ฉบับที่่ 269 กระแสต่างแดน

เอาที่ไหนมาพูด          Champstudy แพลตฟอร์มติวข้อสอบเจ้าดังของเกาหลีใต้ ถูกคณะกรรมาธิการการค้าที่เป็นธรรม สั่งปรับเป็นเงิน 285 ล้านวอน (ประมาณ 7.6 ล้านบาท) หลังปล่อยโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเขาเป็นแพลตฟอร์มที่มีสถิตินักเรียนสอบผ่านสูงที่สุด         บริษัท Hackers Language Institute ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มดังกล่าว อ้างว่าเป็น “อันดับหนึ่ง” ในเรื่องการสอบเข้ารับราชการและการสอบเป็นตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยอาศัยข้อมูลจากการสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภค (ไม่ใช่การเก็บสถิติอย่างเป็นทางการ)         นอกจากนี้ยังโฆษณายังอ้างว่าผู้เรียนจะสอบผ่านได้ “เร็วที่สุด” โดยไม่ได้ให้รายละเอียด คณะกรรมาธิการฯ จึงลงความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรมทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการรายอื่นในตลาดคอร์สออนไลน์ของเกาหลี ซึ่งมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านวอน (ประมาณ 1,340 ล้านบาท) ในปี 2021         ก่อนหน้านี้บริษัท Eduwill ก็เคยถูกสั่งปรับด้วยความผิดนี้มาแล้วเช่นกัน  ขับสบาย นั่งสบาย         กระทรวงคมนาคมจีนขอให้แพลตฟอร์มเรียกรถปรับปรุงรูปแบบการดำเนินงานและการจัดการเพราะรัฐบาลตั้งเป้าให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน         ผู้โดยสารจะต้องได้รับบริการและประสบการณ์การเดินทางที่ราบรื่นปลอดภัย ไม่ถูกละเมิดสิทธิ บริษัทจะต้องเข้มงวดกับการขึ้นทะเบียนคนขับและยานพาหนะที่ใช้ และหากมีปัญหาก็ต้องสามารถร้องเรียนให้เกิดการแก้ไขได้         ขณะเดียวกัน คนขับก็ต้องมีสภาพการทำงานที่ดี ไม่ถูก “กดดัน” ให้ใช้ความเร็วสูง ทำงานเลยเวลา หรือทำงานต่อเนื่องนานเกินไป และพวกเขาควรได้รับข้อมูลการจราจรและสภาพอากาศอย่างทันท่วงที  นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังขอให้บริษัทพิจารณาลดค่าคอมฯ ที่เรียกเก็บจากคนขับทุกครั้งที่รับงานด้วย         อุตสาหกรรมนี้ในจีนเติบโตมาก ขณะนี้มีบริษัทขนส่งที่ได้รับอนุญาตถึง 318 ราย (ในจำนวนนี้มี 15 แพลตฟอร์ม) มีคนขับขึ้นทะเบียน 5.79 ล้านคน ยานพาหนะขึ้นทะเบียน 2.43 ล้านคัน ในเดือนมิถุนายนมีการเรียกใช้บริการถึง 763 ล้านครั้ง ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 4 ต่อเดือน  ย่อยนานไป ไม่ผ่าน         ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ไต้หวันจะ “แบน” ช้อน ส้อม จาน ชาม และภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจาก “พลาสติกชีวภาพ”         หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไต้หวันกล่าวว่าได้ปรับปรุงกฎระเบียบให้เพิ่มการห้ามใช้ภาชนะที่ทำจากพลาสติกชนิดโพลีแลคไทด์ (PLA) ที่เคยเชื่อกันว่าสามารถ “ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ”        เพราะพลาสติกชนิดนี้ใช้เวลาย่อยสลายนานเกินไปจนเป็นภาระต่อระบบรีไซเคิล และยังเป็นอุปสรรคในการบรรลุเป้าหมายของไต้หวันที่ต้องการลดการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งด้วย        กฎหมายดังกล่าวห้ามหน่วยงานรัฐ โรงเรียน (ทั้งรัฐบาลและเอกชน) ห้างสรรพสินค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และร้านฟาสต์ฟู้ด ใช้แก้ว ชาม จาน จานรอง กล่องอาหาร และถาดที่ทำจากพลาสติก PLA        ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,200 – 6,000 เหรียญไต้หวัน (ประมาณ 1,375 – 6,900 บาท)    ต่ำกว่าเป้า         สองปีก่อนเนเธอร์แลนด์เปิดตัวเลนจักรยานฝังโซลาเซลล์ที่ยาวที่สุดในโลก (350 เมตร) ที่หมู่บ้าน Maartensdijk อย่างยิ่งใหญ่         โครงการนำร่องซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาเมืองอูเทรคต์ และบริษัทก่อสร้าง Strukton ใช้เงินลงทุนมากถึง 1.3 ล้านยูโร (ประมาณ 49 ล้านบาท) เจ้าของโครงการยืนยันว่าถ้าประสบความสำเร็จ ต้นทุนในการสร้างเลนแบบนี้จะถูกลงเพราะจะทำให้เกิดความต้องการและการผลิตเป็นจำนวนมาก         แต่การณ์ไม่เป็นดังคาด จากที่ตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 137 kWh ต่อปี ผลประกอบการในปีที่แล้วกลับทำได้เพียงร้อยละ 27 ของเป้าหมาย ทั้งที่ฤดูใบไม้ผลิในปีนั้นแดดค่อนข้างแรงจัด ในขณะที่ตัวเลขของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 26 เท่านั้น         ผู้เชียวชาญบอกว่าอาจเป็นเพราะพื้นผิวไม่เรียบลื่นเท่าที่ควร เพราะเลนจักรยานต้องการความฝืดเพื่อป้องกันการลื่นล้มของผู้ขับขี่ ประกอบกับฝุ่นหรือโคลนจากล้อรถที่มาบดบังแสงอาทิตย์ด้วย         โครงการนี้จะได้ไปต่อหรือไม่ เดือนมิถุนายนปีหน้าจะได้รู้กัน  บำบัดไม่ทัน         เมื่อการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงกลายเป็นทางเลือกในการเดินทางอันดับหนึ่งของชาวจีน ระบบบำบัด “ของเสียจากมนุษย์” ต้องทำงานเกินความสามารถจนอาจถึงขั้น “ล่ม” ได้ หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน        การตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟความเร็วสูงในปักกิ่งเป็นเวลาหนึ่งปี พบว่า ระดับสารประกอบออกานิก (ที่แสดงถึงการปนเปื้อนจากของเสียจากมนุษย์) ในแหล่งน้ำเหล่านี้สูงกว่าในน้ำเสียจากครัวเรือนทั่วไปหลายร้อยหลายพันเท่า อาจส่งผลให้สาหร่ายเติบโตอย่างรวดเร็วจนปริมาณออกซิเจนในแหล่งน้ำลดลง และอาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือพยาธิชนิดต่างๆ อีกด้วย         ส้วมในรถไฟไฮสปีดนั้นทั้งสะอาดและสะดวก แต่ของเสียในถังเก็บไม่มีเวลาและพื้นที่เพียงพอที่จะย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติด้วยความเร็วของรถไฟและจำนวนผู้ใช้บริการ และระบบบำบัดน้ำเสียที่สถานีก็ยังไม่ได้รับการอัปเกรดให้จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 250 สวัสดีปีใหม่เดินทางปลอดภัย

        ขณะทำต้นฉบับนี้ อีกไม่กี่วันปี 2564 ก็จะจากไป ขณะที่หลายคนต่างหวาดกลัวและกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาอีกมั้ย แต่พฤติกรรมคนส่วนใหญ่กลับละเลยการป้องกันตนเอง และกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติกันแล้ว โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่พบว่ากว่า 95 เปอร์เซ็นต์มาจากพฤติกรรมการขับขี่ การขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมหมวกนิรภัย (เหมือนเดิม) และกลายเป็นเรื่องตลกร้ายที่ขำไม่ออก เมื่อทุกคนคิดว่าการมาของโควิด-19 นั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลง จึงมีผลทำให้หลายมาตรการของรัฐหย่อนยานลดประสิทธิภาพลงตามไปด้วย         แน่นอนว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะมีจำนวนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ รัฐบาลใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อหยุดการเดินทางของผู้คนทั้งประเทศ ตลอดจนการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มของมึนเมาเพื่อลดการรวมกลุ่มสังสรรค์ในทุกกิจกรรม รวมถึงการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตัดสินใจได้เองว่า ต้องป้องกันตนเองจากสถานการณ์โรคระบาดและลดพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในทุกกิจกรรม         อย่างไรก็ดีแม้สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 จะน่ากลัว แต่ก็เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังทุกภาคส่วนเพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันมากที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งรัฐบาลก็ทำได้แล้วตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และมีผลให้สถานการณ์ความตึงเครียดของโรคระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ         นับเป็นเรื่องดีที่รัฐบาลมีมาตรการเข้มข้นเพื่อต้องการหยุดเจ็บหยุดตายและป้องกันทุกชีวิตจากโควิด-19 ให้ได้ แต่เมื่อหันกลับมามองดูสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนที่มีคนเจ็บและตายมากกว่าหลายเท่าตัวตลอดหลายปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า “ยังไม่เห็นความทุ่มเทของหน่วยงานเจ้าภาพหลักของประเทศและหน่วยงานในสังกัดทุกภาคส่วน ที่มีเป้าหมายร่วมเพื่อจะหยุดเจ็บหยุดตายให้ได้เหมือนโควิด-19” หากแต่เป็นเพียงวาทะกรรมอันสวยหรูของผู้มีอิทธิพลทางการเมืองและสังคมบางกลุ่ม เน้นสร้างสรรค์กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์แบบเดิมทุกปี ที่สำคัญยังทำแค่เพียงช่วงเทศกาลเท่านั้น         ขณะที่ประเทศไทยก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 – 2563 (ที่ล้มเหลว) มาแล้วรอบหนึ่ง และปัจจุบันกำลังเข้าสู่แผนความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษหน้า พ.ศ. 2565 – 2575 และยังมีแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติภายใต้แผนแม่บทด้านความมั่นคง เพื่อการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัทางถนน มีเป้าหมายเพื่อลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตางถนนลงร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกและดิจิทัล มีเป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2564 - 2570 รวมถึงกรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนนที่ประเทศไทยรับมาดำเนินการด้วย เช่น 12 เป้าหมายโลกสำหรับการดำเนินงานด้านความปลอดภัยทางถนน หรือ Global road safety performance targets ปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อการขับเคลื่อนการลดอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน         จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีแผนดำเนินการและแผนปฏิบัติการมากมายหลายระดับชั้น เพื่อเป้าหมายในการลดอุบัติเหตุทางถนนให้เป็นไปตามตัวชี้วัดของข้อตกลงที่กำหนดไว้ หากแต่เมื่อขั้นตอนและระบบปฏิบัติงานยังขาดความชัดเจนต่อเนื่องและเชื่อมต่อในแต่ละระดับ หลายฝ่ายจึงมีความเชื่อในทางเดียวกันว่า เป้าหมายการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่กำหนดไว้ไม่เกิน 12 ต่อแสนประชากรภายใน 6 ปีข้างหน้า หรือปี 2570 นั้น “ไม่น่าจะทำได้”         เพราะหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ในปี 2563 ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนอยู่ที่ 27.20 คนต่อแสนประชากร หรือมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่ 17,831 คน ลดลงจากในปี 2562 ที่ 19,904 คน (ส่วนหนึ่งที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลงมีผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19) ซึ่งต่อจากนี้หากจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรภายในปี 2570 ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั่นเท่ากับว่าประเทศไทยจะต้องมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเหลือเพียง 8,474 คนเท่านั้น         ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว เป้าหมายการลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือ 12 ต่อแสนประชากรเชื่อว่าไม่น่าจะทำได้ หากถอดบทเรียนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาก็อาจจะพอพิสูจน์ให้เห็นว่าความรุนแรงและความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น เป็นเรื่องที่สามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้  อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องเวรกรรมความเชื่อหรือมายาคติของสังคมอีกต่อไป การสร้างมาตรการ เป้าหมาย และแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนตรงประเด็นเป็นนโยบายหลักของประเทศ ตั้งแต่ระบบการบังคับบัญชาลงมาถึงส่วนปฏิบัติงาน รวมถึงการสนับสนุนภาคีเครือข่าย และท้องถิ่นเพื่อให้มีการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนคือสิ่งที่ควรต้องดำเนินการให้จริงจังได้เท่ากับมาตรการป้องกันโควิด 19         แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดอาจจะเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องการเวลาและความร่วมมือ และปลายทางอาจไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ระหว่างทางตัวเลขผู้เสียชีวิตต้องน้อยลงกว่านี้ให้ได้ เพราะเราคงไม่หวังให้มีโรคระบาดใหม่เพื่อมาหยุดการเจ็บตายจากอุบัติเหตุทางถนนอีกแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >



ฉบับที่ 192 Transit การเดินทางด้วยรถไฟและรถไฟฟ้าแต่ละประเทศ

ตั้งแต่การคมนาคมสะดวกรวดเร็ว มีสายการบินเพิ่มขึ้นหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศมีทางเลือกมากขึ้น ประกอบกับราคาค่าเดินทางของสายการบินที่แข่งขันกัน จึงทำให้ราคาถูกมากกว่าเดิม และลองสังเกตดีๆ จะเห็นว่าราคาตั๋วเครื่องบินไปต่างประเทศถูกมากเมื่อเทียบเท่ากับราคาตั๋วเครื่องบินที่เดินทางภายในประเทศ จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนหันเหไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นฉบับนี้ผู้เขียนขอเอาใจผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางท่องเที่ยวไปประเทศต่างๆ แบบท่องเที่ยวด้วยตนเองสักหน่อย แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้ผู้เดินทางสามารถเรียนรู้เส้นทางการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าของประเทศนั้นได้ก่อนเดินทางไป โดยไม่ต้องไปเสียเงินซื้อคู่มือเส้นทางการเดินรถแอพพลิเคชั่นนี้ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น แต่ได้พัฒนาไว้หลายประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน อังกฤษ เกาหลี สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย จีน ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน อินโดนีเซีย สวิตเซอร์แลนด์ และอาจจะมีมากกว่านี้การค้นหาแอพพลิเคชั่นให้ใช้คำว่า Transit ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลด เช่น ประเทศเกาหลี ใช้คำว่า Korea Transit, ประเทศฮ่องกง ใช้คำว่า Hong Kong Transit, ประเทศสิงคโปร์ใช้คำว่า Singapore Transit เป็นต้น ภายในแอพพลิเคชั่นจะมีภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่นของประเทศกำกับ ผู้ใช้สามารถเลือกสถานีที่เริ่มต้นและสถานีปลายทางที่ต้องการไป โดยให้กดตรงสัญลักษณ์วงกลมของสถานีนั้นๆ แล้วเลือกว่าเป็นสถานีเริ่มต้นหรือสถานีปลายทาง และตรงสัญลักษณ์ยังปรากฏคำว่า hotels around the spot หมายถึง ข้อมูลโรงแรมที่ตั้งโดยรอบสถานี ซึ่งจะทำให้สะดวกในการค้นหาโรงแรมที่ใกล้กับสถานีรถไฟได้อีกด้วยเมื่อได้สถานีที่ต้องการเดินทางแล้วให้กดเลือก Depart now แอพพลิเคชั่นจะแสดงเส้นทางสายรถไฟที่ต้องเดินทางหรือต้องเปลี่ยนขบวน พร้อมทั้งช่วงเวลาในการเดินทางการ เพื่อใช้สำหรับคำนวณระยะเวลาในการเดินทางแต่ละทริปด้วยนอกจากนี้ยังมีแอพพลิเคชั่นที่มีลักษณะเดียวกัน โดยใช้การค้นหาแอพพลิเคชั่นคำว่า Rail ตามหลังชื่อประเทศที่ต้องการดาวน์โหลดเช่นกัน แอพพลิเคชั่นนี้จะเพียงแค่กดเลือกสถานีที่ต้องการเริ่มต้น หลังจากนั้นจะปรากฏเส้นทางการเดินทางที่ต้องผ่านแต่ละสถานีให้เลือกอีกครั้งแอพพลิเคชั่นทั้งสองรูปแบบมีเส้นทางการเดินทางของประเทศไทยเช่นกัน ชื่อแอพพลิเคชั่น Bangkok Transit และ Thailand Rail และขอแนะนำว่าผู้อ่านลองดาวน์โหลดรูปแบบการเดินทางของประเทศไทยมาศึกษาก่อน เพื่อให้เกิดความชำนาญและเข้าใจมากขึ้น เมื่อไปใช้แอพพลิเคชั่นของประเทศต่างๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 181 สบายใจกับการเดินทางรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เคยไหมคะ ยืนอยู่ที่ป้ายรถเมล์ แต่ไม่รู้ต้องขึ้นสายไหน...โดยเฉพาะวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผู้เขียนเป็นเด็กต่างจังหวัดค่ะ ไม่ได้เติบโตในกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรที่ใครๆ ก็ต้องต่างทยอยเข้ามาอยู่อาศัยและหางานทำ จึงไม่แปลกที่จะมีอาการสับสนกับการใช้รถโดยสารสาธารณะกลางใจเมืองขนาดนี้ แถมวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นจุดศูนย์กลางของถนนสี่สาย ยิ่งถ้าไม่รู้ว่าแต่ละเส้นทางไปที่ใดบ้าง บอกได้คำเดียวคะว่า “งง” ล่าสุดได้มีผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะแบ่งออกเป็น 4 ฝั่ง หรือ 4 เกาะ ได้แก่ เกาะดินแดง เกาะพญาไท เกาะราชวิถี และเกาะพหลโยธิน ซึ่งเรียกชื่อตามสายถนนนั่นเอง ถ้าต้องมีการอธิบายถึงป้ายรถเมล์หรือรถตู้ที่ต้องรอขึ้น โดยไม่ชี้ฝั่งหรือเกาะให้ชัดเจน ให้กับคนที่เดินทางมาผ่านวงเวียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิครั้งแรก (บางคนผ่านบ่อยครั้งยังไม่รู้เลย) กว่าจะเข้าใจตรงกันคงต้องใช้ความพยายามมากหน่อย  แค่พูดชื่อ 4 เกาะ ก็งงกันแล้ว แต่ถ้าอาศัยแผนที่ฉบับนี้จะสามารถช่วยได้อย่างมาก ผู้จัดทำแผนที่การใช้รถโดยสาร ทั้งรถเมล์และรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมินี้ มีชื่อว่า “easymap” โดยสามารถดาวน์โหลดภาพแผนที่ได้ที่ www.easymap.in.th มาไว้ที่สมาร์ทโฟนได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน ต้องบอกก่อนนะคะว่าผู้เขียนไม่ได้แนะนำเพื่อต้องการให้ไปทำธุรกิจหรือซ้อสินค้าใดๆ เพียงแต่ต้องการนำข้อมูลในส่วนที่มีประโยชน์แก่การเดินทางของประชาชนมาให้ทราบกันเท่านั้น ทั้งนี้ผู้เขียนขออธิบายประโยชน์ที่จะได้รับจากภาพแผนที่นี้ คือ ถ้าเป็นภาพแผนที่รถเมล์บริเวณ 4 เกาะรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แผนที่จะบอกรายละเอียดถึงป้ายรถเมล์ที่สามารถรอขึ้นรถ โดยบอกสายรถเมล์จากจุดเริ่มต้นไปยังจุดหมายปลายทาง ซึ่งใช้สีต่างๆ เพื่อบอกเส้นทางดังกล่าว  ส่วนภาพแผนที่รถตู้ จะบอกจุดขึ้นรถรอบบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อบอกว่าจุดไหนมีบริการรถตู้ไปที่ใดบ้าง หลังจากที่ผู้เขียนบ่นมาแสนนานที่ต้องสับสนกับการขึ้นรถเมล์บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภาพแผนที่ที่ถูกจัดทำขึ้นมานี้ช่วยให้ความสับสนของผู้เขียนลดน้อยลงแล้วค่ะ และด้วยภาพแผนที่ที่มีอยู่นี้เลยต้องขอทำตัวเป็นพลเมืองดีกันสักหน่อย เพราะมีโอกาสได้แนะนำเส้นทางบริเวณรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ให้กับผู้คนที่ต้องผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิตลอด บอกตรงๆ ค่ะ เข้าใจความรู้สึกสับสนนั้นได้ดีจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >