ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบปนเปื้อนในทุกตัวอย่าง ของทุกประเภทกาแฟ

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภคร่วมกันดำเนินการทดสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทคั่วและสำเร็จรูป รวมเก็บตัวอย่างทั้งหมด 27 ตัวอย่าง แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง กาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ผลการทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56- 372.62 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง และมี 2 ตัวอย่าง พบอะคริลาไมด์ปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป         วันพุธที่ 7 กันยายน 2565 ในงานแถลงข่าวผลการทดสอบ การปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารกลุ่มที่ มีผลเสียต่อสุขภาพหลายประการ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง ซึ่งเป็นการเฝ้าระวังที่จำเป็นในยุคสมัยนี้ เนื่องจากมีการบริโภคกาแฟกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นิตยสารฉลาดซื้อและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) มีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภคให้ทำการสำรวจปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ ทั้งประเภทกาแฟคั่วและกาแฟสำเร็จรูป         การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์ โดยเก็บกาแฟคั่วทดสอบ 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Illy, Suzuki, Aroma, Bon Cafe, the coffee Bean, Doitung, UCC, Doi Chaang, Movenpick, Bluekoff, Arigato และ Starbucks ส่วนกาแฟสำเร็จรูปนั้นได้เก็บทดสอบ 15 ตัวอย่าง ได้แก่ Nescafe Gold, Moccona, เขาช่อง กาแฟ, Bon Aroma Gold, Dao Coffee Gold, BigC Happy PricePro, Tchibo Family, AGF Maxim Freeze Dried Coffee, Nescafe Red Cup, Festa Gold, Davidoff Rich Aroma, Nescafe Tester’s Choice House Blend, UCC The blend1 117, My Choice Gold และ Aro Instant Coffee         ตามเกณฑ์มาตรฐานของสหภาพยุโรปนั้นได้กำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ พบว่าที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารซึ่งพบว่า พริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดและรองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้ง มันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป เผือกฉาบ อย่างไรก็ดีปริมาณที่พบนั้นถือว่า เป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะก่อพิษต่อร่างกาย ผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารอะคริลาไมด์ในกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่างคือ พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง โดยผลการวิเคราะห์พบปริมาณที่อยู่ระหว่าง 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างนั้น พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยพบปริมาณสารอะคริลาไมด์ในทุกตัวอย่างกาแฟที่มีปริมาณระหว่าง 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา มี 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม, เอจีเอฟ แม็กซิม มี 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม         ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ นักวิชาการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวเสริมว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบสารอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย ในแง่อันตรายต่อผู้บริโภคนั้นสารอะคริลาไมด์ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในหนูทดลอง มีการศึกษาพบว่าในหนูเพศผู้นั้นเกิดเนื้องอกที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์และต่อมไทรอยด์ ในขณะที่ในหนูเพศเมียนั้นเกิดเนื้องอกที่เต้านมและเนื้อในต่อมไทรอยด์ นอกจากนี้การที่มีรายงานการพบสารอะคริลาไมด์ในอาหารหลายชนิดและมีข้อมูลใหม่เกี่ยวกับปริมาณการสัมผัสของมนุษย์ การดูดซึมในมนุษย์ และความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ในสัตว์ทดลอง ทาง US.NTP Center for the Evaluation of Risks to Human Reproduction ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสารเคมีที่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์มนุษย์จึงได้ผลิตเอกสารเรื่อง NTP-CERHR Monograph on the Potential Human Reproductive and Developmental Effects of Acrylamide (NIH Publication No. 05–4472 ของเดือน February 2005) เกี่ยวกับผลของสารอะคริลาไมด์ในการก่อความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์มารดา สำหรับปริมาณสารอะคริลาไมด์ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ แพทย์ประจำสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวไว้ในบทความเรื่อง"ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่ว่า “ร่างกายควรได้รับสารอะคริลาไมด์ไม่เกิน 2.6 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากได้รับมากกว่าที่กำหนดไว้จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง” นางสาวทัศนีย์กล่าวเสริมว่า การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตามการได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 oC เพราะเป็นอาหารลักษณะนี้มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์         นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคมีอำนาจตามกฎหมายในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สามารถเปิดเผยชื่อสินค้าและชื่อผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเผยแพร่แจ้งเตือนภัย เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งกาแฟก็เป็นสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยม แต่สารปนเปื้อนต่างๆที่อยู่ในกาแฟนั้นผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบได้โดยง่าย ดังนั้นผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจเลือกบริโภคกาแฟในปริมาณที่เหมาะสม ทำให้เกิดผลดีต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคในระยะยาว ตลอดจนสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ประกอบการผลิตกาแฟที่จะได้ทบทวนกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคมากขึ้น ดังที่สภาผู้บริโภคฮ่องกงเปิดเผยผลวิเคราะห์สารอะคริลาไมด์ในกาแฟเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า การไม่พบอะคริลาไมด์ในกาแฟ 2 ตัวอย่าง จากการทดสอบผลิตภัณฑ์กาแฟ 49 ตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ผลิตสามารถลดโอกาสในการเกิดสารอะคริลาไมด์ได้ โดยหลังจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคจะนำผลทดสอบครั้งนี้เสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางหรือมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟของประเทศไทยต่อไปอ่านผลทดสอบได้ที่ : https://chaladsue.com/article/4070

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 256 สารอะคริลาไมด์ในกาแฟ

        เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Consumer Council Hongkong (สภาผู้บริโภคฮ่องกง) ได้รายงานผลทดสอบสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ เพื่อเป็นการสื่อสารความเสี่ยงจากการดื่มกาแฟในผลิตภัณฑ์กาแฟที่วางจำหน่ายในฮ่องกง (นอกจากทดสอบอะคริลาไมด์แล้ว สภาฯ ยังทดสอบปริมาณคาเฟอีน สารเคมีการเกษตรและปริมาณสารพิษจากเชื้อรา โอคราทอกซินเอ ด้วย) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งนี้สารอะคริลาไมด์นั้นผู้บริโภคจะได้รับอะคริลาไมด์ที่เกิดตามธรรมชาติจากการปรุงอาหารที่อุณหภูมิสูง เมื่อใช้วัตถุดิบเช่น มันฝรั่ง หรือวัตถุดิบอื่นที่มีกรดอะมิโนแอสปาราจีนสูง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีอะคริลาไมด์ปนเปื้อนในระดับที่วิเคราะห์พบเสมอนั้น ได้แก่ มันฝรั่งทอด แครกเกอร์ บิสกิต และการศึกษาในระยะหลังยังพบอะคริลาไมด์ในมะกอกดำ ลูกพลัมแห้ง ลูกแพร์แห้ง กาแฟคั่ว อีกด้วย         สำหรับประเทศไทยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำฐานข้อมูลอาหารไทยที่มีการตรวจพบสารอะคริลาไมด์พบว่าพริกป่นมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ขนมถุงที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ขนมถุงที่ทำจากมันฝรั่ง เฟรนซ์ฟรายด์ กาแฟสำเร็จรูป และเผือกฉาบ แต่ก็พบว่าเป็นความเสี่ยงในระดับต่ำกว่าระดับที่จะส่งพิษต่อร่างกาย         อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและสื่อสารความเสี่ยง นิตยสารฉลาดซื้อ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ในฐานะหน่วยประจำจังหวัด สภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งมีภารกิจในการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภค สื่อสารความเสี่ยงและแจ้งเตือนภัยเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจมีผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงได้เก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีกและร้านค้าออนไลน์ ส่งห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทดสอบหาสารอะคริลาไมด์ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ ผลทดสอบ         ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่เกณฑ์ของสหภาพยุโรปกำหนดไว้ไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่ว และไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป        -       ผลทดสอบกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 135.56 – 372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม        -       ผลทดสอบกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่าง พบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่าง มีปริมาณระหว่าง 298.79 – 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม โดยมี 2 ตัวอย่างที่พบอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม , เอจีเอฟ แม็กซิม 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ฉลาดซื้อแนะ         การดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ดีแม้ว่าปริมาณที่ผู้บริโภคได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณต่ำอาจไม่มีนัยสำคัญ แต่ความถี่ของการบริโภคอาจทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายในระยะยาวจากการสะสม จึงควรลด เลี่ยงอาหารที่ผ่านการใช้ความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือย่างที่ใช้อุณหภูมิสูงเกินไป (งานวิชาการบางชิ้นระบุไม่ควรเกิน 120 องศาเซลเซียส) หรือใช้ระยะเวลานานเกินไป  กรณีกาแฟคำแนะนำจากสภาองค์กรผู้บริโภคฮ่องกงแนะว่า ผู้ผลิต ผู้ประกอบการอาจต้องคำนึงถึงวิธีการคั่วเพื่อเพิ่มความปลอดภัย (ลดความเสี่ยงของการเกิดการปนเปื้อนของอะคริลาไมด์ในกาแฟ)  ข้อมูล- Pay Heed to the Amount and Frequency in Enjoying Coffee Be Mindful of Caffeine Addiction and the Risks of Genotoxic Carcinogenic Acrylamide Intake | Consumer Council- www.cancer.org/healthy/cancer-causes/chemicals/acrylamide.html- ดื่มกาแฟเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงหรือไม่? • รามา แชนแนล (mahidol.ac.th)-“สารอะคริลาไมด์ที่แฝงมากับอาหารไทย” จิตติมา เจริญพานิช. ว.วิทย. มข.40(4) 1059-1072 (2555) 

อ่านเพิ่มเติม >