ฉบับที่ 271 ถังก๊าซสนิมขึ้นเกรอะ เปลี่ยนกี่รอบ กี่รอบก็ให้แบบเดิม

       ถังก๊าซหุงต้มที่เราใช้อยู่ในครัวเรือนอยู่ทุกวันนี้ หากเห็นว่าถังมีสภาพเสื่อมโทรมชำรุด ก่อให้เกิดความรู้สึกว่าทุกครั้งที่ใช้งานว่ามันจะมีความปลอดภัยไหม เราก็จะต้องรีบใช้สิทธิผู้บริโภคขอเปลี่ยนถัง อย่าปล่อยให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบ        คุณพีพี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ปกติใช้บริการร้านก๊าซหุงต้มที่เป็นร้านประจำอยู่ร้านเดียวคือ ร้าน xxx ซึ่งอยู่ในซอยเดียวกันกับบ้านของคุณพีพี ครั้งนี้เมื่อก๊าซหมด คุณพีพีได้ไปติดต่อใช้บริการ แต่เมื่อพนักงานนำถังก๊าซมาส่งที่บ้าน เขาพบว่าได้ถังแก๊สเก่ามาก เก่าขนาดว่ามองไม่เห็นรายละเอียดความปลอดภัยของถังก๊าซที่สำคัญเลยทั้ง ชื่อบริษัทผู้ผลิต วัน เดือน ปี ที่ผลิตถังและหมดอายุ คุณพีพีจึงขอให้ทางร้านเปลี่ยนถังใหม่ให้ แต่ทางร้านก็ยังส่งถังก๊าซในสภาพ “อันตราย” กลับมาให้อีก และอีกสองสามครั้งเมื่อเรียกใช้บริการร้านก๊าซ เขาก็ได้รับถังที่ในสภาพทรุดโทรมทุกครั้ง คุณพีพีเกรงว่าปล่อยไว้แบบนี้ชีวิต บ้านเรือน ทรัพย์สินอาจจะไม่ปลอดภัย จึงร้องเรียนมายังมูลนิธิฯ เพื่อขอคำแนะนำว่าตนเองจะได้ก๊าซหุงต้มที่มีสภาพถังปลอดภัยได้อย่างไร        แนวทางการแก้ไขปัญหา        1.เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วได้ติดต่อประสานแจ้งไปยังกรมธุรกิจพลังงาน ให้เข้าตรวจสอบในร้านดังกล่าวและอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ        2.มูลนิธิได้เข้าไปสังเกตการณ์หน้าเพจของร้านดังกล่าว ร้านได้ประกาศข้อความว่า “ถังแก๊ส เป็นสินค้าหมุนเวียน เมื่อแก๊สหมดหลังการใช้งาน (ต้องสลับถัง) กับลูกค้าท่านอื่นๆ เป็นไปไม่ได้ ที่ลูกค้าจะได้รับถังสภาพใหม่ทุกครั้งในการสั่งซื้อ ร้านขอสงวนสิทธิ์ เลือกถังแก๊สให้ลูกค้าเอง การเลือกถังแก๊สถือเป็นสิทธิ์ขาด” ซึ่งกรณีนี้ มูลนิธิมองว่า ถึงแม้ร้านจะเป็นผู้เลือกถังก๊าซ แต่ถังก๊าซก็จะต้องมีลักษณะที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้            - ถังก๊าซ มีเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรับรองคุณภาพมีซีลปิดผนึกที่หัวถังในสภาพสมบูรณ์ พร้อมหมายเลขถังกำกับ และมีข้อความระบุชื่อบริษัท เดือน ปีที่ตรวจสอบถังครั้งสุดท้าย น้ำหนักถัง และน้ำหนักบรรจุอย่างชัดเจน รวมถึงตัวถังไม่มีรอยบุบ บวม หรือเป็นสนิท            - สายนำก๊าซ ต้องเป็นชนิดที่ใช้กับก๊าซหุงต้ม ไม่ทำจากยางหรือพลาสติก เพราะเมื่อถูกก๊าซหุงต้มจะละลายทำให้เกิดการรั่วไหลได้ ที่สำคัญต้องไม่หักงอง่าย ทนต่อแรงดันและการขูดขีด สามารถต่อกับลิ้นเปิด – ปิดได้สนิทและแน่นหนา            - เหล็กรัดสายยางส่งก๊าซ ต้องเลือกใช้ชนิดที่ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน และควรเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 2 ปี        3. ดังนั้นหากประชาชนได้รับบริการถังบรรจุก๊าซที่ไม่ได้มาตรฐานตามข้อ 2 สามารถแจ้งร้องเรียน พร้อมหลักฐานประกอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบมาตรฐานได้ที่ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด และ กองความปลอดภัยธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว กรมธุรกิจพลังงาน และ สำนักงานพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงานในทุกๆ จังหวัด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 เขียวพอหรือยัง

        ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีฟ้องร้องผู้ประกอบการว่าด้วยการ “แอบอ้างว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือทำให้สังคมเข้าใจว่าบริษัทมีแผนรักษ์โลก ทั้งที่ยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนและไม่มีผู้รับผิดชอบด้านนี้โดยตรง         รายงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยสถาบันวิจัย Grantham แห่งลอนดอนระบุว่าตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา มีการฟ้องคดีลักษณะดังกล่าวทั้งโดยรัฐบาลและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมรวมกันไม่ต่ำกว่า 2,340 คดี ตัวอย่างเช่น ในอเมริกา เทศมณฑลมัลท์โนมาซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุดในรัฐโอเรกอน ฟ้องบริษัทน้ำมันและถ่านหินอย่าง เชลล์ บีพี เชฟรอน โคโนโคฟิลิปส์ เอ็กซอนโมบิล และอีกไม่ต่ำกว่าห้าบริษัทเพื่อเรียกค่าเสียหาย 51,000 ล้านเหรียญ ฐานปล่อยมลพิษซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโดมความร้อนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 69 คน         บริษัท TotalEnergies ก็ถูกเทศบาลเมืองปารีสและนิวยอร์ก ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นและสมาคมต่างๆ ฟ้อง ด้วยข้อกล่าวหา “ชกไม่สมศักดิ์ศรี” ในการต่อสู้เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แม้แต่หน่วยงานกำกับดูแลก็หนีไม่พ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามูลนิธิด้านสิ่งแวดล้อมได้กล่าวหาหน่วยงานกำกับดูแลตลาดของอังกฤษว่ากระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ด้วยการอนุญาตให้บริษัทก๊าซและน้ำมันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน ทั้งที่ไม่สามารถอธิบายความเสี่ยงที่จะเกิดกับสภาพแวดล้อมได้         ไม่พียงธุรกิจด้านพลังงานเท่านั้น อุตสาหกรรมการบินก็กำลังถูกสังคมจับตามองเช่นกัน ไม่นานมานี้ผู้ประกอบการสายการบิน 17 บริษัท ถูกองค์กรผู้บริโภคแห่งสหภาพยุโรป (BEUC) ร้องเรียนเรื่องจริยธรรมการตลาด โฆษณาหรือสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัทเหล่านี้มักพูดถึง “โปรแกรมชดเชยการปล่อยมลพิษ” ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกผิดน้อยลงจากการเดินทางโดยเครื่องบิน แต่ไม่มีแผนชัดเจนว่าจะชดเชยอย่างไร การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปว่าด้วยการแข่งขันอย่างเป็นธรรมนั่นเอง         นอกจากนี้ BEUC ยังเรียกร้องให้สมาชิกสหภาพยุโรปและหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในแต่ละประเทศร่วมกันสอบสวนสิ่งที่เรียกว่า “ค่าธรรมเนียมสิ่งแวดล้อม” ที่บางสายการบินเรียกเก็บเพื่อเป็นการ “ชดเชยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเดินทางโดยเครื่องบิน” และยังเรียกร้องให้สายการบินคืนเงินดังกล่าวให้ผู้บริโภคด้วย         อีกตัวอย่างของการ “ฟอกเขียว” ในอุตสาหกรรมการบินคือกรณีของสายการบิน KLM ที่ชวนผู้บริโภคมาปลูกป่า หรือลงทุนในเชื้อเพลิงเครื่องบินที่ผลิตจากสาหร่าย น้ำมันใช้แล้ว ขยะทั่วไปและขยะการเกษตร ฯลฯ ที่นำมาผสมกับเชื้อเพลิงฟอสซิล จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของบริษัท เชื้อเพลิงที่ว่านี้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงร้อยละ 80 แต่องค์กรผู้บริโภคมีข้อมูลที่ระบุว่ายังอีกนานกว่าเชื้อเพลิงนี้จะพร้อมเข้าตลาดและกฎหมายยุโรปก็ตั้งเกณฑ์สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกไว้ต่ำมาก        ด้านวงการแฟชัน แม้จะทำได้ดีเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นในเรื่องการใช้น้ำอย่างประหยัดทั้งในขั้นตอนการผลิตและการใช้งาน เช่น การนำเทคโนโลยีผลิตเส้นใยต้านจุลชีพมาใช้ในการผลิตที่ทำให้เรามีกางเกงยีนส์ที่ใส่ซ้ำได้หลายสัปดาห์ก่อนจะนำไปซัก เท่ากับการประหยัดน้ำในช่วงชีวิตการใช้งานไปได้ถึงร้อยละ 70 เลยทีเดียว         แต่เป้าหมาย “การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน” ที่ทุกอย่างสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้โดยไม่มี “ขยะผ้า” นั้นยังอีกห่างไกล ปัจจุบันเสื้อผ้าที่ใช้แล้วหรือขายไม่ได้ยังคงถูกนำไปถมทิ้งในบ่อหรือกองขยะ มีเพียงปริมาณน้อยเท่านั้นที่ถูกนำไปใช้ทำเป็นถุงมือหรือบรรจุในเบาะทำโซฟา         ถึงแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องแบรนด์แฟชัน แต่ก็มีรายงานที่ระบุว่าการนำของเสีย/ของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมสิ่งทอมาใช้ใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนการ “ศึกษาวิจัย” เท่านั้น ยังต้องมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้แผนนี้เป็นจริงได้ เช่น การตั้งโรงงานรีไซเคิลศักยภาพสูงในพื้นที่ หรือแม้แต่การมีนโยบายรีไซเคิลที่สอดคล้องกันในแต่ละประเทศ ก็ใช่ว่าจะไม่มีหวัง หลายแบรนด์เสื้อผ้าได้เริ่มใช้พลังงานทางเลือกในการจัดส่งสินค้ามาตั้งแต่ปี 2020 เรื่องนี้ยืนยันได้จากข้อมูลของ Maersk บริษัทจัดส่งสินค้าทางทะเลรายใหญ่อันสองของโลก ที่ระบุว่าร้อยละ 26 ของตู้สินค้า 24,000 ตู้ที่บริษัทจัดส่งด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นตู้สินค้าแฟชัน นอกจากนี้บริษัทค้าปลีกอย่าง Amazon และ Ikea ก็ให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนมาใช้การขนส่งแบบไร้คาร์บอนให้ได้ภายในปี 2040 เช่นกัน         ที่น่าจับตาคือความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมที่จะลดการแอบอ้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนนานาชาติ I(International Sustainability Standards Board หรือ ISSB) ได้กำหนดมาตรฐาน “การรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ของผู้ประกอบการที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป         หนึ่งในมาตรฐานดังกล่าวคือ บริษัทต้องจัดให้บุคคลภายนอกเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเรื่องการปล่อยมลพิษ (แบบเดียวกับการตรวจสอบบัญชี) นอกจากนั้น “มาตรการลดโลกร้อน” ของบริษัทก็ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุด ไม่ใช่เรื่องที่รับผิดชอบโดยฝ่ายการตลาดหรือฝ่ายสื่อสารองค์กรเหมือนที่ผ่านมา         แม้จะเป็นเพียงมาตรฐาน “สมัครใจ” แต่ก็เพิ่มความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ทำให้นักลงทุนมีข้อมูลที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจด้วย  เอกสารอ้างอิง        https://www.straitstimes.com/world/europe/climate-washing-lawsuits-jump-as-more-activists-challenge-corporate-claims-report-shows         https://www.dutchnews.nl/2023/06/klm-climate-claims-targeted-in-eu-wide-consumer-complaint/        https://www.scmp.com/business/article/3226112/green-jeans-hong-kong-maker-says-global-brands-improving-sustainability-circular-denim-lifecycle-far         https://www.scmp.com/news/world/europe/article/3226189/fashion-brands-driving-demand-green-shipping-fuels-industry-giant-says         https://www.reuters.com/sustainability/new-global-rules-aim-clamp-down-corporate-greenwashing-2023-06-26/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 สงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ

เราบ่นกันมากว่าค่าไฟฟ้าแพงมาก จะเรียกว่าราคาแพงที่สุดตั้งแต่ตั้งประเทศไทยมาก็ว่าได้ จนในช่วงการเลือกตั้งที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองต่างก็เสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้บริโภคอย่างเราก็ต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป รวมทั้งต้องร่วมกำหนดนโยบายของผู้บริโภคเองด้วยปัญหาสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงก็คือนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องการกับการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติของคนไทยทุกคน ที่คนไทยเราได้ร่วมกันพิทักษ์รักษามาตลอดที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่า ร้อยละ 56 ของไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศไทยนั้น ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น เรามาพิจารณาข้อมูลเกี่ยวกับก๊าซฯที่เราใช้ในการผลิตไฟฟ้ากันสักหน่อย รวมทั้งที่มา และราคา ดังรูปข้างล่างนี้  ว่ากันตามรูปเลยนะครับผมขอสรุปว่า ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยมาจาก 3 แหล่งคือ(1)          จากประเทศไทยเราเอง(ทั้งในอ่าวไทยและบนบก) ราคาในเดือนธันวาคม 2565 เท่ากับ  239 บาทต่อล้านบีทียู เราเริ่มใช้ก๊าซในยุคที่เขาคุยว่า “โชติช่วงชัชวาล” ประมาณปี 2524(2)          จากประเทศเมียนมาร์ ผ่านท่อก๊าซฯ ราคา 375 บาทต่อล้านบีทียู  เริ่มนำเข้าตั้งแต่ปี 2543(3)          ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นำเข้าทางเรือ ราคา 599 บาทต่อล้านบีทียู เริ่มนำเข้าครั้งแรกปี 2553 และโปรดสังเกตว่า ราคาแปรผันมาก จาก 717 เป็น 599 บาทต่อล้านบีทียูในเวลาเดือนเดียว จากข้อมูลดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า ราคา LNG  สูงกว่าราคาในประเทศไทยมากกว่า 2 เท่าตัว ตรงนี้แหละครับที่เป็นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลว่า จะให้ใคร หรือกลุ่มไหนได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซทั้ง 3 แหล่งที่มีราคาแตกต่างกันมากขนาดนี้ผมไม่ทราบว่า ก่อนที่จะมีการนำเข้า LNG ทางกระทรวงพลังงานได้คิดราคาก๊าซจาก 2 แหล่งอย่างไร แต่หลังจากปี 2553 ที่ได้นำก๊าซทั้ง 3 แหล่ง ทางกระทรวงฯได้นำราคาก๊าซทั้ง 3 แหล่งมาเฉลี่ยกันเพื่อให้ ภาคการผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรงแยกก๊าซ(หรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และภาคยานยนต์(เอ็นจีวี) ใช้ในราคาที่เท่ากับค่าเฉลี่ย หรือที่เรียกว่า ราคา Pool Gasแต่โรงแยกก๊าซหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้ใช้ในราคาที่ผลิตจากประเทศไทย ถ้าในภาพข้างต้นก็ราคา 239 บาทต่อล้านบีทียู ในขณะที่การผลิตไฟฟ้าต้องจ่ายในราคา 376 บาทโดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงพลังงานพบว่า ก๊าซ 1 ล้านบีทียูสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 129 หน่วย ดังนั้น หากต้องใช้ Pool Gas ต้นทุนค่าก๊าซ(อย่างเดียว)จะเท่ากับ 376/129  หรือ 2.91 บาทต่อหน่วยแต่หากรัฐบาลมีนโยบายให้ก๊าซจากประเทศไทยซึ่งเป็นของคนไทย ให้คนไทยทั้งประเทศได้ใช้ก่อน โดยนำไปผลิตไฟฟ้าซึ่งมีจำนวนมากเพียงพอ ต้นทุนค่าก๊าซก็จะลดลงเหลือเท่ากับ 239/129 หรือ 1.85 บาทต่อหน่วยเห็นกันชัดๆเลยใช่ไหมครับว่า ต้นทุนนี้ลดลง 1.06 บาทต่อหน่วยแต่เนื่องจากไฟฟ้าที่คนไทยใช้ผลิตจากก๊าซ 56% ดังนั้น เมื่อเฉลี่ยทั้งประเทศแล้วค่าไฟฟ้าจะลดลงถึง 59 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ยังไม่ได้คิดถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าล้นเกินเลยที่นำไปสู่ค่าความพร้อมจ่ายทั้งที่ไม่ได้มีการเดินเครื่องผลิตเลยในปี 2565 คนไทยใช้ไฟฟ้าประมาณ 2 แสนล้านหน่วย หากรัฐบาลไทยมีการเปลี่ยนนโยบายว่า ก๊าซฯจากประเทศไทยให้คนไทยได้ใช้ผลิตไฟฟ้าก่อน ก็จะทำให้มูลค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึงประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ผลประโยชน์ตรงนี้ก็จะตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคแต่ปัจจุบันนี้เงินก้อนนี้ได้ไหลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าของธุรกิจปิโตรเคมี อันเป็นผลมาจากสงครามแย่งก๊าซธรรมชาติ นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 กระแสต่างแดน

ปรับปรุงมารยาท          หนึ่งในเรื่องร้องเรียนบริการแท็กซี่กรุงโซลอันดับต้นๆ คือ มารยาทของคนขับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดจาไม่ดีกับผู้โดยสาร เพื่อสร้างบรรยากาศและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริการขนส่งสาธารณะ เทศบาลกรุงโซลจึงออกระเบียบที่เข้มขึ้น ก่อนหน้านี้ค่าปรับอยู่ที่ 100,000 วอน (2,700 บาท) แต่ระเบียบใหม่เพิ่มค่าปรับเป็น 200,000 วอน และเพิ่มโทษให้ “หยุดขับ” เป็นเวลาหนึ่งเดือน รวมถึงอาจยกเลิกใบอนุญาตขับแท็กซีด้วย คนขับแท็กซีบุคคลยังต้องเข้ารับการอบรมจริยธรรมเป็นเวลา 4 ชั่วโมง และถูกตัดเงินช่วยเหลือรายเดือนจากเทศบาล (2,500 วอน หรือ 65 บาท) เป็นเวลาหกเดือน ส่วนคนขับที่สังกัดบริษัทจะถูกตัดเงินช่วยเหลือ (5,000 วอน) เป็นเวลา 2 เดือน หากถูกร้องเรียนเข้ามา 10 ครั้ง ผู้โดยสารก็มีโอกาสถูกปรับเช่นกัน ระเบียบที่เริ่มใช้เมื่อแปดปีที่แล้วกำหนดให้ผู้โดยสารที่อาเจียนในรถแท็กซีต้องจ่ายค่าปรับ 150,000 วอน เช่นกัน งดจ่ายยา         ข่าวครูอนุบาลในโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตนิวไทเปให้ยากล่อมประสาทกับเด็ก จนเด็กมีพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง นำไปสู่การรวมตัวของพ่อแม่ผู้ปกครองหน้าศาลากลางเมืองไทเป เพื่อเรียกร้องให้รัฐดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และกำหนดบทลงโทษให้หนักขึ้น สารที่ตรวจพบในเลือดของเด็กคือฟีโนบาร์บิทัล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง มักใช้ในการบรรเทาความเครียด ความวิตกกังวล คาดว่าเด็กน่าจะได้รับยาดังกล่าวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนที่ผ่านมา ข่าวนี้ส่งผลให้สังคมไต้หวันออกมาวิพากษ์วิจารณ์รวมถึง “บุลลี่” โรงเรียนและคุณครูอนุบาลอย่างหนัก และเกินเลยไปจากโรงเรียนและครูที่เป็นข่าว สหภาพโรงเรียนอนุบาลจึงออกมาตอบโต้ด้วยการเรียกร้องให้สมาชิกยกเลิกรับภาระดูแล “ให้ยา” กับนักเรียนที่ป่วย โดยขอให้ผู้ปกครองดูแลเด็กที่บ้านเอง รถไฟเชื่อมสัมพันธ์         ประชาชนและผู้อยู่อาศัยถาวรในฝรั่งเศสและเยอรมนีที่มีอายุระหว่าง 18 – 27 ปี สามารถลงทะเบียนขอรับ “ตั๋วรถไฟฟรี” เพื่อใช้เดินทางเป็นเวลา 7 วันโดยไม่กำหนดจำนวนเที่ยว ตั๋วดังกล่าวมีทั้งหมด 60,000 ใบ (แจกในเยอรมนี 30,000 ใบให้ไปขึ้นรถไฟเที่ยวในฝรั่งเศส และแจกในฝรั่งเศส 30,000 ใบเพื่อให้นำไปใช้เดินทางในเยอรมนี) ใครมาก่อนได้ก่อน โดยเขาจะส่งตั๋วในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ไปทางอีเมล โครงการดังกล่าวเป็นการฉลองความสัมพันธ์ 60 ปี ระหว่างสองประเทศ ตั้งแต่มีการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก และยังเป็นการรณรงค์ให้ผู้คนเดินทางระหว่างประเทศด้วยรถไฟ ซึ่งเป็นวิธีการเดินทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้มากขึ้นด้วย เงื่อนไขการใช้ตั๋วก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ไปได้ทุกที่ ขึ้นได้ทุกขบวน ไม่เว้นแม้แต่รถไฟความเร็วสูง เพียงแต่ถ้าขึ้นขบวนที่มี “ค่าธรรมเนียมการจอง” ก็ต้องจ่ายเอง   ไม่ง่ายตลอด          คณะกรรมการการค้าสหรัฐฯ หรือ Federal Trade Commission ฟ้องบริษัท Amazon ต่อศาลเมืองซีแอตเทิล ด้วยข้อกล่าวหาว่าบริษัท “หลอก” ให้ผู้บริโภคต่ออายุบริการ Amazon Prime โดยไม่ได้ให้ความยินยอม (เพราะไม่รู้ตัว) และยังออกแบบระบบให้การขอยกเลิกบริการเป็นเรื่องยาก FTC ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคเรื่องความซับซ้อนของระบบ ที่ต้องผ่าน 5 ขั้นตอนกว่าจะยกเลิกได้(หากใช้คอมพิวเตอร์) และ 6 ขั้นตอน (หากทำผ่านมือถือ) ทั้งนี้ FTC ต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย และขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามการปฏิบัติดังกล่าวในอนาคตด้วย บริษัทให้ข้อมูลว่าเขาตั้งใจออกแบบให้ทั้งการสมัคร ต่ออายุ และการยกเลิกบริการเป็นเรื่องง่ายเพื่อเอาใจสมาชิก และบอกว่าการฟ้องร้องดังกล่าวมีข้อมูลพื้นฐานที่ไม่ถูกต้อง Amazon Prime เป็นผู้ให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมีสมาชิกทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และมีรายได้ต่อปี 25,000 ล้านเหรียญ ค่าเสียหายหนักมาก        นักเคลื่อนไหวเรื่องโลกร้อนชาวอิตาลีสองคนจากองค์กร Last Generation ถูกศาลวาติกันสั่งให้จ่ายค่าเสียหาย 28,000 ยูโร (หนึ่งล้านกว่าบาท) หลังไปประท้วงชูป้าย “ไม่เอาก๊าซ ไม่เอาถ่านหิน” ใต้ประติมากรรมหินอ่อนโบราณ “เลโอคูนและลูกชาย” ที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีค่าปรับ 1,620 ยูโร (62,400 บาท) และโทษจำคุกรอลงอาญาอีกเก้าเดือน พวกเขาบอกว่าโทษดังกล่าวไม่ยุติธรรม เพราะพวกเขาไม่ได้แตะต้องตัวรูปปั้นเลย แค่พยายามใช้กาวเพียงเล็กน้อยติดเข้ากับฐานของรูปปั้นเท่านั้น และการกระทำของพวกเขาก็สะท้อนเจตนารมณ์ของพระสันตปาปาฟรานซิสที่ต้องการให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รูปปั้นดังกล่าวซึ่งตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์วาติกัน เป็นหนึ่งในงานประติมากรรมชิ้นเอกที่โด่งดังไปทั่วโลก เช่นเดียวกับประติมากรรมเดวิด และวีนัส  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นโยบายพรรคการเมืองด้านไฟฟ้า ประชาชนต้องรู้เท่าทัน

ช่วงนี้ใกล้การเลือกตั้งทั่วไป หลายพรรคการเมืองค่อยๆทยอยเสนอนโยบายด้านต่างๆ กันบ้างแล้ว แต่ส่วนมากผมยังไม่เห็นนโยบายที่เกี่ยวกับด้านพลังงาน  จนกระทั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566  พรรคไทยสร้างไทยได้นำเสนอในเวทีปราศรัยที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.50 บาทต่อหน่วย (จากปัจจุบันถ้ารวมภาษีด้วย  5.33 บาทต่อหน่วย)หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) ได้นำเสนอถึงสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงเพราะเรามีกำลังผลิตสำรองล้นเกิน หลายโรงไฟฟ้าแม้ไม่ได้เดินเครื่องเลยแต่ก็ยังได้รับเงิน  ซึ่งเป็นความจริงคุณหญิงสุดารัตน์ ได้เสนอความเห็นเพิ่มเติมพร้อมด้วยวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า “เป็นสัญญาทาสทำค่าไฟแพง ปล้นคนไทยทั้งประเทศ แบบนี้ส่อไปในทางทุจริตหรือไม่ พรรคไทยสร้างไทยจะนำประเด็นนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อยกเลิกสัญญาทาส ที่ปล้นประชาชนไปให้นายทุน ข้าราชการ นักการเมือง ไปเสวยสุข นักการเมืองบางคนเอาเงินที่โกงประชาชนไปใช้เป็นทุนในการซื้อเสียงเลือกตั้ง แล้วเข้ามาโกงพี่น้องประชาชนต่ออีกรอบ” (ไทยรัฐออนไลน์ 15 ม.ค. 66)ต้องขอขอบคุณพรรคไทยสร้างไทยที่ได้นำเสนอมาตรการแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศและเป็นภาระที่ไม่จำเป็นธรรมของประชาชนมายาวนานแล้วสภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยนำเสนอวิธีการแก้ปัญหากิจการไฟฟ้าอย่างเป็นระบบให้กับรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบและไม่ตอบสนองแต่อย่างใดในประเด็นเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินและเป็น “สัญญาทาส” แบบไม่ผลิตเลยก็ยังได้รับเงินจากผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เคยเสนอให้รัฐบาลเปิดเจรจากับคู่สัญญาเพื่อหาทางออกที่ดีกว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคเชื่อว่าการเจรจาที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนจะนำไปสู่ประสิทธิภาพที่ดีกว่า ที่เรียกว่าแบบ Win-Win แต่พรรคไทยสร้างไทยเลือกที่จะให้ “ศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง” เป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ก็ว่ากันตามความเชื่อของพรรคนะครับแต่สิ่งที่สังคมไทยควรหยิบมาพิจารณาเป็นบทเรียนก็คือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่วินิจฉัยด้วยเสียง 6 ต่อ 3 ว่า การที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า (ถึงร้อยละ 68 ของกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าทั้งหมด) เป็นการปฏิบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 56ผมว่านโยบายที่เกี่ยวกับไฟฟ้าที่พรรคการเมืองควรนำเสนอนอกเหนือจากเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินก็คือ การพึ่งตนเองด้านพลังงาน โดยการใช้เชื้อเพลิงที่มีอยู่ภายในประเทศเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้เรื่องกำลังผลิตสำรองล้นเกินเชื้อเพลิงที่ว่านี้ก็คือแสงอาทิตย์ โดยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง เพราะเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและราคาถูกลง สามารถคุ้มทุนได้ภายใน 6-8 ปีเรื่องนี้หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเล็กๆ ผลิตได้ไม่เป็นกอบเป็นกำ แต่ทราบไหมว่า ในปี 2021 ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนีซึ่งมีแสงแดดน้อยกว่าประเทศไทย สามารถผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้จำนวนกว่า 85,000 และ 48,000 ล้านหน่วย ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ)ในขณะที่ประเทศไทยเราสามารถผลิตได้เพียง 4,800 ล้านหน่วยเท่านั้น (จากจำนวนทั้งหมดที่ใช้ประมาณ 2 แสนล้านหน่วย) แต่ประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติกว่า 1.1 แสนล้านหน่วยต่อปี โดยที่การใช้ก๊าซธรรมชาตินอกจากจะถูกปั่นราคาให้สูงลิ่วจากสถาการณ์สงครามแล้ว ยังก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนด้วยกล่าวเฉพาะออสเตรเลียซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน แต่ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาไปแล้ว 3 ล้านหลัง โดยใช้ระบบหลักลบกลบหน่วย (Net Metering) ซึ่งเป็นระบบที่ประหยุดที่สุด ไม่ต้องติดมิเตอร์เพิ่มอีก 1 ตัว เป็นการแลกหน่วยไฟฟ้ากัน(ในราคาที่เท่ากัน)ระหว่างเจ้าของบ้านกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ตลอดอายุขัยของอุปกรณ์ 30 ปี ไม่ใช่แค่ 10 ปีที่กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ตามอำเภอใจด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนติดโซลาร์เซลล์ขนาดไม่เกิน 5 กิโลวัตต์จำนวน 2 ล้านหลัง ปีละ 5 แสนหลังเมื่อครบจำนวนแล้วผู้บริโภคจำนวนดังกล่าว หากติดโซลาร์เซลล์ขนาด 3.2 กิโลวัตต์ (ผลิตได้ปีละ 1,380 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ค่าไฟฟ้า 4.72 บาทต่อหน่วย) จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าปีละกว่า 42,000 ล้านบาทนโยบายแบบนี้สามารถตรวจสอบได้ และไม่ขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาล  หากเอาตามแนวทางพรรคไทยสร้างไทยเสนอ สมมุติว่าศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการทุจริต ประชาชนก็ไม่ได้อะไรเลย ทั้ง ๆที่ได้ตัดสินใจกาบัตรให้ไปแล้ว เหมือนกับหลายนโยบาย(ของหลายพรรค) ที่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเลยในคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562ความจริงแล้ว เรื่องนโยบายหักลบกลบหน่วย มติคณะรัฐมนตรีชุดรักษาการณ์โดยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ  ได้มีมติไปแล้วเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 พร้อมกับได้มีหนังสือสั่งการ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 6 หน่วยงานเพื่อเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว แต่จนป่านนี้ 4 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรคืบหน้าเลยมีคำสั่งใดที่ด่วนกว่า “ด่วนที่สุด” ไหมครับเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ประชาชาชนเราต้องรู้เท่าทันทั้งนักการเมืองและกลไกของระบบราชการทุกส่วนให้มากกว่าเดิม รวมทั้งทุกศาลด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับ 259 มาตัดยอดค่าไฟฟ้าแพงด้วยโซลาร์เซลล์บนหลังคากันเถอะ

ดังที่เราทราบกันดีแล้วว่า ในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคมปีนี้ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาไปแล้ว ด้วยเหตุผลว่าค่าเชื้อเพลิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา โดยค่า Ft ได้ขึ้นจาก 24.77 เป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย  และมีแนวโน้มที่ค่อนข้างแน่นอนว่าในช่วง 4 เดือนถัดไปของปี 2566 จะต้องขึ้นราคาอีก         ที่ผมใช้คำว่าค่อนข้างแน่นอนก็เพราะว่า ผลการคำนวณค่า Ft ในรอบ 4 เดือนสุดท้ายของปี 2565 จะต้องขึ้นเป็น 2 บาทกว่าต่อหน่วย ไม่ใช่ 93.43 สตางค์ แต่ที่ลดลงมาแค่นี้ก็เพราะรัฐบาลได้ผลักภาระชั่วคราวไปให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับไปก่อน ส่งผลให้ กฟผ.เป็นหนี้กว่า 8 หมื่นล้านบาท ต่อให้ราคาก๊าซฯกลับมาเป็นปกติ กฟผ.ก็ต้องเก็บเงินจากผู้บริโภคมาคืนอยู่ดี ค่าไฟฟ้าจึงไม่มีทางจะถูกลงในช่วงสั้นๆ         หากมองในช่วงยาว ๆ รัฐบาลได้อนุมัติให้ ปตท.ลงทุนก่อสร้างระบบนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งมีราคาแพงมาก ปัญหากิจการพลังงานไฟฟ้าไทยจึงค่อยๆรัดคอผู้บริโภคให้แน่นขึ้นๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นและแพงขึ้น ทั้งๆที่มีหนทางอื่นที่จะทำให้ถูกลงได้แต่รัฐบาลไม่เลือก         นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่สำคัญอื่นๆอีก ซึ่งผมจะไม่กล่าวถึงในที่นี้ แต่ขอมาชวนผู้บริโภคคิดเพื่อการพึ่งตนเอง ด้วยการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านตนเอง         เรามาดูค่าไฟฟ้าในบ้านเรากันก่อนครับ ซึ่งปกติผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ดู แต่เราชอบบ่นว่าค่าไฟฟ้าแพง ซึ่งก็เป็นความจริง ถ้าเราหยุดอยู่แค่นี้ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้น  แต่ถ้าเราสามารถค้นพบความจริงที่เราสามารถลงมือแก้ไขด้วยตนเองได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี         จากข้อมูลในตาราง(ดังภาพ) พบว่าค่าไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยเป็นอัตราก้าวหน้า นั้นคือยิ่งใช้มากอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยยิ่งแพงขึ้น  จากภาพอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับหน่วยที่ 401 ขึ้นไปจะเท่ากับ 5.73 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว)         จากการสอบถามเพื่อนๆที่เดินออกกำลังกายด้วยกันพบว่า แต่ละบ้านก็ใช้ไฟฟ้าเกิน 400 หน่วยต่อเดือน บางรายมากกว่า 600 หน่วยถึง 700 หน่วย ดังนั้น หากมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา จะทำให้ยอดจำนวนการใช้ไฟฟ้าของบ้านนั้นลดลงมา ส่วนที่ลดลงจะเป็นส่วนที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสูง ผมขอสมมุติว่าอัตราค่าไฟฟ้าส่วนที่เป็นยอดเท่ากับ 5.60 บาทต่อหน่วย เรามาดูกันว่า ผลจากการติดโซลาร์เซลล์จะคุ้มทุนภายในกี่ปี วิธีการคิดจุดคุ้มทุนอย่างง่าย         เนื่องจากผลตอบแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์มีหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของอุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แผงโซลาร์ อินเวิตเตอร์ อุปกรณ์ยึด สายฟฟ้า ค่าการติดตั้ง จำนวนกิโลวัตต์ที่ติด ทิศทางการรับแสง ระยะเวลาและเงื่อนไขการประกัน เป็นต้น        สมมุติว่า ขนาด 3 กิโลวัตต์ ราคารวม 125,000 บาท (สมมุติว่าเท่ากับ A บาท) สามารถผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วยต่อกิโลวัตต์ ตลอด 25 ปี สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 97,500 หน่วย (สมมุติว่าเท่ากับ B)         ดังนั้น ต้นทุนเฉลี่ยของค่าไฟฟ้าที่ผลิตได้ตลอด 25 ปี เท่ากับ A หารด้วย B ซึ่งเท่ากับ 1.28 บาทต่อหน่วย โดยไม่คิดค่าดอกเบี้ยจากการลงทุน ไม่คิดค่าสึกหรอและการบำรุงรักษาซึ่งมีน้อยมาก         คราวนี้มาคิดเรื่องจุดคุ้มทุน สมมุติว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไปแทนที่ค่าไฟฟ้าที่เราต้องซื้อจากการไฟฟ้า 5.60 บาทต่อหน่วย มูลค่าดังกล่าวเท่ากับ 21,840 บาทต่อปี (สมมุติว่าเท่ากับ C) ระยะเวลาคุ้มทุนจะเท่ากับ A หารด้วย C ซึ่งเท่ากับ 5.7 ปี หรือ 5 ปี 8 เดือน  โดยที่การใช้งานได้นานอีก 19 ปีกว่า ถ้าคิดเป็นผลตอบแทนต่อปีก็ประมาณ 13%  ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในขณะนี้ไม่ถึง 1%         ที่ผมนำมาคิดทั้งหมดนี้เป็นเรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์เป็นการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดน้ำเสีย เพิ่มการจ้างงาน ซึ่งทั้งโลกกำลังวิกฤต  สนใจไหมครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 “คดีที่ยังไม่ปิด” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 10 คดี

        หลายคดีใช้เวลาในการตัดสินคดีที่ค่อนข้างนานและมีขั้นตอนมาก อาจทำให้ผู้บริโภคที่รอคอยบทสรุปของคดีไม่รู้ว่าอยู่ในขั้นตอนใดแล้ว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเปิดแฟ้มอัพเดตสถานการณ์ล่าสุดของคดีมูลนิธิฯ 10 คดี ที่ยังไม่ปิดคดีหรือศาลยังไม่ได้พิพากษาถึงที่สุด เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าในแต่ละคดีว่าอยู่ในขั้นตอนไหนบ้าง1.คดีค่าทางด่วนโทลเวย์         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับประชาชนผู้บริโภค ยื่นฟ้องกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งที่ 3/2550 ที่มีสาระสำคัญว่า ให้บริษัทฯ ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ขยายอายุสัมปทานออกไปจากเดิมอีก 27 ปี นับจากวันที่ทำสัญญา ฯลฯ พร้อมทั้งขอให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งในวันที่ 18 สิงหาคม 2558 ศาลปกครองกลางพิพากษาว่า ให้เพิกถอนสัญญาสัมปทานทางหลวงฯ และมติคณะรัฐมนตรีที่แก้ไขสัญญาสัมปทานเอื้อประโยชน์ให้เอกชน         หลังจากนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ประกาศขึ้นราคาค่าผ่านทางด่านดอนเมืองโทล์เวย์ ตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2562 ราคาใหม่ รถ 4 ล้อ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถมากกว่า 4 ล้อ จาก 95 บาท เป็น 125 บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาท ทุกๆ 5 ปี ตลอดอายุสัมปทาน โดยบริษัทฯ อ้างสิทธิที่ทำได้ เนื่องจากรัฐผิดสัญญากับบริษัทฯ แต่แท้จริงแล้วบริษัทไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการโดยอ้างอิงมติได้อีกต่อไป คำพิพากษาของศาลปกครองกลางมีผลผูกพันหรือเพิกถอนมติไปแล้ว จะอ้างว่าคำสั่งยังไม่ถึงที่สุดแล้วใช้มตินั้นดำเนินการต่อไปนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยขอให้หยุดเก็บเงินค่าผ่านทางส่วนที่เพิ่มขึ้นตามสัญญาสัมปทานฯ ไว้ชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด แต่ศาลไม่รับคำขอดังกล่าว โดยพิจารณาว่า เป็นความเดือดร้อนที่หลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากยังมีทางหลวงแผ่นดินอยู่ใต้ทางยกระดับที่สามารถใช้จราจรไปมาได้         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด โดยวันที่ 29 เมษายน 2564 มูลนิธิฯ ส่งหนังสือเร่งรัดติดตามผลการดำเนินคดีถึงประธานศาลปกครองสูงสุด และได้รับการตอบรับว่าแจ้งประธานศาลปกครองสูงสุดและให้ส่งหนังสือถึงตุลาการเจ้าของสำนวนแล้ว2.คดีแคลิฟอร์เนียว้าว             บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กพีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) ปิดสถานบริการ โดยไม่แจ้งสมาชิกล่วงหน้า ทำให้สมาชิกรายปีและสมาชิกตลอดชีพที่ชำระเงินล่วงหน้าไปแล้วได้รับความเดือดร้อน จึงดำเนินการฟ้องคดีฉ้อโกงประชาชน และให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงิน และอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิดมูลฐาน มูลค่ารวมกว่า 88 ล้านบาท และให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอคุ้มครองสิทธิจากการกระทำความผิดมูลฐาน เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้เสียหายยื่นต่อศาล และให้ศาลมีคำสั่งให้นำทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดคืนให้แก่ผู้เสียหายในความผิดมูลฐานต่อไป         ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง และให้ไต่สวนมูลฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 นายแอริค มาร์ค เลอวีน ต่อมาพบปัญหาโจทก์ว่าไม่สามารถหาที่อยู่ของจำเลยในประเทศแคนาดาเพื่อจัดส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง ศาลจึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่ศาลแทนและประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 24 สิงหาคม 2563 ศาลนัดสอบคำให้การจำเลย แต่จำเลยไม่มาศาล ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งเลื่อนคดีไม่มีกำหนดและออกหมายจับ มีอายุความ 10 ปี แต่เนื่องจากคดีนี้นับจากการเริ่มกระทำความผิดทำให้หมายจับมีอายุความเหลืออยู่ 3 ปี และได้คัดสำเนาหมายจับทั้งหมด 5 ใบ ส่งไปถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานอัยการเพื่อตรวจสอบการเดินทางออกนอกประเทศของจำเลย ต้องจับตัวจำเลยก่อนจึงจะพิพากษาได้ แต่ถ้ายังจับไม่ได้ภายใน 3 ปีถือว่าคดีจบลง3.คดีกระทะโคเรียคิง         เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ที่นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 72 คน ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท จากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม โดยจำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว และโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์แล้ว         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาชั้นไต่สวนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม4.คดีเพิร์ลลี่         ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทบำรุงผิวกายยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ ได้แก่ เพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินแทนซีฟ ไวท์ โลชั่น พลัส ได้โฆษณาชวนเชื่อกับประชาชนทั่วไปว่า เมื่อใช้แล้วจะผิวขาว แต่เมื่อผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์เป็นประจำ กลับพบว่ามีอาการปวดแสบ ปวดร้อน มีรอยแตกลาย เป็นแผลเป็นบริเวณแขน และขา แพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่า ผิวหนังแตกลายเกิดจากการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสเตียรอยด์ และไม่สามารถรักษาผิวหนังให้กลับมาเป็นปกติได้         วันที่ 18 กันยายน 2560 ผู้เสียหายยื่นฟ้องนางอมรรัตน์ ก่อเกียรติศิริกุล ผู้ผลิตโลชั่นทาผิวยี่ห้อ ‘เพิร์ลลี่’ เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายตามพ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 และศาลอุทธรณ์ภาค 9  อนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม         วันที่ 27 ธันวาคม 2561 หลังจากดำเนินคดีในศาลชั้นต้นเป็นเวลา 1 ปี 3 เดือน ก็ได้พิพากษาให้ชำระเงิน แก่โจทก์ 4 คน และสมาชิกกลุ่มกว่า 40 คน รวมทั้งหมดประมาณ 40 ล้านบาท และห้ามมิให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น และเพิร์ลลี่ อินเทนซิไวท์ โลชั่น พลัส และให้ชำระเงินรางวัลจำนวน 50,000 บาท ให้แก่ทนายความฝ่ายโจทก์ และค่าทนายจำนวน 30,000 บาท ให้ใช้เท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โจทก์จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาในประเด็นเงินรางวัลทนายความที่ศาลกำหนดให้ต่ำเกินไป        วันที่ 26 มกราคม 2564 ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งในชั้นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ว่า หากจำเลยประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อไป ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลและค่าฤชาธรรมเนียม มาชำระค่าศาลชั้นต้น ภายใน 15 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษา         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2565 การจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาให้วางค่าธรรมเนียมศาล เพราะจำเลยยื่นฎีกา แต่ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกานั้น ศาลอุทธรณ์สั่งให้ศาลชั้นต้นนำฎีกาเรื่องค่าธรรมเนียมศาลของจำเลย ไปให้ศาลฎีกาพิจารณาต่อ5.คดีฟ้องกลุ่ม ดีแทคและเอไอเอส คิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาที         วันที่ 15 พฤษภาคม 2561 กลุ่มผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC) จำนวน 3 คดี เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการคำนวณค่าบริการแบบปัดเศษวินาทีทุกครั้งของการโทร ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบ จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินจริง ทั้งแบบระบบรายเดือน และ/หรือระบบเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 23 เดือน เป็นเงินคนละ 465 บาท ต่อหนึ่งเลขหมายโทรศัพท์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และขอศาลกำหนดค่าเสียหายเชิงลงโทษเป็นเงินจำนวน 5 เท่าของความเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ค่ายมือถือ TRUE ขอไกล่เกลี่ยตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วน AIS และ DTAC แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่มคดีกลุ่มเอไอเอส         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม ให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 21 มีนาคม 2565คดีกลุ่มดีแทค         ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นยกฟ้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปอย่างคดีสามัญ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 1 มีนาคม 25656.คดีอาญาทุจริต ฟ้องคณะรัฐมนตรี (คดีท่อก๊าซ ปตท.)         วันที่ 14 ธันวาคม 2550 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นร่วมผู้ฟ้องคดีปกครองเรื่อง พิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา ต่อผู้ถูกฟ้องคดี 4 ราย คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ให้ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550         วันที่ 2 เมษายน 2558 ยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้ตรวจสอบว่า มีการปฏิบัติหน้าที่ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ โดย คตง. มีมติว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่ได้แบ่งแยกทรัพย์สินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด และไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายมากกว่า 32,613.45 ล้านบาท โดยเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องไม่เสนอบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินให้คณะรัฐมนตรี และการเสนอรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษาของบริษัท มีเนื้อหาเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริง         วันที่ 5 มิถุนายน 2561 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งแยกทรัพย์สิน ได้แก่ นายพรชัย ประภา, นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, นายอำนวย ปรีมนวงศ์, นายนิพิธ อริยวงศ์, นายจตุพรหรือธนพร พรหมพันธุ์, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายสุพจน์  เหล่าสุอาภา ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการแบ่งแยกทรัพย์สินของปตท.ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ขณะนี้อยู่ในศาลอุทธรณ์อาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้เสียหาย และดำเนินการไต่สวนมูลฟ้องต่อไปวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ศาลอาญามีคำสั่งให้รอผลการดำเนินการคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แล้วแถลงคำชี้แจงของป.ป.ช. กับศาลในวันที่ 5 ตุลาคม 2564         ความคืบหน้าล่าสุด นัดพร้อมเพื่อฟังผลการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 25657.คดีผู้เสียเสียหายจากการใช้สารเคมีพาราควอต         วันที่ 20 ธันวาคม 2562 กลุ่มเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีส่วนผสมของ สารพาราควอตไดคลอไรด์ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “ก๊อกโซน” เมื่อใช้แล้วได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ต้องทุกข์ทรมานจากการรักษาโรคเนื้อเน่า สูญเสียอวัยะ หรือถึงแก่ความตาย จึงได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายให้โจทก์ 2 ราย และสมาชิกกลุ่ม พร้อมทั้งให้จำเลยใช้ค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้น         ความคืบหน้าล่าสุด วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ศาลอุทธรณ์ ภาค 4 มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่ม และให้วางเงินค่าใช้จ่ายประกาศหนังสือพิมพ์ โดยนัดพร้อมครั้งต่อไป วันที่ 28 มกราคม 25658.คดีอาญาที่นอนยางพารา         ผู้เสียหายจากกรณีซื้อสินค้า ที่นอนยางพารา หมอนยางพารา ปลอกหมอน และอื่นๆ ผ่านเฟซบุ๊คเพจ ชื่อ น้องของขวัญนำเข้าสินค้าราคาโรงงาน, ร้านถุงเงิน, Bed room, Perfect room, Best slumber ที่นอนในฝัน, Best slumber ซึ่งผู้เสียหายหลงเชื่อโฆษณาสั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้า โดยโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารที่แต่ละเพจแจ้ง ซึ่งบางเพจเป็นชื่อบุคคลเดียวกัน ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความ และพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และทุจริตหลอกหลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย ฟ้องคดีทั้งหมด 5 คดี ความคืบหน้าล่าสุด        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1132/2563 อยู่ระหว่างเตรียมยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยพิจารณาว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงผิดสัญญาทางแพ่ง คือไม่สามารถส่งสินค้าได้ตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากตกลงซื้อขาย ไม่ใช่การหลอกหลวงอันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1341/2563 นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย และนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 24 เมษายน 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.3995/2563 กำหนดนัดสืบพยานโจทก์-จำเลย ในวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.590/2563  ศาลพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 และยื่นอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564        - คดีหมายเลขดำที่ อ.1566/2563 เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา ของนัดในวันที่ 14 มกราคม 2565 9.คดีปกครองเพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า         เนื่องจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีคำสั่งอนุญาตให้รวมธุรกิจ ระหว่างซีพีและเทสโก้ โลตัส ทำให้รวมเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกันที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างสมบูรณ์ และมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าร้อยละ 83.97 ทำให้ผู้บริโภคขาดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าได้อย่างอิสระ และทำให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดร้านค้าส่ง รวมถึงห้างสรรพสินค้า ที่กำลังจะเข้าสู้ตลาดในอนาคต ไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมวันที่ 15 มีนาคม 2564 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ 36 องค์กรผู้บริโภค รวมทั้งผู้บริโภครายบุคคล ร่วมกันยื่นฟ้อง กขค. และศาลเรียกให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัท โลตัสส์ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม         ความคืบหน้าล่าสุด ผู้ฟ้องคดียื่นคำคัดค้านคำให้การของกขค. ซีพีและเทสโก้ และวันที่ 21 มิถุนายน 2564 ศาลมีคำสั่งให้รวมสำนวนคดีของผู้ประกอบการรายย่อยที่ฟ้องในประเด็นเดียวกันเข้าด้วยกัน แล้วพิจารณาพิพากษารวมกันไป10.คดีธนาคารออมสินฟ้องผู้เสียหายสามล้อ         กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างสาธารณะ จำนวน 38 ราย ถูกสหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด ยื่นฟ้องกรณีแจ้งความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน, แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนฯ และโกงเจ้าหนี้ ซึ่งความเป็นมานั้น กลุ่มผู้ขับรถสามล้อรับจ้างได้จดทะเบียนสิทธิรถยนต์สามล้อรับจ้างใหม่ และต้องการซื้อรถสามล้อ จึงติดต่อกับสหกรณ์บริการจักรเพชร เพื่อให้จัดหารถยนต์สามล้อและแหล่งเงินกู้ ซึ่งสหกรณ์ฯ ได้ติดต่อให้ผู้ขับรถสามล้อรับจ้าง เข้าไปทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน กับเจ้าหน้าที่ของธนาคารออมสิน โดยจัดเตรียมเอกสารจำนวนมากให้ลงชื่อ ตามที่เจ้าหน้าที่ชี้บอก ทำให้ไม่รู้ว่าแต่ละคนกู้เงินจำนวนเท่าไร รู้แค่สรุปการจ่ายสินเชื่อของสหกรณ์ฯ ค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ รวมเป็นเงิน 345,000 บาท แต่ภายหลังผู้ขับรถสามล้อรับจ้างถูกธนาคารออมสินฟ้องให้คืนเงิน ซึ่งระบุยอดหนี้เงินกู้ของแต่ละคนไม่เท่ากัน มีตั้งแต่ 400,000 ถึง 500,000 บาท ซึ่งสูงกว่าที่สหกรณ์แจ้งไว้ จึงได้จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง พบว่าเงินกู้จากธนาคารออมสิน ได้โอนให้กับสหกรณ์ฯ และเมื่อนำสัญญาหนี้กู้ยืมเงินของธนาคาร มาหักกับค่ารถยนต์สามล้อและค่าธรรมเนียมของสหกรณ์ จำนวน 345,000 บาท มีส่วนต่างอยู่ที่สหกรณ์รายละ 55,000 ถึง 155,000 บาท         ความคืบหน้าล่าสุด อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และจำเลย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 224 ลดโลกร้อนด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

        เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักกับคำว่าภาวะโลกร้อน ซึ่งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนนั้นมีหลายอย่าง เช่น ธารน้ำแข็งละลายทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ ความเสี่ยงที่จะเกิดสภาพอากาศรุนแรง เช่น คลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และอุณหภูมิทั่วโลกที่กำลังสูงขึ้น         และการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศของทั่วโลกก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีผลทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างที่เป็นอยู่         จากการรายงานข่าวเมื่อสิ้นปี 2561 ที่ระบุว่าทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมากกว่า 37,100 ล้านตัน ซึ่งถือว่ามีปริมาณมากที่สุดตั้งแต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมา และจากข้อมูลจาก Greenpeace เมื่อเดือนสิงหาคม 2562 รายงานว่าอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกระหว่างเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมปีนี้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบอุณหภูมิเฉลี่ยในต้นศตวรรษที่ 19         จะเห็นได้ว่าระบบนิเวศบนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ด้วยเหตุนี้ทุกประเทศทั่วโลกจึงต้องกระตือรือร้นและพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศซึ่งน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของมนุษย์ในขณะนี้         สำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า CF Calculator ที่มีคุณสมบัติในการช่วยคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หมายถึง ปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก) โดยผู้ที่ใช้แอปพลิเคชันนี้จะสามารถทราบถึงปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประจำวัน และจะทำให้ผู้ใช้แอปพลิเคชันเรียนรู้ในการเปลี่ยนรูปแบบการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนวิธีการบริโภค เพื่อช่วยลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีส่วนทำให้เกิดปัญหาโลกร้อนได้         ภายในแอปพลิเคชันจะให้ระบุพลังงานที่ใช้ในบ้านตั้งแต่ปริมาณของผู้อยู่อาศัยในบ้าน จำนวนหลอดไฟทุกชนิด จำนวนเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่และขนาดเล็ก จำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในบ้าน รวมถึงพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวันและสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในแต่ละปี โดยจะให้ระบุระยะทางไปกลับและชนิดของรถที่โดยสาร และยังให้ระบุการบริโภคอาหารในแต่ละมื้ออีกด้วยหลังจากนั้นแอปพลิเคชันจะคำนวณข้อมูลออกมาว่าผู้ใช้แอปพลิเคชันมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาในปริมาณเท่าไร และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดน้อยลง         ที่น่าสนใจมากกว่านี้ก็คือ ถ้าประชาชนคนใดต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีสัญลักษณ์ฉลากลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ฉลากลดโลกร้อน (มีลักษณะเป็นตัว C ตัวใหญ่และเลข 2) ทดแทนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ไม่ได้ใส่ใจต่อการเกิดภาวะโลกร้อนได้เช่นกัน         ทั้งนี้ขณะนี้ทั่วโลกกำลังพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศแล้วหันมาใช้พลังงานสะอาดและมีความยั่งยืน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น เข้ามาแทนที่ ที่ในทุกด้าน แม้ว่าประชาชนอย่างเราจะเป็นแค่ฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็สามารถช่วยกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งถือว่าได้มีส่วนช่วยให้บรรยากาศของโลกดีขึ้นได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 กระแสต่างแดน

     จำกัดพื้นที่        มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ที่ 37.5 ล้านไร่(ปลายปีที่แล้วมีอยู่ 36.5 ล้านไร่) แต่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อไร่แทน เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม           ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและตั้งเป้าที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มในที่สุด ด้วยเหตุผลว่ามันขัดแย้งต่อหลักการเรื่องความยั่งยืน            เสียงต่อต้านการทำสวนปาล์มมีมานานแล้วเพราะเชื่อกันว่ามันคือสาเหตุหลักของการทำลายป่าฝนเมืองร้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก        อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโคลัมเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 90 ของน้ำมันปาล์มในโลก มองว่าการจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าปาล์ม และอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน           รูปจาก https://www.foodnavigator-asia.comของมันต้องมี        Autorità Garante della Concorrenza e del Mercato องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของอิตาลีสั่งปรับสายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติไอริช Ryanair เป็นเงิน 3 ล้านยูโร(ประมาณ 107 ล้านบาท) เพราะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม        Wizzair ของฮังการี ก็โดนปรับ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 35.5 ล้านบาท) เช่นกัน        ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว สองสายการบินนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กชนิดที่นำขึ้นเครื่องได้ในอัตรา 5 ถึง 25 ยูโร (ประมาณ 180 – 900 บาท)         AGCM บอกว่ากระเป๋าถือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง สายการบินต้องดำเนินการขนส่งให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม        นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินทางทางอากาศของยุโรประบุว่า บริการที่จำเป็นและคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้นจะต้องรวมอยู่ในราคาของบริการพื้นฐานแต่แรก การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจึงถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค        Ryanair กำลังเตรียมยื่นอุทรณ์ แต่ Wizzair ยังไม่แสดงท่าที        รูปจาก https://upgradedpoints.com พร้อมทำโลกเย็น        หากคุณกำลังสงสัยว่าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้างเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ หรือการประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม           องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Disclosure Project พบว่าสามบริษัทที่พร้อมที่สุดจาก 16 บริษัทที่พวกเขาทำการสำรวจ ได้แก่ Unilever  L’Oreal และ Danone        ยูนิลิเวอร์ ชัดเจนด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seventh Generation และอีกหลายบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลอรีอัลก็เลือกใช้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศและมีแผนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์        ดานอน ก็ลงทุนพัฒนาแผนปรับปรุงสภาพดินและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลิตสินค้าโดยไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ด้วย        สองแบรนด์ที่รั้งท้ายได้แก่ Kraft Heinz ซึ่งมีนวัตกรรมเรื่องการผลิตแบบคาร์บอนต่ำน้อยมาก และ Estee Lauder ที่ยังไม่แสดงความโปร่งใสเรื่องการใช้น้ำมันปาล์ม        รูปจาก https://www.seventhgeneration.comมากินด้วยกัน        รัฐบาลจีนออกข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆ ในโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปลอดภัย        ผู้บริหารจะต้องทำบันทึกรายการอาหารโดยละเอียดและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถมาร่วมรับประทานและให้ความเห็นได้        โรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกปรับ 5,000 – 30,000 หยวน (ประมาณ 24,000 – 140,000 บาท) ในขณะที่ผู้รับผิดชอบอาจได้รับโทษตั้งแต่ถูกตักเตือน ปลดจากตำแหน่ง ไปจนถึงจำคุกหากถูกจับได้ว่าพยายามยักยอกเงินด้วยการจัดซื้ออาหารคุณภาพต่ำ หรือละเลยหน้าที่จนทำให้นักเรียนหรือครูล้มป่วยเพราะอาหารไม่ปลอดภัย         ประกาศนี้ยังกำหนดให้ร้านขายอาหารว่างในโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตและไม่ขายอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานเกินไปด้วย        รูปจาก ww.china.org.cn กินไม่ทัน        นักศึกษาชาวเยอรมันสองคนถูกปรับ 225 ยูโร(ประมาณ 8,000 บาท) และต้องทำงานรับใช้สังคมอีกแปดชั่วโมงในความผิดข้อหาร่วมกัน “ขโมยอาหารที่ทิ้งแล้ว”          สองสาวถูกจับได้ขณะกำลังเก็บอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ตามกฎหมายแล้ว อาหารเหล่านั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่จนกว่ารถขยะจะมารับไป         สิ่งที่พวกเธอต้องการเพื่อให้คนเยอรมันช่วยกันลด “อาหารเหลือทิ้ง” คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปเลือกเก็บอาหารที่ผ่าน “วันกำหนดขาย” ไปบริโภคได้นั่นเอง         ในขณะที่ฝรั่งเศสล้ำไปอีกก้าวเพราะมีกฎหมายระบุให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ต้องประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนมารับอาหารที่ขายไม่ทันไปทำการแจกจ่าย โดยกำหนดชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนยังรับประทานได้เมื่อเลยกำหนด         ห้างไหนฝ่าฝืน ต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 3,750 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท)          รูปจาก www.npr.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 10 ปีของมหากาพย์ทวงคืนท่อก๊าซ สมบัติชาติ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกได้ฟ้องศาลปกครองสูงสุดให้เพิกถอนการแปรรูปปตท.เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 ศาลปกครองสูงสุดตัดสินคดีนี้ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2550 เป็นคดีหมายเลขแดง ที่ ฟ35/2550 คำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน 4) บมจ. ปตท. ดำเนินการโดยสรุปดังนี้ 1) แบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินคืนให้รัฐ2) ที่ดินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนคืนให้รัฐ3) แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ. ปตท.)ภาค 1 มหากาพย์แปรรูปฮุบสมบัติชาติการแปรรูป "ปตท." ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อปี 2544 เกิดขึ้นหลังจากพรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลเพียง 9 เดือนเศษ ทั้งที่เคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิก "กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ" ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายที่ถูกเรียกขานว่า 'กฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ' คือ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงิน IMF เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่เป็นผลจากความไร้วินัยทางการเงินของภาคเอกชนเมื่อปี 2540 แต่เป็นมรดกบาปที่ประชาชนทั้งประเทศต้องมาจ่ายหนี้แทนเอกชนที่ล้มบนฟูกทั้งหลายเมื่อพรรคไทยรักไทยได้เป็นรัฐบาล ทักษิณมองเห็นสำรับผลประโยชน์ที่จัดเตรียมขึ้นโดยกลุ่มสนับสนุนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามแนวทางของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่มีนางมาร์กาเรต แทตเชอร์เอาไปปฏิบัติจนประเทศอังกฤษย่อยยับจากนโยบายแปรรูปของรัฐบาลของเธอ หากใครติดตามข่าวตอนมรณกรรมของอดีตนายกฯหญิงอังกฤษคนนี้เมื่อปี 2556 จะเห็นหนังสือพิมพ์ในอังกฤษหลายฉบับได้พาดหัวข่าวคำสัมภาษณ์ของคนอังกฤษที่พูดว่านางแม่มดชั่วร้ายได้ตายแล้ว (The wicked witch is dead) ประชาชนออกมาจัดปาร์ตี้แสดงความยินดีกับการตายของเธอตามท้องถนนสวนกระแสการไว้ทุกข์ของรัฐบาล(แต่ในประเทศไทยยังมีกลุ่มธุรกิจผูกขาดหลงยุคที่ชื่นชมการแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานของนางแทตเชอร์)ทักษิณมองเห็นธุรกิจพลังงานเป็นผลประโยชน์มหาศาล และปตท. คือเครื่องมือสำคัญ จึงละทิ้งสัญญาประชาคมตอนหาเสียงเลือกตั้งแบบกลับหลังหัน และเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว และแปรรูปปตท. เป็นภารกิจลำดับแรกๆ หลังเข้ามาเป็นรัฐบาล ในมุมมองตรงกันข้ามการแปรรูปกิจการรัฐในสายตานักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระแสหลักที่เน้นความโปร่งใสตรวจสอบได้ และเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2544 อย่างโจเซฟ สติกลิสต์ที่กล่าวอมตวาจาว่า "การแปรรูปคือการคอรัปชั่น (Privatization is Barbarization ) เพียงการบอกขายสมบัติชาติในราคาต่ำกว่าราคาตลาด ก็จะสามารถฉกฉวยเอาทรัพย์สินมูลค่ามหาศาลเป็นของตนแทนที่จะปล่อยมันไว้ให้คนอื่นเข้ามาถลุง"การแปรรูป "ปตท." เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนอมตวาจาของสติกลิสต์ นอกจากนี้เขายังเคยพูดถึงวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อปี 2551 ว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ควรไปอุ้มกลุ่มทุนการเงินที่เป็นผู้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงให้กับสหรัฐอเมริกา และประชาคมเศรษฐกิจโลก เขาถามหาสิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบ และการตรวจสอบได้ (Accountability) ของกลุ่มทุนการเงินเหล่านั้น และเรียกร้องให้คนพวกนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายให้กับความเสียหายที่เขาก่อขึ้น ไม่ใช่ให้รัฐบาลเอาภาษีของประชาชนมาจ่าย และปล่อยคนเหล่านี้ลอยนวลไปพร้อมกับเงินก้อนใหญ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และ 11 ปีก่อนหน้าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นั้น ก็ไม่ต่างจากกลุ่มทุนการเงินชาวอเมริกัน คือนอกจากล้มบนฟูกแล้ว ยังตบตูดจากไปอย่างไม่ต้องรับผิดชอบอะไร ปล่อยให้ประชาชนรับกรรมใช้หนี้แทน แล้วยังต้องการนำปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของชาติมาพยุงตลาดหลักทรัพย์ที่ซบเซาจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น ทั้งที่มาจากความโลภและความไร้วินัยทางการเงินของสถาบันการเงินภาคเอกชนเอง โดยคนเหล่านั้นหาได้มีจิตสำนึกความรับผิดชอบใดๆ ไม่เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูปปตท. ซึ่งทางคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 ให้ปตท.ซึ่งขณะนั้นคือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนการแปรรูปและนำเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 มติดังกล่าวจึงมิได้ให้มีการนำกิจการท่อก๊าซธรรมชาติเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ทักษิณอ้างว่าหากต้องรอการแยกกิจการท่อส่งก๊าซก่อน ก็จะไม่สามารถนำปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ทันในปลายปี 2544 รัฐบาลจึงมีมติให้แปรรูปทั้งองค์กรไปก่อน และนำปตท. ไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทันที โดยมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว 1 ปี แต่หลังจากนั้น รัฐมนตรีพลังงานในสมัยนั้น ก็กลับมติ โดยให้ยกเลิกมติเดิมที่จะแยกท่อก๊าซภายใน 1 ปี เพราะอ้างว่ามีการเปลี่ยนนโยบายจากระบบ Power pool คือระบบที่ให้บุคคลที่ 3 เข้าร่วมใช้ระบบท่อส่งก๊าซ กลับไปเป็นระบบ Single buyer คือผูกขาดเจ้าเดียวโดยให้ปตท. เป็นผู้ผูกขาดการซื้อก๊าซและใช้ระบบท่อเพียงรายเดียว อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชน  สาเหตุที่ไม่ยอมแยกท่อก๊าซออกก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะท่อส่งก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติทำให้กิจการก๊าซเป็นกิจการไม่มีคู่แข่ง ย่อมทำให้ผู้ครอบครองท่อก๊าซได้รับผลประโยชน์สูงจากกิจการก๊าซไปด้วย การมีมติครม. ว่าจะแยกท่อก๊าซหลังจากนั้นก็เป็นเพียงมติแบบขอไปที และในที่สุดก็ยกเลิกการแยกท่อก๊าซ ซึ่งเข้าข่ายเป็นการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดิน ใช่หรือไม่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูปปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุดในเดือนสิงหาคม ปี 2549 ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจากปตท.ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือนปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองสูงสุดได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน 51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท. มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และปตท.ซึ่งแปรสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ก็ไม่สามารถใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้อีกต่อไปด้วย อันที่จริงศาลมีความเห็นว่า การแปรรูปปตท.เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การฟ้องเพิกถอนการแปรรูปนั้นเกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า 5 ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่าปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง 8.4 แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจศาลปกครองสูงสุดได้อ้างพ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ และให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท. ใช้อำนาจรัฐอีกต่อไป ในการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้น รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้นกำหนดให้คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืน ทั้งที่ในคำพิพากษาระบุว่าท่อส่งก๊าซและท่อส่งน้ำมันเป็นระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งมีลักษณะเชื่อมต่อกันเป็นระบบจึงต้องคืนทั้งระบบ ไม่ใช่คืนเป็นท่อนหรือเป็นส่วน ๆ แต่กระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินก็ไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลังไปแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา และให้สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สินตามคำพิพากษา มติครม.ก็ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัยให้มีข้อยุติต่อไป แม้สตง.จะยืนยันตลอดมาว่าปตท.ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำพิพากษาของศาลอย่างครบถ้วน แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ตรวจสอบและกำกับให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการตามมติครม.ที่เมื่อมีข้อโต้แย้งว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้มีข้อยุติว่าท่อส่งก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสมบัติของเอกชน เมื่อยังไม่มีข้อยุติเรื่องท่อก๊าซในทะเล แต่หน่วยงานรัฐกลับให้บมจ.ปตท. ซึ่งมีสภาพเป็นลูกหนี้ได้ไปรายงานต่อศาลว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ และผู้เกี่ยวข้องได้เห็นชอบการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อสตง. ทักท้วงว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วน คณะรัฐมนตรีก็เพิกเฉยทั้งที่มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ต้องดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามคำพิพากษา และมติครม. ก็มอบหมายให้สตง. เป็นฝ่ายตรวจสอบและรับรองความถูกต้องเสียก่อน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกจึงได้ร้องต่อศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง ซึ่งศาลปกครองได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าผู้ร้องไม่ใช่ผู้ชนะคดี และไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ จึงไม่สามารถร้องให้มีการบังคับคดีใหม่ได้ ซึ่งในคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ศาลได้สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ประกอบด้วย 1) คณะรัฐมนตรี 2) นายกรัฐมนตรี 3) รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ 4) บมจ. ปตท. ไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษา ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิทักท้วงให้มีการบังคับคดีใหม่ให้ถูกต้องคือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ ส่วนปตท. เป็นลูกหนี้ และอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงพลังงาน ปรากฏในการแบ่งแยกทรัพย์สินเจ้าหนี้ปล่อยให้ลูกหนี้ไปรายงานต่อศาลว่าคืนทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่สตง. ทักท้วงว่าไม่ครบ แต่เจ้าหนี้ไม่ทักท้วงว่าลูกหนี้ยังไม่คืนท่อในทะเล และไม่ได้ให้กฤษฎีกาวินิจฉัยข้อโต้แย้งว่าท่อในทะเลเป็นสาธารณสมบัติที่ต้องคืนหรือไม่ตามที่ฝ่ายตรวจสอบคือสตง. บอกว่าต้องคืนด้วย ปรากฏว่าเจ้าหนี้พอใจตามที่ลูกหนี้คืนให้โดยไม่ทักท้วง และไม่ฟังฝ่ายตรวจสอบของตัวเองอีกด้วย จากการนำคดีไปฟ้องร่วมกับประชาชน 1,455 คน เรื่องที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ไม่ได้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี ของรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ ที่ให้การแบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษานั้นต้องให้สตง.เป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้องเสียก่อน การฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ 800/2557 วินิจฉัยว่าข้ออ้างของผู้ร้องว่ามีการไม่ปฏิบัติตามมติครม.นั้นเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีต้องไปว่ากล่าวกันเอง ความหมายคือมีแต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่เป็นเจ้าหนี้ตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถโต้แย้งว่าการคืนทรัพย์สินยังไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของสตง. เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ว่ากล่าวให้มีการดำเนินการให้ถูกต้อง ประชาชนจึงต้องตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารว่ามีการปฏิบัติถูกต้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้แทนประชาชนหรือไม่ มูลนิธิฯ และพวกจึงนำเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 2542 คตง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบว่าหน่วยรับตรวจได้ทำตามกฎหมายระเบียบ คำสั่ง รวมทั้งมติครม.หรือไม่ คตง. อาศัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 ตรวจสอบแล้วมีคำวินิจฉัยเมื่อ 10 พฤษภาคม 2559 ว่ายังมีการคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน ยังมีท่อก๊าซในทะเลและบนบกมูลค่าประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาทที่ต้องคืน และคตง. มีหนังสือเมื่อ 24 สิงหาคม 2559 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ให้ดำเนินการคืนให้ครบถ้วนภายใน 60 วัน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลคสช. ก็ยังไม่ปฏิบัติตามมติของคตง. ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานละเว้นไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษได้วินิจฉัยเรื่องท่อก๊าซในทะเลเป็นสาธารณสมบัติหรือไม่ ตามการร้องของสตง. คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 นั้นมีความชัดเจนว่าท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และศาลมองท่อก๊าซเป็นระบบไม่ว่าท่อก๊าซนั้นจะผ่านบนที่ดินใคร เพราะไม่ได้มองท่อก๊าซเป็นท่อนเป็นส่วน ดังนั้นคำพิพากษาจึงมีความชัดเจนขึ้นอยู่กับว่ามีการปฏิบัติตามคำพิพากษาอย่างครบถ้วนหรือไม่ ท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรรูป และไม่มีการแยกออกมาก่อนการนำไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทำให้หุ้นของปตท. มีมูลค่าแบบก้าวกระโดดโดยที่ท่อก๊าซมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติที่ตามกฎหมายไม่อาจยกให้เอกชนครอบครองได้นั้น แม้มีคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 แล้วก็ไม่ได้มีการแบ่งแยกท่อก๊าซคืนทั้งระบบ การไม่แยกกิจการท่อก๊าซออกมา จึงทำให้ปตท. ได้กำไรจากกิจการท่อก๊าซรองมาจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยที่กิจการทั้ง 2 ส่วนนี้เกื้อหนุนกัน เพราะปิโตรเลียมที่พบในประเทศเป็นก๊าซธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ จึงต้องอาศัยท่อส่งก๊าซในการขนส่งก๊าซจากแหล่งผลิตมาถึงโรงแยกก๊าซ ปตท. ผูกขาดกิจการก๊าซทั้งระบบเพราะได้ครอบครองและใช้ท่อก๊าซในระบบผูกขาดเจ้าเดียว และยังได้สิทธิผูกขาดการซื้อก๊าซเจ้าเดียวอีกด้วย ซึ่งสิทธินี้เคยเป็นสิทธิผูกขาดของกระทรวงอุตสาหกรรมและต่อมามอบให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หลังการแปรรูป สิทธินี้ยังไม่ได้คืนตามคำพิพากษาที่ระบุให้แยกอำนาจและสิทธิมหาชนออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือปตท.จึงทำให้รายได้ของปตท. จากท่อก๊าซธรรมชาติสูงถึงประมาณ 356,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 14 ปี (2544-2558) โดยปตท.จ่ายค่าเช่าท่อที่คืนให้รัฐบางส่วนตามคำพิพากษาเมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นเม็ดเงินประมาณ 6,000 ล้านบาทในระยะเวลา 14 ปีภาค 2 มหากาพย์แยกท่อก๊าซเป็นสมบัติเอกชนแผนการฮุบท่อส่งก๊าซไปเป็นของเอกชนยังคงเป็นโรดแมปสำคัญ หลังการรัฐประหารของคสช. ในปี 2557 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานได้อนุมัติให้มีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทลูกของปตท.ประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ บมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของปตท. โดยให้ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 คือให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทลูกเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วยประธานกรรมการปตท. ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้เป็นของบริษัทปตท.หลังจากนั้นก็แล้วแต่ "คสช." จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทนปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง (ที่เคยคาดว่าจะเกิด) ในปี 2558 อีกด้วย เมื่อย้อนไปดูมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2544 ได้มอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจไปดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซก่อนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ และมอบหมายให้ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 ตามมติดังกล่าวแสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ 100% แต่กระบวนการแปรรูปโดยไม่แยกท่อก๊าซ จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญที่จะถ่ายโอนท่อส่งก๊าซทั้งระบบไปเป็นสมบัติเอกชน ซึ่งศาลมีคำสั่งให้คืนแต่ก็ไม่ยอมคืนท่อทั้งระบบที่แปรรูปไป ข้อเสนอให้ดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ครั้งใหม่นี้ ย่อมมีความแตกต่างจากมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะปตท.ในขณะนี้เป็นบมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง 51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท. ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ 100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้นการแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอนี้ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ระบบท่อส่งก๊าซเพียง 51% เท่านั้นไม่ใช่เป็นเจ้าของ 100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อปี 2544 หากการแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่สำเร็จ ย่อมทำให้ท่อก๊าซตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนโดยสมบูรณ์ ซึ่งคือการย้อนกลับไปสู่สภาพก่อนที่มีคำพิพากษาจากศาลปกครองสูงสุด และท่อก๊าซก็จะไม่ได้คืนกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอีก คำวินิจฉัยของคตง. และคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ทำให้มติกพช.ที่อนุมัติให้มีการแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ต้องหยุดชะงักไป แต่คณะรัฐมนตรีก็ยังไม่ยอมปฏิบัติตามมติคตง. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด เมื่อ 14 ธันวาคม 2550 ที่มีหน้าที่ต้องแบ่งแยกทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติคืนแผ่นดินให้ครบถ้วนตามคำพิพากษา สิ่งที่รัฐบาลคสช. ควรทำคือปฏิบัติตามการตรวจสอบของคตง. โดยใช้อำนาจบังคับบัญชาตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 800/2557 และมติคตง. 10 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา 20 กันยายน 2559 ให้ปตท. คืนท่อก๊าซทั้งระบบตามคำพิพากษา และควรตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติมารับมอบระบบท่อส่งก๊าซและเปิดให้เอกชนและปตท. ใช้โดยจ่ายค่าบริการให้กับรัฐผ่านองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ การแก้ไขพ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) ที่ประกาศใช้เมื่อ 22 มิถุนายน 2560 หากรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติผ่านกฎหมายและให้จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาทำหน้าที่แทนการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่ถูกแปรรูปไปเป็นเอกชนแล้วจะเป็นการปฏิรูปนโยบายพลังงานอย่างแท้จริง รัฐบาลจะมีองค์กรใหม่เป็นผู้รับมอบทรัพย์สินหลังจากเอกชนหมดสัมปทาน รวมทั้งรับมอบท่อส่งก๊าซและที่ดินตามคำพิพากษา รวมทั้งถือกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมจากระบบแบ่งปันผลผลิตกับบริษัทเอกชน ซึ่งบริษัทปตท. ที่มีเอกชนถือหุ้นไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และให้องค์กรใหม่กำกับดูแลให้มีการประมูลขายปิโตรเลียมทั้งส่วนที่เป็นน้ำมันและส่วนที่เป็นก๊าซที่เป็นของรัฐ และเปิดให้เอกชนทุกรายสามารถใช้ท่อส่งก๊าซโดยจ่ายค่าบริการให้รัฐผ่านบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เชื่อว่าระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศจะเกิดการแข่งขันกัน และได้ราคาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ แต่น่าเสียดายที่การครอบงำของกลุ่มทุนพลังงานมีพลังมากจนการปฏิรูปไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงาน ขั้นตอนแรกคือแปรรูปกิจการสาธารณูปโภคของรัฐให้เป็นรัฐครึ่งเอกชนครึ่ง และขั้นตอนต่อมาคือแปรรูปกิจการให้เป็นของเอกชน 100% ตามแนวคิดของมิลเลอร์ ฟรีดแมน ที่เชื่อว่าทรัพย์สินของรัฐไม่มีใครเป็นเจ้าของ เลยไม่มีใครสนใจดูแล ดังนั้นจึงควรแปรรูปให้เป็นของเอกชน (State owns is nobody owns, Nobody owns is nobody cares) กลุ่มทุนใช้ข้ออ้างเพื่อไม่ให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูกกิจการรัฐวิสาหกิจ จึงควรแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้เป็นของเอกชน ดังที่ปตท. ต้องการแยกทั้งบริษัทท่อก๊าซ และบริษัทน้ำมันและค้าปลีกออกไปเป็นบริษัทลูก ที่รัฐถือหุ้นต่ำกว่า 51% เพื่อให้บริษัทใหม่เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว หากทุนเอกชนสามารถยึดโครงข่ายกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด แล้วเลือดหรือทรัพยากรพลังงานที่ผ่านท่อจะไปไหนเสีย? การที่กลุ่มทุนพยายามผลักดันให้คสช.คงระบบสัมปทานในการให้สิทธิสำรวจผลิตปิโตรเลียมแก่เอกชนต่อไปก็ยิ่งทำให้ทรัพยากรพลังงานที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนตกอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดการคงระบบสัมปทานปิโตรเลียมก็คือการยกกรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมทั้งหมดให้กับกลุ่มทุนพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อทุนพลังงานครอบครองกลไกเครื่องมือคือระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมันและได้กรรมสิทธิ์ในทรัพยากรปิโตรเลียมไปด้วย ชะตากรรมของคนไทยก็จะอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ การผูกขาดธุรกิจพลังงาน ราคาพลังงานจะแพงขึ้นเท่าไหร่ ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมกันไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบอะไรอีกไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว เมื่อตอนกลุ่มธุรกิจเอกชนใหญ่ก่อวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่ประชาชนต้องเข้าไปรับเคราะห์ใช้หนี้แทน แต่พอเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เขาก็มาฮุบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาขน เอาไปเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ ๆ ไม่กี่ราย มหากาพย์ฮุบสมบัติชาติด้านพลังงานจะเสร็จสมบูรณ์ตามโรดแมปของกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง และความสุจริตและธรรมาภิบาลของผู้บริหารบ้านเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ถูกยกเลิกสัญญาไม่มีเหตุผล

สัญญาเช่าที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจน อาจทำผู้บริโภคบางคนถูกเอาเปรียบด้วยการบอกเลิกสัญญากะทันหัน ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ ซึ่งเราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจตกลงเช่าห้องพักรายเดือนย่านอนุสาวรีย์ชัย ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท โดยขอเช่าพื้นที่จอดรถด้วย เป็นรถยนต์ 1 คันในราคาค่าเช่าที่จอดคันละ 1,000 บาท/เดือน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน คันละ 200 บาท/เดือน อย่างไรก็ตามหลังอยู่ไปได้ 8 เดือนกว่า ทางเจ้าของหอพักก็ส่งหนังสือมาแจ้งว่า ห้ามนำรถมาจอดในพื้นที่ของหอพักอีกต่อไป โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับคุณสมใจอย่างมาก เนื่องจากเธอไม่เคยผิดนัดชำระค่าที่จอดรถหรือฝ่าฝืนกฎการจอดรถของหอพักแต่อย่างใด ทำให้เธอยังคงนำรถเข้ามาจอดในพื้นที่ที่เช่าไว้ตามปกติ เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับแย่ลงกว่าเดิม เมื่อทางหอพักได้ส่งหนังสือแจ้งมาอีกครั้งว่า ได้ยกเลิกสัญญาเช่าห้องพักของเธอเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเธอได้เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหนังสือขอยกเลิกที่จอดรถ โดยกำหนดให้ขนย้ายสิ่งของออกจากห้องพักดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์อีกด้วยเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนที่ต้องหาห้องพักใหม่กะทันหัน และอยากให้ทางหอพักเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ส่งจดหมายเชิญทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และให้ผู้ร้องส่งหลักฐานสัญญาเช่ามาเพิ่มเติม เพื่อนำมาตรวจสอบระยะเวลาการเช่า ซึ่งหากพบว่าได้กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจนไว้ ผู้ให้เช่าก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้ หากผู้เช่าไม่ผิดสัญญาหรือไม่มีเหตุให้บอกเลิก หรือกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าที่ชัดเจนไว้ การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ตามมาตรา 566 ความระงับแห่งสัญญาเช่าที่กำหนดไว้ว่า คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน ดังนั้นการที่ผู้ให้เช่ากำหนดให้ผู้ร้องต้องขนย้ายสิ่งของออกภายใน 2 สัปดาห์ อาจถือเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรม เพราะทำให้ผู้ร้องเดือดร้อนและไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ทัน นอกจากนี้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งผู้ร้องสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ผลเจรจาจะเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 สำรวจราคา “ก๊าซหุงต้ม” ที่ไหนขายแพงบ้าง?!!

“ก๊าซหุงต้ม” ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะบ้านไหนๆ ก็ใช้ “ก๊าซถัง” เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหารกันทั้งนั้น เดี๋ยวนี้คงแทบไม่มีใครที่ยังใช้วิธีก่อฟืนจุดไฟเพื่อทำกับข้าวกันอีกแล้ว เพราะ “ก๊าซหุงต้มบรรจุถัง” สะดวกและง่ายกว่ากันเยอะ ก๊าซหุงต้มที่เราใช้กับตามบ้านเรือนและร้านค้าทั่วไปในปัจจุบัน ชื่อเรียกเต็มๆ ก็คือ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก็คือ ก๊าซ LPG (Liquefied Petroleum Gas) ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และจากกระบวนการแยกก๊าซธรรมชาติในโรงแยกก๊าซก๊าซถังมีการควบคุมราคา “ห้ามขายแพงเกิน” (แต่ควบคุมเฉพาะ กทม.และ ปริมณฑล เท่านั้น) ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาของก๊าซหุงต้มมีการปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าด้านพลังงานชนิดอื่นๆ เดิมทีเราเคยซื้อก๊าซหุงต้ม 1 ถังน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ที่ราคาถังละ 300 บาท เมื่อปี 2555 แต่ในปี 2556 กระทรวงพลังงานได้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มทุกเดือนเฉลี่ยเดือนละประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ติดต่อกัน 12 เดือน จากเดิมที่ราคากิโลกรัมละ 18.13 บาท ขยับขึ้นไปสูงถึง 24.82 บาท ซึ่งทำให้ในเวลานั้นราคาก๊าซ 1 ถังพุ่งขึ้นไปสูงสุดถึง 400 บาทเลยทีเดียว!!! แต่ว่าเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติปรับลดราคาจำหน่ายส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) หลังต้นทุนก๊าซ LPG ลดลงตามราคาตลาดโลก โดยปรับลดลงกิโลกรัมละ 0.67 บาท ทำให้ราคาจำหน่ายปลีกลดลงจากเดิมกิโลกรัมละ 22.96 บาท เป็นกิโลกรัมละ 22.29 บาท ประกาศสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ*** เรื่อง ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ปี 2558 (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2558 กำหนดให้ ก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง ขนาด 15 กิโลกรัม ในเขตกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำหน่ายปลีกในราคาไม่เกินถังละ 370 บาท โดยราคาดังกล่าวรวมค่าบริการขนส่งถึงสถานที่ของผู้ซื้อ ซึ่งมีระยะทางขนส่งในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ไม่รวมค่าบริการขนส่งขึ้นบนอาคารสูง ***ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2559 ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับลดราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม (LPG) ลงอีก 2 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าราคาจะลดลงมาอยู่ 20.29 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ในประกาศสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ฉบับล่าสุดปี 2559 กำหนดราคาของก๊าซหุงต้มบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัมไว้ใหม่ว่าจะต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 340 บาทต่อถัง ซึ่งเป็นราคาที่ร่วมค่าขนส่งในระยะรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ก็ยังเป็นราคาที่กำหนดเฉพาะพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ เท่านั้น ส่วนจังหวัดอื่นๆ กบง. แจ้งว่าก็จะมีปรับลดเช่นกัน แต่อัตราที่ลดจะไม่เท่ากันแตกต่างกันไปตามระยะทาง การสำรวจครั้งนี้ยังคงใช้เกณฑ์ราคาแนะนำเดิมคือที่ 370 บาทเป็นเกณฑ์ในการสำรวจ เพราะการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งยังยึดตามประกาศฉบับเดิม แต่หลังจากนี้ไปผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล ควรเลือกซื้อก๊าซหุงต้มที่ราคา 340 บาทต่อถังเท่านั้นนอกจากนี้ในประกาศฉบับดังกล่าวยังกำหนดให้ร้านค้าต้องแสดงราคาจำหน่ายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง และค่าบริการขนส่งถึงสถานที่ของผู้ซื้อ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ หากทางร้านมีการคิดเพิ่มนอกเหนือจากราคาจำหน่าย ซึ่งถ้าหากร้านค้าก๊าซบรรจุถังร้านใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในประกาศถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยหากร้านค้าใดจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าที่กำหนด หรือแจ้งราคาไม่ตรงกับราคาขาย มีสิทธิ์ถูกลงโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับทั่วประเทศไทยมีที่ไหนขายเกินราคาบ้าง?    จากประกาศของสำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง ราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ปี 2558 (ฉบับที่ 3) จะเห็นว่ามีจุดอ่อนอยู่ที่การกำหนดราคาขายก๊าซหุงต้มบรรจุถังมีผลบังคับกับร้านค้าเฉพาะที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดปริมณฑล คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ทำให้อีกหลายจังหวัดจำหน่ายก๊าซหุงต้มบรรจุถังขนาด 15 กิโลกรัม สูงกว่าราคาแนะนำที่ 370 บาท     คณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงได้ทำการสำรวจราคาซื้อขายก๊าซหุงต้มตามร้านจำหน่ายก๊าซทั้งในเขตกรุงเทพฯ และในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อดูว่ามีการตั้งราคาจำหน่ายแตกต่างจากที่ภาครัฐกำหนดไว้มากน้อยเพียงใด ผลการสำรวจราคาก๊าซหุงต้มทั่วประเทศกรุงเทพมหานคร (16 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     3 ร้าน (19%)เท่ากับราคาแนะนำ    10 ร้าน (62%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    3 ร้าน (19%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ     380 บาท (2 ร้าน) 375 บาท (1 ร้าน)พื้นที่ที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ เขตพระนคร เขตทุ่งครุ และ เขตสะพานสูงการติดป้ายแสดงราคา ทุกร้านติดป้ายแสดงราคาปริมณฑล (20 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     13 ร้าน (65%)เท่ากับราคาแนะนำ    2 ร้าน (10%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    5 ร้าน (25%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    400 บาท (1 ร้าน) 395 บาท (1 ร้าน) 390 บาท (5 ร้าน) 385 บาท (1 ร้าน)  380 บาท (5 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ ปทุมธานี (10 ร้าน) สมุทรปราการ (3 ร้าน) การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 4 ร้าน ไม่แจ้ง 16 ร้านภาคกลาง (24 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     8 ร้าน (33%)เท่ากับราคาแนะนำ    4 ร้าน (17%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    12 ร้าน (50%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    400 บาท (2 ร้าน) 380 บาท (6 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ ชัยนาท (4 ร้าน) พระนครศรีอยุธยา (4 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 12 ร้าน ไม่แจ้ง 12 ร้านภาคตะวันตก (94 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     50 ร้าน (53%)เท่ากับราคาแนะนำ    16 ร้าน (17%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    28 ร้าน (30%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    420 บาท (1 ร้าน) 415 บาท (2 ร้าน) 410 บาท (9 ร้าน) 400 บาท (1 ร้าน) 395 บาท (1 ร้าน) 390 บาท (4 ร้าน) 385 บาท (1 ร้าน) 380 บาท (22 ร้าน) 375 บาท (9 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ ประจวบคีรีขันธ์ (12 ร้าน) ราชบุรี (12 ร้าน) นครปฐม (7 ร้าน) เพชรบุรี (7 ร้าน) กาญจนบุรี (6 ร้าน) สมุทรสาคร (6 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 31 ร้าน ไม่แจ้ง 63 ร้านภาคตะวันออก (48 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     41 ร้าน (86%)เท่ากับราคาแนะนำ    3 ร้าน (6%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    4 ร้าน (8%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    420 บาท (1 ร้าน) 410 บาท (1 ร้าน) 400 บาท (4 ร้าน) 395 บาท (2 ร้าน) 390 บาท (2 ร้าน) 380 บาท (23 ร้าน) 375 บาท (8 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ สระแก้ว (12 ร้าน) จันทบุรี (11 ร้าน) ปราจีนบุรี (9 ร้าน) ฉะเชิงเทรา (9 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 6 ร้าน ไม่แจ้ง 42 ร้านภาคเหนือ (81 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     56 ร้าน (69%)เท่ากับราคาแนะนำ    11 ร้าน (14%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    14 ร้าน (17%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    420 บาท (1 ร้าน) 410 บาท (1 ร้าน) 405 บาท (4 ร้าน) 400 บาท (11 ร้าน) 390 บาท (10 ร้าน) 385 บาท (4 ร้าน) 380 บาท (16 ร้าน) 379 (1 ร้าน) 375 บาท (8 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ พิษณุโลก (12 ร้าน) น่าน (12 ร้าน) เชียงใหม่ (9 ร้าน) ลำพูน (9 ร้าน) พะเยา (8 ร้าน) ลำปาง (5 ร้าน) แพร่ (1 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 35 ร้าน ไม่แจ้ง 46 ร้านภาคอีสาน (119 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     91 ร้าน (76%)เท่ากับราคาแนะนำ    9 ร้าน (8%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    19 ร้าน (16%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    440 บาท (4 ร้าน) 430 บาท (12 ร้าน) 420 บาท (13 ร้าน) 415 บาท (2 ร้าน) 410 บาท (4 ร้าน) 400 บาท (14 ร้าน) 395 บาท (3 ร้าน) 390 บาท (17 ร้าน) 385 บาท (5 ร้าน) 380 บาท (13 ร้าน) 379 บาท (1 ร้าน) 375 บาท (3 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ บึงกาฬ (24 ร้าน) หนองบัวลำภู (12 ร้าน) ร้อยเอ็ด (10 ร้าน) ขอนแก่น (9 ร้าน) เลย (8 ร้าน) บุรีรัมย์ (8 ร้าน) อุดรธานี (8 ร้าน) กาฬสินธุ์ (6 ร้าน) สุรินทร์ (6 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 13 ร้าน ไม่แจ้ง 106 ร้านภาคใต้ (78 ร้าน)สูงกว่าราคาแนะนำ     68 ร้าน (87%)เท่ากับราคาแนะนำ    6 ร้าน (8%)ต่ำกว่าราคาแนะนำ    4 ร้าน (5%)ราคาที่พบกว่าสูงเกินกว่าราคาแนะนำ คือ    520-550 บาท (2 ร้าน*เป็นร้านที่ตั้งอยู่บนเกาะพีพี จ.กระบี่ เนื่องจากมีพื้นที่เป็นเกาะ ทำให้การตั้งราคาสูงกว่าพื้นที่อื่นค่อนข้างมาก) 470 บาท (1 ร้าน) 460 บาท (1 ร้าน) 450 บาท (1ร้าน) 430 บาท (4 ร้าน) 420 บาท (9 ร้าน) 410 บาท (6 ร้าน) 405 บาท (1 ร้าน) 400 บาท (10 ร้าน) 395 บาท (2 ร้าน) 390 บาท (9 ร้าน) 385 บาท (2 ร้าน) 380 บาท (17 ร้าน) 375 บาท (2 ร้าน) 373 บาท (1 ร้าน)จังหวัดที่พบร้านที่จำหน่ายสูงเกินราคาแนะนำ คือ กระบี่ (16 ร้าน) ปัตตานี (12 ร้าน) สตูล (12 ร้าน) สุราษฎร์ธานี (11 ร้าน) ชุมพร (10 ร้าน) สงขลา (7 ร้าน)การติดป้ายแสดงราคา แจ้งราคา 20 ร้าน ไม่แจ้ง 53 ร้านสรุปผลการสำรวจราคา-จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า มีเพียงแค่ กทม. และ ภาคกลาง เท่านั้น ที่สัดส่วนจำนวนของร้านค้าที่จำหน่ายก๊าซหุงต้มบรรจุถังเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาแนะนำที่ 370 บาท มากกว่าจำนวนของร้านค้าที่สูงกว่าราคาแนะนำ -หลายร้านค้ามีการคิดค่าขนส่งเพิ่มจากราคาขาย ตั้งแต่ 5 – 20 บาท- มีร้านอีกจำนวนไม่น้อยที่ขายก๊าซหุงต้มบรรจุถังถูกกว่าราคาแนะนำ -การติดป้ายแสดงราคา ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่กฎหมายกำหนด พบว่ามีเพียงตัวอย่างร้านค้าในกทม.เท่านั้น ที่ติดป้ายครบทุกร้านที่ทำการสำรวจ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ยังพบร้านที่ไม่ติดป้ายแสดงราคาอีกเป็นจำนวนมาก-ราคาจำหน่ายปลีกก๊าซหุงต้มบรรจุถังในพื้นที่ในต่างจังหวัด ยังไม่มีข้อบังคับที่เป็นการกำหนดราคาที่ชัดเจน โดยกรมการค้าภายในได้มอบอำนาจในการจัดการควบคุมดูแลเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน สามารถกำหนดราคาได้เองตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด แต่ ณ ปัจจุบันก็ยังไม่มีจังหวัดไหนที่ออกประกาศเรื่องนี้ ทำให้ราคามีความแตกต่างกันหลากหลายราคาตามข้อมูลที่ได้จากการสำรวจพื้นที่และจำนวนจังหวัดในการสำรวจพื้นที่    จังหวัดที่สำรวจ    จำนวนร้านค้ากรุงเทพฯ    14 เขต (1.พระนคร 2.ทุ่งครุ 3.สะพานสูง 4.ป้อมปราบศัตรูพ่าย 5.ราษฎร์บูรณะ 6.บางกะปิ 7.ห้วยขวาง 8.คลองเตย 9.พระโขนง 10.ดินแดง 11. ลาดพร้าว 12.ธนบุรี 13.บางแค และ 14.บางนา)    16 ร้านปริมณฑล    2 จังหวัด (1.สมุทรปราการ และ 2.ปทุมธานี)    20 ร้านภาคกลาง    2 จังหวัด (1.ชัยนาท และ 2.พระนครศรีอยุธยา)    24 ร้านภาคตะวันตก    8 จังหวัด (1.ประจวบคีรีขันธ์ 2.กาณจนบุรี 3.สมุทรสาคร 4.ราชบุรี 5.เพชรบุรี 6.นครปฐม 7.สมุทรสงคราม และ 8.สุพรรณบุรี)    94 ร้านภาคตะวันออก    4 จังหวัด (1.สระแก้ว 2.ปราจีนบุรี 3.จันทบุรี และ 4.ฉะเชิงเทรา)    48 ร้านภาคเหนือ    7 จังหวัด (1.ลำปาง 2.พิษณุโลก 3.น่าน 4.เชียงใหม่ 5.ลำพูน 6.แพร่ และ 7.พะเยา)    81 ร้านภาคอีสาน    9 จังหวัด (1.กาฬสินธุ์ 2.บึงกาฬ 3.เลย 4.สุรินทร์ 5.ขอนแก่น 6.หนองบัวลำภู 7.ร้อยเอ็ด 8.บุรีรัมย์ และ 9.อุดรธานี)    119 ร้านภาคใต้    6 จังหวัด (1.สุราษฎร์ธานี 2.ปัตตานี 3.กระบี่ 4.ชุมพร 5.สตูล และ 6.สงขลา)    73 ร้านรวม    39 จังหวัด    480 ร้านระยะเวลาการสำรวจ : ระหว่างวันที่ 1 – 15 ธันวาคม 2558    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ฤาโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม จะต้มตุ๋นคนไทยทั้งประเทศ?

ยุคเริ่มต้นแหล่งปิโตรเลียมที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซ และเป็นก๊าซชั้นดีที่เรียกว่า ก๊าซเปียก (Wet Gas) ที่เรียกว่าเป็นก๊าซชั้นดี เพราะเป็นก๊าซที่สามารถนำมาแยกเป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซชนิดต่าง ๆ เช่น ก๊าซมีเทนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า ก๊าซโพรเพน และบิวเทน เอามาใช้เป็นก๊าซหุงต้มและก๊าซในรถยนต์หรือที่เรียกว่าก๊าซแอลพีจี นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพื่อมาผลิตเป็นเม็ดพลาสติกอีกด้วย ในขณะที่ก๊าซจากพม่าเป็นก๊าซแห้งหรือก๊าซมีเทนชนิดเดียว จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าเท่านั้น การพบแหล่งก๊าซดิบในประเทศไทยช่วงต้นทศวรรษที่ 2520 ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์เป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “เราจะโชติช่วงชัชวาล” รัฐบาลลงทุนในการสร้างท่อก๊าซและสร้างโรงแยกก๊าซเพื่อนำก๊าซมาใช้ในประเทศเพื่อทดแทนฟืนและถ่านที่ประชาชนใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน ในร้านอาหาร ใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นก๊าซรถยนต์เพื่อทดแทนน้ำมันนำเข้าที่มีราคาแพง และใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในยามเริ่มแรกที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียังไม่เติบโตขยายตัวมากเหมือนปัจจุบัน ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศจึงมีปริมาณเหลือเฟือเพียงพอให้ใช้ในภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงและส่งออก การที่ยังมีปริมาณแอลพีจีเหลือจำนวนมาก ทำให้รัฐบาลต้องส่งเสริมให้รถแท็กซี่เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีในรถยนต์แทนน้ำมัน ซึ่งประสบความสำเร็จที่มีรถแท็กซี่และรถส่วนบุคคลหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนน้ำมัน ยิ่งกว่านั้นภาคครัวเรือนก็เลิกใช้ถ่าน ฟืน เปลี่ยนมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทนซึ่งช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งได้รับความนิยมจนถ่านฟืนค่อย ๆ หมดไปเพราะการใช้ก๊าซแอลพีจีในครัวเรือนมีความสะดวกและราคาถูก รัฐบาลได้จัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) เป็นรัฐวิสาหกิจ 100%ที่รวม 2 องค์กรเข้าด้วยกัน คือ องค์การเชื้อเพลิง และ องค์การก๊าซธรรมชาติแห่งประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อบริโภค ซึ่งเป็นวิกฤติการณ์ขาดแคลนพลังงานโลกในช่วงปี 2521 และเพื่อวัตถุประสงค์ในการพึ่งพาตนเอง ยุคหลังการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย    กิจการก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจการที่ผูกขาดตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เป็นกิจการที่คณะรัฐมนตรีในอดีตเคยมีมติให้แยกกิจการก๊าซออกจากกิจการการจัดหาและจัดจำหน่ายก่อนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยคงการถือหุ้นกิจการก๊าซธรรมชาติไว้ 100% แต่เมื่อมีการแปรรูปได้แปรกิจการผูกขาดนี้ไปด้วยและหากพิจารณาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาจะบัญญัติไว้เสมอว่า “รัฐต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม ต้องป้องกันการผูกขาดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค” หากพิจารณาตามบทบัญญัติเช่นนี้ กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ไม่สามารถแปรรูปได้เพราะเป็นกิจการที่ผูกขาดที่ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ การแปรรูปกิจการที่มีสภาพผูกขาดเช่นนี้จึงก่อให้เกิดโครงสร้างราคาที่ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน     กิจการก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่ทำกำไรให้กับบมจ.ปตท.เป็นหลัก รองจากกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จากเอกสารแสดงงบกำไรขาดทุนในแบบฟอร์ม 56-1 ของบมจ.ปตท.ปี 2554-2557 หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไร 46,992 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 30% ปี 2555 กำไร 38,862 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 24% ปี 2556 กำไร 30,985 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 20% และในปี 2557 กำไร 39,779 ล้านบาท เป็นสัดส่วนกำไร 28% ของกำไรในปีนั้น ๆ รองจากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีกำไรในปี 2554 จำนวน 85,003 ล้านบาท หรือ 54% ในปี 2555 กำไรจำนวน 109,406 ล้านบาท หรือ 67% ในปี 2556 กำไร 110,922 ล้านบาท หรือ 73.18% และกำไรในปี 2557 จำนวน 91,525 หรือ 64.55% 2 กิจการหลักนี้ทำกำไรให้บมจ.ปตท. 84% ในปี 2554 91% ในปี 2555 93.18% ในปี 2556 และ 92.55% ในปี 2557ผลประกอบการของบมจ.ปตท. กำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) จากแบบ 56-1  ที่มา : แบบ 56-1 บมจ.ปตท.     การที่หน่วยธุรกิจก๊าซมีกำไรสูงกว่าหน่วยธุรกิจน้ำมันแม้จะแปรรูปเป็นบริษัทเอกชนแต่มีรัฐถือหุ้นใหญ่ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลในอดีตจะกำหนดให้ราคาก๊าซหุงต้มซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นของประชาชนในราคาที่รัฐกำหนดไว้ที่ 333 เหรียญต่อตัน หรือราคาเนื้อก๊าซ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม และเมื่อรวมภาษีและค่าการตลาดแล้วราคาที่ขายประชาชนอยู่ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท ก๊าซหุงต้มขนาดถังบรรจุ 15 กิโลกรัม ราคา 271.95 บาท เมื่อขายประชาชนรวมค่าขนส่งจะอยู่ที่ราคาถังละ 290-300 บาท     การขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้ภาคปิโตรเคมีเข้ามาแย่งใช้ก๊าซแอลพีจีกับภาคครัวเรือนและภาคอื่น ๆ มากขึ้น ปิโตรเคมีซึ่งเคยใช้ก๊าซแอลพีจีในสัดส่วน 20% ในปี 2545 เพิ่มเป็น 37% ในปี 2555  การใช้กองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาแอลพีจีนำเข้าอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิธีการล้วงเงินจากกระเป๋าผู้บริโภคเมื่อยังไม่สามารถขึ้นราคาเนื้อก๊าซโดยตรงจากผู้บริโภค เพราะรัฐบาลได้กำหนดราคาควบคุมเนื้อก๊าซหุงต้มไว้ที่กิโลกรัมละ 10.26 บาท (ตันละ 333 เหรียญ) ปตท.มักอ้างเสมอว่าขาดทุนก๊าซจากโรงแยกทั้งที่ในงบการเงินปตท.มีกำไรจากธุรกิจก๊าซมากกว่าธุรกิจน้ำมันและธุรกิจจากการค้าระหว่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2555 มีการกำหนดสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกก๊าซว่ามีราคา 16.96 บาทต่อกก. (550 เหรียญต่อตัน) ในขณะที่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันกำหนดไว้ 23.56 บาทต่อกก. (764 เหรียญต่อตัน) ส่วนแอลพีจีนำเข้ามีราคา 27.76 บาทต่อกก. (960 เหรียญต่อตัน) แต่ราคาแอลพีจีที่รัฐกำหนดไว้ยังอยู่ที่ 10.26 บาทต่อกก. (333 เหรียญต่อตัน)     หากเทียบสัดส่วนราคาก๊าซในประเทศกับก๊าซแอลพีจีตลาดโลก ราคาแอลพีจีจากโรงแยก 550 เหรียญต่อตัน มีสัดส่วนเท่ากับ 57% ของราคาตลาดโลกที่ 960 เหรียญต่อตัน และราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นที่ 764 เหรียญต่อตัน เท่ากับ 79% ของราคาตลาดโลก สิ่งที่ธุรกิจก๊าซพยายามจะดันราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มให้เป็นไปตามราคาตลาดโลกที่ 900 เหรียญต่อตัน มีมาโดยตลอดโดยมีแผนการขยับราคาขายปลีกเป็นขั้น ๆ เริ่มจากปรับราคา 18.13 บาท มาที่ 24.82 บาทต่อกก.ให้ได้ในปี 2556 และปรับเป็นราคา 36.35 บาทต่อกก.ในปี 2557  แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการขึ้นราคาที่เนื้อก๊าซที่รัฐกำหนดราคาควบคุมไว้จึงใช้วิธีเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยเริ่มที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงถูกปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในราคา 30 บาทต่อกก. ก่อนกลุ่มอื่นตั้งแต่ต้นปี 2554 โดยการเพิ่มราคาเป็น 30.13 บาทต่อกก.ราคาเนื้อก๊าซยังใช้ราคาเดิมที่ 10.26 บาทต่อกก. และไปเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 12.26 บาทต่อกก. ก๊าซแอลพีจีสำหรับรถยนต์ถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 4.08 บาทต่อกก.ตั้งแต่ปี 2554 ส่วนปิโตรเคมีถูกเก็บเข้ากองทุนน้ำมัน 1 บาทเมื่อต้นปี 2555 และถูกยกเลิกไปเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2558 ในยุครัฐบาลคสช.นี่เอง!  ราคาก๊าซหุงต้มยุคปฏิรูปของรัฐบาล คสช.    ความพยายามในการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของกลุ่มธุรกิจพลังงานเพื่อเพิ่มกำไรเป็นเรื่องที่มีการต่อสู้คัดค้านกันมาตลอดทุกรัฐบาล เมื่อพิจารณาจากกิจการก๊าซที่เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ผูกขาดทั้งระบบแต่ถูกแปรรูปไปเป็นธุรกิจของเอกชน แม้รัฐบาลจะยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัทปตท. แต่มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนฝ่ายเอกชนมากกว่า การปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มเดือนละ 50 สตางค์ต่อกก.เริ่มในสมัยของรัฐบาลเพื่อไทย แต่หลังจากคสช.เข้ามายึดอำนาจรัฐแล้ว การปฏิรูปพลังงานไม่ได้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลก่อนแต่อย่างไร แต่กลับมีอาการหนักกว่าเก่าเพราะอ้างว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจึงไม่ต้องกลัวประชาชนคัดค้านเหมือนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง     ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นมา กระทรวงพลังงานได้อาศัยช่วงบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ที่ไม่มีประชาชนกล้าออกมาต่อต้าน เดินหน้าปรับราคาก๊าซหุงต้มยกแผง ด้วยการกำหนดราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีจาก3แหล่งและเอามาถัวเฉลี่ยราคากัน และได้ราคาตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานต้องการที่กิโลกรัมละ 24.82 บาท โดยไม่ต้องรอขึ้นทีละ 50 สตางค์ อย่างที่กำหนดขั้นตอนไว้ 1) ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นก๊าซจากอ่าวไทยถูกปรับราคาขึ้นจาก 333 เหรียญต่อตัน (10.26 บาทต่อกก.) เป็นราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 16.43 บาทต่อกก. 2) ราคาก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมัน ใช้ราคาตลาดโลก (CP) - 20 เหรียญ ซึ่งขณะนั้นราคาตลาดโลกเหลือ 462 เหรียญต่อตัน ดังนั้นราคาโรงกลั่นน้ำมันคือ 462-20= 442 เหรียญ หรือ 14.58 บาทต่อกก. 3) ราคาแอลพีจีนำเข้า ใช้ราคา CP + 85 เหรียญ = 462+ 85 = 547 เหรียญต่อตัน หรือ 18.05 บาทต่อกก. ถือว่ากระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลอำนาจพิเศษสามารถดำเนินการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นภาคใหญ่ที่สุดได้สำเร็จในยุคนี้ และยังสามารถปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มของโรงแยกก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยากรในอ่าวไทยได้ตามที่กลุ่มธุรกิจพลังงานได้มีความพยายามมาหลายปี แต่ทำไม่สำเร็จในสมัยรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ต้องรอรัฐบาลจากการรัฐประหารมาต่อยอดให้จนสำเร็จ จึงมีคำถามว่า คสช.ทำรัฐประหารมาเพื่อภารกิจอะไรกันแน่? เพื่อสร้างความปรองดอง? หรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ? การอ้างว่าใช้ราคาเดียวกันยกแผง จะได้ไม่หาว่าบริษัทปิโตรเคมีเอกชนใช้ราคาถูกกว่าชาวบ้าน แต่การที่ไม่มีหน่วยงานใดกำกับราคาก๊าซแอลพีจีที่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนซื้อ เพราะกระทรวงพลังงานอ้างว่าดูแลราคาเฉพาะที่นำแอลพีจีไปใช้เป็นเชื้อเพลิง การใช้แอลพีจีเป็นวัตถุดิบจึงเป็นการตกลงกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก ดังนั้นราคาซื้อขายแอลพีจีระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก จึงเป็นเงินกระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาของกลุ่มเดียวกัน  ส่วนราคาที่ปรับใหม่เป็นราคาที่กำหนดให้ประชาชนทุกภาคส่วนเป็นผู้รับภาระในการเพิ่มกำไรให้บริษัทเอกชน นอกจากนี้การเก็บภาษีสรรพสามิตก็เก็บเฉพาะผู้ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ส่วนบริษัทปิโตรเคมีเอกชนไม่ต้องจ่าย แม้จะเป็นผู้ก่อขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ก็ไม่ต้องรับภาระใดๆ ทั้งสิ้น กองทุนน้ำมันที่ผิดกฎหมายก็ยังเปิดให้เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน และผู้ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงต่อไป แต่บริษัทปิโตรเคมีเอกชนได้รับคำสั่งใหม่ว่าไม่ต้องส่งเงินเข้ากองทุน 1 บาทต่อกก.แล้ว นับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป! เมื่อต้นปี 2558 กรรมาธิการปฏิรูปพลังงานในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญผู้ค้ามาตรา 7 ด้านแอลพีจีมาประชุม ในที่ประชุมผู้ค้ามาตรา 7 ได้ให้ความเห็นว่าราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้าบวกค่าใช้จ่าย 85 เหรียญต่อตันนั้นมีราคาแพงเกินสมควร และผูกขาดการนำเข้าโดยบมจ.ปตท. การนำกองทุนน้ำมันมาอุดหนุนการนำเข้าแอลพีจีตันละ 85 เหรียญ จึงเป็นประโยชน์ให้กับปตท.เท่านั้น กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 เสนอให้กระทรวงพลังงานเปิดประมูลให้ผู้ค้ารายอื่นเสนอราคานำเข้ามาแข่ง ใครเสนอได้ถูกกว่า CP+85 เหรียญ ก็ให้เป็นผู้นำเข้าแอลพีจีซึ่งจะได้ราคาถูกกว่านี้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่กระทรวงพลังงานจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้ตอบสนองที่จะทำให้มีการแข่งขันการนำเข้าแอลพีจีแต่ประการใด การที่รัฐบาลสมคบกับบริษัทธุรกิจเอกชนรายเดียวผูกขาดธุรกิจก๊าซแอลพีจีทั้งระบบเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ? สิ่งที่ต้องตั้งคำถามคือเหตุใดราคาก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยที่เป็นทรัพยากรในบ้าน จึงมีราคาแพงกว่าก๊าซแอลพีจีราคาตลาดโลก!! ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กันยายน 2558 ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ 327 เหรียญต่อตัน หรือ 11.68 บาทต่อกก. แต่ราคาแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซยังคงยืนที่ราคา 498 เหรียญต่อตัน หรือ 17.79 บาทต่อกก. แม้แต่ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นก็มีราคาลดลงเพราะถูกกำหนดราคา CP. (Contract Price) -20 เหรียญต่อตัน จึงมีราคาที่ 423 เหรียญต่อตัน หรือ 15.11 บาทต่อกก. การกำหนดให้ราคาแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันเป็นราคา CP-20 แต่ราคาโรงแยกซึ่งใช้ทรัพยากรจากก๊าซในอ่าวไทย อุปกรณ์ทั้งท่อก๊าซและโรงแยกก๊าซที่สร้างจากภาษีของประชาชนเมื่อนานมาแล้ว ได้เลยจุดคุ้มทุนนานแล้ว แต่ราคาแอลพีจีกลับมีราคาแพงกว่าราคาตลาดโลกและราคาจากโรงกลั่นน้ำมันที่นำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกเคยมีราคาเทียบสัดส่วนกับราคาแอลพีจีตลาดโลกที่ 57% ราคาแอลพีจีตลาดโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 อยู่ที่ 297 เหรียญต่อตัน หรือ 10.67 บาทต่อกก. หากเทียบสัดส่วนกับราคาตลาดโลก ราคาจากโรงแยกก๊าซควรมีราคาเพียงกิโลกรัมละ 6.0819 บาทเท่านั้น แม้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะมีการปรับลดราคาก๊าซหุงต้มลง 2 บาทต่อกก. จากราคา 22.29 บาทต่อกก. เป็น 20.29 บาท แต่การคงกำหนดราคาเนื้อก๊าซจากโรงแยก (ซึ่งผลิตได้ในปริมาณสัดส่วนสูงถึง 51.7% ของจำนวนที่ต้องการใช้ในประเทศ) ที่ราคา 15.45 บาทต่อกก. ส่วนราคาจากโรงกลั่นใช้ราคาตลาดโลกลบ20เหรียญต่อตัน ซึ่งทำให้ได้ราคาที่สมเหตุสมผลคือ 9.9512บาทต่อกก. ส่วนราคานำเข้ากบง.ให้บวกเพิ่ม 85 เหรียญต่อตัน ทำให้ราคานำเข้าสูงกว่าราคาตลาดโลกถึง3บาทต่อกิโลกรัมที่ราคา13.73บาทต่อกก. (ราคาตลาดโลก10.67บาท/กิโลกรัม) เมื่อเอา 3 แหล่งมาถัวเฉลี่ย ราคาจากโรงแยกที่แพงสุดๆจึงดึงราคาถัวเฉลี่ยให้สูงตาม คือ 13.73บาทต่อกก. ข้อเสนอเพื่อการพิจารณารัฐบาลควรจะบริหารราคาก๊าซหุงต้มให้มีความสมเหตุสมผลเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการดำเนินการดังนี้1) ให้ปรับสูตรราคาก๊าซจากโรงแยกซึ่งมีสัดส่วนผลิต 51.7% และก๊าซจากโรงกลั่นน้ำมันซึ่งมีสัดส่วนผลิต 27.4%โดยใช้สูตรราคาเดียวกันคือราคา CPลบ20 เหรียญต่อตัน ซึ่งจะทำให้ราคาที่ผลิตได้ในประเทศต่ำกว่าราคาตลาดโลก โดยปัจจุบันจะได้ราคา 9.95บาท/กิโลกรัม2) ก๊าซนำเข้าเสนอให้มีการเปิดประมูลใครสามารถนำเข้าในราคาต่ำกว่า CP+85 เหรียญต่อตัน มากที่สุดให้ได้สิทธิในการนำเข้า เมื่อราคาจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ โรงแยกและโรงกลั่นมีราคาต่ำกว่าตลาดโลก 20 เหรียญต่อตัน และราคานำเข้าให้มีการแข่งขันด้วยการประมูล ผู้เสนอราคานำเข้าที่ราคาต่ำสุดได้สิทธินำเข้า ก็จะสามารถทำให้ราคาจัดหาไม่เกินจากราคาตลาดโลกที่ 10.67 บาทต่อกก.ได้ เมื่อบวกภาษีและค่าการตลาดหรือกองทุนแล้ว ราคาปลีกไม่ควรเกินราคาที่กิโลกรัมละ 18.79 บาท หรือราคาถังละ 281.85 บาท เมื่อบวกค่าขนส่งแล้วราคาก๊าซหุงต้มต่อถังควรไม่เกิน 320 บาทหากรัฐบาลคสช.ทำได้ดังนี้ จะเป็นการให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมรวมทั้งเป็นผู้จ่ายภาษีในการสร้างอุปกรณ์ทั้งท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซ คลังก๊าซต่าง ๆ รัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบมจ.ปตท. ควรพิจารณาราคาก๊าซหุงต้มและกำไรของบริษัทให้พอเหมาะพอสมกับการที่ก๊าซหุงต้มเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เป็นต้นทางของค่าครองชีพทั้งราคาอาหารและราคาสินค้าอื่น ๆ หากรัฐบาลพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนก็จะได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญว่าท่านไม่ได้มายึดอำนาจเพื่อทะลุทลวงอุปสรรคให้กับกลุ่มทุนพลังงานดังที่สังคมเริ่มมีคำถามกับท่าน

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point