ฉบับที่ 222 ยืมเงินผ่านแชต เป็นหลักฐานฟ้องศาลได้ไหม

          สวัสดีครับ ฉบับนี้นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันมาเล่าสู่กันฟัง โดยเฉพาะเรื่องการหยิบยืมเงิน ที่ต้องบอกว่าไม่เข้าใครออกใคร ยิ่งช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ ที่อะไรๆ ก็ดูแพงไปหมด เกิดภาวะเงินขาดมือ หมุนไม่ทัน ก็ต้องหยิบยืมจากคนใกล้ตัวมาหมุนไปก่อน และช่องทางสื่อสารที่นิยมกัน ยืมเงินกันง่ายไม่ต้องมาจ้องตา คือคุยยืมกันผ่านอินบ๊อกในเฟซบุ๊คหรือไลน์  ซึ่งหลายคนยังไม่ทราบว่าข้อความแชตสนทนาในเฟซบุ๊คหรือไลน์ ใช้เป็นหลักฐานฟ้องร้องได้  จึงอยากนำความรู้ดีๆ มาฝากสำหรับการแชตอย่างไรให้มีหลักฐาน และมีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง        ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจข้อกฎหมายเกี่ยวกับการยืมเงินกันก่อน โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดเกี่ยวกับการยืมเงินกันไว้ว่า ถ้ามีการกู้ยืมเงินเกิน 2,000 บาท ต้องทำหนังสือเป็นหลักฐานและลงลายมือชื่อ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 กล่าวถึง "ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ คือ อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์อื่น ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น"        จากข้อความดังกล่าวถูกตีความว่า แชตที่สามารถใช้เป็นหลักฐานแทนหนังสือ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้            1. ข้อความสนทนา (Chat) ที่ระบุข้อความขอยืมเงิน จำนวนเงิน และเห็นบัญชีผู้ใช้ว่าเป็นใครมาขอยืมเงิน            2. บัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน (Account) ในแชตจะต้องสามารถระบุชื่อบัญชีผู้ใช้ของผู้ยืมเงิน และเป็นข้อมูลชื่อบัญชีผู้ใช้ที่มีระบบปลอดภัยและเชื่อถือได้            3. หลักฐานการโอนเงิน (Slip) ที่ระบุวันเวลาที่โอนเงิน ไม่แก้ไขวันเวลารับส่งข้อความ             หากมีหลักฐานดังที่กล่าวมา ถือเป็นหนังสือใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องศาลได้[1]            อีกเรื่องที่ต้องรู้เกี่ยวกับเรื่องการฟ้องคดีกู้ยืมเงิน คือ อายุความฟ้องคดีกู้ยืมเงิน  โดยแบ่งเป็นสองลักษณะ คือ 1.   ถ้าสัญญากู้ยืมเงินมีกำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดๆ จะมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12442/2553 แม้จะมีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขในการชำระเงินกู้คืนทุกเดือนตามคำสั่งหรือกำหนดชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน เดือนละ 148,000 บาท ระยะเวลา 5 ปี เริ่มชำระคืนงวดแรกวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2539 และงวดต่อๆ ไปทุกวันที่ 23 ของเดือนจนกว่าเงินต้นและดอกเบี้ยจะได้มีการชำระครบถ้วนแล้วอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เมื่อผู้ให้กู้เดิมและจำเลยที่ 1 เลือกผูกพันตามข้อตกลงในการชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนโดยวิธีชำระคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยทุกเดือนรวมระยะเวลา 5 ปี นิติสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้กู้เดิมหรือโจทก์ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องกับจำเลยที่ 1 จึงต้องบังคับตามข้อตกลงที่คู่สัญญาเลือกปฏิบัติผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น เมื่อข้อตกลงชำระหนี้เงินกู้คืนที่ตกลงผูกนิติสัมพันธ์กันนั้นเป็นการชำระหนี้เพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) หาใช่มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ตามที่โจทก์ฎีกาไม่ อนึ่ง กรณีที่มีการชำระต้นเงินคืนบางส่วน หรือชำระดอกเบี้ย ย่อมเป็นกรณีลูกหนี้รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และให้นับอายุความใหม่นับแต่เวลานั้น ตามป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 2.   สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่มีข้อตกลงให้ผ่อนชำระคืนต้นเงินเป็นงวดๆ จะใช้อายุความทั่วไปซึ่งมีกำหนด 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 "มาตรา 193/30 อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี" สัญญากู้ยืมเงินที่มีข้อตกลงให้ชำระต้นเงินคืนในคราวเดียว เช่น ให้ชำระต้นเงินทั้งหมดคืนในวันที่ 30 มิ.ย.59 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6830/2551 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง และจะต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2539 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ เห็นว่า การกู้ยืมเงินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 193/30 และตามมาตรา 193/12 บัญญัติว่า “อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป” จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2539 ตามหนังสือสัญญากู้เงินเอกสาร จ.1 ข้อ 4 กำหนดให้จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทุกเดือน ซึ่งจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยเดือนแรกในวันที่ 9 มิถุนายน 2539 การที่จำเลยไม่ชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงเป็นการผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกเงินต้นและดอกเบี้ยได้ทันทีตามสัญญาข้อ 6 โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป โดยไม่จำต้องรอจนครบกำหนดชำระเงินคืนตามสัญญาอายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ 10 ปีวันที่ 10 มิถุนายน 2549 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2550 เกินกว่า 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ หมายเหตุ แม้สัญญากู้ยืมเงินที่พิพาทในคดีนี้ แม้มีจะข้อตกลงให้ผ่อนชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ในส่วนของต้นเงินนั้น คู่สัญญาตกลงกันให้ชำระในวันที่ 9 พ.ค.40 ในคราวเดียว จึงใช้อายุความ 10 ปี ตามป.พ.พ. มาตรา 193/30 [1] เพจเฟสบุ๊ค สำนักงานกิจการยุติธรรม

อ่านเพิ่มเติม >