ฉบับที่ 217 โกปิลัวะวัค

                ผู้อ่านที่ดื่มกาแฟเป็นประจำเคยถามตัวเองไหมว่า ดื่มไปทำไม คำตอบนั้นคงมีความหลากหลาย ขึ้นกับปัจจัยของชีวิตที่ทำให้เกิดการดื่มของแต่ละคน ส่วนใหญ่คงตอบประมาณว่า “ก็ชอบในรสชาติ” ทั้งที่ความจริงแล้วคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์สุขภาพควรเป็น “กาแฟช่วยในการย่อยอาหาร เพราะคาเฟอีน ซึ่งเป็นสารสำคัญในกาแฟมีศักยภาพในการกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร”        สำหรับบางคนที่ไม่ค่อยดื่มกาแฟ ทั้งที่ชอบกลิ่นรสของมันอยู่บ้าง มักให้เหตุผลการไม่ดื่มว่า กลัวนอนไม่หลับ อีกทั้งกาแฟที่ดูอร่อยบางแก้วก็มีรสขมติดลิ้น ถ้าจะดื่มก็ต้องเลี่ยงปัญหาดังกล่าวด้วยการหันไปดื่มกาแฟชนิดที่เอาคาเฟอีนออก ไปจนถึงการดื่มกาแฟชนิดที่มีกระบวนการผลิตค่อนข้างพิเศษที่ตามมาด้วยราคาที่แพงขึ้นมากคือ กาแฟขี้ชะมด        กาแฟขี้ชะมดหรือ โกปิลัวะวัค (Kopi luwak ซึ่งคนอินโดนีเชียอ้างว่า เป็นผู้ค้นพบการผลิตกาแฟลักษณะนี้) เป็นกาแฟที่ได้จากการที่ผลกาแฟถูกชะมดเอเชีย (Paradoxurus hermaphroditus) กินเข้าไปแล้วย่อยส่วนที่เป็นเนื้อไปเป็นอาหาร เหลือเมล็ดกาแฟซึ่งเป็นส่วนที่ย่อยไม่ได้ถ่ายเป็นมูลออกมา ดังนั้นเมล็ดกาแฟดังกล่าวจึงผ่านการหมักด้วยแบคทีเรียระหว่างการอยู่ในลำไส้ของชะมด ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางประการในเมล็ดกาแฟ ซึ่งต้องจริตผู้ดื่มกาแฟบางคน        มีเรื่องเล่ากันว่า จุดเริ่มต้นของกาแฟลักษณะนี้เกิดจากการที่ชะมดธรรมชาติแอบเข้าไปในสวนกาแฟแล้วขโมยเมล็ดกาแฟที่น่าจะสุกกำลังดีกิน แถมถ่ายส่วนที่ย่อยไม่ได้คือ เมล็ดกาแฟออกมาที่โคนต้น เย้ยเจ้าของสวน ทำให้เจ้าของสวนผู้ซึ่งคงหัวเสียจำต้องเก็บเมล็ดกาแฟ(ซึ่งปรกติแล้วการผลิตกาแฟต้องเอาเนื้อส่วนผลทิ้งไปอยู่แล้ว) มาทำความสะอาดแล้ว(มั่ว) คั่วทำเป็นผงกาแฟขาย กลับปรากฏว่า กาแฟคั่วชุดนั้นกลายเป็นกาแฟมีรสชาติถูกลิ้นคอกาแฟหลายคน        กาแฟขี้ชะมดนั้นอาจมีราคาสูงถึง US$ 700 ต่อกิโลกรัม(เมื่อ US$ 1 เท่ากับ 32.417 บาท ในวันที่เขียนบทความนี้) ราคากาแฟขี้ชะมดที่เสนอขายใน amazon.com คือ US$ 32 ต่อ 50 กรัม ซึ่งคำนวณเป็น US$ 640 ต่อกิโลกรัม หรือ 20,476 บาทต่อกิโลกรัม        ชาวสวนอินโดฯ ผู้มีสัญชาตญาณในการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส คงได้นั่งทบทวนองค์ประกอบของเหตุการณ์ที่ทำให้เมล็ดกาแฟซึ่งควรถูกกวาดฝังดินมีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมซ้ำไปซ้ำมาจนสรุปได้ว่า การที่กาแฟถูกชะมดกินเข้าไปนั้นคงเป็นเหตุที่ทำให้รสชาติกาแฟเปลี่ยนไป ดังนั้นเจ้าของสวนกาแฟจึงเข้าไปแทรกแซงกระบวนการทางธรรมชาติด้วยการจับโจรขโมยกาแฟมาเลี้ยงดูในกรง แล้วเสิร์ฟผลกาแฟให้กินเสียให้เข็ด        มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามศึกษากระบวนการที่กรดและเอ็นไซม์ในกระเพาะอาหารของชะมดช่วยย่อยเนื้อของผลกาแฟ แล้วส่งต่อให้เกิดการหมักเมล็ดที่เหลือในทางเดินอาหารตอนล่างของสัตว์ชนิดนี้ หนึ่งในนั้นคือ งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ทางอาหารชื่อ Massimo Marcone สังกัด University of Guelph ในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำย่อยอาหารของชะมดสามารถซึมเข้าไปในเมล็ดแล้วย่อยโปรตีนภายในเมล็ดทำให้ได้สายเป็บไทด์ที่สั้นลง พร้อมกรดอะมิโนอิสระที่เพิ่มขึ้น ผลิตผลที่ได้จาการย่อยส่งผลให้เพิ่มการเกิดปฏิกิริยาเคมีได้สารสีน้ำตาลระหว่างกระบวนการคั่ว (Maillard browning reaction products) บนเมล็ดกาแฟ ยิ่งไปกว่านั้นขณะที่เมล็ดยังอยู่ในลำไส้ชะมดนั้นพบว่า เมล็ดได้เริ่มงอกแล้ว ซึ่งเป็นการส่งผลให้สารที่ทำให้กาแฟมีรสขมถูกทำลายไปด้วย        นอกจากนี้ Massimo Marcone ได้ทำการวิเคราะห์ชนิดของสารประกอบ ซึ่งระเหยได้ดีและเป็นส่วนสำคัญของรสชาติและกลิ่นของกาแฟแล้วพบว่า มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสารเคมีในกาแฟปกติและสารเคมีในกาแฟขี้ชะมด ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งคือ การที่โปรตีนบางชนิดถูกย่อยไปบ้างนั้น ทำให้โครงสร้างโปรตีนถูกเปลี่ยนแปลงไปจนลดประสิทธิภาพของกาแฟในการขับปัสสาวะ ทำให้ผู้มีปัญหาดื่มกาแฟแล้วต้องเข้าห้องน้ำบ่อยสบายขึ้น        อย่างไรก็ดีคุณสมบัติของกาแฟขี้ชะมดนั้น ขึ้นกับปัจจัยหลายประการเช่น สายพันธุ์กาแฟที่ชะมดกิน สายพันธุ์ชะมดที่ใช้ ความสามารถของชะมดในการเลือกผลกาแฟ อาหารอื่นที่ชะมดกิน และสุขภาพของชะมด (เช่น ระดับความเครียดที่เกิดระหว่างการเลี้ยง) ซึ่งอาจมีผลต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางรสชาติของกาแฟที่ได้        แม้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตกาแฟขี้ชะมดได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่า เป็นกลไกหรือสิ่งแปลกใหม่ในตลาดการค้ากาแฟโลก แต่ The Specialty Coffee Association of America (SCAA) กลับระบุว่า "มีฉันทามติทั่วไปในอุตสาหกรรมกาแฟว่า กาแฟขี้ชะมดมีรสชาติแย่" ผู้เชี่ยวชาญด้านกาแฟคนหนึ่งของ SCAA ได้ใช้การประเมินผลรสชาติกาแฟอย่างเข้มงวดแล้วสรุปว่า กาแฟขี้ชะมดไม่ได้ดีกว่ากาแฟอื่นในด้านรสชาติเลย        ผู้อ่านหลายท่านที่เคยดื่มกาแฟที่เรียกว่า Americano ทั้งในไทยหรือในสหรัฐอเมริกาแล้ว คงพอรู้ว่า สิ่งที่คนอเมริกันดื่มกันเป็นประจำนั้น น่าจะเข้าข่ายที่คอกาแฟไทยประมาณเดียวกับผู้เขียนให้ระดับความอร่อยว่า “ไม่เป็นสับประรด” อย่างไรก็ดีผู้เขียนก็ไม่ได้คิดว่า กาแฟขี้ชะมดนั้นจะเลิศเลออะไรนัก  ความที่มันไม่ขมเท่ากาแฟทั่วไป คนที่คออ่อนสำหรับกาแฟจึงได้ชมชอบ แต่น่าจะมีคำถามแก่ผู้ที่ชอบกาแฟขี้ชะมดว่า ถ้ากาแฟไม่ขมแล้วมันยังเป็นกาแฟหรือ        ด้วยเหตุที่การได้มาซึ่งกาแฟขี้ชะมดต้องใช้กระบวนการที่ผ่านการย่อยในลำไส้ของชะมดก่อนเก็บเมล็ดมาคั่ว นักวิทยาศาสตร์จึงคิดว่า น่าจะมีวิธีการที่ช่วยย่นระยะเวลาในการได้เมล็ดจากขี้ชะมดและเพิ่มให้มีการได้เมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการมากขึ้นกว่าการอาศัยธรรมชาติ        นักวิจัยของมหาวิทยาลัยฟลอริดาได้ทำการวิจัยเรื่อง Quality enhancement of coffee beans by acid and enzyme treatment ซึ่งเป็นงานที่ได้ทุนวิจัยจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ในปี 2006 และเสร็จโครงการปี 2009 เพื่อศึกษากระบวนการย่นเวลาในการได้มา ซึ่งกาแฟที่คล้ายกาแฟขี้ชะมด ที่เร็วกว่าและไม่ต้องเกี่ยวเนื่องอะไรกับมูลสัตว์ เพราะเป็นการใช้เอ็นซัมหลายชนิดประกอบกับสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เสมือนเกิดในทางเดินอาหารของชะมด ซึ่งสุดท้ายงานวิจัยดังกล่าวได้รับสิทธิบัตรหมายเลข 20090220645        ต่อมาในปี 2014 Camille Delebecque ซึ่งจบการศึกษาด้านชีววิทยาสังเคราะห์(synthetic biologist) และได้เคยลองชิมกาแฟขี้ชะมดในการเดินทางไปแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพบว่า กระบวนการทางชีวเคมีที่อยู่เบื้องหลังนั้นน่าสนใจ จึงได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์ทางอาหาร Sophie Deterre เปิดตัวบริษัท Afineur เพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษา(ซึ่งบรรลุเป้าหมายการระดมทุนในเวลาเพียงหกชั่วโมง) เพื่อผลิตกาแฟที่มุ่งเน้นการเพิ่มรสชาติของเมล็ดกาแฟโดยใช้เทคนิคการหมักตามธรรมชาติ เพื่อปรับปรุงเมล็ดกาแฟในห้องปฏิบัติการ โดยเป้าหมายหลักที่ต้องพุ่งชนคือ กำจัดคาเฟอีนออกเพื่อลดรสขมในกาแฟ ส่งผลให้ไม่เกิดอาการระคายท้องหลังดื่มกาแฟอีกต่อไป วิธีการนั้นทำโดยใช้จุลินทรีย์ที่ไม่ได้ตัดแต่งพันธุกรรม ซึ่งสุดท้าย Afineur กล่าวว่า ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการหมักทำให้กาแฟธรรมดามีรสชาติคล้ายรสชาติของกาแฟขี้ชะมดและได้จดสิทธิบัตรแล้ว (บทความ How a New Startup Is Refining the Flavor of Coffee via Microbial Fermentation ใน www.eater.com เมื่อ 3 สิงหาคม 2015)        ในเวียดนามนั้นก็มีเรื่องราวคล้ายในอินโดนีเซีย ซึ่งชนพื้นเมืองดื่มกาแฟจากเมล็ดกาแฟที่ชะมดถ่ายออกมาแล้วผ่านการล้างทำความสะอาดก่อนคั่ว ทำให้กาแฟนั้นอุดมไปด้วยรสชาติกลมกล่อม ความที่กาแฟประเภทนี้มีปริมาณน้อยราคาจึงแพง จึงได้กระตุ้นให้บริษัท Trung Nguyen ดำเนินการวิจัยโดยทีมงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวยุโรป ซึ่งในที่สุดก็พบเอ็นซัมธรรมชาติที่ออกฤทธิ์เลียนแบบการทำงานในทางเดินอาหารของชะมด จนได้กาแฟที่(คงคิดเอาเองว่า) ไม่เหมือนใครในโลกด้วยรสชาติที่หลากหลายและแทบไม่มีความขม จนมีคำกล่าว ในหมู่นักท่องเที่ยวที่มาเวียดนามประมาณว่า การท่องเที่ยวเวียดนามจะไม่สมบูรณ์จนกว่าพวกเขาจะได้นั่งดื่มกาแฟ ที่คล้ายกาแฟขี้ชะมด ในร้านเครือบริษัท Trung Nguyen        ก่อนจบบทความนี้ผู้เขียนใคร่สะกิดให้ผู้นิยมชมชอบในการดื่มกาแฟสำนึกไว้ตลอดเวลาว่า อะไรก็ตามที่มากเกินไป เช่น ดื่มกาแฟวันละหลายๆ แก้วนั้น ก็ก่อปัญหาได้ อีกทั้งความเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องตัวใครตัวมัน ซึ่งต้องประเมินเอาเองจากประสบการณ์หลังดื่มกาแฟในแต่ละวันว่า ชีวิตดีขึ้นหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >