ฉบับที่ 254 ซื้อสินค้าออนไลน์แล้วได้ไม่ครบตามจำนวน

        หลายๆ บ้าน น่าจะสนิทกับบริษัทขนส่งของ เพราะว่าช่วงนี้คงจะมีของมาส่งที่บ้านอยู่ไม่น้อย เพราะว่าช่วงโควิด 19 หลายบ้านน่าจะสั่งสินค้าออนไลน์กันบ่อยๆ มาดูกันว่าถ้ามีปัญหาจากกันสั่งสินค้าออนไลน์ เราจะสามารถจัดการปัญหาอย่างไรได้บ้าง         ช่วงสถานการณ์โควิดกำลังแพร่ระบาดอย่างหนัก ATK (ชุดตรวจโควิดด้วยตัวเอง) เป็นที่ต้องการอย่างมาก คุณบุปผาได้สั่งซื้อ ATK จากเพจเฟสบุ๊กชื่อ แหล่งรวมความถูกที่สุด ชุดละ 37 บาท จำนวน 20 ชุด เป็นเงินจำนวน 790 บาท โดยเขาจ่ายเงินค่าสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง เมื่อสินค้ามาส่งเขาไม่ได้อยู่บ้าน คนที่บ้านรับไว้ให้ และได้จ่ายเงินค่าสินค้าให้กับบริษัทขนส่งไป แต่เมื่อเขากลับมาเปิดกล่องสินค้าพบว่า มี ATK แค่ 12 ชุด ขาดไป 8 ชุด เขารีบติดต่อไปที่เพจที่สั่งสินค้ามา แต่เพจไม่ยอมตอบกลับเขาและแสดงความรับผิดชอบ แนวทางการแก้ไขปัญหา         การสั่งสินค้าออนไลน์ โดยการชำระเงินแบบเก็บเงินปลายทาง (COD) เมื่อตรวจสอบสินค้าแล้วพบว่า สินค้าได้ไม่ครบตามจำนวนที่สั่งซื้อ สามารถแจ้งไปยังบริษัทขนส่งเพื่อให้ระงับเงินโอนไปยังผู้ขายได้ โดยทำผ่านแอปพลิเคชัน หรือโทรศัพท์ หรือสำนักงานสาขาก็ได้ หลังจากนั้นบริษัทจะติดต่อไปยังผู้ขายให้รับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 จองคิวออนไลน์กับกรมการขนส่งทางบก

        ยุค 2019 ต้องยอมรับเลยว่าอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีมีผลกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็จะเห็นแอปพลิเคชันที่เข้ามาตอบโจทย์แทบทุกเรื่อง        กรมการขนส่งทางบกก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาเกี่ยวกับการรอคิวนานสำหรับผู้มาใช้บริการที่กรมการขนส่งทางบก โดยได้จัดทำแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า DLT Smart Queue ซึ่งสามารถรองรับสมาร์ทโฟนได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android         แอปพลิเคชั่น DLT Smart Queue ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้สำหรับจองคิวเพื่อเข้ารับการอบรมและเรื่องอื่นๆ ได้ล่วงหน้า โดยต้องลงทะเบียนจองล่วงหน้าก่อน 1 วันที่จะเข้าใช้บริการกับกรมการขนส่งทางบก         ขั้นตอนภายในแอปพลิเคชันลำดับแรกต้องลงทะเบียนโดยการกรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน คำนำหน้าชื่อ ชื่อและนามสกุล เบอร์โทรศัพท์ เมล และตั้งรหัสผ่าน เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยให้กรอกรายละเอียดเพื่อเข้าสู่ระบบ         หลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะปรากฏปุ่มจองคิว (Book a Queue) เมื่อกดปุ่มจะปรากฎข้อความแจ้งเตือนซึ่งเป็นข้อกำหนดในการใช้บริการ โดยให้ผู้ใช้บริการที่จองคิวผ่านแอปพลิเคชันต้องมาก่อนเวลาที่ทำการนัดหมายอย่างน้อย 20 นาที และเตรียมเอกสารให้เรียบร้อย พร้อมทั้งยื่นหน้าจอสมาร์ทโฟนที่ได้ทำการนัดหมายไว้แก่เจ้าหน้าที่         ขั้นตอนต่อไปผู้ใช้บริการจะต้องเลือกจังหวัดที่ต้องการเข้ารับบริการ และเลือกสาขาของสำนักงานขนส่งในพื้นที่ที่สะดวก ถัดไปจะเป็นการเลือกประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการ ซึ่งในแต่ละสาขาจะมีประเภทงานแตกต่างกันไป         โดยประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการมีตั้งแต่ประเภทขอรับใบอนุญาตครั้งแรก ประเภทการต่ออายุใบอนุญาตจาก 2 ปีเป็น 5 ปี ประเภทการต่ออายุใบอนุญาตจาก 5 ปีเป็น 5 ปี ประเภทการชำระภาษี ประเภทการขอใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ ประเภทการออกใบแทนใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ประเภทการออกเล่มทะเบียน ประเภทการขอออกแผ่นป้ายทะเบียน ประเภทการย้ายรถออก  ประเภทการแก้ไขรายการ เป็นต้น         เมื่อเลือกประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการได้แล้ว แอปพลิเคชันจะแจ้งเตือนรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องเตรียมมาประกอบ ต่อจากนั้นต้องเลือกวันเวลาที่สะดวกในการทำการนัดหมาย ซึ่งในแต่ละประเภทงานที่ต้องการเข้ารับบริการจะกำหนดจำนวนสูงสุดและจำนวนที่จองคิวที่สามารถจองคิวผ่านแอปพลิเคชันได้         นอกจากการจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue แล้ว ยังสามารถจองคิวผ่านทางเว็บไซต์ https://gecc.dlt.go.th ได้เช่นกัน        ใครมีความจำเป็นต้องใช้บริการกับกรมการขนส่งทางบก ลองใช้แอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งสามารถช่วยลดระยะเวลาในการรอคิวมากเลยทีเดียว        ทีนี้ก็หมดปัญหาเรื่องการรอคิวยาวแล้วล่ะ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์ พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย

ฉลาดซื้อร่วมกับบ้านสมเด็จโพลล์พบว่า 70.4 % อยากให้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริการขนส่งสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,183 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 3 - 6 มีนาคม 2562 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่องการบริการขนส่งสินค้า ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วจากผลของการซื้อสินค้าทางออนไลน์ที่มีการส่งสินค้าผ่านการบริการขนส่งสินค้า ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงในการให้บริการขนส่งสินค้า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้บริการขนส่งสินค้า ตั้งแต่การส่งสินค้าล่าช้า การสูญหายจากการส่งสินค้า สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่ง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ ความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริการขนส่งสินค้า ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้ส่วนที่ 1 การบริการขนส่งสินค้า1.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                          ร้อยละ   97.3            ไม่เคย                                                      ร้อยละ   2.72.   ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดบ้าง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)            ไปรษณีย์ไทย                                         ร้อยละ   87.2            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                      ร้อยละ   75.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                   ร้อยละ   12.2            ดีเอชแอล                                               ร้อยละ   11.1            ลาล่ามูพ                                                 ร้อยละ   19.7            ไลน์แมน                                                 ร้อยละ   37.5            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                          ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   2.1    3.   ท่านเคยพบปัญหาในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                        ร้อยละ   89.9            ไม่เคย                                                    ร้อยละ   10.14.   ท่านเคยพบปัญหาใดบ้างในการใช้บริการขนส่งสินค้า            การส่งสินค้าล่าช้า                                     ร้อยละ   31.8              การสูญหายจากการส่งสินค้า                      ร้อยละ   8.3                สินค้าที่ส่งเกิดความเสียหาย                      ร้อยละ   12.4              กล่อง / บรรจุภัณฑ์ เสียหาย                       ร้อยละ   19.9            การส่งสินค้าโดยไม่มีการเซ็นรับสินค้า         ร้อยละ   5.9                การนัดหมายในการส่งสินค้าไม่ตรงเวลา      ร้อยละ   13.2            อื่นๆ                                                        ร้อยละ   8.55.   ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าต่อหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่            ใช่                                                             ร้อยละ   67.2            ไม่ใช่                                                         ร้อยละ   32.86.   หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคที่ท่านเคยร้องเรียนปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้าได้แก่ (เลือกได้มากกว่าหนึ่งข้อ)            สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)           ร้อยละ   38.5            มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค                                                      ร้อยละ   35.1            หน่วยงานอื่น                                                              ร้อยละ   5.8            ไม่เคย                                                                        ร้อยละ   20.67.     ท่านมีการใช้บริการขนส่งผ่านช่องทางใดมากที่สุด            การไปใช้บริการยังที่ตั้งของบริษัท                             ร้อยละ   27.9            การใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์                           ร้อยละ   54.9            การใช้บริการผ่านทางโทรศัพท์                                 ร้อยละ   11.6            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   5.68.     ท่านเคยใช้บริการขนส่งสินค้าโดนสินค้าที่ส่งมีมูลค่าสูงสุดเท่าใด            น้อยกว่า 100 บาท                                                   ร้อยละ   6.5            101 – 500 บาท                                                      ร้อยละ   27.5            501 – 1,000 บาท                                                   ร้อยละ   37.9            1,000 – 5,000 บาท                                                ร้อยละ   21.4            5,001 – 10,000 บาท                                              ร้อยละ   6.5                มากกว่า10,000 บาท                                               ร้อยละ   0.29.   หากท่านพบปัญหาการใช้บริการขนส่งสินค้า ท่านติดต่อไปยังผู้ให้บริการและได้รับความสะดวกรวดเร็วหรือไม่            ใช่                                                                            ร้อยละ   56.8            ไม่ใช่                                                                        ร้อยละ   43.210.             ท่านคิดว่าการใช้บริการขนส่งสินค้ามีความปลอดภัย หรือไม่            มี                                                                              ร้อยละ   70.4            ไม่มี                                                                          ร้อยละ   29.611.           ท่านคิดว่าในปัจจุบันควรมีการบังคับใช้กฎหมายในการแสดงบัตรประชาชนในการใช้บริการขนส่งสินค้าหรือไม่            เคย                                                                       ร้อยละ   85.0            ไม่เคย                                                                   ร้อยละ   15.012.           ท่านอยากให้การให้บริการขนส่งสินค้าควรมีการปรับปรุงในด้านในมากที่สุด            ความรวดเร็ว                                                          ร้อยละ   29.2            ค่าบริการ                                                               ร้อยละ   26.6            ความปลอดภัย                                                       ร้อยละ   38.0            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   6.2 13.           ท่านมีความพึงพอใจในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   28.0            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   52.4            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.3            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.5            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   5.4            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   7.9            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.4            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.1    14.           ท่านมีความพึงพอใจกับความรวดเร็วในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                       ร้อยละ   24.4            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                    ร้อยละ   49.6            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                 ร้อยละ   2.5            ดีเอชแอล                                                             ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                               ร้อยละ   7.1            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   12.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.9            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    15.           ท่านมีความพึงพอใจกับค่าบริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   39.5            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   38.2            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   1.9            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   0.9            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   4.9            ไลน์แมน                                                               ร้อยละ   11.7            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                        ร้อยละ   1.7            อื่นๆ                                                                      ร้อยละ   1.2    16.           ท่านมีความพึงพอใจกับการให้บริการในการใช้บริการขนส่งสินค้าของผู้ให้บริการใดมากที่สุด            ไปรษณีย์ไทย                                                        ร้อยละ   26.1            เคอรี่ เอ็กซ์เพรส                                                     ร้อยละ   48.5            เอสซีจี เอ็กซ์เพรส                                                  ร้อยละ   2.4            ดีเอชแอล                                                              ร้อยละ   1.2            ลาล่ามูพ                                                                ร้อยละ   7.0            ไลน์แมน                                                                ร้อยละ   11.1            นิ่มเอ็กซ์เพรส                                                         ร้อยละ   2.2            อื่นๆ                                                                       ร้อยละ   1.5      ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์1. เพศ           ชาย                ร้อยละ   45.3  หญิง               ร้อยละ   54.72. อายุ           ต่ำกว่า 20 ปี    ร้อยละ   2.3    21 – 25  ปี      ร้อยละ   15.0                      26 – 30  ปี      ร้อยละ  12.4   31 – 35  ปี      ร้อยละ   17.5                        36 – 40  ปี      ร้อยละ  26.7   41 -  45 ปี       ร้อยละ   8.1                          46 -  50 ปี      ร้อยละ  12.0   มากกว่า 50 ปี   ร้อยละ   6.03. อาชีพ      นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                       ร้อยละ 12.6                       ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ        ร้อยละ 13.1                   พนักงานบริษัทเอกชน                                             ร้อยละ 27.6                   นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว                                 ร้อยละ 16.9                   แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                      ร้อยละ 10.6                       รับจ้างทั่วไป                                                           ร้อยละ 18.9    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 209 การประเมินนโยบายงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ของสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี (ตอน 5)

หลังจากที่พรรค CDU ของนางแองเจล่าร์ แมร์เคลประสบความสำเร็จได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ไม่สามารถได้รับคะแนนเสียงข้างมากได้ และคะแนนนิยมตกต่ำลงซึ่งเป็นผลพวงมาจาก นโยบายการรับผู้อพยพลี้ภัย โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยภายใน ส่งผลให้การเจรจากับพรรคอื่น ไม่ว่าจะเป็น พรรค FDP หรือ พรรค The Green Party ประสบความล้มเหลว และในที่สุด ก็สามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลผสมโดยพรรคขนาดใหญ่ 3 พรรค คือ พรรค CDU CSU ซึ่งเป็นพรรคการเมืองสายอนุรักษ์นิยม และพรรค SPD เป็นพรรคสายสังคมนิยม การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสม ได้สั่นคลอนความเป็นปึกแผ่นของพรรค SPD มีการเปลี่ยนผู้นำพรรคและผู้บริหารพรรค อย่างหืดขึ้นคอทีเดียว สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคแห่งเยอรมนี ก็ได้จัดทำความเห็นขององค์กรผู้บริโภคต่อนโยบายของรัฐบาล ประเด็นเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อประเมินนโยบายของรัฐบาลผสมขนาดใหญ่ของทั้งสามพรรค โดยมีทั้งหมด 12 ประเด็น และได้เล่าไปในทั้ง 4 ตอนที่ผ่านมา ครั้งนี้ขอกล่าวถึงต่อในประเด็นของอสังหาริมทรัพย์นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย (Real estate and accommodation)โครงการสร้างที่อยู่อาศัย และบ้านพักสวัสดิการเพิ่มเติม จำนวน 1.5 ล้านยูนิต โดยใช้งบประมาณจากรัฐบาลสนับสนุนถึง 2,000 ล้านยูโร เจ้าของผู้ให้เช่า จะต้องแจ้งราคาค่าเช่าให้ผู้เช่ารับทราบ ถึงราคาค่าเช่าก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลทางกฎหมายที่กำกับธุรกิจการให้เช่าที่พักอาศัยและอสังหาริมทรัพย์  สำหรับผู้เช่าจะได้รับราคาค่าเช่าที่ลดลง ซึ่งเป็นต้นทุนที่เกิดจากการ ปรับปรุงที่พักอาศัย จากเดิมที่คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ต่อ ตารางเมตร ให้ลดลงเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ต่อตารางเมตร เพื่อป้องกันการ คิดราคาค่าเช่าเพิ่มอย่างไม่เป็นธรรมและไม่มีเหตุผล นอกจากนี้ เจ้าของผู้ให้เช่า จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติมสำหรับการปรับปรุงที่พักอาศัยที่ ทำให้เกิดการประหยัดและลดการใช้พลังงาน ตลอดจนรัฐบาลจะไม่เพิ่มภาระจากการออกมาตรฐาน energy efficiency standards บังคับใช้สำหรับบ้านหรือที่พักอาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่เรื่องการให้งบประมาณสนับสนุนยังขาดมิติในเรื่องของเวลาที่จะควรกำหนดกรอบเวลาในการสนับสนุนให้ชัดเจนขึ้น และมาตรการการสนับสนุนมาตรการทางภาษี ยังให้การสนับสนุนในวงเงินที่ค่อนข้างต่ำ และการสนับสนุนการก่อสร้างที่พักอาศัยขึ้นใหม่ โดยใช้มาตรการทางการเงินที่เรียกว่า KfW 55 Standard ต้องนำมาใช้ประกอบกันด้วยเพื่อให้ ที่อยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่นั้น สามารถลดการใช้พลังงานได้จริง(หมายเหตุ KfW 55 standard เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่กำหนด โดย ธนาคาร KFW ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ในบ้านเรา แต่มีมิติของการอนุรักษ์การใช้พลังงาน เป็นเงื่อนไขในการปล่อยกู้ และสนับสนุนมาตรการทางการเงิน และมาตาการทางภาษีให้กับ เจ้าของที่พักอาศัยในธุรกิจบ้านเช่า)นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคต่อประเด็น การเดินทาง การท่องเที่ยว(Mobility and tourism)ประเด็นการห้ามรถยนต์ดีเซล (Diesel Driving Prohibition)รัฐบาลมีนโยบายในการป้องกันรักษาคุณภาพของอากาศ ลดปริมาณการปล่อยก้าซพิษ บนท้องถนน โดยคำนึงถึง ข้อจำกัดทางเทคนิค และข้อจำกัดทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงคุณภาพของรถยนต์ โดยเฉพาะภายในปี 2018 นโยบายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) โดยจะพิจารณาถึงมาตรการ การติดตั้งอุปกรณ์เสริมเพื่อลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวต่อประเด็นนี้ ทางสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่จะห้ามรถยนต์ดีเซลวิ่งบนท้องถนน สำหรับผู้ประกอบการ ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ดีเซล จะต้องรับผิดชอบ ต่อลูกค้าของตน ในการติดตั้งอุปกรณ์เสริม สำหรับเครื่องยนต์ดีเซลมาตรฐาน Euro 5 ตลอดจนไม่ผลักภาระไปให้กับลูกค้ารถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electro mobility)โครงการการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่จะสร้างขึ้นจำนวน 100,000 สถานี ภายในปี 2020 และมีมาตรการสนับสนุนการก่อสร้างสถานีชาร์จสำหรับเจ้าของที่พักอาศัยและผู้เช่า ตลอดจนพัฒนากฎหมายที่ส่งเสริมระบบการจ่ายเงินค่าชาร์จไฟที่เป็นมิตรกับผู้ใช้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนนโยบายการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการใช้ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ตลอดจนการสนับสนุนเจ้าของที่พักอาศัย และผู้เช่าให้มีส่วนร่วมกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การยอมรับการเป็นสังคมการใช้รถไฟฟ้า สำหรับประเด็นระบบการจ่ายเงิน และการคิดค่าชาร์จไฟที่เป็นมิตรกับผู้บริโภค จะต้องคำนึงถึงประเด็นทางด้านความโปร่งใสของราคา แต่ละสถานีชาร์จไฟ และจำกัดเพดานของ ค่าธรรมเนียมจากการ roaming ข้อมูลนโยบาย รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ(autonomous driving) ประเด็นนี้ จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และผลักดันให้เกิดกฎหมายเฉพาะออกมาบังคับใช้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในระบบการจราจรสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดนี้ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสังคม นอกจากนี้ กฎหมายเฉพาะที่จะออกมาบังคับใช้นั้น ควรให้ทางผู้ประกอบการมีส่วนรับผิดด้วย อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกระบวนการ อภิปรายถกเถียง และปรึกษาหารือของสังคม เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่แบบนี้ ย่อมนำไปสู่ประเด็น เรื่องจริยธรรมใหม่ของสังคมตามมาด้วยเช่นกันระบบการขนส่งมวลชน และการขนส่งผู้โดยสารยุคใหม่ (Mobility platforms and personal transportation law) ปัจจุบันเป็นยุค ดิจิตัล การจัดการ และการเชื่อมต่อข้อมูล การโดยสารและขนส่ง เพื่อตอบโจทย์ทางด้านการขนส่งที่เป็นมิตรกับผู้โดยสารเป็นเรื่องสำคัญ ในระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะ กฎหมายที่เกี่ยวข้องการขนส่งผู้โดยสารจำเป็นต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง  เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในยุค 4.0สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสนับสนุนแนวความคิดนี้ และให้ความสำคัญกับการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การเดินทางและการขนส่งมวลชนยุคใหม่ ภายใต้การรักษาคุณภาพชีวิต และมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถวางแผนการเดินทาง จองตั๋วโดยสาร และจ่ายเงินได้อย่างสะดวกภายใต้ระบบการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคใช้บริการขนส่งมวลชนสาธารณะ จำเป็นที่จะต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเป็นปากเสียงและสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคเกิดขึ้นครั้งหน้าจะนำเสนอ ความเห็นต่อนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคทางด้านการบริโภคที่ยั่งยืน และการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ (sustainability consume and resource protection) และนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคจากการค้าข้ามชาติ (International commerce)

อ่านเพิ่มเติม >