ฉบับที่ 217 คู่มือบริโภคศึกษา

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในปีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2561 ในประเด็นการสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล “Trusted Smart Product” นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นพลังที่สำคัญของผู้บริโภคในวันข้างหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาไปรู้จักกับคู่มือบริโภคศึกษา คู่มือสำหรับผู้บริโภควัยเยาว์ ผ่านมุมมองของนักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่          รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของวิชาบริโภคศึกษาว่า เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง        “คล้ายๆ กับว่าเราทำงานผู้บริโภคในเชิงควบคุม ดูแลกำกับปรับปรุงนโยบายแบบนี้มันก็ทำแล้ว มันก็เหนื่อย เราก็ทำกับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าฟังแล้วมันเหนื่อยจัง ผมก็รู้สึกว่าที่พวกเราช่วยกันคิด ก็คือเรื่องที่ทำจากตัวเยาวชนมาเลย ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ แข็งแรงสักวันเขาก็จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกกฎระเบียบ  เป็นผู้ออกนโยบาย เป็นผู้กำกับ ดูแล เป็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ใความคิดของเขา  แล้วมันก็จะขยับได้ แต่มันไม่เร็วนะ มันก็ต้องนาน เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่ามันจะเป็นทางในอนาคตแน่ๆ สักวันนึงมันก็จะออกดอกออกผลไง” การเรียนการสอนนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร        ตอบแบบความจริงคือไม่รู้ ยังไม่ทราบแต่มีความหวัง จริงๆแล้วตอนที่ไปดูกับโรงเรียน ก็ชัดเจนว่า คุณครูก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเขา สังเกตเลยว่าบนเวที(วันที่ 14 มีนาคม) ฝากให้ทำอันโน้นทำอันนี้กัน แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งคุณครูรู้สึกว่าเป็นการรับฝากที่เขาไม่ได้รังเกียจอะไร แล้วก็อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน อาจเคยโดนโกงค่าโทรศัพท์ ค่าตั๋วเครื่องบิน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ไม่ขัดข้องที่จะสอน        เรื่องนี้มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องมีความหวังว่า มันควรที่จะทำต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยๆ เช่น มันควรทำให้ได้เรียนทุกปีไหม  ปีหนึ่งมีสองเทอมใช่ไหม ถ้าได้เรียนสักเทอมก็ยังดี  แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเราคณะทำงานก็ต้องระดมหาทรัพยากรกัน ถ้าจะทำจริงก็แปลว่า ม.1 ต้องมีคู่มือหนึ่งเล่ม ม.2 ต้องมีหนึ่งเล่ม ม.3 ต้องมีหนึ่งเล่มจนถึง ม.6 เพราะว่าทุกปีต้องได้เรียนอะไรใหม่ๆ เป็นอันเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีแค่มัธยมต้น ซึ่งก็เอาคู่มือเดิมไปเรียนอีก อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคณะทำงาน แล้วก็ภาคประชาสังคมจะว่ายังไงกันต่อ        ส่วนในเรื่องกลยุทธ์ ผมว่ากลยุทธ์ของเราคือ ใช้เครือข่าย เรามีเครือข่ายเกือบจะทุกจังหวัดแล้ว ณ ตอนนี้ หน้าที่เรา(คอบช.) คือทำหน้าที่เป็นส่วนกลางต้องสร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง การนำวิชาบริโภคศึกษานี้เข้าโรงเรียนคือ งาน ไม่ได้แปลว่าเรื่องรับร้องทุกข์ คืองาน มอนิเตอร์คืองาน การให้การศึกษา ก็คือ งาน  เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดินเข้าไปในโรงเรียน  ในอำเภอในตำบล ในหมู่บ้าน ในโรงเรียน หาคนช่วยทำงานเพิ่ม อันนี้ก็เรื่องของเครือข่ายว่ามีค่าตอบแทนอะไรไป ก็เหมือนทำงานออฟฟิศอันหนึ่งใช่ไหม รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็ได้รายได้ เข้าโรงเรียนก็ได้รายได้ แล้วเราก็จะได้คนที่จะมาช่วยทำงาน ช่วยเราที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าใจประเด็นนี้ไปเรื่อยๆ        งานเรามีอันเดียว คือพาเรื่องนี้เข้าโรงเรียนแค่นั้นเอง และส่วนกลางก็อัปเดตคู่มือให้ทันสมัย มีให้ครบทุกชั้นปี อันนี้ก็เป็นงานใหม่ๆ ที่จะต้องทำอีกงานหนึ่งเลย ถ้าทำก็หัวโต แต่ควรต้องทำ สอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เด็กตระหนักถึงเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตเขาที่จะให้มีคุณภาพ แล้วเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นต่อเรื่องผู้บริโภคแบบนี้มันก็ช่วยได้ ทีนี้เวลาทำคู่มือแบบนี้ มองถึงเรื่องบูรณาการไหม ว่าทำไมมันไม่เป็นเล่มแบบนั้น ทำไมไม่บูรณาการแบบนี้ บูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะดีนะ  เพราะว่าจริงๆ มันไม่ได้จะให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นวิชาเดี่ยวๆ จะว่าไป อยู่กับวิชาเลขก็เจอ ไปอยู่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เจอ  อยู่ภาษาไทยก็เจอเรื่องผู้บริโภค แต่วันนี้ เราในแง่ของการจัดการ เราจัดการแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีปัญญาไปตามคุณครูคณิตศาสตร์ว่าสอนให้เราหรือยัง คุณครูภาษาอังกฤษว่าสอนบทนี้ให้เราหรือยัง        เพราะฉะนั้น เราก็ทำวิธีที่เล่นท่าง่ายที่สุดคือ ทำให้เป็นหนึ่งวิชา แล้วให้คุณครูหนึ่งคน หรือกี่คนก็ไม่รู้ช่วยสอน  สอนให้ครบ 18 คาบ ตลอดหนึ่งเทอม แล้วเราตามไปดู ซึ่งเราจัดการง่ายสุด  แต่เมื่อกี้ที่บนเวทีบอกว่าเป็นการบูรณาการนี่ถือว่าเป็นสุดยอดเลยที่จะทำได้ แต่ว่าเราไม่มีความสามารถที่จะเอาไปขายให้คุณครูทุกคนเอาเข้าไปอยู่ในวิชาของท่าน แล้วสอนให้ด้วยนะ อย่าลืมสอนนะ แล้วเราก็ตามไปดูว่าสอนให้จริงหรือเปล่า แล้วก็ประเมินผลอีก อันนี้เรารับเงิน สสส.ใช่มั้ย เราก็ต้องสนใจเรื่องการประเมินผลว่าเราประเมินยังไง ซึ่งสอนเป็นหนึ่งเล่มเป็นหนึ่งวิชา ประเมินผลง่ายกว่าสำหรับเรา อันนี้คือท้ายที่สุดของชีวิตแต่ใส่ดอกจันทร์ ในความเป็นจริงคือ บูรณาการสำหรับกระทรวงศึกษาธิการไทย ก็ยังมีปัญหานะ เอาเข้าจริง คือมันสอนได้จริงหรือเปล่า ทำเสียสวยงาม         อาจารย์ดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์ผู้สอนวิชาบริโภคศึกษา โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งท่านที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การสอน        เดิมเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สนใจเรื่องผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นเรื่องอาหารและสารอาหารที่เราสอนอยู่แล้ว เรื่องสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร ที่เราสอนในบทนี้  ในบทเรื่องอาหารและสารอาหารตรงเลย เน้นเรื่องไขมัน  โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสอนเรื่องระบบย่อยอาหารด้วย มันจะมีพวกนี้เข้ามาเกี่ยงข้องด้วย ถ้าเราสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องนี้ เรื่องการบริโภค เรื่องการอ่านฉลาก มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราก็พยายามยกตัวอย่างที่เจอในปัจจุบันยกผลงานวิจัย  การสำรวจโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในโรงเรียนนี่คือการสอนจะมีไปเรื่อยๆ ค่ะ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการนี้น่าสนใจ คือเด็กถ้าเราให้ความรู้เขาตั้งแต่เด็ก มันก็เหมือนปลูกฝัง แล้วก็ได้ใช้งานต่อไปได้เรื่อยๆ มันสำคัญยังไง ที่เลือกเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค        จริงๆ ในการที่เราจะให้เด็ก  จะให้มันมีความยั่งยืนเราต้องมีการสร้างจิตสำนึก แล้วก็มีการสร้างความยั่งยืน คือ ด้วยความที่ตัวเด็กเเป็นเหมือนผ้าขาว คือถ้าเกิดเรามีการเรียนรู้แต่เด็กทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือมีข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ เนิ่นๆ มันทำให้เรามีความยั่งยืนในการจดจำ แล้วเด็กก็สามารถเอาบทเรียนที่เราสอนให้ไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต        ตั้งแต่เริ่มโครงการสอนมา ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เด็กมีความกล้า กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเดิมเด็กเขากลัวด้วย ก็จะมีการเรียนรู้ถึงสถานที่ หรือหน่วยงานที่ใช้เรียกร้องสิทธิ โดยบางครั้งเด็กเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาโดนอยู่นั้นเป็นเรื่องของการถูกละเมิด ต่อไปเด็กก็จะได้รู้ว่า อ้อแบบนี้ ครูหนูโดนละเมิดสิทธิ เดิมที่บอกว่า เด็กกลัว ไม่ใช่กลัวคนที่มาละเมิด แต่กลัวที่จะไม่ฟ้อง หมายถึงมีความกล้าที่จะฟ้องมากกว่า มีความกล้าที่จะปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเราไหมไม่มีความมั่นใจ เหมือนเราจะโดนหลอกนะ เพราะเด็กหลายๆ คนก็เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาการโดนละเมิดสิทธิของเด็กวัยนี้คืออะไร        ก็จะเป็นในเรื่องการซื้อของออนไลน์เป็นหลักเลย เด็กสมัยนี้ซื้อของเป็นแล้วนะคะ ม. 2 อย่าง เด็กผู้หญิงอาจจะซื้อเป็นเรื่องความสวยความงามของเขาก็โดนละเมิด ได้สินค้าไม่ตรงตามที่บอกไว้  เขาก็บอกว่าหนูจะไม่คุยกับร้านแล้ว หนูจะไม่เอาแล้ว  คือเด็กเขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น  ซึ่งเราเห็นก็โอเค         หรือเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าได้ผลอีกอย่างคือ เด็กก็จะพูดในกลุ่มของเขาว่า ไปบอกแม่ก่อนว่าอย่าขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทำผิดนะ  เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาถูกรถโดยสารประจำทางให้ลงก่อนถึงป้ายหรือปลายทางที่จะลง ก็รู้ว่าเดี๋ยวไปบอกแม่ก่อนไปฟ้องก่อน เด็กก็พูดในกลุ่มของเพื่อนๆ เขา ก็สอนเรื่องสิทธิ แต่ feedback ว่าพ่อแม่เขารู้ไหม ยังไม่ทราบจากเด็กเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร มีการวางแผนการสอนอย่างไรในเทอมถัดไป        อันดับแรกเลยคือ จะเป็นการดูภูมิหลังของเด็กก่อนว่า เด็กปีนี้ที่เราเจอ  มีความคิดความอ่านประมาณไหน  เพราะว่าแต่ละปีไม่เหมือนกันแน่นอน  แล้วเราก็ปรับไปตามบริบทของนักเรียนในแต่ละห้อง  บางทีชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เรายังสอนไม่เหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งสาระสำคัญที่มีในแต่ละบท  แต่เทคนิคการสอนมันต้องปรับเปลี่ยนไป  ก็อาจต้องศึกษาจากพฤติกรรมของนักเรียนก่อนจะมีการสอนในแต่ละห้อง  จากนั้นก็พยายามปรับบทเรียนโดยยังคงสาระสำคัญของบทเรียนนั้นๆ ไว้เนื้อหาในคู่มือมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม        เปลี่ยนบ้างค่ะ อย่างเช่นที่แนะนำไปไม่ว่าจะเป็นสิทธิ หรือการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา กฎหมายที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา  ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยน ไม่รู้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเปลี่ยนอีก คุณครูผู้สอนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วย         อาจารย์พรศิริ เทียนอุดม จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษาก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกนำคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้มีปัญหาอะไรบ้างในการนำไปสอนจริงและผ่านไปได้อย่างไร        คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา ในบางบทเป็นเนื้อหาที่เข้าใจยาก เด็กจะไม่เข้าใจ เราต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้        ส่วนคำแนะนำหรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >