ฉบับที่ 155 ข้าวนอกบ้าน(เพื่อสุขภาพ)

สำหรับบทความนี้ผู้เขียนขอเล่าเรื่องต่อจากฉบับที่แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลจาก www.nhs.uk โดยหัวข้อที่เลือกในฉบับนี้ชื่อว่า Healthy eating out หรือ กินข้าวนอกบ้านเพื่อสุขภาพ ซึ่งดูเหมาะกับสภาวะความเป็นอยู่ของคนเมืองใหญ่ที่หลายคนต้องอยู่คอนโดมิเนียม NHS ให้ความรู้แก่คนอังกฤษว่า ถ้าต้องไปกินอาหารนอกบ้านตามร้านจานด่วนหรือภัตตาคาร โอกาสเจออาหารที่ดีนั้นยังมีอยู่ ทั้งนี้เพราะอาหารที่จะมาวางบนโต๊ะนั้นเป็นการเลือกของคุณเอง ที่สำคัญคุณต้องสามารถมองออกว่า อาหารแต่ละจานที่วางบนโต๊ะนั้นเป็นประเภท กินแล้วอ้วนแน่ เบาหวานถามหา หรือความดันขึ้นสูงหรือไม่ อย่างไรก็ตามแม้อาหารที่ก่ออันตรายในลักษณะดังกล่าวมีอยู่ สำหรับคนไทยแล้วคุณมีสิทธิเลือกจะไม่กิน หรือกินแต่พอรู้รส ทั้งนี้เพราะความสุขของมนุษย์อย่างหนึ่งคือ การได้กินของที่ชอบ แต่ต้องกินแบบมีสติสัมปชัญญะ คือ รู้ว่าควรกินเท่าไรแล้วควรไปตัดบางส่วนของอาหารชิ้นอื่นออกท่าไร เช่น ถ้าใจมันอยากกินข้าวขาหมูและได้พยายามไม่กินส่วนที่เป็นหนังมัน ๆ แล้ว ท่านยังต้องมองที่จะตัดอาหารอื่นที่ให้พลังงานสูง เช่น แกงกะทิ ออกไปด้วย เพราะยังไง ๆ ข้าวขาหมูก็ต้องมีมันบ้างไม่มากก็น้อย   ความรู้หนึ่งที่ท่านผู้อ่านควรมีไว้ประดุจเป็นอาวุธต่อสู้โรคภัยจากการกินคือ รู้ว่าอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ได้แก่ ขาหมูพะโล้ หมูกรอบ กุนเชียง ไอศกรีมทำเอง (ซึ่งอุดมทั้งนมเนยไข่) รู้ว่าอาหารอะไรมีน้ำตาลสูงเช่น น้ำชานั้นโดยธรรมชาติมีรสขม ถ้าจะทำให้หวานสดชื่นจะต้องใส่น้ำตาลหลายช้อนโต๊ะ ส่วนน้ำมะตูมนั้นแม้ไม่หวานนัก แต่ก็มีความหอมธรรมชาติที่ไม่ต้องเติมน้ำตาลมากก็ทำให้เกิดความชื่นใจได้ ผู้เขียนนั้นได้รับการสอนมาไม่ให้กินทิ้งกินขว้าง จึงมักกินอาหารในลักษณะที่ล้างจานได้ง่าย ในขณะที่หนุ่มสาวปัจจุบัน สั่งอาหารกินตามที่ตาเห็นว่าน่ากิน แต่พอเข้าปากแล้วไม่ถูกใจ ก็เลิกกินอาหารจานนั้น ซึ่งดูแล้วขัดตาผู้เขียนยิ่งนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วเราไม่จำเป็นต้องกินอาหารจนหมดจานก็ได้ (แม้ว่ามันจะสุดอร่อย) เมื่อรู้สึกอิ่มแล้วก็หยุดกิน ฝรั่งใช้สำนวนว่า “You don't need to clear your plate. Instead, eat slowly and stop when you are full.” วิธีนี้ทำให้ความเสี่ยงในการกินอาหารเกินจำเป็นลดลง หลายท่านอาจเคยเตลิดเปิดเปิงไปกับอาหารที่มีน้ำตาลสูง ถ้าต้องไปงานเลี้ยงที่สอดแทรกการทะนุบำรุงวัฒนธรรมการกินอาหารไทย ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่า ทองหยิบ ฝอยทอง เม็ดขนุน ฯลฯ นั้นเมื่อกินแล้วมักหยุดยาก จึงต้องมีใจหนักแน่น หายใจเข้านึกรู้ว่าอ้วนแน่ หายใจออกนึกรู้ว่าโรคถามหา ที่สำคัญถ้าไปงานเลี้ยงแบบฝรั่ง ซึ่งขนมนมเนยเต็มที่นั้น ขอให้มองให้ออกว่า ประตูสู่นรกของสุขภาพเลวเปิดกว้างแล้ว บทความ Healthy eating out นั้นมีเรื่องที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ คำแนะนำให้เปลี่ยนใจไม่กินอาหารอย่างหนึ่งไปกินอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่าว่า food swap ซึ่งน่าจะมีความหมายใกล้กับคำว่า food exchange แต่ไม่เหมือนกันทีเดียวเพราะ food swap นั้นเป็นการมองที่ชนิดอาหารโดยรวม ในขณะที่ food exchange นั้นมองลงลึกถึงองค์ประกอบทางโภชนาการของอาหารที่เทียบเท่ากัน ตัวอย่างของ food swap คือ คำแนะนำเมื่อไปกินอาหารตามภัตตาคารเช่น ถ้าเบื่อเนื้อไก่ไม่มีหนังนั้นสามารถเปลี่ยนไปกินเนื้อสัตว์ไม่ติดมันอื่นเช่น แฮม หรือปลา (ซึ่งไม่ได้ทำให้สุกโดยการทอด) ถ้าไม่ต้องการกินขนมพาย เบคอนและไส้กรอก ก็หันไปกิน pulses ซึ่งหมายถึง เมล็ดถั่วต่าง ๆ ส่วนเครื่องปรุงเช่น ซอสที่มีครีมและเนยแข็งนั้นควรเปลี่ยนไปใช้ซอสที่ทำจากผักหรือผลไม้เช่น ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น ผู้เขียนนั้นค่อนข้างเห็นด้วยกับการใช้ food swap มากกว่า food exchange เพราะถ้าจำเป็นต้องกินสลัดเพื่อให้ได้ผัก ตามภัตตาคารมักทำสลัดแบบฝรั่งซึ่งมีน้ำสลัดที่มีค่าพลังงานสูง ทั้งที่คนไทยควรกินสลัดผักไทยคือ ส้มตำ ซึ่งสามารถเปลี่ยนชนิดของผักเป็นอะไรก็ได้ อีกทั้งน้ำสลัดของส้มตำนั้นพลังงานต่ำมาก ส่วนในกรณีท่านที่พ้นวัยรุ่นมาหลายฝนแล้วแต่ยังต้องการดื่มนมก็น่าจะเป็นการดื่มนมถั่วเหลือง เพราะมีไขมันต่ำและมีสารไฟโตเคมิคอลซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของมะเร็งเต้านม บทความกินอาหารนอกบ้านเพื่อสุขภาพได้มีการแนะนำเคล็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการเลือกสั่งอาหารในเมนูที่เขียนว่า เพื่อสุขภาพ (ซึ่งในร้านอาหารบ้านเรายังไม่มี) บริกรในประเทศพัฒนาแล้วมักอธิบายได้ว่า มันเป็นอาหารสุขภาพด้วยเหตุผลใด ความจริงอาหารไทยเช่น แกงป่าต่าง ๆ ส้มตำ ขนมถั่วแปบนั้นจัดเป็นอาหารสุขภาพได้เลย ในหลายประเทศที่เจริญแล้ว เมนูของร้านอาหารนั้นได้มีการกำกับจำนวนพลังงานที่ท่านจะได้รับโดยประมาณไว้ด้วย ซึ่งประเทศไทยน่ามีกฎหมายบังคับกับอาหารจานด่วนที่วัยรุ่นชอบกิน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถกำหนดได้ว่า จะกินอะไรบ้างเพื่อไม่ให้พลังงานที่ได้รับต่อวันไม่เกินไปจากที่ควรเป็นคือ หญิง 2000 กิโลแคลอรี และชาย 2500 กิโลแคลอรี ประเด็นหนึ่งที่บทความดังกล่าวย้ำเน้นคือ เมื่อไปรับประทานอาหารตามร้านนั้น ผู้บริโภคมักไม่เคยได้เห็นว่า พ่อครัวหรือแม่ครัวได้ทำการปรุงอาหารในลักษณะใด  ผู้บริโภคจึงควรบริหารสิทธิโดยถามว่า อาหารแต่ละจานนั้นปรุงแบบใดเช่น กรณีของคนไทยกินก๋วยเตี๋ยว ควรถามผู้ปรุงหรือสำทับหลังสั่งอาหารว่า ไม่ต้องใส่ผงชูรส (เพิ่มจากที่มีอยู่ในน้ำซุปแล้ว) เป็นต้น เรื่องการถามวิธีการปรุงอาหารนี้ไม่สำคัญเลยถ้าท่านไปโจ้ส้มตำไก่ย่างข้างปัมพ์น้ำมัน เพราะเราเห็นได้แน่ ๆ ว่า แม่ค้าปรุงอาหารสะอาดหรือสกปรกเพียงใด เติมอะไรให้เรากินบ้าง น้ำมะนาวนั้นเป็นมะนาวเทียมหรือเปล่า (ถ้าสนใจสังเกต) สิ่งที่สำคัญในกรณีของส้มตำนั้น ควรมีคำถามติดปากว่า ปูเค็มหรือปลาร้า นั้นสุกหรือไม่ มิเช่นนั้นถ้าติดเชื้อที่ทำให้ท้องเสียแล้วก็ไม่ควรบ่นให้เสียเวลา เพราะเข้าตำราว่า กินอยู่กับปาก (อ)ยากอยู่กับท้อง ในยุคสมัยที่คนไทยยอมรับกันแล้วว่า วัฒนธรรมการกินของคนไทยในเมืองใหญ่นั้นไม่ต่างจากชาวตะวันตก เพราะชีวิตมันรันทดนัก ต้องเร่งรีบซื้อ รีบกิน รีบกลับไปทำงาน ดังนั้นอาหารที่กินง่ายเช่น แซนด์วิชจึงตอบสนองกับรูปแบบชีวิตได้ดี บทความดังกล่าวได้แนะว่า ถ้ายังมีโอกาสทำแซนด์วิชไปกินเองที่ทำงานก็ควรทำ เพราะประหยัดเงินและสามารถจัดให้อาหารจานด่วนนี้มีคุณค่าทางโภชนาการดูดีและสะอาดเท่าที่เราต้องการ เช่น การเลือกใช้ขนมปังที่ทำจากแป้งสาลีไม่ขัดสี การใส่ผักในแซนด์วิชให้มากพอที่ควรลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง ผู้เขียนไม่กล้าใช้คำว่า โภชนาการครบ กับการกินอาหารประจำวัน เพราะจริง ๆ แล้วมีใครบ้างสามารถทำให้อาหารแต่ละจานมีคุณค่าโภชนาการครบได้จริง ที่เป็นไปได้ก็แค่ดูเหมือนครบ ซึ่งแค่ดูเหมือนก็คงพอแล้ว เช่น ขอให้มีผักผลไม้ประมาณกึ่งหนึ่งในมื้ออาหาร เป็นต้น ประเด็นหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อผู้ที่ต้องซื้ออาหารกินคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดมักเน้นย้ำว่า ท่านต้อง “อ่านฉลาก” ที่ติดที่ภาชนะบรรจุอาหารให้เข้าใจทุกครั้งว่า ท่านได้สารเจือปนในอาหารสักเท่าไร โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารที่ได้จากผู้ผลิตซึ่งทำตามมาตรฐานที่ดีแล้ว จะบอกสิ่งสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับสุขภาพที่ผู้บริโภคควรรู้ต่าง ๆ เช่น ปริมาณเกลือ สำหรับผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงหรือไตไม่ปรกติ เป็นต้น ดังนั้นท่านอาจต้องทำป้ายติดที่โต๊ะอาหารว่า วันนี้คุณอ่านฉลากอาหารแล้วหรือยัง   //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point