ฉบับที่ 125 กสิกรไทยหาดใหญ่ ชุ่ย ยอมให้เด็กเก้าขวบถอนเงินเอง

คุณวราภรณ์ เข้ามาร้องเรียนที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ตนได้ไปเปิดบัญชีเงินฝากประจำกับธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่ให้กับลูกชาย 2 คนคนหนึ่งอายุ 9 ขวบ อีกคนอายุ 6 ขวบ เปิดเป็นบัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ ระยะเวลาฝาก 24 เดือน เดือนละ 5,000 บาท เป็นยอดรวมเงินฝากทั้งสิ้น 120,000 บาท คุณวราภรณ์ผู้เป็นแม่เปิดบัญชีให้ลูกคนละบัญชี โดยใช้ชื่อของลูกชายทั้งสองคนเป็นชื่อเจ้าของบัญชี และมีเงื่อนไขการถอนเงินจากบัญชีว่าให้ลงลายมือชื่อของลูกที่เป็นเจ้าของบัญชีนั้นเพียงคนเดียว“ตลอดมาดิฉันได้มอบหมายให้นางกาญจนา เส้งสุข พี่เลี้ยงของเด็กเป็นผู้ดูแลนำเงินเข้าฝากให้ทุกเดือน จนเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ดิฉันพบว่านางกาญจนา ได้ยักยอกเงินส่วนหนึ่งของดิฉันแล้วหนีหายไปไม่สามารถติดต่อได้อีกเลย ดิฉันได้แจ้งความดำเนินคดีแล้วเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2554”คุณวราภรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2554 ลูกชายคนโตอายุ 9 ขวบได้พูดเปรยขึ้นมาว่า นางกาญจนาเคยให้ตนกับน้องไปเซ็นเอกสารบางอย่างที่ธนาคาร“จึงเอะใจขึ้นมาค่ะ พอตรวจสอบไปที่ธนาคารปรากฏว่าได้มีการถอนเงินปิดบัญชีเงินฝากของเด็กทั้งสองคนไปเรียบร้อยแล้วค่ะ ตั้งแต่วันที่ 9 และ 10 กุมภาพันธ์ 2554”“ดิฉันได้สอบถามกับพนักงานธนาคารและผู้จัดการ(ธนาคารกสิกรไทย สาขาคาร์ฟูร์หาดใหญ่) ก็ได้รับคำตอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบธนาคารแล้ว เพราะเด็กเจ้าของบัญชีเป็นคนมาเซ็นชื่อถอนเงินเอง โดยหลักฐานที่พี่เลี้ยง(นางกาญจนา)นำมาด้วยมีเพียงสำเนาบัตรประชาชนของแม่และสำเนาทะเบียนบ้านของเด็ก ผู้จัดการสาขาให้คำแนะนำแค่ว่าให้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และหากต้องการให้ธนาคารรับผิดชอบก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนของธนาคาร” คุณวราภรณ์เล่าด้วยอารมณ์เซ็งสุดขีดที่เห็นธนาคารปัดความรับผิดชอบออกมาแบบนั้น “ดิฉันขอร้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรมแทนเด็กทั้งสองเพราะได้รับความเสียหายที่เกิดจากความประมาทของพนักงานธนาคารที่ให้เด็กยังไม่บรรลุนิติภาวะทำธุรกรรมการเงินได้โดยไม่มีผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายไปให้ความยินยอมด้วย และขอให้ธนาคารแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพนักงานด้วย” แนวทางแก้ไขปัญหาเจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทราบว่า มีการเบิกถอนเงินของลูกอายุ 9 ขวบเป็นเงิน 50,123.57 บาท และลูกคนเล็กของคุณวราภรณ์เป็นเงิน 50,124.57 บาท จากนั้นจึงได้นำเรื่องปรึกษาในข้อกฎหมายกับศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และท้ายสุดได้มีข้อแนะนำให้คุณวราภรณ์ทำจดหมายแสดงเจตนาบอกล้างนิติกรรมการฝากถอนเงิน เนื่องจากการปิดบัญชีเงินฝากและเบิกถอนเงินของเด็กทั้งสองที่ธนาคารยินยอมให้เด็กผู้เยาว์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกระทำไปนั้น เป็นการกระทำที่ปราศจากความยินยอมของบิดามารดา ทำให้บิดามารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมและบุตรผู้เยาว์ทั้งสองได้รับความเสียหาย และขอให้ธนาคารคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับจดหมายฉบับนี้ ซึ่งหากพ้นกำหนดคุณวราภรณ์และสามีซึ่งเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถดำเนินคดีกับธนาคารได้ตามกฎหมายต่อมาในเดือนเมษายน มูลนิธิฯ ได้ทราบความคืบหน้าจากคุณวราภรณ์ว่า ได้รับเงินคืนเต็มตามจำนวนทั้งหมด 100,274.72 บาท โดยธนาคารขอให้ผู้ร้องเซ็นหนังสือสัญญาว่าจะไม่ติดใจเอาความใดๆกับธนาคารฯ คุณวราภรณ์เห็นว่าตนได้รับเงินคืนครบตามจำนวนที่หายไป และธนาคารฯ รับปากว่าจะตามหาพนักงานที่กระทำผิดมาลงโทษ คุณวราภรณ์จึงขอยุติเรื่องร้องเรียนไว้แต่เพียงเท่านี้เรื่องนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญกับผู้บริโภคทุกคนว่า อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจคน และต้องเพิ่มด้วยว่า “อย่าวางใจธนาคาร” ด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >