ฉบับที่ 183 กำไลมาศ : ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม

    เมื่อราวช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ในภาพยนตร์เลื่องชื่ออย่าง “เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์” ฮอลลีวูดเคยสร้างตัวละคร “สมีโกล” ที่ลุ่มหลงอำนาจของแหวน และพยายามจะตามหาเพื่อเป็นเจ้าของแหวนแห่งอำนาจ จนกระทั่งเกิดวลีอมตะที่สมีโกลมักพูดเสมอว่า “แหวนของข้า!!!”     สิบกว่าปีให้หลัง ในละครโทรทัศน์เรื่อง “กำไลมาศ” เราก็ได้เห็นภาพจำลองการทวงสิทธิและอำนาจคำรบใหม่ แต่ในครั้งนี้เป็นตัวละครผีนางรำอย่าง “ริ้วทอง” ที่รอคอยชายคนรัก และตามหากำไลทอง จนเป็นจุดเริ่มต้นของประโยคที่ผีตนนี้กล่าวว่า “กูขอสาบาน...ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ภพกี่ชาติ กูจะกลับมาเอากำไลและชีวิตของกูคืนจากมึง...”    การแย่งสิทธิและอำนาจเหนือกำไลครั้งนี้ ถูกเล่าผ่านเรื่องราวข้ามภพชาติที่ตัวละครซึ่งต่างมี “บ่วงกรรม” ร่วมกันจากชาติก่อน ต้องโคจรมาพบกันอีกครั้งในชาติภูมิปัจจุบัน    ในชาติก่อนนั้น ริ้วทองซึ่งเป็นนางรำลูกเจ้าของคณะหุ่นกระบอก เคยได้รับความช่วยเหลือจาก “ท่านชายดิเรก” เมื่อครั้งที่เธอถูกคนร้ายฉุดตัวไป และกลายเป็นจิตปฏิพัทธ์กันจนท่านชายได้ทำ “กำไลมาศ” มอบให้ริ้วทองเป็นตัวแทนความรักความผูกพันระหว่างคนทั้งสอง ด้วยคำกลอนที่ท่านชายเอ่ยให้ริ้วทองฟังว่า “กำไลมาศวงนี้พี่ให้น้อง แทนบ่วงคล้องใจรักสมัครหมาย...”    แต่เพราะครอบครัวของริ้วทองมีฐานะยากจน เธอและพ่อแม่จึงมีเหตุให้ต้องลี้ภัยโจรมาขอพึ่งใบบุญของ “เสด็จในกรมฯ” เจ้าของวังติณชาติ และยังเป็นบิดาของ “ท่านหญิงรัมภา” ซึ่งก็เป็นคู่หมั้นหมายกับท่านชายดิเรกนั่นเอง    และเมื่อทรัพยากรมีน้อย แต่ความปรารถนามีเกินกว่าปริมาณทรัพยากรนั้น หรือพูดในภาษานักเศรษฐศาสตร์ว่า เพราะอุปทานหรือซัพพลายมีผู้ชายเพียงคนเดียว แต่อุปสงค์หรือดีมานด์กลับมาจากความต้องการของทั้งริ้วทองและท่านหญิงรัมภา สงครามต่อสู้เพื่อช่วงชิงทรัพยากรบุรุษเพศคนเดียวกันจึงเกิดขึ้นกับสตรีทั้งสองคน    ในยกแรกนั้น เพราะริ้วทองต้องมาพึ่งชายคาอาศัยวังของท่านหญิงรัมภาอยู่ แม้จะถูกทารุณกรรมทั้งกาย วาจา และจิตใจ ริ้วทองจึงทนอยู่กับสภาวะจำยอมที่ทั้งถูกถากถาง เฆี่ยนตี และลงทัณฑ์ เพียงเพราะอำนาจที่เธอมีน้อยกว่าท่านหญิงผู้เป็นเจ้าของวังและมีศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าในทุกๆ ทาง     แต่เพราะริ้วทองคือหญิงคนแรกที่พานพบสบรักกับท่านชายดิเรกมาก่อนท่านหญิงรัมภา ดังนั้น ลึกๆ แล้ว ริ้วทองจึงเชื่อว่า “ฉันก็รักของฉันเข้าใจบ้างไหม ฉันมีสิทธิ์จะรักไม่ผิดใช่ไหม” ในขณะเดียวกับที่กลุ่มชนชั้นนำอย่างท่านหญิงรัมภาและคนรอบข้างอย่าง “ท่านหญิงภรณี” “ท่านชายอรรถรัตน์” และสาวใช้อย่าง “เจิม” ยังพยายามวางแผน “มาทำลายความรักเรา” จนเป็นเหตุให้พ่อแม่ของริ้วทองต้องถึงแก่ความตาย ริ้วทองจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่เธอต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องความยุติธรรมจากตระกูลติณชาติให้ได้    ด้วยเหตุนี้ ภายหลังเมื่อท่านหญิงรัมภาได้ปรามาสริ้วทองว่า “เจ้าพี่ไม่ได้รักเธอ เขาก็แค่ลุ่มหลงที่เปลือกภายนอกของเธอเท่านั้น” ริ้วทองจึงไม่คำนึงถึงอำนาจศักดิ์ชั้นที่แตกต่างกันอีกต่อไป แล้วกล่าวโต้ตอบท่านหญิงสูงศักดิ์กลับไปว่า “แต่ถ้าเลือกได้ ท่านหญิงก็อยากจะให้ท่านชายลุ่มหลงที่เปลือกบ้าง ใช่หรือไม่ล่ะเพคะ”     การตอบโต้เพื่อทวงสิทธิพึงมีพึงได้ในครั้งนี้ ยังรวมไปถึงฉากที่ริ้วทองได้ตบหน้าเจิมซึ่งร่วมกับท่านหญิงรัมภากดขี่จิตใจผู้หญิงต่ำศักดิ์ชั้นอย่างเธอ และบอกกับสาวใช้ของท่านหญิงว่า “จำไว้...ถึงกูจะจน แต่กูก็เป็นคนเหมือนกัน” อันเป็นการสื่อความว่า มนุษย์ควรกระทำกับคนอื่นในฐานะของมนุษย์ไม่แตกต่างกัน    แม้จิตสำนึกที่เปลี่ยนไป จะทำให้ริ้วทองลุกขึ้นมาปฏิวัติตอบโต้ต่อกรเพื่อทวงสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองท่านชายดิเรก แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยอำนาจที่น้อยกว่าท่านหญิง พร้อมๆ กับที่ผู้ชายคนเดียวกันนี้ก็ยังมีอุปสงค์จากตัวแทนของกลุ่มทุนใหม่อย่าง “ล้อมเพชร” เข้ามาร่วมแย่งชิงทรัพยากรครั้งนี้ด้วย ริ้วทองผู้ที่ไม่มีทุนใดๆ ติดตัวมาแต่กำเนิด จึงมีสถานะเป็นผู้ถูกกระทำจากตัวละครอื่นๆ ที่มีฐานานุภาพสูงกว่าเธอทั้งสิ้น     ภาพฉากเปิดเรื่องที่ริ้วทองถูกท่านหญิงรัมภาทำร้ายฟันแขนจนขาด และถูกฆ่าตายกลายเป็นผีนางรำที่โดนกักขังไว้ในบึงบัวของวังติณชาติ จึงเป็นภาพที่ให้คำอธิบายและความชอบธรรมว่า ทำไมผีนางรำตนนี้จึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น และรอวันเพื่อกลับมาทวงความยุติธรรมและสิทธิเหนือ “กำไลมาศ” อีกครั้งหนึ่ง     เมื่อมาถึงชาติภพใหม่ ด้วยเหตุปัจจัยของ “บ่วงกรรม” ที่พันธนาการให้ตัวละครทั้งหมดในเรื่องได้กลับมาพบกันใหม่อีกครั้ง พร้อมๆ กับที่ “อินทวงศ์” ได้ถูกลบเลือนไฟล์ความทรงจำที่เขาเป็นท่านชายดิเรกในชาติปางก่อน แถมยังกลับมาตกหลุมรักท่านหญิงรัมภาที่กลับมาเกิดใหม่เป็น “เกล้ามาศ” ในปัจจุบัน ริ้วทองที่ถูกขังไว้พร้อมกับความ “รักจนจะเป็นจนจะตาย” จึงรู้สึก “เหมือนโดนกรีดหัวใจเพราะเธอแย่งไปครอง” ความแค้นหรือความขัดแย้งที่ทับทวีในการช่วงชิงทรัพยากรแบบข้ามภพข้ามชาติจึงกลับมาปะทุอีกคำรบหนึ่ง    ทว่า โดยหลักของละครโทรทัศน์แล้ว แม้ช่วงต้นจะต้องเปิดฉากให้เห็นความขัดแย้งระหว่างตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในท้ายที่สุด ละครก็ต้องหาทางคลี่คลายความขัดแย้งดังกล่าวนั้นลงไป    ด้วยเหตุฉะนี้ ละครจึงเลือกใช้วิธีรอมชอมด้วยการจัดสรรทรัพยากรกันเสียใหม่ให้ลงตัว โดยให้ริ้วทองยอมเชื่อในคำเทศนาของ “พระปราบ” และยอมรับการอโหสิกรรมที่เกล้ามาศและตัวละครต่างๆ มีให้แก่วิญญาณที่เคยถูกกักขังไว้อย่างเธอ     ภาพการอโหสิกรรมที่ตัวละครต่างมีให้กันและกันในฉากจบนั้น ก็คงไม่ต่างจากการบอกเป็นนัยกับคนดูว่า แม้ความขัดแย้งเรื่องการช่วงชิงทรัพยากรจะเกิดขึ้นมาได้ในสังคม แต่ความขัดแย้งนั้นก็คลี่คลายได้ในโลกจินตนาการ    แต่อย่างไรก็ดี ถ้าอโหสิกรรมเป็นคำตอบแบบที่ริ้วทองยอมลดละเลิกความแค้นที่สลักฝังอยู่ในวง “กำไลมาศ” ได้จริงๆ ในโลกของละครแล้ว คำถามที่ชวนให้น่าคิดต่อมาก็คือ ทำไมเราจึงยังคงเห็นภาพการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิและความยุติธรรมของบรรดาคนที่มีอำนาจน้อยอยู่อย่างต่อเนื่องในโลกความจริง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point