ฉบับที่ 221 ความยินยอมไม่เป็นละเมิด

        อย่างที่เรารู้กันว่าคนไทยเราชอบอะไรง่ายๆ เรื่องเล็กน้อย ก็ยอมๆ กันได้ เช่น ข้างบ้านมาสร้างรั้วล้ำมาในเขตบ้านเรา แต่เราเห็นว่านิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยยอมให้เขาสร้าง เช่นนี้เขาก็ถือว่าสร้างโดยเรายินยอม จึงไม่ผิด หรือมีคนมาหยิบหนังสือเราไปอ่าน เราก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร เขาก็ไม่ผิด แต่รู้ไหมว่า การยินยอมบางอย่างมันมีผลทางกฎหมายด้วยนะครับ         ผมขอยกตัวอย่างในคดีทางการแพทย์ อย่างที่รู้เราไปหาหมอให้เขารักษา เท่ากับเรายินยอมให้เขารักษา เพราะเขาต้องใช้เครื่องมือแพทย์กับร่างกายเรา ทั้งเจาะร่างกาย ใช้เข็มแทง ผ่าตัด วางยาสลบ และเขาก็ยินยอมรักษาให้เรา หากภายหลังพบว่า หมอเขารักษาไม่ดี เช่นนี้จะถือเอาความยินยอมของเรา มาอ้างเพื่อพ้นความรับผิดได้ไหม เรื่องนี้ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า แม้จะได้รับความยินยอมแต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของหมออันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หมอก็ต้องรับผิดต่อโจทก์                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552        การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล...ด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์        ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้        ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446        อย่างไรก็ตาม การยินยอมก็ต้องมีขอบเขต ถ้าเป็นการยินยอมที่ต้องห้ามตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นละเมิดต้องรับผิด เช่น กรณีผู้เสียหายยินยอมมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด การยินยอมก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ  จึงถือว่ากระทำละเมิด ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557                ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

อ่านเพิ่มเติม >