ฉบับที่ 273 แพ้กัญชาในอาหารเสี่ยงล้างไต ช็อค เสียชีวิต

        หลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อคจากยาเสพติดเป็นสมุนไพรควบคุมทำให้หลายคนหันมาใช้และซื้อ-ขายกัญชากันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการใส่กัญชาลงในอาหาร จึงทำให้พบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้กัญชาพบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รุนแรงถึงไตวาย ช็อคหรืออาจเสียชีวิตจากฤทธิ์ของสารในกัญชา           ประกาศกรมอนามัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในสถานประกอบกิจการอาหาร กำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร มีการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบ การจัดเก็บ จัดให้มีการสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ และความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค โดยการแสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาตามประเภทการประกอบอาหาร  เพื่อให้มีสาร THC ไม่เกินกว่าร้อยละ 0.2 เช่น อาหารทอด แนะนำให้ใช้ ใบสด 1-2 ใบต่อเมนู อาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำใช้ใบสด 1 ใบต่อเมนู แสดงคำเตือนให้แก่ผู้บริโภคที่มีความเสี่ยง ได้แก่ เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี  สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้สูงอายุ , ผู้ที่แพ้กัญชา มีคำเตือนผลข้างเคียง  ฯลฯ นอกจากนี้ร้านอาหารต้องขอรับใบอนุญาตสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงต้องใช้กัญชาจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่ายที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเท่านั้น  แต่พบว่าปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานเฉพาะที่ตรวจสอบสาร THC ในอาหารหรือเครื่องดื่ม ผู้บริโภคจึงไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าร้านอาหารใช้ปริมาณใบกัญชาตามที่กำหนดหรือไม่ และกรมอนามัยไม่มีอำนาจลงโทษผู้ประกอบการหากเกิดข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ         ด้านสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ผลิตภัณฑ์อาหารและยาต้องมีเลขอนุญาต ผู้ที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชาเป็นส่วนผสมในอาหารของอุตสาหกรรมต้องขออนุญาตจดแจ้งเลขทะเบียนกับ อย. ฉลากต้องแจ้งว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของกัญชา หากผลิตภัณฑ์ไม่มีการจดแจ้งจะมีความผิดเรื่องการจำหน่ายอาหารที่ไม่ขึ้นทะเบียน อย. รวมถึงถ้าผู้บริโภคได้รับอันตรายจากการบริโภคอาหาร เข้าข่ายเป็นอาหารที่ไม่มีความปลอดภัย มีโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 แต่ปัจจุบันมาตรการควบคุมการผลิตหรือการจำหน่ายอาหารในระดับพื้นที่หรือทางออนไลน์ยังไม่ทั่วถึง         ผลการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักของผู้ประกอบการร้านอาหารและวิสาหกิจชุมชนต่อมาตรการทางกฎหมายและกรรมวิธีกรผลิตอหารทีมีกัญชาเป็นส่วนผสม ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 320 คนในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการ 12.6% เข้าใจว่าสามารถใช้ทุกส่วนของกัญชา ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม ขนมได้โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ขณะที่ 23.9% คิดว่าสามารถนำกัญชาจากแหล่งใดก็ได้มาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย และผู้ประกอบการเกิน 50% ไม่ทราบว่าการผสมกัญชาลงในอาหารต้องระมัดระวังเรื่องสารปนเปื้อน เช่นสารโลหะหนัก สารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือเชื้อจุลินทรีย์ที่มีโทษ         สรุปภาพรวมเรื่องกัญชาในอาหาร ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวิธีการใช้กัญชาในอาหารเพียงพอ ยังไม่มีกฎหมายควบคุมกำกับกัญชาโดยเฉพาะ ประกาศ ข้อกำหนด หรือมาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่ใช้ยังมีช่องโหว่หรือข้อจำกัดในการตรวจสอบเฝ้าระวังควบคุมให้เป็นไปตามแนวทางที่กำหนด ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องอาศัยความรู้และใช้สิทธิผู้บริโภคในระวังคุ้มครองตนเองควบคู่ไปกับมาตรการของหน่วยงานรัฐข้างต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ปุ๊นหนักหัวใจวายได้นะ

        ปุ๊นนั้นเป็นคำที่นักการเมืองคนหนึ่งกล่าวในการหาเสียงสมัยเลือกตั้งปี 2562 ซึ่งผู้เขียนตีความทั้งจากฟังการหาเสียงและเคยอ่านพบในหลายบทความเกี่ยวกับกัญชาว่า “ปุ๊น” น่าจะหมายถึงการสูบกัญชา (กริยา) ก็ได้หรือหมายถึงตัวกัญชา (นาม) ก็ได้ ในประเด็นหลังนี้เว็บ https://siamrath.co.th เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 มีบทความหนึ่งให้ข้อมูลประมาณว่า วัยรุ่นโบราณมักเรียกกัญชาว่า "เนื้อ" หรือ "ปุ๊น" หรือ "ใบหญ้าร่าเริง" และวัยรุ่นสมัยต่อมาบางกลุ่มเรียกกัญชาว่า "ชาเขียว" หรือ "หนม" เหตุที่เรียกกัญชาเพราะว่า"เนื้อ" เพราะกลิ่นกัญชาจากการสูบที่ลอยมาหอมคล้ายเนื้อวัวย่าง (ประเด็นนี้น่าจะขึ้นกับความชอบส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า) บทความนั้นกล่าวต่อประมาณว่า สายเขียวมักไม่สูบกัญชาเพียว ๆ เลยเพราะแรงเกินไป ต้องเอากัญชามายำก่อนกับเครื่องยำหลากหลาย เช่น ยาเส้นในบุหรี่ โดยใช้นิ้วคลึงผสมในสัดส่วนที่พึงใจแล้วบีบอัดให้แน่น ก่อนใช้มีดซอยให้ละเอียด อาจพลิกแพลงเอาเหล้าพรมหรือใส่สารเสพติดอื่นๆ เข้าไป แล้วพันลำลงบ้องไม้ไผ่เพื่อสูบ ซึ่งหลังเสพในระยะแรกจะล่องลอย ร่าเริง หัวเราะง่าย เนื่องจากฤทธิ์ของ Tetrahydrocannabinol (THC) หลังจากผ่านไป 2 ชั่วโมงแล้ว กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาทจนทำให้ลิ้นเริ่มพันกัน พูดไม่รู้เรื่อง ง่วงซึม         เป็นที่ตระหนักกันดีว่าไม่มีอะไรในโลกที่ดีเลิศเพียงอย่างเดียว เช่นเดียวกับเหรียญย่อมมีสองด้าน กัญชาก็เช่นกัน ดังนั้นเมื่อมีการพร่ำพรรณาถึงความดีของกัญชาในทางการแพทย์บางประการ ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทางสุขภาพย่อมมีออกมาบ้างเช่น มีงานวิจัยใหม่ที่แสดงถึงปัญหาของยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชาต่อโอกาสเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว โดยในการศึกษาเชิงสังเกตตีพิมพ์เป็นบทความเรื่อง Cannabis, cocaine, methamphetamine, and opiates increase the risk of incident atrial fibrillation (กัญชา โคเคน เมทแอมเฟตามีน และฝิ่นเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว) ในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งได้ตรวจสอบผลกระทบระยะยาวของยาเสพติด เช่น เมทแอมเฟตามีน (หรือยาบ้า) โคเคน ฝิ่น และกัญชา แล้วพบความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นในความเสี่ยงสำหรับภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial fibrillation)  ผลข้างเคียงของยาดังกล่าวนี้อยู่ในลักษณะที่เกิดทันทีหรือไม่เกิดทันที อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ได้ให้หลักฐานที่แสดงว่า การใช้สารเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงระยะยาวในการเกิดโรคเรื้อรังซึ่งส่งผลเสียต่อผู้ป่วยในแบบที่มักจะเป็นไปตลอดชีวิต         ข้อมูลทางการแพทย์ในบทความต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ตอธิบายประมาณว่า อาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วนั้นคือ ภาวะที่มีการกระตุ้นการทำงานของหัวใจห้องบนแบบผิดปรกติซึ่งมีการกระตุ้นกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ส่งผลให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนไม่เป็นตามระบบที่ควรเป็น ตามมาด้วยการที่หัวใจเต้นเร็วแบบไม่สม่ำเสมอ มีแรงบีบต่ำกว่าปรกติ ผลแทรกซ้อนของภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว คือ หัวใจสูบฉีดเลือดออกได้ลดลง หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมมักนำไปสู่ภาวะหัวใจวายในที่สุด นอกจากนี้การที่เลือดหมุนวนตกค้างในหัวใจห้องบนอาจก่อให้เกิดลิ่มเลือดแล้วหลุดไปอุดตันหลอดเลือดสมองได้สูงกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมักเกิดถึงร้อยละ 5-15 ของกลุ่มคนอายุ 80-90 ปี แต่การศึกษาใหม่ที่นำมาเล่าในบทความนี้พบว่า คนที่ใช้ยาเสพติดซึ่งรวมถึงกัญชามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดอาการดังกล่าว         งานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์เป็นบทความในวารสาร European Heart Journal ของปี 2022 ซึ่งนักวิจัยใช้แบบสอบถามหาข้อมูลจากชาวแคลิฟอร์เนียอายุเกิน 18 ปี จำนวน 23,561,884 คน ที่มีความจำเป็นต้องเข้าแผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาล หรือใช้บริการการผ่าตัดผู้ป่วยนอก หรือเข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2005 ถึงธันวาคม 2015 ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ผู้ให้ข้อมูล 98,271 คนเสพเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 48,701 รายเสพโคเคน, 10,032 รายเสพฝิ่น และ 132,834 รายเสพกัญชา ประเด็นที่น่าสนใจคือ ตลอดระยะเวลาการศึกษา 10 ปี ผู้ให้ข้อมูลที่เคยใช้ยาเสพติด 998,747 คน (4.2%) ซึ่งไม่เคยมีอาการภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วมาก่อน ได้เริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจากการติดตามนาน 10 ปี         สำหรับผลสรุปของการศึกษานั้นนักวิจัยพบว่า ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วเพิ่มขึ้น 86% ถ้ามีมีการใช้เมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า), 74% ถ้ามีการใช้ฝิ่น, 61% ถ้ามีการใช้โคเคน และ 35% ถ้ามีการใช้กัญชาซึ่งผู้ทำวิจัยได้กล่าวว่า นี่เป็นการศึกษาครั้งแรกที่สังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการใช้กัญชา (นอกเหนือไปจากยาเสพติดอื่น) และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเกิดภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว         ในบทความดังกล่าวนั้นผู้ทำวิจัยได้พยายามอธิบายถึงกลไกที่สารเสพติดทั้งหลายมีอิทธิพลต่อภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วว่า เกิดเนื่องจากความผิดปกติของระบบประสาทอัตโนมัติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระดับหนึ่งต่อการทำงานของหัวใจในลักษณะการปรับตัวทางไฟฟ้า (electrical remodeling) เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมของช่องทางเข้าออกของไอออนเฉพาะที่เซลล์ประสาท ดังที่เคยมีการศึกษาเรื่อง Cannabinoid interactions with ion channels and receptors (ปฏิสัมพันธ์ของแคนนาบินอยด์ต่อช่องไอออนและตัวรับ) ในวารสาร Channels ของปี 2019 ซึ่งตั้งสมมุติฐานว่า สารสำคัญดังกล่าวในกัญชาน่าจะมีผลต่อการปรับตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane fluidity) ซึ่งส่งผลถึงการทำหน้าที่ของเซลล์ประสาท         นอกจากนี้ยังมีการศึกษาซึ่งใช้สัตว์ทดลองในบทความเรื่อง Cannabidiol Impairs Brain Mitochondrial Metabolism and Neuronal Integrity (แคนนาบิไดออลบั่นทอนเมตาบอลิซึมของไมโทคอนเดรียในสมองและความสมบูรณ์ของเส้นประสาท) ในวารสาร Cannabis and Cannabinoid Research ของปี 2023 ให้ข้อมูลว่า สาร CBD (ซึ่งมีในกัญชาเพื่อก่อให้เกิดความสมดุลในการออกฤทธิ์ของสาร THC) ในระดับความเข้มข้นต่ำเป็นไมโครโมลาร์นั้นมีผลต่อการลดระดับการสร้างพลังงาน (mitochondrial respiration) ของไมโทคอนเดรียโดยปรับเปลี่ยนการซึมผ่านผนังของไมโทคอนเดรียของสารชีวเคมี ซึ่งรวมถึงการดูดซึมแคลเซียมและยับยั้งช่องทางเข้าออกของอนุมูลคลอไรด์ของไมโตคอนเดรีย จนน่าจะทำให้ปริมาณแคลเซียมในไมโทคอนเดรียลดลง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นกับเซลล์ cardiac myocytes ซึ่งเป็นเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ผลที่ตามมาคือ การทำงานของเซลล์นั้นคงผิดปรกติหรือหมดประสิทธิภาพ         กล่าวกันว่าผลการศึกษาที่รายงานนั้นเป็นแนวทางสำคัญต่อการวิจัยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วในอนาคต โดยอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้เพียงแต่มากหรือน้อยเพียงใดเท่านั้น ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงการใช้สารเสพติดเหล่านี้ซ้ำๆ และเรื้อรังทำให้ผู้ทำวิจัยจำเป็นต้องทำการแยกแยะว่า รูปแบบการบริโภคกัญชาที่ต่างกันนั้นมีผลต่อภาวะทางสุขภาพที่เป็นปัญหาอย่างไรหรือไม่ อีกทั้งการศึกษาทางระบาดวิทยาเชิงสังเกตแบบย้อนกลับ (เกิดผลแล้วตามหาเหตุ) เช่นนี้ คนที่มีอคติอยู่แล้วว่ากัญชาเป็นของดีอาจไม่ยอมรับ ทำให้จำเป็นต้องมีการศึกษาทางระบาดวิทยาที่วางแผนเพื่อดูผลที่เกิดในอนาคตหลังจากการควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ไว้ไม่ให้แสดงปัญหา         ข้อจำกัดสำหรับการค้นพบในการศึกษานี้คือ เนื่องจากเป็นการศึกษาในลักษณะที่ต้องการตรวจสอบการใช้สารต่าง ๆ ที่อาศัยความร่วมมือในการรายงานด้วยตนเองของผู้ให้ข้อมูล ซึ่งบางกรณีอาจไม่น่าเชื่อถือเท่าที่ควร เนื่องจากเมื่อใดที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมายผู้ให้ข้อมูลอาจกังวลผลทางกฏหมายที่อาจตามมาหลังการให้ข้อมูล ดังนั้นการศึกษาที่ได้กล่าวถึงในบทความนี้ผู้วิจัยจึงใช้การเข้ารหัสด้านการดูแลสุขภาพจากผู้ให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ จากการตรวจวัดทางคลินิกเป็นหลักฐานโดยไม่เชื่อมโยงไปถึงผู้ให้ข้อมูล         ในสถานะการที่ผู้คนซึ่งชื่นชอบการสูบกัญชาพบว่า มีการเพิ่มแง่มุมทางกฎหมายจนเสมือนเป็นการเปิดไฟเขียวในสิ่งที่เขาทั้งหลายชอบ การคำนึงถึงผลด้านสุขภาพที่เคยรับรู้กันมาในอดีตอาจถูกบิดเบือนให้ลืมไป ซึ่งปรากฏการณ์นี้น่าจะกลายเป็นประเด็นหลักของปัญหาด้านสาธารณสุขในอนาคตอันใกล้ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาสังคมที่รุนแรง อีกทั้งสิ่งที่ยังเป็นปัญหาใหญ่ในงานวิจัยเกี่ยวกับสารเสพติดคือ ไม่สามารถระบุประเภทหรือปริมาณเมื่อมีการใช้สารเสพติดหลายชนิดผสมกันจนทำให้ยากที่จะระบุถึงปริมาณที่มีการใช้ต่อปัญหาทางสุขภาพที่เกิดขึ้นได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 กิน..กัญ...จน...มึน

        “แม้กัญชาจะปลดล็อคเสรี แต่ถ้าผลีผลามใช้แบบไม่ระมัดระวัง กัญชาที่เป็นพืชสมุนไพรก็อาจจะทำให้เราเสี่ยงภัยได้ง่ายๆ”         ตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่ทีมเราเจอในโรงพยาบาล หลังปลดล็อคกัญชาเสรี จำได้ว่าในช่วงเย็นของวันหนึ่ง เภสัชกรได้รับแจ้งจากพยาบาลห้องฉุกเฉินให้ไปสอบสวนเคสคนไข้รายหนึ่ง สอบถามข้อมูลคนไข้ พบว่าคนไข้ชายไทยวัยกลางคนถูกนำส่งมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินด้วยภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ หายใจไม่สะดวก คนไข้มีอาการมึนชาตามร่างกาย วิงเวียน คลื่นไส้อาเจียนอย่างมาก         เมื่อสอบถามข้อมูลจากภรรยาที่นำคนไข้มาส่งได้ความว่า สามชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาลสามีเธอกินต้มไก่ ใส่กัญชา ซึ่งปกติก็ใส่แค่ใบกัญชา แต่ครั้งนี้ไม่รู้นึกครึ้มอะไรเลยใส่มันทั้งใบและช่อดอก แถมแอบกระซิบว่าที่บ้านมีต้นกัญชาปลูกไว้ใส่ในต้มไก่ในปริมาณเยอะพอสมควร ตอนกินยังพูดว่าอร่อยฟาดต้มไก่หมดเกลี้ยงไปสองถ้วย แถมอาหารมื้อนี้ยังมีดื่มเบียร์ร่วมวง ด้วยพออิ่มเรียบร้อยจึงเกิดเรื่องสามีเกิดอาการขึ้นมาซึ่งตนก็ไม่คาดมาก่อนว่าจะทำให้เกิดอาการเช่นนี้จึงรีบพาส่งโรงพยาบาล         เภสัชกรจึงอธิบายให้ภรรยาฟังว่า กัญชา เป็นพืชสมุนไพรและพืชท้องถิ่น ซึ่งประชาชนบางส่วนอาจนำมาประกอบอาหาร ในกรณีบริโภคกัญชาเป็นอาหารเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ควรพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยง ส่วนที่คนส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงใส่อาหารมากที่สุดคือ ใบ ใบสดที่เพิ่งเก็บจากต้นซึ่งส่วนนี้จะไม่มีสารเมาแต่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ เราอาจนำมากินกับน้ำพริกหรือผสมกับผักอื่นๆ กินแบบสลัดได้         แต่สิ่งที่เราต้องระวังคือ เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อนหรือเก็บไว้นานๆ จะมีสารเมาที่เรียกว่าสาร THC และสารต้านเมาที่เรียกย่อๆ ว่า CBD เกิดขึ้น โดยใบอ่อนจะมีปริมาณสารข้างต้นมากกว่าใบแก่ สารสองชนิดนี้ พบปริมาณสูงสุดเมื่อต้นกัญชามีอายุ 2 เดือน ดังนั้นหากจะนำใบแห้งมาปรุงอาหารผ่านความร้อนตามภูมิปัญญาดั้งเดิม เราอาจใช้ได้ประมาณวันละ 5- 8 ใบ และแนะนำให้เริ่มใช้ในขนาดน้อยๆ ก่อน คือประมาณครึ่งใบต่อวัน         นอกจากใบแล้วส่วนอื่นๆ ของกัญชาก็สามารถนำมาใช้ปรุงอาหารได้ ขึ้นอยู่กับประเภทของอาหาร เช่น ใช้ใบกัญชาปรุงรสของน้ำซุป เช่น ต้ม แกง ตุ๋น ใช้ยอดกัญชา ใส่ผัดเผ็ด แกงเผ็ด เหมือนใบกะเพรา ใบโหระพา ใช้ใบอ่อนกัญชาเป็นผักสด จิ้มน้ำพริก น้ำบูดู หั่นใส่ในข้าวยำ ใส่แกงส้ม แกงกะทิ แกงมัสมั่น หรือในเมนูผัด บางพื้นที่ใช้รากและกิ่งก้านกัญชา มาใส่ทำน้ำซุปแต่ในส่วนของช่อดอกต้องระวัง ไม่นำมาใช้ในการปรุงอาหารเพราะมีสารที่ทำให้มึนเมามากอาจเกิดอันตรายได้         นอกจากนี้ผู้ที่เพิ่งเริ่มกินอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา อาจมีอาการข้างเคียงเช่น ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน รู้สึกมึนงง ปวดหัว หัวใจเต้นเร็ว ซึ่งอาการเหล่านี้จะเริ่มออกฤทธิ์แสดงผล หลังกินไปแล้วประมาณ 30-60 นาที และจะแสดงอาการเด่นชัดที่เวลาหนึ่งชั่วโมงและอยู่ได้นานถึงประมาณหกชั่วโมง ดังนั้นผู้ที่เพิ่งกินกัญชาหรือเริ่มกินเป็นครั้งแรก ควรเริ่มกินที่ครึ่งใบแล้วรอดูผลหลังการกิน 2 ชั่วโมง หากมีอาการปากแห้ง คอแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ หากมีอาการมึนเมา ให้ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งหรือดื่มชารางจืดเพื่อบรรเทาอาการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 การสำรวจฉลากอาหารหรือขนมที่มีส่วนผสมของกัญชา กรุงเทพมหานคร เเละ จังหวัดนครปฐม

        ข่าวเด็กป่วยจากการกินขนมผสมกัญชา ซึ่งมีการเปิดเสรีให้นำมาผสมในอาหารได้นั้น ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ผู้ปกครองว่าวันใดวันหนึ่งบุตรหลานของตนอาจจะต้องประสบกับปัญหาการบริโภคอาหารที่มีการผสมกัญชา โดยไม่สามารถป้องกันตัวเองได้เลย ไม่เพียงเท่านั้นการเปิดกว้างแบบเสรีของการอนุญาตให้ใช้กัญชา ทำให้ประชาชนสามารถการเข้าถึงได้ง่าย ทั้งนี้จะพบว่ามีการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าแปรรูปที่มีส่วนผสมของกัญชาวางขายในท้องตลาดทั่วไป เช่น ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด เป็นต้น  โดยสินค้าทั้งน้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง ขนมต่างๆ ไม่ได้ระบุ ข้อห้ามของการจำหน่าย คำเตือนภัย อันตรายต่างๆ สำหรับการจำหน่ายสำหรับเด็ก อายุต่ำกว่า 20 ปี หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร  จึงทำให้กลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริโภคสินค้าดังกล่าวโดยไม่รู้โทษภัยของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้         จึงเป็นที่มาของการร่วมกันทำงานระหว่าง สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มูลนิธิสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก และนิตยสารฉลาดซื้อ จากโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส.  วิธีการศึกษา        ทำการสำรวจผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาที่จำหน่ายในท้องตลาด โดยแบ่งการสำรวจเก็บตัวอย่างสินค้า เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มที่ 1 ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ กลุ่มที่ 2 ตลาดนัด ร้านค้าริมทาง และ กลุ่มที่ 3 ร้านค้าออนไลน์ กำหนดพื้นที่ในการสำรวจ เขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดนครปฐม        สำรวจว่าผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายนั้น มีป้ายเตือน คำเตือนหรือฉลากเตือนหรือไม่  ทั้งนี้เพื่อป้องกันการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาของเด็กและสตรีมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และจัดทำเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับกลุ่มปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยสาธิต ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดลสำรวจเดือน กรกฎาคม 2565 ข้อเสนอ        1.ควรกำกับดูแลให้มีแสดงคำเตือนผู้บริโภคบนฉลากสินค้า  ตลอดจนฉลากคำเตือนและฉลากห้ามจำหน่ายในบริเวณหรือพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด   ได้แก่ ชั้นวางสินค้าหรือแคชเชียร์ หน้าจอแสดงสินค้าบนแอพพลิเคชันต่างๆ        2.หน่วยงานด้านการศึกษา ควรจัดให้มีมีกิจกรรมสอนให้เด็กได้ทำความรู้จักกับใบกัญชา เรียนรู้เรื่องโทษจากใบกัญชา มีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้วิธีการเลือกซื้อขนมที่ปลอดภัย ไม่มีส่วนผสมของกัญชา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 258 อันตรายของการ ‘ปลดล็อกกัญชา’ ในภาวะสุญญากาศที่ไร้การควบคุม

หลังจาก ‘กัญชา’ ถูกปลดออกจายาเสพติดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 จากการผลักดันของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นนโยบายของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ ก็เกิดสภาพปั่นป่วนวุ่นวายไม่น้อยเพราะปลดล็อคแบบไร้การกำกับดูแล เกิดข่าวผู้บริโภคกัญชาทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเข้าต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ไปจนถึงมีการเสพภายในโรงเรียน เป็นเหตุให้มีความเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง ความเคลื่อนไหวหลังปลดล็อกกัญชา        เบื้องต้นกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขต้องออกประกาศเรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน เพื่อกำกับดูแลในเบื้องต้น โดยมีเนื้อหาดังนี้         1. ให้กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis เป็นสมุนไพรควบคุม         2. อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป สามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ (1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ (2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร (3) การจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร         3. อนุญาตให้ใช้ สั่งจ่าย กัญชา ยากัญชา กับผู้ป่วยของตนได้ กลุ่มที่ได้รับอนุญาต ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน และหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย         4. ผู้ป่วยที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ยากัญชา กัญชา ได้ ตามข้อ 3 สามารถครอบครอง ขนย้าย ดูแล เก็บรักษา ใช้ประโยชน์ในปริมาณที่จ่ายให้สำหรับการใช้ประโยชน์เป็นเวลา 30 วัน         ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้เคยตั้งข้อสังเกตและแสดงจุดยืนว่าเนื้อหาในข้อ 2 เท่ากับปล่อยเสรีและสุ่มเสี่ยงที่เยาวชนจะใช้กัญชาในทางที่ผิด อีกทั้งน่าจะขัด พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา 46 หรือไม่ ที่บัญญัติว่า ‘ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัย หรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต’ ทางมูลนิธิฯ เห็นว่าควรยกเลิกประกาศข้อ 2 และรอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภา        ถึงช่วงปลายเดือนกรกฎาคมก็มีการรวบรวมรายชื่อแพทย์จำนวน 851 คน พร้อมออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปิดสภาวะกัญชาเสรีในสภาวะสุญญากาศทันที ยังไม่นับการเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กร หน่วยงาน และภาคประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ออกมาแสดงความห่วงใยในเรื่องนี้         ถ้าดูสถิติของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เราจะไม่แปลกใจ เพราะหลังวันที่ 9 มิถุนายนเป็นต้นมาถึงปลายเดือนกรกฎาคม พบเยาวชนสูบกัญชาสูงขึ้นราว 2 เท่า ผลเบื้องต้นยังพบการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสารเสพติดทั้งหมดยกเว้นสุราและบุหรี่ว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงประมาณร้อยละ 29.56 ในผู้ป่วยนอก และร้อยละ 44.33 ในผู้ป่วยใน ควรจำกัดเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์         ย้อนกลับไปดูความเป็นมาของการผลักดันให้มีการใช้กัญชาในทางการแพทย์แบบสั้นๆ ภก.ยงศักดิ์ ตันติปิฎก นักวิชาการและนักวิจัยระบบภูมิปัญญาสุขภาพ รองประธานมูลนิธิพัฒนาการแพทย์แผนไทย เล่าว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับกัญชาอยู่มากและค้นพบประโยชน์ทางเภสัชวิทยาของสารที่อยู่ในพืชชนิดนี้ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ อีกทั้งในตำรับยาแผนดั้งเดิมของไทย กัญชาก็เป็นส่วนหนึ่งของตำรับยา         เป็นที่มาของการผลักดันโดยกลุ่มนักวิชาการให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ภายหลังจึงมีภาคประชาชนที่ใช้กัญชาทางการแพทย์อยู่แล้วเข้าร่วมด้วย ขณะที่กลุ่มที่ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการไม่ได้มีส่วนร่วมตรงนี้ กระทั่งมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดปี 2562 อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ ต่อมาพรรคการเมืองก็นำไปใช้เป็นนโยบายกัญชาเสรีในการหาเสียง เท่ากับว่าการปลดล็อกกัญชารอบนี้ไม่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์         “ที่ผ่านมาเราควบคุมว่ามันเป็นยาเสพติด แทนที่เราจะได้ประโยชน์จากพืชชนิดนี้ในทางยาเราก็ทำไม่ได้ ทำให้มีการเรียกร้องว่าน่าจะต้องจัดวิธีการควบคุมใหม่ แทนที่จะไปอยู่ในลิสต์ของยาเสพติด น่าจะมีกฎหมายแยกเฉพาะเพื่อคุมมัน อันนี้ข้อเรียกร้องข้อเสนอมาแต่แรกๆ มีเครือข่ายขับเคลื่อน อาจารย์สำลี ใจดีก็เป็นผู้นำในยุคนั้น”         ตามที่ ภก.ยงศักดิ์ จะเห็นว่าไม่มีตรงไหนที่เรียกว่าเป็นการเปิดกัญชา ‘เสรี’ ชนิดใครอยากปลูก อยากเสพ อยากขายก็ทำได้ แต่มีการควบคุมด้วยกฎหมายเฉพาะและจำกัดการใช้ในทางการแพทย์ ครั้นนำมาปฏิบัติกลับกลายเป็นหนังคนละม้วน เขาเห็นด้วยกัญชาทางการแพทย์เป็นโยบายที่ควรสนับสนุน แต่ต้องควบคู่กับการควบคุมกำกับให้อยู่ในทางการแพทย์        “ผมไม่เห็นด้วยว่าเราจะกระโจนไปสู่การใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในระยะเวลาสั้นๆ แล้วก็มันก็มีข้อควรระวังเยอะแยะที่จะเปิดให้ใช้กัญชาโดยทั่วไป ข้อกังวลเหล่านี้มีเหตุมีผลมีหลักฐานทางวิชาการและควรรับฟัง มันจะเป็นประโยชน์มากถ้าสามารถรวบรวมหรือทำให้คนหรือภาคีต่างๆ ในสังคมที่เขาสนใจเรื่องนี้มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำให้กฎหมายและการควบคุมเป็นไปอย่างที่ทุกฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน” เสรีกัญชาแบบไร้การควบคุม         นอกจากนี้ บรรดาระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลก็ชวนตั้งคำถามทั้งในแง่ความชอบด้วยกฎหมายและการนำไปปฏิบัติจริง ไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายว่าข้อ 2 ในประกาศเรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 เป็นประกาศที่มิชอบเพราะไม่มีอำนาจทางกฎหมาย เนื่องจากในมาตรา 44 และ 45  ของ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ไม่ได้ให้อำนาจในการอนุญาตเรื่องนี้ไว้         “ปกติแล้วการจะอนุญาตเรื่องสมุนไพรควบคุม ตัวอย่างเช่นกราวเครือที่มีการประกาศไปแล้วตามมาตรา 45 จะต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการครอบครอง การดูแล การเก็บรักษา การศึกษาวิจัย ซึ่งต้องออกเป็นรายละเอียด แต่ว่าประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับวันที่ 16 มิถุนายนไม่มีรายละเอียดก็เลยไม่มีอำนาจในการออก เป็นการออกที่ไม่ถูกต้อง แล้วก็ขัดแย้งกับมาตรา 46 ของกฎหมายฉบับเดียวกันด้วย เพราะมาตรา 46 บัญญัติว่าไม่ให้วิจัย ส่งออก รวมถึงจำหน่าย โดยเฉพาะการจำหน่ายแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ก็คือว่าใครที่จะเอาพวกกัญชาไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และขายให้กับประชาชนเพื่อการค้าจะทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตตาม พ.ร.บ. นี้ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยฯ ยังไม่เคยอนุญาตให้ใครตามมาตรา 46 เลย ที่ขายกัญชาในสถานบันเทิง การขายดังกล่าวเป้นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. นี้ตามมาตรา 46 แต่ว่ากรมแพทย์แผนไทยแค่ไปตักเตือน ไม่ดำเนินคดีตามกฎหมาย มันมีปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐไม่บังคับใช้กฎหมาย”        สรุปคือแม้ว่ากัญชาจะถูกปลดออกจากการเป็นยาเสพติดในกฎหมายยาเสพติดแล้ว แต่มันก็ยังถูกควบคุมโดยพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 อยู่ ใครที่ต้องการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาจะต้องขออนุญาตก่อนทุกกรณี ซึ่งยังไม่มีการอนุญาตแต่อย่างใด นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของประกาศควบคุมกัญชาที่ดูเหมือนจะมีปัญหาในทางกฎหมายให้ต้องพิสูจน์กันต่อ         ส่วนกรณีการปลูกเพื่อใช้เองในครัวเรือนสามารถทำได่โดยไม่ต้องขออนุญาต ไพศาลมองว่าจะสร้างผลกระทบมาก ซ้ำยังผิดหลักการที่ควรต้องขออนุญาตก่อนจึงจะปลูกเองได้ เขายกตัวอย่างว่าหากในบ้านมีเด็กและเยาวชนนำกัญชาไปสูบเองหรือนำไปผสมในอาหารในปริมาณมากเกินไป กรณีคนที่มีอาการแพ้กัญชาอาจมีอันตรายต่อร่างกายได้ ยังไม่นับว่ากัญชามีคุณสมบัติดูดซึมสารพิษและโลหะหนักในดิน การใช้อย่างไม่มีความรู้ย่อมสร้างผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว หยุดภาวะสุญญากาศเสรีกัญชา         ด้าน วีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่าเวลานี้สังคมกำลังสับสนกับภาวะสุญญากาศในการกำกับดูแลกัญชา เขาเห็นว่ามี 2 ส่วนที่รัฐจำเป็นต้องทำให้ชัดเจน ประเด็นแรกคือการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการว่าสามารถทำได้หรือไม่ ผิดกฎหมายหรือไม่ และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป         ประเด็นต่อมาคืออาหารการกิน วีรพงษ์อธิบายว่าเป็นประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทำหน้าที่กำกับดูแลและให้อนุญาตแก่ผลิตภัณฑ์ที่มาขอขึ้นทะเบียน ถือว่ายังมีการดูแลอยู่ส่วนหนึ่ง แต่มีปัญหาว่ายังไม่มีมาตรการกำหนดให้ผู้ผลิตติดฉลากคำเตือนว่ามีส่วนผสมของกัญชาให้ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เป็นเพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น         จุดที่วีรพงษ์คิดว่าน่าเป็นห่วงกว่าคือกลุ่มอาหารปรุงสำเร็จที่ขายทั่วไปตามท้องตลาด เพราะแต่ละร้านปรุงกันเองใส่กันเอง ไม่มีการกำกับดูแล คงต้องรอร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ.... ที่อยู่ในการพิจารณาของสภาว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร สามารถสร้างกลไกกำกับดูแลได้แค่ไหน         ไพศาลวิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ว่าเนื้อหาไม่ค่อยดีนัก หลักการค่อนไปทางส่งเสริมกัญชาเสรี อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้โดยไม่จำกัดแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ส่วนมาตราการคุ้มครองผู้บริโภค เด็กและเยาวชนก็มีน้อย         “ถ้าจะให้ทำจริงๆ อาจจะต้องแก้ไขย้อนกลับไปที่ตัวประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องการประกาศให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยกลับไปใช้ประกาศฉบับเก่าปี 2563 ที่เขียนไว้ว่าให้ตัวต้น ตัวดอกกัญชาเป็นยาเสพติดอยู่ แล้วกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงยุติธรรมพิจารณาร่วมกันในฐานะที่เป็นกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติดให้คนที่จะเสนอร่าง พ.ร.บ. ขึ้นมาตามหน่วยงานเสนอ ไม่ใช่ให้ ส.ส. เสนอเพราะทำให้ไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง การรับฟังความเห็นก็ทำน้อย ไม่มีการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายก่อน อันนี้จะขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดให้มีกระบวนการศึกษาผลกระทบก่อนรอบด้าน แต่คงจะยากเพราะรัฐบาลก็ไม่ยอมเสนอร่างกฎหมาย ปล่อยให้ ส.ส.เสนอ เหมือนว่ารัฐบาลก็เกียร์ว่าง”         ไพศาลยังเห็นว่ากฎหมายกัญชากับกัญชงควรแยกคนละฉบับเพราะกัญชงเป็นพืชเศรษฐกินได้ ขณะที่กัญชายังยาเสพติดในหลายประเทศยังต้องควบคุมเข้มงวดมากกว่านี้ ผู้ที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกในระยะแรกควรเป็นผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยหรือแพทย์พื้นบ้านโดยต้องมาจดทะเบียน ส่วนกรณีประชาชนทั่วไปอาจจะอนุญาตให้ปลูกได้ในระยะต่อไปโดยจำกัดในกลุ่มผู้ป่วย พร้อมกับส่งเสริมองค์ความรู้         ด้าน ภก.ยงศักดิ์ แสดงทัศนะว่าการเปิดให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังเร็วเกินไปสำหรับสังคมไทย เขายกตัวอย่างแคนาดาซึ่งกว่าจะอนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการได้ก็ต้องใช้เวลาเปลี่ยนกว่า 10 ปี เปิดให้โอกาสให้ทุกฝ่ายมาถกเถียง แลกเปลี่ยน วางระบบควบคุม และสร้างกลไกป้องกันกลุ่มเปราะบาง เช่น การควบคุมแหล่งผลิต พื้นที่ขายว่าบริเวณไหนขายได้ ตรงไหนขายไม่ได้ ห้ามขายให้ใคร มีระบบติดตามว่าใครเป็นผู้ซื้อ ซื้อไปจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น        ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่มีเลยในไทย เราจึงอยู่ในสภาพเปิดเสรีกัญชาแบบไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่ากฎหมายที่กำลังพิจารณาจะมีหน้าตาอย่างไร เกิดภาวะสุญญากาศ มึนๆ งงๆ และเป็นบทเรียนอีกครั้งว่าการทำเรื่องใหญ่ๆ ที่เน้นเอาเร็วเข้าว่า ไม่วิเคราะห์ผลกระทบ ไม่สร้างการมีส่วนร่วม สุดท้ายก็ต้องมาตามแก้ไขกันไม่จบสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ความเคลื่อนไหวเดือนกรกฎาคม 2565

นำกัญชา-กัญชงออกนอกประเทศระวังบทลงโทษหนัก        หลังไทยปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” จากยาเสพติดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์นั้น นางสาวรัชดา ธนาดิเนก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ย้ำต่อประชาชนว่า ห้ามนำ “กัญชา-กัญชง” ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบพืชชนิดดังกล่าวไปยังต่างประเทศ เนื่องจากการปลดล็อกนี้มีผลบังคับใช้ในประเทศไทยเท่านั้น หากจะเดินทางไปต่างประเทศโดยมีส่วนต่างๆ ของกัญญาไว้ครองครองอาจต้องโทษตามกฎหมายประเทศต่างๆ ดังนั้นหากคิดนำออกไปควรตรวจสอบกฎหมายประเทศปลายทางนั้นด้วย         ตัวอย่างประเทศที่มีบทลงโทษรุนแรงในคดีการครอบครองกัญชา กัญชง 1) อินโดนีเซีย ปรับขั้นต่ำ 1 พันล้านรูเปียห์ จำคุก 5 ปี – ตลอดชีวิต โทษสูงสุดประหารชีวิต 2) ญี่ปุ่น จำคุกไม่เกิน 7 ปี (กรณีนำเข้า/ส่งออก) จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 3 ล้านเยน (กรณีจำหน่าย)  3) เวียดนาม ปรับ 5,000,000 - 500,000,000 เวียดนามด่ง จำคุกตลอดชีวิต หรือโทษสูงสุดประหารชีวิต 4) เกาหลีใต้ จำคุก 5 ปีขึ้นไป หรือตลอดชีวิต (กรณีลักลอบนำเข้า) โทษจำคุกอย่างน้อย 1 ปี (กรณีปลูก/จำหน่าย) โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกเนรเทศห้ามเข้าเกาหลีใต้ (กรณีครอบครองหรือเสพ) 5) สิงคโปร์ จำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีครอบครองหรือเสพ) โทษประหารชีวิต (กรณีลักลอบค้า/นำเข้า/ส่งออก) โทษจำคุก 5-14 ปี หรือปรับ หรือทั้งจำและปรับ หรือ 6) ออสเตรเลีย โทษจำคุกและปรับ (กรณีนำเข้ากัญชา)  17 รูปแบบ อาชญากรรมทางออนไลน์         พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผบ.ตร. ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เตือนภัยต่อประชาชนถึงวิธีการต่างๆ ที่ทางมิจฉาชีพใช้ในการหลอกบนโลกออนไลน์ว่า มี 17 รูปแบบ ดังนี้ 1.ชื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า 2.หลอกให้ทำงานออนไลน์ 3.หลอกให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ   4.หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 5.ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว 6.ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้สินค้า 7.ชื้อสินค้าแต่ได้ไม่ตรงตามโฆษณา8.หลอกให้รักแล้วลงทุน 9.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน 10.ปลอมโปรไฟล์เพื่อหลอกยืมเงิน 11.หลอกลวงเกี่ยวกับเงินดิจิทัล  12.แฮกระบบคอมพิวเตอร์ 13.ล่วงละเมิดทางเพศ 14.ข่าวปลอม 15.แชร์ลูกโซ่ 16.การเรียกค่าไถ่ทางคอมพิวเตอร์ 17.ค้ามนุษย์ในรูปแบบขบวนการ ดังนั้นพึงระมัดระวังอย่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ กทม.เปิดช่องทาง ขอภาพกล้องวงจรปิดได้ 24 ชั่วโมง         นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เผยว่า ขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดให้มีการขอภาพกล้องวงจรปิดทางออนไลน์ได้ 24 ชั่วโมง หากประสงค์จะชี้ชัดในกรณีเกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตามหากต้องการขอไฟล์ภาพกล้องวรจรปิดต้องทำการแจ้งความที่สถานีตำรวจ ณ ที่เกิดเหตุก่อน ถึงจะสามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอภาพจากกล้องวงจรปิดได้ โดยช่องทางที่ติดต่อขอภาพได้ คือ เว็บไซต์ cctv.bangkok.go.th และไลน์ @CCTVBANGKOK         เอกสารประกอบการขอรับไฟล์ภาพ 1.บันทึกประจำวันจากสถานีตำรวจ 2.สำเนาบัตรประชาชน 3.หมายเลขกล้องวงจรปิด  4.รายละเอียดวันเวลาของไฟล์ภาพที่ต้องการ เมื่อได้รับเรื่องแล้วทางเจ้าหน้าที่จะแจ้งผลการดำเนินการผ่านทางไลน์ และทางอีเมล์ที่ได้แจ้งไว้กับทางหน่วยงาน  มพบ.เผยศาลปกครองเพิกถอนมติที่ประชุม กทค.ให้กลับไปคิดค่าบริการตามจริง แบบไม่ปัดเศษ         19 กรกฎาคม ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษา คดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตกรรมการ กสทช. ได้ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่องขอให้เพิกถอนมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้เพิกถอนมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 11 มกราคม 2560 ระเบียบวาระที่ 4.1 เรื่อง การพิจารณาทบทวนมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 ให้มีผลย้อนหลังนับแต่วันที่มีมติ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่กำหนดให้บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงในหน่วยวินาทีตามมติ กทค. ครั้งที่ 10/2559 และพิจารณาแนวทางการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นต่างๆ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด         ทั้งนี้ นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ถือว่าผลคำพิพากษาเป็นแนวทางที่ดีต่อผู้บริโภค ศาลปกครองกลางเห็นถึงปัญหาการคิดค่าบริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยว่า การคิดค่าบริการต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริง ไม่ว่าจะมีหน่วยวัดเป็นนาทีหรือวินาทีก็ตาม ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นหน่วยนาทีได้จะต้องครบจำนวน 60 วินาทีเท่านั้น จะใช้วิธีการคิดค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีไม่ได้ และคำพิพากษาในวันนี้เป็นคำพิพากษาในศาลปกครองชั้นต้น ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดียังสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีก นิตยสารฉลาดซื้อ รับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์”         20 กรกฎาคม นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เข้าร่วมงานรับรางวัล “สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ประเภทสื่อออนไลน์ จากกองกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ที่ได้ร่วมมือกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย 24 แห่ง จัดงานมอบประกาศนียบัตรเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติให้กำลังใจแก่ผู้ผลิตสื่อคุณภาพ ที่มีเนื้อหาปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขึ้นรับมอบประกาศนียบัตรโครงการเวทีรางวัลเชิดชูเกียรติสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จากนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นผู้มอบประกาศนียบัตร ในส่วนของสื่อออนไลน์ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 256 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2565

กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA)        1 มิถุนายน 2565 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 (PDPA) มีผลบังคับใช้ เป็นกฎหมายสำคัญด้านดิจิทัล 12 ฉบับ ที่รัฐและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผลักดันให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล มาตรฐานการใช้ เก็บ หรือเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของไทยให้อยู่ในระดับสากล ในส่วนของกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง         ตัวอย่างกฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้แก่ 1.การนำประวัติทำความผิดคนอื่นโพสต์ในเฟซบุ๊กโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม 2. นำเรื่องราวเจ็บป่วยของคนอื่นมาเผยแพร่ให้คนอื่นรู้ 3.นำรูปคนอื่นในกูเกิ้ลมาตกแต่งรูปภาพ ใส่ข้อความไม่ว่าจะชื่นชม หรือด่าทอ หากคนอื่นโพสต์รูปภาพ-ข้อความในเฟซบุ๊ก แล้วหมั่นไส้เลยเข้าไปคอมเม้นต์ทำให้เขาเสียหาย ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง 4.หัวหน้างานลงโทษออกใบเตือนลูกน้องแล้วนำใบเตือนมาติดบอร์ด ส่งในไลน์กลุ่ม หรือไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก 5.การไปแจ้งความว่าโดนคนอื่นฉ้อโกง พอได้ใบแจ้งความจากตำรวจแล้วนำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กเพื่อเตือนคนอื่นไม่ให้หลงกลถูกหลอกอีก เป็นต้น โดยการกระทำดังกล่าว โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สธ.ประกาศให้ “กลิ่น-ควัน” กัญชา กัญชง เป็นเหตุรำคาญ         หลังจากวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยได้ “ปลดล็อกกัญชา-กัญชง” อย่างเป็นทางการ อนุญาตให้ประชาชนปลูกได้ไม่ผิดกฎหมาย ต่อมา วันที่ 14 มิถุนายน 2565 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น ควันกัญชา กัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ พ.ศ.2565 โดยมีผลบังคับใช้ 15 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป โดยเนื้อหาในประกาศได้ระบุว่า         “เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าวมีอนุภาคขนาดเล็กที่เข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบจนเป็นเหตุให้เสื่อม หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียง หรือผู้ที่ต้องประสบภัยกับเหตุนั้น สมควรกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข”             นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ บุคคลที่มีประวัติโรคซึมเศร้า ป่วยโรคจิตเภทควรหลีกเลี่ยงในการใช้และสัมผัสควันกัญชา และสถานบริการ สถานบันเทิง ผับบาร์ ควรหลีกเลี่ยงการจัดรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการอีกด้วย แท็กซี่วิ่งนอกเขต 6 จังหวัด ไม่ต้องกดมิเตอร์ได้         ประกาศกรมการขนส่งทางบก 10 มิถุนายน 65 เป็นต้นไป รถยนต์รับจ้างบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถใช้วิธีตกลงราคานอกจากการใช้มาตรค่าโดยสาร พ.ศ. 2565 ได้ โดยหากทำการรับจ้างนอกเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 6 จังหวัด โดยรอบ ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สมุทรสาคร และนครปฐม หรือรับจ้างจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งได้ โดยสามารถตกลงราคาในรูปแบบเหมาจ่ายได้ นอกเหนือจากการกดมิเตอร์        โดยสาเหตุที่มีการปรับใช้ราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่ายรูปแบบนี้ เป็นการปรับตามสภาพข้อเท็จจริงในปัจจุบัน ซึ่งผู้โดยสารส่วนมาก มักนิยมวิธีการตกลงราคาโดยเหมาจ่ายแทนการกดมิเตอร์ เมื่อได้ทำการจ้างไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่สอดคล้องกับระเบียบในปัจจุบัน จึงสมควรที่จะมีการปรับให้ยืดหยุ่นและหมาะสมมากขึ้น ให้เกิดความคล่องตัวในการรับจ้างที่มีระยะทางไกล และเป็นไปตามความตกลงของผู้ใช้บริการและผู้ขับรถยนต์รับจ้าง น้ำปลาร้ากินมากเสี่ยงโรคหัวใจ-ไตวาย                    จากกรณีดราม่าที่มีเน็ตไอดอลที่ขายสินค้าน้ำปลาร้า ได้ทำการพรีเซนต์โดยเทน้ำปลาร้าใส่แก้วน้ำแข็งและยกดื่ม นั้น หลายคนยังห่วงว่าหากเป็นน้ำปลาร้าจริง กลัวจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ หากรับประทานปริมาณที่มากอาจอันตรายต่อไตได้ นอกจากนี้ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ได้กล่าวว่า กรณีที่มียูทูบเบอร์นำน้ำปลาร้ามายกซดเหมือนเครื่องดื่มนั้น ห่วงจะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ เพราะความเข้าใจผิดคิดว่านำมาเป็นเครื่องดื่มได้ เนื่องจากน้ำปลาร้าคือเครื่องปรุงที่มีโซเดียมสูง ไม่ควรนำมาดื่มเป็นเครื่องดื่ม  อาจจะก่อให้เกิดโรคชนิดต่างๆ ยกตัวอย่าง โรคหัวใจล้มเหลว โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตวายเรื้อรัง ข้อมูลโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิด รวมทั้งจากโรงงาน วิสาหกิจ ตลาด พบว่ามีโซเดียมในระดับที่สูง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คนไทยบริโภคโซเดียมสูงเกินคำแนะนำขององค์กรอนามัยโรค 10 ปี ยังไม่จบ คดี “แคลิฟอร์เนีย ว้าว”          จากกรณี “คดีแคลิฟอร์เนีย ว้าว” ที่ปิดกิจการหนี ทำให้มีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มิถุนายน 2565 ศาลอุทธรณ์ ได้พิพากษา “ยืนตามศาลชั้นต้น” ทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิดจำนวน 5 รายการ ราคาประเมิน 293 ล้านบาท ให้นำไปชดใช้ให้กับผู้เสียหาย ที่ได้ “ยื่นคุ้มครองสิทธิ์” กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จำนวน 849 ราย เป็นเงิน 46 ล้านบาท และให้ดอกผลแก่ผู้เสียหาย ในวันที่ได้รับเงินเยียวเมื่อคดีถึงที่สุด ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยจากร้อยละ 7.5 นับจาก “วันที่ดำเนินคดี” และนับต่อเนื่องให้ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ตามกฎหมายใหม่ที่กำหนด จนกว่าคดีจะสิ้นสุด         อย่างไรก็ตาม นายกิตติศักดิ์ ธนันณัฏฐ์ ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า แม้มีคำสั่งจากศาลอุทธรณ์ แต่ยังมีกระบวนการที่ฝ่ายผู้ร้องค้านนั่นคือ “บริษัท ฟิทเนส เอสเตท” และ “บริษัท มัสมั่น วิลล่า“ อาจต้องสู้ไปถึงชั้นศาลฎีกา โดยกระบวนการนี้ศาลให้เวลา 30 วัน ยื่น “คำร้องค้าน” นับจาก 21 มิถุนายน 2565 ซึ่งกระบวนการระหว่างทางจนถึงวันศาลรับคำร้องไว้พิจารณา จนถึงวันพิพากษาอาจต้องใช้เวลาอีกกว่า 1 ปี        ย้อนไปในปี 2543-2556  “คดีแคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส” ที่มีนายแอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัท ซึ่งไม่นานก็ทยอยปิดสาขา ทำให้สมาชิกรายปี-ตลอดชีพ กลายเป็นผู้เสียหายจำนวนมากได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิฯ จึงได้ทำการดำเนินการเป็นตัวแทนเพื่อฟ้อง “คดีฉ้อโกงประชาชน” นอกจากนี้ ผู้ต้องหานายแอริค มาร์ค เลอวีน ยังคงล่องหน  จนวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งจำเลยไม่มาศาล จึง “เลื่อนคดีไม่มีกำหนด” พร้อมออกหมายจับอายุความ 10 ปี  เมื่อนับจากเหตุเกิดปี 2555 จนถึง 2565 หมายจับถือว่าหมดอายุความแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ไขข้อข้องใจ “กัญชา” กิน – ใช้อย่างไร ได้ประโยชน์

        เดิมทีประเทศไทยได้มีการปลดล็อคให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ จนถึงขณะนี้ มีการอนุญาตราวๆ 3 กลุ่มโรค คือ กลุ่มที่ได้ประโยชน์ กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ และกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในอนาคต รวมถึงระยะหลังได้เริ่มมีการอนุญาตให้สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ แต่อยู่ภายใต้การควบคุมผลิตภัณฑ์ และแหล่งที่มาของกัญชาที่ทำมาใช้ แต่ล่าสุดประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปลดล็อคกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5  มีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา สามารถนำมาใช้ปรุงอาหาร เครื่องดื่มได้คล่องมากขึ้น หรือที่หลายฝ่ายเรียกว่า “กัญชาเสรี”         อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังมีข้อกังวล เพราะต่างรู้ว่ากัญชามีประโยชน์ก็จริง แต่ “โทษ” ยังไม่หายไป ถ้าเช่นนั้นแล้วประชาชนจะใช้อย่างไรให้ได้รับประโยชน์จากกัญชาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มในชีวิตประจำวัน นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ไขข้อข้องใจกับ นิตยสารฉลาดซื้อ ดังนี้....   กลุ่มที่ห้ามรับประทาน หรือใช้กัญชาคือใครบ้าง         กัญชามีประโยชน์ แต่หากใช้ไม่ถูกก็เกิดอันตรายได้ ซึ่งกลุ่มที่ไม่ควรรับประทาน หรือใช้กัญชาเลยคือ สตรีมีครรภ์ หญิงที่กำลังให้นมบุตร ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ โรคตับ และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะกัญชาจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ทำให้ไอคิวลดลง กระทบเซลล์สมอง ซึ่งมีการทดลองในหนู พบว่าสาร THC ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติดนั้น จะทำให้เซลล์สมองเสื่อมได้ จึงห้ามเด็ดขาดในเด็ก   การควบคุมอาหารที่ใส่กัญชา         ขณะนี้กรมอนามัยได้ออกประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยกำหนดให้สถานประกอบกิจการอาหาร ที่ใช้กัญชาจะต้องปฏิบัติดังนี้ 1.จัดทำข้อความที่แสดงข้อมูลเป็นสถานประกอบกิจการอาหารที่มีการใช้กัญชา 2.แสดงรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาทั้งหมด 3.แสดงข้อมูลปริมาณการใช้ใบกัญชาเป็นส่วนประกอบต่อรายการอาหารตามประเภทการทำ เช่น อาหารทอด แนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1-2 ใบสดต่อเมนู สำหรับอาหารประเภทผัด แกง ต้ม ผสมในเครื่องดื่มแนะนำการใช้ใบกัญชาสด 1 ใบสดต่อเมนู เป็นต้น 4.แสดงข้อแนะนำเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีใบกัญชาเป็นส่วนประกอบ 5.แสดงคำเตือนรายการอาหารที่มีการใช้ใบกัญชาให้กลุ่มเสี่ยงทราบ เช่น ระบุข้อความ "เด็กและวัยรุ่นช่วงอายุน้อยกว่า 18 ปี ควรหลีกเสี่ยงการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา เช่น ขนม อาหารและเครื่องดื่ม สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน" "หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที" "ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือสาร CBD ควรระวังในการรับประทาน" ... "อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเสี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล" และ 6.ห้ามแสดงข้อความหรือโฆษณาสรรพคุณในการป้องกันหรือรักษาโรค ส่วนใดของกัญชา กัญชง ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้บ้าง แต่ละเมนูมีข้อแนะนำอย่างไร         ต้องบอกว่าการที่ร้านอาหารนำกัญชามาเป็นส่วนประกอบนั้น เป็นความเชื่อว่ากัญชาจะช่วยเพิ่มรสชาติอาหารให้ดีขึ้น เพราะในกัญชาจะมีสารกลูตามิกแอซิด คล้ายๆ กับผงชูรส แต่ต้องมีการใช้กัญชาปริมาณเยอะมากถึงจะได้รสชาติที่ว่านั้น แต่สิ่งที่เราไม่ปรารถนาคือ จะทำให้ สาร THC จะออกมาด้วย ดังนั้นคำแนะนำในการปรุงอาหารตอนนี้ คือ ใช้เฉพาะ “ใบสด” เท่านั้น ส่วน ช่อดอก หรือ ดอก ไม่แนะนำ เพราะมีสาร THC สูงเกินไป และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ยังกำหนดให้ใช้ช่อดอก และดอกสำหรับผลิตยาทางการแพทย์เท่านั้น         ทั้งนี้ ปริมาณที่ใช้ ตลอดจนวิธีการปรุงอาหารหรือเครื่องดื่มนั้นจะให้สาร THC, CBD แตกต่างกัน คำแนะนำเบื้องต้นคือ แต่ละเมนูไม่ควรใช้ใบสดเกิน 2 ใบ และใน 1 มื้อไม่ควรกินเกิน 2 เมนู หากต้องการบริโภคเกิน 2 เมนู ต่อวัน แนะนำว่าแต่ละเมนู ควรบริโภคเพียง 3 ช้อนกินข้าว เพื่อลดการได้รับ THC มากเกินไป เพราะความไวต่อสาร THC ของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนรับเพียงเล็กน้อยก็มีอาการได้ หากเป็นเรื่องดื่มใช้ 1 ใบสดต่อ 1 แก้ว ดื่มไม่เกินวันละ 2 แก้ว ทั้งนี้ใน 1 วัน โดยสรุป 1 วันบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาได้ไม่ควรเกิน 2 เมนู และขอย้ำว่าไม่ควรรับประทานต่อเนื่องกันทุกวัน         “ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารประเภททอดกับทอด หรือ ทอดกับผัด หรือผัดกับผัด เพราะในน้ำมันจะดูดซึมสาร THC ได้ดี จะทำให้ได้รับสาร THC เกินปริมาณที่กำหนด ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 427/2564 กำหนดหน่วยบรรจุมีสาร THC ได้ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม” คำแนะนำสำหรับผู้บริโค        กรณี “คนที่ไม่เคยรับประทานมาก่อน” ควรเริ่มในปริมาณน้อย ประมาณครึ่งใบ - 1 ใบ ต่อวัน ซึ่งการรับประทานสัดส่วนนี้จะมีปริมาณสาร THC ราวๆ 1-2.5 มิลลิกรัม และควรรอดูผลหลังรับประทานภายใน 2 ชั่วโมง หากพบว่ามีผลข้างเคียงแนะนำให้หยุดทันที แล้วดื่มน้ำตามมากๆ         สำหรับ “บุคคลทั่วไป” ก็ควรบริโภคในปริมาณน้อย ไม่เกินวันละ 5 ใบ หากรับประทานมากกว่า 5 ใบ อาจทำให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ปากแห้ง คอแห้ง ง่วงนอน มึนงง วิงเวียน และปวดหัวได้ ทั้งนี้ จะต้องสังเกตอาการหลังจากรับประทานไปแล้วประมาณ 30 - 60 นาที แต่อาการจะเด่นชัดขึ้นเมื่อผ่านไปแล้วประมาณชั่วโมงครึ่ง - 3 ชั่วโมง  ดังนั้นทางที่ดีจึงควรรอดูผลหลังจากบริโภคไปแล้วภายใน 2 ชั่วโมง         “ถ้าคนแพ้กัญชาใน 60 นาทีแรกเห็นผลเลย คือ คอแห้ง ปากแห้ง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนหัว ถ้าเป็นมากคือใจสั่น และหากใจสั่นมาอาจจะหมดสติ ช็อคได้ ดังนั้นหากมีอาการหากคอแห้ง ปากแห้ง ให้ดื่มน้ำมากๆ จะช่วยขับออกมาได้  ถ้ารู้สึกเวียนหัว ให้ใช้น้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง เกลือเล็กน้อย หรือน้ำขิงเพื่อแก้อาการเมา แต่หากที่กล่าวมายังไม่ดีขึ้น ให้ไปพบแพทย์”         และที่สำคัญเลย เราพบว่าคนที่อยากรับประทานเมนูกัญชาเพราะเชื่อว่าฤทธิ์เล็กน้อยจะทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สบาย แต่หากรับประทานมากเกินไป จะไปกดสมองส่วนกลางทำให้ง่วงนอนได้ แต่อย่างที่บอกว่าผลที่เกิดกับแต่ละคนไม่เหมือนกัน บงคนออกฤทธิ์ทันที บางคนไปอกฤทธิ์ภายหลัง ซึ่งฤทธิ์ของกัญชานั้นจะอยู่ในร่างกายได้นานถึง 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงต้องเตือนคนที่ขับยานพาหนะ และทำงานกับเครื่องจักรไม่ควรรับประทานเพราะแรก ๆ อาจจะยังไม่รู้สึก แต่มาออกฤทธิ์ภายหลัง อาจจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับยานพาหนะลดลง เกิดอุบัติเหตุได้ และห้ามกินร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้มีฤทธิ์ทั้งกดประสาท และกระตุ้นประสาท ส่งให้การหายใจผิดปกติ กระตุ้นหัวใจ หัวใจเต้นเร็วเกินไป   อาหารที่ห้ามมีส่วนผสมของกัญชา กัญชงโดยเด็ดขาด         ข้อยกเว้นอาหารที่ไม่ให้ใช้กัญชาเป็นส่วนผสมตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 427) พ.ศ. 2564 ได้แก่ อาหารทารกและอาหารสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็กนมดัดแปลงสำหรับทารกและนมตัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เครื่องดื่มที่ผสมกาเฟอีน อาหารอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดเพราะหากเด็กได้รับสาร THC บ่อยอาจจะทำให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านสมองช้า เนื่องจากสาร THC จะไปทำลายเนื้อเยื่อสมองของเด็ก กรณีสารสกัดในกัญชา CBD และ THC สามารถใช้ประกอบอาหารได้แค่ไหน         การใช้สารสกัด CBD และ THC ในการประกอบอาหารตามประกาศกระกรวงสาธารณสุข 427 โดย อย. กำหนดให้สามารถใช้สารสกัด THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ            นอกจากการรับประทานในอาหารแล้ว ขณะนี้พบว่ามีการใช้สันทนาการด้วย ในส่วนนี้มีการควบคุมกำกับอย่างไร          ได้มีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลบังคับใช้ใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป เนื้อหาในประกาศกำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ เนื่องจากการใช้กัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น สันทนาการ อาจส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่โดยปกติสุข หรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยควันของพืชดังกล่าว จะมีอนุภาคขนาดเล็กที่สามารถเข้าสู่ปอดได้ด้วยการหายใจเอาควันเข้าไป ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เช่น โรคปอด หอบหืด หลอดลมอักเสบ         อย่างไรก็ตาม เราไม่แนะนำให้มีการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ หรือใช้ที่ไม่เหมาะสม เพราะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ คือ 1.กระตุ้นให้เกิดอาการป่วยทางจิตรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภทอยู่เดิม 2. ควันกัญชา ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 3.เด็กและทารกที่สัมผัสควันกัญชามือสอง อาจได้รับผลกระทบทางจิตประสาทเช่นเดียวกับผู้สูบ 4. มีผลการศึกษาระบุว่า กัญชาแบบพันลำ มีอัตราการปล่อย PM 2.5 เฉลี่ย 3.5 เท่าของบุหรี่แบบธรรมดา         ทั้งนี้ ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ทารก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีประวัติซึมเศร้า หรือป่วยด้วยโรคจิตเภท ให้หลีกเลี่ยงใช้ หรือสัมผัสควันกัญชา สำหรับสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือสถานที่อื่นใด หลีกเลี่ยงส่งเสริมหรือจัดให้มีการรวมกลุ่มเพื่อใช้กัญชาในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อสันทนาการ         กรณีถูกร้องเรียนเรื่องการสร้างความรำคาญ จะมีโทษปรับ 25,000 บาท จำคุกสูงสุด 3 เดือน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ปลดกัญชาจากยาเสพติดแล้ว        9 กุมภาพันธ์ 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศจากกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ.2565 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรค แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังนี้       ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาให้โทษประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด 1.พืชฝิ่น ที่มีชื่อพฤกษศาสตร์ Papaver somniferum L. และ Papaverbracteatum Lindl. ที่มีชื่อในสกุลเดียวกันและให้ฝุ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น 2.เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ที่มีชื่อว่า Psilocybe cubensis (Earle)Singer หรือชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin 3. สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น (ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ (ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญซาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ        ข้อ 2.กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์ ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศเป็นต้นไป AIS ถูกแฮกข้อมูลลูกค้ารั่ว 1 แสนรายการ         บริษัท เอไอเอส ได้เปิดเผยว่า ตรวจพบว่ามีผู้ละเมิดข้อมูลผู้ใช้บริการ ประมาณ 100,000 รายการ ซึ่งมีรายละเอียดประกอบไปด้วย ชื่อ-สกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน วัน-เดือน-ปีเกิด และหมายเลขโทรศัพท์ แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินอื่นใด โดยข้อมูลนั้นได้ถูกนำไปเผยแพร่อยู่บน Dark Web ซึ่งทางบริษัทร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เร่งตรวจสอบหาสาเหตุดังกล่าวอย่างเร่งด่วน และได้แจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สกมช. และกสทช. รวมทั้งยังแจ้งไปยังลูกค้าผ่านทาง SMS เพื่อให้รับทราบและระมัดระวัง ขณะนี้ทางบริษัทได้เร่งตรวจสอบผู้ที่กระทำความผิดเพื่อดำเนินตามกฎหมายต่อไป 10 อันดับข่าวปลอมเดือนกุมภา วอนอย่าหลงเชื่อ         กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง แจ้ง 10 ข่าวปลอมช่วง 4-10 กุมภาพันธ์ 2565 ดังนี้ 1) ออมสิน ส่ง SMS ให้ประชาชนกดรับสิทธิ์ขอสินเชื่อ GSB จำนวน 60,000 บาท 2) วันที่ 10-20 กุมภาพันธ์ 2565 ฝนตกหนักทุกภาค ทั่วประเทศไทย 3) รักษาโควิด-19 ด้วยสมุนไพรขมิ้นชัน กระชาย พริกไทย ทับทิม 4) คนไทยจ่ายเงินซื้อน้ำมันราคาแพงที่สุดในโลก 5) ดื่มน้ำต้มต้นไมยราบ แทนน้ำเปล่า ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านม 6) โครงการเราชนะ เฟส 4 แจกเงินคนละ 7,000 บาท เริ่มโอน 10 กุมภาพันธ์ 2565 7) คลิปข้าวสารถูกผลิตจากถุงพลาสติก 8) ธ.กรุงไทย เปิดสินเชื่อกรุงไทยเพื่อนักสู้ ดอกเบี้ย 0.5% ผ่อนนาน 48 เดือน ติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ 9) ใช้หม้อทอดไร้น้ำมันปรุงอาหารทำให้ก่อมะเร็ง และ 10) ติดเชื้อไวรัส Parabola จากสุนัขและแมวทำให้ไขกระดูกไม่สร้างเลือด  วอนอย่าหลงเชื่อ แชร์หรือกดลิงก์โดยเด็ดขาดตรวจพบโรงงานไส้กรอกเถื่อนไม่มี อย. 13 รายการ        ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาการและยา เปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีมีผู้ป่วยเนื่องจากรับประทานไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อน จ.ชลบุรี นั้น ผลวิเคราะห์พบว่า ไส้กรอกมีปริมาณไนเตรท์มากเกินกว่ากฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทางคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อร่วมเฝ้าระวังในพื้นที่        ในส่วนจังหวัดที่ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสถานที่จำหน่ายในท้องตลาดเสร็จสิ้นแล้วมีทั้งสิ้น 66 จังหวัด และสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกที่เสี่ยงส่งตรวจวิเคราะห์ 102 ตัวอย่าง (อยู่ระหว่างรอผลวิเคราะห์) ทั้งนี้ได้ดำเนินคดีในกรณีที่จำหน่ายไส้กรอกไม่มีฉลากแสดงแล้ว คือที่สระบุรี อุทัยธานี พระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่วนของจังหวัดสระบุรีนั้น เป็นสินค้ามาจากสถานที่ผลิตเดียวกันกับชลบุรี  ส่วนอุทัยธานี พบสินค้ามีฉลากเหมือนกับที่เจอปัญหาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเร่งให้มีการขยายผลดำเนินการจับกุมโรงงานที่ผลิตไส้กรอกโดยไม่ได้รับอนุญาตที่ จ.อยุธยา ได้อีก 2 แห่ง และอายัดสถานที่ของกลางมูลค่ารวมกว่า 4.3 ล้านบาท รวมทั้งดำเนินคดีกับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่มี อย. จำนวน 13 รายการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตือนซื้อซิมกับตัวแทนในร้านค้าออนไลน์ เสี่ยงโดนหลอกขาย         จากกรณีที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้อนเรียนจากผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าเป็นซิมเติมเงินของ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากทางร้านค้าออนไลน์ที่ขายในแพลตฟอร์ม Lazada เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ราคา 1,369 บาท มีรายละเอียดว่า เป็นซิมทรู 10 Mpbs เน็ตไม่อั้น ไม่จำกัด ไม่ลดสปีด รองรับระบบ 4G/5G ต่อมาเมื่อเปิดใช้งานซิมในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 พบปัญหาไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ตามที่ร้านค้าให้ข้อมูล ผู้ร้องจึงทำตามขั้นตอนตามตัวซิมพบว่าซิมมีชื่อรุ่นว่า กัมพูชา 5G ใช้เน็ตได้เพียง 7 วัน ปริมาณ 2 GB และใช้งานได้เพียงครึ่งวันก็ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตแล้ว และเมื่อผู้ร้องทราบจากทางบริษัทพบว่า ซิมมีราคาเพียงแค่ 49 บาทไม่ตรงตามที่โฆษณา        นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ขณะนี้ในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์มีปัญหาหลอกลวงขายซิมโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถใช้งานเน็ตได้ไม่อั้นตามที่ร้านค้าโฆษณา เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ใช่ซิมที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตตามที่โฆษณาไว้ มูลนิธิฯ พบผู้เสียหายจากกรณีนี้หลายราย จึงขอเตือนผู้บริโภคให้ระมัดระวังการซื้อซิมโทรศัพท์มือถือกับผู้ขายที่ไม่ใช่ศูนย์บริการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายของบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือโดยตรงเพราะเสี่ยงโดนมิจฉาชีพหลอก ลักษณะของมิจฉาชีพ คือ เป็นตัวแทนจำหน่ายซิมที่ขายในแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ Lazada, Shopee และเฟซบุ๊กแฟนเพจ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 เมากัญชาจากอาหารกันให้ครื้นเครง

        รายงานข่าวจากไทยพีบีเอสในช่วง 9.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นั้น ตอนหนึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับ อาหารผสมกัญชา ซึ่งเป็นไปตามกาลสมัยที่ผู้อาศัยอำนาจของประชาชนในการปกครองประเทศได้มองเห็นศักยภาพของกัญชาในการเพิ่มความนิยมทางการเมืองจากประชาชนที่อยู่ในข่ายของคำพระที่ว่า “สุกรานิ อสาธูนิ อตฺตโน อหิตานิ จ” ซึ่งแปลได้ว่า กรรมอันไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน คนทำง่าย โดยเปลี่ยนข้อกำหนดทางกฏหมายให้บางส่วนของกัญชาถูกเอามาผสมกับอาหารต่างๆ เพื่อให้คนไทยยุคโควิด-19 นี้ได้ยิ้มกันทั่วหน้าทั้งที่กระเป๋าแห้งครึ่งค่อนประเทศ         สิ่งที่น่าสนใจในตอนหนึ่งของข่าวจากไทยพีบีเอสคือ ได้มีทั้งเภสัชกรของโรงพยาบาลที่สนับสนุนการปรุงอาหารใส่ใบกัญชาและแพทย์ที่เป็นผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ได้ย้ำเตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการกินอาหารใส่ใบกัญชาว่า ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่า เหมาะสมแค่ไหนในการกินอาหารลักษณะนี้ โดยเฉพาะการเกิดปัญหายาตีกันในผู้ที่ได้รับสารเสพติดจากใบกัญชาแล้วไปมีผลต่อยาบำบัดโรคอื่นที่กำลังกินอยู่ แม้แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ยังเตือนผู้บริโภคในการกินอาหารที่ปนกัญชาประมาณว่า กินน้อยเป็นคุณกินมากเป็นโทษ ต้องพอดี ( แต่คำว่า พอดี นั้นขึ้นกับแต่ละบุคคลซึ่งไม่เท่ากัน) ดังนั้นอาหารผสมกัญชาจะก่อปัญหาให้เกิดขึ้นต่อผู้บริโภคหรือไม่นั้น อยู่ภายใต้สามัญสำนึกของผู้ประกอบการว่า ควรใส่ส่วนไหนของกัญชาลงในอาหารในปริมาณเท่าใด และมีการเตือนผู้บริโภคหรือไม่ว่าอาหารมีกัญชา         เนื้อความต่อไปนี้ไม่ได้ประสงค์จะต่อต้านการใส่กัญชาในอาหารแต่อย่างใดเพราะรู้อยู่แล้วว่า เปล่าประโยชน์ในการต่อต้าน เพียงแต่ต้องการตั้งประเด็นคำถามให้ผู้อ่านลองหาคำตอบว่า มีวิธีการใดที่สามารถควบคุมผู้ประกอบการให้ใส่เฉพาะใบของกัญชาที่ซื้อจากแหล่งที่ได้รับการอนุญาตการปลูกตามกฏหมาย ด้วยจำนวนใบที่แค่เพิ่มความรู้สึกอร่อยของอาหาร แต่ไม่ทำให้เกิดอาการเมาสารเคมีในกัญชา และเมื่ออาหารที่ผสมใบกัญชามาถึงลูกค้าแล้วทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าอาหารนั้นมีแค่ใบกัญชาจำนวนเท่าที่อนุญาต และ/หรือไม่มีการเติมสารสกัดหรือส่วนอื่นของกัญชาที่ยังเป็นยาเสพติด ในประเด็นหลังนี้ผู้สนับสนุนการค้าอาหารใส่กัญชาคงมีคำตอบว่า ไม่น่าจะมีการใส่เกินเพราะกัญชานั้นยังมีราคาแพง แต่ท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่า ก่อนทำให้คนติดใจในอะไรสักอย่างก็คงต้องมีการลงทุนทำให้ติดใจเสียก่อน เพราะเมื่อติดใจจนใจติดแล้ว เท่าไรก็ยอมควักจ่ายเพื่อให้ได้ตามใจที่ต้องการ         เภสัชกรท่านหนึ่งได้เขียนบทความเรื่อง พืชกัญชา:ประโยชน์ โทษและข้อเสนอการพัฒนาการกำกับดูแล ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บ https://ccpe.pharmacycouncil.org (ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ สภาเภสัชกรรม) ตอนหนึ่งประมาณว่า  “ส่วนของต้นกัญชาที่มีสาร Tetrahydrocannabinol หรือ THC มากที่สุด คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)”..... ดังนั้นจึงควรเป็นที่เข้าใจในแนวทางเดียวกันว่า การบริโภคใบกัญชาในอาหารนั้นน่าจะเป็นหนทางการรับสาร THC เข้าสู่ร่างกายด้วยความตั้งใจนอกเหนือไปจากการสูดควันจากใบกัญชาที่มวนในลักษณะบุหรี่ อย่างไรก็ดีปริมาณ THC ในใบกัญชานั้นขึ้นกับสายพันธุ์ของกัญชาว่าเป็นสายพันธุ์ใดด้วย         อาหารที่รสชาติไม่ได้เรื่องแล้วเมื่อใส่กัญชาลงไปอร่อยขึ้นหรือ คำตอบคือ ใช่ในภาพลวง ดังนั้นพ่อครัวหรือแม่ครัวไร้ฝีมือย่อมพอใจถ้าคนกินอาหารเข้าไปแล้วสักพักก็ชมว่า อาหารจานนั้นอร่อย เพราะผลจากการที่สาร THC ในกัญชาวิ่งเข้าไปหาตัวรับ (receptor) ก็จะส่งผลให้ระบบประสาทส่งสัญญาณไปสมองว่า ร่างกายรู้สึกชอบใจเมื่อได้กิน THC ในอาหารนั้นๆ ดังปรากฏจากบทความเรื่อง The endocannabinoid system controls food intake via olfactory processes ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2014 ที่ระบุว่า  เมื่อ THC เข้าไปในสมองของหนูทดลองแล้วได้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับกลิ่นและลิ้มรสอาหารสูงขึ้น ดังนั้นผู้กินอาหารมีกัญชา (ซึ่งต้องมี THC) จึงคงรู้สึกพึงพอใจในอาหารจานนั้นมากขึ้นเพราะลิ้มรสได้ดีขึ้น ไม่ใช่อาหารอร่อยขึ้นแต่อย่างใด         นอกจากนี้บทความเรื่อง  Hypothalamic POMC neurons promote cannabinoid-induced feeding ในวารสาร Nature Neuroscience Trusted Source ของปี 2015 พบว่า สารเคมีในกัญชาน่าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทส่วนที่ทำให้กินอาหารไม่หยุด เพราะเซลล์ประสาทที่ดูเหมือนถูกเปิดให้ทำงานด้วยสาร THC นั้นเป็นเซลล์ประสาทที่ปรกติแล้วทำหน้าที่ปิดสัญญาณความหิวของร่างกายตามปกติเพื่อควบคุมการกินอาหาร ดังนั้นจึงดูเหมือนว่า THC ได้เปลี่ยนกระบวนการทำงานของสมอง โดยส่งคำสั่งแสดงความหิวโหยแม้ว่าเพิ่งกินไปหรือไม่มีความหิวก็ตาม         บทความเรื่อง Smoking, Vaping, Eating Is Legalization Impacting the Way People Use Cannabis ในวารสาร International Journal of Drug Policy ของปี 2016 ให้ข้อมูลว่า อาหารผสมกัญชาที่มี THC นั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกหลุดไปจากโลกเช่นเดียวกับการสูบกัญชา นอกจากนี้การกินกัญชานั้นน่าจะเป็นวิธีที่ทำให้ THC ออกฤทธิ์ได้สูงกว่าเมื่อได้จากการสูบควัน ซึ่งมีการทำวิจัยเกี่ยวกับการกินอาหารมีกัญชานั้นได้แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากการกินนั้นใช้เวลาหลังจากกินแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงในการเริ่มต้นแสดงฤทธิ์เมา และอาจอยู่ได้นานถึง 6 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ซึ่งต่างจากผลของ THC จากการสูบควันกัญชานั้นมักออกฤทธิ์เมาอยู่ในช่วง 1–4 ชั่วโมง         ในเอกสารเรื่อง The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids ของ The National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine เผยแพร่โดย The National Academies Press ในปี  2017  กล่าวเป็นเชิงว่า การกินอาหารใส่กัญชานั้น เป็นการลดความเสี่ยงในการได้รับควันจนเกิดอาการไอเรื้อรังและมีเสมหะ หรือถ้ายาวไปกว่านั้นคือ ลดความเสี่ยงของมะเร็งปอด ดังนั้นสำหรับผู้ประสงค์จะละศีลข้อ 5 เพื่อลองกินผลิตภัณฑ์ใส่กัญชาจึงรู้สึกว่า ได้ทำคุณแก่โลกที่ไม่ได้หยิบยื่นควันพิษให้สัตว์โลกที่อยู่ใกล้เคียง สิ่งสำคัญที่พึงระลึกเสมอคือ ควรเริ่มด้วยขนาดที่ต่ำหน่อยเพื่อดูว่าร่างกายตอบสนองอย่างไร เพราะการกินนั้นง่ายมากที่จะกินจนได้สารเสพติดในขนาดที่สูงเกินไป ซึ่งกว่าที่จะรู้ผลที่เกิดขึ้นจาก THC นั้น ก็อาจเกินกว่าที่ร่างกายรับไหว         เรารู้กันมานานแล้วว่า สารเสพติด THC ในกัญชานั้นออกฤทธิ์แทบจะทันทีทันใดเมื่อสูบควันเข้าถึงปอด เพราะมีการส่งต่อสารเสพติดนั้นเข้าสู่เลือดในพริบตาที่ปอด ในขณะที่ผลของ THC จากการกินนั้นต้องรอเวลาย่อยผ่านระบบทางเดินอาหาร ไปตับก่อนเข้าสู่เลือดที่ต้องรอเวลาสักระยะหนึ่ง ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละคน คนที่มีการเผาผลาญเร็วอาจรู้สึกถึงผลกระทบได้เร็วขึ้นเนื่องจากร่างกายสามารถย่อยและประมวลผลสิ่งที่กินได้เร็วขึ้น การกินกัญชาตอนท้องว่างอาจทำให้ได้ผลเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการกินแบบกินร่วมกับอาหารอื่นๆ หรือหลังกินอาหาร ดังนั้นหลังการกินอาหารใส่กัญชาสิ่งที่ผู้บริโภคอาจนึกไม่ถึงคือ การออกฤทธิ์ของสารเสพติดในกัญชา (ถ้ามี) อาจเริ่มขึ้นหลังจากอยู่หลังพวงมาลัยรถยนต์แล้วเริ่มเคลิบเคลิ้มไปกับการจราจร         อาหารบางอย่างเช่นลูกอมหรือลูกกวาดนั้น การดูดซึมของ THC อาจทำให้เมาตั้งแต่ขนมนั้นอยู่ในปาก ดังบทความเรื่อง  Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ในวารสาร  European Journal of Internal Medicine ของปี 2018 ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาในลูกอมที่เรียกว่า hard candy นั้นอาจเริ่มออกฤทธิ์ใน 15–45 นาที ในขณะที่กัญชาในอาหารอื่นอาจต้องรอเวลา 60–180 นาที กว่าที่ผู้บริโภคเริ่มเมา         ความสามารถทนได้ต่อการออกฤทธิ์ของสารเสพติดทั้งหลายในกัญชา (Individual tolerance) นั้นต่างกันในแต่ละคน สายเขียวที่จัดว่าได้สูบหรือกินกัญชามาเป็นเวลานานสามารถทนกับฤทธิ์ของ THC ได้ในปริมาณสูงระดับหนึ่งจึงจะเมาตามต้องการ ส่วนผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์จากกัญชาอาจรู้สึกถึงฤทธิ์ที่รุนแรงอย่างรวดเร็วจนหัวทิ่มตำหลังได้ THC จากกัญชาในระยะเวลาไม่นานเท่าใด  ซึ่งตรงกับข้อมูลในบทความเรื่อง Practical considerations in medical cannabis administration and dosing ซึ่งกล่าวแล้วข้างต้นที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อได้รับ THC ในปริมาณหนึ่ง สายเขียวส่วนใหญ่อาจเมากัญชาแค่ไม่กี่ชั่วโมง (เฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 4 ชั่วโมง) ในขณะที่มือใหม่หัดเสพอาจเป๋ได้ถึง 6–8 ชั่วโมง และไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่พบว่า คนที่ไวต่อสารเสพติดต่างๆ ในกัญชาสูงอาจเมาได้นานถึง 8–12 ชั่วโมง        เป็นเรื่องยากที่จะกำหนดปริมาณของ THC ในกัญชาว่า ควรเป็นเท่าใดในอาหารจึงจะไม่ออกฤทธิ์ที่ก่อปัญหาในคนที่ไวต่อการเมากัญชา  มีบางบทความในอินเตอร์เน็ทเสนอว่า สาร THC ในปริมาณที่ต่ำแค่ 0.5 มิลลิกรัม เรื่อยไปจนถึง  2.5-5.0 มิลลิกรัมนั้นไม่ควรส่งผลเสียในผู้บริโภค อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยรับรองข้อเสนอนี้ สำหรับสายเขียวมืออาชีพที่นิยมการใช้หรือกินผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชามักกล่าวว่า THC ประมาณ 10-15 มิลลิกรัม ก็ควรส่งผลให้ร่างกายรู้ได้ถึงฤทธิ์ของสารเสพติดดังกล่าวแล้วหลังการเสพเข้าไป 2-3 ชั่วโมง และเมื่อใดที่ขนาดของสาร THC ขึ้นไปถึง 20 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่มืออาชีพรับได้นั้น มือใหม่อาจจะได้รับโอกาสรู้ว่า ชีวิตหลังความตายเป็นอย่างไร โดยไม่มีโอกาสกลับมาบอกเล่าให้เพื่อนสนิทมิตรสหายฟัง         ปริมาณจิ๊บ ๆ  (สำหรับบางคน) ของ THC ที่ 20 มิลลิกรัมนั้น ดูแล้วไม่เท่าไรเลยในผู้ที่ชินกับการสูบกัญชา แต่ปริมาณเดียวกันนี้อาจก่ออันตรายต่อมือใหม่หัดกินอาหารใส่กัญชา ดังที่บทความทบทวนเอกสารเรื่อง Tasty THC Promises and Challenges of Cannabis Edibles ในวารสาร Methods Rep RTI Press ของปี 2017 ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าผลกระทบจาก THC ในอาหารที่กินได้อาจปรากฏในบางคนด้วยปริมาณที่ต่ำแค่ 2.5 มิลลิกรัม ในขณะที่คนอื่น ๆ ต้องการสูงถึง 50 มิลลิกรัมจึงจะซาบซึ้งถึงฤทธิ์ของ THC ช่วงที่กว้างของขนาดที่ออกฤทธิ์ในแต่ละบุคคลของ THC นี้ดูเป็นการตอกย้ำถึงหลักการว่า คนที่ยินดีละศีลข้อ 5 ควรเริ่มต้นกินอาหารใส่กัญชาด้วยปริมาณที่น้อยก่อนถ้ายังคิดว่า โลกนี้ยังน่าอยู่ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 ข้อควรรู้การมีกัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง

        หลังจากรัฐไฟเขียวให้สามารถใช้กัญชามาเป็นส่วนประกอบในอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางแล้วนั้น ปรากฏว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก กรณีอาหารนั้นมีการผุดสารพัดเมนูคาวหวานมาเรียกความสนใจจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก และโฆษณากันให้ครึกโครม แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็คงจะเกิดข้อห่วงใยขึ้นตามมาด้วยว่า เรื่องนี้จะมีผลกระทบกับสุขภาพตามมาอย่างไรหรือไม่ ฉลาดซื้อจึงสอบถามข้อกังวลใจนี้ต่อผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ชำนาญการเรื่องการแพทย์แผนไทย ผู้เชี่ยวชาญการใช้ประโยชน์จากกัญชา และ อย. ซึ่งเป็นผู้ที่กำกับดูแลเกี่ยวกับเรื่องนี้ มานำเสนอต่อผู้อ่านเพื่อเป็นข้อพึงรู้และข้อควรระวังหากคิดลอง กัญชาในอาหารและเครื่องสำอาง         “ต้องเฝ้าระวังและดูว่าหน่วยงานจะทำหน้าที่ดูแลได้เท่าทันตลาดหรือไม่”         รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมีการติดตามผลกระทบกันต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงได้ง่าย ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างการทยอยออกประกาศหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาผสมใน ยา อาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ทว่ายังไม่ครบถ้วน         ในกรณีของการผสมในเครื่องสำอางยังอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งการกำหนดปริมาณสารเมาหรือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์  ทั้งเครื่องสำอางและอาหารพร้อมรับประทาน สามารถขออนุญาตผลิตได้โดยการขอจดแจ้ง ส่วนอาหารที่ปรุงขายทั่วไปสามารถทำได้เลยเพียงแต่ต้องมีที่มาของกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบ อยู่เสมอทั้งแหล่งที่มาและการปนเปื้อนสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย เช่น โลหะหนัก         สำหรับแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเนื่องจากการจดแจ้งและการตรวจสอบมีข้อกำหนดให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและอาหาร เครื่องดื่มสำเร็จรูปที่ผสมกัญชาต้องขอจดแจ้งจาก อย. จึงควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติและปริมาณของสาร THC ในผลิตภัณฑ์ทั้งตอนขอจดแจ้งและควรมีการตรวจสอบติดตามเมื่อวางขายในตลาดแล้วอย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่พิจารณาแค่จากเอกสาร         “ฉลาก” ควรกำหนดให้ระบุข้อมูล คำเตือนและข้อห้าม การแจ้งปริมาณอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น การห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ เป็นต้น รวมทั้ง จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน ตัวอักษรมีขนาดให้อ่านได้ไม่ยาก         “การโฆษณา” ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อาจมีข้อความที่โฆษณาเกินจริงและจูงใจให้บริโภคเกินความจำเป็น ดังเห็นจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่พบว่ามีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงมีคำถามว่า แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะกำกับติดตามอย่างไรให้ทันท่วงที         ปัจจุบันมีการคาดการณ์ตลาดและผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกัญชาในเชิงเศรษฐกิจไว้สูง ซึ่งหมายความว่าจะมีผู้บริโภคจำนวนมาก มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ได้ ดังนั้นการโฆษณาคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ผู้บริโภคต้องเท่าทันต่อการโฆษณาเกินจริ และช่วยกันสอดส่องโฆษณาผิดกฎหมาย  อย. ก็ต้องสร้างกลไกเพื่อติดตาม จับกุม และแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ        อย่างไรก็ตามประชาชนเองก็ควรจะรู้เท่าทัน โดยการศึกษาข้อดี ข้อด้อย ข้อควรระวังก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีประโยชน์แต่ต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยเท่านั้น ห้ามการซื้อใช้เองตามคำโฆษณา เพราะอาจได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพมีการแนะนำใช้ที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม         “การเลือกรับประทานอาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชานั้น ผู้บริโภคต้องถามตัวเองด้วยว่ามีความจำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์ผสมกัญชาหรือไม่ มากน้อยเพียงไร เช่น ในกรณีเครื่องสำอาง ต้องรู้ว่ามีอะไรบ้างที่ อย.อนุญาต สรรพคุณที่อ้างมีการทดสอบหรือไม่ อย่างไร เทียบเท่าหรือดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ราคาสมเหตุผลหรือไม่”          “การออกแบบเมนูต้องคิดให้ดีไม่ให้เกิดปัญหาและเยาวชนต้องได้รับการป้องกัน”         ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ระบุว่า คนไทยมีประวัติการใช้ใบกัญชาในอาหารมานาน ตั้งแต่เป็นตำรับในวัง โดยมีหนังสือแม่ครัวหัวป่าก์ปี พ.ศ. 2451 และจากการสืบค้นความรู้จากหมอพื้นบ้านก็พบว่าใช้ใบกัญชาเป็นส่วนผสมหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยที่มีปัญหานอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ แต่เมื่อรักษาหายแล้วก็หยุดยา ดังนั้นจึงมองเห็นว่าใบกัญชาน่าจะมีประโยชน์บางอย่างเมื่อผสมลงไปในอาหาร         อย่างไรก็ตามมีคนกังวลว่ากัญชาไทยมี THC สูง ดังนั้นจึงมีการสืบค้นข้อมูลในต่างประเทศ เช่น แคนาดา พบว่าหากจะนำกัญชาหรือการชงมาผสมในอาหารจะต้องมี THC น้อยกว่า 10 มิลลิกรัมต่อแพ็ค เราจึงมาศึกษาและวิเคราะห์ ใบกัญชาที่รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปลูกก็พบว่า 1 ใบ มี THC ประมาณ 1-2 มิลลิกรัม จึงไม่ควรรับประทานเกิน 5-10 ใบ ซึ่งสอดคล้องกับองค์ความรู้ดั้งเดิมบอกไว้ว่า 1 คนไม่ควรรับประทานเกิน 5 -8 ใบ จึงคิดว่าปริมาณนี้เป็นปริมาณที่แนะนำ         ทั้งนี้เมื่อรับประทานแล้วหากรับประทานในปริมาณน้อยก็มีการศึกษาพบว่า กัญชาเป็นต้นทางของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรสนั่นเอง และในทางแผนไทยระบุว่าเป็นตัวช่วยในการขับเคลื่อนพลังงานจึงส่งผลให้กินข้าวได้ นอนหลับดี         สำหรับ “ใบสด” ถือว่าไม่มีสารเมาแต่เป็นกรดของสารเมาที่ไม่ผ่านเยื่อหุ้มสมองเข้าไป ดังนั้นโอกาสจะเกิดอันตรายกับสมองก็น้อย แต่ถ้านำมาผ่านความร้อนจะทำให้กรดนั้นสลายไปแล้วเกิดเป็นสารเมา ดังนั้นยิ่งผ่านความร้อนมาก ก็จะยิ่งมีสารเมาในปริมาณมาก หรือถ้ามีน้ำมันอยู่ในตำรับด้วย เช่น ผัดกะเพราก็จะสกัดเอาสารเมาออกมาได้เยอะ  แต่การ “ผัดให้สลบ” อย่างองค์ความรู้บางพื้นที่ คือต้มแกงให้เดือดจนทุกอย่างสุกแล้วแล้วใส่ใบกัญชาทีหลังก็จะ “แค่สลบ” สารเมาก็จะน้อย ส่วนการทอด “เทมปุระ” สารเมาก็จะน้อย เพราะไปอยู่ในน้ำมันหมด ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของการออกแบบเมนู         การออกแบบเมนูอาหารนั้นต้องคิดเยอะ แม้ว่าทางการแพทย์ระบุว่า “สารเมา” ช่วยเพิ่มความอยากอาหารและช่วยในการนอนหลับ แต่การใช้ในบางคนต้องระวังให้มาก         กลุ่มที่ต้องหลีกเลี่ยงคือ “เยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปี” เพราะพัฒนาการของสมองจะสมบูรณ์ที่ 25 ปี หากได้รับสารจากกัญชาเข้าไปเร็วอาจจะเกิดผลกระทบได้ นอกจากนี้ “คนท้องหญิงให้นมบุตร” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะไม่มั่นใจว่าสารนี้จะผ่านไปทางรกหรือน้ำนมหรือไม่ รวมถึงคนที่เป็น “โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ” ก็ไม่ควรรับประทาน เพราะบางครั้งผู้ป่วยอาจจะไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคนั้นอยู่ทั้งในภาวะที่คุมได้หรือไม่ได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานไปเลย สุดท้ายคือ “กลุ่มที่มีการใช้ยาวาฟารีนและใช้ยาที่มีผลต่อสมอง”         ส่วนเรื่องเครื่องสำอางตอนนี้ที่ให้ใช้ จะเป็นลักษณะของ “น้ำมันเมล็ดกัญชง น้ำมันเมล็ดกัญชา” ซึ่ง มีกรดโอเมก้าที่ดีช่วยในเรื่องของความชุ่มชื้น ปรับสภาพผิวช่วยลดรอยเหี่ยวย่น แต่สิ่งที่กังวลคือสาร cbd ยังมีรายงานว่าก่อให้เกิดการระคายเคืองเช่นกัน        “เรื่องเหล่านี้จำเป็นจะต้องให้ความรู้แก่ประชาชน และผู้ประกอบการ เพราะเราจะไปตามจับคนที่ทำผิดทุกคนไม่ได้ เพราะฉะนั้นประชาชนจึงจำเป็นจะต้องรู้ว่าตัวเองควรที่จะใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้หรือไม่ เพราะนอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังจะมีความเสี่ยงมากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ หรือถ้าเป็นเครื่องสำอางก่อนจะซื้อ ก็ต้องดูด้วยว่ามีความคุ้มทุนมีความคุ้มค่าที่เราจะเสียเงินซื้อหรือไม่ เช่นถ้าบอกว่าช่วยในเรื่องของการลดริ้วรอยแต่ราคาสูงมากเป็นหมื่นบาท มีเงินที่จะจ่ายตรงนี้หรือว่ามีผลิตภัณฑ์ตัวอื่นๆ ที่ช่วยในเรื่องเดียวกันแต่ราคาเหมาะสมกว่ามีหรือไม่ ต้องคิดในหลายๆ มุม ซึ่งความรู้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการตัดสินใจ”         ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะต้องมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ เพราะเคยมีรายงานในต่างประเทศ พบว่าในผลิตภัณฑ์บรรจุปิดสนิท มีปริมาณ THC เกิน จากปริมาณที่กำหนด ส่วนของไทยในระยะแรกคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา THC เกิน แต่กังวลว่าจะไม่มีสารใดๆ เลยมากกว่าแล้วนำมาหลอกขายในราคาสูง เพราะตอนนี้กัญชาหายาก จึงต้องระมัดระวังเอาไว้ ส่วนอนาคตก็ต้องระวังมากๆ ในเรื่องการเข้าถึงของกลุ่มเยาวชน         “ต้องควบคุมด้วยการมีฐานข้อมูลแหล่งปลูก ร้านจำหน่ายที่ประชาชนตรวจสอบได้สะดวก”                 “นายวีระพงษ์ เกรียงสินยศ” ผอ.มูลนิธิสุขภาพไทย ย้ำว่า ตนสนับสนุนเรื่องการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพราะมีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบ มีการรับรองการรักษาทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก ซึ่งที่ผ่านมาก็ไม่พบว่ามีอันตรายอะไร ทั้งนี้เป็นเพราะการใช้ในทางการแพทย์นั้นอยู่ภายใต้การควบคุมดูแล ทั้งในเรื่องของปริมาณที่ควรได้รับและผู้ป่วยที่ควรได้รับ จึงถือว่าสามารถควบคุมดูแลได้         แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การนำส่วนต่างๆ ของกัญชามาผสมในอาหาร เครื่องดื่ม โดยพยายามชูว่าเป็นพืชผักสมุนไพร เป็นอาหารวิเศษที่จำเป็นต่อร่างกาย ตรงนี้อยากจะให้เฝ้าระวังให้มาก แม้จะตั้งความหวังเอาไว้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจแต่ต้องมีมิติในการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เนื่องจากต้องยอมรับว่าในใบ กิ่ง ก้าน นั้นยังมีสารเมาอยู่บ้างแม้จะมีในปริมาณน้อยก็ตาม การประกอบอาหารก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้อย่างมีความรู้         ต้องมีมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งการที่หน่วยงานระบุว่ามีการควบคุมในส่วนของแหล่งปลูกกัญชาแล้ว ส่วนใครจะซื้อส่วนประกอบกัญชา (ยกเว้นช่อดอกและใบรองดอก) มาปรุงอาหารไม่ต้องขออนุญาตอีกนั้น มองว่ายังไม่เพียงพอควรมีการควบคุมที่ดี โดยควรทำฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกันทั้งแหล่งปลูก และปลายทางคือร้านอาหาร ร้านค้าที่นำกัญชามาปรุงอาหารด้วย โดยจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ต แอพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบได้ เพราะทุกวันนี้ประชาชนก็ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีแล้ว โดยเห็นได้จากการเยียวยาช่วยเหลือจากภาครัฐให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 ก็ดำเนินการผ่านโทรศัพท์มือถือได้กันทั้งผู้ค้าขาย และผู้บริโภคอยู่แล้ว ซึ่งหากทำได้เท่ากับเป็นการคอยเฝ้าระวังหรือให้รู้ด้วยว่าวัตถุดิบนี้ไปอยู่ตรงไหน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความปลอดภัยและมีข้อมูลให้ประชาชนรับรู้ได้ตลอด         “ส่วนที่น่ากังวลคือกรณีใน 1 ร้านมีหลายเมนูที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งเมนูคาว และของหวาน ไอศกรีม รวมถึงเครื่องดื่มอาจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเมาในกัญชาจากการรับประทานเมนูที่หลากหลายได้ โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน เพราะอย่างที่บอกว่าหลายๆ เมนู คือไอศกรีม ของหวาน ขนมเค้ก ซึ่งเป็นของที่เด็กๆ เขารับประทานกันอยู่ ตรงนี้งานทางวิชาการหรือหน่วยงานของรัฐควรจะมีหลักเกณฑ์อะไรหรือไม่ เพราะตอนนี้รับประทานกันเพลินเลย”         เพราะฉะนั้นในส่วนนี้จะต้องมีการกำหนดกลุ่มผู้ใช้อย่างชัดเจน โดยในส่วนเจ้าของร้านอาหาร เครื่องดื่มใดมีเมนูกัญชาเป็นส่วนประกอบ ควรจะติดป้ายประกาศให้ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกว่าจะรับประทานหรือไม่ แสดงข้อห้ามชัดเจนว่าไม่จำหน่ายให้กับเด็ก เยาวชน หญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ส่วนภาครัฐ  โดยเฉพาะอย. ควรจะมีเกณฑ์ประกาศอย่างเป็นทางการว่าใครที่ไม่ควรรับประทาน หรือต้องรับประทานด้วยความระมัดระวัง และมีคำแนะนำปริมาณในการปรุง คำแนะนำกับผู้บริโภคด้วยว่า ตลอดจนข้อควรระวังหลังรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา แม้จะมีปริมาณเล็กน้อย เพราะแต่ละคนมีความไวต่อปริมาณหรือสารในกัญชาไม่ไม่เท่ากัน          “มีมาตรการสุ่มตรวจแน่นอนเพื่อดูว่าร้านค้าเอามาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่”        “ภญ.สุภัทรา บุญเสริม” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจากที่อย.ปลดล็อค ส่วนประกอบของกัญชา ยกเว้น ดอก และใบรองดอกออกจากการเป็นยาเสพติด และอนุญาตให้นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหารเครื่องดื่มได้นั้น ทำให้ใบกัญชา กัญชง มีความต้องการสูงมาก เพื่อนำไปประกอบในเมนูอาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ในท้องตลาด แต่ต้องยึดหลักกฎหมายว่าต้องซื้อมาจากแหล่งปลูกที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายเท่านั้น         อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ในเรื่องของการควบคุมยังเป็นการควบคุมที่ต้นน้ำ คือแหล่งที่ปลูกต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย ซึ่งผู้ปลูกสามารถดาวน์โหลดเอกสารรับรอง และนำไปแสดงต่อผู้ที่ต้องการซื้อไปเป็นส่วนประกอบอาหารได้สบายใจว่าได้รับของที่ถูกกฎหมายแน่นอน         แต่ในส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านค้าที่จะใช้กัญชาไปปรุงอาหารนั้นทาง อย.ยังไม่ได้มีข้อกำหนดว่าต้องมาขออนุญาตใช้ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถเปิดได้เลยตามมาตรฐานร้านอาหารปลอดภัยตามหลักเกณฑ์ของกรมอนามัย แต่ อย.จะมีมาตรการสุ่มตรวจเพื่อดูว่ากัญชาที่เอามาใช้นั้นมาจากแหล่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ถือเป็นการควบคุมในระดับหนึ่ง แต่ไม่ต้องถึงขั้นต้องแขวนใบอนุญาตแหล่งที่มาของกัญชาให้เห็นชัดก็ได้ เพียงแต่เมื่อไรที่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ ทางร้านจะต้องสำแดงต่อเจ้าหน้าที่ได้         สำหรับคำแนะนำแก่ผู้บริโภคนั้น เบื้องต้น อย.จะมีคำแนะนำให้ทราบตลอดถึงผลดี ผลเสีย ข้อควรระวัง และกลุ่มที่ไม่ควรรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เพียงแต่ไม่ได้ออกเป็นประกาศอย่างเป็นทางการเท่านั้น อาทิ หญิงตั้งครรภ์ คนให้นมลูก เด็ก เยาวชน คนที่รับประทานยาบางประเภท เช่น ยาละลายลิ่ม  คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจต้องระมัดระวังเวลารับประทาน แต่ก็ไม่ได้ห้ามรับประทาน         “เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่าใบกัญชาไม่ใช่ผักหรือพืชผักสวนครัว เวลารับประทาน ต้องระมัดระวัง เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน แม้ว่าในใบจะมี THC ต่ำแต่ก็ไม่รู้ว่าในใบยังมีสารอะไรอีกหรือไม่ที่เรายังไม่รู้เพราะฉะนั้นการรับประทานจึงต้องระมัดระวัง”         สำหรับกรณีการนำไปผสมในเครื่องสำอางนั้น เนื่องจากพบว่ามีประโยชน์ เช่น น้ำมันเมล็ดกัญชง ให้ความชุ่มชื้น   ซึ่ง สาร CBD ก็ช่วยลดการอักเสบ ขณะเดียวกัน ตัวเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า 3 มีโปรตีนสามารถนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ ปัจจุบันมีผู้มาขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงหรือกัญชายังไม่เยอะ เพราะกฎหมายเพิ่งเปิด คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างการคิดค้นผลิตภัณฑ์ แต่หลังจากนี้น่าจะมีจำนวนมากขึ้น ส่วนเรื่องราคานั้น ทางอย. ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง แต่พยายามที่จะสำรวจราคาเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลและเป็นไกด์ไลน์เบื้องต้นสำหรับคนซื้อและคนขาย เพื่อให้เป็นราคามาตรฐานเอาไว้เพื่อทำให้ไม่เกิดการโก่งราคา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 242 รู้เท่าทันกัญชากินได้

        ทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงให้กัญชาเป็นสารที่สามารถผสมในอาหารและขนมต่างๆ เพื่อการบริโภคได้อย่างไม่ผิดกฎหมาย รวมทั้งประเทศไทยก็พยายามให้ส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ดอก ไม่เป็นสารเสพติด สามารถนำมาบริโภคหรือใส่ในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ (โดยยังมีระเบียบการผลิต การปลูกกัญชาควบคุมอยู่) มีร้านอาหารบางร้านทั้งภาครัฐและเอกชนนำกัญชามาเป็นเมนูของอาหารที่ร้าน กัญชากินได้ในอาหารและขนมต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ มีข้อดีข้อเสียต่อสุขภาพอย่างไร เรามารู้เท่าทันกันเถอะ กัญชากินได้คืออะไร         กัญชากินได้คืออาหารและเครื่องดื่มที่ผสมกัญชา ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมกันทั่วโลกในขณะนี้ ความจริงแล้วการกินกัญชามีมานานหลายพันปีทั้งในเอเชียและประเทศทางตะวันตก ปัจจุบัน ในประเทศอเมริกา แคนาดา ยุโรป สามารถหาซื้อขนมปัง หมากฝรั่ง ช็อกโกแลต ยาอม น้ำดื่มใส่กัญชา เป็นต้น ในบ้านเราก็มีเมนูอาหารหลายอย่างที่เริ่มนำใบกัญชามาใส่ในอาหาร ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า จะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่         การกินกัญชาในอาหารทำให้เราได้รับสรรพคุณของกัญชาโดยไม่ต้องสูบ การกินก็ง่ายกว่าและดึงดูดใจมากกว่า เราจึงต้องรู้วิธีการกินและการดื่มที่เหมาะสม เพราะเมื่อกินกัญชาเข้าไป กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์ต้องใช้เวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง เพราะต้องผ่านระบบทางเดินอาหารก่อนดูดซึมเข้าในกระแสเลือด จึงอาจใช้เวลาเป็นชั่วโมงและระดับความเข้มข้นของกัญชาจะค่อยๆ เพิ่มจนถึงขีดสูงสุด ดังนั้น ระดับของกัญชาในเลือดจึงอาจกินเวลา 2-3 ชั่วโมงจนถึงตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับว่าเรากินกัญชามากน้อยแค่ไหน กลุ่มเสี่ยงต่อการกินกัญชาในอาหาร         วารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการกินกัญชาในอาหารคือ กลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงในการกินมากเกินไป และเผลอกินเพราะนึกว่าเป็นขนมทั่วไป         ในต่างประเทศ กัญชาในอาหารหลายชนิดจะทำเป็นคล้ายลูกกวาด หมากฝรั่งที่มีรสหวาน ช็อกโกแลต ซึ่งผสม THC (tetrahydrocannabinol) ซึ่งมีผลต่อจิตประสาท ทำให้เกิดอาการทางจิตได้ กัญชากินได้เหล่านี้เหมือนขนมเด็ก ทำให้เด็กหลงกินเข้าไป         กัญชากินได้ต้องผ่านการย่อยและดูดซึม ทำให้ผู้ที่ไม่รู้บริโภคมากเกินไป เพราะออกฤทธิ์จะช้า ทำให้กินเข้าไปมาก         กลุ่มผู้สูงอายุก็เป็นอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยง เพราะต้องการการบริโภคเพื่อช่วยให้จิตใจสบาย และเจริญอาหาร แต่ก็มีรายงานว่า มีผลข้างเคียงร้ายแรงต่อสุขภาพ บางรายต้องรับรักษาตัวในโรงพยาบาล ในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ก็มีรายงานผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลจากการกินกัญชาในอาหาร         ปัจจัยที่มีผลต่อการกินกัญชากินได้คือ เพศ น้ำหนัก อาหาร และความทนต่อกัญชา         ปัญหาใหญ่ของการกินกัญชาคือ กว่ากัญชาจะออกฤทธิ์จะนานกว่าการสูบ ประมาณว่า 3 ชั่วโมงหลังการกิน เมื่อไม่รู้สึกว่ากัญชาออกฤทธิ์ ก็จะกินมากขึ้นเพื่อให้ออกฤทธิ์ เมื่อกัญชาออกฤทธิ์ก็จะเกิดอาการของการกินกัญชามากเกินไป ทำให้เกิดอาการทางจิต เกิดความหวาดกลัว สับสน และเกิดภาพหลอน ในผู้สูงอายุสามารถเกิดอาการทางหัวใจได้         ดังนั้น กัญชาในอาหารมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็ก วัยรุ่น และผู้สูงอายุ จึงต้องมีมาตรการในการดูแลอย่างรอบคอบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ผู้บริโภคได้อะไรจากน้ำมันกัญชา

        ในช่วงที่กัญชา (Cannabis indica) กำลังจะถูกกฏหมายนั้นพืชที่เป็นพี่น้องของกัญชาคือ กัญชง (Cannabis sativa) ก็ได้เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของสังคมไทยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากกัญชง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการสรรทนาการ แต่เป็นด้านการนำเปลือกจากลำต้นไปทำเส้นใยเพื่อผลิตสินค้าหลายชนิดที่มีความทนทาน ทำเป็นเส้นด้ายและเชือกสำหรับการทอผ้าเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ผลิตเป็นกระดาษ ใช้ดูดซับกลิ่นของน้ำหรือน้ำมัน ใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือ การนำน้ำมันที่ สกัดจากเมล็ดกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันเฮมพ์ (Hemp oil หรือ Hemp seed oil) มาใช้ในกิจการด้านอาหารและโภชนาการและการนำน้ำมันที่ สกัดจากต้นและใบกัญชง ซึ่งเรียกว่า น้ำมันซีบีดี (cannabidiol oil) มาใช้เป็นยาบำบัดบางโรคที่เกี่ยวกับสมอง         น้ำมันเฮมพ์นั้นได้มาจากการบีบ (หีบ) น้ำมันที่อยู่ในเมล็ดกัญชง ซึ่งมีขั้นตอนทำนองเดียวกับการสกัดน้ำมันจากเมล็ดพืชน้ำมันทั่วไป สิ่งที่ควรทราบคือ น้ำมันเฮมพ์นั้นไม่ควรมีสาร CBD (cannabidiol) หรือ THC (tetrahydrocannabinol) หรือสารแคนนาบินอยด์ชนิดอื่นๆ เพราะในเมล็ดกัญชงมีสารเหล่านี้น้อยมากจนถึงไม่มีเลย         ข้อมูลทางโภชนาการของน้ำมันเฮมพ์คือ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ เช่น วิตามินอี วิตามินบีต่าง ๆ ธาตุโปแทสเซียมและธาตุแมกนีเซียม ส่วนกรดไขมันไม่อิ่มตัวนั้นมีประมาณร้อยละ 82 โดยเป็นกรดไขมันโอเมกา-6 ราวร้อยละ 54 และมีกรดไขมันโอเมกา-3 มีร้อยละ 22 (ซึ่งถือว่ามีในปริมาณสูงกว่าเมล็ดพืชอื่น ๆ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 7) แต่เมื่อเทียบกับน้ำมันจากเมล็ด flax (ลำต้นถูกใช้ทอเป็นผ้าลินิน) ซึ่งมีกรดไขมันโอเมกา-3 ราวร้อยละ 53 แล้วน้ำมันเฮมพ์ดูว่าแพ้ราบคาบ (โดยเฉพาะเรื่องราคา) นอกจากนี้น้ำมันเฮมพ์ยังเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ จึงเหมาะสำหรับใช้ปรุงอาหารที่ไม่ต้องใช้ความร้อนเช่น สลัดผัก หรือทำเครื่องสำอางค์ เช่น ครีมทาผิว แชมพู และสบู่ เป็นต้น        สำหรับน้ำมันซีบีดี (CBD oil) ซึ่งสกัดมาจากทุกส่วนของกัญชงยกเว้นเมล็ดนั้น มีสารสำคัญหลักคือ สาร CBD และสารแคนนาบินอยด์อื่นๆ ที่ไม่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับการทำงานของสมอง น้ำมันซีบีดีนั้นถ้าสกัดโดยไม่ผ่านการแยกสารอาจมีสาร THC ปนนิดหน่อยขึ้นกับกฏหมายของแต่ละประเทศอนุญาตให้มีได้เท่าไหร่ เช่น ในยุโรปนั้นผลิตภัณฑ์ซีบีดีที่ถูกกฏหมายสามารถมี THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.2 ส่วนในสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีสาร THC ปนได้ไม่เกินร้อยละ 0.3 สำหรับไทยนั้นในอนาคตอันใกล้น่าจะกำหนดปริมาณ THC ในผลิตภัณฑ์ซีบีดีมีได้ไม่เกินร้อยละ 1         ในอนาคตอันไม่ไกลนักผู้เขียนเข้าใจว่า น้ำมันซีบีดีคงได้รับการยอมรับให้ใช้เป็นยาบำบัดโรคบางชนิดตามกฏหมายในหลายประเทศ ดังนั้นในการซื้อน้ำมันซีบีดีที่ขายออนไลน์ สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรกระทำคือ คุยกับแพทย์ที่รู้และเข้าใจในโรคที่ผู้ต้องการใช้น้ำมันซีบีดีเป็นเสียก่อน ไม่ควรเป็นอย่างยิ่งในการสั่งซื้อออนไลน์มาใช้ตามคำแนะนำของผู้ไม่รู้จริง         ประเด็นสำคัญที่มีการเตือนไว้ในอินเทอร์เน็ต คือ สินค้าที่ระบุว่าเป็นน้ำมันซีบีดีนั้นมีหลายลักษณะ ซึ่งราคานั้นต่างกันมากแม้แต่ในแพลทฟอร์มของการค้าออนไลน์เดียวกัน เนื่องจากองค์ประกอบที่ต่างกันน้ำมันซีบีดีจึงมีการขายอยู่ใน 3 รูปแบบคือ         ลักษณะแรกเป็นน้ำมันที่สกัดอย่างง่ายจากต้นและใบของกัญชงดังนั้นจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอะไรต่อมิอะไรผสมอยู่ ซึ่งอาจมีสาร THC ปนบ้างเล็กน้อย         ส่วนลักษณะที่สองนั้นเป็นน้ำมันที่มีการสกัดแยกให้ได้สารในกลุ่มของแคนนาบินอยด์ต่าง ๆ ผสมกันแต่ไม่มี THC แล้ว และ         ลักษณะสุดท้ายเป็นน้ำมันที่มีการแยกเอาเฉพาะแคนนาบิไดออลอย่างเดียวออกมา ซึ่งลักษณะสุดท้ายนี้มีราคาแพงที่สุดและควรใช้ในลักษณะยาบำบัดโรคที่มีการพิสูจน์แล้วว่าได้ผล        ข้อมูลจากการวิจัยเกี่ยวกับน้ำมันซีบีดีที่มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ นั้น ผู้บริโภคควรทราบระดับการวิจัยว่าถึงขั้นใดคือ ในคน ในสัตว์ หรือระดับหลอดทดลอง ซึ่งความจริงแล้วก็ขึ้นกับชนิดของความเจ็บป่วยว่าทดลองได้ถึงระดับใดด้วย ผู้เขียนได้ให้ระหัส doi หรือ Digital object identifier สำหรับผู้ที่สนใจและสามารถเข้าค้นหาในอินเตอร์เน็ทเพื่อดูรายละเอียดของแต่ละบทความ ตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่าน้ำมันซีบีดีมีผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น        ·  เจ็บปวดเรื้อรัง ปวดไมเกรน เจ็บปวดที่เกิดจากเส้นประสาท และเจ็บปวดจากมะเร็ง (ศึกษาได้ผลในคนไข้ doi: 10.1186/s10194-018-0862-2)         ·  หยุดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง (ศึกษาได้ผลในเซลล์มะเร็งเต้านมที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi: 10.1016/j.toxlet.2012.08.029)         ·  โรคลมชักหรือลมบ้าหมู (การศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1007/s13311-015-0375-5)         · โรคปลอกประสาทอักเสบของระบบประสาทส่วนกลาง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.3389/fneur.2017.00299)         ·  กล้ามเนื้ออ่อนแรง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ที่เลี้ยงในหลอดทดลองและผลในสัตว์ทดลอง doi: 10.4103/1673-5374.197125)         ·  โรคพาร์กินสัน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1089/can.2017.0002)         ·  อาการอักเสบที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.4155/fmc.09.93)         · สิว (ศึกษาได้ผลในเซลล์ผิวหนังที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1172/JCI64628)         ·  โรคสะเก็ดเงินบนผิวหนัง (ศึกษาได้ผลในเซลล์ keratinocyte ที่เลี้ยงในหลอดทดลอง doi:10.1016/j.jdermsci.2006.10.009)         ·  กระดูกหัก (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi 10.1002/jbmr.2513)         ·  โรควัวบ้า (ศึกษาได้ผลในสัตว์ทดลอง doi:10.1523/JNEUROSCI.1942-07.2007)         ·  เบาหวาน (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1016/j.ajpath.2011.11.003)         ·  ความดันโลหิตสูง (ศึกษาได้ผลในคน doi: 10.1172/jci.insight.93760)         นอกจากนี้ยังมีข้อมูลถึงผลของน้ำมันซีบีดีต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  คลื่นไส้ วิตกกังวล สมาธิสั้น โรคจิตเภท อาการติดยา อาการอยากเหล้า อยากบุหรี่ โรคหัวใจ อาการลำไส้แปรปรวน และความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่าน้ำมันซีบีดีนั้น เข้าข่ายเป็นยาครอบจักรวาฬซึ่งพึงต้องระวังอย่างมากในการซื้อหามาใช้         อีกประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจคือ การสกัดน้ำมันซีบีดีจากต้นกัญชงมีขั้นตอนที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสกัดน้ำมันจากเมล็ดกัญชงมาก เพราะน้ำมันซีบีดีนั้นมีปริมาณน้อยมาก ต้องใช้ต้นกัญชงจำนวนมากในการสกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการได้น้ำมันซีบีดีคุณภาพสูงต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่มีราคาแพงซึ่งใช้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวที่อุณหภูมิต่ำมาก เพื่อให้ได้น้ำมันที่เมื่อระเหยเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกแล้วได้น้ำมันที่ปราศจากกลิ่นของตัวทำละลาย จึงทำให้ราคาน้ำมันซีบีดีแพงกว่าน้ำมันเฮมพ์หลายเท่าตัว แพลทฟอร์มต่าง ๆ ที่มีการขายน้ำมันจากกัญชงจึงพยายามโฆษณาให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด (เอง) ว่า น้ำมันเฮมพ์มีศักยภาพคล้ายน้ำมันซีบีดีหรือสินค้าบางยี่ห้อระบุเลยว่า น้ำมันที่ขายนั้นสกัดจากทั้งใบ ต้น ดอกและเมล็ด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ผู้บริโภคที่สนใจสินค้าเข้าใจสับสนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ผู้ป่วยควรเข้าถึงยาจากกัญชา แต่ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่าให้ถูกหลอก

        ช่วงที่สังคมกำลังตื่นตัวเรื่องการนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ มีการกำหนดช่วงเวลาให้ผู้ป่วยที่กำลังใช้ผลิตภัณฑ์จากกัญชา มาแจ้งข้อมูลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในแต่ละจังหวัด ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยที่มาแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การได้รับผลิตภัณฑ์จากกัญชา ทราบว่าส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะให้ข้อมูลว่า มีคนนำมาจำหน่ายให้ หรือบางรายก็สั่งซื้อจากอินเทอร์เน็ต        ประเด็นที่เจ้าหน้าที่และพวกเราควรจะช่วยกันหาทางเพื่อคุ้มครองดูแลผู้ป่วยเหล่านี้คือ ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขายอมเสียเงินเสียทองซื้อมา เป็นน้ำมันกัญชาจริงหรือไม่ เพราะข้อมูลราคาของน้ำมันกัญชาที่ผู้ป่วยแต่ละคนซื้อมา มีราคาแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ขวดละ 500 ไปจนถึง 10,000 บาท         ผู้ป่วยที่น่าสงสารหลายรายที่ป่วยโรคเรื้อรังยอมเสียเงินแพงๆ เพราะคาดหวังผลในการรักษา ยิ่งสอบถามวิธีการใช้ ยิ่งน่าเป็นห่วงเพราะส่วนมากจะดูข้างขวดและมักจะเพิ่มขนาดการใช้เอง เพราะต้องการผลที่รวดเร็วขึ้น บางรายก็แอบใช้โดยไม่บอกใคร พอมาเจอยาแผนปัจจุบันที่ตนเองรับประทานเป็นประจำก็ยิ่งเสริมฤทธิ์กัน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล กว่าผู้ป่วยจะยอมบอกคุณหมอ ก็แทบแย่         ล่าสุด ได้รับข้อมูลจากน้องเภสัชกรจากหลายๆ จังหวัดแจ้งว่า เริ่มมีขบวนการนำยามาเร่ขาย อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา โดยคนที่มาเร่ขายจะบอกว่าเป็นยาจากโครงการหลวง เวลาจะซื้อต้องบอกหมายเลขบัตรประชาชนด้วย  และให้ไปขอใบรับรองจากแพทย์ว่าป่วย  อ้างว่าจะนำชื่อผู้ป่วยไปเข้าโครงการให้ ถ้าซื้อยาในวันนี้ ราคากระปุกละ 500 บาท แต่ถ้าไปซื้อที่โรงพยาบาลจะต้องเสียเงินถึง 750 บาท หลังจากเสียเงินแล้ว ผู้ป่วยจะได้รับแจกกัญชาสองต้น และอัญชันอีกหนึ่งต้น มีเหยื่อหลงเชื่อหลายราย         จากข้อมูลที่พบคาดว่า สถานการณ์ที่จะเอากระแสกัญชามาหลอกลวงผู้ป่วยเริ่มจะมีมากขึ้น และหลากหลายรูปแบบด้วย การนำผลิตภัณฑ์กัญชามาใช้ทางการแพทย์ เป็นทางเลือกให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาอย่างหนึ่ง แต่ผลิตภัณฑ์จากกัญชาก็เหมือนยาทั่วๆ ไป ที่มีทั้งคุณและโทษ ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข ก็พยายามที่จะดูแลให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาอย่างปลอดภัย หากพบผู้ป่วยรายใดที่ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาแล้วเกิดผลข้างเคียง ก็สามารถแจ้งข้อมูลยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่านทางช่องทางนี้ได้ที่ http://thaihpvc.fda.moph.go.th/thaihvc/Marijuana/input-form.jsf        เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลแล้ว จะติดต่อกลับ เพื่อสอบถามอาการ และรวบรวมเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังผลข้างเคียง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยต่อไป        หากเราพบเห็นผลิตภัณฑ์แปลกๆ ที่อ้างว่ามีส่วนผสมของกัญชา ตลอดจนมีพฤติกรรมการขายที่หลอกให้ผู้ป่วยเสียเงินเสียทอง ขอให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อจะได้ช่วยกันดูแล อย่าให้ใครมาอาศัยสถานการณ์นี้ หลอกลวงซ้ำเติมผู้ป่วยที่น่าสงสารเหล่านี้อีก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคม 2562

11 องค์กรร่วมเคลื่อนขบวนผลักดันกัญชาออกจาก พ.ร.บ. ยาเสพติด        เครือข่ายภาคประชาชน 11 องค์กร ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “เดินเพื่อผู้ป่วย : กัญชารักษาโรค” โดยการเดินเท้าจากวัดป่าวชิรโพธิญาณ จังหวัดพิจิตร ไปถึงวัดบางปลาหมอ จังหวัดสุพรรณบุรี รวมระยะทาง 268 กิโลเมตร ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม – 9 มิถุนายน โดยระหว่างทางจะมีเวทีบรรยายพิเศษและเสวนาให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายกัญชารักษาโรค โดยมีวิทยากรและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ แสดงความจำนงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง        อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ กล่าวว่า เป้าหมายหลักในการเดินครั้งนี้มีด้วยกันสาม ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการปรับเปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันให้ดีขึ้นเพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดอยู่ แม้จะผ่อนผันให้ทำยาได้แต่ขอบเขตจำกัดมาก ทำให้การผลิตและแจกจ่ายเข้าถึงผู้ป่วยได้น้อย ประการต่อมา ต้องการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติดแต่เป็นยารักษาโรค การใช้ที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์มากโดยเฉพาะการรักษาและแก้ไขปัญหาสุขภาพซึ่งมีราคาถูก สามารถลดค่าใช้จ่ายได้มากโดยเฉพาะลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และประการสุดท้าย ระดมทุนบริจาคเพื่อผลิตยาสำหรับแจกฟรี และหากยังทำไม่ได้มากก็ใช้ทุนก้อนนี้ในการรณรงค์ในการปรับกฎหมาย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดกิจกรรม และจัดครั้งเดียวอาจไม่เพียงพอ เพียงแต่เป็นการเริ่มต้น และมีอีกหลายเรื่องที่ยังต้องให้ความรู้โดยการอบรม จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายซึ่งอาจต้องใช้เวลาหลายปี พาณิชย์ ยันค่ายา "รพ.เอกชน" สูงเกินจริงหลายเท่าตัว        12 พ.ค. 62  คณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ได้ศึกษาข้อเท็จของค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชน โดยแยกเป็นสามส่วนคือ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการทางการแพทย์ ค่ายาคือฐานข้อมูลที่ศึกษาเสร็จแล้ว ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร กล่าวว่า คณะทำงานได้ขอข้อมูลราคาซื้อ-ขาย ราคานำเข้า และต้นทุนการผลิตยากว่า 30,000 รายการ พบว่าราคายาของโรงพยาบาลเอกชนมีต้นทุนใกล้เคียงกับรายการยาของกรมบัญชีกลาง แต่ราคายาของโรงพยาบาลเอกชนราคาสูงมาก บางรายการสูงเกิน 300 - 500%        “ได้ทราบว่าโรงพยาบาลเอกชนแต่ละที่มีการเรียกเก็บค่ายาที่แตกต่างกัน ยาชนิดเดียวกันมีต้นทุนการซื้อใกล้เคียงกัน แต่ราคาที่จำหน่ายจะต่างกันมาก ระดับกำไรเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ซื้อมา มีตั้งแต่ระดับไม่มาก จนสูงขึ้นไปถึง 300 - 900 เปอร์เซ็นต์ ก็มีในบางรายการ" บุณยฤทธิ์ กล่าว        ทั้งนี้ข้อมูลบางส่วนจากคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการกำกับดูแลยาและเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ ระบุผลการเปรียบเทียบราคายาสามรายการ คือ ยาบำรุงเลือด ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 0.88 บาท ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 3 บาท ราคาขาย 6 บาท ส่วนยาฆ่าเชื้อไวรัส ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 2 บาท 77 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 4 บาท 84 สตางค์ ราคาขาย 27 บาท 84 สตางค์ ขณะที่ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ราคาเบิกจ่ายกรมบัญชีกลาง 43 บาท 92 สตางค์ ราคาซื้อ โรงพยาบาลเอกชน 68 บาท ราคาขาย 549 บาท 18 สตางค์ เครือข่ายผู้บริโภค ร่วมร้องสอดคดี รพ.เอกชนฟ้อง พณ.ยกเลิกประกาศควบคุมค่ายา-ค่ารักษาแพง        เครือข่ายผู้บริโภค ประกาศร่วมร้องสอดคดี สมาคม รพ.เอกชน และ 41 รพ.ยื่นฟ้องกระทรวงพาณิชย์ ยกเลิกประกาศค่ายา เวชภัณฑ์ ค่ารักษา เป็นสินค้าและบริการควบคุม เหตุได้รับผลกระทบโดยตรงหากยกเลิก หากถูกเอาเปรียบทำ พณ. ตรวจสอบเอาผิด รพ.ไม่ได้ ยัน รพ.เอกชนร่วมออกประกาศ ขณะที่มาตรการควบคุมเป็นของเดิมยังไม่ส่งผลกระทบใดๆ        14 พ.ค. เครือข่ายผู้บริโภคแถลงข่าวเตรียมร้องสอดการฟ้องคดีของสมาคม รพ.เอกชน โดย น.ส.สุภัทรา นาคะผิว ประธานอนุกรรมการด้านบริการสุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติเห็นชอบประกาศให้ยา เวชภัณฑ์ ค่ารักษาพยาบาล ค่าบริการทางการแพทย์ และค่าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 กระทั่งปลาย เม.ย. 2562 สมาคม รพ.เอกชน และสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น รพ.เอกชนอีก 41 แห่ง ได้ฟ้องศาลปกครองขอให้มีการยกเลิกการประกาศดังกล่าวไม่เป็นสินค้าและบริการ ซึ่งถ้ามีการยกเลิกประกาศ ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบโดยตรง จากการพูดคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงเห็นว่าเครือข่ายผู้บริโภคที่ร่วมผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจะต้องร้องสอดเข้าใปในคดี และขอให้กระทรวงพาณิชย์และ กกร.เดินหน้าต่อไป เพื่อให้เกิดผลในการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง        "เครือข่ายฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนทุกอย่าง ในการที่จะมีมาตรการทำให้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลดลง เพราะการออกประกาศและให้ติดราคายังไม่แก้โจทย์เรื่องแพง ที่จะให้มีความเหมาะสม เป็นธรรมกับผู้บริโภคและโรงพยาบาล” น.ส.สุภัทรา กล่าว        ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า คดีนี้สมาคมฯ กับพวกเป็น รพ.เอกชน 41 แห่งเป็นผู้ฟ้องคดี โดยมีผู้ถูกฟ้องคดี 4 คน ได้แก่ 1.กกร. 2.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3.ปลัดพาณิชย์ และ 4.อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งมพบ.และองค์กรผู้บริโภคถือเป็นบุคคลภายนอกคดี ที่ไม่ใช่คู่ความ แต่อาจจะเข้ามาร่วมได้ด้วยการร้องสอดเป็นคู่ความในคดี ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคร้องสอดเข้ามาด้วยความสมัครใจในการเป็นผู้ถูกฟ้องคดีร่วมกับอีก 4 คน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำพิพากษาในคดีนี้ ถ้าหากมีการยกเลิกเพิกถอนประกาศจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงร้องสอดเป็นฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีอยู่ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เพี่อเข้าไปร่วมต่อสู้กับสมาคมรพ.เอกชน มพบ. เผยสถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาสแรกปี 62 ปัญหาโฆษณาเกินจริงยังคงครองแชมป์อันดับ 1         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย        ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย  คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82        สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุดคือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย        ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุดสี่อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง        สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561        จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรังหรือมีเพิ่มมากขึ้น โดยไร้การแก้ไขเยียวยา ตลอดจนไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน และกระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยา บางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 219 กระแสต่างแดน

มากกว่าเรียกคืน        กระทรวงการขนส่งไต้หวันเตรียมดำเนินการตามกฎหมายหากบริษัทมาสด้าไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบความปลอดภัยของรถยนต์สองรุ่นที่ถูกร้องเรียนโดยผู้ใช้ 36 ราย          หลังการร้องเรียน บริษัทประกาศเรียกคืนรถดีเซลรุ่น Mazda CX5 และ Mazda 6 Skyactive ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมด้วยปัญหามีน้ำดันออกจากหม้อน้ำ         นอกจากนั้นผู้ใช้รถทั้งสองรุ่นยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปผสมกับน้ำมันเครื่อง รวมถึงเซ็นเซอร์ท่อไอเสียไม่ทำงาน ศูนย์รับรองความปลอดภัยยานยนต์ จึงได้ขอให้มาสด้าส่งรายงานการตรวจสอบปัญหาสองเรื่องนี้ด้วย         รายงานที่บริษัทส่งมาเพียงชี้แจงว่า ปัญหาเรื่องน้ำมันเกิดจากความผิดพลาดในการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง โดยอ้างอิงจากการตรวจสอบสองสามกรณีเท่านั้น และไม่ได้ชี้แจงเรื่องเซ็นเซอร์ว่ามันส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของเครื่องยนต์        การหลีกเลี่ยง ขัดขวาง หรือปฏิเสธการตรวจสอบโดยกระทรวงฯ ถือเป็นความผิดตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่มีโทษปรับ 30,000 ถึง 300,000 เหรียญไต้หวัน ละเลยความปลอดภัย        ครอบครัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายซ่อมบำรุงของบริษัทรถไฟไต้ดินสเปนฟ้องศาลแรงงานเพื่อเรียกค่าเสียหาย 400,000 ยูโร จากบริษัท โทษฐานที่รับรู้อันตรายของแร่ใยหินตั้งแต่ปี 1991 แต่ไม่ได้กระทำการใดๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้พนักงาน        พนักงานคนดังกล่าวเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อเดือนตุลาคม 2018 ขณะมีอายุ 60 ปี เขาทำงานให้กับ “มาดริดเมโทร” มานานกว่า 30 ปี ญาติของผู้ตายระบุว่า เขาล้มป่วยเนื่องจากได้รับแร่ใยหินมากเกินไป         แร่ใยหินมีประโยชน์ในการเป็นฉนวนกันเสียง ความร้อนและกระแสไฟฟ้า แต่การหายใจเอาฝุ่นแร่ใยหินเข้าไปทำให้เกิดการอักเสบของปอดและพัฒนาไปสู่มะเร็งได้ โดยอาจใช้เวลา 20 ปีกว่าจะแสดงอาการ อันตรายจากแร่ใยหินเป็นที่รู้กันตั้งแต่ช่วงปี 1990 และทำให้เกิดการประกาศห้ามใช้ทั่วยุโรป สเปนก็ประกาศห้ามใช้แร่ใยหินในปี 2002         ปัจจุบันยังมีแร่ใยหินหลงเหลืออยู่ในระบบรถไฟไต้ดินของสเปน มาดริดเมโทรสัญญาว่าจะใช้งบประมาณ 140 ล้านยูโรเพื่อกำจัดแร่ใยหินออกจากระบบภายในปี 2025ยาต้องไม่ปนเปื้อน        สเปนเป็นอีกประเทศที่มีผู้ป่วยหันมาใช้กัญชาในการรักษาโรคมากขึ้น แต่การปลูกและการจำหน่ายกัญชายังถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คนจึงหันไปพึ่งกัญชาที่ลักลอบนำเข้ามาในประเทศ        การตรวจสอบทางนิติเวชโดยทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Complutense พบว่าร้อยละ 88.3 ของตัวอย่างกัญชาที่ลักลอบขายกันตามท้องถนนทั้งหมด 90 ตัวอย่าง ไม่เหมาะที่จะใช้บริโภค เพราะมีการปนเปื้อนของแบคทีเรียชนิดที่อยู่ในอุจจาระคน        ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนที่ลักลอบนำเข้ากัญชาจะใช้วิธีม้วนใบกัญชาเป็นก้อนกลมๆ ห่อด้วยพลาสติก แล้วกลืนลงท้องไป เมื่อเดินทางข้ามแดนมาถึงสเปนก็จะกินยาถ่ายขับออกมาเพื่อนำไปขาย        ผู้ที่ได้รับแบคทีเรียอีโคไลชนิดที่เป็นพิษอาจจะอาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 10 ของตัวอย่างยังมีเชื้อรา aspergillus ซึ่งอันตรายมากหากผู้ป่วยโรคหอบหืดหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันค่อนข้างต่ำสูดหายใจเอาสปอร์ของมันเข้าไป  ผลไม้แปลงสัญชาติ        คนฝรั่งเศสชอบทานกีวี่ แม้จะมีราคาแพงแต่ผู้คนก็กัดฟันควักกระเป๋าเพราะรู้ดีว่ากีวี่ที่ปลูกในประเทศนั้นมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากรัฐบาลประกาศห้ามใช้สารเคมีอันตรายในการฆ่าเชื้อราเพื่อยืดอายุผลไม้ เกษตรกรจึงต้องลงทุนสูงขึ้นเพื่อสร้างห้องเย็น         ความต้องการบริโภคกีวี่มีมากถึง 80,000 ตันต่อปี แต่เกษตรกรประมาณ 1,100 ราย ที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ สามารถผลิตได้ปีละ 55,000 ตันเท่านั้น จึงต้องมีการนำเข้ากีวี่จากนิวซีแลนด์ ชิลี และอิตาลี เป็นต้น เนื่องจากอิตาลียังไม่แบนสารเคมีดังกล่าว ต้นทุนการผลิตกีวี่ที่นั่นจึงค่อนข้างต่ำ         หน่วยงานต่อต้านการคอรัปชั่นของฝรั่งเศสออกมาเปิดโปงว่า สามปีที่ผ่านมีกีวี่จากอิตาลีได้รับการ “แปลงสัญชาติ” เป็นกีวี่ที่ปลูกในฝรั่งเศส” ไปทั้งหมด 15,000 ตัน         บริษัทที่นำเข้าผลไม้ดังกล่าวกำลังจะถูกดำเนินคดี แต่ก็ได้กำไรไปแล้วกว่า 6,000,000 ยูโร  แอปแอบแชร์        ทีมวิจัยจากออสเตรเลียที่ทำการสำรวจแอปยอดนิยมในสมาร์ตโฟนสำหรับอาการซึมเศร้าและการเลิกบุหรี่จำนวน 36 แอปทั้งในแอนดรอยด์และ iOS พบว่า ร้อยละ 90 ของแอปดังกล่าวมีการแชร์ข้อมูลของผู้ใช้ไปยังบุคคลที่สาม         มีเพียงสองในสามเท่านั้นที่แจ้งให้ผู้ใช้ทราบในนโยบายความเป็นส่วนตัว แต่นโยบายเหล่านี้ก็ไม่ได้บอกชัดว่าข้อมูลที่เก็บไปจะถูกนำไปใช้อย่างไร โดยใคร         เฉลยตรงนี้ว่ามีถึง 29 แอปที่แชร์ข้อมูลผู้ใช้ให้กับเฟซบุ้คและกูเกิ้ลโดยเฉพาะ         นักวิจัยพบว่าในบรรดา 33 แอปที่ส่งข้อมูลให้บุคคลที่สามนั้น มีทั้งที่ส่งข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้หรือการระบุสมาร์ตโฟนเครื่องที่ใช้ บ้างก็ส่งข้อมูลรวมๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้ใช้เพื่อประโยชน์ในการทำโฆษณา ยิ่งกว่านั้นบางแอปยังส่งข้อมูลที่ผู้ใช้บันทึกไว้ เช่น ไดอารี่สุขภาพหรือยาที่กินด้วย         สรุปว่าถ้าแอปรู้ โลกก็รู้...   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2562

เจ็บป่วยโรคหน้าร้อน ใช้สิทธิประกันสังคมได้เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เผยขณะนี้ไทยเข้าสู่หน้าร้อน ซึ่งมีโรคอันตรายที่เกิดในฤดูนี้ 6 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคบิด ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค และโรคพิษสุนัขบ้า หากผู้ประกันตนเกิดเจ็บป่วยสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย         แต่หากเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน หลังจากนั้นให้ญาติรีบแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบโดยด่วน เพื่อรับตัวไปรักษาต่อ โดยสำนักงานประกันสังคมจะรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งโรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ ใน 3 วันแรก (72 ชม.) ตามหลักเกณฑ์ และอัตราที่กำหนด เตรียมต่อยอดวิจัยพัฒนากัญชาเพื่อการแพทย์กรณีการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ พร้อมยึดกัญชาของกลางที่ใช้ผลิตน้ำมัน และการแถลงข่าวของ นายเดชา สิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ เมื่อวันที่ 10 เม.ย.62 ว่าเตรียมร่วมมือพัฒนายาที่มีส่วนผสมของสารสกัดกัญชา กับ ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้าโครงการสาธิตการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ เพื่อยกระดับยาจากกัญชาให้ถูกต้องตามกฎหมายนั้น         ภญ.สุภาภรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวไทยพีบีเอส ถึงการพัฒนาสารสกัดจากกัญชา และยืนยันสถานะการเป็นหมอพื้นบ้านของนายเดชาว่า นายเดชามีความรู้ความเชี่ยวชาญในฐานะหมอพื้นบ้าน และเป็นคนแรกๆ ที่รู้จักการใช้รางจืดในการรักษาโรคหรือล้างพิษ ตั้งแต่ปี 2534 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครเชี่ยวชาญเรื่องนี้ นายเดชาจึงมีความเป็นหมอพื้นบ้านโดยพฤตินัย และเป็นที่ยอมรับของภาคประชาสังคม         ส่วนการรับรองตามระเบียบคาดว่าจะไม่เป็นปัญหา เพราะนายเดชาทำงานร่วมกับชุมชนและจังหวัดอยู่แล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขการรับรอง เช่น มีความเชี่ยวชาญกว่า 10 ปี ไม่เรียกร้องค่าตอบแทน และถ่ายทอดความรู้ให้สังคม         ทั้งนี้ ผู้ที่เคยได้รับยาหยอดที่มีสารสกัดจากกัญชาของนายเดชาจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่นั้น คิดว่าถึงเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานภาครัฐ ควรใช้โอกาสจากกรณีนายเดชา ร่วมกันตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารสกัดจากกัญชาที่เหมาะสม เพื่อที่ภาคประชาชนจะสามารถใช้กัญชาในการดูแลตัวเอง และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและเปิดโอกาสให้หมอพื้นบ้านได้ช่วยเหลือคนตามที่เคยดำเนินการมา กรมอนามัยแนะคนติดหวาน แม้เครื่องดื่มน้ำตาล 0% ก็เสี่ยงอ้วน         อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า น้ำอัดลมสูตรไม่มีน้ำตาล จะใช้สารให้ความหวานหรือน้ำตาลเทียมทดแทน แม้ไม่ให้พลังงาน แต่สารให้ความหวานเหล่านี้จะไปกระตุ้นสมองให้รับรู้ถึงความหวาน ทำให้เกิดการติดรสหวาน ส่งผลให้ร่างกายโหยหาน้ำตาลมากขึ้น ทำให้ร่างกายหิวง่ายและกินมากกว่าปกติ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะเป็นการกินไปแบบไม่รู้ตัว จึงควรกินหวานให้น้อยลงหรือสั่งเครื่องดื่มหวานน้อยเป็นประจำให้ติดเป็นนิสัย เพื่อสร้างความเคยชินในการรับรสของตนเอง และกลายเป็นคนไม่ติดหวาน กรมควบคุมโรค เตือนอากาศร้อนจัดระวัง 'ฮีทสโตรก'         กรมควบคุมโรคแนะนำประชาชนหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีความร้อนและอากาศถ่ายเทไม่สะดวก สวมเสื้อผ้าที่ระบายเหงื่อได้ดี ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์         จากข้อมูลการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเนื่องจากภาวะอากาศร้อนในช่วงฤดูร้อน (มี.ค.-พ.ค.) พบผู้เสียชีวิต ในปี 2558 - 2561 จำนวน 158 ราย ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการต้องสงสัยว่าป่วยจากภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยายาบาลเบื้องต้น โดยนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม หรือห้องปรับอากาศ ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก เช็ดร่างกายด้วยน้ำเย็น ถ้ามีสติให้ดื่มน้ำ สำคัญสุดเป็นอันดับแรกคือการทำให้อุณหภูมิในร่างกายผู้ป่วยลดลงก่อน หากมีอาการรุนแรง หมดสติ ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที อาลัย "สำลี ใจดี" เภสัชกรหญิงนักสู้วงการสาธารณสุขไทย         เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว แสดงความอาลัยต่อการจากไปของ ผศ.ภญ.สำลี ใจดี นักต่อสู้วงการสาธารณสุขไทย ผู้เป็นแบบอย่างของการทำงานทางสังคมตลอดชีวิต ซึ่งอาจารย์ได้จากไปอย่างสงบเมื่อเวลา 00.57 น. ของวันที่ 7 เม.ย.62         ผศ.ภญ.สำลี นั้นนับได้ว่าเป็นนักสู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างคนจน ในสมรภูมิสิทธิบัตรยา โดยการพาลูกศิษย์ไปทำค่ายอาสาในสู้ไม่ถอย ทำให้ได้พบการใช้ยาแบบผิดๆ จากความยากจน ความไม่รู้และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนผลิตและขายยากลายเป็นที่มาของการนำลูกศิษย์ ก่อตั้ง “กลุ่มศึกษาปัญหายา” เพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยากับประชาชน นำไปสู่การรณรงค์ต่อต้านการใช้ยาชุด ยาซอง ยาแก้ปวด ควบคู่ไปกับการยกเลิกตำรับยาที่ไม่เหมาะสม         ทั้งยังเป็นผู้ผลักดันให้เกิดระบบสุขภาพถ้วนหน้า ผลักดันยาสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ต่อสู้เพื่อฟื้นฟูการแพทย์แผนไทย การนวดไทยให้เป็นทางเลือกในการรักษาโรคโดยไม่ใช้ยา         นอกจากนี้ ผศ.ภญ.สำลี ยังได้เปิดโปงการทุจริตยา 1,400 ล้านบาท เป็นประธานกรรมการที่กำกับดูแลงานเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อม ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ปลดล็อกการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ และผลักดันให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 177 กัญชากับ...อาหารรสเด็ด

การเกษียณจากราชการมาอยู่บ้านขณะที่เมืองไทยมีโทรทัศน์ดิจิตอล นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้เขียนไม่ต้องจมอยู่กับรายการโทรทัศน์ของ 6 สถานี ซึ่งไม่ค่อยพัฒนา ดังนั้น ณ วันนี้ผู้เขียนได้ดูข่าวคุณภาพดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าจากหลายสถานี มีสารคดีให้ดูมากขึ้น แถมด้วยหนังดังจากต่างประเทศ ราวปลายปีที่แล้วได้มีรายการข่าวภาคกลางวันของช่อง 3 SD ซึ่งมีพิธีกรรุ่นใหม่ทำข่าวภาษาไทยปนการสอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเป็นการหลีกหนีความจำเจของรสชาติข่าว แต่สุดท้ายรายการดีในวันธรรมดาก็ต้องยุติลง เข้าใจว่ามีปัญหาเกี่ยวกับผู้สนับสนุนรายการอย่างไรก็ตามผู้เขียนจำได้ว่า เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2557 ได้มีข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับ กัญชา (ซึ่งคนไทยบางกลุ่มให้ความสนใจอย่างมากที่จะทำการรณรงค์ให้สถานภาพของกัญชาในสังคมไทยเปลี่ยนไป) สำหรับเนื้อข่าวซึ่งสามารถดูได้ใน www.youtube.com/watch?v=B8KJA1xIhFU นั้น พิธีกรได้คุยถึงข่าวเกี่ยวการผสมกัญชาลงไปในผลิตภัณฑ์อาหารในรัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา โดยสิ่งที่น่าตกใจในเนื้อข่าว คือ มีการผสมกัญชาลงในขนมเด็กเช่น เจลลี อมยิ้ม ยาอม ซึ่งสินค้าเหล่านี้ผลิตและขายได้เฉพาะในโคโลราโดเท่านั้น กัญชาเป็นพืชที่มีใบที่สวยงาม ผู้ใหญ่และครูหลายท่านของผู้เขียนสอนว่า กัญชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี เมื่อสูบแล้วจะเมา มีอาการหลอน เหมือนคนบ้า แต่เมื่อเอากัญชาใส่ลงแกงเผ็ดแล้วเขาว่ามันจะอร่อยกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งอาจต้องกินอาหารตามร้านอาหารในบางมื้อ หลายท่านอาจนึกไม่ถึงว่าท่านอาจได้เสพกัญชาโดยไม่ได้เจตนา เพียงแค่ท่านเลือกร้านอาหารที่ถูกขนานนามว่า อร่อยสุดๆ ในบทความที่มีการเผยแพร่ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทั้งไทยและอังกฤษ ต่างก็จัดให้กัญชาเป็นยาเสพติด ดังนั้นใครก็ตามที่คิดว่ามันไม่ใช่ก็คงต้องเหนื่อยหน่อยที่จะพิสูจน์ ช่วงปี พ.ศ. 2520 ถึง 2525(ซึ่งผู้เขียนไปเรียนทางด้านพิษวิทยาที่สหรัฐอเมริกานั้น) กัญชาก็เป็นแหล่งของสารธรรมชาติกลุ่มแคนนาบินอยด์(cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชนิดที่เมื่อใช้นานเกินไปกลับออกฤทธิ์เป็นยาเสพติดระดับไม่รุนแรงนัก มวลชนอเมริกันจึงมีการนำมาใช้ในทางผิดๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด การมีโอกาสได้สัมผัสความเป็นอยู่ของคนอเมริกันวัยหนุ่มสาวนั้น สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนจับกระแสได้คือ คนที่มาจากเมืองใหญ่เพื่อมาเรียนในเมืองเล็กมักถวิลหาถึงกัญชาเป็นประจำ ดังนั้นทุกปลายสัปดาห์ที่มีการตรวจความสะอาดของห้องในหอพักของมหาวิทยาลัย สิ่งที่มักพบคือกัญชาแห้ง และบางครั้งถึงขั้นพบต้นกัญชา ซึ่งเหล่านักศึกษาทำเนียนว่าปลูกเป็นไม้ประดับข้างหน้าต่างรวมๆ ไปกับพืชอื่นๆ เพื่อแสดงความเป็นคนรักธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรประหลาดใจที่ลูกหลานของท่านที่ไปเรียนจบจากสหรัฐอเมริกาแล้วติดกัญชากลับมา ในช่วงที่ผู้เขียนเตรียมตัวกลับมาทำงานที่เมืองไทยนั้น ข่าวทางโทรทัศน์ข่าวหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนยังจำได้ก็คือ มีแนวโน้มในการใช้กัญชาเพื่อผ่อนคลายผู้ป่วยที่เป็นโรคร้ายแรงก่อนสิ้นชีวิตในรัฐโคโลราโด อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้ติดตามข่าวนี้นักเพราะไม่ใช้ประเด็นที่สนใจ จนเมื่อในปี 2012 ก็ได้ข่าวว่า ประชาชนในรัฐโคโลราโดและรัฐวอชิงตันของสหรัฐอเมริกา ได้ลงคะแนนเสียงให้กัญชาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายในการมีหรือปลูก จากนั้นในปี 2014 จึงอนุญาตการขายในปริมาณน้อยตามใบสั่งแพทย์แก่ผู้ที่อายุเกิน 21 ปี ในขณะที่อีก 20 รัฐอนุญาตยอมให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ภายใต้การดูแลของแพทย์ แต่สำหรับกฎหมายระดับประเทศ (Federal Law) นั้นยังคงห้ามคนทั่วไปใช้แบบเสรีในเกือบทุกรัฐ ประเด็นการสูบกัญชานั้น ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า กัญชาเป็นยาเสพติดที่ต้องทำให้เป็นควันก่อนเพื่อสูบเหมือนบุหรี่ ดังนั้นที่ใดมีควันที่นั่นย่อมมีสารก่อมะเร็งกลุ่มโพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน(หรือพีเอเอช) เช่นเดียวกับที่พบในบุหรี่ พร้อมทั้งสารพิษกลุ่มไนโตรซามีนและกลุ่มอัลดีไฮด์ ซึ่งโดยเบ็ดเสร็จแล้วกล่าวกันว่า มีสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 50 ชนิดขึ้นไป เป็นของแถมแก่นักสูบ ข่าวคราวการใช้กัญชานั้นพบได้ไม่ยากนัก เช่น จากการชมภาพยนตร์หรือแม้แต่ข่าวทางโทรทัศน์ของต่างประเทศ ดังนั้นผู้เขียนจึงตระหนักว่า กัญชานั้นอยู่ในสังคมของมนุษย์ตลอดมา โดยเฉพาะในสังคมนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งอยู่ในวัยที่อยากลองเพื่อสนองความต้องการของฮอร์โมนที่กำลังปั่นป่วน ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าวผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคการเมืองเพื่อเข้ารับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของบางประเทศต้องประกาศถอนตัว เพราะมีหลักฐานว่าเคยถูกจับข้อหาสูบกัญชาสมัยเมื่อยังเป็นนักเรียนหรือนักศึกษา นี่แสดงว่าสังคมของบางประเทศ ซึ่งประชาชนมีหลักยึดของจิตวิญญาณว่า เสรีชนทำชั่วส่วนตัวนั้นไม่เป็นไร แต่ถ้าจะเป็นตัวแทนหรือผู้นำต้อง มีประวัติที่สะอาดโปร่งใสหาความผิดไม่ได้ ซึ่งหลักยึดในกระบวนการเลือกนักการเมืองมาเป็นตัวแทนประชาชนแบบนี้ ไม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญที่ตกกระป๋องไปแล้ว ดังนั้นถ้าร่างใหม่จะมีเรื่องนี้ก็จะเป็นพระคุณเป็นอย่างสูงแก่ประเทศเรา ในเว็บของ Wikipedia นั้นได้ให้ข้อมูลเชิงวิชาการเกี่ยวกับกัญชาว่า กัญชานั้นมีผลทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่น ทำให้เคลิบเคลิ้มมีความสุข(แบบที่วัยรุ่นเรียกว่า high) เกิดอาการผ่อนคลาย และที่น่าสนใจคือ ทำให้อยากอาหาร โดยมีอาการแถมแก่ผู้เสพคือ ความจำระยะสั้นลดลง ปากแห้ง(กระหายน้ำ จึงมีข้อสังเกตว่า ถ้าไปกินอาหารที่ไหนแล้วหิวน้ำมาก ทั้งที่อาหารไม่ได้เค็มเลย ท่านอาจเจอกัญชาเข้าแล้ว) นอกจากนี้อาจมีอาการงุ่มง่าม สะเปะสะปะ ตาแดง และหวาดระแวงหรือขี้กังวล โดยของแถมที่ได้นี้จะหายไปภายใน 2-6 ชั่วโมง ข้อดีของกัญชาในด้านการแพทย์นั้นคือ ลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนในคนไข้ที่ได้รับยาบำบัดมะเร็ง(ไม่ใช่ว่ากัญชาบำบัดมะเร็งนะครับ สามารถดูข้อมูลนี้ต่อได้ที่ American Cancer Society หรือ www.cancer.org ซึ่งเป็นองค์กรหลักเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งของสหรัฐอเมริกา) กระตุ้นความอยากอาหารในคนไข้โรคเอดส์ ลดอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรังและอาการชักกระตุก แต่ถ้าใช้ไปนานๆ อาจเกิดอาการความจำเสื่อมหรือจิตเภทในบางคน แหล่งข้อมูลที่ไม่เป็นวิชาการนักในอินเตอร์เน็ทคือ www.pantip.com ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับกัญชาในอาหาร (ที่เราท่านอาจพบได้ด้วยตนเอง) เช่น “.....ก๋วยเตี๋ยวใส่กัญชานั้นมีแน่นอน เพราะในคลองบางกอกน้อยเมื่อก่อนจะมีก๋วยเตี๋ยวเนื้อเจ้าอร่อยอยู่เจ้านึงขาย ในคลองชื่อนายหลอ ผมเป็นลูกค้าจนสนิทกัน เขาเลยบอกว่าเขา ใช้ต้นกัญชามาทุบๆ ให้แตกแล้วห่อด้วยใบเตยกันคนเห็น แล้วเอาลวดมัดก่อนจะหย่อนลงในหม้อน้ำซุป ที่มีทั้งเนื้อเปื่อย เครื่องใน กระดูกวัว และห่อเครื่องเทศอื่นๆ อีก แต่ก่อนมีแหล่งซื้อกัญชาอยู่แถวๆ วัดชัยพฤกษ์น่ะครับ 30 กว่าปีแล้วนะ เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วครับ……” “.......ตอนไปเข้าค่ายอาสาฯ เพื่อนๆ แกงป่าเป็ดแบบแห้งห่อไปด้วย ทานกันตอนเย็นๆ ทั้งเหนื่อยและหิว เลยเอาแกงเป็ดมาคลุกข้าวสวยกินอร่อยสุดๆ ผลก็คือ หัวเราะกันตั้งแต่ตอนเย็นถึงตีสามค่ะ หัวเราะจนตกจากเก้าอี้รอบกองไฟ หงายหลังแล้วยังหัวเราะต่ออีก ตื่นมาเจ็บซี่โครงเหมือนโดนซ้อม มารู้ทีหลังว่าเพื่อนมันใส่กัญชาในเครื่องแกง ไม่โกรธมันเลยค่ะ อร่อยดีอีกต่างหาก หัวเราะมันส์ดีเหมือนกัน…..” นอกจากนี้ในเว็บของหลายประเทศนั้นก็อธิบายแบบชัดเจนถึงการทำอาหารและขนมที่มีกัญชาเป็นองค์ประกอบ เพื่อให้ผู้บริโภครู้สึกว่าอาหารและขนมนั้นอร่อยมากกว่าเดิม โดยอาศัยฤทธิ์ของกัญชาไปเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร ในขณะที่อาหารที่กินนั้นรสชาติไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างไร ตัวอย่างที่น่าสนใจในอินเตอร์เน็ท(แต่ไม่ควรเข้าไปลอกเรียนแบบ) เกี่ยวกับอาหารใส่กัญชาคือ การทำ Cannabutter หรือเนยกัญชา เพื่อใช้เป็นองค์ประกอบของอาหาร ทั้งนี้เพราะสารออกฤทธิ์ในกัญชานั้นสกัดได้ดีด้วยไขมัน ดังนั้นขนมจากฝรั่งที่ว่าอร่อยสุดๆ นั้น เราควรใส่เครื่องหมายคำถามแล้วว่าทำไม เห็นได้ว่าโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้สัมผัสกับกัญชาโดยไม่เจตนานั้น ไม่ยากนักทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยการสัมผัสจากอาหารที่อาจได้รับการขึ้นชื่อลือชาว่า รสเด็ด โดยขายสินค้าอาจไม่คิดว่าผู้บริโภคอาจได้รับอันตรายจากฤทธิ์ของกัญชา เช่น การเกิดอุบัติเหตุจากการขับรถหรือใช้เครื่องยนต์จากอาการหลอนระหว่างที่กัญชาออกฤทธิ์ หรือความผ่อนคลายของสาวรุ่นที่ได้กัญชาโดยไม่รู้ตัวในสถานที่อโคจร ข้อสังเกตว่าอาหารใส่กัญชาหรือไม่คือ มันอร่อยมาก ถูกปากเป๊ะๆ ไม่ต้องปรุงเพิ่ม แต่เมื่อกินมากหน่อยอาจมีอาการใจสั่น (เพราะกัญชาบีบหัวใจของบางคน) ตามด้วยการกระหายน้ำ แต่ที่ชัด ๆ คือ กินเเล้วรู้สึกรื่นเริงครึกครื้นกว่าปกติ เเบบเห็นอะไรจะขำง่ายไปหมด ดังนั้นข่าวคราวที่จะมีการใช้กัญชาแบบที่หลายคนเข้าใจว่าเสรีนั้น คงต้องผ่านการกลั่นกรองถึงผลได้และผลเสีย ซึ่งรวมไปถึงการควบคุมที่ดีต่างไปจากการใช้สารเสพติดอื่นคือ เหล้าและบุหรี่ ซึ่งประชาชนใช้กันแบบสะเปะสะปะ เกิดคดีความและอุบัติเหตุได้ทุกวัน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 180 รู้เท่าทันกัญชากับการรักษามะเร็ง

ระยะนี้มีการเผยแพร่ในเว็บไซต์จากต่างประเทศเกี่ยวกับน้ำมันกัญชาว่ามีประโยชน์สารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง  มีผู้ป่วยหลายรายที่กินแล้วอาการดีขึ้น บางรายหายจากมะเร็ง  ในประเทศไทยเริ่มมีการพูดคุยเรื่องนี้กันมากพอควรว่า ถ้ามีประโยชน์จริงก็ควรนำมาใช้กับผู้ป่วยเพราะเป็นพืชที่ขึ้นได้ง่ายและจะเป็นการประหยัดเงินทองในการซื้อยาราคาแพงจากต่างประเทศ  เราจึงควรรู้เท่าทันเรื่องกัญชากับการรักษามะเร็งกัน มารู้จักกัญชากัญชาเป็นพืชจากเอเชียกลางแต่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในหลายๆ ส่วนของโลก กัญชาจะผลิตน้ำยางที่เป็นสารประกอบชื่อ แคนนาบินอยด์ (cannabinoids) ซึ่งมีฤทธิ์ทางยา มีผลต่อทั่วร่างกายรวมทั้งระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน  สารในแคนนาบินอยด์หลักที่มีฤทธิ์คือ delta-9-THC  สารมีฤทธิ์ตัวอื่นคือ แคนนาบิดอล (cannabidol) ซึ่งอาจช่วยลดอาการปวดและการอักเสบ มีการใช้กัญชามาตั้งแต่ดั้งเดิมมากกว่า 3,000 ปี  ทั้งในตะวันออกและตะวันตก  ปีค.ศ. 1942 กัญชาได้ถูกตัดออกจากเภสัชตำรับในสหรัฐอเมริกาด้วยสาเหตุเรื่องความปลอดภัย และในปีค.ศ. 1951 (พ.ศ. 2494)  ถูกจัดเป็นยาเสพติดเป็นครั้งแรก  สำหรับประเทศไทย กัญชาได้กลายเป็นยาเสพติดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 แม้ว่ากัญชาจะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา  แต่ก็มีการอนุญาตให้ใช้ทางการแพทย์อย่างถูกต้องตามกฎหมายไม่ต่ำกว่า 12 รัฐ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กัญชาอาจใช้กิน สูดดม หรือพ่นทางใต้ลิ้น  เมื่อกินทางปาก สาร delta-9-THC จะถูกกระบวนการของตับเปลี่ยนเป็นสารเคมีที่มีผลต่อจิตประสาท  เมื่อสูบหรือสูดดม สารแคนนาบินอยด์จะซึมเข้ากระแสเลือดอย่างรวดเร็ว  ผลกระตุ้นทางจิตจะเกิดน้อยกว่าการกินทางปากการศึกษาทางการแพทย์ สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (สหรัฐอเมริกา) ได้รายงานว่า มีการศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการหรือในสัตว์ทดลองเกี่ยวกับการยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกชนิดต่างๆ ตั้งแต่การทำให้เซลล์มะเร็งแก่ตายเร็วขึ้น ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่  มะเร็งเต้านม มะเร็งสมอง มะเร็งตับ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังช่วยการอยากอาหาร ลดปวด ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ลดความกระวนกระวาย และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น การศึกษาการใช้กัญชาเพื่อการรักษามะเร็งในผู้ป่วยนั้นยังไม่มีในระบบฐานข้อมูลใน PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ แต่มีการศึกษาทางคลินิกเพื่อหาทางในการบำบัดอาการข้างเคียงของมะเร็งและการบำบัดมะเร็ง ได้แก่ •    การรักษาเนื้องอกที่เป็นก้อน มะเร็งสมอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษา•    ยาสกัดจากกัญชา 2 ชนิดสามารถขึ้นทะเบียนยาในสหรัฐอเมริกา ชื่อทางการค้าคือ dronabinol และ nabilone  เพื่อใช้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยจากการรักษาตามมาตรฐานหรือการรับยาเคมีบำบัด •    ในเรื่องการเจริญอาหาร พบว่ายาจากกัญชามีผลในการเจริญอาหารหรือเพิ่มน้ำหนักร่างกายน้อยกว่าการรักษาตามมาตรฐาน  แต่กลับได้ผลดีในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี•    มีงานวิจัยในขนาดเล็กที่พบว่าสารประกอบในกัญชานั้นได้ผลดีในการลดอาการปวด รวมทั้งอาการคลื่นไส้อาเจียน  แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกายังไม่ยอมรับให้เป็นแนวทางในการรักษาความปวด•    มีการศึกษาในผู้ป่วยจำนวนน้อย พบว่า กัญชาที่ใช้สูดดมช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น พัฒนาความรู้สึกของสุขภาวะ และลดความวิตกกังวลโดยสรุป มีหลักฐานทางการแพทย์มากพอที่ยืนยันได้ว่า กัญชามีผลดีในการรักษาอาการข้างเคียงของมะเร็งและโรคอื่นๆ เช่น เอชไอวี  สารสกัดจากกัญชาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาถึงสองชนิดในอเมริกา  แม้ว่าการวิจัยเรื่องการใช้กัญชาในการรักษามะเร็งนั้นยังไม่มากเพียงพอ  แต่สำหรับการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ซึมเศร้า นอนไม่หลับในผู้ป่วยมะเร็งนั้นก็เกิดประโยชน์มากมายเพียงพอแล้ว  ประเทศไทยจึงควรทบทวนเรื่องคุณค่าของกัญชาเสียใหม่  เพื่อนำมาใช้บำบัดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยจำนวนมหาศาล                            

อ่านเพิ่มเติม >