช้งานทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน อย่างไรก็ตามมีคุณสมบัติบางประการที่ต้องคำนึงถึง เนื่องจากมีความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ค่อนข้างมาก เช่น ลักษณะการติดตั้ง คู่มือการใช้งาน การ์ดหน่วยความจำ กล้องด้านหลัง การบดบังทัศนวิสัย การรบกวนของแสง และความคมชัดของหน้าจอ ผู้ใช้จึงควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการและการใช้งาน และขอคำแนะนำจากผู้ขายที่เชี่ยวชาญตารางคุณสมบัติเฉพาะและอุปกรณ์ประกอบของกล้องติดรถยนต์          กล้องแต่ละรุ่นให้อุปกรณ์ประกอบการติดตั้งแตกต่างกัน เช่นการจับยึดกล้อง ส่วนใหญ่ใช้แป้นสุญญากาศและ/หรือแป้นกาวสองหน้า กล้องชนิดครอบกับกระจกมองหลัง จะไม่สามารถติดตั้งด้วยวิธีอื่นๆ ได้ แต่จะมีกล้องเสริมสำหรับติดท้ายรถมาให้ด้วย ทุกรุ่นจำหน่ายพร้อมหัวเสียบช่องจ่ายไฟฟ้าในห้องโดยสารแรงดัน 12 V บางรุ่นมีสาย USB แยก เพื่อให้ต่อกับคอมพิวเตอร์ได้ และมีเพียงสองรุ่นเท่านั้นที่จำหน่ายพร้อมหน่วยความจำ ผู้ใช้อาจต้องศึกษาอุปกรณ์ประกอบให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ โดยพิจารณาถึงวิธีการติดตั้ง การใช้งาน และความครบถ้วนสมบูรณ์ของอุปกรณ์ข้อสังเกตเพิ่มเติม         การใช้งานในเวลากลางวัน        จากผลการประเมินจะเห็นว่ากล้องติดรถยนต์แต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันมากที่สุดในเรื่องความคมชัดของหน้าจอ ทั้งขนาดและความสว่างของหน้าจอ ผู้ใช้อาจต้องพิจารณาก่อนการซื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องการใช้หน้าจอเพื่อดูภาพที่บันทึกไว้ กล้องบางรุ่นที่ไม่มีหน้าจอต้องเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือ การแสดงผลภาพจึงต้องพิจารณาถึงการส่งภาพมายังโทรศัพท์มือถือด้วย รวมไปถึงระดับการบดบังทัศนวิสัย ที่ผู้ใช้ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งการติดตั้งที่เหมาะสม ส่วนหัวข้ออื่นๆ ได้แก่ แสงรบกวนและความมั่นคงของการใช้งานกลางวัน มีคะแนนเฉลี่ยไม่แตกต่างกันมากนัก      กล้องติดรถยนต์ที่มีระดับการบดบังทัศนิวิสัยในระดับปานกลางถึงไม่บดบังสายตาเลย ได้แก่ Blueskysea ส่วนยี่ห้อที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ HP AnyTek PROOF และ Transcend          กล้องที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ AnyTek และ PROOF ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi และ DOD การใช้งานในเวลากลางคืน        จากผลการประเมินด้านการใช้งานกลางคืน พบว่ากล้องแต่ละรุ่นมีความแตกต่างกันด้านระดับแสงรบกวน ความคมชัดของหน้าจอ และระดับการบดบังทัศนวิสัย เนื่องจากในเวลากลางคืนหน้าจอของกล้องจะมีความสว่างและโดดเด่นขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดแสงรบกวนและทำให้ทัศนวิสัยโดยรวมสูญเสียไปกล้องที่มีระดับแสงรบกวนมากจะมีระดับการบดบังทัศนวิสัยมากด้วย ผู้ใช้ที่ใช้รถในเวลากลางคืนอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมถึงวิธีการลดระดับแสงรบกวนระหว่างการใช้งาน แต่ในด้านความคมชัดของหน้าจอไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างการใช้งานกลางวันและกลางคืน จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่ไม่มีแสงสว่างรบกวนสายตาในเวลากลางคืน ได้แก่ HP ASTON Xiaomi Blueskysea และ DENGO ในขณะที่จอแสดงภาพของกล้องติดรถยนต์ที่มีแสงสว่างรบกวนสายตามากที่สุดคือ AnyTek และ Transcend     กล้องติดรถยนต์ที่มีความคมชัดหน้าจอสูงที่สุดในช่วงเวลากลางคืนได้แก่ HP ส่วนกล้องที่มีความคมชัดน้อยที่สุดคือ Xiaomi GoTrec และ DENGO

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 226 ผลทดสอบกล้องดิจิทัลไฮเอนด์ 2019

        ตามที่สัญญาไว้ในฉบับก่อนหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้มีผลทดสอบกล้องดิจิทัลสำหรับผู้ที่กำลังมองหากล้องในระดับโปรมาฝากทั้งหมด 24 รุ่น สนนราคา* ระหว่าง 17,000 ถึง 134,980 บาท โดยเกณฑ์การให้คะแนนยังคงเป็นเช่นเดิมจากคะแนนเต็ม 100 เขาแบ่งออกเป็น 4 ด้าน         คุณภาพของภาพนิ่ง                    50 คะแนน        ความสะดวกในการใช้งาน             30 คะแนน        คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว       10 คะแนน        จอภาพ/ช่องมองภาพ                 10 คะแนน         กล้องสองรุ่นที่ได้คะแนนสูงกว่า 80 ได้แก่ Nikon Z6 และ Fujifilm XT3 แต่ที่เหลือก็ไม่ได้ขี้เหร่นัก เรายังมีรุ่นที่ได้คะแนนมากกว่า 70 อีก 18 รุ่น โดยกลุ่มที่ได้คะแนนน้อยที่สุดได้ไป 67 คะแนน            ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2019 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 225 ผลทดสอบกล้องดิจิทัล

        ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมาองค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทดสอบกล้องถ่ายรูปรวมถึงโทรศัพท์มือถือที่มีศักยภาพในการถ่ายรูปได้สวยไว้หลายสิบรุ่น (ทั้งรุ่นสำหรับมือสมัครเล่นและมืออาชีพ) ด้วยเนื้อที่อันจำกัด ฉบับนี้เราขอนำเสนอเพียงผลการทดสอบกล้องรุ่นเบสิก 15 รุ่น ที่สนนราคา*ระหว่าง 4,500 ถึง 56,600 บาท กันก่อน ใครที่กำลังคิดจะลงทุนกับกล้องโปรฯ อดใจไว้นิด ฉบับหน้าเรามาแน่          ในการทดสอบของ International Consumer Research and Testing คราวนี้ จากคะแนนเต็ม 100 เขาแบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้          คุณภาพของภาพนิ่ง                      50 คะแนน        ความสะดวกในการใช้งาน              30 คะแนน        คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว         10  คะแนน        จอภาพ/ช่องมองภาพ                   10  คะแนน          ในภาพรวมยังไม่มีกล้องเบสิกรุ่นไหนได้คะแนนรวมเกิน 70 (คะแนนเต็ม 100) ตัวที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มเท่ากันสองรุ่น ได้แก่ iPhone Xs และ Samsung Galaxy S9+ ก็ได้ไปเพียง 67 คะแนน ในขณะที่ Nikon COOLPIX W150 รั้งท้ายด้วยคะแนนเพียง 23 เท่านั้น         ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ตในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2019 โปรดตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 216 ตรวจสอบจราจร ปริมาณน้ำฝนและเส้นทางลัด กับ TVIS

                                  ฉบับนี้ผู้เขียนมาอัพเดทแอปพลิเคชันเกี่ยวกับการรายงานสภาพการจราจร เป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค แอปพลิเคชันนี้มีชื่อว่า TVIS ซึ่งย่อมาจากคำว่า Traffic Voice Information Service สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android          แอปพลิเคชัน TVIS เป็นแอปพลิเคชันที่แสดงถึงสภาพการจราจร มีกล้องวงจรปิด มีเรดาร์ตรวจอากาศ และเรดาร์น้ำฝน โดยจะแบ่งหมวดบนหน้าแอปพลิเคชัน 5 หมวด ได้แก่ หมวดรายการ หมวดรอบตัว หมวดรายการโปรด หมวดค้นหาด้วยเสียง และหมวดอื่นๆ          หมวดรายการ จะแบ่งการแสดงผลบนหน้าจอออกเป็น 8 หัวข้อ หัวข้อเรดาร์น้ำฝน จะแสดงสภาพปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นซึ่งใช้สีเป็นตัวแบ่งปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ปริมาณเล็กน้อย ปานกลาง แรง แรงมาก และเกิดลูกเห็บ หัวข้อสภาพการจราจรจะให้เลือกบริเวณเส้นทางที่ต้องการทราบความคล่องตัวของสภาพการจราจร หัวข้อกล้องจราจร CCTV จะแสดงกล้องวงจรปิดตามจุดต่างๆ หัวข้อเส้นทางลัดจะแสดงเส้นทางลัดทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดหัวข้อข่าวสังคมออนไลน์เป็นการรายงานข่าวสารจากสังคมออนไลน์ หัวข้อข่าวจากภาครัฐเป็นการรายงานข่าวสารจากภาครัฐ หัวข้อหมายเลขสายด่วนเพื่อกดดูรายการหมายเลขสายด่วนที่มีอยู่ทั้งหมด และหัวข้อ Smart IVR ที่มีไว้สำหรับติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อสอบถามผ่านแอปพลิเคชันโดยจะต้องกรอกหมายเลขโทรศัพท์ที่สะดวกหลังจากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมา          หมวดรอบตัว จะเป็นการแสดงสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ โดยมีหัวข้อที่จะเลือกตรวจสอบสภาพการจราจร 4 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเส้นสีจราจรจะปรากฏเส้นสีตามสภาพการจราจรในขณะนั้นเป็นสีแดง สีส้ม สีเหลืองและสีเขียว หัวข้อกล้องจราจรจะมีกล้องภาพเคลื่อนไหวจากแฟ้มภาพที่ผ่านไปเมื่อ 30 นาทีที่ผ่านมาและภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทอดสด หัวข้อสังคมออนไลน์จะปรากฏข่าวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ จุดนั้น และหัวข้อดาวเทียมจะเป็นการเปลี่ยนรูปแบบมุมมองบนแอปพลิเคชันเป็นดาวเทียม          หมวดรายการโปรดเป็นหมวดที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันได้รับความสะดวกสบายและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วกับเส้นทางและสภาพการจราจรที่ต้องการใช้บ่อย สำหรับหมวดค้นหาด้วยเสียงเป็นการสั่งงานในการค้นหาสภาพการจราจรด้วยเสียง ซึ่งหมวดนี้จะรองรับผู้ที่ไม่สะดวกในการค้นหาในรูปแบบปกติ และหมวดอื่นๆ จะเป็นการตั้งค่าและวิธีการใช้งานภายในแอปพลิเคชัน        แอปพลิเคชัน TVIS นี้มีประโยชน์ในเรื่องการรายงานสภาพการจราจรตามเส้นทางที่ต้องการเดินทางว่ามีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน  การรายงานสภาพการจราจรผ่านกล้องวงจรปิด การรายงานปริมาณน้ำฝนในแต่ละพื้นที่ การรายงานข่าวสารสภาพการจราจรผ่านสังคมออนไลน์ซึ่งมาจากการรายงานสภาพการจราจรจากผู้ใช้เส้นทางบนถนนโดยตรง        ถ้าผู้ใช้แอปพลิเคชันอยากจะหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัดบริเวณใด หรือต้องการหาเส้นทางลัด ก็สามารถเข้ามาตรวจสอบภายในแอปพลิเคชันนี้ได้เลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 กล้องวิดีโอ 2015

ถ้ากล้องวิดีโอตัวเก่าของคุณเริ่มเสื่อมสภาพ หรือโทรศัพท์ที่มีอยู่ไม่สามารถสนองความต้องการบันทึกภาพเคลื่อนไหวของคุณได้ ฉลาดซื้อมีกล้องวิดีโอ มาให้คุณพิจารณา แต่ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงเลือกมาเพียง 16 รุ่น ที่มีคะแนนรวมในลำดับต้นๆ ในการทดสอบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) รุ่นที่เรานำผลทดสอบมาฝากนี้ราคาตั้งแต่ 8,990 ถึง 69,990 บาท ข้อสังเกตเบื้องต้นคือคุณภาพต้องแลกด้วยราคา รุ่นที่ดีพร้อมรอบด้านนั้นราคาค่อนข้างสูง ที่สำคัญคือรุ่นแพงที่สุด Sony FDR-AX100E คือรุ่นที่ราคาสูงที่สุดด้วย    นอกจากคะแนนรวมแล้ว เขายังนำเสนอคะแนนแยกเป็น 6 ด้าน ไว้ด้วย ได้แก่ คุณภาพของภาพเคลื่อนไหว (ร้อยละ 40) การใช้งาน (ร้อยละ 25) คุณภาพเสียง (ร้อยละ 15) ฟังก์ชั่นที่หลากหลาย (ร้อยละ 10) คุณภาพของภาพนิ่ง (ร้อยละ 5) และระยะการใช้งานของแบตเตอรี่ (ร้อยละ 5)  ใครสนใจด้านไหนเป็นพิเศษ ดูรายละเอียดด้านล่าง                            

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 172 กล้องดิจิตัลรุ่นเบสิก

กลับมาอีกครั้งกับผลการทดสอบเปรียบเทียบกล้องดิจิตัลรุ่นเบสิก ซึ่งบางครั้งก็หมายถึงสมาร์ทโฟนที่หลายคนใช้ทำหน้าที่เป็นกล้องถ่ายรูปด้วย คราวนี้เราขอนำเสนอ 22 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2015 สนนราคาอยู่ระหว่าง         ถึง          บาท     คะแนนที่เขาให้ไว้สามารถแบ่งออกคร่าวๆได้เป็น 4 ด้านได้แก่ ภาพนิ่ง (45%) การใช้งาน (30%) ภาพเคลื่อนไหวและจอภาพ (อย่างละ 10%) และแฟลช (5%) ดูหน้าตาของกล้องแต่ละรุ่นและผลทดสอบแต่ละด้านได้ในหน้าถัดไป•    หมายเหตุ รุ่นที่มีเครื่องหมาย * หลังคะแนนรวมหมายถึงรุ่นที่ทดสอบแล้วพบว่าทนแรงดันน้ำและความสั่นสะเทือนได้ตามที่ได้โฆษณาไว้                                            

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 162 แชะแอนด์ชิล ผลทดสอบกล้องดิจิตัลรุ่นเบสิก

วันนี้ใครๆ ก็มีอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพติดตัวกันแทบทุกคน แต่หากคุณยังรู้สึกว่ากล้องที่มีในมือถือของคุณยังตอบสนองการถ่ายภาพได้ไม่ดีพอ เรามีผลการทดสอบกล้องดิจิตัลรุ่นใช้ง่ายถ่ายสนุก มาฝากสมาชิกกันอีกครั้ง กล้องที่ได้คะแนนรวมจากองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ไปมากที่สุดในการทดสอบรอบนี้ ได้แก่ Canon PowerShot N100 แต่ยังมีอีกหลายรุ่นที่ได้คะแนนรวมในระดับ 4 ดาวเหมือนกัน ติดตามรายละเอียดได้ในหน้าถัดไป · ราคาที่ลงเป็นราคาที่สำรวจในเดือนสิงหาคม 2557 กรุณาตรวจสอบราคา ณ ปัจจุบันกับทางร้านอีกครั้ง                                    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 156 กล้องดิจิตัล 2014

ได้เวลานำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบกล้องดิจิตัลกันอีกครั้ง คราวนี้เราขอเน้นแบบไฮเอนด์สำหรับคนที่จริงจังกับการถ่ายรูป ไม่รังเกียจการแบกน้ำหนัก และไม่หวั่นกับวันจ่ายมาก เพราะกล้องดิจิตัลที่เราเลือกมาจากผลการทดสอบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ จำนวน 17 รุ่นจาก 8 ยี่ห้อ มีสนนราคาระหว่าง 14,000 ถึง 71,000 บาทแอบบอกคุณตรงนี้ว่ารุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดนั้นเป็นรุ่นที่แพงที่สุดเสียด้วย แต่ข่าวดีคือรุ่นที่ถูกที่สุดไม่ใช่รุ่น   ที่ได้คะแนนต่ำสุด ส่วนผลคะแนนในแต่ละรุ่นจะเป็นอย่างไร ติดตามได้ในผลทดสอบหน้าถัดไป                 //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point