ฉบับที่ 216 ล้างแผลถูกวิธี แผลดีไม่มีปัญหา

        หลายวันก่อนพบว่าในกลุ่มเพื่อนยังมีบางคนเข้าใจไม่ถูกต้องเรื่องการล้างแผล ถกกันเรื่องการใช้แอลกอฮอล์กับการใช้น้ำเกลือ ว่าอย่างไหนมีประสิทธิภาพมากกว่ากัน สวยอย่างฉลาด คราวนี้จึงขอนำเรื่องการล้างแผลที่ถูกวิธีมาเสนออีกครั้ง เพราะถ้าเราทำความสะอาดแผลได้ดี แผลก็จะไม่ติดเชื้อลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่ หรือกลายเป็นแผลเป็นติดตัวไปเข้าใจเรื่องแผล        นิยามของ บาดแผล จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 หมายความว่า เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะถูกตีฟันทิ่มแทง เป็นต้น ส่วนคำว่า แผล หมายถึง เนื้อหนังที่แตกแยกออกเพราะเป็นโรคหรือถูกของมีคม เป็นต้นชนิดของแผลแบ่งตามสาเหตุ เป็น 2 กลุ่มดังนี้        1. แผลเฉียบพลันหรือแผลสด คือแผลที่มีการติดประสานของผิวหนังได้ตามกระบวนการปกติ และมักเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกของมีคมบาด หกล้ม        2. แผลเรื้อรัง คือกลุ่มที่แผลมีปัญหาในการสมานติดของแผล ส่วนใหญ่แผลมักไม่ติดในเวลา 3 เดือนแผลหายเร็วหรือสมานตัวได้อย่างไร        การสมานตัวหรือการติดประสานของเนื้อเยื่อที่บาดแผล ร่างกายของเราจะเป็นผู้จัดการตัวเอง ทั้งการห้ามเลือดให้หยุด ส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวมากำจัดเชื้อโรค และเร่งการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเพื่อทำให้เกิดการสมานตัวโดยมีสารโปรตีนเป็นตัวการสำคัญ        การทำความสะอาดแผลจึงเป็นการช่วยเหลือจากภายนอก คือช่วยทำให้แผลสะอาดปราศจากสิ่งสกปรกและลดปริมาณเชื้อโรคต่างๆ ลงเพื่อให้ร่างกายทำงานซ่อมแซมบาดแผลได้ดีขึ้น เรียนรู้เรื่องการทำความสะอาดแผล        1.ควรล้างแผลด้วยน้ำเกลือที่เรียกว่า Normal saline ซึ่งเป็นน้ำเกลือปราศจากเชื้อ หรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% โดยความเข้มข้นของน้ำเกลือชนิดนี้ จะมีความสมดุลกับเนื้อเยื่อของร่างกาย จึงไม่ทำให้รู้สึกแสบ ใช้ล้างตรงๆ บริเวณบาดแผลได้เลย เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด รบกวนการสมานตัวของแผลน้อยที่สุด แต่เมื่อเปิดใช้ครั้งแรกแล้วจะมีอายุการใช้งานได้อีก 30 วัน หากเกินนั้นไปแล้วไม่ควรใช้         2.ถ้าไม่มีน้ำเกลือสามารถล้างแผลด้วยน้ำประปากับสบู่ได้ แต่น้ำประปามีความเข้มข้นต่ำกว่าน้ำในเซลล์ร่างกาย จึงอาจทำให้รู้สึกแสบแผลเล็กน้อย และรบกวนการสมานแผลของร่างกาย แต่ช่วยให้แผลสะอาดได้ไม่แพ้น้ำเกลือ        3.การใช้แอลกอฮอล์ล้างแผล เป็นเรื่องที่เข้าใจกันผิดมาตลอดคือ การนำแอลกอฮอล์ราดหรือเช็ดไปที่แผลโดยตรง ถือว่าผิดวิธีเพราะแอลกอฮอล์เป็นยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ สำหรับเช็ดผิวหนังรอบแผลก่อนผ่าตัดหรือก่อนฉีดยาเท่านั้น เพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรครอบปากแผลจะเข้าสู่แผลได้ หากเช็ดแอลกอฮอล์ไปที่แผลตรงๆ แอลกอฮอล์จะทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ อาจทำให้เกิดเนื้อตาย แสบร้อนแผล และทำให้แผลหายช้า         4.ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ หลายคนชอบใช้ล้างแผล ซึ่งผิด เพราะไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อและรบกวนการสมานแผลของร่างกายไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ จึงควรใช้เช็ดรอบปากแผลเท่านั้น        5.เมื่อทำความสะอาดแผลแล้ว ระยะแรกควรปิดแผลด้วยผ้ากอซหรือผ้าสะอาด เพื่อป้องกันฝุ่นละออง และอย่าให้แผลโดนน้ำ แต่ไม่ควรปิดแผลจนแน่นเกินไป ควรให้แผลได้ถูกอากาศบ้าง เพื่อป้องกันแผลอับชื้น ซึ่งอาจทำให้เชื้อโรคบูมขึ้นได้        การใช้ยาใส่แผลจำพวก ไอโอดีน โพวิดีนไอโอดีน และสารออร์กานิกต้านแบคทีเรียอื่นๆ ก็สามารถทำให้การหายของบาดแผลช้าลง เนื่องจากสารเหล่านี้มีฤทธิ์ทำลายหรือขัดขวางเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จะช่วยให้กระบวนการติดประสานของแผลเป็นไปโดยปกติ        อย่างไรก็ดี สำหรับแผลที่ค่อนข้างลึก ใหญ่ และรุนแรง หรือเป็นแผลบริเวณใกล้ดวงตา แผลที่ศีรษะ แผลเปิดกว้าง แผลเกิดจากของขึ้นสนิม หรือโดนสัตว์กัด เลือดไหลไม่หยุดยาวนานประมาณ 5-10 นาที ให้ไปพบแพทย์เพื่อจัดการดูแลแผลอย่างถูกต้องเหมาะสมจะดีกว่า

อ่านเพิ่มเติม >