ฉบับที่ 266 รู้ทัน กล่องสุ่ม ใครได้ ใครเสีย

        กล่องสุ่ม (Mystery box) คือ กล่องที่มีการนำสินค้าหลายๆ อย่าง คละแบบ/ราคา ใส่ไว้ในกล่อง และมีการนำมาขาย โดยที่ผู้ซื้อไม่ทราบว่าสินค้าในกล่องมีอะไรบ้าง รู้เพียงราคาของกล่องที่ซื้อว่าเท่าไรเท่านั้น ซึ่งตามหลักแล้วถือเป็นกลยุทธ์ในการทำการตลาดแบบหนึ่ง เป็นการกระตุ้นยอดขายและทำให้ลูกค้ารู้จักร้านมากขึ้น         ทุกวันนี้หลายคนคงรู้จักกล่องสุ่มมากขึ้น เพราะมีการโฆษณาขายอยู่บนโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย และบวกกับคุณสมบัติของกล่องสุ่มที่ทำให้ผู้ซื้ออย่างเราๆ ได้ลุ้นว่าจะได้ของอะไรบ้าง ซึ่งตรงกับนิสัยคนไทยบางส่วนที่ชอบการเสี่ยงโชค เสี่ยงดวง ทำให้กล่องสุ่มได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว มีอินฟลูเอนเซอร์หรือดาราหลายคนหันมาขายกล่องสุ่ม แต่อย่างไรก็ตามก็มีข่าวออกมาอยู่เป็นระยะว่ามีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่โดนหลอกลวงจากกล่องสุ่ม เนื่องจากมีการชวนเชื่อว่าซื้อไปแล้วในกล่องมีโอกาสได้ของราคาแพง มีโอกาสสร้างกำไรจากกล่องสุ่ม เสมือนเป็นการพนันขันต่อที่มีทั้งคนได้และคนเสีย  จึงเป็นที่สงสัยกันมากว่า ตกลงกล่องสุ่มที่มีอยู่เต็มไปหมดในโลกออนไลน์ เป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายไหม           ในประเด็นนี้ หากมองมุมของกฎหมายก็ตอบได้ทันทีว่า การขายกล่องสุ่มเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายเพราะมีลักษณะเป็นการพนัน แต่หากกล่องสุ่มนั้นมาในรูปแบบของชิงโชค เช่น ซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดออนไลน์ครบ 1,000 บาท ได้บัตรแลกกล่องสุ่มหนึ่งใบ กล่องสุ่มแบบนี้สามารถทำได้เพียงแต่ต้องขออนุญาตต่อกรมการปกครอง เช่นเดียวกับพวกลุ้นใต้ฝาเครื่องดื่มชูกำลังในสมัยก่อนหรือร้านค้าที่เปิดให้สอยดาวต่างๆ เหล่านี้ เป็นกลุ่มที่เรียกว่ารับชิงโชคต้องมีการขออนุญาตทั้งสิ้น  เป็นไปตาม มาตรา 8 และมาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         มาตรา 8 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “การจัดให้มีการแถมพกหรือรางวัลด้วยการเสี่ยงโชค โดยวิธีใด ๆ ในการ ประกอบกิจการค้าหรืออาชีพ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตก่อนจึงจะทำได้”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50 บาท ขึ้นไปจนถึง 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 12 พระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ. 2478         “ ผู้ใดจัดให้มีการเล่น หรือทําอุบายล่อ ช่วยประกาศโฆษณาหรือชักชวน โดยทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้อื่นเข้าเล่นหรือเข้าพนันในการเล่นซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน หรือรับอนุญาตแล้วแต่เล่นพลิกแพลง ”         หากฝ่าฝืนระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปจนถึง 3 ปี และปรับตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป จนถึง 5,000 บาท         สรุปได้ว่า การขายกล่องสุ่ม ถ้ามีลักษณะที่ทำให้ผู้ซื้อต้องลุ้นว่าจะได้หรือเสีย กล่าวคือ ของในกล่องสุ่มอาจมีราคาสูงหรือต่ำกว่าเงินที่จ่ายค่ากล่อง เช่นนี้ มีลักษณะเป็นการพนัน การเสี่ยงโชค ผิดกฎหมายพนัน แต่หากการขายกล่องสุ่มของที่อยู่ในกล่องรวมกัน ราคามากกว่าเงินที่ผู้ซื้อจ่ายเพียงแต่ละคนอาจได้ของมูลค่ามากน้อยแตกต่างกันไป เช่นนี้ ถือว่าไม่มีการได้การเสีย ไม่มีลักษณะการพนันสามารถทำได้         อย่างไรก็ตาม ในมุมกฎหมายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคก็มีประเด็นเกี่ยวกับการระบุข้อมูลของสินค้าที่อยู่ในกล่องสุ่ม ซึ่งพบว่าที่ผ่านมาบางร้านขายกล่องสุ่มโดยกล่องสินค้ามีเพียงการแจ้งประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอางหรือของใช้ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดสำคัญของสินค้า ทั้งฉลากและราคา เช่นนี้ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน   เนื่องจากผู้บริโภคควรได้รับข้อมูลที่เพียงพอก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาสินค้าไม่ตรงปก หรือไม่ครบตามที่มีการโฆษณา         ดังนั้นในฐานะผู้บริโภคเวลาจะซื้อสินค้าหรือบริการใด ก็ต้องตรวจสอบข้อมูลผู้ขาย ดูรีวิว คอมเม้น  และหลีกเลี่ยงสินค้าที่มีความเสี่ยง อย่างเช่นกล่องสุ่มก็เป็นสินค้าอีกประเภทที่เราต้องเท่าทัน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจ่ายน้อยได้มาก เพราะส่วนมากคือเป็นกลโกงของมิจฉาชีพเพื่อหลอกเอาเงินเรา  เราควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าเพื่อให้ได้มาซึ่งของที่เราต้องการจริงๆ  มากกว่าการซื้อสินค้าอย่างกล่องสุ่มที่ไม่รู้จะได้อะไรมา ไม่ได้ใช้ประโยชน์ และโดนหลอกจนสูญเงินอย่างเปล่าประโยชน์

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม 2564

สคบ.ชี้ “กล่องสุ่ม” ผิดกฎหมาย        จากกรณีกระแสนิยมซื้อขายสินค้ากล่องสุ่มในโลกออนไลน์ที่ผ่านมา นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา          รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เผยว่า ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา สคบ. ได้เตรียมพิจารณาการออกกฎกระทรวง มาควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่มปริศนา ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทางออนไลน์ และมีการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมารีวิว โฆษณาชักชวนให้ผู้บริโภคมีความสนใจ จนหลงเชื่อและซื้อสินค้า ซึ่งการออกกฎหมายฉบับนี้ จะมีกำหนดทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค         สคบ.มองว่าการโฆษณาหรือจำหน่ายกล่องสุ่มมี 2 ประเด็นหลักที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิ คือ 1) อาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการพนัน หากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง 2)  เกี่ยวกับสิทธิของผู้บริโภค ซึ่งการระบุข้อมูลในกล่องว่ามีเพียงประเภทสินค้าเครื่องสำอางหรือของใช้ แต่ไม่ได้ระบุรายละเอียดอื่นๆ ของสินค้า เช่น ฉลากและราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ว่าต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นสินค้าได้อย่างชัดเจนว่ามีความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อ แบงก์ชาติแจงไม่สนับสนุนชำระสินค้าด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล         จากกรณีที่มีธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่ง ประกาศรับชำระสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่สนับสนุนการรับชำระเงินด้วยวิธีดังกล่าว” นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า  การดำเนินการดังกล่าวไม่ถือว่าผิดกฎหมาย แต่ทางแบงก์ชาติไม่สนับสนุน เพราะได้ประเมินแนวโน้มการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลว่ามีผู้ต้องการใช้บริการขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือทางการเงินดูแลเศรษฐกิจ และกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในอนาคต ทั้งนี้ ทางแบงก์ชาติยังอยู่ในระหว่างดำเนินการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่างแผนทางการเงินใหม่ให้มีแนวทางออกแบบนโยบาย มาตรการกำกับดูแลให้ครอบคลุมประเภทสินทรัพย์ดิจิทัล ให้สามารถชำระสินค้าและบริการได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความสมดุลระหว่างการสนับสนุนเทคโนโลยีทางการเงินและการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน สาธารณสุขเผยคนไทยสูบบุหรี่ลดลงต่อเนื่อง                 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้กล่าวว่า จากผลสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชากรในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 57 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน โดยคิดเป็นร้อยละ 17.4  ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลงต่อเนื่องหากเปรียบเทียบจากปี 2560 ที่มีร้อยละถึง 19.1 โดยที่ผ่านมา 4 ปี ทางคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ (คผยช.) ได้กำหนดนโยบายและมาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบในทุกมิติ ทั้งนี้ จากการประชุมยังมีความห่วงกังวลกับสถานการณ์เกี่ยวกับกลยุทธ์ทางการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่สร้างความเชื่อผิดๆ ให้กับกลุ่มเยาวชน และรวมถึงกลุ่มต้องการเลิกสูบบุหรี่และหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับมาตรการเฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ยกฟ้อง “วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ” ผอ.มูลนิธิไบโอไทยกรณีเคลื่อนไหวแบน 3 เคมีอันตราย         15 ธันวาคม 2564 ศาลนัดฟังคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ในคดีระหว่าง นางจรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยากรวัชพืชแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นโจทย์ ในฐานความผิดหมิ่นประมาท นำความเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากที่เพจ BIOTHAI ได้เผยแพร่ข้อความโต้แย้งกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ ซึ่งมีประเด็นของสารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ สารพาราควอต สารคลอร์ไพริฟอส ไกลโฟเซต และการกล่าวถึงกลุ่มที่ค้านการแบนสารพิษว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทสารเคมี         ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 นายรัษฎา มนูรัษฏา ทนายความนายวิฑูรย์ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวว่า ศาลพิจารณายกฟ้องในชั้นไต่สวน โดยศาลให้เหตุผลว่า เรื่องที่นายวิฑูรย์ให้สัมภาษณ์หรือโพสต์ข้อความเป็นเพียงประเด็นเชิงวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ส่วนประเด็น พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลมองว่าไม่ได้เป็นการนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ จึงพิพากษายกฟ้อง มพบ. เสนอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนการขึ้นค่าทางด่วน        จากกรณีประกาศปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564  ปรับค่าผ่านทางจากอัตรา 50/80/115 บาท เป็น 65/105/150 บาท สำหรับรถประเภท 4 ล้อ , 6-10 ล้อ , รถมากกว่า 10 ล้อ นั้น        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สะท้อนความไม่เป็นธรรมและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคว่า “กระทรวงคมนาคมควรต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมต้องขายคูปองเพื่อให้ได้ราคา 50 บาทเท่าเดิม ในเมื่อยังมีผู้บริโภคที่ไม่สะดวกซื้อคูปอง แต่ต้องจ่ายราคา 65 บาท ซึ่งในอัตราที่ปรับขึ้นนี้สร้างความไม่เป็นธรรมให้กับผู้บริโภค”           นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องความไม่สะดวกในการจ่ายด้วยคูปองและซื้อคูปองตามจุดที่เปิดขาย เพราะบางคนสะดวกเติมเงินผ่านระบบ easy pass มากกว่า ทว่าหากต้องการราคาเดิมต้องซื้อคูปองแทนการใช้ easy pass การซื้อคูปองตรงจุดที่เปิดขายจึงเป็นการสร้างภาระเพิ่ม อีกทั้งการซื้อคูปองจะต้องซื้อเป็นเล่ม (เล่มละ 20 ใบ) ในราคา 1,000 บาท เหมือนเป็นการบังคับซื้อ บังคับให้ต้องจ่ายค่าทางด่วนล่วงหน้า ทั้งที่ผู้บริโภคไม่ได้จำเป็นต้องใช้ทางด่วนนั้นเป็นประจำ บางทีในระยะเวลา 1 ปี อาจจะใช้ไม่หมดก็ได้ นอกจากนี้การเก็บเงินประชาชนล่วงหน้า 1,000 บาท ไม่ว่าจะใช้ทางด่วนหรือไม่ น่าจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ        ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอให้กระทรวงคมนาคมได้พิจารณาทบทวนเรื่อง การซื้อคูปองลดราคาค่าผ่านทางพิเศษ และเสนอให้กระทรวงคมนาคมไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษในเวลา 1 ปี เพื่อช่วยเหลือประชาชนลดภาระค่าใช้จ่าย

อ่านเพิ่มเติม >