ฉบับที่ 241 รู้เท่าทันการนอนไม่หลับ

        โรคนอนไม่หลับเป็นโรคที่กระทบต่อผู้สูงอายุในทุกประเทศ ทำให้เกิดการบำบัดรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ยา ฮอร์โมน และวิธีการต่างๆ โรคนอนไม่หลับคืออะไร มีกี่ประเภท และวิธีการต่างๆ ช่วยบำบัดการนอนไม่หลับได้จริงหรือไม่ มารู้เท่าทันกันเถอะ โรคนอนไม่หลับคืออะไรกันแน่        นายแพทย์จิรยศ จินตนาดิลก แพทย์ไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนไม่หลับในสหรัฐอเมริกาเขียนไว้ในหนังสือการนวดไทยบำบัดการนอนไม่หลับ ว่า โรคนอนไม่หลับคือ ความผิดปกติด้านการนอน หมายถึง กลุ่มอาการของการนอนหลับยากตั้งแต่ก่อนเข้านอน นอนแล้วหลับๆ ตื่นๆ หรือการนอนหลับไม่เต็มอิ่ม         ใน International Classification of Sleep Disorders ได้แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ โรคนอนไม่หลับเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับระยะสั้นและโรคนอนไม่หลับจากอาการหรือโรคอื่นๆ นอนเท่าไหร่ถึงจะพอ         จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของสหรัฐอเมริกาปี พ.ศ. 2546 พบว่า เวลาที่คนอเมริกันทั่วไปนอนอยู่ที่ 7-9 ชั่วโมง และพบว่า หากนอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน อัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ความดันโลหิตสูง โรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน เบาหวาน จะเพิ่มมากขึ้น ทำไมคนเราต้องนอน         การนอนหลับเป็นช่วงที่มีคุณค่าที่สุดต่อสมองของมนุษย์เรา สมองต้องการการนอนหลับเพื่อสร้างความทรงจำให้อยู่ได้นานจัดเก็บอย่างเป็นระบบ กำจัดของเสียในสมองและสร้างพลังงานสำหรับวันใหม่ กลไกในการนอนหลับ         จะมี 2 กลไกหลัก คือ        1. กลไกสะสมสารที่ทำให้ง่วงนอนในสมอง ได้แก่ GABA (Gamma-Aminobutyric Acid), Adenosine, Serotonin, Melatonin และ Prostaglandin D2 เป็นต้น สารเหล่านี้จะมีมากขึ้นเมื่อร่างกายทำงานมากขึ้นและไม่ได้นอนหลับทำให้เราง่วงนอน เมื่อนอนหลับร่างกายจะหลั่งสาร Catecholamine, Orexin และ Histamine ทำให้ตื่นนอนในตอนเช้า        2. กลไกการตื่นที่ควบคุมผ่าน Circhadian Rhythm เป็นกลไกที่ใช้แสงมากระตุ้นจอประสาทตาแล้วทำให้สมองหลั่งสารกระตุ้นการตื่น การตรวจสารหรือฮอร์โมนในเลือดจำเป็นหรือไม่         มีการโฆษณาในสื่อต่างๆ ว่ามีเครื่องมือในการวิเคราะห์การทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายและตรวจฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงอาจไม่เกิดประโยชน์เพราะสารเคมีหรือฮอร์โมนนั้น ร่างกายสามารถสร้างได้เมื่ออยู่ในภาวะที่ร่างกายต้องการนอนหลับพักผ่อน หรือตื่นนอนเมื่อนอนหลับอย่างเพียงพอ ยกเว้นในภาวะที่บางคนต้องการอดนอนเพื่อเร่งทำงานหรือดูหนังสือ หรือการดื่มชากาแฟเพื่อต่อต้านความง่วงนอน Optimum Health คืออะไร         คำว่า Optimum Health เป็นความหมายกว้างๆ ที่คล้ายกับคำ สุขภาวะ ขององค์การอนามัยโลก แต่เน้นเป็นเป้าหมายด้านสุขภาพที่บุคคลสามารถบรรลุได้อย่างเป็นจริงเพื่อรู้สึกดีที่สุด         ดังนั้นการมีการโฆษณาว่า Optimum Health เป็นนวัตกรรมที่ใช้วิธีการรักษาโรคแบบใหม่จึงผิดความหมายของคำนี้ที่ใช้เพื่ออธิบายภาวะของสุขภาพที่แต่ละคนสามารถไปถึงได้ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามีประโยชน์อย่างไร         มีการใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในการบำบัดอาการเจ็บปวดของเส้นประสาท อาการปวดกล้ามเนื้อ ข้ออักเสบบ้าง แต่ไม่ยืนยันประสิทธิผลเรื่องการนอนไม่หลับ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง แผลหายเร็วขึ้น         สรุป  การแก้ปัญหาการนอนไม่หลับจึงต้องวินิจฉัยโรคนอนไม่หลับว่า เกิดจากสาเหตุอะไร เป็นประเภทไหน เพราะวิธีการบำบัดนั้นแตกต่างกันไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 226 รู้เท่าทันโปรตีนผงกับการสร้างกล้ามเนื้อ

        ตอนนี้กระแสการมีหุ่นล่ำ มีกล้ามเนื้อหน้าท้องกำลังเป็นที่นิยมของคนหนุ่มสาว เพราะได้รับอิทธิพลจากดาราทั้งไทยและเทศว่า ผู้ชายต้องมีหุ่นล่ำ มีซิกแพค ทำให้คนที่รักสุขภาพพากันไปออกกำลังกายและเพาะกล้ามเนื้อกันอย่างจริงจัง จนเกิดกระแสการกินโปรตีนผงกันอย่างแพร่หลายเพื่อเร่งการสร้างกล้ามเนื้อให้เป็นมัดๆ ประมาณการว่า ในปี ค.ศ. 2020 โปรตีนผงจะมีมูลค่าการตลาดถึง 7.5 พันล้านดอลล่าร์ ผงโปรตีนสร้างกล้ามเนื้อได้จริงหรือไม่ เรามารู้เท่าทันกันเถอะ โปรตีนผงคืออะไร         โปรตีนผงคือโปรตีนเข้มข้นที่ทำจากสัตว์หรือพืชเช่น นม ไข่ หรือถั่ว นิยมใช้กันในกลุ่มผู้ออกกำลังกายเพื่อเพาะกล้ามเนื้อ สร้างรูปร่างให้แข็งแรง สามารถหาซื้อได้ทางร้านผลิตภัณฑ์สุขภาพหรือทางเน็ต เมื่อออกกำลังกายเสร็จก็จะเอาผงโปรตีนมาผสมน้ำ เขย่าและดื่ม เนื่องจากได้รับความนิยมมาก มีการทำเป็นเครื่องดื่มพร้อมดื่มขายในห้างสะดวกซื้อทั่วไป         โปรตีนผงมีหลายรูปแบบ ที่นิยมมี 3 ประเภทหลัก ได้แก่ เวย์ (whey)  ถั่วเหลือง และเคซีน (casein)  โดยเวย์ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นโปรตีนจากนมที่ละลายน้ำได้ดี (เวย์เป็นโปรตีนจากน้ำนมโดยแยกเอาไขมันออก มีโปรตีนสูงแต่ยังคงมีแลคโตส ทำให้คนที่แพ้นมจะย่อยเวย์ยาก เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง ย่อยและดูดซึมไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว มีกรดอะมิโนที่จำเป็น 9 ชนิดอยู่ครบ) โปรตีนจากถั่วเหลือง เหมาะสำหรับผู้ที่กินมังสวิรัติ แต่ละลายไม่ค่อยดีในน้ำ ส่วนเคซีนเป็นโปรตีนในน้ำนม แต่จะย่อยและดูดซึมช้ากว่าเวย์มากร่างกายต้องการโปรตีนวันละเท่าไหร่               วิทยาลัยเวชศาสตร์กีฬาและโรงเรียนโภชนาการและอาหารแห่งอเมริกาแนะนำว่า ผู้ใหญ่ทั่วไปต้องการโปรตีน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน        นักกีฬาแข่งขัน นักเพาะกาย ต้องการโปรตีน 1.2 - 2.0 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ต่อวัน         ดังนั้น ผู้ใหญ่ที่เพาะกาย น้ำหนัก 70 กิโลกรัม ต้องการโปรตีนต่อวัน 140 กรัม หรือ 1.4 ขีด ดูเหมือนมาก แต่เพียงแค่เรากินข้าวขาหมู ข้าวผัดกะเพราไข่ดาว ข้าวมันไก่ 1 จาน จะได้โปรตีน 20-25 กรัม อกไก่ 100 กรัมมีโปรตีน 31 กรัม นมสด 100 ซีซี. มีโปรตีน 4 กรัม นมถั่วเหลือง 100 ซีซี. มีโปรตีน 3.3 กรัม         การดื่มโปรตีนผงต่อครั้งให้โปรตีน 80 กรัม ซึ่งร่างกายไม่ต้องการทั้งหมด ร่างกายต้องเผาผลาญเพื่อสร้างเป็นพลังงาน การดื่มโปรตีนมากเกินไปมีผลต่อสุขภาพ เช่น คลื่นไส้ ตะคริว ปวดศีรษะ ท้องอืด ไตและตับต้องทำงานมากขึ้น การดื่มโปรตีนผงมีความจำเป็นจริงหรือ         จากการทบทวนการศึกษาวิจัยต่าง ๆ จาก Google Scholar, PubMed, and National Center for Biotechnology Information พบว่า มีทั้งความเห็นที่เห็นด้วยและคัดค้าน  มีงานวิจัยจำนวนน้อยที่มีหลักฐานเพียงพอ โปรตีนผงนั้นเป็นสารประกอบที่ผ่านการแปรรูป และมักไม่มีสารอาหารที่จำเป็นต่อลีลาชีวิตที่มีสุขภาพดี ข้อแนะนำคือ ควรได้โปรตีนจากแหล่งอาหารธรรมชาติ การกินโปรตีนเสริมนั้นควรใช้สำหรับกรณีที่อาหารปกติประจำวันนั้นไม่มีโปรตีนเพียงพอเท่านั้น สรุป  เราควรกินโปรตีนจากอาหารธรรมชาติ สำหรับนักเพาะกายที่ต้องการใช้โปรตีนผง ควรคำนวณปริมาณโปรตีนที่ร่างกายต้องใช้ต่อวัน และกินเสริมส่วนที่ยังขาดเท่านั้นก็พอ จะประหยัดและป้องกันตับกับไต

อ่านเพิ่มเติม >