ฉบับที่ 241 ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องมี “สื่อกับการคุ้มครองผู้บริโภค”

        ชื่อนี้อาจดูแปลกใหม่ไม่เคยได้ยิน แต่ถ้าเป็นสื่อสายสังคม การเมือง เศรษฐกิจ หรือบันเทิง คงคุ้นเคยผ่านตากันมากกว่า ขณะที่ภาพของสื่อมวลชนทุกวันนี้อาจทำให้หลายคนนึกถึง นักเล่าข่าว นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว พิธีกร หรือนักจัดรายการวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่จริงแล้วสื่อมวลชนมีความหมายที่น่าสนใจมากกว่าแค่ตัวบุคคลนั่นคือ หมายถึง การกระจายข้อมูลข่าวสารจากบุคคลหนึ่งหรือจากองค์กรหนึ่งไปยังมวลชนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบ สื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนรับรู้ได้เป็นการทั่วไป         ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ หนังสือพิมพ์ ได้ง่าย เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงได้ทุกครัวเรือนทุกเพศทุกวัย แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ก้าวหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่เปลี่ยนไป และการเข้ามาของ Social Media หรือ สื่อออนไลน์ ทำให้สื่อมวลชนหลายแขนงโดยเฉพาะสื่อหลัก เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือ สื่อสิ่งพิมพ์ ต้องปรับตัวตามให้ทันความเปลี่ยนแปลงไปด้วย           การมาของสื่อออนไลน์หรือสื่อใหม่แบบนี้ ทำให้มิติการนำเสนอข้อมูลข่าวสารปรับเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเข้าถึงคนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยไม่ต้องเปิดโทรทัศน์หรืออ่านหนังสือพิมพ์แบบสมัยก่อน ส่งผลตรงต่อสื่อหลักที่ถูกลดทอนบทบาท สื่อหลายรายจึงต้องรีบปรับตัวเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเทคโนโลยี สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น          แม้ว่าปัจจุบันภาพรวมของสื่อหลักจะปรับเปลี่ยนบ้างแล้ว แต่รูปแบบการนำเสนอข่าวสารที่เป็นอยู่ก็ยังไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ต่างเน้นประเด็นที่กำลังเป็นกระแสเรื่องใกล้ตัว เรตติ้งดี เช่น ข่าวการเมือง อาชญากรรม และรายการบันเทิง รวมถึงข่าวกระแสสังคม ความเชื่อ ความศรัทธา ส่งผลให้พื้นที่และโอกาสการติดตามประเด็นปัญหาของผู้บริโภคมีน้อย เพราะต้องทำตามนโยบายแหล่งทุนผู้สนับสนุน และหากวิเคราะห์ถึงปัญหาอุปสรรคต่อการทำงานด้านคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของสื่อมวลชน จะพบว่าเกิดจากนโยบายองค์กร หรือการให้ความสำคัญของแต่ละสื่อว่าเห็นความสำคัญ หรือสนใจประเด็นมากน้อยเพียงใด รวมถึงพฤติกรรมของสื่อมวลชนหรือนักข่าวในปัจจุบันที่ลงพื้นที่น้อย เน้นเก็บข่าวออนไลน์ ตลอดจนประเด็นข่าวสารรายวันที่ไหลไปมาอย่างรวดเร็วทำให้สื่อมวลชนต้องตามให้ทันกระแส ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้สื่อมวลชนสนับสนุนการคุ้มครองผู้บริโภคได้ไม่เต็มที่ หลายกรณีจึงพบเพียงการรายงานข่าวเหตุการณ์แต่บทบาทเรื่องการตรวจสอบอาจจะมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น         จากข้อจำกัดและอุปสรรคหลายประการ ปัญหาของผู้บริโภคจึงกลายเป็นประเด็นทางเลือกของสื่อมวลชน ทั้งที่หลายกรณีเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ และมีผลกระทบกับประชาชนวงกว้าง เช่น กรณีการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ หรือล่าสุดกับประเด็นเรื่องระบบขนส่งมวลชน กรณีการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวที่มีความซับซ้อน ซึ่งแทบจะไม่เห็นข่าวเชิงลึกแบบนี้ผ่านสื่อกระแสหลักให้เห็นเลย         โดยเฉพาะกรณีปัญหาการต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่ภายหลังประเด็นข้อถกเถียงของสังคมขยับมาอยู่ที่ราคาค่าโดยสารว่าเท่าไหร่ถึงเหมาะสม เมื่อ กทม. เสนอตัวเลขราคาค่าโดยสารตลอดสายหลังต่อสัญญาสัมปทานให้ BTS อีก 30 ปีอยู่ที่ 65 บาท ขณะที่ตัวเลข 65 บาท ที่ กทม. เสนอนั้นไม่สามารถอธิบายหรือชี้แจงได้ว่ามีหลักคิดคำนวณอย่างไร ทำไมถึงกำหนดราคาที่ 65 บาท ขณะที่กระทรวงคมนาคมเสนอตัวเลขค่าโดยสาร 49.83 บาท และองค์กรผู้บริโภคเสนอตัวเลขค่าโดยสารที่ 25 บาท ซ้ำร้ายผู้แทน กทม. ได้ให้ข้อมูลในการประชุมคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรว่า กรุงเทพมหานครไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลต้นทุน ผลกำไร และรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการคำนวณหาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อคณะกรรมาธิการได้         ยิ่งทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าเหตุใดข้อมูลที่เป็นประโยชน์สาธารณะแบบนี้กลับไม่ถูกขุดคุ้ยหรือเปิดเผยโดยสื่อมวลชน  ทั้งที่สื่อมวลชนควรทำข้อมูลให้ประชาชนเห็นถึงกระบวนการระหว่างทางที่ไม่ชอบมาพากล สะท้อนเรื่องสิทธิของประชาชนที่ถูกละเลย และถูกละเมิดออกมาให้ได้  ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนควรได้รู้จากการข้อมูลเชิงลึกหรือตีแผ่ได้ในหลายแง่มุมจากกระบวนการทำงานของสื่อมวลชน แน่นอนว่าความคาดหวังของประชาชนต่างมุ่งตรงไปที่การทำงานของสื่อมวลชน ขณะที่ความพร้อมของสื่อเองยังมีจำกัดเช่นเดียวกัน อีกทั้งปัญหาของผู้บริโภคก็มีความหลากหลายและบางเรื่องเข้าใจยากมีความซับซ้อน แต่อย่าลืมว่าสื่อมวลชนมีต้นทุนทางสังคมสูง หากขยับตัวเกาะติดประเด็นใด ย่อมมีอิทธิพลต่อความคิดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทุกด้าน         เพราะสุดท้ายแล้ว สื่อมวลชนต้องเป็นผู้นำทางความรู้มากกว่าเพียงตามกระแสในสังคม คือ สื่อมวลชนต้องกล้าที่จะนำเสนอข้อมูลความรู้ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญ และนำความรู้นี้ถ่ายทอดไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ทำเรื่องเงียบให้เป็นเรื่องดัง ทำประเด็นคนสนใจน้อยให้กลายมาเป็นกระแสสังคมให้ได้ นี่แหละ คือ บทบาทของสื่อเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง !!

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ซ่อนเงารัก : และแล้วการเมืองก็เป็นเรื่องของคนต่างวัย

                ไม่มีพื้นที่ใดในอาณาบริเวณทางสังคมที่จะปราศจาก “การเมือง” หรอก เพราะแม้แต่ในพื้นที่ที่ดู “ปลอดการเมือง” ที่สุดอย่างโลกบันเทิงคดีเฉกเช่นละครโทรทัศน์ ก็ยังเป็นสนามที่คลุกเคล้าไว้ด้วยภาพ “การต่อสู้ทางการเมือง” อย่างเข้มข้นทีเดียว        แม้ในทางรัฐศาสตร์มักจะเชื่อกันว่า การเมืองเป็นเรื่องของการจัดการและจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่ดำรงอยู่ในปริมณฑลกว้างๆ เช่น ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแสดงหลักคือภาครัฐและนักการเมืองทั้งหลาย แต่ทว่าในบางครั้งเอง การเมืองก็ปรากฏอยู่ได้แม้แต่กับเรื่องเล็กๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา         และรูปธรรมหนึ่งของการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเล็กๆ ก็ฉายออกมาผ่านสมรภูมิความขัดแย้งทางความคิดระหว่างคนต่างรุ่น ต่างวัย หรือต่างเจนเนอเรชัน แบบที่เราได้รับชมผ่านความบันเทิงของละครโทรทัศน์เรื่อง “ซ่อนเงารัก” นี่เอง        โดยโครงของละครแนวโรแมนติกดราม่าเรื่องนี้ ผูกเรื่องราวของ “เพียงขวัญ” หญิงสาวผู้มีอดีตอันเลวร้ายที่ถูกกระทำจาก “แทนไท” ที่ขืนใจจนเธอตั้งท้องโดยไม่เต็มใจ และ “เจ้าสัวธำรง” พ่อของแทนไทเอง ก็ยังเป็นตัวแปรหลักที่สั่งฆ่ามารดาของเพียงขวัญ เธอจึงหลบหนีจากคฤหาสน์ของเจ้าสัวธำรง และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามเสียใหม่เป็น “นลิน” เพื่อลบความทรงจำในอดีตทิ้งไปจนหมดสิ้น        แต่ปมของเรื่องได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง เมื่อนลินคลอดลูกฝาแฝดชายหญิงออกมา และยิ่งเมื่อเธอตระหนักว่า เจ้าสัวธำรงกดดันให้แทนไทมีทายาทชายไว้สืบตระกูลและสืบต่อธุรกิจกลุ่มทุนจีน นลินจึงต้องการแก้แค้นโดยปกปิดความจริงเรื่องลูกชาย และจงใจเลี้ยงลูกทั้งสองให้เป็นฝาแฝดหญิงทั้งคู่ โดยตั้งชื่อลูกว่า “ขวัญเอย” กับ “ขวัญมา” พร้อมอำพรางไม่ให้ใครรู้ว่าขวัญเอยมีโครโมโซมแบบ XY         เพียงเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์และความปรารถนาในอำนาจของกลุ่มคนรุ่นก่อน ได้ก่อกลายเป็นชนวนที่ขยายไปสู่ “การเมือง” ชนิดใหม่ อันเป็นความไม่ลงรอยกันระหว่างคนรุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตายายกับตัวละครรุ่นลูกหลานอย่างขวัญเอย ขวัญมา รวมไปถึง “ดุจดาว” น้องสาวต่างมารดาของฝาแฝดชายหญิง        เพราะความต้องการเอาชนะบิดาของลูกฝาแฝดกลายเป็นทิฐิที่แบกเอาไว้อยู่บนบ่า ภายหลังจากให้กำเนิดหนึ่งในบุตรแฝดเป็นเพศชาย นลินก็เลือกที่จะไม่เลี้ยงลูกในสิ่งที่ลูกเป็น เธอเข้ามาเข้มงวดกับชีวิตขวัญเอย ไม่ให้เขาได้เข้าโรงเรียนหรือไปพบปะกับโลกภายนอก ล่วงจนถึงบังคับให้ขวัญเอยกินยาคุม เพื่อเปลี่ยนให้ร่างของลูกชายกลายสภาพเป็นผู้หญิง         ในแง่ดังกล่าวนี้ ยาคุมที่บังคับให้ขวัญเอยกิน จึงไม่เพียงถูกใช้เป็นกุศโลบายที่จะเอาชนะแทนไทและเจ้าสัวธำรงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นกลไกควบคุมเพศสรีระ เพื่อที่แม่จะได้มีอำนาจปกครองร่างกายและจิตใจของลูกชายให้อยู่ใต้อาณัติบงการนั่นเอง         แต่เพราะปัจเจกบุคคลไม่ได้มีด้านที่ยอมจำนนแก่อำนาจเสมอไป ดังนั้น แม้จะถูกมารดากำหนดบงการร่างกาย แต่จิตวิญญาณอันเสรีก็ทำให้ขวัญเอยดิ้นรนต่อสู้กับสภาวะดังกล่าวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแอบเอายาคุมไปทิ้ง การแอบไปเล่นเตะฟุตบอลแบบเด็กผู้ชายกับ “อนุชิต” คุณลุงข้างบ้าน รวมไปถึงการสืบค้นจนพบเจอกับแทนไทบิดาผู้ให้กำเนิดของตน         ภายหลังเมื่อได้ย้ายมาอยู่กับบิดาและเจ้าสัวธำรงผู้เป็นอากง ทั้งขวัญเอยและขวัญมาก็ยิ่งตกไปอยู่ท่ามกลางการสัประยุทธ์กันของบุพการีและญาติผู้ใหญ่ โดยมี “เหนือเมฆ” พระเอกหนุ่มของเรื่องถูกลากโยงเข้ามาเป็นหมากอีกตัวหนึ่งบนกระดานการเมืองของคนรุ่นก่อน         และเพราะคนรุ่นก่อนสนุกสนานกับการขับเคี่ยวช่วงชิงชัยชนะระหว่างกัน โดยไม่สนใจเลยว่า การต่อสู้ห้ำหั่นกันดังกล่าวจะสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงชะตากรรมหรืออนาคตของลูกหลานแต่อย่างใด ถึงที่สุดแล้ว ก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเมืองที่คนรุ่นก่อนต้องหันมาเผชิญหน้ากับคนรุ่นใหม่ที่ต่างวัยไปโดยปริยาย         เหมือนกับที่ขวัญมามิอาจรับได้ที่นลินพยายามพรากชายคนรักอย่างเหนือเมฆให้ไปคบหากับขวัญเอย โดยปิดบังความลับเรื่องเพศกำเนิดไม่ให้พระเอกหนุ่มรับรู้ ดังฉากที่เธอระเบิดอารมณ์ใส่มารดาว่า “แม่ตั้งใจจะแก้แค้นป๊า ตั้งใจจะให้ป๊าเจ็บ...แม่ไม่เคยห่วงความรู้สึกของเอยเลย ปากแม่ก็บอกว่ารักเราสองคน แต่ดูสิ่งที่แม่ทำสิ แม่ทำลายชีวิตของเราสองคน...แม่ทำเพื่อตัวเองทั้งนั้น...”         เฉกเช่นเดียวกับที่เจ้าสัวธำรงบริภาษต่อว่าขวัญเอยที่ “ลดศักดิ์ศรี” ของบุรุษเพศไปแต่งตัวเป็นหญิง จนดุจดาวน้องสาวต่างมารดาปะทุอารมณ์ใส่คุณปู่เจ้าสัวว่า “สมัยนี้นะคะอากง ผู้ชายจะแต่งตัวเป็นผู้หญิงก็ได้ ผู้หญิงจะแต่งตัวเป็นผู้ชายก็ได้ มันไม่ใช่เรื่องลดศักดิ์ศรีหรืออะไรเลย แล้วอากงรู้หรือยังว่า ผู้หญิงกับผู้ชายมีค่าความเป็นคนเท่ากัน ไม่มีใครด้อยกว่าใคร แต่ดาวว่าอากงไม่รู้หรอกค่ะ เพราะว่าอากงโลกแคบใจแคบ...”         และแม้ในภายหลัง ขวัญเอยจะเลือกหนีจากเกมการเมืองของคนรุ่นก่อน โดยไปแต่งงานอยู่กินกับ “ริต้า” สาวน้อยรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจอดีตหรือเพศวิถีของสามี เพียงเพราะ “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม” แต่นลินก็ยังเดินเกมกีดกันความสัมพันธ์ของคนทั้งสอง และขัดขวางไม่ให้ริต้ามีหลานไว้สืบสกุล จนมุมมองของผู้ชมหลายคนอาจจะต้องเลือกติดแฮชแท็ก “#saveริต้า” กันเลยทีเดียว        ภาพของการเมืองระหว่างเจนเนอเรชันที่ละครได้ฉายให้เห็นอยู่เป็นระลอกแล้วระลอกเล่าเยี่ยงนี้ แท้จริงแล้วก็สะท้อนความขัดแย้งของกลุ่มคนสองฝักฝ่าย ที่ฝั่งหนึ่งคือคนรุ่นก่อนอย่างนลินผู้อ้างความชอบธรรมว่า “ฉันอุ้มท้องให้แกเกิดมา...” หรือ “แม่เลี้ยงของแม่มา...” และคุณปู่เจ้าสัวผู้สำทับวิธีมองโลกแบบที่ว่า “คนในตระกูลชั้น ชั้นจะทำอะไรก็ได้...” กับอีกฝั่งหนึ่งของคนต่างรุ่นที่พยายามจะสื่อความว่า ชะตาชีวิตของตนหรือคนรุ่นใหม่ ก็น่าจะเป็นพวกเธอและเขาที่มีสิทธิ์และอำนาจจะกำหนดเดินได้เอง         ความขัดแย้งที่ต่างฝ่ายต่างถือตรรกะอันแตกต่างกันคนละขั้วเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว ละครก็เลือกเสนอทางออกของปัญหาด้วยโศกนาฏกรรมการจบชีวิตลงของขวัญเอยในตอนท้ายเรื่อง กว่าที่คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะได้ย้อนหวนกลับมาคิดทบทวนตนเอง         หากละครโทรทัศน์เป็นแอ่งรองรับประสบการณ์ร่วมกันแห่งยุคสมัยของผู้คนที่ชัดเจนที่สุดแล้ว การเมืองระหว่างคนต่างรุ่นต่างวัยที่มีตัวแสดงเป็นฝาแฝดพี่น้อง ก็อาจเป็นบทเรียนให้เราลองหันมาสะท้อนย้อนคิดถึงความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ในสถาบันครอบครัว ไปจนถึงภาพที่กว้างขึ้นของสังคมไทยโดยรวม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนจบ)

อีกนิดนะครับ ตอนนี้จะเริ่มด้วยนโยบายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ การจัดเก็บภาษี พร้อมบทสรุปนโยบาย home care insurance (สำหรับการดูแลคนป่วย คนไร้สมรรถภาพ)พรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินช่วยเหลือเป็นเงินชดเชยเงินเดือน 3 เดือนแก่ญาติและครอบครัว ที่ต้องดูแลคนป่วย หรือคนไร้สมรรถภาพ ในระยะเวลา  6 เดือน พรรค The Left ต้องการระบบประกัน Home care insurance ที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด พรรค CDU เสนอนโยบาย ระบบประกัน ที่ คุ้มครองรายได้ของ พ่อ แม่ ในระหว่างที่ต้องดูแล เด็กพิเศษ (Pflegebedurftige Kinder)นโยบายเงินเกษียณ บำนาญชราภาพ• ประกันเงินบำนาญขั้นต่ำพรรค The Left เสนอนโยบาย เงินบำนาญขั้นต่ำ 1050 ยูโรต่อเดือน พรรค SPD เสนอนโยบายเงินเพิ่มจากเงินบำนาญอีก 10% จากเงินบำนาญพื้นฐานสำหรับคนที่ทำงานที่ทำงานมาเป็นเวลานาน (Solidarrente) พรรค The Greens เสนอแนวความคิด ที่คล้ายกับ การประกันเงินเกษียณ (Garantierrente) พรรค AfD เสนอนโยบาย การเลิกผูกประกันเงินเกษียณกับอายุบางส่วน เพื่อเพิ่มวงเงินเกษียณให้สูงขึ้น.• อายุสำหรับการเกษียณสำหรับคนที่เกิดหลังปี 1964 ตามกฎหมายปัจจุบัน จะเกษียณอายุการทำงานที่ 67 ปี พรรค CDU SPD และ The Greens ยังคงเสนอให้คงรูปแบบการเกษียณอายุการทำงานแบบนี้ไว้พรรค The Greens เสนอนโยบายที่ให้คนทำงานหลังอายุ 60 ปี สามารถเลือก รูปแบบการทำงาน แบบยืดหยุ่นเวลาการทำงานได้ พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้คนอายุ 60 ปีสามารถเลือกเวลาที่ตนเองต้องการเกษียณอายุการทำงานได้เอง ภายใต้เงินบำนาญที่จะได้น้อยลงตามสัดส่วน พรรค The Left เสนอนโยบายที่กลับไป เกษียณอายุการทำงานที่ 65 ปี แต่ถ้าใครเริ่มทำงานเป็นเวลานาน 40 ปี ก็สามารถเกษียณอายุการทำงานที่อายุ 60 ปีได้• เงินบำนาญรายเดือนเงินบำนาญรายเดือนสำหรับ คนทำงานมาแล้ว 45 ปี ที่มีรายได้ สูงเท่ากับค่าเฉลี่ยของคนเยอรมัน ได้เงินบำนาญอยู่ที่ 1200 ยูโรต่อเดือน คิดเป็น 48% ของรายได้เฉลี่ยที่เคยได้รับก่อนเกษียณ จากการวางแผนของระบบการประกันบำนาญชราภาพ ต้องการให้ เงินบำนาญต่อเดือนไม่น้อยกว่า 45 % เทียบกับรายได้เฉลี่ยก่อนเกษียณ ซึ่งคนเยอรมันจะต้องจ่าย เงินประกันบำนาญชราภาพเข้ากองทุนเพิ่มจาก เดิม 18.7% ของรายได้ เป็น 21.8 % ของรายได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่พรรค CDU ต้องการให้คงไว้พรรค FDP ต้องการเสนอแนวความคิดรูปแบบใหม่ใน การคิดสูตรการจ่ายเงินบำนาญ เนื่องจาก คนรุ่นใหม่มีอายุขัยเฉลี่ยสูงขึ้น พรรค SPD ต้องการคงระดับเงินบำนาญไว้ที่ 48 % และกำหนดเพดานการจ่ายเงินเข้ากองทุนบำนาญชราภาพไม่ให้เกิน 22 % และสร้างระบบการสร้างแรงจูงใจในการจ่ายเงินเข้ากองทุน ด้วยระบบการคืนภาษี พรรค The Left ต้องการเพิ่มเงินบำนาญหลังเกษียณเป็น 53 % แต่ก็เพิ่มอัตราการจ่ายเงินประกันบำนาญชราภาพให้สูงขึ้นเช่นกันนโยบายการจัดเก็บภาษีมีหลากหลายประเด็นในนโยบายการจัดเก็บภาษี จึงขออนุญาต นำมาเล่าในบางประเด็นที่น่าสนใจ• นโยบายการจัดเก็บภาษี ที่เกิดจาก การถ่ายโอน เงินทุน (Finance Transaction Tax)พรรค FDP ค้านการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ที่จะเกิดขึ้นในการ ซื้อขายหุ้นในตลาดทุน และตลาดหุ้น พรรค The Left ต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ ประมาณ 0.1% ของมูลค่าการถ่ายโอน พรรค CDU และ SPD เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีลักษณะนี้ แต่ยังไม่มีรายละเอียดและตัวเลขที่ชัดเจนในการหาเสียง• วงเงินในการลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลพรรค The Left ต้องการเพิ่มวงเงินในการขอลดหย่อนวงเงินการเสียภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น จากเดิม รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถหักภาษีได้ไม่เกิน 8,820 ยูโรต่อปี เพิ่มเป็น 12,600 ยูโรต่อปี เพื่อลดภาระของประชาชนที่มีรายได้ เช่นเดียวพรรค The Greens และ พรรค AfD ที่ต้องการเพิ่มวงเงินการขอลดหย่อนภาษีรายได้ส่วนบุคคลให้เพิ่มขึ้น • ภาษีคนรวย (wealth tax)พรรค The Greens เสนอนโยบายการจัดเก็บภาษีคนรวยที่มีทรัพย์สินมากมายเกินความจำเป็น ให้มีประสิทธิภาพ แนวความคิดนี้ พรรค The Left ก็ใช้เป็นนโยบายหาเสียง ในขณะที่พรรค CDU/CSU AfD และพรรค FDP ไม่เห็นด้วย• ภาษีช่วยเหลือเยอรมันฝั่งตะวันออก (Solidarity tax)เป็นภาษีที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1991 หลังการรวมประเทศเยอรมนีตะวันตก และเยอรมนีตะวันออก และแรกเริ่มจะเก็บภาษีนี้เพียงปีเดียว เพื่อที่จะนำเงินภาษีที่ได้ไปบูรณะและพัฒนารัฐเยอรมนีฝั่งตะวันออกพรรค CDU/CSU ต้องการยกเลิกภาษีนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะยกเลิกในปี 2020 พรรค SPD ต้องการคงภาษีนี้ไว้เพื่อนำไปช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง พรรค FDP ต้องการยกเลิกภายในปี 2019นโยบายด้านที่อยู่อาศัยพรรค FDP เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี ให้กับ บริษัทรับสร้างบ้านและที่อยู่อาศัยขนาดกลาง โดยมูลค่าบ้าน หรือที่อยู่อาศัยไม่เกิน 500,000 ยูโร บริษัทไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าเป็นบริษัทที่เป็นนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ มีนโยบายต้องเสียภาษีไม่จำกัดวงเงินของมูลค่าบ้าน ที่อยู่อาศัยพรรค SPD เสนอนโยบายไม่ต้องจ่ายภาษีสำหรับครอบครัวที่ซื้อบ้านหลังแรกราคาไม่เกิน 200,000 ยูโร สำหรับพรรค CDU/CSU มีนโยบายช่วยเหลือด้วยมาตรการทางภาษีให้กับครอบครัวเช่นกัน แต่ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน พรรค AfD มีนโยบายช่วยเหลือเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย โดยยกเลิกการจัดเก็บภาษีการซื้อขายบ้านและที่อยู่อาศัยนโยบายสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยที่เพิ่มสูงขึ้น(Mietpreisbremse)เป็นนโยบายที่ใช้ในการต่อสู้หาเสียงอย่างหนักหน่วงใน การหาเสียงครั้งนี้ หลักการของแนวทางสกัดกั้นค่าเช่าที่อยู่อาศัยเพื่อไม่ให้สูงเกินไป คือ การให้อำนาจแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการประกาศ ภาวะฉุกเฉินในท้องที่ที่มีปัญหาเรื่องค่าเช่าที่อยู่อาศัยราคาแพง เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นประกาศภาวะฉุกเฉินเรื่องราคาค่าเช่าสูงเกินไป แล้ว ผู้ให้เช่าสามารถเพิ่มค่าเช่าจากผู้ขอเช่ารายใหม่ไม่เกิน 110 % ของราคาประเมินแนวคิดนี้ พรรค SPD และ พรรค The Greens ให้การสนับสนุน โดยพรรค SPD ต้องการให้ผู้ให้เช่าเปิดเผย ค่าเช่าก่อนหน้านี้ พรรค The Left ต้องการขยาย ผล ไปยังทุกพื้นที่ ไม่จำกัดเวลา และไม่มีข้อยกเว้นในการดำเนินนโยบายนี้ พรรค CDU AfD และ FDP ไม่ต้องการนโยบายนี้จากผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา (24 กันยายน 2017) ปรากฏว่า ไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมากเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคเดียวได้ จึงต้องมีการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลผสมที่ประกอบไปด้วย 3 พรรค คือ พรรค CDU นำโดยนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน แองเจลา แมร์เคิล ที่ได้รับคะแนนเสียง 32.9% (ได้ที่นั่งในสภาบุนเดสท้าก 246 ที่นั่ง) พรรค FDP ได้คะแนนเสียง 10.7 % (80 ที่นั่ง) พรรค The Green ได้รับคะแนนเสียง 8.9% (67 ที่นั่ง) ซึ่งยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ในขณะนี้ (17 ตุลาคม 2017) (ที่มา เว็บไซต์มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภคhttps://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน (ตอนที่ 2)

ขอรายงานต่อเนื่องเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ทั้งนโยบายด้านการคมนาคม การสนับสนุนสถาบันครอบครัว ด้านที่อยู่อาศัย การทำงาน ระบบประกันสุขภาพ ฯลฯ ต่อจากคราวที่แล้วนะครับนโยบายด้านคมนาคม โดยเฉพาะเรื่องการขนส่งทางบก: รถยนต์ส่วนบุคคลภายในปี 2030 เยอรมนีมีแผนที่จะอนุญาตให้ใช้เฉพาะรถที่ไม่ปล่อยควันจากท่อไอเสียรถยนต์เท่านั้น (emission free auto) ซึ่งเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเขียว (The Greens party) และพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party) ในขณะที่พรรค CDU เน้นในเรื่องการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า เพิ่มขึ้น เป็น 50,000 สถานีทั่วประเทศ การจำกัดความเร็วโดยกำหนดความเร็วบนถนน Autobahn ไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดความเร็ว) เป็นนโยบายของพรรค The Greens และพรรค The Left Party เรียกร้องให้กำหนดความเร็วในเขตชุมชน ไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในขณะที่ พรรค CDU/CSU FDP และ พรรค AfD ต่อต้านนโยบายจำกัดความเร็วบนท้องถนนนโยบายสนับสนุนสถาบันครอบครัว•ที่อยู่อาศัยพรรค CDU มีนโยบายให้เงินสนับสนุนครอบครัวที่จะซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย ในวงเงิน 1200 ยูโรต่อลูก 1 คนต่อปี เป็นเวลานาน 10 ปีพรรค SPD ไม่ได้ระบุวงเงินให้ความช่วยเหลือ แต่หาเสียงว่าจะให้ความช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย และรายได้ปานกลางพรรค AfD มีนโยบาย ปลอดดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินในการซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัย และมีเงินช่วยเหลือสำหรับค่าภาษี ค่าธรรมเนียมในการซื้อบ้าน•เวลาทำงาน และเงินสนับสนุนสถาบันครอบครัวพรรค SPD มีนโยบายลดเวลาการทำงานของครอบครัวที่มีลูกเล็กที่อายุยังไม่ถึง 8 ขวบ ให้ทำงานไม่เกิน 26-36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (เวลาทำงานของคนเยอรมัน ปัจจุบันคือ 43.5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และมีเงินช่วยเหลือ เดือนละ 300 ยูโรต่อเดือน เป็นระยะเวลานาน 2 ปี พรรค CDU เสนอนโยบาย ลดหย่อนภาษี สำหรับครอบครัวที่มีลูก 7,356 ยูโรต่อปีพรรค FDP เสนอนโยบาย ให้ลดหย่อนภาษีขั้นสูงสุด (ไม่ได้ระบุจำนวน)พรรค The Greens The Left และ พรรค AfD เสนอการยกเลิก การแยกยื่นภาษีรายได้ส่วนบุคคลของสามีภรรยา เหมือนกับพรรค SPDในขณะที่พรรค FDP ยังคงยืนนโยบายการแยกการยื่นภาษีรายได้ของสามี ภรรยาไว้ พรรค The Left party เสนอนโยบายการจ่ายภาษีที่เป็นธรรมสำหรับครอบครัว แต่ไม่มีรายละเอียด พรรค AfD เสนอนโยบาย การแยกการยื่นภาษีของสามีภรรยา และเสนอรูปแบบการคำนวณการหักภาษีตามฐานรายได้ของครอบครัว โดยคำนึงถึงรายได้ของสมาชิกในครอบครัวทุกคน และพรรคเขียว เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือครอบครัวพื้นฐาน (Family Budget) ในกรณีที่มีเด็กที่ต้องเลี้ยงดู•เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็กในครอบครัว (Kindergeld)เป็นเงินที่รัฐบาลให้กับครอบครัวที่มีลูก 2 คนแรกได้รับคนละ 192 ยูโรต่อเดือน ลูกคนที่สามได้รับเดือนละ 198 ยูโร และลูกคนที่สี่เป็นต้นไป ได้รับคนละ 223 ยูโรต่อเดือนพรรค CDU/ CSU ต้องการเพิ่มให้อีก คนละ 25 ยูโรต่อคนทุกอัตราพรรค The Left เสนอนโยบายให้เงินสนับสนุนเด็ก 328 ยูโรต่อคนต่อเดือนพรรค SPD เสนอนโยบาย ให้เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูเด็ก ตามฐานรายได้พรรค The Greens เสนอนโยบายให้เงินช่วยเหลือเพิ่มเติม แก่ครอบครัวที่มีรายได้น้อย (Kindergeld-Bonus)พรรค FDP เสนอนโยบายเงินช่วยเหลือเด็ก 2.0 (Kindergeld 2.0) โดยที่แนวความคิดดังกล่าวจะรวมเงินที่ให้ความช่วยเหลือเด็กทุกด้าน มารวมเป็นก้อนเดียวกัน และจ่ายโดยองค์กรส่วนกลาง•ค่าเล่าเรียนใน Kindergartenพรรค SPD The Greens และพรรค The Left ต้องการยกเลิกค่าเล่าเรียนใน Kindergartenนโยบายการประกันสุขภาพพรรค SPD เสนอนโยบายระบบประกันสุขภาพสำหรับทุกสาขาอาชีพ ซึ่งรวมข้าราชการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระเข้าไว้ด้วย โดยมีการร่วมจ่ายของนายจ้าง และลูกจ้าง โดยที่ในส่วนของลูกจ้างไม่ต้องจ่ายเงินประกันส่วนเพิ่ม (Zusatzbeitrag der Arbeitsnehmer entfällt) ค่ารักษาพยาบาล ใช้อัตราเดียวกันไม่ว่าจะเป็นการประกันตนแบบภาคบังคับ (Gesetzliche Versicherung) หรือแบบภาคสมัครใจ (Private Versicherung) สำหรับผู้ประกันตนในอนาคตจะไม่มีการแบ่งระหว่าง ประกันภาคบังคับ หรือภาคสมัครใจ (แนวคิดระบบประกันสุขภาพมาตรฐานเดียว)พรรค The Left และ พรรค The Greens ต้องการยกเลิกการประกันภาคสมัครใจพรรค CDU และ FDP ยังคงต้องการดำรงไว้ระบบประกันทั้งสองระบบยังมีต่ออีกนิด ขอเป็นตอนสุดท้ายฉบับหน้าครับ(ที่มา เว็บไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)หมายเหตุ พรรค CDU (Christian Democratic Union Party),พรรค CSU (Christian Social Union Party in Bavaria),พรรค SPD (Social Democratic Party),พรรค FDP (Free Democratic Party),พรรค The Greens (Alliance 90/The Greens Party),พรรค The Left (Party of Democratic Socialism Party),พรรค AfD (Alternative for Germany)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 นโยบายหาเสียงพรรคการเมืองเยอรมัน

เดือนกันยายนของปีนี้มีการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเยอรมนี มีพรรคการเมืองสองพรรคใหญ่ คือ พรรคคริสเตียนเดโมแครท(CDU) ที่มีนางแองเจลา แมร์เคิล ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และผู้ท้าชิงจากพรรคฝ่ายซ้าย พรรคโซเชียลเดโมแครท(SPD) คือนายมาร์ติน ชูลซ์ท ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างหนักในด้านนโยบาย สุดท้ายก็ผ่านพ้นไปด้วยชัยชนะของนางแมร์เคิลสิ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงคือ เรื่องการดีเบตนโยบายหาเสียงของผู้สมัครจากพรรคใหญ่ทั้งสองท่านนั้น ซึ่งมีประเด็นคำถามต่อนโยบายหาเสียงตามมาอย่างต่อเนื่องว่า ในรายละเอียดการทำนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรมจะเป็นอย่างไร นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองในเยอรมันนั้น ต้องแสดงออกมาในรูปของเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นพรรคใดก็ตามเพื่อเป็นหลักฐาน และแสดงถึงความโปร่งใส สามารถตรวจสอบจากประชาชนภายหลังได้ โดยมีความหนาถึง 820 หน้าสำหรับบทความครั้งนี้จะขอรายงานเกี่ยวกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของเยอรมัน ที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายการเงินการคลัง สิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภค ระบบสุขภาพ และเรื่องที่อยู่อาศัยนโยบายทางด้าน แรงงาน และการศึกษาในส่วนของสัญญาจ้างการทำงาน หลายๆ พรรคของเยอรมัน โดยเฉพาะพรรคฝ่ายซ้าย (The Left party)พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD: Social Democratic Party) พรรคเขียว (The Green) เสนอว่าให้มีการ ห้ามมีการระบุ การกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจ้างงาน ถ้าไม่มีเหตุอันจำเป็น ในขณะที่พรรคเสรีนิยม(FDP: the free democratic party) ไม่เห็นด้วยกับการห้ามสัญญาจ้างงานแบบนี้ ปัจจุบันสัญญาจ้างงานที่ระบุเวลาในสัญญาจ้างจะกำหนดที่ระยะเวลา 2 ปีนโยบายเรื่องเวลาการทำงานพรรค CDU ของนางแมร์เคิล เสนอนโยบาย ให้มีสัญญาจ้างแบบ part time working contract  กับบริษัทห้างร้านที่มีขนาดใหญ่ ที่เป็นสัญญาจ้างแบบจำกัดระยะเวลาจ้างงาน เพื่อปูทางนำไปสู่การจ้างงานแบบเต็มเวลา(full time working contract) เป็นการทั่วไป ปัจจุบันการต่อสัญญาว่าจ้างการทำงาน ที่เดิมเป็น part time working contract ขยายมาเป็น full time working contract ใช้ได้กับการต่อสัญญาให้กับพนักงานที่ลางานไปเลี้ยงลูกเท่านั้น(พนักงานเยอรมันมีสิทธิลางานเพื่อไปเลี้ยงลูกได้สามปี)กรณีเรื่องเวลาการทำงานพรรค FDP ต้องการยกเลิก จำนวนชั่วโมงการทำงานรายวันสูงสุดที่กำหนดไว้ว่าไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง เป็นการกำหนดเวลาทำงานเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งกำหนดว่าจำนวนชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ในขณะที่พรรคฝ่ายซ้าย(The Left) กำหนดการทำงานรายสัปดาห์อยู่ที่ 30-35 ชั่วโมง และสูงสุดไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับพรรคเขียวต้องการกำหนดเวลาการทำงานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และจำนวนชั่วโมงการทำงานอยู่ระหว่าง 30-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นโยบายการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่นักศึกษาพรรค SPD มีนโยบาย เพิ่มเงินช่วยเหลือแก่นักเรียนนักศึกษา และขยายเวลาอายุของผู้มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังขยายโอกาสให้กับนักเรียนนักศึกษาที่เรียน part time study ตลอดจนขยายสิทธิให้กับ กลุ่มที่เรียนการศึกษาต่อเนื่องทางด้านอาชีวะ พรรค The Left Party เสนอนโยบายเพิ่มเงินช่วยเหลือ ระหว่าง 735 ยูโรถึง 1050 ยูโร และเป็นการช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับเรื่องทุนเพื่อการกู้ยืมสำหรับการศึกษา (Bafög: Bundesausbildungsförderungsgesetz) ซึ่งเป็นต้นแบบของหลายๆ ประเทศใน การช่วยเหลือทางการเงินสำหรับผู้ที่กำลังศึกษาเล่าเรียนนั้น พรรคเขียว ต้องการให้มีการแยกเงินสนับสนุนสำหรับนักเรียนนักศึกษาเพื่อการทั่วไป สำหรับนักเรียนนักศึกษาทุกคน และให้มีเงินพิเศษสำหรับคนที่มีสถานะทางบ้านยากจน และไม่ต้องใช้ทุนคืนในขณะที่พรรค FDP เสนอนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษา โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะของพ่อแม่ โดยสนับสนุนเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า 500 ยุโรต่อเดือนและหากใครต้องการกู้เงินเพิ่มเติมมากกว่านี้ก็สามารถแสดงความประสงค์ได้ แต่เป็นส่วนที่ต้องใช้ทุนคืนขออนุญาต เล่าต่อในวารสารฉบับหน้าครับ ซึ่งจะมาส่องดูนโยบายเกี่ยวกับด้าน คมนาคม ครอบครัว ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ การจัดเก็บภาษี ที่อยู่อาศัย กันครับ(ที่มา เวบไซต์ มูลนิธิการทดสอบสินค้าเพื่อผู้บริโภค https://www.test.de/Bundestagswahl-Familie-Rente-Steuern-was-die-Parteien-vorhaben-5217841-0/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 104 ขอแก้ด้วยคน

และแล้ว เหตุการณ์น่าระทึกใจจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ทั้งเรื่องสีเสื้อ เรื่องทวงคืนเขาพระวิหาร ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี ตามมาด้วยเสียงถอนหายใจดังๆ ที่แสดงถึงความโล่งอกโล่งใจ ของหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ก็หายใจได้ชื่นปอดมากขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลยังน่าจะยืนระยะต่อไปได้อีกพักหนึ่งแน่ๆทันทีที่สิ้นเสียงปี่กลองของการชุมนุม พลันก็มีเสียงโหยหวนจากเหล่านักการเมือง เรื่องการขอแก้รัฐธรรมนูญดันแทรกขึ้นมาทันทีทันใด โดยการขอแก้ครั้งนี้มีนัยยะสำคัญว่า คราวนี้ต้องแก้ให้ได้ ใครเอาช้างมาฉุดก็น่าจะยาก หากมีการแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จก็หมายความว่า ปี่กลองการเลือกตั้งต้องดังขึ้นมาอีกครั้งอย่างแน่นอน ดังนั้นหากจะพูดว่าการแก้รัฐธรรมนูญกับการเลือกตั้งเกือบๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันก็ไม่ผิดเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งสำหรับผู้เขียนนั่นหมายถึงการไม่มีทางเลือก เพราะคำว่าเลือกตั้งควรจะหมายถึงสิทธิที่เราจะเลือกใครก็ได้ที่เราชอบ แต่ความจริงคือเราเลือกคนที่เราชอบไม่ได้(ไม่มีคนชอบให้เราเลือก) เราต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองจัดมาให้(ผู้ผลิตสินค้า) ถ้าเปรียบนักการเมืองเป็นสินค้าก็เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเลือกไม่ได้ เหมือนถูกบังคับให้ต้องซื้อสินค้าที่คุณภาพต่ำ และไร้มาตรฐานแบบไม่มีทางเลือก และเมื่อเลือกไปแล้วรู้ว่าสินค้าไม่ดี การขอคืนสินค้าขั้นตอนการคืนก็ยุ่งยาก สรุปคือมันคืนไม่ได้ (จริงอยากใช้พรบ.ขายตรงที่บอกว่าสินค้าซื้อแล้วไม่พอใจสามารถคืนเงินได้ใน 7 วัน แฮ่ๆ แต่มันก็ใช้ไม่ได้ง่ะ..)ครั้นเราจะไม่ไปเลือกก็อาจถูกประณามว่านอนหลับทับสิทธิ ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอีก(อึดอัดว่ะ) การตัดสินใจเลือกของเราที่มุ่งหวังจะเลือกคนที่เราชอบจึงเป็นไปไม่ได้ จากที่ต้องการเลือกคนที่ดีที่สุด กลายมาเป็นว่าเราต้องเลือกคนที่คิดว่าพอมีความดีหลงเหลือหน่อย(เลวน้อยที่สุด) บางคนใช้วิธีอารยะขัดขืน โดยการฉีกบัตรเลือกเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่เขาส่งมา หรือไม่ออกไปใช้สิทธิมันซะเลย ให้มันสิ้นเรื่องสิ้นราวกันไป หรือทางออกสุดท้ายของการใช้สิทธิคือการกาช่องไม่ประสงค์จะเลือกผู้ใด (โนโหวต) และตรงนี้เองคือปัญหา เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ให้สิทธิตรงนี้ไว้ แต่จริงๆ คือไม่มีสิทธิ เพราะผลที่เกิดขึ้นคือ การกาช่องไม่ใช้สิทธิ มีผลเท่าบัตรเสียเท่านั้น คือไม่มีผลใดๆ ต่อการนับคะแนนเลือกตั้งเลย ไม่รู้ว่าให้สิทธิตรงนี้ไว้ทำไม ? ดังนั้นหากต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ก็อยากจะเสนอให้ มีการแก้เรื่องผลการโนโหวต ให้มีศักดิ์และสิทธิเทียบเท่ากับการกาช่องลงคะแนน เพราะประชาชนจำนวนหนึ่งก็อึดอัดกับการที่ต้องเลือกคนที่พรรคการเมืองต่างๆ เสนอมา และต้องกล้ำกลืนฝืนทนเลือกทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจ และเมื่อหากจะแก้รัฐธรรมนูญกันทั้งที ก็เลยอยากขอแก้ด้วยคนโดยขอเสนอแก้ไขให้ผลการโนโหวต จำนวนกี่ % ก็ว่ากันไป ให้มีผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นอันโมฆะ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราไม่ต้องการสินค้าที่พรรคการเมืองส่งมาให้เลือก โดยให้พรรคการเมือง ส่งคน มาให้เราเลือกใหม่อีกครั้ง...หากอยากจะแก้กันจริงๆ กล้าแก้ตามที่เราเสนอมั้ยล่ะ..ท่านนักการเมือง .......................

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถได้เวลาแก้ใหม่แล้ว

ช่วงนี้หากใครได้ดูข่าวทีวีนอกจากข่าวเรื่องการเมือง เรื่องสนุกสนานของรัฐบาล และเครือข่ายของอดีตนายกทักษินที่ต่อสู้กันด้วยการสาดน้ำลายใส่กันบนหน้าจอทีวีและสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ รวมถึงการใช้ระบบเทคโนโลยีถล่มกันอย่างเมามันแล้ว ก็ยังมีข่าว(ที่ต้องพยายามดู) ของเครือข่ายผู้บริโภค ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาจากการใช้ พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ เพราะ พรบ.ฉบับนี้เป็น พรบ.ที่บังคับทุกคนที่มีรถต้อง ทำพรบ.ทุกคนทุกคัน การบังคับดังกล่าวเป็นการบังคับให้ชาวบ้านอย่างเราๆ ต้องจ่ายเงินให้บริษัทประกันภัยเอกชน ที่เวลารับเงินเราแสนจะอำนวยความสะดวกทุกอย่าง มีตัวแทนไว้คอยรับทำประกันทุกที่ ทุกตรอกซอกซอยมีหมด แต่เวลาจะจ่ายสินไหมคืนเราเมื่อเราประสบอุบัติเหตุ กลับเป็นไปด้วยความยากลำบาก มีเทคนิคมากมายที่จะประวิงเวลาและทำทุกวิถีทาง ที่จะจ่ายเงินให้น้อยที่สุดหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็ยิ่งดี (ว่าไปนั่น)ผู้บริโภคเลยสุดทนกับกฎหมายที่แสนจะเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน แต่ชาวบ้านอย่างเราๆแสนจะเสียเปรียบ เสียเปรียบอย่างไรนะหรือ หากพูดไปเรื่อยๆ อาจจะเห็นภาพได้ยาก จึงขอยกตัวอย่างหนึ่งมาเล่าสู่กันฟังเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 มีโทรศัพท์มาร้องทุกข์กับผู้เขียน กรณีคนถูกรถชนตาย 3 ศพ โดย พ่อ-แม่ ตายหมดเหลือลูกสาวคนเดียวน่าสงสารมาก ผู้เขียนได้ขับรถไปฟังเรื่องราว จึงทราบว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2552 ผู้เสียชีวิตคือนายสำเริง จันทร์รอด(ผู้ขับขี่) โดยมีนายสมโภช ณ บางช้าง และนาง ยุวดี ณ บางช้าง ซ้อนท้ายกลับจากตลาดแม่กลอง มาบนถนนวงแหวนรอบนอก ดอนหอยหลอดจังหวัดสมุทรสงคราม(ที่มีรถไม่หนาแน่น) โดยขับมาปกติ แต่จู่ๆ ก็มีรถฟอร์จูนเนอร์(โตโยต้า) ขับสวนมาด้วยความเร็วสูงและแหกโค้งมาชน ทำให้ทั้ง 3 คนตายคาที่ และรถคันดังกล่าวขับหนีไป แต่ถูกตำรวจสกัดจับไว้ได้ในสภาพมึนเมาเต็มที่รถมอเตอร์ไซด์คันที่ถูกชนได้ทำพรบ.ผู้ประสบภัยจากรถไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย แต่ที่น่าเศร้าใจที่สุดคือ ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าเมื่อประสบเหตุอย่างนี้ เขาต้องทำอะไรบ้าง เมื่อผู้เขียนถามว่าตำรวจไม่แนะนำอะไรบ้างหรือ ก็ได้คำตอบว่าไม่มี ไม่เห็นตำรวจบอกอะไรเลย ผู้เขียนถามต่อว่ารู้ไหมว่าพรบ.รถที่เราทำนั้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วเราจะได้อะไรบ้าง คำตอบคือ ไม่รู้ รู้แต่ว่าต้องทำพรบ.ไม่อย่างนั้นจะถูกตำรวจจับ ผู้เขียนฟังแล้วสะท้อนใจจริงๆ นี่ล่ะชาวบ้านตัวจริง คือไม่รู้อะไรเลยทั้งๆ ที่เป็นสิทธิของตัวเอง กลายเป็นว่าที่ทำประกันเพราะกลัวตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็เพิกเฉย ไม่สนใจทุกข์ร้อนของชาวบ้านเลย ตามพรบ.แล้วผู้ซ้อนซึ่งเป็นบุคคลที่ 3 ต้องได้ค่าปลงศพ ศพละ 100,000 บาท ผู้ขับขี่ต้องได้รับค่าปลงศพเบื้องต้น 35,000 บาทภายใน 7 วัน(ที่เหลือรอพิสูจน์ถูกผิด) แต่นี่ดูรึคนตาย 3 คน 7 วัน แล้วการช่วยเหลือเบื้องต้นจาก พรบ.ยังไม่มีเลยสักบาท (ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงครามได้เข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้แล้ว) เป็นไงล่ะเรื่องที่เล่ามาพอจะเห็นปัญหากันบ้างหรือยัง อาจจะมีบางคนบอกว่าช่วยไม่ได้อยากโง่เอง ก็ให้ลองคิดดูว่าเด็กผู้หญิงที่อายุแค่ 15 ปี ที่เสียทั้งพ่อและแม่ไปในเวลาเดียวกัน เขาจะเอาสมองที่ไหนมาคิด และนี่คืออีกหนึ่งเหตุผลที่ว่าทำไมเครือข่ายผู้บริโภคจึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกหรือทบทวน พรบ.ผู้ประสบภัยจากรถ โดยให้มีการเขียนกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวบ้านอย่างเราๆ บ้าง เพราะปัจจุบัน องค์กรกำกับดูแลการประกันภัย เช่น คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ทำให้เราขาดความเชื่อมั่นในพรบ.ฉบับนี้จะรอรัฐบาลก็ไม่ได้ผู้บริโภคอย่างเราจึงต้องลุกขึ้นมาร่วมกันเขียนกฎหมายในชื่อใหม่คือ “กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ” โดยโอนค่ารักษาพยาบาลไปใช้ตามสิทธิของแต่ละคน โดยพรบ.นี้จะจ่ายเพียงค่าสินไหม กรณีบาดเจ็บต่อเนื่อง ทุพลภาพ เสียชีวิต เท่านั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างล่ารายชื่อนะ ใครเห็นด้วยเร่งมาลงชื่อโดยไว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ไม่ให้ไม่ว่า…ขอแค่อย่าทำร้าย

เป็นที่รับรู้กันว่า ประชาธิปไตยบ้านเรา เป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่ก็สนุกดีแบบไทยๆ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไทยก็ยังเป็นไทยอยู่วันยังค่ำ(จริงไหม?)เสร็จจากการประท้วง สุดฤทธิ์สุดเดช กันไปตามอัธยาศัยแล้ว ถึงการเมืองบ้านเราจะยังมีกรุ่นๆ กันอยู่บ้างแต่ก็ทำให้เราๆ ท่านๆ หายใจได้ทั่วปอดขึ้นใช่ไหมล่ะ เมื่อการเมืองเบาบางลง ก็ตามมาด้วยเสียงเพรียกร้องหาความช่วยเหลือจากกลุ่มผู้เดือดร้อนกลุ่มต่างๆ ที่ดังขึ้นมาแทรกแทนเสียงโหยหวน.. ของเหล่านักการเมือง ทั้งกลุ่มหนี้สินชาวนา กลุ่มหนี้สินอื่นๆ และเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่ต้องเรียกร้องกันทุกปี เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองพรรคไหนขึ้นมาบริหารประเทศ ก็ไม่มีการวางแผนแก้ไขปัญหาเรื่องราคาสินค้าทางการเกษตรแบบระยะยาวเลยสักพรรคเดียว มีเพียงการแก้ไข แบบขอไปที น้อง-พี่-ลุง-ป้า จึงต้องออกมาร้องขอความช่วยเหลือกันทุกปีจะว่า น้อง-พี่-ลุง-ป้า เหล่านี้คือเหยื่ออันโอชะของนักการเมืองก็ไม่น่าจะผิด เพราะการแก้ไขแต่ละครั้ง ใช้งบมหาศาลและก็รั่วไหลทุกครั้งที่มีโครงการช่วยเหลือ(ก็อดคิดเสียไม่ได้ว่าเพราะเรื่องนี้ใช่หรือไม่ที่ทำให้เหล่านักการเมืองจึงไม่คิดแก้ไขแบบจริงๆ จังๆ กันเสียที) แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาส่งเสียงมาสู่รัฐ เขาเหล่านั้นไม่เคยร้องขอให้รัฐไปช่วยเหลืออะไร ขอเพียงขอให้เขาได้อยู่กับธรรมชาติสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่เขาคุ้นชินเท่านั้น เขาเหล่านั้นคือกลุ่มคนที่ออกมาคัดค้านโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และโรงงานขนาดใหญ่ ที่พวกเขากลัวว่าการก่อสร้างเหล่านั้นจะส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม อาชีพ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของพวกเขา แก่นแท้ของการร้องขอนั้น เขาไม่เคยขอให้รัฐช่วยอะไร ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ หรืออื่นๆ เขาขอเพียงรัฐยอมปล่อยให้เขาได้อยู่ในสิ่งที่เขาเคยอยู่เท่านั้นจนได้อ่านข่าวที่ กกต. ชี้ออกมาว่า ท่าน สส.ผู้ทรงเกียรติ หลายท่านน่าจะพ้นสภาพการเป็น สส.เพราะตนเองหรือภรรยาเข้าไปถือหุ้น ในบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ ทั้งหุ้น ปตท. หุ้นไฟฟ้า และหุ้นอื่นๆ อ้อ..เพราะอย่างนี้นี่เองนักการเมืองทั้งหลายถึงไม่ใยดีและเพิกเฉยต่อคำเรียกร้อง ของกลุ่มผู้คัดค้านเพื่อสิ่งแวดล้อม ก็ท่านทั้งหลายที่กล่าวถึงมามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่มากมายนี่เอง อ่านข่าวแล้วรู้สึกสะใจจริงๆ เพราะไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหน ที่สามารถล้างบางนัก การเมืองขี้ฉ้อได้เท่ารัฐธรรมนูญปี 50 นี้เลย(สะใจเจงๆๆ) เพราะการเขียนไว้ว่าห้ามนักการเมืองมีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้นถูกต้องแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจในการบริหารจัดการในทุกด้าน และนักการเมืองก็เป็นมนุษย์มันก็หนีไม่พ้นที่จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม ความเป็นธรรมจะไม่มีวันเกิดขึ้นจริงได้ถ้าไม่สามารถกำจัดผลประโยชน์ทับซ้อนออกไปได้(ถึงแม้ออกไม่หมดแต่ก็ดีกว่าไม่ออกเลย) เอาเป็นว่าผู้เขียนชูจั๊ก-กะ-แร้ เชียร์เพื่อนพ้องน้องพี่ พลังบริสุทธิ์ที่ก้าวข้ามผลประโยชน์ส่วนตัว ออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมไว้ให้เป็นของขวัญสำหรับลูกหลานรุ่นต่อๆ ไป และช่วยยืนยันสโลแกนที่ว่า “ไม่ให้ไม่ว่าขอแค่อย่าทำร้าย” ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนและขอให้ไอ้พวกขี้ฉ้อสูญพันธุ์จากประเทศไทยไปสักที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 102 ตุ๋นออนไลน์

“ผมชื่อ พรชัย เตชะไพบูลย์ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยครับ”คุณธัญชนก รู้สึกปลื้มสุดๆ ที่การเข้าเอ็มเอสเอ็นในวันนั้นทำให้มีโอกาสได้รู้จักกับนักการเมืองชื่อดังของพรรคการเมืองที่ชื่นชอบ และให้รู้สึกสงสารมากๆ ที่ทราบว่าเขาเป็นหนึ่งในนักการเมือง 111 รายที่ถูกห้ามเล่นการเมืองปกติแล้วคุณธัญชนกจะใช้บริการโปรแกรมรับ-ส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตหรือเอ็มเอสเอ็นโดยผ่านการเป็นสมาชิกกับเว็บไซต์ www.sanook.com ทำให้มีโอกาสสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตาอยู่เสมอ แต่ครั้งนี้ถือว่าพิเศษสุดเพราะผู้ที่อ้างว่าเป็นนายพรชัย เตชะไพบูลย์ ได้บอกว่าในวงคุยเอ็มเอสเอ็นขณะนั้น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ก็กำลังร่วมวงสนทนาอยู่ด้วย“เราคุยกันเรื่องการเมือง เรื่องหุ้น เขาบอกว่านอกจากจะเป็นนักการเมืองแล้ว ยังทำธุรกิจหลายประเภท เช่น ขายเสื้อผ้าส่งออก ทำธุรกิจรังนก และทำรีสอร์ทที่จังหวัดระยอง แต่ที่ทำให้เกิดรายได้เป็นกอบเป็นกำมาจากการเล่นหุ้น ปตท.เขาแนะนำให้เราซื้อหุ้น ปตท.กับเขา เขายกตัวอย่างว่าหากหุ้นราคา 1 บาทถ้าซื้อเราจะได้ค่าตอบแทนถึง 500 บาท และอ้างว่าคุณสุดารัตน์(เกยุราพันธุ์) ก็กำลังเล่นเอ็มเอสเอ็นกับเราด้วย ระหว่างนั้นก็พูดคุยกันเรื่องการเมืองกับเรื่องหุ้น ทำให้เราหลงเชื่อ”“เขาบอกห้ามเราบอกใคร เขาบอกว่าหุ้นนี้เป็นหุ้นนักการเมืองรู้กันเฉพาะวงในเท่านั้นถ้าบอกเขาต้องเดือดร้อนแน่” แค่ระยะเวลาการติดต่อเพียงแค่สองวันแต่ด้วยผลประโยชน์บังตาและคำพูดสำทับที่น่าเชื่อถือเหมือนได้คุยกับนักการเมืองจริงๆ ทำให้เหยื่ออย่างคุณธัญชนกเชื่ออย่างไม่สนิทใจและตกลงขอซื้อหุ้นจากนักการเมืองกำมะลอรายนี้ไป 100,000 หุ้นในราคา 750,000 บาท และโอนเงินเข้าบัญชีให้กับนักต้มตุ๋นรายนี้ในเวลาต่อมา “รอบแรกก็หลงเชื่อโอนไปให้ 50,000 บาท เขาบอกว่าเราต้องลงพอร์ต 3 ครั้ง เขาพูดจาน่าเชื่อถือมากๆ เราก็เชื่ออีก ต่อมาก็โอนเงินให้เขาเรื่อยเป็นครั้งๆ สองแสนห้า สองแสน ห้าหมื่น สองหมื่น เรื่อยมาทั้งหมดก็เจ็ดแสนกว่าได้ ระยะเวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้นแล้วก็เป็นเงินที่กู้เขาทั้งหมด เขาบอกว่าจะโอนเงินจากการขายได้ให้ในวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2551 สุดท้ายก็เงียบไป”เมื่อสงสัยว่าจะถูกหลอก คุณธัญชนกจึงได้ค้นข้อมูลหาชื่อ “นายพรชัย เตชะไพบูลย์” ในโปรแกรม Google ทำให้พบชื่อนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ อายุ 40 ปี ซึ่งเคยถูกตำรวจจับกุมในข้อหาแอบอ้างชื่อคนดังฉ้อโกงประชาชนมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 8-9 ปีที่แล้ว เมื่อเทียบเคียงรูปการณ์ที่ตนเองประสบ...จึงตัดสินใจเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในทันทีผลการดำเนินการ บ่วงกรรมตามทันครับเพราะเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2551 เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถทำการจับกุมตัวนายพรชัย หรือคิม เจริญวัฒนาไพบูลย์ ได้พร้อมสมุดเงินฝากธนาคารต่างๆ ซึ่งมียอดเคลื่อนไหวในบัญชี มูลค่านับล้านบาท โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเซนจูรี่พลาซ่า ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจากการสอบสวนเบื้องต้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่า นายพรชัยผู้ต้องหารายนี้จบการศึกษาแค่ระดับ ม.6 แต่ที่บ้านค่อนข้างมีฐานะเพราะเปิดกิจการขายผลไม้ และเสื้อผ้าย่านโบ๊เบ๊ จึงสามารถซื้อมือถือรุ่นแพง ๆ ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตมาทำการหลอกลวงผู้เสียหายได้ โดยบางครั้งก็จะอาศัยเช่าชั่วโมงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ลงมือก่อเหตุ ก่อนรายของคุณธัญชนกนั้น นายพรชัยเคยหลอกลวงผู้หญิงรายหนึ่งให้โอนเงินเข้าบัญชีเพื่อจ่ายค่าหุ้นมาแล้วกว่า 300,000 บาท แต่เมื่อผู้เสียหายจะเอาเรื่อง นายพรชัยจึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากบิดา ให้พาทนายความนำเงินไปเคลียร์หนี้ให้จนผู้เสียหายยอมความแต่ครั้งนี้ หลังไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คุณธัญชนกก็ได้มาร้องขอความช่วยเหลือด้านคดีความกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอีกทางหนึ่งด้วย และมูลนิธิฯ ได้จัดทนายความจากศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภคให้ความช่วยเหลือในทางคดี จนทำให้ผู้เสียหายได้เข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีกับอัยการได้ท้ายที่สุดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2552 ศาลจังหวัดพระโขนงได้ตัดสินให้นายพรชัย เจริญวัฒนาไพบูลย์ มีความผิดฐานฉ้อโกงลงโทษจำคุก 7 ปี 6 เดือน แต่นายพรชัยให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งเหลือโทษจำคุก 3 ปี 9 เดือน และให้จำเลยคืนเงิน 750,000 บาทแก่คุณธัญชนกด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >