ฉบับที่ 224 ลูกหนี้รู้ไว้ อย่าตกใจเมื่อถูกฟ้องอายัดเงินเดือน

        สวัสดีครับ ผมอยากพูดถึงเรื่องใกล้ตัวที่หลายคนควรทราบเกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในช่วงที่เศรษฐกิจขึ้นๆ ลงๆ เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ หลายคนที่เป็นลูกหนี้มักกลัวว่า เกิดไม่ใช้หนี้ เจ้าหนี้จะมายึดเอาเงินเดือน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของลูกหนี้ไปไหม  บางครั้งก็มีจดหมายทวงหนี้จากสำนักงานกฎหมายมาขู่ว่า จะฟ้องคดี ยึดทรัพย์ อายัดเงินเดือน  สิ่งเหล่านี้ เกิดขึ้นเสมอกับคนที่เป็นหนี้ และหลายคนเกิดความกังวล บางคนถึงกับลาออก หางานใหม่ซึ่งการทำเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไร         ดังนั้น เราควรมีความรู้ทางกฎหมายในเรื่องการอายัดเงินเดือนไว้  เพื่อลดความวิตกกังวล และสามารถวางแผนจัดการหนี้ได้อย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องกลัวคำขู่ของเจ้าหนี้หรือทนายที่รับทวงหนี้         โดยเมื่อปี 2560 มีการแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับที่ 30 กำหนดมูลค่าของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ที่อายัดไม่ได้หรือมีอายัดได้จำกัด เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกินเดือนละ 20,000 บาท และบำเหน็จหรือค่าชดเชย ไม่เกิน 300,000 บาท หรือตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นสมควร  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 เช่นนี้ ลูกหนี้ต้องจำไว้ว่า ถ้าเจ้าหนี้จะยึดเงินเดือนก็ยึดได้ แต่ไม่เกิน 20,000 บาท ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีเงินเดือน 19,500 บาท ไม่ถูกอายัด แต่หากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัดทั้งหมด ก็อายัดได้เพียงแค่ 10,000 บาท ต้องเหลือให้ลูกหนี้ไว้ใช้จ่าย 20,000 บาท  หรือหากมีเงินเดือน 30,000 บาท เจ้าหนี้ขอให้อายัด 5,000 บาท ถูกอายัด 5,000 บาท ลูกหนี้เหลือไว้ใช้จ่าย 25,000 บาท เป็นต้น         อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับการอายัดเงินเดือน ในอดีต เคยมีประเด็นขึ้นสู่ศาลฏีกาในเรื่อง การอายัดเงินเดือนซ้ำ กรณีลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายคน ซึ่งศาลฏีกาก็ตัดสินไว้ว่า การยึดอายัดซ้ำต้องเป็นกรณีทรัพย์รายเดียวกัน ดังนั้น เงินเดือนของลูกหนี้ หากอายัดในจำนวนที่แยกต่างหากจากกันกับเจ้าหนี้อื่น ไม่ถือว่าอายัดซ้ำ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5749/2553        การห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ต้องเป็นทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยมีเงินเดือน 27,000 บาท ถูกอายัดเงินเดือนครั้งแรกในคดีที่ 1 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 2 ในคดีที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท ครั้งที่ 3 คือคดีนี้โจทก์อายัดไว้ 5,000 บาท ดังนั้น การอายัดของโจทก์จึงเป็นการอายัดเงินเดือนของจำเลยในจำนวนที่แยกต่างหากจากที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นได้อายัดไว้ จึงไม่ใช่การอายัดซ้ำ                  นอกจากนี้ กรณีเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการ เจ้าหนี้ก็อายัดไม่ได้  ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4615/2559         เงินประจำตำแหน่งเป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการขณะดำรงตำแหน่งตามที่ระบุ ส่วนเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งข้าราชการ เป็นเงินที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการผู้มีสิทธิได้รับรถประจำตำแหน่งได้รับในลักษณะคงที่แน่นอนเช่นเดียวกับเงินเดือนและเป็นรายเดือน จึงเป็นรายได้อื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินเดือนของข้าราชการ ชึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) โจทก์ย่อมขอบังคับคดีไม่ได้

อ่านเพิ่มเติม >