ฉบับที่ 271 กู้เงิน แต่เจอคิดดอกเบี้ยแพง เกินกฎหมาย เจ้าหนี้เงินกู้มีสิทธิได้ดอกเบี้ยหรือไม่

            ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันหลายคนมีปัญหาทางการเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง ค่าใช้จ่ายๆ ต่างก็สูงมากขึ้น การไปกู้ยืมเงินจากบรรดาธนาคารต่างๆ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องหาคนค้ำหรือมีวางหลักประกัน ดังนั้นจึงมีหลายคนหันไปใช้บริการกู้เงินนอกระบบหรือผ่านแอปกู้เงินบนออนไลน์ ซึ่งเมื่อกู้มาแล้วเจอคิดดอกเบี้ยแพง เช่น ร้อยละ 10 ต่อเดือนทั้งที่ตามกฎหมายแล้วการคิดดอกเบี้ยจากเงินกู้ กฎหมายได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นสูงสุดที่ผู้ให้กู้สามารถเรียกได้ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี คือร้อยละ 1.25 ต่อเดือน เช่นนี้ลูกหนี้มักถูกเอาเปรียบจากการคิดดอกเบี้ยสุดโหด คำถามที่น่าสนใจคือ เมื่อเจ้าหนี้เรียกดอกเบี้ยจากเงินกู้เกินกฎหมาย ผู้บริโภคอย่างเราในฐานะผู้กู้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ นี้หรือไม่ หากจ่ายไปแล้วเอาคืนได้ไหมหรือเจ้าหนี้จะมีสิทธิได้ดอกเบี้ยแพงผิดกฎหมายหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ ศาลฏีกาได้เคยวินิจฉัยไว้เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยศาลเห็นว่าการคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 1.25 ต่อเดือนเป็นการคิดดอกเบี้ยที่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้ให้กู้หรือเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยแต่ลูกหนี้ก็ไม่มีได้ดอกเบี้ยนี้คืนแต่สามารถเอาเงินที่ชำระเป็นดอกเบี้ยไปหักเงินต้นที่กู้ยืมได้             คําพิพากษาฎีกาที่ 5056/2562             โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือนโดยจำเลยได้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน มาโดยตลอด ดอกเบี้ยที่จำเลยชำระไปดังกล่าวจึงเกิดจากการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยย่อมตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยยอมชำระดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้แก่ โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 411 จำเลยไม่อาจเรียกร้องให้คืนเงินดอกเบี้ยที่ชำระไป แต่โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยดังกล่าวหากแต่ต้องนำดอกเบี้ยที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์ไปหักเงินต้นหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปื ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง             นอกจากนี้ การกู้ยืมเงิน มีเรื่องที่ผู้บริโภคควรใส่ใจ เพื่อป้องกันการถูกเอาเปรียบจากการกู้ยืมเงิน ดังนี้             (1) อย่าได้ลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าเป็นอันขาดเพราะเจ้าหนี้อาจเอาไปเติมข้อความหรือตัวเลขเงินกู้ที่เกินจริงในภายหลังได้             (2) โฉนดที่ดินเป็นเอกสารสำคัญอย่าไปให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันเพราะอาจเจอปัญหาตอนจ่ายหนี้หมดแต่เจ้าหนี้เรียกค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติมภายหลังได้ หากจะเอาที่ดินเป็นประกันต้องไปจดจำนองที่สำนักงานที่ดินให้ถูกต้อง             (3) ตรวจสอบเงินที่ได้รับมาตรงตามที่ทำสัญญากู้หรือไม่เป็นเรื่องพื้นฐานได้เงินไม่ครบตามเอาทีหลังจะยากเพราะถือว่ารับเงินมาแล้ว ดังนั้นจึงควรตรวจนับทันทีเพื่อให้แน่ใจว่าเงินที่เราได้ตรงกับที่ทำสัญญาไว้             (4) ควรใส่ตัวเงินเป็นตัวหนังสือด้วยเพื่อป้องกันมิให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมตัวเลขในภายหลัง             (5) ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้เสมอเป็นสิทธิตามกฎหมาย ผู้กู้ต้องได้สัญญากู้มาด้วยหากไม่ส่งมอบอาจส่อเจตนาไม่สุจริตและผิดต่อกฎหมาย การจ่ายเงินกู้โดยไม่รู้ว่าสัญญากำหนดสิทธิหน้าที่ของเราไว้อย่างไรจะทำให้เราเสียเปรียบเพราะไม่รู้เงื่อนไขตามสัญญาที่ตกลงกันหากเกิดการฟ้องร้องจะทำให้ต่อสู้คดีได้ยาก             (6) ในสัญญากู้ควรมีพยานฝ่ายผู้กู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานอย่างน้อย 1 คน เพื่อให้เป็นหลักฐานว่ามีการกู้ยืมเงินกันจริง มีพยานยืนยันจำนวนเงินที่กู้ ระยะเวลาที่กู้ ดอกเบี้ยที่เรียกเก็บ เพื่อหากเกิดปัญหาพิพาทกันภายหลังจะได้มีคนยืนยันไม่ให้ถูกเจ้าหนี้เรียกเงินคืนที่อาจเกินจริง             (7) จ่ายเงินทุกครั้งต้องมีหลักฐาน กล่าวคือ หากจ่ายเป็นเงินสดต้องได้ใบเสร็จรับเงินไว้เป็นหลักฐานยืนยันการชำระเงินและควรเก็บไว้ให้ดีจนกว่าจะชำระหนี้ครบถ้วนหรือเพื่อความสะดวกควรจ่ายโดยวิธีโอนเงินผ่านมือถือมีสลิปที่แอปธนาคารยืนยันก็จะช่วยให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ไม่ให้สัญญากู้ยืมเงินแก่ผู้กู้ได้หรือไม่

        ปัจจุบันอัตราภาวะเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้น หลายคนชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อมาใช้จ่ายภายในครอบครัว เงินสดทันใจก็เป็นที่พึ่งของใครหลายคนผู้ให้กู้ก็มีหลายเจ้า เข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว แต่...         ภูผามีค่าใช้จ่ายเพิ่มพูนขึ้นจำนวนมากเดือดร้อนหนักชักหน้าไม่ถึงหลัง จึงต้องการหาเงินมาหมุนเพื่อครอบครัวของเขาสามารถไปต่อได้ เขาเห็นโฆษณาของบริษัทสินเชื่อสีฟ้าแถวบ้าน ซึ่งมีสาขามากมายทั่วประเทศ ให้กู้ง่าย สะดวก รวดเร็ว แค่มีโฉนดที่ดินก็กู้ได้ ไม่ต้องจำนองด้วย เขาจึงลองเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของบริษัทสินเชื่อสาขาใกล้บ้านเจ้านั้น เมื่อดูท่าทีว่ามีความน่าเชื่อถือของเจ้าหน้าที่และบริษัทสินเชื่อที่มีโฆษณาทางทีวี เขาจึงนำโฉนดที่ดินที่เป็นที่สวนของตัวเองเข้าไปกู้ยืมเงินกับบริษัทสินเชื่อ โดยเขากู้เงิน 150,000 บาท เซ็นชื่อในเอกสารของบริษัทเรียบร้อย มีการหักค่าธรรมเนียม ค่าดำเนินการอะไรต่างๆ ของบริษัทประมาณ 3,000 บาท เจ้าหน้าที่ของบริษัทก็ให้บัตรมาใบหนึ่งมีรายละเอียดว่าให้ชำระหนี้ทุกวันที่ 25 ของทุกเดือน หลังจากดำเนินการเรื่องเอกสารเรียบร้อยสักประมาณ 1 ชั่วโมงก็มีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากเขาจากบริษัท         หลังจากกู้เงินมาได้ 1 สัปดาห์ เขาก็เล่าให้ลูกชายว่าไปกู้เงินกับบริษัทสีฟ้ามา ลูกชายก็บ่นๆ เขา ว่าทำไมพ่อไม่บอก ไม่น่าไปกู้เงินมาเลย ลูกชายเขาจะได้หาทางช่วย ลูกชายขอพ่อดูสัญญากู้ เขาบอกว่าบริษัทให้บัตรรายละเอียดที่ต้องชำระเงินมา ไม่รู้ว่าบัตรนี้เรียกสัญญาไหม เมื่อเขาคุยกับลูกชายไปมาก็ถึงบางอ้อว่า เอกสารที่บอกว่ากู้เงินกี่บาท ดอกเบี้ยเท่าไหร่ ต้องชำระยังไง เขาเรียกว่าสัญญา ก็คือเอกสารที่เขาได้เซ็นไปนั่นแหละ สรุปว่าภูผาไม่ได้สัญญากลับมา         พอเห็นว่าพ่อไม่ได้สัญญามาไว้กับตัว ลูกชายจึงให้เขาไปขอสัญญาเงินกู้กับบริษัทสินเชื่อ เมื่อภูผาไปขอสัญญาจากบริษัทฯ พนักงานบริษัทฯ ก็บอกว่าเดี๋ยวให้ๆ วันนี้กลับไปก่อนนะครับ จนเวลาได้ล่วงเลยมา 2 เดือนหลังจากกู้ยืมเงิน ลูกชายเขาเข้าใจว่าบริษัทในฐานะผู้ให้กู้ต้องให้สัญญากู้ยืมเงินตั้งแต่วันที่ให้พ่อของเขากู้ไม่ใช่หรอ นี่ไปของสัญญากู้ตั้งนานแล้วทำไมยังไม่ได้ จึงมาปรึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหา         ลูกชายของผู้ร้องเข้าใจถูกแล้วว่าเมื่อกู้ยืมเงินกันสัญญากู้ต้องทำเป็นสองฉบับ ฉบับหนึ่งผู้ให้กู้เก็บไว้ ส่วนอีกฉบับหนึ่งให้ผู้กู้เก็บไว้ หรือทำสัญญาฉบับเดียวแล้วถ่ายสำเนาสัญญากู้ให้อีกพร้อมหนึ่งเก็บไว้ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานในการกู้ยืมเงินของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย         ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินเพื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๔๔ ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดอย่างชัดเจนไว้ว่า “ผู้ประกอบธุรกิจต้องส่งมอบสำเนาหรือคู่ฉบับสัญญาเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินให้แก่ผู้บริโภคไว้เป็นหลักฐานหนึ่งฉบับทันทีที่ผู้บริโภคลงนามในสัญญา” ดังนั้นบริษัทสีฟ้าต้องส่งมอบสัญญาให้ผู้ร้องทันทีเมื่อได้เซ็นสัญญากัน หากไม่ทำตามมีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         ทั้งนี้ผู้ร้องสามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หรือแจ้งความที่สถานีตำรวจเพื่อให้ดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงและให้บริษัทสินเชื่อส่งสัญญาให้ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 กระแสต่างแดน

ห้ามกู้มาจ่ายหน่วยงานด้านกิจการผู้บริโภคของญี่ปุ่นเสนอร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของทายาทหรือคู่ครองของบุคคลที่ “บริจาคเกินตัว” จนครอบครอบครัวต้องลำบากร่างกฎหมายดังกล่าวห้ามการบริจาค “เงินที่ได้จากการกู้ยืม” และเงินจากการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินของครอบครัว หากได้บริจาคไปแล้วก็ให้ถือเป็นโมฆะ ลูกหลานหรือคู่ครองสามารถเรียกร้องเงินคืนได้ การบริจาคดังกล่าว หมายถึงการบริจาคให้กับองค์กรทุกประเภท (ไม่จำกัดเฉพาะองค์กรทางศาสนา) นอกจากนี้รัฐสภาญี่ปุ่นได้โหวตให้แก้ไขกฎหมายเพื่อจัดการกับ “เทคนิคการขายแบบพิสดาร” ขององค์กรศาสนาบางแห่ง เช่น การบอกสมาชิกว่าถ้าไม่บริจาคแล้วโชคร้ายจะติดตัวไป หรือจะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับบ้านถ้าไม่จ่าย เป็นต้น เรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับชายญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลอบสังหารอดีตนายกชินโซ อาเบะ ซึ่งเขาเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับ “โบสถ์แห่งความสามัคคี” ที่ทำให้แม่ของเขาต้องหมดตัวเท่านั้น ปัจจุบันมีเด็กจำนวนไม่น้อยไม่มีบ้านอยู่ หรือต้องใช้ชีวิตอย่างยากแค้นเพราะพ่อแม่นำเงินไปทุ่มเทให้กับองค์กรเหล่านี้  ให้ความร่วมมือดี         คุณอาจกำลังสงสัยว่าประเทศอย่างสิงคโปร์ตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์เหมือนกับประเทศเพื่อนบ้านในโซนนี้หรือไม่ ... คำตอบคือ ไม่น้อย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนที่ผ่านมาชาวสิงคโปร์ โดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงินทางโทรศัพท์ไปแล้ว 51 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวม 3.3 ล้านเหรียญ (ประมาณ 85 ล้านบาท) รายที่โดนหนักสุด สุญเงินไปถึง 700,000 เหรียญ (18 ล้านบาท) เริ่มจากการที่เหยื่อได้รับโทรศัพท์จาก “เจ้าหน้าที่ธนาคาร” ที่แจ้งว่า “บัญชีของคุณมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน” จากนั้นก็โอนสายให้คุยกับ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” ที่จะยืนยันตัวตนด้วยการส่งรูปบัตรประจำตัวมาให้ดูประกอบความน่าเชื่อถือ จากนั้นก็อธิบายสถานการณ์แล้วขอให้เหยื่อโทรหา “เจ้าหน้าที่สอบสวน” กรณีดังกล่าวโดยตรง ตามด้วยจดหมายจาก “สำนักงานตำรวจแห่งชาติของสิงคโปร์” ที่ขอความร่วมมือให้เหยื่อช่วยสืบสวนหาต้นตอของ “เงินผิดกฎหมาย” ดังกล่าว ระหว่างนั้นก็ขอให้เหยื่อโอนเงินของตัวเองไปเก็บไว้ใน “บัญชีที่ปลอดภัย” ที่เขาจัดไว้ให้ ... งานนี้ไม่อยากเป็นมิตร         รัฐบาลฮ่องกงได้อนุมัติการผลิตและการใช้ “โลงศพชนิดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” มาตั้งแต่ปี 2007 โดยนำร่องใช้กับพิธีเผาศพไม่มีญาติ ตามด้วยการออกระเบียบให้ผู้ให้บริการพิธีเผาศพนำเสนอ “โลงอีโค” ให้เป็นหนึ่งในทางเลือกของลูกค้าเสมอ โลงอีโคทำจากกระดาษและวัสดุรีไซเคิล สามารถติดไฟและเผาไหม้ได้ดีจึงประหยัดพลังงาน และยังปล่อยก๊าซอันตรายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโลงแบบดั้งเดิมที่ทำจากไม้ทั้งต้น ยิ่งไม้มีความแข็งแรง ก็ยิ่งลุกไหม้ยาก ในขณะที่สีย้อมไม้ น้ำมันเคลือบเงา ที่จับโลหะ รวมถึงผ้าบุด้านใน ล้วนก่อให้เกิดสารอันตรายเมื่อติดไฟอีกด้วย  สภาผู้บริโภคฮ่องกงพบว่าในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการใช้โลงอีโคเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ไม่สอดคล้องกับผลการสำรวจเมื่อปี 2015 ที่พบว่าคนฮ่องกงถึงร้อยละ 67 ยินดีจะเปลี่ยนมาใช้โลงอีโคถ้าพวกเขาต้องวางแผนจัดงานศพ หรืออาจเพราะปัจจัยด้านราคา สภาฯ พบว่าโลงสองประเภทนี้ราคาไม่ต่างกัน (5,000 เหรียญ หรือประมาณ 22,300 บาท) สธ. ต้องรับผิดชอบ         ครอบครัวชาวอินโดนีเซีย 12 ครอบครัว รวมตัวกันยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มต่อกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอาหารและยา ที่ล้มเหลวในการสกัดกั้นการจำหน่าย “ยาแก้ไอมรณะ” ที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเพราะอาการไตวายไปแล้วเกือบ 200 คน ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังฟ้องบริษัทที่เป็นผู้จัดหายาดังกล่าว ซึ่งพบว่ามีส่วนประกอบของสารอันตราย ไดเอทธิลีน ไกลคอล และเอทธิลีน ไกลคอล เกินมาตรฐาน (สารดังกล่าวใช้ในอุตสาหกรรมสี หมึก และน้ำมันเบรก เป็นต้น) ก่อนหน้านี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ทำการสอบสวนและสั่งระงับการจำหน่ายยาดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยเยียวยา 2,000 ล้านรูเปียห์ (ประมาณ 4.46 ล้านบาท) สำหรับผู้เสียชีวิต และ 1,000 ล้านรูเปียห์ สำหรับผู้ที่สูญเสียไต เหตุดังกล่าวเคยเกิดขึ้นในแกมเบีย และก่อนหน้านั้นในรัฐจัมมูของอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยาดังกล่าว เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียได้สั่งปิดโรงงานที่ผลิตแล้ว ใครๆ ก็กินได้ ธุรกิจ “โลว์คอสต์” มักมีการแข่งขันสูง ซูชิโลว์คอสต์ก็เช่นกัน ล่าสุดประธานบริษัท Kappa Create หนึ่งในสี่ผู้ประกอบการร้านสายพานซูชิรายใหญ่ของญี่ปุ่น ถูกจับในข้อหา “ขโมยข้อมูลสำคัญทางธุรกิจ” จาก Hana Sushi ที่เขาเคยเป็นพนักงานมาก่อน ข้อมูลที่ขโมยมาคือรายการต้นทุนของแต่ละเมนู และบริษัทจัดหาวัตถุดิบของคู่แข่งนั่นเอง อุตสาหกรรมนี้เติบโตมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ใครๆ ก็อยากกินซูชิที่ราคาเริ่มต้นแค่จานละ 100 เยน (ประมาณ 25 บาท) และราเมนหรือขนมที่ราคา 300 หรือ 400 เยน ก็โดนใจผู้บริโภคสายประหยัดยิ่งนักส่งผลให้ผู้ประกอบการงัดกลยุทธออกมาแย่งลูกค้ากัน บางทีก็ไม่ใช่วิธีที่ดีนัก นักวิชาการคาดว่าเรื่องแบบนี้จะมีให้เห็นกันอีก ก่อนหน้านี้ Sushiro เจ้าใหญ่ที่มีถึง 600 สาขาทั่วญี่ปุ่น ก็ทำทีโปรโมทเมนู​พิเศษ “ซูชิหอยเม่น” (เจ้าอื่นไม่มีเมนูนี้เพราะไม่สามารถหาวัตถุดิบได้) แต่เมื่อลูกค้าไปถึงร้าน กลับไม่มีเมนูดังกล่าวให้ ทางร้านอ้างว่า “ขายดีเกินคาด” ของจึงหมดสต็อก  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 261 ปลดหนี้ บนออนไลน์

        ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์มีอิทธิพลกับการดำรงชีวิตของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าหรือการกู้ยืมเงินสามารถทำผ่านระบบออนไลน์ได้ เกิดการโฆษณาให้ข้อมูลที่หลากหลายรวมถึงการติดต่อสื่อสารระหว่างกันจากเดิมที่ต้องเดินทางไปมาหากันก็เหลือเพียงวีดีโอคอลหรือแชทไลน์สนทนาทำให้ติดต่อกันได้รวดเร็วมากขึ้น         แน่นอนว่าเรื่องของกฎหมายก็ต้องมีการปรับตัวไปตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ในเรื่องของการกู้ยืมเงินกัน ที่เมื่อก่อนต้องมีการเจอหน้าพูดคุยทำสัญญากู้ยืมกัน แต่ปัจจุบันเมื่อวิธีติดต่อสื่อสารเปลี่ยนแปลง การกู้ยืมเงิน การติดตามทวงถามให้ใช้หนี้ ก็ทำผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในรูปแบบการพิมพ์ข้อความแชทสนทนา ซึ่งหลักฐานสนทนาเหล่านี้ กฎหมายยอมรับให้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินที่สามารถนำมาอ้างอิงเพื่อเรียกร้องกันได้ และแน่นอนว่าปัญหาการผิดนัดเบี้ยวหนี้ก็มีเกิดขึ้นอยู่เสมอ จนเกิดเป็นคดีความขึ้นสู่ศาลมากมาย ดังนั้นจะขอหยิบยกตัวอย่างคดีที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินกันและปรากฏว่าตัวเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ มีการส่งข้อความแชททางเฟซบุ๊กไปยังลูกหนี้ผู้กู้ว่าเงินที่กู้ยืมทั้งหมดนั้น ไม่ต้องส่งคืนยกให้ทั้งหมด ข้อความดังกล่าวศาลเห็นว่า แม้ไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ แต่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายซึ่งยอมรับให้ถือเสมือนมีการลงลายมือชื่อแล้วและการส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและผู้ให้กู้ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง เช่นนี้ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่ผู้กู้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือแล้วทำให้หนี้ระงับไปศาลจึงยกฟ้องผู้ให้กู้         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2560         จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ 595,500 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมครบถ้วนแล้ว หลังจากทำสัญญาจำเลยไม่ชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ย 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 6,550 บาท การที่โจทก์ส่งข้อความทางเฟซบุ๊กถึงจำเลยมีใจความว่า เงินทั้งหมด 670,000 บาท ไม่ต้องส่งคืนยกให้หมด ไม่ต้องส่งดอกอะไรมาให้จะได้ไม่ต้องมีภาระหนี้สินติดตัว การส่งข้อมูลดังกล่าวเป็นการสนทนาผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์จึงต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 มาตรา 7 ถึง มาตรา 9 มาใช้บังคับด้วย         แม้ข้อความนี้จะไม่มีการลงลายมือชื่อโจทก์ก็ตาม แต่การส่งข้อความทางเฟซบุ๊กจะปรากฏชื่อผู้ส่งด้วยและโจทก์ก็ยอมรับว่าได้ส่งข้อความถึงจำเลยจริง         ข้อความการสนทนาดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า เป็นการแสดงเจตนาปลดหนี้ให้แก่จำเลยโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ. มาตรา 340 แล้ว  หนี้ตามสัญญากู้ยืมย่อมระงับ จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง         กฎหมายที่เกี่ยวข้อง        พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544         มาตรา 7  ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์        มาตรา 8  ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้การใดต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึงและนำกลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว         มาตรา 9  ในกรณีที่บุคคลพึงลงลายมือชื่อในหนังสือ ให้ถือว่าข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นมีการลงลายมือชื่อแล้ว ถ้า         (1) ใช้วิธีการที่สามารถระบุตัวเจ้าของลายมือชื่อ และสามารถแสดงได้ว่าเจ้าของลายมือชื่อรับรองข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นว่าเป็นของตน และ         (2) วิธีการดังกล่าวเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้โดยเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของการสร้างหรือส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์แวดล้อมหรือข้อตกลงของคู่กรณี         ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         มาตรา 340 ถ้าเจ้าหนี้แสดงเจตนาต่อลูกหนี้ว่าจะปลดหนี้ให้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป ถ้าหนี้มีหนังสือเป็นหลักฐาน การปลดหนี้ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย หรือต้องเวนคืนเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือขีดฆ่าเอกสารนั้นเสีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 ถูกแอปฯ เงินกู้หลอก ต้องทำยังไง?

        ในยุคที่ข้าวของแพง ค่าแรงถูก คนที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง และยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ในระบบ หากบังเอิญมีแอปฯ เงินกู้นอกระบบเด้งขึ้นมาบนมือถือของพวกเขา พร้อมเสนอเงื่อนไขที่เชิญชวนให้เชื่อจนยากปฏิเสธ หลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกให้เป็นหนี้เพิ่มก็สายไปซะแล้ว         เหมือนอย่างที่คุณอรสากำลังกังวลอยู่ตอนนี้ เธอเล่าว่าได้ทำสัญญากู้เงินจากแอปฯ เงินกู้นอกระบบแห่งหนึ่ง จำนวน 3,000 บาท ซึ่งทางแอปฯ หัก​ค่า​บริการไป 1,170 บาท เธอได้​รับ​เงิน​มาจริง 1,830 บาท โดยก่อนหน้าที่จะตัดสินใจกู้นั้น เธอก็พยายาม​จะ​สอบถาม​รายละเอียดในเงื่อนไขนี้กับทางแอปฯ แต่ติดต่อไม่ได้เลย จึงกดตกลงไปก่อน เพราะวันนั้นจำเป็นต้องใช้เงินจริง ๆ          วันนี้สิ่งที่เป็นปัญหาคือ จากตอนแรกทางแอปฯ แจ้งเงื่อนไขว่าให้ผ่อนใช้ได้ภายใน 91 วัน ซึ่งเธอคิดว่าคงพอมีเวลาที่จะหาเงินมาคืนได้ทัน แต่พอหลังจากทำสัญญากู้เงินแล้ว ทางแอปฯ ดันกลับคำ มาบังคับให้เธอคืนเงินเต็มจำนวนทั้งหมด 3,000 บาท ภายใน 7 วัน           คุณอรสาสงสัยว่าตัวเองจะโดนแอปฯ เงินกู้หลอกเข้าแล้ว จึงเขียนมาขอคำปรึกษาในเฟซบุ๊กของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทาง​การ​แก้ไข​ปัญหา        ในกรณีนี้ คุณอรสากู้เงินจากแอปเงินกู้ที่เปิดแบบผิดกฎหมาย แต่ก็ได้เงินมาจริงแม้จะมีเงื่อนไขโหด มพบ. จึงแนะนำให้​เก็บ​หลัก​ฐานต่างๆ และรีบไปแจ้งความกับตำรวจ ทั้งเรื่องที่โดนแอปเงินกู้ลวงให้กู้เงินและ​เรื่องการ​ทวง​หนี้​โดย​ผิด​กฎหมาย​ตาม​ พ​รบ​.​ทวง​หนี้ เมื่อ​แจ้ง​ความ​หรือ​ลงบันทึกประจําวัน​แล้วให้ถ่ายภาพเอกสารส่งกลับไปให้แอปฯ เงินกู้ดู ​อย่างไรก็ตามผู้บริโภคต้องจำไว้ว่า ถึงอย่างไรเราก็ได้เงินกู้มาจำนวนหนึ่ง (1,830 บาท) ขอให้เตรียมเงินไว้เพื่อคืนกับผู้ให้กู้ โดยเรียกหรือนัดหมายมาคืนเงินกันต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ควรจ่ายคืนไปทันที เพราะจะมีเรื่องผูกพันกันไปอีกมาก (ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม) และทั้งนี้ทราบด้วยเช่นกันว่า ​คุณอรสาได้​ถ่าย​ภาพ​หน้า​/หลัง​บัตร​ประชาชน​ซึ่ง​เป็น​ข้อมูล​สําคัญให้แอปฯ เงินกู้ไปด้วย จึงแนะว่าให้รีบไปทําบัตร​ประชาชน​ใหม่ และให้คลายกังวลได้ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าแก๊งเงินกู้ออนไลน์ทำร้ายผู้กู้ อย่างไรก็ตามหากพบปัญหาต่อเนื่องทาง มพบ.ยินดีให้ความช่วยเหลือต่อไป......         ก่อนตัดสินใจใช้บริการแอปเงินกู้ ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ “แอปเงินกู้” โดยนำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล และยังมีลิงก์ไปยังเว็บไซต์กระทรวงการคลัง ซึ่งรวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ไว้ในที่เดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กู้เงินผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ มีแต่เสียกับเสีย

        ช่วงนี้การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อะไรมาค้ำประกัน แถมแอปพวกนี้สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายผ่าน Play Store (ที่โหลดแอปต่างๆ ในมือถือ) บางคนอาจเคยกู้เงินผ่านแอปมาแล้ว แอปเหล่านี้จริงๆ แล้วต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย แต่แอปใน Play Store ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค         ภูผา ณ ขณะนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง ชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าต่างๆ ทยอยขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน หมู มาม่า เขาต้องการเงินมาใช้จ่ายเลยไปกู้เงินผ่านแอปเงินกู้ เขากู้เงิน 60,000 บาท แอปแจ้งว่าเขาต้องโอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการก่อน 3,000 บาท เมื่อโอนไปแล้วทางแอปบอกว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ต้องโอนไปอีก 6,000 บาท พอโอนไปแล้วเขาบอกว่าบัญชีเงินเต็มแล้ว ต้องโอนเงินไปให้เขาเพิ่มอีก 6,000 บาท พอเป็นแบบนี้เขาก็ไม่มีเงินโอนเพิ่มให้แล้วจึงบอกไปว่าเขาไม่ต้องการกู้เงินแล้ว ขอให้แอปโอนเงินที่เขาโอนไปคืนมา แต่แอปบอกมาว่าถ้าจะยกเลิกต้องโอนเงินค่ายกเลิกมาอีก 8,000 บาท ถึงจะได้เงินที่โอนไปแล้วก่อนหน้านี้ 9,000 บาทคืน แต่เขาไม่มีเงินโอนไปให้แล้ว เขาขอเงินคืนแต่แอปไม่ให้คืน สรุปว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เงินคืนเลย เขาถึงรู้ตัวว่าเขาโดนหลอกแน่ๆ จึงมาขอคำปรึกษามูลนิธิ          แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ชื่อแอปพลิเคชัน, ข้อความแชทที่คุยกับแอป, หลักฐานการโอนเงิน        2. นำหลักฐานที่เก็บรวบรวมไว้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแอป ที่สถานีตำรวจในท้องที่ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ และขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีที่ได้โอนเงินไป        3. นำเอกสารอายัดบัญชีไปดำเนินเรื่องอายัดบัญชีธนาคารที่ธนาคารสาขาใดก็ได้        4. ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สายด่วน 1213 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โทร 1441

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 เสี่ยงเป็นหนี้ก้อนโต ถูกประจานให้อับอาย

        ใครที่กำลังคิดจะกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ต้องตั้งสติและหาข้อมูลดีๆ อย่าหลงไปกับข้อความเชิญชวนฉาบฉวยที่ว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ เหล่านี้ เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อนเหมือนอย่างคุณนิดก็ได้         วันนั้นคุณนิดนั่งไถมือถือดูข้อมูลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในเว็บไซต์หนึ่งอยู่ จู่ๆ ก็มีแอปกู้เงินเด้งขึ้นมาติดๆ กันหลายแอป เหมือนจะรู้เธอกำลังอยู่ในช่วงที่ชักหน้าไม่ถึงหลังพอดี เธอเลื่อนๆ ดู ก็ไปถูกใจที่เงื่อนไขของแอปกู้เงินชื่อ LOAN HUB ซึ่งโฆษณาว่าถ้ากู้ 5000-50000 บาท สามารถใช้คืนภายใน 91 วันได้ คุณนิดจึงลองกู้ไป 3,000 บาทก่อน แต่พอกู้ผ่านและเข้าไปกดยอมรับข้อบังคับต่าง ๆ ในแอปทั้งหมดแล้ว กลับมีเงินโอนเข้ามาให้เธออีกถึง 10 แอป แอปละ 1,200 บาท เธองงมาก เพราะตั้งใจจะกู้แค่แอปเดียวเท่านั้น         หลังจากนั้นไม่ถึง 7 วัน พนักงานของแอปโทรศัพท์มาแจ้งให้จ่ายหนี้คืนภายในวันที่ 7 ก่อนเที่ยง คุณนิดยอมรับว่าเธอขัดสนจริงๆ และได้ใช้เงินทั้งหมดไปแล้ว เธอจึงหาเงินมาจ่ายคืนให้ไม่ทัน เมื่อถึงวันครบกำหนด ทางแอปก็ส่งข้อความมาทวงหนี้พร้อมข่มขู่ว่า         “...ถ้าไม่ชำระยอดหนี้ให้ทางแอปเรา ทางเราจะเอาข้อมูลของคุณไปกู้เงินสัก 20 แอป กู้ไม่เยอะหรอก แอปละ 3000 บาท 20 แอปก็ 60,000 เตรียมตัวจ่ายหนี้แทนบริษัทได้เลย และเราจะเอาข้อมูลทั้งหมดแชร์ไปในโซเชียลและจะติดต่อไปหาญาติพี่น้องและเพื่อนทั้งหมด”         คุณนิดกลัวว่าจะต้องเป็นหนี้ก้อนโต แต่ก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปคืนได้ทัน ต่อมาทางแอปกู้เงินก็ยังมาโพสต์ประจานเธออย่างเสียๆ หายๆ และหยาบคายอีก เธอจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ได้แนะให้คุณนิดใช้หนี้คืนเท่าที่ยืมมา ส่วนที่โดนแก๊งทวงหนี้ข่มขู่นั้นก็ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ เช่น  โดนข่มขู่ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือที่บ้าน ที่จะให้สถานีตำรวจท้องที่ช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด จากนั้นให้ติดต่อธนาคารเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินส่วนตัวไปใช้ และหากจำเป็นต้องกู้เงินครั้งต่อไป ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้         เช็คแอปฯ เงินกู้ แหล่งไหนได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดูที่นี่ รายชื่อที่อยู่ Website สถาบันการเงิน และ Non-bank (bot.or.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 แอปฯ เงินกู้คนกรุงเริ่มใช้แล้ว 22 %

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 (กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง)         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3         รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3         โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7         รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4         โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2

อ่านเพิ่มเติม >

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ในกรุงเทพมหานคร

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3          รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4          โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3          โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7          รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4     โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2   ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน  1. เหตุผลที่ท่านทำการกู้ยืมเงิน (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     นำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์                ร้อยละ   35.8     นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   31.8     นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                          ร้อยละ   27.5     นำไปใช้เพื่อการศึกษา                             ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ               ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ                   ร้อยละ   17.3     อื่นๆ                                                       ร้อยละ   0.2   2. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล                        ร้อยละ   34.2     การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   30     การกู้ซื้อรถยนต์                                      ร้อยละ   23.1     การกู้ยืมจากกองทุน                                ร้อยละ   19.5     การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ                        ร้อยละ   17.4     การกู้ยืมจากแอปพลิเคชันเงินกู้                ร้อยละ   14.5     การกู้ยืมจากสหกรณ์                               ร้อยละ   14.2               3. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน จากผู้ให้กู้ยืมเงินในแบบใด (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง                           ร้อยละ   33.1     ธนาคารพาณิชย์                                    ร้อยละ   31.4     คนปล่อยกู้                                            ร้อยละ   21.9     แอปพลิเคชันเงินกู้                                ร้อยละ   14.4     บริษัทสินเชื่อเงินด่วน                            ร้อยละ   17     สหกรณ์                                               ร้อยละ   11.1     กองทุน                                               ร้อยละ   10.4                   ------ 4. ท่านเคยกู้เงินผ่าน แอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     เคย                                            ร้อยละ   21.8     ไม่เคย                                        ร้อยละ   61     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   17.2   *****กลุ่มตัวอย่างที่ตอบข้อ 4.1 - 4.4 มีจำนวน 416 กลุ่มตัวอย่าง*****   4.1 ท่านได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทางใด     SMS                              ร้อยละ   33.7     Line                               ร้อยละ   31.7     Facebook                      ร้อยละ   30.8     อื่นๆ                                ร้อยละ   3.8  4.2 ท่านได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับสัญญาเงินกู้                           ร้อยละ   41     ไม่ได้รับสัญญาเงินกู้                       ร้อยละ  33.6      ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   25.4 4.3 ท่านได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ท่านได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับเงินเต็มตามจำนวน                 ร้อยละ   35.4     ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน             ร้อยละ  32     ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   32.6  4.4 ท่านทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ทราบ                                        ร้อยละ   43.3      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   28.8     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   27.9  5. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่าน     ทราบ                                        ร้อยละ   58.2      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   27     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   14.8 6. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน ยกตัวอย่าง ท่านกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินกู้เพียง 1,220 บาท แต่ต้องชําระเงินคืน 2,007 บาท     ทราบ                                        ร้อยละ   41.7     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   39.5     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   18.8  7. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย        ทราบ                                        ร้อยละ   44.1     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   35.3     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   20.6 8. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากท่านตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์     ทราบ                                         ร้อยละ   50.5     ไม่ทราบ                                     ร้อยละ   31.6     ไม่แน่ใจ                                     ร้อยละ   17.9 9. ท่านเคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     พูดจาไม่สุภาพ                                    ร้อยละ   37     คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง                       ร้อยละ   30.1     ประจานทำให้อับอาย                           ร้อยละ   21.5     การข่มขู่                                             ร้อยละ   17.4     จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก                 ร้อยละ   19.7     ทวงหนี้กับญาติ                                  ร้อยละ   16.2     ส่งคนติดตาม                                     ร้อยละ   15.3     ทวงหนี้กับเพื่อน/หัวหน้างาน                ร้อยละ   11      10.      ท่านทราบหรือไม่ว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร     ทราบ                                                 ร้อยละ   46.4     ไม่ทราบ                                             ร้อยละ   29.2     ไม่แน่ใจ                                             ร้อยละ   24.4  11.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง     ทราบ                                          ร้อยละ   47.2     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   30.8     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22 12.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   59.3     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   18.7     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22  13.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   53.1     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   23.4     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   23.5       14.      ท่านได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้บ้าง      ถูกประจานทำให้อับอาย                       ร้อยละ   34     ถูกส่งคนติดตาม                                  ร้อยละ   23.3     อื่นๆ                                                   ร้อยละ   17.2     ถูกข่มขู่                                              ร้อยละ   14.5     ถูกทำร้ายร่างกาย                                ร้อยละ   11   ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์   1. เพศ               หญิง                        ร้อยละ   51.7     ชาย                         ร้อยละ   48.3   2. อายุ           36 – 40  ปี            ร้อยละ   23.7     31 – 35  ปี              ร้อยละ   23.1     26 – 30  ปี              ร้อยละ   16.5     41 -  45 ปี               ร้อยละ   16.3     46 -  50 ปี               ร้อยละ   9.7     20 – 25  ปี              ร้อยละ   7.6     มากกว่า 50 ปี          ร้อยละ   2.2     ต่ำกว่า 20 ปี            ร้อยละ   0.8     3. อาชีพ         พนักงานบริษัทเอกชน                                    ร้อยละ   26.2     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 ร้อยละ   22.2     รับจ้างทั่วไป                                                                   ร้อยละ   17.9     พ่อค้า/แม่ค้า                                                                   ร้อยละ   14.6     แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                               ร้อยละ   12     นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                                ร้อยละ   7.1      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 กระแสต่างแดน

คนเกาก็ชอบของก็อป         การระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน หรืออุณหภูมิติดลบ ไม่สามารถลดความคึกคักของการค้าใน “ตลาดของก็อป” ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี (กลุ่มเต็นท์สีเหลืองประมาณ 80 หลัง ใกล้ “ตลาดดงแดมุน” ศูนย์กลางเสื้อผ้าและแฟชั่นในกรุงโซล) ลงไปได้เลย         ช่วงเวลาระหว่างสามทุ่มถึงตีสอง ที่นี่จะคลาคล่ำไปด้วยหนุ่มสาวสายแฟที่มาหาซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า หรือนาฬิกา “แบรนด์เนม”            อาจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล อธิบายว่าคนเกาหลีอ่อนไหวต่อเทรนด์เป็นพิเศษ พวกเขาอยากมีเหมือนคนอื่น จะได้รู้สึกเข้าพวก และต้องมีอะไรที่ดีกว่า เพื่อจะได้เป็นที่อิจฉา พวกเขาต้องการครอบครองของที่ดู “แพง” เรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจึงแทบไม่มีใครใส่ใจ         ตามกฎหมายเกาหลี คนซื้อไม่มีความผิด แต่คนขายที่ถูกจับได้อาจต้องจ่ายค่าปรับถึง 100 ล้านวอน และอาจถูกจำคุกสูงสุด 7 ปี         ข้อมูลจากศุลกากรเกาหลีระบุว่าตั้งแต่มกราคม 2017 จนถึงสิงหาคม 2021 มี “คดีกระเป๋าปลอม” 1,866 คดี   ลดอายุคนขับ         เดนมาร์กกำลังขาดแคลนพนักงานขับรถของเทศบาล (รถรับส่งผู้ป่วย รถรับส่งนักเรียน เป็นต้น) เนื่องจากพนักงานจำนวนมากลาออกไปในช่วงที่โควิด-19 ระบาด จึงมีที่ว่างกว่า 1,000 ตำแหน่ง ที่อาจว่างไปอีกนาน เพราะไม่ค่อยมีคนสนใจสมัคร         พรรคฝ่ายค้านมองว่านี่คือปัญหาเร่งด่วน ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ ปัญหานี้จะกระทบไปถึงรถสาธารณะในเมืองและรถข้ามจังหวัดด้วย ว่าแล้วก็เสนอให้ลดเกณฑ์อายุขั้นต่ำของผู้ที่สามารถมีใบอนุญาตขับรถโดยสารเป็น 19 ปี (โดยให้เริ่มฝึกงานตั้งแต่อายุ 18 ปี)         จากเกณฑ์เดิมคือ 24 ปีสำหรับรถที่มีผู้โดยสาร ที่วิ่งในระยะทางมากกว่า 50 กิโลเมตร และ 21 ปี สำหรับระยะทางน้อยกว่า 50 กิโลเมตร         ด้านรัฐมนตรีกระทรวงขนส่งไม่เห็นด้วยกับแผนนี้ เขาให้เหตุผลว่าผู้โดยสารอาจรู้สึกไม่ปลอดภัย หากคนขับหน้าเด็กเกินไป เขาเสนอว่ากลุ่มสตรีผู้อพยพ น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสงานให้กับพวกเธอด้วย  คิดก่อนกู้         หนุ่มสาวฟินแลนด์ยุคนี้เป็นหนี้กันมากขึ้น นอกจากจะนิยมกู้เงินไปลงทุนทำกำไร ซึ่งทำผ่านแอปพลิเคชันได้สะดวกทั้งการขอกู้และการลงทุน พวกเขายังนิยมกู้เพื่อซื้อบ้าน/อพาร์ตเมนต์ อีกด้วย         สถิติในปีที่ผ่านมาระบุว่ามีเพียงร้อยละ 15 ของคนหนุ่มสาวที่ยังอาศัยอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งลดลงฮวบฮาบจากร้อยละ 30 ในปีก่อนหน้า         โอกาสซื้อที่อยู่อาศัยในฟินแลนด์มีมากขึ้นเพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาหลังโรคระบาด ทำให้เจ้าของบ้านที่เคยเก็บอพาร์ตเมนต์ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่านแอปฯ อย่าง Airbnb ก็เริ่มปล่อยของ ในขณะที่จำนวนอพาร์ตเมนต์สร้างเสร็จใหม่ในโซนที่มีการเดินทางสะดวกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน            อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางของฟินแลนด์เริ่มกังวลกับสถานการณ์ที่คนกลุ่มนี้สามารถกู้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด จึงเสนอให้มีการกำหนดเพดานหนี้ ที่ไม่เกิน 5 เท่าของรายได้ต่อปี และแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ/คิดให้รอบคอบก่อนจะเป็นหนี้ เพื่อป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายหากลูกหนี้ขาดรายได้กะทันหันและไม่สามารถใช้หนี้ได้  ทั้งเพิ่มทั้งลด         วิถีชีวิตแบบดิจิทัลของเราทำให้เกิดความต้องการ “ดาต้าเซ็นเตอร์” เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีศูนย์เหล่านี้อยู่ถึง 7.2 ล้านศูนย์ทั่วโลก ประเทศที่มีมากที่สุดได้แก่อเมริกา (2,670 แห่ง) ตามด้วยอังกฤษ (452) เยอรมนี (443) อันดับต่อมาคือเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น          เซิร์ฟเวอร์ในศูนย์เหล่านี้ทำงานทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าร้อยละ 1 ของการบริโภคพลังงานไฟฟ้าในโลกคือพลังงานที่ใช้ในศูนย์ข้อมูล         ที่น่าสนใจคือตัวเลขนี้ไม่เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี 2010 ทั้งๆ ที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การจราจรบนอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 15 เท่า         ส่วนหนึ่งเพราะศูนย์พวกนี้มีขนาดใหญ่ขึ้น และใช้พลังงานได้มีประสิทธิภาพกว่าศูนย์ขนาดเล็ก ฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น นอกจากนี้นวัตกรรมการก่อสร้างอาคาร ระบบระบายความร้อน และการลงทุนในพลังงานทางเลือกหรือเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของผู้ประกอบการนั่นเอง เอไอไม่แฟร์         การสำรวจความเห็นของ “แรงงานดิจิทัล” จำนวน 5,000 คน โดยสถาบันความเท่าเทียมทางเพศแห่งยุโรปพบว่า เอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ในการจ้างงานในเศรษฐกิจแบบแพลตฟอร์ม ยังไม่ถูกพัฒนาให้เป็นธรรมกับแรงงานหญิงเท่าที่ควร         องค์กรนี้พบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เลือกงานแบบนี้เพราะ “ความยืดหยุ่นเรื่องชั่วโมงทำงาน”  พวกเธอต้องการเวลาในการทำงานบ้านและดูแลครอบครัว แต่กลับถูก “หมางเมิน” หรือแม้แต่ “ลงโทษ” โดยเอไอของแพลตฟอร์ม เพราะพวกเธอมีชั่วโมง “รับงาน” น้อยกว่าผู้ชายซึ่งเป็นแรงงานส่วนใหญ่ในเศรษฐกิจแบบนี้         ปัจจุบันร้อยละ 16 ของแรงงานดิจิทัลในอังกฤษและสหภาพยุโรปเป็นผู้หญิง และสัดส่วนนี้จะยิ่งน้อยลงในตำแหน่งที่สูงขึ้น         สถาบันฯ เสนอให้ผู้ประกอบการแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น และขอให้กำหนดความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในเกณฑ์การ “ตัดสินใจ” ของเอไอ ไม่เช่นนั้นเทคโนโลยีก็ไม่ต่างอะไรกับเครื่องมือการเลือกปฏิบัติและผลิตซ้ำอคตินั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 245 คนกรุง 83.9 % มีหนี้สิน 54.3 % รู้ว่ามี พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ และ 28.5 % เคยถูกประจานทำให้อับอาย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,135 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มิถุนายน 2564 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2558 มีผลใช้บังคับจริงในวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการประกาศใช้บังคับ คือ เพื่อป้องกันและแก้ไขการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการบังคับใช้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ร้อยละ 83.9 โดยการกู้ซื้อรถยนต์เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 36.7 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 33.9 อันดับสามคือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 20.6 อันดับห้าคือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 19.2 และอันดับหกคือ การกู้ยืมจากสหกรณ์ ร้อยละ 10.5                 โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง ร้อยละ 30.6 อันดับสามคือ กองทุน ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 20.8 อันดับห้าคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 18.8 และอันดับหกคือ สหกรณ์ ร้อยละ 12.8                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบเรื่อง พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองลูกหนี้ร้อยละ 54.3 ทราบว่าพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีการคุ้มครองลูกหนี้เพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 49.8                 ในส่วนของการที่ไม่เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 48.5 เคยผิดนัดผ่อนชำระ ร้อยละ 40.6 และไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 45.0 เคยถูกทวงถามหนี้ ร้อยละ 37.9                 โดยเคยถูกทวงถามหนี้ ผ่านทางจดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึกมากที่สุด ร้อยละ 32.4 อันดับสองคือ การคิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 26.4 อันดับสามคือ พูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 20.5 อันดับสี่คือ ทวงหนี้กับญาติ ร้อยละ 11.2 อันดับห้าคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 9.7                ทราบว่าการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 50.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. ร้อยละ 42.4 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 42.6                 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 61.7 ทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 52.0                 ทราบว่า การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 42.6 และไม่ทราบว่า ผู้ทวงถามหนี้ ต้องขออนุญาตจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงหนี้และข้าราชการห้ามประกอบธุรกิจทวงถามหนี้  ร้อยละ 32.3                 ไม่เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.3 เคยถูกทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 25.7 และไม่เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.2 เคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 16.8                 ทราบว่า หากเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะร้องเรียนผ่าน สถานีตำรวจ มากที่สุด ร้อยละ 60.7 อันดับสองคือ คณะกรรมการการกํากับการทวงถามหนี้ประจําจังหวัด สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร้อยละ 31.6 อันดับสามคือ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ร้อยละ 25.0 อันดับสี่คือ เขตหรือที่ว่าการอำเภอ ร้อยละ 19.0 อันดับที่ห้าคือ สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ร้อยละ 16.9 อันดับที่หกคือ สำนักงานสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง ร้อยละ 16.0 และอันดับสุดท้ายคือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร้อยละ 13.1 โดยไม่แน่ใจว่าได้รับการแก้ไขปัญหา จากเคยร้องเรียนว่าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ ที่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 66.2                 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ คือถูกประจานทำให้อับอาย เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 28.5  อันดับที่สองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 14.4 อันดับที่สามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 13.1

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 243 คุณครูประจำชั้นถูกทวงหนี้จากหนี้ของพ่อแม่นักเรียน

        การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการบางรายต้องปิดกิจการ ส่งผลให้ลูกจ้างตกงาน ไม่มีรายได้ ความจำเป็นบังคับให้ต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่ายในครอบครัว ซึ่งการกู้เงินกับธนาคารลูกจ้างรายวัน ส่วนมากไม่สามารถกู้ได้ เพราะไม่มีหลักประกัน การกู้นอกระบบจึงเป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง ยิ่งปัจจุบันมีแอปพิเคชั่นสำหรับกู้เงินก็ยิ่งสะดวกรวดเร็วเข้าไปอีก ไม่ต้องมีหลักประกันใดๆ แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงที่อาจถูกทวงหนี้แบบผิดกฎหมาย หรือส่งผลกระทบกับคนรอบตัวลูกหนี้         แชมป์เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษาแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก วันหนึ่งมีสายโทรศัพท์จากเบอร์แปลกเข้ามา เขารับสายทางปลายสายสอบถามว่า เขาคือครูแชมป์ใช่ไหม เขาตอบว่าใช่ หลังจากนั้นปลายสายก็แจ้งมาว่า โทรศัพท์มาจากบริษัทให้กู้เงิน คุณชบาได้กู้เงินผ่านแอปกู้เงิน จำนวน 3,000 บาท ให้ครูแชมป์ไปบอกให้คุณชบาช่วยใช้หนี้ด้วย หรือให้ครูแชมป์ใช้หนี้แทนคุณชบา แต่เขาก็ปฏิเสธไปเพราะเขาไม่รู้จักคุณชบา         ต่อมาคุณครูจึงทราบว่า คุณชบาที่บริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้คือ แม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขานั้นเอง เขางงมากว่าบริษัทให้กู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้ที่เขาได้อย่างไร หลังจากนั้นเขาก็ได้รับโทรศัพท์ทวงหนี้จากการที่พ่อแม่ของนักเรียนประจำชั้นของเขาไปกู้เงินผ่านแอปกู้เงินออนไลน์ไม่ว่างเว้น เขาจึงโพสเฟซบุ๊กแจ้งผู้ปกครองนักเรียนว่า ได้โปรดอย่าให้เบอร์โทรศัพท์ของเขากับบริษัทให้กู้เงิน ปรากฏว่ามีคุณครูหลายคนเข้ามาคอมเมนท์ว่า ได้รับโทรศัพท์จากบริษัทให้กู้เงินจากแอปกู้เงินเหมือนกัน ครูแชมป์จึงปรึกษามาว่า เขาจะสามารถทำอย่างไรได้บ้าง แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องการทวงหนี้นั้น กฎหมายกำหนดว่าเจ้าหนี้ต้องทวงหนี้กับลูกหนี้เท่านั้น ห้ามทวงหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้เด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็น คนรู้จัก เพื่อนที่ทำงาน คนข้างบ้าน ฯลฯ เว้นแต่จะระบุไว้แต่แรกในสัญญา หากฝ่าฝืนมีโทษโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามบอกกับคนอื่นว่าลูกหนี้เป็นหนี้ ยกเว้น สามี ภรรยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ของลูกหนี้ และบุคคลอื่นดังกล่าวได้สอบถามผู้ทวงถามหนี้ถึงสาเหตุของการติดต่อ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558         แอปกู้เงินโทรศัพท์มาทวงหนี้กับครูแชมป์ซึ่งเป็นบุคคลอื่นไม่ใช่ลูกหนี้ และบอกกับคุณแชมป์ว่าแม่ของนักเรียนครูแชมป์เป็นหนี้กับตนเอง เป็นการทวงหนี้ผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ดังนั้นครูแชมป์สามารร้องเรียนการทวงหนี้ผิดกฎหมายได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องถิ่น ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง, สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง, สำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และแจ้งความดำเนินคดีได้ที่สถานีตำรวจทุกแห่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 บอกเลิกสัญญา Work & Travel เพราะโควิด-19

วัยรุ่นจำนวนไม่น้อยอยากไป Work & Travel ในต่างประเทศ เพราะนอกจากการทำงานระยะสั้น ๆ หาประสบการณ์แล้ว ยังได้ท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆ ด้วย เช่นเดียวกับคุณกันตพล ที่อยากให้ลูกชายได้เปิดประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศ จึงตัดสินใจส่งลูกชายเข้าโครงการ Work & Travel ในประเทศสหรัฐอเมริกากับบริษัทตัวแทนแห่งหนึ่งระยะเวลา 3 เดือน โดยคุณกันตพลได้ผ่อนค่าใช้จ่ายเป็นรายงวด รวมเป็นเงินทั้งหมดแล้วเกือบ 80,000 บาท         แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ทำให้กำหนดการการเดินทางไปทำงานและท่องเที่ยวที่อเมริกาของลูกชายคุณกันตพลต้องพับลง บริษัทที่จัดโครงการ Work & Travel ได้แจ้งกับคุณกันตพลว่า ไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น โดยทางบริษัทจะคืนเงินให้ประมาณ 50,000 บาท         คุณกันตพลทราบดังนั้น ก็คิดว่าเงินที่บริษัทคืนให้นั้นน้อยเกินไปหรือไม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุณกันตพลได้ชำระไปแล้วล่วงหน้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็นค่าโครงการ ค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่ามัดจำตั๋วเครื่องบิน การที่บริษัทหักเงินไปเกือบ 30,000 บาทนั้นดูไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย แนวทางการแก้ไขปัญหา                 กรณีที่บริษัทแจ้งว่าไม่สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสนั้น เท่ากับเป็นการบอกเลิกสัญญา ซึ่งจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคโดยทันที หากจะมีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน มีการแสดงเอกสารหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงให้ได้ทราบอย่างครบถ้วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็สามารถใช้สิทธิฟ้องร้องได้         ทั้งนี้ ผู้บริโภคเองสามารถบอกเลิกสัญญากับบริษัทที่จัดทำโครงการในลักษณะ Work & Travel ได้ โดยทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรส่งแบบไปรษณีย์ตอบรับ หากทางบริษัทเอเจนซี่จะหักค่าใช้จ่ายใดๆ ก็ต้องชี้แจงและแนบหลักฐานให้ผู้บริโภคได้รับทราบด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 แอปกู้เงิน !! อันตรายกว่าหนี้นอกระบบ

        วิกฤตโควิดทำให้หลายครอบครัวต้องดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัวต้องทำทุกทางทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงและเสียเปรียบ เรื่องร้องเรียนล่าสุดจากผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาดอกเบี้ยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันมีมากมายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย        ผู้บริโภครายนี้ได้รับคำแนะนำว่า ถ้าจะกู้เงินและไม่มีการตรวจสอบอะไรมากก็ให้ทดลองใช้แอ๊ปนี้ดู กู้ง่าย แต่ต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน ก่อนหน้านี้เคยทดลองของธนาคารต่างๆ แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้เลยทดลองดู         คนที่ไม่เคยกู้คงไม่รู้ว่าดอกเบี้ยโหดมาก ดอกเบี้ยมากกว่าหนี้นอกระบบหนี้อาบังรายวันเป็นร้อยเท่า ซึ่งคนกู้ในวิกฤตแบบนี้ก็ไม่เกี่ยงขอให้ได้เงินสดไปจัดการปัญหาใกล้ตั         เริ่มจากอนุมัติเงินกู้จำนวน 2,000 บาท ได้รับเงินโอนกลับมาเพียง 1,200 บาท ดอกเบี้ย 800 บาท และต้องจ่ายคืน 2,000 บาทภายใน 7 วัน หนี้นอกระบบอาบังทั้งหลายที่ว่าโหดหักทันทีเพียงร้อยละ 20         กู้ออนไลน์ผ่านแอ๊ปนี้คิดดอกเบี้ยร้อยละ 40 ภายใน 7 วัน แต่ในระบบไม่ได้เขียนว่าเป็นดอกเบี้ยแต่จะถูกทำให้เข้าใจว่า เป็นค่าออกแบบระบบในการกู้เงิน ค่าบริการและหากผิดนัดชำระหนี้ภายใน 7 วัน คิดดอกเบี้ยรายวันแบบทบต้นไปเรื่อยๆ         หากคิดดอกเบี้ยภายใน 1 ปี ดอกเบี้ยก็จะสูงมากถึง 2,085% ทั้งที่ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล กันยายน 2653 กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแก่ผู้บริโภคแต่ละรายรวมไม่เกิน 20,000 บาท และมีกำหนดระยะเวลาการชำระคืนสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลแต่ละสัญญาไม่เกิน 6 เดือน โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ในการกู้ยืม และกำหนดอัตราดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใด ๆ รวมกันไม่เกินร้อยละ 25 ต่อปี (https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2020/Pages/n6463.aspx)         นอกเหนือจากดอกเบี้ยโหด ผู้กู้ยืมจะต้องอนุญาตให้ระบบเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเพื่อน ญาติ หรือโทรศัพท์ทุกคนที่เรามีรูปภาพต่างๆ เพราะไม่อย่างนั้นจะกู้เงินไม่ได้ก็จะทำให้เกิดการทวงหนี้ผิดกฎหมายทวงหนี้กับสามีและญาติตอนตี 3 พรบ.ทวงหนี้ที่อนุญาตให้ทวงหนี้ไม่เกิน 6 โมงเย็น ไม่มีความหมาย         ระบบที่ออกแบบมาให้ง่ายกลับเล่นงานทุกอย่างที่ใกล้ตัว ถามใครที่มีทางออกไม่ตีบตัน คงไม่ต้องทำแบบนี้แน่นอน         สิ่งที่จะช่วยป้องกันผู้บริโภคคงต้องเริ่มตั้งแต่ระบบสวัสดิการทางสังคมแบบถ้วนหน้า เพื่อรับมือกับเหตุการณ์แบบวิกฤตโควิดในครั้งนี้  บำนาญประชาชนสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นความมั่นคงของทุกครอบครัวการเรียนรู้การบริหารจัดการเงินอย่างเป็นระบบของครอบครัวในทุกช่วงวัย         ทำให้อย่างไรให้ตรวจสอบแอ๊บได้ง่ายว่า ได้รับอนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือไม่ หรือถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมายหรือธปท.มีเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบว่า แอ๊ปไหนไม่ปลอดภัยหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศก่อนที่จะตัดสินใจกู้เงินออนไลน์ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบมากในปัจจุบัน         ส่วนตำรวจไซเบอร์ต้องทำงานเชิงรุกกวาดจับลงโทษจริงจังให้เข็ดอย่าคิดเพียงว่า จับแล้วเกิดได้อีกแต่ก็น่าจะดีกว่าไม่ทำอะไรและเป็นอันตรายกับผู้บริโภคมากขึ้นทุกวัน         สิ่งที่ผู้บริโภคต้องทำ คือช่วยกันแจ้งความแอ๊ปเหล่านี้แต่น่าสนใจคนร้องเรียนมีพี่ชายเป็นตำรวจ แต่กลับแนะนำน้องว่าอย่าไปแจ้งความเลยไม่น่าจะได้อะไรถึงเวลาผู้บริโภคต้องพึ่งตนเอง หวังว่าสภาองค์กรของผู้บริโภคที่กำลังจะเกิดขึ้นจะเป็นที่พึ่งเรื่องนี้อีกแรง 

อ่านเพิ่มเติม >