ฉบับที่ 262 ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด

        ปี 2565 เศรษฐกิจแย่ แอปกู้เงินออนไลน์หลอกลวงระบาดหนัก พบร้องเรียนมากสุด        2565 เป็นปีที่ผู้บริโภคไทยยังต้องรับมือกับยุคข้าวยากหมากแพง จากผลสำรวจของ EIC (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์เผยคนรายได้น้อยกระทบหนัก เหตุรายได้ไม่เพิ่ม แต่ค่าใช้จ่ายพุ่ง ทำให้อัตราการออมลดและเกือบครึ่งผิดนัดชำระหนี้ สอดรับกับปัญหาสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ประจำปี 2565 พบว่า ปัญหาการเงินการธนาคาร “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวงผู้บริโภค” พุ่งอันดับ 1 และเรื่องที่ปรึกษามากทุกวันคือ “ทำอย่างไรเมื่อไม่มีเงินจ่ายหนี้”         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคของปี 2565  (1 มกราคม - 30 พฤศจิกายน 65) จากจำนวนผู้ร้องเรียน 2,090 ราย พบ อันดับที่หนึ่ง ปัญหาการเงินการธนาคาร/ประกัน 487 เรื่อง (ร้อยละ 23.3)  อันดับที่สอง ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป 415   เรื่อง (ร้อยละ  19.9) และอันดับที่สาม ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม รวม  378  เรื่อง (ร้อยละ  18.1)           อันดับ 1 “ถูกแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์หลอกลวง”         ปัญหาที่พบมากที่สุด คือ ถูกแอพกู้เงินออนไลน์หลอก มีทั้งกรณีหลอกให้กู้แล้วได้เงินจริงแต่เรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และกรณีกู้เงินแต่ไม่ได้เงินแต่กลับต้องเสียเงิน ตามมาด้วยปัญหาหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และเช่าซื้อรถยนต์ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหลายรายไม่มีรายได้ ตกงาน ทำให้ไม่มีเงินชำระหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อต่างๆ ในปี 2565 ปัญหาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นปัญหายอดฮิตที่ผู้บริโภคเข้ามาปรึกษาที่มูลนิธิฯผ่านช่องทางต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะสอบถามประเด็นเป็นหนี้แล้วไม่มีเงินชำระต้องทำอย่างไร ได้รับหมายศาลผิดนัดชำระหนี้         สำหรับปัญหาประกัน กรณีการเคลมประกันโควิด ทั้งการเคลมประกันล่าช้า โดยลักษณะปัญหาคือ บริษัทประกันหลายที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ที่กำหนดให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยภายใน 15 วัน กรณียื่นเอกสารครบถ้วน หากผู้เอาประกันยื่นเอกสารไม่ครบถ้วนให้แจ้งภายในวันเดียวกับที่ตรวจพบและให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ยื่นเอกสารครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องบางรายส่งเอกสารครบถ้วนตามที่บริษัทแจ้ง ผ่านมา 3 เดือนยังไม่ได้รับค่ากรมธรรม์ และการที่บริษัทบอกเลิกสัญญา ยกเลิกประกันภัย การติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบ เจอ จ่าย จบ หรือ โควิด 2 in 1 ระบุจ่ายเงินเบี้ยประกันคืน 15 วัน ทั้งนี้บริษัทจะแจ้งผู้ทำประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโร่นา แบบข้างต้นว่า ทางบริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องบอกเลิกสัญญากรมธรรม์ แบบเจอ จ่าย จบ และ 2 In 1 สืบเนื่องจากภาวะการระบาดของโรคติดเชื้อโควิดที่มีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและมีผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงจนคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ อันดับ 2 “สินค้าชำรุด ไม่ตรงปก โปรโมชันหลอก”         ในขณะที่ผู้บริโภคเผชิญกับปัญหาสินค้าแพง ยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาสินค้าชำรุดบกพร่อง สินค้าไม่ตรงปก และโฆษณาเกินจริงอีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าที่สั่งทางออนไลน์ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งจะได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณาหรือแสดงไว้บนหน้าแพลตฟอร์ม ส่วนกรณีซื้อสินค้าจากร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ห้างค้าปลีก พบปัญหาการแสดงราคาผิดและการแสดงโปรโมชันไม่ถูกต้องหรือการจัดวางสินค้าไม่ตรงกับป้ายแสดงราคา ทำให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิด เช่น ที่ป้ายแจ้งว่าสินค้าซื้อ 1 แถม 1 แต่เมื่อนำสินค้าไปชำระเงินพนักงานกลับคิดราคาเต็มไม่มีการแถม เป็นต้น         ในส่วนของงานบริการ ผู้บริโภคพบปัญหาหลายด้าน อาทิ การถูกชักชวนให้ซื้อคอร์สบริการความงามต่างๆ หรือการเปิดบูธลวงขายเครื่องสำอางแพงเกินจริง การพบแอพขายสินค้าออนไลน์ที่ขายผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย และการหลอกซื้อบริการโปรแกรมทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้าแต่ถูกยกเลิกเที่ยวบินภายหลัง อันดับ 3 “คอลเซนเตอร์และ SMS หลอกลวง” ยังไม่หายไป         เมื่อปี 2564 ปัญหาเอสเอ็มเอสหลอกลวงจากบรรดามิจฉาชีพต่างๆ ครองอันดับหนึ่ง แต่เพราะการกระจายข่าวสารต่อสาธารณะมากขึ้น ทำให้ปัญหาลดความแรงลงมาแต่ไม่ใช่จะไม่มี ปีนี้ก็ยังเข้ามาเป็นอันดับที่ 3 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งประเด็น SMS สินเชื่อ , บริการกู้เงินออนไลน์ , SMS พนันออนไลน์ , SMS รบกวนหลอกให้กดลิงก์เพื่อล้วงข้อมูล/หลอกหลวงให้โอนเงินเข้าบัญชี                   สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคที่น่าสนใจอื่นๆ         บริการสุขภาพ  เรื่องสิทธิบัตรทอง เรื่องการคิดค่าบริการสูงไม่สมเหตุผลของสถานพยาบาลยังเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจน ตลอดจนเรื่องการฉีด/ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ยังมีผู้บริโภคบางส่วนสับสน         อาหาร ยา เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ผู้บริโภคยังเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาเกินจริง อาหารเสริมโฆษณาสรรพคุณรักษาโรค อาหารหมดอายุก่อนวันที่แสดงบนฉลาก อาหารที่พบเจอสิ่งแปลกปลอมซึ่งแสดงถึงความไม่สะอาดถูกสุขลักษณะหรือแม้แต่อาหารที่สั่งทางออนไลน์ได้ไม่ตรงกับภาพโฆษณา         บริการขนส่งและยานพาหนะ เมื่อแท็กซี่เริ่มกลับมาให้บริการปกติ สถานการณ์แท็กซี่บอกปฏิเสธผู้โดยสารก็กลับมาเพิ่มในเรื่องร้องเรียนมากขึ้น รวมถึงวินมอเตอร์ไซต์ที่เรียกเก็บค่าบริการเกินราคาที่แสดง ขณะเดียวกันปีนี้กรมทางหลวงเปิดบริการ M-flow ก็พบว่ามีผู้บริโภคจำนวนมากร้องเรียนกับทางมูลนิธิฯ ว่า         “หลังจากได้เริ่มประกาศใช้ระบบดังกล่าวมีกระแสจากผู้ใช้เส้นทางสับสนในการใช้ช่องทางให้ถูกต้อง เกิดการเบียดแทรกเปลี่ยนเลนช่วงก่อนเข้าด่านเก็บเงิน ส่งผลให้การจราจรหน้าด่านติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วนมากขึ้นกว่าเดิม อีกหนึ่งปัญหาที่พบคือ ผู้ใช้ถนนขาจรที่ไม่ค่อยได้สัญจรผ่านเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 หลายคนเลือกใช้ช่องผ่านด่านของ M-Flow ทั้งที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน แต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางต่างๆ ภายใน 2 วัน สำหรับรถที่ใช้บริการผ่าน M-Flow และไม่เสียค่าธรรมเนียมภายใน 2 วัน จะถูกปรับ 10 เท่า หรือคิดเป็นขั้นต่ำ 330 บาทต่อการผ่านทาง 1 ครั้ง ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกว่าค่าปรับดังกล่าวนั้นแพงไป เนื่องจากยังมีผู้ใช้รถใช้ถนนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้จักกับระบบ M-Flow อีกทั้งวิธีการประชาสัมพันธ์ของกรมทางหลวงที่ไม่สามารถกระจายข่าวสารได้มากพอ จึงสร้างความสับสนและปัญหาในมิติอื่นๆ ที่ตามมาอีกจำนวนมาก”         อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ร้องเรียนกรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินเนื่องจากสถานการณ์โควิดจนถึงปัจจุบันสายการบินยังไม่ได้ดำเนินการคืนแก่ผู้ร้อง ไม่ว่าจะเป็นสายการบินในประเทศและต่างประเทศ ปัญหาที่พบคือสายการบินไม่ยอมคืนเงินแก่ผู้โดยสารแจ้งข้อเสนอให้ผู้บริโภคเลือกเครดิตเดินทางภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทางเลือกดังกล่าวไม่ตอบโจทย์และเป็นธรรมเก็บผู้บริโภค เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19เป็นสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ผู้บริโภคบางรายไม่ต้องการรับเครดิตตามที่สายการบินเสนอแล้ว สายการบินที่ได้มีการแจ้งร้องเรียนมายังมูลนิธิฯอาทิ สายการบิน Thai VietJet สายการบิน Thai Lion Air เป็นต้น โดยสายการบินที่ถูกร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมากได้แก่ สายการบินแอร์เอเชียและแอร์เอเชียเอ็กซ์          อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย เรื่องร้องเรียนมากสุด ได้แก่ ร้องเรียนกรณีบริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโดไม่เสร็จตามสัญญาเมื่อยกเลิกสัญญาบริษัทฯกลับไม่ยอมคืนเงิน จากกรณีดังกล่าวมีผู้ร้องเดินทางมาร้องเรียนที่มูลนิธิฯด้วยตัวเองจำนวน 40 กว่ารายทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการ ไรส์ พหล - อินทามระ โครงการ ดิ เอ็ก ไฮด์อะเวย์ โครงการ The excella salle 17 โครงการ ดิ เอ็กเซลลาซาล 17 โดยทางมูลนิธิฯได้มีการเปิดรับเรื่องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายร้องเรียนและได้มีการเข้าพบกับตัวแทนบริษัทฯเพื่อสอบทางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยตัวแทนบริษัทฯชี้แจงว่า ทางบริษัทฯอยู่ระหว่างการคืนเงินแก่ผู้ร้องโดยขอแบ่งชำระเป็นงวดและทำบันทึกสัญญา ทั้งนี้ปรากฎว่าบริษัทฯไม่ได้มีการชำระเงินงวดแรกตามที่ตกลงไว้ มูลนิธิฯจึงจะดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ร้อง        พลังงานและสิ่งแวดล้อม สืบเนื่องจากราคาพลังงานปีนี้ค่อนข้างพุ่งสูง ทำให้เกิดการร้องเรียนเรื่องค่าไฟฟ้าสูงเกินจริง ร้องเรียนกรณีต้องการเรียกค่าเสียหายจากการที่การไฟฟ้านครหลวงถอดมิเตอร์แล้วมิเตอร์ได้รับความเสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กู้เงินผ่านแอปฯ เงินกู้ออนไลน์ มีแต่เสียกับเสีย

        ช่วงนี้การกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์เป็นที่นิยม เพราะว่าง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องใช้อะไรมาค้ำประกัน แถมแอปพวกนี้สามารถดาวน์โหลดได้ง่ายผ่าน Play Store (ที่โหลดแอปต่างๆ ในมือถือ) บางคนอาจเคยกู้เงินผ่านแอปมาแล้ว แอปเหล่านี้จริงๆ แล้วต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจกับธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย แต่แอปใน Play Store ส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งเป็นการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภค         ภูผา ณ ขณะนี้ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างรุนแรง ชักหน้าไม่ถึงหลัง สินค้าต่างๆ ทยอยขึ้นราคา ทั้งน้ำมัน หมู มาม่า เขาต้องการเงินมาใช้จ่ายเลยไปกู้เงินผ่านแอปเงินกู้ เขากู้เงิน 60,000 บาท แอปแจ้งว่าเขาต้องโอนเงินไปเป็นค่าดำเนินการก่อน 3,000 บาท เมื่อโอนไปแล้วทางแอปบอกว่ายังไม่สามารถถอนเงินได้ต้องโอนไปอีก 6,000 บาท พอโอนไปแล้วเขาบอกว่าบัญชีเงินเต็มแล้ว ต้องโอนเงินไปให้เขาเพิ่มอีก 6,000 บาท พอเป็นแบบนี้เขาก็ไม่มีเงินโอนเพิ่มให้แล้วจึงบอกไปว่าเขาไม่ต้องการกู้เงินแล้ว ขอให้แอปโอนเงินที่เขาโอนไปคืนมา แต่แอปบอกมาว่าถ้าจะยกเลิกต้องโอนเงินค่ายกเลิกมาอีก 8,000 บาท ถึงจะได้เงินที่โอนไปแล้วก่อนหน้านี้ 9,000 บาทคืน แต่เขาไม่มีเงินโอนไปให้แล้ว เขาขอเงินคืนแต่แอปไม่ให้คืน สรุปว่าสุดท้ายแล้วเขาไม่ได้เงินคืนเลย เขาถึงรู้ตัวว่าเขาโดนหลอกแน่ๆ จึงมาขอคำปรึกษามูลนิธิ          แนวทางการแก้ไขปัญหา        1. เก็บรวบรวมหลักฐาน เช่น ชื่อแอปพลิเคชัน, ข้อความแชทที่คุยกับแอป, หลักฐานการโอนเงิน        2. นำหลักฐานที่เก็บรวบรวมไว้ไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับแอป ที่สถานีตำรวจในท้องที่ภายใน 3 เดือนหลังจากเกิดเหตุการณ์ และขอให้ตำรวจทำเอกสารขออายัดบัญชีที่ได้โอนเงินไป        3. นำเอกสารอายัดบัญชีไปดำเนินเรื่องอายัดบัญชีธนาคารที่ธนาคารสาขาใดก็ได้        4. ร้องเรียนเรื่องที่เกิดขึ้นไปยังศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ธนาคารแห่งประเทศไทย) สายด่วน 1213 หรือศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โทร 1441

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 เสี่ยงเป็นหนี้ก้อนโต ถูกประจานให้อับอาย

        ใครที่กำลังคิดจะกู้เงินผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ ต้องตั้งสติและหาข้อมูลดีๆ อย่าหลงไปกับข้อความเชิญชวนฉาบฉวยที่ว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนาน ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน หรือติดแบล็กลิสต์ก็กู้ได้ เหล่านี้ เพราะคุณอาจตกเป็นเหยื่อของแอปกู้เงินเถื่อนเหมือนอย่างคุณนิดก็ได้         วันนั้นคุณนิดนั่งไถมือถือดูข้อมูลเรื่องเงินๆ ทองๆ ในเว็บไซต์หนึ่งอยู่ จู่ๆ ก็มีแอปกู้เงินเด้งขึ้นมาติดๆ กันหลายแอป เหมือนจะรู้เธอกำลังอยู่ในช่วงที่ชักหน้าไม่ถึงหลังพอดี เธอเลื่อนๆ ดู ก็ไปถูกใจที่เงื่อนไขของแอปกู้เงินชื่อ LOAN HUB ซึ่งโฆษณาว่าถ้ากู้ 5000-50000 บาท สามารถใช้คืนภายใน 91 วันได้ คุณนิดจึงลองกู้ไป 3,000 บาทก่อน แต่พอกู้ผ่านและเข้าไปกดยอมรับข้อบังคับต่าง ๆ ในแอปทั้งหมดแล้ว กลับมีเงินโอนเข้ามาให้เธออีกถึง 10 แอป แอปละ 1,200 บาท เธองงมาก เพราะตั้งใจจะกู้แค่แอปเดียวเท่านั้น         หลังจากนั้นไม่ถึง 7 วัน พนักงานของแอปโทรศัพท์มาแจ้งให้จ่ายหนี้คืนภายในวันที่ 7 ก่อนเที่ยง คุณนิดยอมรับว่าเธอขัดสนจริงๆ และได้ใช้เงินทั้งหมดไปแล้ว เธอจึงหาเงินมาจ่ายคืนให้ไม่ทัน เมื่อถึงวันครบกำหนด ทางแอปก็ส่งข้อความมาทวงหนี้พร้อมข่มขู่ว่า         “...ถ้าไม่ชำระยอดหนี้ให้ทางแอปเรา ทางเราจะเอาข้อมูลของคุณไปกู้เงินสัก 20 แอป กู้ไม่เยอะหรอก แอปละ 3000 บาท 20 แอปก็ 60,000 เตรียมตัวจ่ายหนี้แทนบริษัทได้เลย และเราจะเอาข้อมูลทั้งหมดแชร์ไปในโซเชียลและจะติดต่อไปหาญาติพี่น้องและเพื่อนทั้งหมด”         คุณนิดกลัวว่าจะต้องเป็นหนี้ก้อนโต แต่ก็มืดแปดด้าน ไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปคืนได้ทัน ต่อมาทางแอปกู้เงินก็ยังมาโพสต์ประจานเธออย่างเสียๆ หายๆ และหยาบคายอีก เธอจึงร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ในกรณีนี้ได้แนะให้คุณนิดใช้หนี้คืนเท่าที่ยืมมา ส่วนที่โดนแก๊งทวงหนี้ข่มขู่นั้นก็ให้รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแจ้งสถานที่เกิดเหตุ เช่น  โดนข่มขู่ทางออนไลน์ โทรศัพท์ หรือที่บ้าน ที่จะให้สถานีตำรวจท้องที่ช่วยดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด จากนั้นให้ติดต่อธนาคารเพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำข้อมูลธุรกรรมทางการเงินส่วนตัวไปใช้ และหากจำเป็นต้องกู้เงินครั้งต่อไป ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้         เช็คแอปฯ เงินกู้ แหล่งไหนได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ดูที่นี่ รายชื่อที่อยู่ Website สถาบันการเงิน และ Non-bank (bot.or.th)

อ่านเพิ่มเติม >

ผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน ในกรุงเทพมหานคร

        นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานครโดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,204 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 5 - 10 มีนาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากในช่วงเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจถึงแม้รัฐบาลจะมีโครงการต่างๆ ออกมาเพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนก็มีความจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ แล้วในช่วงต้นปี 2565 สถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซียและประเทศยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในส่วนของค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการกู้เงินในปัจจุบันนั้นสามารถทำได้โดยผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้การกู้ยืมเงินสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว โดยจะนำเสนอข้อมูล  ผ่านช่องทางทั้ง SMS  ไลน์ เฟสบุ๊ก โดยใช้ข้อความชวนเชื่อว่า กู้ง่าย ได้เร็ว ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เอกสารน้อย ไม่ต้องมีหลักประกัน โดยการกู้ยืมเงินผ่านสถาบันทางการเงินที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมไปถึงการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย ประชาชนที่มีความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาได้กู้ยืมเงิน แต่กับถูกซ้ำเติมจากการกู้ยืมเงินที่ผิดกฎหมาย สิ่งที่สะท้อนว่าปัญหาด้านเศรษฐกิจของประชาชนในประเทศเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาอันดับต้นๆของประเทศ การผิดชำระในการกู้ยืมเงินมีเพิ่มสูงขึ้น การทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสมต่อลูกหนี้ เช่น การใช้ถ้อยคำที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง การคุกคาม การขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือการทำให้เสียชื่อเสียง รวมถึงการให้ข้อมูลเท็จและการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่บุคคลอื่น ซึ่งผิดตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 เนื่องจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ.2558 ที่เป็นการปกป้องลูกหนี้จากการทวงถามหนี้ ในรูปแบบต่างๆ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการกู้ยืมเงินในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงินโดยนำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 35.8 อันดับสองคือ นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 31.8 อันดับสามคือ การกู้ยืมนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 27.5 อันดับสี่คือ นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ และ นำไปใช้เพื่อการศึกษา ร้อยละ 18.9 และอันดับห้าคือ นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ ร้อยละ 17.3          รูปแบบการกู้ยืมเงินของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล ร้อยละ 34.2 อันดับสองคือ การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย ร้อยละ 30 อันดับสามคือ การกู้ซื้อรถยนต์ ร้อยละ 23.1 อันดับสี่คือ การกู้ยืมจากกองทุน ร้อยละ 19.5 และอันดับห้าคือ การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ ร้อยละ 17.4          โดยหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน เป็นการกู้ยืมผ่านบริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 33.1 อันดับสองคือ ธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 31.4 อันดับสามคือ คนปล่อยกู้ ร้อยละ 21.9 อันดับสี่คือ บริษัทสินเชื่อเงินด่วน ร้อยละ 17 และอันดับห้าคือ แอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 14.4          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 61 รองลงมาคือ เคยกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 21.8 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.2 โดยได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทาง SMS มากที่สุด ร้อยละ 33.7 รองลงมาคือ ไลน์ ร้อยละ 31.7 และเฟสบุ๊ก ร้อยละ 30.8          กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 41 ได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 35.4 และทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ ร้อยละ 43.3          โดยทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 58.2 ทราบว่าแอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน  ร้อยละ 41.7          รวมไปถึง ทราบว่าสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ร้อยละ 44.1 และ  ทราบว่าสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฏหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์ ร้อยละ 50.5         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะพูดจาไม่สุภาพ เป็นอันดับหนึ่ง ร้อยละ 37 อันดับสองคือ คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง ร้อยละ 30.1 อันดับสามคือ ประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 21.5 อันดับสี่คือ จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก ร้อยละ 19.7 และอันดับห้าคือ การข่มขู่ ร้อยละ 17.4     โดยทราบว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร ร้อยละ 46.4 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ร้อยละ 47.2 ทราบว่าเจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 59.3 และทราบว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ร้อยละ 53.1         กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้ อันดับหนึ่ง คือถูกประจานทำให้อับอาย ร้อยละ 34 อันดับสองคือ ถูกส่งคนติดตาม ร้อยละ 23.3 อันดับสามคือ ถูกข่มขู่ ร้อยละ 14.5 อันดับสี่คือ ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 11 และอันดับห้าคือ อื่นๆ ร้อยละ 17.2   ส่วนที่ 1 ความเห็นเกี่ยวกับการกู้ยืมเงิน  1. เหตุผลที่ท่านทำการกู้ยืมเงิน (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     นำไปซื้อรถยนต์/รถจักรยานยนต์                ร้อยละ   35.8     นำไปซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   31.8     นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                          ร้อยละ   27.5     นำไปใช้เพื่อการศึกษา                             ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการหมุนเวียนในธุรกิจ               ร้อยละ   18.9     นำไปใช้ในการลงทุนทำธุรกิจ                   ร้อยละ   17.3     อื่นๆ                                                       ร้อยละ   0.2   2. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน ในรูปแบบใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     การกู้ยืมสินเชื่อส่วนบุคคล                        ร้อยละ   34.2     การกู้ซื้อบ้าน ที่พักอาศัย                          ร้อยละ   30     การกู้ซื้อรถยนต์                                      ร้อยละ   23.1     การกู้ยืมจากกองทุน                                ร้อยละ   19.5     การกู้ยืมจากหนี้นอกระบบ                        ร้อยละ   17.4     การกู้ยืมจากแอปพลิเคชันเงินกู้                ร้อยละ   14.5     การกู้ยืมจากสหกรณ์                               ร้อยละ   14.2               3. ท่านมีหนี้สินหรือการกู้ยืมเงิน จากผู้ให้กู้ยืมเงินในแบบใด (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     บริษัทไฟแนนซ์/ลิสซิ่ง                           ร้อยละ   33.1     ธนาคารพาณิชย์                                    ร้อยละ   31.4     คนปล่อยกู้                                            ร้อยละ   21.9     แอปพลิเคชันเงินกู้                                ร้อยละ   14.4     บริษัทสินเชื่อเงินด่วน                            ร้อยละ   17     สหกรณ์                                               ร้อยละ   11.1     กองทุน                                               ร้อยละ   10.4                   ------ 4. ท่านเคยกู้เงินผ่าน แอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     เคย                                            ร้อยละ   21.8     ไม่เคย                                        ร้อยละ   61     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   17.2   *****กลุ่มตัวอย่างที่ตอบข้อ 4.1 - 4.4 มีจำนวน 416 กลุ่มตัวอย่าง*****   4.1 ท่านได้รับข้อมูลของบริษัทกู้เงินผ่านแอปพลิเคชัน ผ่านทางช่องทางใด     SMS                              ร้อยละ   33.7     Line                               ร้อยละ   31.7     Facebook                      ร้อยละ   30.8     อื่นๆ                                ร้อยละ   3.8  4.2 ท่านได้รับสัญญาเงินกู้จากการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับสัญญาเงินกู้                           ร้อยละ   41     ไม่ได้รับสัญญาเงินกู้                       ร้อยละ  33.6      ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   25.4 4.3 ท่านได้รับเงินเต็มตามจำนวนที่ท่านได้กู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ได้รับเงินเต็มตามจำนวน                 ร้อยละ   35.4     ไม่ได้รับเงินเต็มตามจำนวน             ร้อยละ  32     ไม่แน่ใจ                                        ร้อยละ   32.6  4.4 ท่านทราบอัตราดอกเบี้ยในการกู้เงินผ่านแอปพลิเคชันเงินกู้ หรือไม่     ทราบ                                        ร้อยละ   43.3      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   28.8     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   27.9  5. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมาย จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวท่าน รูปถ่าย รูปบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร และรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์มือถือของท่าน     ทราบ                                        ร้อยละ   58.2      ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   27     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   14.8 6. ท่านทราบหรือไม่ว่า แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ผิดกฏหมายจะมีการคิดค่าธรรมเนียม 39% และคิดค่าอัตราดอกเบี้ย 0.05% ต่อวัน และให้ชําระเงินคืน ภายใน 7 วัน ยกตัวอย่าง ท่านกู้เงิน 2,000 บาท จะได้เงินกู้เพียง 1,220 บาท แต่ต้องชําระเงินคืน 2,007 บาท     ทราบ                                        ร้อยละ   41.7     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   39.5     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   18.8  7. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถตรวจสอบแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่เป็นผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินเชื่อจากธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย        ทราบ                                        ร้อยละ   44.1     ไม่ทราบ                                    ร้อยละ   35.3     ไม่แน่ใจ                                    ร้อยละ   20.6 8. ท่านทราบหรือไม่ว่า ท่านสามารถแจ้งความดำเนินคดีหากท่านตกเป็นผู้เสียหายจากแอปพลิเคชันเงินกู้ ที่ผิดกฎหมาย ที่สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) สายด่วน 1599 ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง สายด่วน 1359 หรือ ส่งเรื่องร้องเรียนออนไลน์     ทราบ                                         ร้อยละ   50.5     ไม่ทราบ                                     ร้อยละ   31.6     ไม่แน่ใจ                                     ร้อยละ   17.9 9. ท่านเคยถูกทวงถามหนี้ ในลักษณะใดบ้าง (ตอบได้มากว่า 1 ข้อ)     พูดจาไม่สุภาพ                                    ร้อยละ   37     คิดดอกเบี้ยแพงเกินจริง                       ร้อยละ   30.1     ประจานทำให้อับอาย                           ร้อยละ   21.5     การข่มขู่                                             ร้อยละ   17.4     จดหมาย/ไปรษณีย์เปิดผนึก                 ร้อยละ   19.7     ทวงหนี้กับญาติ                                  ร้อยละ   16.2     ส่งคนติดตาม                                     ร้อยละ   15.3     ทวงหนี้กับเพื่อน/หัวหน้างาน                ร้อยละ   11      10.      ท่านทราบหรือไม่ว่า การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายเป็นอย่างไร     ทราบ                                                 ร้อยละ   46.4     ไม่ทราบ                                             ร้อยละ   29.2     ไม่แน่ใจ                                             ร้อยละ   24.4  11.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ ทวงถามได้เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00-20.00 น. วันหยุดราชการ เวลา 8.00-18.00 น. สามารถทวงถามได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง     ทราบ                                          ร้อยละ   47.2     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   30.8     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22 12.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามทวงถามในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำอะไรที่นำไปสู่ความเสียหายต่อร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   59.3     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   18.7     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   22  13.      ท่านทราบหรือไม่ว่า เจ้าหนี้ห้ามใช้วาจาดูหมิ่น พร้อมทั้งห้ามเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมถึงห้ามติดต่อลูกหนี้โดยใช้ไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อถึงการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย     ทราบ                                          ร้อยละ   53.1     ไม่ทราบ                                      ร้อยละ   23.4     ไม่แน่ใจ                                      ร้อยละ   23.5       14.      ท่านได้ผลกระทบอะไรจากการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายจากเจ้าหนี้บ้าง      ถูกประจานทำให้อับอาย                       ร้อยละ   34     ถูกส่งคนติดตาม                                  ร้อยละ   23.3     อื่นๆ                                                   ร้อยละ   17.2     ถูกข่มขู่                                              ร้อยละ   14.5     ถูกทำร้ายร่างกาย                                ร้อยละ   11   ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์   1. เพศ               หญิง                        ร้อยละ   51.7     ชาย                         ร้อยละ   48.3   2. อายุ           36 – 40  ปี            ร้อยละ   23.7     31 – 35  ปี              ร้อยละ   23.1     26 – 30  ปี              ร้อยละ   16.5     41 -  45 ปี               ร้อยละ   16.3     46 -  50 ปี               ร้อยละ   9.7     20 – 25  ปี              ร้อยละ   7.6     มากกว่า 50 ปี          ร้อยละ   2.2     ต่ำกว่า 20 ปี            ร้อยละ   0.8     3. อาชีพ         พนักงานบริษัทเอกชน                                    ร้อยละ   26.2     ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ                 ร้อยละ   22.2     รับจ้างทั่วไป                                                                   ร้อยละ   17.9     พ่อค้า/แม่ค้า                                                                   ร้อยละ   14.6     แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                                               ร้อยละ   12     นักเรียน / นิสิต / นักศึกษา                                                ร้อยละ   7.1      

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 ความเคลื่อนไหวเดือนมีนาคม 2564

เตือนอย่าหลงเชื่อ "กู้เงินออนไลน์"         กระทรวงการคลัง เอาจริง เตรียมดำเนินคดีมิจฉาชีพแอบอ้างหลอกประชาชนให้ "กู้เงินออนไลน์" ก่อนเก็บค่าดำเนินการอมเงินหนีหาย โดยนางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างเป็นผู้ให้บริการทางการเงินผ่านสื่อดิจิทัล หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ โดยมีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชน ดังนี้         - ต้องทำสัญญากู้เงิน และต้องโอนเงินค่าดำเนินการ หรือค่าธรรมเนียมล่วงหน้าก่อน ซึ่งจะให้โอนเข้าบัญชีผู้ให้กู้เงิน ซึ่งเป็นชื่อบุคคลธรรมดา         - ผู้แอบอ้างบางราย อ้างว่าได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังแล้ว และมีการแสดงหนังสืออนุญาตที่ทำการปลอมแปลงขึ้นมา         - ผู้แอบอ้างได้เปลี่ยนชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นชื่อนิติบุคคลของผู้ที่แอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ         - ทำให้มีประชาชนหลายรายหลงเชื่อ พร้อมทั้งโอนเงินค่าดำเนินการหรือค่าธรรมเนียมไปให้ผู้แอบอ้าง และไม่ได้รับเงินกู้ตามความประสงค์ที่จะขอกู้ยืมเงินจึงขอเตือนประชาชนให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อภายใต้การกำกับที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ที่เว็บไซต์ www.1359.go.th และหากพบเบาะแสบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่แอบอ้าง สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สายด่วน 1359 หรือสามารถแจ้งความร้องทุกข์โดยตรงได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สายด่วน 1599 มพบ. เรียกร้องสายการบินคืนเงินค่าตั๋วโดยสาร ระบุพร้อมดำเนินคดี          จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลให้สายการบินยกเลิกเที่ยวบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณียังไม่ได้รับเงินค่าตั๋วโดยสารคืนจากสายการบิน จำนวน 228 ราย จึงได้ติดต่อประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 โดยสายการบินเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา 2 แบบ คือ หนึ่ง คืนเป็นเครดิตให้กับผู้บริโภคเพื่อเก็บไว้ใช้บริการในครั้งต่อไป หรือสอง คืนค่าตั๋วในกรณีที่ผู้บริโภคต้องการเงินคืน         อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564 ทำให้ทราบว่ายังมีผู้บริโภคที่ใช้บริการสายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท แอร์จอย สต๊อค และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ รวม 31 ราย ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 557,929.27 บาท ดังนั้นทางศูนย์ฯ จึงทำหนังสือถึงกระทรวงคมนาคม สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแต่พบว่ามีเพียงคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ที่ตั้งวงประชุมเพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องสายการบิน แต่ยังไม่มีความคืบหน้า         ทางมูลนิธิฯ จึงเตรียมดำเนินคดีเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค โดยนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า “ระยะเวลาที่ผ่านมาเกือบ 1 ปีเต็ม ยังมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับเงินคืน ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป และทราบว่าที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ช่วยจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan ให้ผู้ประกอบการสายการบินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สายการบินก็ควรคืนเงินให้กับผู้บริโภค หากยังคงเพิกเฉยก็คงต้องเดินหน้าฟ้องสายการบินต่อไป” เฉลิมพงษ์กล่าว         39 องค์กรร่วมฟ้องบอร์ด กขค. ขอเพิกถอนคำสั่งควบรวมซีพีเทสโก้          15 มีนาคม  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ 37 องค์กรผู้บริโภคและผู้บริโภคทั่วประเทศ รวมกันเป็นโจทก์ฟ้อง คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และ สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าต่อศาลปกครอง กรณีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ CP-Tesco อาจขัดกฎหมาย         จากการที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เสียงข้างมาก 4 ต่อ 3 มีมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำให้ภาคส่วนต่างๆ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านการอนุญาตครั้งนี้ โดยเห็นว่าจะทำให้เครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ในกลุ่มธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก โดยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 83.97% อีกทั้งเครือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารสำคัญหลายประเภท ทั้งวัตถุดิบ สินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งนำไปสู่การผูกขาดทางการค้า ทำให้กลไกการตลาดไม่เป็นอิสระ ส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดต่อ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในตลาดสินค้าและบริการต่าง ๆ ให้มีการแข่งขันมากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม และขัดต่อสิทธิของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการอย่างอิสระตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         โดยผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลไต่สวนคำร้องและขอให้ศาลมีคำสั่ง กำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ระงับการรวมธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ของบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ไว้ก่อนชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้บริโภคยินดีจ่ายเพิ่มไม่เกิน 20% กับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม         ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจพฤติกรรมและมุมมองความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม พบผู้บริโภคมีการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจช่วยลดการสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นงดหรือลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติกและหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย หรือแม้แต่การเดินทางโดยรถสาธารณะแทนรถส่วนตัว ทั้งนี้พบว่ากว่าร้อยละ 55 ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาที่แพงกว่าสินค้าปกติทั่วไประหว่าง 1 – 20 % ขึ้นอยู่กับชนิดของสินค้า รองลงมาคือร้อยละ 23 เต็มใจที่จะจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในราคาเท่าเดิม หรือไม่แตกต่างจากสินค้าปกติทั่วไป 6 วิธีจับสังเกตแชร์ลูกโซ่          กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง สคบ. และ กองปราบปราม สรุปข้อสังเกตเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อขบวนการแชร์ลูกโซ่ ดังนี้ 1.ผลตอบแทนสูงกว่าความเป็นจริง 2.เชียร์ให้ลงเงินเยอะๆ ไม่พูดถึงความเสี่ยง 3.เน้นหาเครือข่าย ยิ่งชวนคนมาลงทุนเยอะยิ่งได้เงินเยอะ 4.หว่านล้อม กดดันให้รีบตัดสินใจ 5.อ้างคนมีชื่อเสียงร่วมลงทุน และ 6.ตรวจสอบไม่ได้ ไม่มีหน่วยงานรับรอง

อ่านเพิ่มเติม >