ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 274 ความเคลื่อนไหวเดือนธันวาคม ปี 2566

ระวังเบอร์โทรหลอกดูดเงิน        โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เตือนภัยประชาชนกรณีที่มีมิจฉาชีพใช้เบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อประชาชนหลอกล็อกอินและดูดเงิน โดยมีวิธีการคือ แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กระทวงการคลัง หลอกลวงให้กดยกเลิกสิทธิโครงการของรัฐฯ ที่หมดเขต พร้อมให้ประชาชนล็อกอินใส่ username และ password ของ “แอปพลิเคชันเป๋าเงิน” พร้อมทั้งยังแอบอ้างว่าได้รับเอกสารสิทธิพิเศษจากกระทรวงการคลัง และมีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลังอีกด้วย         ทั้งนี้  ทางโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขอย้ำว่าหากมีเบอร์โทร 082-810-3575 ติดต่อไป อย่ารับเด็ดขาด ให้บล็อกได้เลย และยืนยันว่ากระทรวงการคลังไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อหาประชาชนให้ยกเลิกสิทธิ์โครงการของรัฐฯ แน่นอน ภัยออนไลน์ปี 2567 มิจฉาชีพอาจใช้ AI ลวงเหยื่อ         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึง สถิติแจ้งความออนไลน์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ผ่านมา  อันดับ 1 ยังคงเป็น “การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์” มีจำนวนกว่า 150,000 คดี   ในส่วนคดีที่ความเสียหายรวมสูงที่สุด คือ “หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์” เสียหายรวมกว่า 16,000 ล้านบาท                    แนวโน้มรูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ปี 2567 ประชาชนต้องระมัดระวังมิจฉาชีพ ก่อเหตุโดยนำเทคโนโลยี  AI มาใช้ประโยชน์เพื่อปลอมแปลงฉ้อโกง หรือสร้างความเสียหาย สร้างภาพคลิปปลอม เพื่อนำมาหาประโยชน์ต่างๆ เช่น             ·     การสร้างภาพ หรือคลิปปลอมเป็นบุคคลอื่น (AI Deepfakes)             ·     การเลียนเสียงของบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือคนรู้จัก (AI Voice Covers)             ·     การสร้างคลิปลามกปลอม (AI Deepfakes)             ·     การสร้างข่าวปลอม (Fake News)         ขออย่าหลงเชื่อ ยึดหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์ ประกาศฉบับใหม่! ห้ามขาย “ใบกระท่อม” ให้คนท้อง-เด็กต่ำกว่า 18 ปี         เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง...การปิดประกาศหรือการแจ้งให้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทราบถึงข้อห้ามขายใบกระท่อมหรืออาหาร ตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ พ.ศ. 2566  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม2566 เป็นต้นไป         โดยประกาศให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบ มีหน้าที่ต้องประกาศ ให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ดังนี้             1. ปิดประกาศไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ชัดเจน และมีขนาดเหมาะสมกับสถานที่ขาย             2. ระบุข้อความที่ปิดประกาศว่า ไม่ขายใบกระท่อม หรืออาหารที่มีใบกระท่อม เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบให้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้                 ·บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี                ·สตรีมีครรภ์                ·สตรีให้นมบุตร                ·ให้ผู้ขายใบกระท่อม หรืออาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหารที่มีใบกระท่อมเป็นวัตถุดิบ หรือส่วนประกอบ โดยวิธีการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือด้วยวิธีการหรือในลักษณะอื่นใด ปิดประกาศหรือแจ้งให้ทราบถึงข้อห้ามขายแก่บุคคลตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ปฏิบัติตามข้อ 3 โดยอนุโลม  3 กลุ่มโรคต้องระวังเมื่อถอนฟัน          จากกรณีข่าวสาววัย 25 ปี เสียชีวิตภายหลังถอนฟัน 2 ซี่ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี นั้น ด้านนพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่าผลตรวจพบก้อนมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณกรามด้านขวา ซึ่งกดบีบทางเดินหายใจทำให้หายใจลำบากนำมาซึ่งการเสียชีวิต         การถอนฟันเป็นการรักษาปัญหาสุขภาพในช่องปากที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการถอนฟันเป็นการรักษาที่มีความเสี่ยงสูง เพราะในช่องปากเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียจำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้ ซึ่งมีสามกลุ่มโรคที่ผู้ป่วยควรต้องแจ้งทันตแพทย์ก่อนหากได้รับการวินิจฉัยว่าต้องถอนฟัน ได้แก่ กลุ่มโรคที่เลือดออกง่ายและหยุดไหลยาก เช่น ลิวคีเมีย โรคไตมีประวัติล้างไต  กลุ่มที่อาจแสดงอาการระหว่างทำฟัน เช่น ลมชัก หอบหืด ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และกลุ่มโรคเบาหวานที่เสี่ยงแผลหายยาก         จี้ กสทช. แก้ปัญหาผู้บริโภครับผลกระทบรวม ทรู-ดีแทค         22 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายธนัช ธรรมิสกุล หน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช.         “กรณีเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากผู้บริโภคหลังรวม ทรู-ดีแทค รวมถึงได้นำหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากทุกค่ายมือถือ ระหว่างวันที่ 9 – 23 พฤศจิกายน 2566 จำนวนผู้ทำแบบสำรวจ 2,924 ราย ยื่นแก่ พลเอกกิตติ เกตุศรี ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช.เป็นตัวแทนรับหนังสือ”         ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา 5 ปัญหาที่พบมากที่สุด จากผลสำรวจมากถึงร้อย 81 หลักๆ มีดังนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า สัญญาณหลุดบ่อย โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น ค่าแพ็กเกจราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก และ call center โทรติดยาก อย่างไรก็ตาม ด้านข้อเสนอแนะจากผู้บริโภคที่ทำแบบสำรวจ เช่น ขอให้ยกเลิกการควบรวมรวมธุรกิจโทรคมนาคม ระหว่าง ทรู-ดีแทค เพราะหลังจากที่มีการควบรวมแล้ว ผู้บริโภคพบเจอปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตมีปัญหา ราคาค่าบริการแพงขึ้น แพ็คเกจไม่หลากหลาย  พร้อมยังไม่เห็นประโยชน์ใดๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับโดยตรงหลังจากการควบรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 273 จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สู่ประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช.

        การควบรวมธุรกิจ “ทรู-ดีแทค” เกิดขึ้นมาเกือบ 1 ปีแล้ว แม้ในช่วงก่อนดำเนินการจะมีกระแสเสียงคัดค้านและข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา แต่ดูเหมือนประเด็นจะ “จุดไม่ติด” ในสังคมไทย แม้แต่เมื่อการควบรวมเกิดขึ้นแล้วและมีกระแสข่าว รวมถึงการออกมาเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบหรือเบาะแสปัญหาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเพียงประเด็นกระเส็นกระสาย         จนกระทั่งมาถึงช่วงเดือนธันวาคมนี้ กระแสเรื่องนี้จึงเริ่มเด่นชัดขึ้นมา ด้วยเสียงบ่นหนาหูในโลกออนไลน์ ทั้งในเรื่องการประสบปัญหาการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ (เน็ตมือถือ) มีความอืดช้าลงกว่าเดิม หรือมีการสะดุดหรือหลุดหายของสัญญาณ การถูกเปลี่ยนรายการส่งเสริมการขายหรือแพ็กเกจการใช้งานโดยไม่รู้ตัว การหายไปของแพ็กเกจเน็ตราคาย่อมเยา         สรุปง่ายๆ ว่า มีปัญหาทั้งในเชิงของคุณภาพที่ลดลง ทางเลือกหดหาย ซึ่งในที่สุดก็เชื่อมโยงมาถึงปัญหาการต้องจ่ายค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือสูงขึ้นนั่นเอง        ยิ่งเมื่อมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) พยายามแสวงหาความกระจ่างในเรื่องนี้ด้วยการสำรวจความคิดเห็นผู้ใช้บริการผ่านทางออนไลน์ โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 9-23 พฤศจิกายน 2556 และเปิดเผยผลออกมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ว่า จากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2,900 ราย ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าเป็นผู้ใช้บริการของเครือข่ายใด มีถึงร้อยละ 81 ระบุว่าพบปัญหาการใช้งานในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยปัญหาหลัก 3 อันดับแรกได้แก่ เน็ตช้า (ร้อยละ 29) สัญญาณหลุดบ่อย (ร้อยละ 19) โปรโมชันเดิมหมด ต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น (ร้อยละ 14) น้ำหนักของปัญหาก็ยิ่งเด่นชัด         การทวงถามหาประสิทธิผลของสิ่งที่เรียกว่า “มาตรการเฉพาะ” ที่ทาง กสทช. กำหนดไว้ในวันที่มีมติรับทราบการควบรวม จึงเกิดขึ้นตามมา ซึ่ง กสทช. ได้กำหนดไว้หลายประการที่ดูเหมือนจะดีด้านการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อที่กำหนดว่า อัตราค่าบริการเฉลี่ยจะต้องลดลงร้อยละ 12 ภายใน 90 วันหลังการควบรวม         ข้อสงสัยยิ่งมีมากขึ้น เมื่อเกิดการเปิดเผยข้อมูลออกมาว่า ทางบริษัทฯ ที่ควบรวมได้รายงานต่อ กสทช. ว่า อัตราค่าบริการของโทรศัพท์มือถือลดลงประมาณ 15% และราคาค่าบริการเน็ตมือถือลดลงประมาณ 80% ซึ่งค้านกับเสียงบ่นในสังคมราวกับอยู่คนละโลก         คำถามและการวิพากษ์วิจารณ์พุ่งเป้าไปยัง กสทช. อีกครั้ง ในฐานะขององค์กรกำกับดูแลที่ควรจะต้องออกมาชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงของเรื่องนี้         สื่อและประชาชนอยากทราบความจริงจาก กสทช. และอยากได้หลักฐานว่าผลกระทบเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร คุณภาพบริการมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ในลักษณะใด ราคาค่าบริการสูงขึ้นหรือลดลง แท้จริงแล้วคุณภาพบริการแย่ลงอย่างที่บางคนบ่นหรือไม่         ถึงแม้ว่าทาง กสทช. จะยังคงเล่นบทเงียบเช่นเดียวกับที่เคยๆ ทำมาในเรื่องอื้อฉาวกรณีต่างๆ แต่ด้วยการมีข้อสงสัยและคำถามเกิดขึ้นอย่างเจาะลึกขึ้นเรื่อยๆ จนสื่อมวลชนให้ความสนใจ รายการเล่าข่าวดังมีการสัมภาษณ์ นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ซึ่งได้เปิดให้เห็นเงื่อนปมต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการทำงานของ กสทช. ที่มีลักษณะยากจะเข้าใจและเต็มไปด้วยกรรมวิธีซับซ้อน         ประเด็นอย่างเช่นการใช้วิธีให้บริษัทเอกชนผู้ประกอบการเป็นฝ่ายรายงานผลการปฏิบัติงานของตน แทนที่ กสทช. จะเป็นฝ่ายตรวจสอบ การยอมให้เอกชนปฏิบัติแบบหลุดกรอบเวลาที่กำหนดโดยไม่มีมาตรการติดตามหรือบังคับที่จริงจัง รวมถึงการกำหนดวิธีควบคุมราคาค่าบริการด้วยค่าเฉลี่ย ล้วนสะท้อนวิธีการทำงานลักษณะ “ไม่ธรรมดา” ของ กสทช.        ยกตัวอย่างเรื่องระบบการควบคุมค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในเชิงต้นทาง แม้ กสทช. มีการกำหนดอัตราค่าบริการไว้ว่า แต่ละบริการจะต้องไม่เกินเท่าไร โดยกำหนดว่าบริการเสียงต้องไม่เกิน 0.60 บาทต่อนาที บริการข้อความสั้น หรือ SMS ไม่เกิน 0.89 บาทต่อข้อความ บริการเน็ตมือถือไม่เกิน 0.16 บาทต่อเมกะไบต์ แต่ในการกำกับอัตราดังกล่าวกลับใช้วิธีเฉลี่ยรวมทุกรายการส่งเสริมการขาย โดยให้มีการถ่วงน้ำหนักระหว่างรายการส่งเสริมการขายหลักและรายการส่งเสริมการขายเสริมในสัดส่วนร้อยละ 80/20 ตามลำดับ         ข้อดีของวิธีดังกล่าวคือการเปิดให้เอกชนผู้ให้บริการสามารถจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอันหลากหลาย แต่ด้วยวิธีการอันซับซ้อนดังกล่าวทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการทั่วไปไม่อาจตรวจสอบได้เลยว่า ค่าบริการในโลกความจริงเป็นไปตามกติกาที่องค์กรกำกับดูแลกำหนดหรือไม่ อย่างไร         ซ้ำร้ายกว่านั้นคือ สำนักงาน กสทช. เองที่มีหน้าที่ต้องคอยตรวจสอบเรื่องนี้เป็นประจำทุกเดือน ทำได้เพียงพิจารณาข้อมูลรายการส่งเสริมการขายตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมาให้ โดยไม่ได้มีการตรวจสอบเลยว่า รายการส่งเสริมการขายในโลกของเอกสารหรือไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. รับทราบนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับที่อยู่ในตลาดให้บริการจริงและที่ประชาชนคนใช้บริการได้ใช้จริงหรือไม่         ประเด็นเรื่องความไม่ชัดเจนของค่าบริการโทรคมนาคมจึงมีอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดปมปัญหาผลกระทบการควบรวมต่อค่าบริการว่าสูงขึ้นหรือลดลงกันแน่ ดังนั้น การจะคาดหวังให้ กสทช. ไขความกระจ่างในปมปัญหาที่เกิดขึ้นนี้จึงดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เว้นแต่ กสทช. จะมีการเปลี่ยนวิธีการทำงาน         ในส่วนเรื่องคุณภาพบริการก็ไม่แตกต่างกัน วิธีการหลักที่ กสทช. ใช้ในการกำกับคุณภาพบริการก็คือ การมีข้อกำหนดในสิ่งที่เป็น “มาตรฐาน” ของบริการ เป็นกรอบและแนวทางให้เอกชนผู้ให้บริการปฏิบัติตาม ส่วนในโลกความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรนั้น หลักๆ แล้ว สำนักงาน กสทช. รับทราบตามข้อมูลที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานเข้ามา เสริมด้วยการออกวิ่งรถตระเวนรถตรวจสัญญาณ        คุณภาพบริการที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานมีลักษณะเป็นค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ ดังนั้นจึงมีข้อจำกัดในตัวเอง ในแง่ที่ไม่อาจบ่งบอกว่าบริการเฉพาะพื้นที่ต่างๆ เป็นอย่างไร และบริการที่ประชาชนผู้ใช้บริการแต่ละรายได้รับนั้นเป็นอย่างไร        ที่สำคัญคือ ต่อให้คุณภาพบริการตามที่เอกชนผู้ให้บริการรายงานจะตรงตามความเป็นจริงและผ่านค่ามาตรฐาน แต่ผู้ใช้บริการบางรายในบางพื้นที่อาจใช้บริการที่ตกมาตรฐานอยู่ก็เป็นได้         จากปมผลกระทบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม สะท้อนมาถึงประสิทธิภาพการทำงานของ กสทช. ดูเหมือนว่า ทั้งสองปัญหาดูอึมครึมไม่แตกต่างกัน และต่างมีความซับซ้อนเกินกว่าจะหาทางออกได้ง่ายๆ จึงหวังว่ากระแสความสนใจของสังคมต่อทั้งสองเรื่องนี้จะยังไม่จางไป เพื่อที่ปัญหาจะได้ถูกตรวจสอบและเปิดเผยออกมาสู่การรับรู้และอยู่ในสายตาของสาธารณะ ให้ปมอันซ่อนเงื่อนถูกคลายออกบ้าง ทั้งเรื่องผลกระทบการควบรวม ทั้งเรื่องการทำงานขององค์กรในแดนสนธยาอย่าง กสทช. ซึ่งต่างควรจะอยู่ในแสงสว่างอย่างโปร่งใสเสียที 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 269 เบอร์เราที่คนอื่นเปิดให้ ทางแก้ปัญหาอยู่ที่ไหน?!?

        การถูกสวมรอยหรือถูกแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนไปเปิดเบอร์มือถือ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ในระยะหลังนี้เป็นที่พูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนว่าปัญหามีการขยายตัวหนักขึ้น ในขณะเดียวกับที่ความตระหนักต่อภยันตรายที่จะติดตามมาก็มากขึ้นด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคล ภาระค่าบริการ และที่สำคัญที่สุดคือ การที่เบอร์มือถือที่ถูกแอบเปิดดังกล่าวอาจพาให้เข้าไปพัวพันกับการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือการก่ออาชญากรรม         ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยคนที่ตกเป็นเหยื่อนั้นมักไม่รู้ตัว         อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างก็มีเครื่องมือสำหรับช่วยให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้ว่ามีเบอร์ที่ลงทะเบียนไว้ในชื่อของตนเท่าไรและเป็นเบอร์อะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันของค่ายมือถือ หรือ “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ของ กสทช. โดยสำหรับแอปฯ ของแต่ละค่ายจะมีข้อจำกัดว่าตรวจสอบได้เฉพาะเบอร์ที่เปิดกับแต่ละค่าย แต่ “แอปฯ 3 ชั้น” นั้นจะตรวจสอบได้ครบทุกค่าย         ยิ่งกว่านั้น นอกจากใช้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว “แอปฯ 3 ชั้น” ยังสามารถแจ้งปัญหา ทั้งในแง่ของเบอร์ที่เกินมาและที่ขาดไป ตลอดจนใช้เพื่อล็อกป้องกันการถูกบุคคลอื่นนำบัตรประชาชนของเราไปแอบอ้างเปิดเบอร์ใหม่ได้ด้วย ส่วนเมื่อไรที่ต้องการเปิดเบอร์ใหม่ก็สามารถปลดล็อกเองได้เช่นเดียวกัน         ถึงแม้ว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่อาจช่วยป้องกันมิให้เกิดการลักลอบเปิดเบอร์ตั้งแต่ต้นทาง แต่ก็ช่วยให้ตามทันปัญหา ซึ่งยิ่งไวเท่าไรก็ยิ่งลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถสะสางให้ปัญหายุติลงได้ ดีกว่าที่จะรอให้เกิดผลกระทบขึ้นแล้วจึงค่อยรู้ตัว ซึ่งที่ผ่านมา บางรายก็รู้ต่อเมื่อถูกเรียกเก็บค่าบริการ หรือบางกรณีอาจเลวร้ายกว่านั้น         แท้ที่จริง เรื่องนี้ยังมีมาตรการอีกส่วนหนึ่งที่ถ้าทำได้ดีจะส่งผลในเชิงป้องกันได้มากกว่า นั่นคือ การยกระดับคุณภาพและความรัดกุมของการรับลงทะเบียน ซึ่งหน้าที่ในเรื่องนี้เป็นของผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือต่างๆ นั่นเอง โดยที่ กสทช. มีหน้าที่กำกับดูแลการทำหน้าที่ของเอกชนอีกทอดหนึ่ง         กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 ในประกาศนี้กำหนดอย่างชัดเจนว่า ผู้ให้บริการต้องบริหารจัดการการลงทะเบียนผู้ใช้บริการที่จุดให้บริการ ซึ่งก็คือศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าที่จัดตั้งขึ้น โดยในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย อย่างน้อยต้องแสดงเอกสารหลักฐานเป็นบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง หรือข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดที่ใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริง โดยที่จุดให้ลงทะเบียนต้องตรวจสอบหลักฐาน รวมทั้งพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ ด้วยความรอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม         นอกจากนั้น ประกาศยังกำหนดเรื่องการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ รวมทั้งกำหนดว่า บริษัทผู้ให้บริการจะต้องรับผิดชอบ หากมีเหตุอันมิชอบด้วยกฎหมายที่เกี่ยวกับการให้บริการโทรคมนาคมอันเกิดจากการดำเนินการของจุดให้บริการ เสมือนเป็นผู้ดำเนินการเองทุกกรณี เว้นแต่สามารถพิสูจน์ให้สำนักงาน กสทช. เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการมีมาตรการและดำเนินการตรวจสอบการกระทำของจุดให้บริการนั้น รวมถึงมีการกำกับดูแลจุดให้บริการโดยรอบคอบ เคร่งครัด และรัดกุมแล้ว        ตามกติกาเช่นนี้ หากในทางปฏิบัติจริงทำตามได้อย่างไม่บิดพลิ้ว เรื่องการสวมรอยหรือแอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนของคนอื่นลงทะเบียนเปิดใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไปย่อมไม่ควรจะเกิดขึ้นได้ หากจะเกิดขึ้นก็เพียงในกรณีที่ว่า ผู้แอบอ้างได้บัตรประชาชนฉบับจริงของผู้นั้นไป และมีหน้าตาคล้ายคลึงกับเจ้าของบัตรด้วย         แต่จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะบ่งชี้ว่า ด่านการลงทะเบียนมีมาตรฐานห่างไกลจากคำว่า “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” อย่างมาก สะท้อนต่อเนื่องว่า กติกาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ และการกำกับกติกาไม่มีประสิทธิผล         ทั้งนี้พบว่า ในกรณีที่มีการร้องเรียนปัญหานี้เข้าสู่สำนักงาน กสทช. ที่ผ่านๆ มา ผลลัพธ์ที่ได้คือ ผู้ให้บริการจะดูแลปิดเบอร์ให้ กรณีมีค่าบริการก็ยกเว้นการเรียกเก็บ แต่สำหรับการสืบสาวถึงสาเหตุหรือความรับผิดชอบอื่นใด ผู้ให้บริการมักไม่เปิดเผยและไม่แสดงความรับผิดชอบ ขณะที่สำนักงาน กสทช. ก็ไม่ติดใจ         สำหรับมาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ที่ กสทช. กำลังให้ความสำคัญในขณะนี้ นั่นคือจำกัดให้แต่ละคนถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือคนละไม่เกิน 5 เบอร์         แม้ว่ามาตรการนี้อาจช่วยปิดช่องมิให้มิจฉาชีพดำเนินการเปิดเบอร์มือถือจำนวนมากและก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ แต่อาจช่วยไม่ได้มากนักในเรื่องการแอบอ้างหรือสวมรอยเปิดเบอร์ ช่วยได้ก็เพียงลดปริมาณเบอร์ที่แต่ละคนจะถูกสวมรอยเท่านั้น         ปราการสำคัญแท้จริงของเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่ขั้นตอนการลงทะเบียน ที่จะต้อง “รอบคอบ เคร่งครัด รัดกุม” ให้ได้จริงๆ ซึ่งถ้าหากผู้ให้บริการยังคงทำหน้าที่ส่วนนี้ให้ดีไม่ได้ กสทช. ก็ควรต้องทำหน้าที่ให้เข้มข้น ส่วนว่า ถ้าหาก กสทช. เองก็ทำหน้าที่ให้ดีไม่ได้เช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ประชาชนก็ย่อมมีทางเลือกเพียงเฝ้าระวังและติดตามปัญหาด้วยตนเองเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 เบอร์ที่ “มิจ” ใช้ ใครเป็นคนเปิด?

        เมื่อไม่กี่วันก่อน คนใกล้ชิดได้รับสายจาก “มิจ” รายหนึ่ง อ้างว่าโทรมาจาก กสทช. ข่าวสารที่นำพามาให้ก็คือ “เบอร์ของท่านกำลังจะถูกปิด” โดยมีเรื่องราวประกอบประมาณว่า ทาง กสทช. ได้ตรวจพบว่าท่านมีการเปิดเลขหมายไว้มากกว่า 1 เลขหมาย ซึ่ง กสทช. ไม่อนุญาต         เราฟังแบบจับความจากทางฝ่ายรับโทรศัพท์ เพียงรับรู้ว่าโทรมาจาก กสทช. ก็ตะโกนออกมาแล้วว่า “หลอกลวงๆ” ตอนนั้นยังไม่ทันรู้ว่ามีการผูกประเด็นอะไร อย่างไร         สิ่งที่ตลกมากคือ มิจรายนี้ท่าทางจะเป็นคนที่แสนอ่อนไหว พอเขาได้ยินข้อความที่เราตะโกนก็ผละจากการ “เล่าความเท็จ” มาเล่นบทหาเรื่องทันที ขึ้นเสียงดังจนลอดออกมาให้เราได้ยินว่า “ใครหลอกลวง หลอกยังไง บลาๆๆ”เสียดายที่มิจเล่นบทโมโหเสร็จก็วางสายไป ไม่เปิดให้เราได้มีโอกาสบอกว่า มิจจ๋า การบ้านที่ทำมาจนรู้ว่าเหยื่อรายนี้ถือครองสองเบอร์นั้นยังไม่พอ ต้องไปศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องมาใหม่นะ เปิดเกิน 1 เบอร์ไม่ได้ผิดกฎหมายแต่อย่างใดทั้งนี้ ตลอดยุคสมัยนับแต่มีบริการโทรคมนาคมจนถึงปัจจุบัน รัฐและ กสทช. ไม่เคยมีกติกาจำกัดจำนวนการถือครองเบอร์ของผู้บริโภคเลยอย่าว่าแต่แค่ 2 เบอร์ ในความเป็นจริงมีคนมากมายที่เปิดเบอร์นับสิบนับร้อยเบอร์กันเลยทีเดียว         ดังนั้นอยากบอกว่า มิจจะมาใช้จิตวิทยาเล่นกับความหวงเบอร์และความกลัวการสูญเสียโดยที่มีความรู้ไม่แน่น มันไม่ work และไม่มืออาชีพเลยนะ ดังนั้นถ้าเผอิญมาเจอคนที่มีความรู้และข้อมูลเยอะกว่าก็ต้องอดทน-อดกลั้นหน่อย ไม่ใช่มาโกรธใส่         จบเรื่องมิจ มาเข้าเรื่องกติกา กสทช. เกี่ยวกับกติกาการจำกัดจำนวนเบอร์         เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ค่ายมือถือเริ่มจริงจังที่จะสื่อสารว่า ถ้าจะเปิดเบอร์ให้ทำได้คนละ 5 เบอร์เท่านั้น โดยมีการอ้างว่าเป็นประกาศของ กสทช.        แต่แท้จริงแล้ว แนวทางการกำกับของ กสทช. ในเรื่องนี้เป็นไปในอีกมุมหนึ่ง นั่นคือมีการกำหนดว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือค่ายมือถือทุกรายมีหน้าที่ต้องควบคุมจำนวนการลงทะเบียนเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตน สำหรับบุคคลธรรมดา จำนวนไม่เกิน 5 เลขหมายต่อคน         กติกานี้เกิดขึ้นในฐานะมติ กสทช. จากการประชุมครั้งที่ 14/2561 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม เหตุเนื่องจากในขณะนั้นเริ่มเกิดปัญหาการระบาดของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (พวกพี่มิจนั่นแหละ) และจากการตรวจจับพบกรณีมีคนที่ลงทะเบียนครอบครองเบอร์มือถือคนเดียว 300,000 หมายเลข! ซึ่งจำนวนมากขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องปกติอย่างแน่นอน         ที่เด็ดกว่านั้นคือ พบกรณีมีผู้ถือครองเบอร์มือถือในชื่อของนายกรัฐมนตรีของประเทศด้วย ...ใช่แล้ว คนที่กำลังรักษาการอยู่ในปัจจุบันนั่นแหละ         ในมุมมองของ กสทช. เหตุการณ์เหล่านี้บ่งบอกให้รู้ว่า กระบวนการลงทะเบียนซิม (เปิดเบอร์) มีความไร้ระบบ หละหลวม จนก่อให้เกิดช่องโหว่ที่ใหญ่มากซึ่งสามารถเป็นต้นตอก่อปัญหาร้ายแรงอื่นๆ ตามมา ดังนั้นจึงต้องวางมาตรการเพื่อยกระดับคุณภาพของการลงทะเบียนเปิดเบอร์ ตลอดจนมีการควบคุมในเรื่องนี้         มาตรการเรื่องการจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์ดังกล่าวจึงเกิดขึ้น แต่แทนที่จะใช้วิธีจำกัดการถือครองเบอร์ของปัจเจกแต่ละราย ซึ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิผู้บริโภค และยากที่จะหาจำนวนเหมาะสมที่กำหนดแล้วไม่ส่งผลรบกวนการใช้งานตามปกติและการใช้งานโดยสุจริต เพราะบางคนอาจมีความจำเป็นต้องใช้เลขหมายเป็นจำนวนมากในการประกอบกิจการหรือดำเนินชีวิตก็เป็นได้         จำนวน 5 เลขหมายที่เกิดขึ้นจึงเป็นการจำกัดไว้ที่การให้บริการเปิดเบอร์แบบทั่วไปที่อาจมีการติดต่อกันผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะทางออนไลน์หรือผ่านตัวแทน แต่หากบุคคลทั่วไปคนใดมีความต้องการหรือจำเป็นต้องใช้งานเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่านั้นก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องไปที่ศูนย์ให้บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกกันว่าช็อปมือถือนั่นเอง และมติ กสทช. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการต้องรายงานกรณีดังกล่าวต่อสำนักงาน กสทช. ด้วย         แท้จริงมาตรการนี้จึงไม่ใช่การจำกัดจำนวนการเปิดเบอร์หรือถือครองเบอร์ แต่เป็นการวางมาตรการควบคุมวิธีการพิจารณาเปิดเบอร์และการดำเนินการของผู้ให้บริการ         หน้าที่ในการรับลงทะเบียนหรือรับเปิดเบอร์ของผู้ให้บริการยังมีรายละเอียดอื่นมากกว่านั้น ซึ่งกำหนดโดยกฎหมายระดับประกาศของ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่*         ประกาศนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 สาระคือเป็นการวางหลักเกณฑ์ตั้งแต่เรื่องของเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน การมีมาตรการตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล รวมถึงข้อกำหนดว่าจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการอะไรได้บ้าง        แต่กติกาของ กสทช. ดังกล่าวไม่เพียงไม่ขลัง การกำกับดูแลของ กสทช. ก็อ่อนด้วย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้ให้บริการหรือค่ายมือถือทั้งหลายไม่ได้เพิ่มความรัดกุมในการดำเนินการเรื่องนี้เลย         ปัญหาการถูกลักลอบ/แอบอ้างใช้ชื่อและบัตรประชาชนเปิดเบอร์จึงยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะ เห็นได้จากที่มีการโพสกรณีต่างๆ ทางสื่อออนไลน์ รวมถึงการมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังสำนักงาน กสทช. เอง กระทั่งในช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาก็เกิดเป็นกระแสฮือฮาอีกครั้ง เนื่องจากมีผู้ออกมาเผยว่าตนเองถูกแอบอ้างเปิดเบอร์มือถือถึง 32 เบอร์**         ปัญหาการถูกแอบเปิดเบอร์มือถือ นอกจากจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยด้านข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเรื่องของภาระค่าบริการที่อาจติดตามมา และร้ายที่สุด เนื่องจากเราอยู่ในยุคที่มี “มิจ” จำนวนมากแฝงฝังอยู่ร่วมสังคม ปัญหานี้จึงอาจพัวพันกับการก่ออาชญากรรมด้วยครั้งหน้าจึงจะขอพูดถึงเรื่องนี้ต่อ โดยจะเน้นไปในด้านของมาตรการเพื่อการป้องกันและเท่าทันกับปัญหา ทั้งในส่วนที่เป็นเกราะป้องกันที่ภาครัฐดำเนินการ และส่วนที่ผู้บริโภคเราจะช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในฐานะเหยื่อในลักษณะผู้สมรู้ร่วมคิดของ “มิจ”* อ่านรายละเอียดประกาศดังกล่าวได้ที่ https://numbering.nbtc.go.th/getattachment/Announcement/Announce-manual/447/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%-E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%97%E0%B8%8A%- E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%-E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%97%-E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%-E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%-E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%-E0%B8%9A%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%-E0%B8%A5%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%-E0%B9%89%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%-E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B1%-E0%B8%9E%E0%B8%97%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%-E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%-E0%B9%88.PDF.aspx** อ่านข่าวดังกล่าวได้ที่ เตือนภัย! สาวเช็กเลขบัตร ปชช. เจอ ถูกนำไปเปิดเบอร์โทรกว่า 30 เบอร์ ทั้งที่ใช้จริงแค่ 2 (matichon.co.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 เพราะความอยาก “เลิก” ของเราไม่เท่ากัน

        คราวนี้ยังขอว่าด้วยเรื่อง “การเลิก” ต่ออีกสักหน่อยนะคะ โดยจะเน้นในมุมเมื่อการเลิกเกิดขึ้นแบบมีเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเต็มใจ หรือลงมือกระทำการเพียงฝ่ายเดียว ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้ดีจนเข้าใจตรงกันหรือเห็นพ้องต้องกัน         แม้ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บริการโทรคมนาคม แต่ปมประเด็นของเรื่องนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากหลักพื้นฐานในความสัมพันธ์ทั่วไป นั่นคือ เมื่อการเลิกเกิดขึ้นโดยไม่ได้มาจากความยินยอมสองฝ่าย ร้อยทั้งร้อยย่อมต้องมีปัญหายุ่งยากตามมา        คราวที่แล้วได้พูดไปแล้วถึงเหตุการณ์และที่มาซึ่งทำให้ฝ่ายผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือผู้ให้บริการ สามารถที่จะ “ตัดสัญญาณ” และสะบั้นสัญญาที่ทำไว้กับผู้บริโภค ซึ่งช่องทางใหญ่ที่เปิดให้เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก็คือเรื่องของการค้างชำระค่าบริการเกินกว่า 2 รอบบิล ซึ่งกฎหมาย (ของ กสทช.) เปิดช่องไว้ให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการ         ช่องเปิดที่ว่านี้ตั้งอยู่บนหลักคิดปกติที่เข้าใจได้ นั่นคือ เพื่อให้ผู้ให้บริการที่ประสบพบกับลูกค้าที่อาจจะออกอาการ “เบี้ยวหนี้”  ไม่จำเป็นต้องฝืนทนให้บริการต่อไปและเสี่ยงกับการถูกชักดาบ แต่ในทางกลับกัน ก็ใช่ว่าผู้ค้างชำระหนี้ทุกรายจะเป็น “ลูกค้าเลว” อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้า ผู้ให้บริการน่าจะมุ่งรักษาไว้มากกว่าจะผลักไส ดังนั้นข้อกำหนดจึงเป็นไปในลักษณะเปิดกว้าง โดยยกให้เป็นสิทธิของผู้ให้บริการที่จะพิจารณา “ยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญา” หรือไม่ก็ได้         อย่างไรก็ตาม ไม่น่าเชื่อว่าช่องที่เปิดกว้างนี้เองกลับกลายเป็นช่องโหว่ที่ก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาในหลายกรณี         ในส่วนของบริการมือถือ มีเรื่องร้องเรียนจากผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการถูกระงับ/ยกเลิกเลขหมาย เข้ามายังสำนักงาน กสทช. เป็นจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี สะท้อนถึงความไม่เต็มใจของฝ่ายผู้บริโภคหรือลูกค้าต่อ “การเลิก” ที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของบริษัท ข้อร้องเรียนของบางรายคือไม่ทราบด้วยซ้ำว่าถูกระงับหรือยกเลิกบริการเพราะเหตุใด         จากสถิติทั้งปีของ พ.ศ. 2564 และ 2565 เรื่องร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวมีมากกว่า 250 กรณีต่อปี และในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2566 นี้ มีเรื่องร้องเรียนเข้ามาแล้วประมาณ 100 เรื่อง ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่มีเรื่องร้องเรียนสูงที่สุดในส่วนของบริการมือถือ         ที่จริงแล้วเรื่องเหล่านี้ โดยเฉพาะเรื่องการไม่รู้ตัว ไม่ควรที่จะต้องเกิดขึ้น เพราะในประกาศ กสทช. ที่ให้สิทธิบริษัทยกเลิกการให้บริการได้ในกรณีมีการค้างชำระค่าบริการเกินกว่าสองรอบบิลติดต่อกัน มีรายละเอียดกำกับไว้ด้วยว่า “โดยผู้ให้บริการได้แจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบถึงวันครบกำหนดที่แน่นอนเป็นการล่วงหน้าในใบแจ้งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ และได้ทำการเตือนตามวิธีการที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว” จะเห็นได้ว่า ในรายละเอียดและในทางปฏิบัติ สาระสำคัญจึงเป็นเรื่องของการสื่อสาร ถ้ามีเจตนาต้องการรักษาความสัมพันธ์ แม้อีกฝ่ายจะผิดพลาด แต่หากพูดจาจนเข้าใจกันได้ก็ไม่จำเป็นต้องตัดขาด ถ้าบริษัทยังอยากรักษาลูกค้าก็ต้องละเอียดอ่อนเพิ่มขึ้นในเรื่องการสื่อสาร แต่ถ้าไม่แคร์แล้วและอยากนำทรัพยากรที่มี (เลขหมายหรือเบอร์มือถือ) ไปหา (ลูกค้า) รายใหม่ที่อาจสร้างรายได้ไฉไลกว่า นั่นย่อมเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สำหรับผู้บริโภคคนใดที่ใช้เบอร์สวย (ไม่ว่าจะสวยจริงหรือสวยเฉพาะกับตัวเอง หรือเป็นเบอร์สำคัญที่หวงแหน ฯลฯ) จึงพึงต้องระวังให้ดี ห้ามกระทำการที่ทำให้เกิดเงื่อนไขที่จะเปิดช่องนี้ขึ้นมา เพราะถ้าเข้าเงื่อนไข คือค้างชำระค่าบริการครบ  2 รอบบิลทั้งๆ ที่บริษัทมีการเตือนแล้ว  การตัดสัญญาณหรือยกเลิกบริการจากฝ่ายบริษัทก็มีความชอบด้วยกฎหมาย และเมื่อเบอร์หลุดมือไปแล้ว การเรียกร้องเบอร์เดิมกลับคืนมานับเป็นเรื่องยาก แม้เปิดบริการใหม่ก็เลือกได้เฉพาะเบอร์เท่าที่มีการเสนอขายให้เท่านั้น         ในอีกด้านหนึ่ง การร้องเรียนของผู้บริโภคในประเด็นปัญหาลักษณะ “ไม่อาจยกเลิกบริการได้” ก็มีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน แต่ปัญหานี้พบในบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่หรือเน็ตบ้านมากกว่าในบริการมือถือ โดยมีปริมาณเรื่องร้องเรียนสูงเป็นอันดับหนึ่งในทั้งสามปีที่ผ่านมา         แท้ที่จริง ในปัญหาด้านนี้ ข้อโต้แย้งมักไม่ได้อยู่ที่ประเด็น “การเลิก” โดยตรง แต่ปมประเด็นสำคัญมักอยู่ที่การมี “ค่าใช้จ่าย” สำหรับการเลิกก่อนเวลา ซึ่งในวิถีปกติของบริการเน็ตบ้าน เนื่องจากต้องมีการติดตั้งและมีเรื่องของการให้อุปกรณ์ด้วย โดยที่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นถูกกระจายเฉลี่ยไปอยู่ในค่าบริการรายเดือน ดังนั้นระยะเวลาการใช้บริการที่นานพอจึงถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม หากจะให้สิ้นสุดเร็วกว่ากำหนดก็ต้องมีการเรียกร้องค่าใช้จ่ายส่วนที่ลงทุนไปตอนต้นกลับคืนมาบ้าง         ในทำนองเดียวกัน กรณีบริการมือถือที่ “เลิกยาก” และผู้ให้บริการมักยื้อก็คือกรณีที่เป็นการเปิดบริการภายใต้เงื่อนไขพิเศษบางประการ เช่น การซื้อเครื่องราคาถูก กรณีเช่นนี้มักมีการผูกกับโปรฯ แบบใดแบบหนึ่ง พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ต้องใช้บริการ (ห้ามเลิก-ห้ามย้ายค่าย)         ในมิติทางกฎหมายและการกำกับดูแล  กสทช. มีการกำหนดว่า แบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจาก กสทช. รวมถึงการแก้ไขแบบสัญญาด้วย ดังนั้น สัญญาใดที่ไม่เคยได้ผ่านความเห็นชอบ แม้คู่สัญญาต่างลงนามโดยสมัครใจ ก็ไม่เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ผ่านมา บรรดาสัญญาที่พ่วงการขายเครื่องทั้งหลายมักไม่มีการเสนอขอความเห็นชอบจาก กสทช. ดังนั้น เมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนขึ้น พิจารณาตามหลักของกฎหมายกำกับดูแลแล้ว สัญญาเหล่านั้นจึงไม่มีสภาพบังคับ สรุปง่ายๆ คือ บริษัทจะผูกผู้บริโภคไว้ด้วยสัญญาดังกล่าวไม่ได้         เมื่อผู้บริโภคอยากเลิกก็ย่อมเลิกได้ตามเจตนา อย่างไรก็ตาม กฎหมายได้วางหลักไว้เช่นกันว่า ในกรณีที่มีการรับมอบเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อสัญญาสิ้นสุดก็ต้องส่งคืน หรือหากอุปกรณ์เสียหายก็ต้องชดใช้ตามจริงในราคาตลาด ซึ่งในกรณีค่าเครื่องที่ซื้อมาราคาลดพิเศษ ก็ต้องคิดคำนวณสัดส่วนใช้คืนให้บริษัทด้วย         สรุปได้ว่า การเลิกนั้นเป็นสิทธิของทั้งสองฝ่ายที่จะทำได้ ไม่ว่าความอยากของอีกฝ่ายจะเป็นอย่างไร ความอยากและความเต็มใจอาจไม่เท่ากัน แต่ความแฟร์ควรจะมีให้กันอย่างเสมอภาค ไม่มีการเอาเปรียบกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 ควบรวม ทรู - ดีแทค โอกาสทบทวนตัวเองครั้งสำคัญของ กสทช.

ตั้งแต่ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างมากเพราะส่งผลกระทบต่อ ผู้บริโภคเป็นวงกว้าง คือประกาศการควบรวมกิจการของดีแทค หรือกลุ่มเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  กับกลุ่มกิจการธุรกิจโทรคมนาคมกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรูมูฟ เอช         ปัจจุบันประเทศไทยมีหมายเลขโทรศัพท์มือถือใน 3 ค่ายหลักคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  รวมกันแล้วกว่า  93 ล้านเลขหมาย มีค่าเฉลี่ยในการเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือทั่วโลกโดยเฉลี่ยคนละ 2 เครื่อง  มีความเร็วของเทคโนโลยีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไร้สายแบบ 3G, 4G หรือ 5G อยู่ในระดับเดียวกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไต้หวัน และฮ่องกง หากทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบรวมกับ ดีแทคได้สำเร็จบริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นจะมีสัดส่วนของเลขหมายถึงร้อยละ 52 และ ทำให้คนไทยมีทางเลือกในการใช้บริการเพียง  2  เจ้า           หลังประกาศดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้แย้งหลายประการในสังคม  ปัจจุบัน กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการพิเศษเพื่อพิจารณาการควบรวมและว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระให้จัดทำความเห็นประกอบ  จัดวงโฟกัสกรุ๊ปเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายขึ้นแล้วหลายครั้ง   ฉลาดซื้อรวบรวมข้อโต้แย้ง ทั้งฝ่ายคัดค้านและสนับสนุนมานำเสนอเพื่อให้ผู้บริโภคติดตามสถานการณ์ได้ทัน แล้วมาดูกันว่าปรากฎการณ์ผูกขาดด้านโทรคมนาคมจะเกิดขึ้นหรือไม่          ฝ่ายเห็นด้วยให้ควบรวม          -        การควบรวมทำให้เกิดการประสานพลังกัน (synergy) ของธุรกิจโทรคมนาคมที่ปัจจุบันต้องลงทุนเพิ่มขึ้นสูงถึง ทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลง ช่วยเพิ่มการลงทุนและจะพัฒนาการให้บริการให้ดีขึ้นได้         -        จะทำให้ประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ระดับชาติ (national champion) มีศักยภาพในการไปแข่งขันในเวทีโลก  ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงธุรกิจทั้งในและต่างประเทศที่มีปัจจัยด้าน digital Disruption มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ใหม่ๆ มากขึ้น คุณภาพของ Network ที่เกิดขึ้นและเป็นเรื่องที่สำคัญ         -        ข้อห่วงกังวลในหลายเรื่อง เช่น   ค่าดัชนีการวัดการกระจุกตัวของตลาด (HHI)  อุปสรรคการเข้าสู่ตลาดของผู้ให้บริการรายใหม่  ราคาค่าใช้บริการที่อาจสูงขึ้น   มีกลไกในการกำกับ ควบคุมอยู่แล้วคือการทำหน้าที่ของ กสทช.  ที่สามารถใช้อำนาจ หน้าที่ กำกับ กำหนดเงื่อนไขได้ ข้อกังวลว่าผู้ให้บริการจะร่วมมือกันกำหนดราคาเอาเปรียบผู้บริโภคไม่สามารถทำได้แล้วในปัจจุบัน เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลและมี กสทช. ที่คอยทำหน้าที่อยู่แล้ว           ฝ่ายคัดค้านการควบรวม          -        การที่ผู้ให้บริการมีเงินลงทุนมากขึ้น ไม่ได้การันตีว่าจะมีการลงทุนเพิ่มและบริการจะมีคุณภาพที่ดีขึ้นเสมอไป         -        การควบรวมย่อมทำให้เกิดการผูกขาด  ส่งผลให้ผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกในการใช้งานหลายรูปแบบ เช่น  อัตราค่าบริการที่อาจสูงขึ้นและไม่มีตัวเลือกที่ดีกว่า คุณภาพของสัญญาณลดลง   เอกชนบางรายมีอำนาจเหนือตลาดหรืออาจจับมือกัน มีพฤติกรรมไปในทางเดียวกัน  และไม่เกิดการแข่งขัน         -        การควบรวมทำให้มีผู้ให้บริการน้อยราย ไม่สอดคล้องกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่มุ่งรักษาการแข่งขันในตลาดเพื่อรองรับการใช้เสรีภาพทางเศรษฐกิจตามที่ได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ           นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตคณะกรรมการ กสทช. ทบทวนสถานการณ์ที่ผ่านมากับฉลาดซื้อ ว่าตลอดมาประเทศไทยมีผู้ให้บริการแบบ 3 เจ้าคือ AIS   Dtac และ True ทำให้เกิดการแข่งขัน และยิ่งเทคโนโลยีพัฒนายิ่งขึ้นได้ช่วยให้ค่าบริการถูกลงได้ อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่ดีขึ้นแต่ราคาอาจไม่ได้ถูกลง และคุณภาพอาจไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นหากในระบบไม่มีการแข่งขันกันในการให้บริการ          “หากยังจำกันได้  ตอนที่เรามีการประมูลคลื่น  4  G  บริษัทชื่อ แจส  มาประมูลและชนะ จนได้เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายที่ 4  ทำให้ทั้ง 3 รายเดิม ออกแพคเกจ ลดราคาลงมาอย่างมาก แม้ว่าสุดท้าย แจสไม่มีเงินมาจ่ายค่าประมูลได้ แต่ผลพวงที่ทำให้ได้ประโยชน์จนถึงตอนนี้คือผู้บริโภคจ่ายค่าบริการถูกลง”         “การที่มี 3 เจ้า อย่างน้อยเป็นการแข่งขันในระดับที่ทำให้ราคาไม่สูงขึ้น มีโปรโมชั่นต่างๆ มาล่อใจลูกค้าแต่พอเหลือเพียง 2 ราย  ไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกโปรโมชั่นแล้วโดยเฉพาะ  2 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดใกล้เคียงกันคือ   50 /50   แล้วตลาดเริ่มอิ่มตัวแล้ว บทเรียนจากต่างประเทศก็พบว่า ระดับการแข่งขันจะลดลง  แต่เอกชนจะมีรายได้เพิ่มด้วย แล้วยิ่งปัจจุบันตอนนี้ที่ยังไม่มีการควบรวมจำนวนโปรโมชั่นของทุกค่ายในตลาด กำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้น คือระดับการแข่งขันมันเป็นตัวกำกับดูแล ให้ราคามันอยู่ในจุดที่เหมาะสม   ถ้าการแข่งขันลดลงราคาก็จะผิดปกติ”          “วันนี้หากการควบรวมกิจการเกิดขึ้นจริง สิ่งที่จำเป็นคือ กสทช.ต้องรักษาระดับแข่งขันให้ได้ใกล้เคียงเดิม หากรักษาระดับการแข่งขันไม่ได้ ความเสียหายเกิดขึ้นแน่นอน อีกทั้งต้องประเมินผลกระทบการควบรวมกิจการ และจำกัดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด” นพ.ประวิทย์ กล่าว         สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ‘ทีดีอาร์ไอ’  ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชัดเจนว่าในอดีตเมื่อมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียง 2 ราย นอกจากค่าบริการจะแพงลิบ โปรโมชั่นน้อย คุณภาพบริการแย่แล้ว ผู้ให้บริการยังสามารถใช้กลยุทธ์ต่างๆ ในการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น ใช้ระบบอีมี่ (IMEI หรือหมายเลขเฉพาะตัวเองของโทรศัพท์ในระบบ GSM ที่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องถูกขโมยในสมัยก่อน) บังคับให้ผู้ใช้บริการต้องซื้อเครื่องของผู้ให้บริการรายดังกล่าวด้วย         ความหวังอยู่ที่การทำหน้าที่ของ กสทช. ?         หลากหลายข้อโต้แย้ง ข้อห่วงกังวล มีสิ่งหนึ่งที่ตรงกันคือความหวังในการทำหน้าที่ของ กสทช. ที่หากทำด้วยความรอบคอบ รัดกุม ย่อมรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคได้ แต่เรื่องนี้หลายฝ่ายก็ยังกังวล เพราะในปี 2561    กสทช. ได้ออกประกาศที่ลดทอนอำนาจตัวเองทำให้การควบรวมไม่ใช้ระบบอนุญาต แต่ให้เป็นเพียงการแจ้งเพื่อทราบ ทำให้สังคมมองว่า กสทช. ที่เป็นผู้กำกับดูแลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ปัจจุบันจึงมีข้อเสนอเพื่อการทำงานของ กสทช.  ดังนี้          -   คลื่นความถี่เป็นสมบัติสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องจัดสรรให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ การควบรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ย่อมมีผลกระทบอย่างมาก รัฐจะต้องมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต โดยการชั่งน้ำหนักระหว่างผลดีทั้งต่อทั้งผู้ประกอบการ การลงทุนเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคตกับผลเสียที่จะเกิดกับประชาชนและธุรกิจผู้ใช้บริการโทรคมนาคม        -   การควบรวมกิจการขนาดใหญ่ครั้งนี้ ส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง กสทช. ผู้ตรวจสอบจะต้องรับฟังความเห็นจากทุกๆ ฝ่ายอย่างรอบด้าน  และให้ข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเป็นระยะ ผ่านทางเว็บไซต์ของตนเองอย่างเป็นทางการ        -   ในการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการใดๆ กสทช. ต้องคำนึงถึงการรักษาการแข่งขันในตลาดเป็นสำคัญ ไม่ใช่มุ่งรักษาผลประโยชน์ของผู้ควบรวมหรือกำหนดเงื่อนไขที่ผู้ตรวจสอบคิดเอาเองว่าบังคับใช้ได้ง่าย ดังนั้นการที่ต้องพึ่งพาการทำหน้าที่ของ กสทช. เพื่อสร้างความเป็นธรรมในด้านโทรคมนาคม ย่อมสร้างความกังวลกับหลายฝ่ายต่อความสามารถที่จะทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เพราะการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมต้องปฏิบัติตามเป็นเรื่องที่จะมีปัญหาและต้นทุนการบังคับใช้สูง อีกทั้ง กสทช.ยังไม่มีข้อมูล เพียงพอ  เท่าทันต่อการกำกับดูแลผู้ให้บริการ ...

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แก็งคอลเซ็นเตอร์ระบาด เมื่อ กสทช. เชื่องช้า และผู้บริโภคต้องดูแลตัวเอง

        ‘ฉลาดซื้อ’ เคยนำเสนอเรื่องราวของ SMS หลอกลวงแพร่ระบาดสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขไปอย่างไรบ้างเพราะทุกอย่างช่างเงียบเชียบ         ห้วงเวลาปัจจุบัน SMS หลอกลวงล้าสมัยเสียแล้ว ข่าวคราวที่นำเสนอบนหน้าสื่อ มิจฉาชีพใช้วิธีโทรศัพท์หาเหยื่อโดยตรง และโดนกันถ้วนหน้าตั้งแต่นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถึงอัยการ ผู้พิพากษา         ปัจจุบัน โทรศัพท์ฉลาดแทบจะเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่งของมนุษย์ ทุกคนจึงมีโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงตัว พินิจพิจารณาปัญหานี้เราจะพบ 2 คำถามใหญ่ หนึ่งคือหน่วยงานรัฐซึ่งน่าจะมีกฎหมายและอำนาจจัดการที่ต้นทางหรือแกะรอยจึงไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ และสอง-มิจฉาชีพนำข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์มาจากไหนเสียงจากผู้เดือดร้อนสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพ         เอ (นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาที่เพจของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ว่าได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมากวันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมา SMS ซาลง เปลี่ยนเป็นการโทรถึงเธอโดยตรง มุขที่มิจฉาชีพใช้เป็นมุขดั้งเดิมอย่างการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน         แน่นอนว่าตัวเธอไม่ได้หลงเชื่อ แต่ประเด็นที่เธอเป็นห่วงคือคุณตาและคุณพ่อหรือก็คือผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ         “พ่อก็เคยได้รับเหมือนกัน ตอนนั้นอยู่ด้วยกัน พ่อก็งงว่าไม่ได้สั่งของแต่ดีเอชแอลโทรมา ลองนึกว่าถ้าเป็นคนแก่แบบคุณตาเรา อยากให้ SMS หลอกลวงหมดไปเลยดีกว่า บล็อกไปเลยได้ไหม พนันออนไลน์ หรือชวนให้กู้ยืมนี่นั่น”         ไม่นานมานี้ที่เว็บไซต์ www.change.org มีผู้ใช้รายหนึ่งชื่อ หนู ซึ่งถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท เธอได้ทำแคมเปญ ‘ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!’ เนื้อหาระบุว่า         “ดิฉันถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไป 4,016,000 บาท ซึ่งเป็นเงินที่ดิฉันทำมาหากินและเก็บมาทั้งชีวิต ดิฉันมีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ดิฉันไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งพวกนี้อีก ดิฉันกินข้าวทั้งน้ำตามาหลายมื้อ ยืนก็ร้อง นั่งก็ร้อง มันสุดแสนทรมานใจ ดิฉันเข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย         “รอบนี้เป็นรอบที่ 4 ที่ ดิฉันถูกแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์หลอก เหมือนกับแก๊งเหล่านี้ลิสต์เอาไว้ว่าดิฉันไม่สนใจเบอร์อะไรแล้วไม่ใช้เบอร์นั้นโทรมาอีก จนถึงเบอร์ล่าสุดที่มีแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรหาดิฉัน ในรอบนี้พวกเขาให้ดิฉันวิดิโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง และแสดงให้เห็นว่าวิธีการก่อเหตุของแก๊งคอลเซ็นเตอร์พัฒนามากขึ้นแล้ว         “หลังโอนเงินแล้วดิฉันเริ่มหาข้อมูลจนพบว่านี่น่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดิฉันจึงไปธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นธนาคารที่ดิฉันเปิดบัญชีไว้เพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที แต่เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกว่าดิฉันต้องมีใบแจ้งความมาแสดง เมื่อดิฉันนำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ ธนาคารยังบอกว่าขอส่งใบแจ้งความตัวจริง (ทางไปรษณีย์) เผื่อไปตรวจสอบบัญชีของผู้ร้าย รอหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบ ส่งไปส่งมา เงินมันก็ลอยไปถึงไหนแล้ว แค่ร้องทุกข์ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของธนาคารต่างๆ ยังรอสายเป็นชั่วโมง เป็นระบบที่แย่มากจริงๆ”         ผู้จัดแคมเปญรายนี้เรียกร้อง เธอใช้คำว่า ‘ขอวอน’ ไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า        1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มี แก๊งมันก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง        2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ดิฉันเข้าใจว่าดิฉันผิดพลาดที่โอนเงินเอง แต่ถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าคนนี้อยู่ๆ โอนเงินเยอะจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนเยอะๆ แล้วโอนออกภายในไม่กี่วินาที จนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบไม่ใช่หรือ?        3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย         “ดิฉันเป็นประชาชนคนหนึ่งที่อยากได้ความปลอดภัย ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับใครแล้ว จึงขอให้รัฐและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ทุกอย่างที่ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ทำงานได้และแก้ไขขั้นตอนที่ยุ่งยากเวลาเจออาชญากรรรมนี้เพื่อปกป้องประชาชนต่อไป”         เสียงจากหนึ่งในผู้เดือดร้อนจำนวนมากที่ส่งถึงรัฐโดยตรงสามารถสะท้อนประสิทธิภาพการทำงานของรัฐได้เป็นอย่างดีกสทช. ต้องทำงานเชิงรุก         หน่วยงานหนึ่งด้านโทรคมนาคมที่ ‘ฉลาดซื้อ’ ได้เอ่ยถึงไปแล้วในสกู๊ปก่อนหน้านี้คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นหน่วยงานแรกๆ ที่น่าจะบรรเทาปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมก็ยังไม่แอคทีฟอย่างที่ควรจะเป็น         สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ Collaborative Fact Checking หรือ Cofact ประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีต กสทช. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นงานของ กสทช. โดยตรงที่ต้องกำกับดูแลให้เกิดการบริการที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค         เธอแสดงทัศนะว่าสิ่งที่ กสทช. ทำได้ ณ เวลานี้คือการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการในด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น         “แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องรีวิวก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ ทั้งในประกาศที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. เองหรือที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ เช่น การรับส่งสแปมข้อความที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย ต้องไปดู กฎ กติกาก่อนว่ามีอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด”         นอกจากการจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว สุภิญญาเห็นว่า กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ เธออธิบายว่า กสทช. อาจจะทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง         “เวลาคนได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์ เบอร์มิจฉาชีพ ทำยังไง จะกดโทร ร้องเรียนได้ทันที โดยแจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ มันเป็นข้อมูลหลังบ้าน เป็น Data Center แล้ว กสทช. ก็ประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาว่าต้นตอมาจากไหน จะได้เสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปแก้ไข เช่น ให้ตำรวจไปดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ ในขั้นนี้อาจทำงานร่วมกับตำรวจก็ได้         “ให้ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนเข้าสู่ระบบ สมมติเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลาเขาโทรไปเบอร์ใครจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่าเบอร์นี้ให้ระวัง เป็นมิจฉาชีพ ซึ่งตอนนี้ประชาชนก็สามารถดาวน์โหลดแอพฯ Whoscall มาทำลักษณะนี้ได้ซึ่งเป็นของเอกชน ประเด็นคือทำไมภาครัฐไม่ทำเอง โดยเอาข้อมูลจากหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป เพราะว่าคนที่มีฐานข้อมูลเบอร์โทรมากที่สุดคือค่ายมือถือและ กสทช.”         การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด        1. การบูรณาการการทำงาน        2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ        3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว         “ไม่ใช่พอถูกมิจฉาชีพโทรมา ต้องวางหู ต้องโทรไป 1200 กสทช. รอนาน แล้วต้องส่งเลขที่บัตรประชาชน ต้องให้รายละเอียด จากนั้นโทรไปธนาคาร จากนั้นโทรไปสถานีตำรวจ ต้องโทรไปนั่นไปนี่ มันไม่เวิร์ค มันควรต้องมีการทำระบบ One Stop Service มีการบันทึกหลักฐาน แจ้งร้องเรียน โดยที่ตัวตนของผู้ร้องเรียนก็ผูกกับเบอร์มือถืออยู่แล้ว มันก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัตรประชาชนเหมือนที่ต้องทำทุกวันนี้”         สุภิญญาย้ำว่า กสทช. ควรทำงานเชิงรุกเพราะมีศักยภาพที่จะทำจุดนี้ได้ เงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่ายควรนำมาจัดทำระบบดังกล่าว นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ เธอย้ำว่าปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น         อีกส่วนที่เป็นอำนาจ กสทช. โดยตรงต่อไปคือการกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่ มิจฉาชีพ ซึ่งตรงนี้สามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และต้องสร้างระบบตรวจสอลผู้ประกอบการด้านโทรคมนาคมเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ         การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.สิทธิของผู้บริโภคและ PDPA ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล         อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลคือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ (ถ้าไม่ถูกเลื่อนออกไปอีก) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ควบคุมและผู้ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้บริโภคและไม่นำไปใช้นอกเหนือขอบเขตของความยินยอมและสัญญา (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทสัมภาษณ์ ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์: ทำความรู้จักกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนใช้จริง ฉลาดซื้อ|นิตยสารออนไลน์ - ฉบับที่-252-ผศ.ศุภวัชร์-มาลานนท์:-ทำความ... (chaladsue.com) )         ผศ.ศุภวัชร์ มาลานนท์ จากบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวในเชิงแนะนำว่า         “ผมเชื่อว่าพอกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจริงๆ พวก Direct Marketing จะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบในแง่ที่ว่า การทำงานจะต้องมีขั้นตอนกระบวนการมากขึ้น อย่างทุกวันนี้เวลาใครโทรมาขายของกับผม ผมจะถามว่าคุณเอาข้อมูลผมมาจากไหน สอง          ผมจะบอกว่าผมไม่สนใจสินค้าและบริการนี้ กรุณาถอดรายชื่อผมออกจากบัญชีลูกค้าหรือบัญชีคนที่คุณจะติดต่อ อันนี้คือวิธีการที่ผมตอบไปกับคนที่โทรมาขายของ         “ถ้ากฎหมาย PDPA ใช้บังคับ หลักการประมวลผลต้องมีฐานทางกฎหมาย คนที่โทรมาต้องตอบได้ว่าเขามีสิทธิอะไรถึงเอาข้อมูลเรามาใช้ เราตั้งคำถามได้ทันทีเลยว่าเอาข้อมูลของเรามาจากไหน ทุกวันนี้ธนาคารกับค่ายมือถือเขาใส่ใจเรื่องนี้อยู่แล้ว เพราะรู้แล้วว่าการทำ Direct Marketing มีข้อจำกัด เขาจะทำอย่างระมัดระวัง คราวนี้ก็ยังอาจจะมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจจะยังไม่รับรู้หรือตระหนักมากนัก และอาจจะต้องให้เวลาเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับภาคธุรกิจบางส่วน”         เมื่อกฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคสามารถตั้งคำถามกับทุกองค์กรได้ว่านำข้อมูลส่วนตัวของตนมาใช้ได้อย่างไร เอามาจากไหน และมีสิทธิให้องค์กรนั้นๆ ยุติการประมวลผลและลบข้อมูลของตน         นอกจากความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ PDPA แล้ว การรวมตัวกันของภาคประชาสังคมเป็นชุมชนคอยย้ำเตือน สอดส่อง ทำระบบร้องเรียน และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐก็น่าจะเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาปัญหาได้         สุดท้ายแล้ว ปัญหานี้ยังเชื่อมโยงกับ Technology Literacy หรือการรู้เท่าทันเทคโนโลยีและ Cyber Literacy หรือการรู้เท่าทันด้านไซเบอร์ของผู้ใช้ที่ต้องหมั่นเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยี การตั้งค่าอุปกรณ์ การทำความเข้าใจลักษณะสัญญาก่อนคลิก และอื่นๆ         อีกหนทางหนึ่งที่น่าจะส่งผลดีและป้องกันได้คือชะลอชีวิตให้ช้าลงก่อนจะกดปุ่ม 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 64

ปี 2564 ยังคงเป็นปีแห่งช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการระบาดของโควิด 19 ระลอกแล้วระลอกเล่า ซึ่งไม่เพียงชีวิตต้องปรับเปลี่ยนสู่วิถีใหม่และอยู่กันอย่างหวาดระแวงโรคภัย กรณีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิผู้บริโภคเองก็ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบตามเข้ามาสู่ชีวิตวิถีใหม่ด้วยเช่นกัน หากเราเผลอไผลไม่ทันระวังตัว หรือแม้จะระวังมากแล้วก็ตาม ปัญหาก็อาจเกิดขึ้นได้ กล่าวคือหากเขาจะโกง อยู่เฉยๆ เขาก็โกง ผู้บริโภคจึงต้องเรียนรู้ที่จะใช้สิทธิและไม่ปล่อยให้ “ผู้ร้ายลอยนวล” ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำตัวเองให้กลายเป็นเหยื่อเพราะความละโมบหรือไม่ทันเกมคนโกง         มาดูกันว่า ปี 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนอะไรบ้าง (สถิติ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 15 ธันวาคม 2564) ปัญหา SMS ก่อกวน พุ่งอันดับ 1         อันดับหนึ่งของปี 2564 คือ ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 1,816 ราย คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมา คือ ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 และอันดับที่ 3  คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 400 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 (จากจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด 3,321 ราย)         ร้อยละ 55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากการได้รับข้อความ SMS ก่อกวน ที่มีเนื้อหาหลอกลวงให้ใช้บริการแอปฯ กู้เงิน ผิดกฎหมาย และเว็บพนัน รวมถึงเนื้อหาอนาจาร ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและเสียทรัพย์สินได้ เบื้องต้นทาง กสทช.สั่งค่ายโทรศัพท์มือถือบล็อกข้อความแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า ทำให้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม 2564  ปัญหาหนี้และทวงหนี้ไม่เหมาะสม ประกันและประกันโควิด เข้าป้ายมาเป็นอันดับสอง         ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร/ประกัน ร้องเรียนเข้ามา 740 ราย คิดเป็นร้อยละ 22 นั้น ประกอบไปด้วยหนี้จาก ธุรกิจเช่าซื้อ หนี้นอกระบบ สินเชื่อและบัตรเครดิต เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19         โดย “ประกันโควิด” เป็นปัญหาที่มีผู้เสียหายมากและเป็นประเด็นในสังคมที่กำลังร้อนแรง คือ การจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดแบบ “เจอจ่ายจบ” ล่าช้าเกินกว่า 15 วัน ขัดกับคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) หรือบริษัทประกันบอกยกเลิกสัญญา และบริษัทประกันถูกเพิกถอนใบอนุญาต ต้องขอรับชำระหนี้กับกองทุนประกันภัยวินาศภัยที่เข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนต่อจากบริษัทประกัน         กรณีในเรื่องของประกันภัย มพบ.ยังพบปัญหามิจฉาชีพหลอกให้ผู้บริโภคต่อประกันรถยนต์ทางโทรศัพท์แต่ไม่ได้รับกรมธรรม์ โดยมีผู้เสียหายที่มาร้องเรียน 14 คน กล่าวว่า มีการแอบอ้างเป็นบริษัทประกันโทรมาแจ้ง เรื่องอู่รถยนต์ที่อยู่ในเครือบริษัทประกันไม่ครอบคลุมกับอู่ใกล้บ้าน ทำให้ต้องไปซ่อมที่ไกลๆ ทำให้ต้องยินยอมต่อกรมธรรม์         นอกจากนี้ แอปพลิเคชันกู้เงินผิดกฎหมาย ก็เป็นปัญหาที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากเช่นเดียวกัน โดยร้องเรียนเข้ามามากขึ้นในเดือนตุลาคม (เป็นช่วงเวลาเดียวกับการเกิดปัญหาเอสเอ็มเอสกวนใจ) ลักษณะของแอปฯ กู้เงิน คือ ต้องจ่ายเงินก่อนกู้ หรือ มีดอกเบี้ยสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องชำระคืนภายใน 6-7 วัน ถ้าลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ครบหรือไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้จะโทรหาทุกคนที่มีรายชื่อในโทรศัพท์ อันดับสาม คือ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป         ผู้บริโภคที่ร้องเรียนเข้ามาพบปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด จำนวน 76 เรื่อง รองลงมา คือ มีปัญหาการขอเงินคืน ไม่พอใจบริการ การโฆษณาเกินจริง ซึ่งเป็นปัญหาเกิดจากการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ เมื่อจัดส่งสินค้ามาให้พบว่าสินค้าชำรุด และไม่ตรงปก ดังนั้นผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ควรต้องเป็นผู้แก้ไขจัดการร้านค้าออนไลน์ที่พบปัญหา การแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค         จากประเด็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนข้างต้น มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยแจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค เช่น กรณีผู้บริโภคได้รับข้อความ SMS ก่อกวนนั้น มพบ.ได้เข้าพบกับรองเลขาฯ กสทช. ติดตามความคืบหน้าและยื่นข้อเสนอให้        1. เปิดเผยคำสั่งของ กสทช. ที่กำหนดให้ค่ายมือถือแก้ไขปัญหา SMS         2. ออกคำสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ร้องเรียน 1,000 บาท/ข้อความ        3. ลงโทษตามกฎหมายสูงสุดกับผู้ประกอบการเช่นเดียวกับกรณีบริษัทประกันโควิดจ่ายค่าสินไหมล่าช้า มพบ.พาผู้เสียหายเข้าพบ คปภ. เร่งให้บริษัทประกันดำเนินการ        1. เร่งรัดบริษัทจ่ายค่าสินไหมให้กับผู้ซื้อประกันทุกรายทันที        2. ตรวจสอบและลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงเวลาจ่ายค่าสินไหม        3. พิจารณาออกคำสั่งให้บริษัทประกันรับเอกสารเคลมค่าสินไหมผ่านช่องทางออนไลน์ประเด็นปัญหาแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมาย มพบ. เสนอให้        1. ธปท.ควรจะให้ผู้ประกอบธุรกิจเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียนอนุญาต โดยทำเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์        2. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กวาดล้างหรือระงับไม่ให้เปิดแอปฯ กู้เงินผิดกฎหมายทั้งหมด         ต่อกรณีปัญหาการซื้อสินค้าในช่องทางออนไลน์ มพบ.ได้ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 21 ข้อ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอล และติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานให้ดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ         ทั้งนี้ปัญหาผู้บริโภคที่พบทั้งหมด ภาครัฐจะต้องมีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและรวดเร็ว ทุกฝ่ายจะต้องแจ้งเตือนผู้บริโภคให้ทราบถึงภัยที่เกิดขึ้น รวมทั้งจะต้องมีแหล่งเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตรวจเช็คข้อมูลที่เชื่อถือได้โดยเร็วที่สุดการดำเนินคดีเพื่อผู้บริโภค                     ในปี 2563 ต่อเนื่องมาถึง 2564 มีสถานการณ์หรือปรากฎการณ์ที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิผู้บริโภคหลายกรณี ซึ่ง มพบ. มีการฟ้องคดีทั้งลักษณะคดีปกครอง ได้แก่ การควบรวมธุรกิจ ระหว่าง บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งก่อให้เกิดอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ของส่วนแบ่งตลาด กรณีดังกล่าวนี้จะทำให้ผู้ขอรวมธุรกิจใช้อำนาจที่เหนือกว่าในการต่อรองเชิงผลประโยชน์ด้านราคา ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม      ดังนั้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 เพื่อเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ที่อนุญาตให้มีการควบรวมธุรกิจ (คดีอยู่ระหว่างดำเนินการ)         คดีทั่วไป ได้แก่ การฟ้องคดีฉ้อโกงขายที่นอนยางพารา การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากอุบัติเหตุรถชน การฟ้องคดีผู้บริโภคกรณีอสังหาริมทรัพย์ และการช่วยเหลือด้านคดีแก่กลุ่มสามล้อผู้เสียหายจากการถูกสหกรณ์ฉ้อโกง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 244 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน

ขนส่งทางบกขยับใช้เทคโนโลยีแก้โกงแท็กซี่         15 มิถุนายน นายจักรกฤธ  ตั้งใจตรง  ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก  เปิดเผยผ่านแอปพลิเคชั่น Clubhouse ของสื่อมวลชน The Transport Talk ในหัวข้อเสวนา “แท็กซี่บุคคลผ่านแอปฯ vs แท็กซี่เดิม ความคาดหวังของผู้บริโภค”  ว่า ขนส่งฯ มีนโยบายแก้ไขปัญหาและยกระดับบริการของแท็กซี่ โดยหาแนวทางในการนำเทคโนโลยีมาดูแลให้ผู้ขับแท๊กซี่ปฏิบัติตามกฏหมาย ป้องกันการโกงมิเตอร์ ปฏิเสธผู้โดยสาร หรือการขับรถเร็ว โดยจะเริ่มมีการนำจีพีเอสมาติดแท๊กซี่เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชั่น TAXI OK  พิจารณาปรับขึ้นค่าโดยสารให้สอดรับกับต้นทุนค่าจีพีเอส กสทช. เตือนระวัง SMS หลอกลวง ป้องสูญเงิน-ล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า มีประชาชนได้รับข้อความสั้นหรือ  SMS  แอบอ้างว่าส่งมาจากธนาคาร หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งผู้ส่งตัวจริงคือมิจฉาชีพที่แอบอ้างใช้วิธีการส่งลิงก์ประกอบข้อความ ในลักษณะคล้ายการแจ้งเตือนแบบระบบ อี-แบงกิ้ง หรือ SMS แจ้งสถานะทางการเงิน ทั้งนี้ประชาชนที่ได้รับข้อความอาจไม่เคยทำธุรกรรมใดกับธนาคารนั้นๆ มาก่อนหรือติดต่อกับหน่วยงานมาก่อน เป็นการหลอกให้ประชาชนกดลิงก์แนบเพื่อเข้าไปกรอกข้อมูลส่วนบุคคล หรือทำให้สูญเสียเงินหรือถูกนำข้อมูลไปใช้ในคดีทางอาชญากรรมจนเกิดการความเสียหาย         นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน กล่าวว่า กสทช. ขอให้ประชาชนระมัดระวัง เมื่อได้รับ SMS ที่มีลิงก์ลักษณะดังกล่าวขอให้ตั้งสติหรืออย่าเพิ่งเชื่อข้อความที่ได้รับ แต่ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ SMS  สังเกตลิงก์ก่อนกด หากเป็นมิจฉาชีพ Url จะมีลักษณะแปลก ไม่ตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อ้างใน SMS หากสงสัยอย่าไปกดลิงก์ ให้โทรสอบถาม Call Center ของหน่วยงานแทน ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. สั่งการให้ผู้ประกอบการโทรมานาคมทุกรายตรวจสอบดูแลการส่ง SMS ที่ผ่านระบบของผู้ใช้บริการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนหรือเกิดกรณีหลอกลวง ขายประกันจำไว้ ถ้าถูกปฏิเสธภายใน 6 เดือนห้ามตื้อขายอีก        นายจอม จีระแพทย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายตรวจสอบคนกลางประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบการธุรกิจ เปิดเผยว่า ได้ยกร่างประกาศใหม่ สำหรับแนวทางปฏิบัติหลักเกณฑ์วิธีการออกและเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัย และดำเนินการของตัวแทน นายหน้า และธนาคาร พ.ศ.2563  เพิ่มเติมจากประกาศเสนอขายฉบับใหญ่เดิม โดยประกาศเดิมอาจมีถ้อยคำที่มีความยืดหยุ่นให้ธุรกิจไปปฏิบัติแต่บางเรื่องภาคธุรกิจยังมีความเห็นไม่ตรงกัน เพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความเป็นธรรม คปภ. จึงยกร่างแนวปฏิบัติใหม่ เปิดรับความคิดเห็นภาคธุรกิจ ซึ่งปิดรับฟังความคิดเห็นภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้         นายจอม กล่าวว่า  “ร่างใหม่จะเป็นไกด์ไลน์ข้อแนะนำในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ถ้าเกิดกรณีมีความผิดปกติ หรือมีลักษณะทุจริต เราก็อ้างอิงแนวปฏิบัติจากตรงนี้ได้ ซึ่งจะเป็นเวอร์ชั่นที่ คปภ.พยายามกำหนดเกณฑ์ปฏิบัติแก้ไขส่วนที่ยังคลุมเครืออยู่เพื่อลดข้อโต้แย้ง”สำหรับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเสนอขายประกันภัยใหม่1.ปลดล็อกขายยูนิตลิงก์ผ่านช่องทาง2.เปิดกว้างใช้วิธีเห็นชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันลูกค้าประสงค์ทำประกัน3.ห้ามเสนอขายประกันนอกเหนือวันและเวลา (วันจันทร์-วันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 08.30-19.00 น.) เว้นแต่มีนัดหมายล่วงหน้าและลูกค้ายินยอม4.หากลูกค้าไม่ประสงค์ทำประกันภัยจะต้องล่วงพ้นไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนนับจากวันปฏิเสธถึงเสนอขายใหม่ได้ห้ามใช้ถ้อยคำดูหมิ่น ข่มขู่ หรือไม่สุภาพ5.ใช้คำว่า ชำระเบี้ยประกันทุกครั้ง ห้ามใช้คำว่า ฝาก หรือ ฝากเงิน หากมีการระบุว่าเป็นการออม ระบุชัดว่าเป็นการออมในรูปแบบการประกันชีวิต      จับฉลากออนไลน์ ขายหวยไม่มีใบรางวัลที่ 1 ให้ครูชัยภูมิ         จากกรณีครูชาวชัยภูมิ ซื้อลอตเตอรี่จากแพลตฟอร์มออนไลน์ถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายไม่ได้ให้ใบสลากและขอจ่ายเงินรางวัลเพียง 1 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะแบ่งจ่ายเป็นเช็คให้งวด 500,000 บาทจนครบ โดยอ้างว่าสลากที่ถูกรางวัลถูกพนักงานในบริษัทขโมยงัดตู้เซฟนั้น         พ.ต.อ. บุญส่ง จันทรีศรี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการซื้อขายหมายเลขโดยไม่มีสลากมอบให้กับผู้ซื้อ แต่อ้างอิงผลสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ.2478 จึงมอบอำนาจให้นิติกรไปร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้กระทำความผิดทุกฐานความผิดจากพฤติกรรมดังกล่าว ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ทำการประชาสัมพันธ์เตือนผู้ซื้อสลากกินแบ่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ หากไม่ได้รับสลากมาครอบครองอาจไม่สามารถนำสลากมารับเงินรางวัลได้ และเตือนตัวแทนจำหน่าย การนำสลากไปขายต่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และเว็บไซต์เป็นการกระทำผิดเงื่อนไขในสัญญา หลักเกณฑ์การรับสลากไปจำหน่าย   มพบ.เสนอรัฐจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนป้องกันเหตุสลดซ้ำซาก         จากกรณีอุบัติเหตุรถสองแถวหกล้อรับส่งนักเรียนโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ เสียหลักพลิกคว่ำรับเปิดเทอมบริเวณสามแยกด้านหน้าทางเข้าโรงเรียน ตำบลดงบัง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ทำให้มีเด็กนักเรียนบาดเจ็บกว่า 37 คน อาการสาหัสอีก 4 คนนั้น นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนในปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระบุว่า เพียง 6 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม-มิถุนายน) เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 8 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บมากถึง 134 คน และเสียชีวิต 2 คน เกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย         “เฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งนอกจากจะมีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้ว ยังพบว่ารถคันดังกล่าววิ่งรับส่งนักเรียนโดยไม่ได้ขออนุญาตเป็นรถรับส่งนักเรียน รวมถึงสภาพรถยังไม่มั่นคงแข็งแรง กล่าวคือ โครงสร้างรถที่ส่วนควบกระเด็นออกจากตัวรถไม่สามารถป้องกันแรงกระแทกให้กับนักเรียนที่โดยสารมาได้ ส่วนนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการปล่อยให้นักเรียนนั่งบนหลังคารถเป็นทั้งสิ่งที่ผิดกฎหมายและเป็นอันตรายร้ายแรงสูงสุดที่ต้องห้ามโดยเด็ดขาด”         จากปัญหาที่เกิดขึ้นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอเรียกร้องกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนต้องแสดงความรับผิดชอบต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนขั้นสูงสุด ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีการสูญเสียกันมามากพอแล้ว         ข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษา มีดังนี้        1. ต้องกำหนดยุทธศาสตร์และแผนความปลอดภัยเพื่อการเดินทางของนักเรียน เพื่อเป้าหมายความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน        2. กำหนดบทบาทให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย โดยมีภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ และแนวทางการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคเรียนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการทบทวนมาตรการให้เหมาะสมต่อไป        3. สนับสนุนนโยบายให้รัฐเป็นผู้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางของนักเรียน โดยถือว่าหนึ่งในสวัสดิการด้านการศึกษาที่รัฐต้องจัดให้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้มีโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาที่เป็นบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม         สำหรับข้อเสนอต่อหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการบูรณาการคือ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงข้อกฎหมายหรือระเบียบปฏิบัติ และข้อมูลของสองหน่วยงานให้มีความสอดคล้องกันสามารถใช้ปฏิบัติได้จริง ต้องกำหนดการเดินทางที่ปลอดภัยของนักเรียนให้เป็นแผนงานหลักของหน่วยงานระดับจังหวัด เช่น สำนักงานขนส่งจังหวัดหรือโรงเรียน เป็นต้น และให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนมีมาตรการให้ทุกจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน โดยให้กำหนดโครงสร้างการเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อีกทั้งต้องกำหนดตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยการเดินทางของนักเรียน หากจังหวัดใดเกิดเหตุซ้ำซากต้องมีมาตรการลงโทษโดยทันที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 กระแสในประเทศ

ระวัง เมนูเจยอดฮิต โซเดียมสูงผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มทำการสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนน เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็มตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผักกระเพรา แกงส้ม ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมสูงเกินค่าที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน    นอกจากนี้อาหารเจจำพวก ผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่ายเป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี่ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แพทย์เตือน ควรทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนนำไปใช้นพ.สมิต ประสันนาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ช่วงย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประชาชนส่วนใหญ่นิยมซื้อเสื้อและผ้าห่มกันหนาวมือสองสภาพ เนื่องจากราคาถูกและประหยัดกว่าเสื้อผ้าใหม่ตามห้างร้านทั่วไป ซึ่งเสื้อผ้ามือสองที่กลุ่มพ่อค้า แม่ค้า นำมาจำหน่ายนั้นส่วนใหญ่มักรับซื้อมาจากชายแดน โดยไม่คำนึงถึงสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคต่างๆ ที่อาจติดมากับผ้า เช่น ปัญหาโรคผิวหนัง โรคติดเชื้อ ความชื้น เชื้อราและโรคอันตรายต่างๆ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรนำเสื้อผ้ามือสองไปทำความสะอาด โดยต้มในน้ำเดือด แล้วซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้า แล้วนำไปตากแดดจัดให้แห้งสนิทก่อนนำมาสวมใส่กสทช. คาดปี 62 เรียกคืนคลื่น-จัดสรรใหม่ได้ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จะให้อำนาจ กสทช. พิจารณา “เหตุผลแห่งความจำเป็น” ในการใช้งานคลื่นและ “เรียกคืนคลื่นโดยกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทน” แต่ 7 ปีผ่านไปก็แทบจะเรียกคืนคลื่นไม่ได้ เพราะทุกมติที่มีคำสั่งจะยืดเยื้อถึงชั้นศาล อาทิ มติเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จากกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งการที่ กสทช.ไม่สามารถกำหนดได้ชัดเจนว่าคลื่นไหนจะถูกนำออกมาประมูลเมื่อไหร่ จึงเป็นคำถามสำคัญที่สังคมรอคำตอบ จนกระทั่ง มีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 27 (12/1) ที่ให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า จากผู้ได้รับใบอนุญาตเพื่อนำมาจัดสรรใหม่ได้ โดย กสทช. ต้องทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายตอบแทนให้กับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณีด้วย ทำให้ กสทช. เร่งเดินหน้าในการปฏิรูปคลื่นได้อย่างเต็มที่ ล่าสุด นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2561 สำนักงาน กสทช.ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่เพียงพอสำหรับการเป็นพื้นฐานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทาง โดย กสทช.จะตั้งคณะทำงาน ซึ่งมีผู้แทนจากหลายหน่วยงานเพื่อพิจารณาว่าคลื่นใดไม่ได้ใช้ประโยชน์ คลื่นใดใช้ไม่คุ้มค่า หรือจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากกว่า และมีมหาวิทยาลัยของรัฐเข้ามาศึกษาว่าควรเป็นคลื่นใด และเมื่อการดำเนินออกประกาศเป็นไปตามขั้นตอน อย่างไรก็ตาม คาดว่าต้นปี 2562 จะเริ่มเรียกคืนคลื่นได้ภาคประชาชน ค้านร่าง พ.ร.บ.สุขภาพปฐมภูมิ ชี้ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง1 ต.ค. 61 นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขฯ พร้อมตัวแทนภาคประชาชนรวม 8 ราย เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นจะต้องมีกฎหมายเฉพาะมารองรับเรื่องดังกล่าว เพราะมี พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิของคนไทยทุกคนอยู่แล้ว โดยความซ้ำซ้อนของกฎหมาย 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ 2) ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ 3) ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิในกรณีที่ผิดมาตรฐาน โดยอาจต้องถูกลงโทษจากกฎหมายทั้งสองฉบับ และ4) ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ รวมถึงบทบาทหน้าที่และการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการศาลสั่ง บขส. - ทายาทคนขับคดี ‘รถตู้จันทบุรี 25 ศพ’ จ่ายค่าสินไหมกว่า 20 ล้านบาทศาลจังหวัดจันทบุรี พิพากษาคดีรถตู้โดยสารจันทบุรี - กรุงเทพฯ ทะเบียน 15-1352 กทม. ที่พุ่งข้ามเลนไปชนรถกระบะที่แล่นสวนทางมา จนเกิดเพลิงลุกไหม้เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 25 ราย เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 60 ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด และทายาทของคนขับรถตู้ จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ญาติของผู้เสียชีวิต รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,780,000 บาท รวมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันทำละเมิด    นายโสภณ หนูรัตน์ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผู้ดูแลคดีให้ความเห็นว่า คำตัดสินใจวันนี้ถือเป็นบรรทัดฐานในเรื่องคำพิพากษา เรื่องเกี่ยวกับรถตู้โดยสารสาธารณะ ซึ่งเป็นบทบาทของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออกในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เสียหายจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับรถโดยสาร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >