ฉบับที่ 203 ผู้ประกอบการขนมเปี๊ยะ ปั้นด้วยใจ

เริ่มศักราชใหม่ทุกคนมีสิทธิ์นำเรื่องราวดีๆ จุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 นิตยสารฉลาดซื้อได้จัดเวทีเชิญผู้ประกอบการที่ทางนิตยสารฉลาดซื้อเคยนำสินค้ามาทดสอบในเรื่อง สารกันบูด จากกลุ่มขนมและอาหารประเภทต่างๆ จำนวน 9 ราย และตัวแทนจากห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ในเวทีได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล มาให้ความรู้ในเรื่องของสารกันเสียและการใช้ที่ถูกวิธี และยังได้แลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งว่าจะได้นำข้อมูลจากการทดสอบไปปรับปรุงและควบคุมวัตถุดิบในการผลิตของตน อย่างเช่น ขนมเปี๊ยะครูสมทรง ขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร และขนมเปี๊ยะคุณหมู ถือเป็นความร่วมมือที่ผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์จากการยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการ ส่วนทางห้างค้าปลีกเอง ก็รับจะนำข้อเสนอและข้อมูลจากเวทีไปพัฒนาในเรื่องการจัดซื้อสินค้าเพื่อผลิตและจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป ทุกคนมีสิทธิ์ฉบับบนี้จึงพาไปพบกับมุมมองของผู้ประกอบการรายเล็กๆ  3 เจ้า ที่มีมุมมองในการเลือกสรรสิ่งดีๆ ได้ด้วยมือของเราเองท่านแรกคุณวิมล ศิริวณิชย์วงศ์ จากขนมเปี๊ยะร้านหมู ซอยโปโล เล่าว่า “ พื้นเดิมของครอบครัวพี่จะทำอาหารทานเอง พ่อแม่ก็ทำให้ทานเองตั้งแต่ปู่ย่าเขาก็จะทำอาหารให้ทานเอง แล้วเราก็จะรู้วิธีการว่าจะทำอย่างไรให้อาหารอยู่ได้นานและเราก็จะรู้จักวิธีเลือกวัตถุดิบว่าอย่างไรถึงจะดี เขาจะสอนเราหมดเหมือนมันเป็นอะไรที่มันซึมอยู่ในสายเลือดก็ว่าได้ ทั้งครอบครัวเลยไม่ใช่เฉพาะแต่พี่หรอก คนในครอบครัวจะรู้สึกว่าการที่เราจะเป็นคนที่มีสุขภาพที่ดีนั้นต้องเริ่มจากการกิน และบวกกับความที่เราชอบทำอาหารก็คิดว่าถ้าเรารู้สึกอย่างไรก็อยากให้คนอื่นเค้ารู้สึกเหมือนเรา การควบคุมคุณภาพเลือกวัตถุดิบอย่างไรบ้างอย่างหนึ่งที่ต้องซื้อก็คือเรียกว่าต้องมาจากแหล่ง อย่างไข่เค็มที่เราใช้ก็ไม่ได้ซื้อทั่วๆ ไปจากท้องตลาด เราต้องมีเจ้าประจำซึ่งเรียกได้ว่าค้าขายกันมานาน ทุกอย่างเลยแม้กระทั่งแป้งสาลี ต้องผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรม ผ่าน อย. ทุกอย่างต้องมีใบกำกับเรียบร้อยซึ่งตรงนั้นก็จะเหมือนกับเรากรองมาแล้วส่วนหนึ่ง แต่ที่สำคัญคือคุณภาพของวัตถุดิบ ต้องมีการผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมมาทุกอย่าง จากข่าวที่ออกไปมีผลกระทบอย่างไรตอนแรกที่นักข่าวเขียนคือการที่พี่ใช้คำว่าไม่มีวัตถุกันเสียนั้นมันผิดนะ ไม่ถูกต้องเพราะว่าถ้าไม่มีแปลว่าต้องไม่เจอเลย แต่จากที่เคยฟังตัวสารเบนโซอิกไม่ได้เกิดจากวัตถุกันเสียแต่มันเกิดจากถั่วด้วยเพราะฉะนั้นอะไรคือข้อสรุปที่ให้เราเขียน พี่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่แม้กระทั่งผู้ประกอบการแบบพี่เอง หลายๆ คนก็ไม่เข้าใจหรอกว่ามันผิดอย่างไร และถ้าพี่ไม่ไปฟังพี่ก็ยังไม่รู้ว่ามาจากไหน แต่ตอนที่ข่าวออกไปส่วนหนึ่งลูกค้าเขาไม่เข้าใจนะ เขาอ่านข่าวปุ๊บหมดเลย 10 กว่าร้านที่เจอวัตถุกันเสีย เมื่อวันก่อนลูกค้ามาเขาบอกเขาไม่ได้ทานมาเกือบปีเลยเพราะแฟนเขาไม่ให้ซื้อแต่เขาก็มั่นใจว่าพี่ไม่ได้ใส่เพราะเขาซื้อไปถ้าวางทิ้งไว้ 10 วันขึ้นราหมดเลย คือพี่ไม่ได้ทำตรงนี้มาแค่ปีสองปี พี่ทำงานตรงนี้มาจะ 40 ปีแล้ว ถ้าเราไม่ได้ให้ความไว้วางใจกับลูกค้ามันคงยืนมาไม่ถึงตรงนี้ เพราะขายอยู่แต่ในร้านไม่เคยลงเฟสบุคหรืออะไรทั้งนั้น ไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ ตอนที่เป็นข่าวมีนักข่าวบอกว่าทำไมพี่ไม่ตอบโต้ พี่ก็บอกไปว่าไม่จำเป็นหรอกพี่คิดว่าลูกค้าเข้าใจนะ ถูกก็คือถูก วันหนึ่งลูกค้าก็จะกลับมาเหมือนเดิมและก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คนที่เป็นลูกค้ากลุ่มหนึ่ง ตอนที่เป็นข่าวเขาโทรมาหาเลย บอกว่าเขาเสียความรู้สึกมาก วันนั้นพี่ไม่ได้อยู่บ้านเลยไม่ได้ฟังข่าวก็ถามเขาว่าเสียความรู้สึกเรื่องอะไร เขาก็ถามว่าทำไมพี่ใส่วัตถุกันเสีย วันนั้นลูกค้าโทรมากันใหญ่เลย พี่ก็ถามว่าไปเอามาจากไหน เขาถึงบอกว่าข่าวออก พี่ก็งงและก็ไม่รู้เรื่อง ที่บ้านก็ไม่รู้เรื่อง แล้ววันต่อมาหนังสือพิมพ์ฉบับเล็กลงแล้วคนก็อ่านแค่ว่าพบสารกันเสียในขนมเปี๊ยะ คนอ่านแค่นี้ไม่ได้อ่านข้างในแต่ว่ามันมีแบรนด์ร้านเราอยู่ก็แสดงว่าอ๋อร้านนี้มีแน่นอน คือคนไทยเป็นแบบนี้เขาไม่อ่านทั้งหมด ถ้าเขาอ่านทั้งหมดเขาก็เข้าใจว่าข่าวมันก็เป็นตามเนื้อข่าว แต่พี่ก็ไม่มีอะไรก็ช่างมัน แต่ถามว่ากระทบไหมก็มีผลกระทบนะ ไม่เฉพาะแต่ร้านพี่นะร้านอื่นๆ ก็คงเหมือนกัน แต่พอเรามาคิดว่าเราทำผิดอย่างไร ซึ่งก็มีลูกค้ามาแนะนำนะว่าพี่ต้องเขียนอย่างนี้ๆ สรุปพี่บอกว่าเอาอย่างนี้พี่ไม่เขียนอะไรเลยพี่เขียนแค่ว่าเก็บในตู้เย็นแล้วกัน (หัวเราะ) คนที่เขาทำอาหารให้คนอื่นกินต้องคงคุณภาพของอาหารถูกที่สุดเลย ถ้าคุณเป็นคนรุ่นพี่คุณจะรู้ว่าเคยทานอะไรแล้วมันอร่อยแล้วเดี๋ยวนี้มันจะไม่เหมือนเดิม แต่คำพูดแบบนี้คูณจะไม่ได้ยินจากปากลูกค้าของพี่นะ แต่ถ้าของร้านพี่ทานเมื่อ 30 ปีที่แล้ววันนี้ก็ยังโอเคเหมือนเดิม คุณต้องคิดว่าพี่ต้องทำมันด้วยใจรักขนาดไหนมันถึงอยู่มาได้ ไม่ว่าข่าวจะว่าอย่างไรแต่พี่ก็ยังผ่านมาได้แต่ก็น้อยใจนะเพราะเราไม่สามารถไปบอกลูกค้าทุกคนที่ได้รับข่าวนี้ได้ บางคนเข้าใจแต่บางคนอาจจะเสียความรู้สึกไปเลยก็ได้ ว่าที่กินมาตั้งนานนี่ใส่วัตถุกันเสียเหรออยากฝากอะไรถึงผู้ผลิตวัตถุดิบสำหรับทำขนม เช่น บริษัทผลิตแป้ง,ถั่วกวนสำเร็จรูปเขาก็ต้องมีคุณธรรมนะ หมายถึงว่าเขาต้องไม่เติมวัตถุกันเสีย ต้องมีวิธีรักษาให้มันอยู่ได้นาน ต้องมีความซื่อสัตย์กับลูกค้า อย่างของพี่ก็เลือกตั้งแต่ถั่วเลยต้องเป็นถั่วเกรด 1 ที่ไม่มีกรวด หิน ซึ่งราคาจะแพงกว่า แต่พอล้างน้ำให้สะอาดแช่ไว้แล้วใช้ได้เลย แต่มันก็จะมีถั่วผ่านรังสี ถั่วพอผ่านรังสีแล้วมันจะเก็บได้นาน แต่มันก็จะมีอันตรายกับผู้บริโภค อย่างโรงถั่วที่เขาโม่ให้พี่พอเขากะเทาะเมล็ดออกจากฝักแล้วจะอยู่ได้แค่ 1 เดือนเท่านั้นเอง ไม่นานกว่านี้ซึ่งถั่วที่พี่สั่งมานั้นก็จะเก็บนานไม่ได้ เพราะเดี๋ยวจะมีแมลงอะไรต่ออะไร เราก็การันตีจากความรู้สึกได้ว่ามันไม่ใส่ยา เพราะถ้ามียาผ่านรังสีปุ๊บแมลงไม่มีแน่นอนคุณชุติกานจน์ กิตติสาเรศ และคุณนลพรรณ มั่นนุช พี่ดาและพี่อิ๋ว ร้านขนมเปี๊ยะสิงห์เพชร ซอยชินเขต ถนนงามวงศ์วาน เล่าประวัติก่อนเริ่มมาทำขนมเปี๊ยะขายว่าแต่เดิมนั้นขายน้ำ และขนมอยู่กับเตี่ย รับขนมของคนอื่นมาขายหลายยี่ห้อ จนวันหนึ่งก็มีความคิดว่าจะทำอะไรขายดี จึงได้ไปเรียนทำขนมปังแต่ก็ทำไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาเรียนทำขนมเปี๊ยะ ด้วยความที่ชอบทานมาตั้งแต่เด็ก จึงชอบที่จะทำขนมเปี๊ยะ แล้วนำความรู้ที่เรียนมาลองทำทานเองบ้าง ทิ้งบ้าง ให้เพื่อนช่วยชิมบ้าง และปรับปรุงสูตรให้เป็นสูตรของตนเองจนเพื่อนบอกว่าสูตรนี้อร่อยแล้ว จึงมาทำขาย โดยเริ่มไปตั้งบูธขายที่เดอะมอลล์ท่าพระ และเดอะมอลล์บางแค ก็ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี หลังจากข่าวเรื่องพบสารกันบูดในขนมเปี๊ยะออกไปเป็นอย่างไรบ้างแต่ข่าวที่ออกไปก็ส่งผลให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น เพราะมีโทรศัพท์เข้ามาสอบถามว่าหาซื้อได้ที่ไหนบ้าง ทราบมาจากข่าวจึงอยากลองชิม เราคิดว่าวัตถุกันเสียน่าจะปนเปื้อนมากับแป้งที่ใช้ทำขนม  แต่แป้งที่เราใช้นั้นมีฉลาก อย. เพราะเราคิดว่าของที่มี อย. กำกับน่าจะสะอาดอยู่แล้ว เราจึงไม่ทราบจริงๆ ว่ามีสารปนเปื้อนอยู่ จากเรื่องนี้ก็ส่งผลกระทบทำให้ยอดขายตกลงไปนิดหน่อย เพราะผู้บริโภคอาจจะยังไม่กล้าซื้อไปทานแล้วมีวิธิแก้ไขอย่างไรเมื่อยอดขายตกลงไปแบบนี้ ได้คุยกับลูกค้าหรือไม่ลูกค้ามีทั้งที่หยุดซื้อขนมเราไปบ้าง และที่ยังซื้ออยู่บ้าง แม้จะซื้อน้อยลง แต่ยังมีลูกค้าที่ยังไว้ใจร้านเรา เพราะขนมเราทำครั้งละน้อยๆ พยายามทำใหม่ทุกวัน เราเน้นที่ความสดใหม่ เพราะร้านเราเพิ่มเริ่มต้น ต้องคงคุณภาพให้ได้  คือเมื่อทำเสร็จแล้วก็จัดส่งให้ลูกค้าทันที เพราะส่วนใหญ่เราจะทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า เช่น ลูกค้าโทรมาสั่งจำนวน และนัดเวลาส่งขนมไว้ เราก็จะทำตามนั้น  แต่หากไม่ทันก็ต้องขอเลื่อนเวลาลูกค้าออกไป เพราะขนมของเราจะใช้เวลาในการทำค่อนข้างนานในการทำขนมให้อร่อย และคงคุณภาพไว้ต้องมีความสด ใหม่ เพราะขนมที่นำออกมาจากเตาใหม่ๆ จะกรอบ รสชาติจะหวาน หอม ละมุนในปาก แต่หากพักไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แป้งขนมจะนิ่มและเย็นลิ้น  นี่เป็นคำบอกเล่าจากลูกค้าที่ติดใจในความอร่อยของขนมร้านเรา และขนมทางร้านเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย นี่จึงเป็นจุดขายของร้าน นอกจากนี้ที่ร้านเราจะซื้อแป้งทำขนมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แล้วทำขนมให้หมดภายในอาทิตย์นั้นๆเพราะหากซื้อมาเก็บไว้นานแป้งจะไม่สด พี่คิดว่าผู้ประกอบการท่านอื่นควรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคอย่างไรบ้างอย่างร้านเรา ของใหม่ก็คือของใหม่ที่เพิ่มทำออกมา เพราะเราทำตามออเดอร์ลูกค้า จะไม่ทำขนมเก็บไว้นาน และต้องการให้ผู้ประกอบการรายย่อยรักษาเรื่องนี้ไว้ ไม่โกหกลูกค้า ไม่นำของเก่าออกมาขาย แล้วบอกว่าเป็นของใหม่ คือให้เปรียบเหมือนเราทำรับประทานเอง และวัตถุดิบที่ทางร้านใช้ ทั้งแป้งทำขนม เกลือ สีผสมอาหาร จะใช้ยี่ห้อที่มีฉลาก อย. หลังจากที่กลับมาจากการอบรม เราได้กลับมาจัดโต๊ะใหม่ มีการใส่ถุงมือตลอดเวลาที่ทำขนม จากเดิมที่ใส่บ้าง ถอดบ้าง เพราะเราใช้ถุงมือแพทย์จะขาดง่าย  ก็ได้ปรับเปลี่ยนถุงมือใหม่เมื่อลูกค้าเสนอความคิดเห็น หรือมีคำติชมเข้ามา ได้นำมาปรับใช้กับที่ร้านหรือไม่มีค่ะ เช่นเริ่มแรกขนมที่ทำมาเป็นแป้งนิ่ม ซึ่งจะเสียง่าย จึงนำมาปรับสูตรไปเรื่อยๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ ขนมก็จะเก็บไว้ได้นานขึ้นจากเดิมเก็บไว้ได้ 2-3 วัน เมื่อปรับปรุงสูตรใหม่จะเก็บไว้ได้ 4 วัน ฉลากที่ร้านจะเขียนแจ้งว่าควรเก็บไว้ในตู้เย็นทันที เพราะขนมเราไม่ได้ใส่วัตถุกันเสีย ขนมอยู่ในตู้เย็นได้ 2 สัปดาห์  รวมทั้งบอกกล่าวกับลูกค้าโดยตรงมากกว่า เช่น เมื่อลูกค้ามาซื้อขนมก็จะบอกกับลูกค้าทันทีว่าควรทานขนมให้หมดภายใน 3 วัน เหตุที่เราไม่ใส่วัตถุกันเสีย เพราะเราต้องการให้ลูกค้าได้ดูแลสุขภาพด้วยคุณครูสมทรง นาคศรีสังข์ ขนมเปี๊ยะครูสมทรง  อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐมสมัยก่อนตอนเริ่มทำขนมก็ช่วยกันทำกับลูกอีก 3 คน ในห้องแถว 1 ห้อง ลูกเรียนที่สาธิตเกษตร ส่วนครูเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการที่ ร.ร.อนุบาลกำแพงแสน ตอนเช้าก่อนไปส่งลูกเราก็ตั้งเตาถ่านนึ่งถั่วไว้หน้าบ้าน  ไฟก็ดับไปเอง พอกลับมาตอนเย็นก็จะนำถั่วมาบด นวดแป้ง ช่วยกันปั้นขนม ช่วยกันทำจนเสร็จ และนำไปส่งตอนเช้าโดย บรรจุถุงละ   5 ลูก  ขนมลูกจะลูกใหญ่มาก ขายถุงละ 20 บาท ซึ่งถ้าถุงไหนที่ขนมลูกไม่สวยเราก็จะนำไปให้ลูกๆ ทานที่ จะขายเฉพาะลูกสวยๆ จะเห็นว่าเราดูแลเรื่องคุณภาพมาตั้งแต่เริ่มแรก ดังนั้นเมื่อเกิดเรื่องทำนองนี้ขึ้นจึงทำให้เราเครียดมากจากกิจการเล็กๆ มาจนถึงปัจจุบันที่เป็นที่รู้จักในทุกวันนี้ เราค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปตั้งแต่เริ่มทำมาก็เติบโตมาเรื่อยๆ แต่เมื่อมีคนเชิญให้ไปออกรายการทางช่อง 5 พอรายการออกอากาศก็มีคนโทรเข้ามาสั่งเป็นจำนวนมากจนเราทำไม่ทัน ตอนนั้นเหมือนเป็นการฆ่าตัวเองเลย เพราะทำไม่ทัน พอเราเร่งรีบขนมก็ไม่มีคุณภาพ รวมทั้งมีผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเจ้าอื่นเกิดขึ้นมาอีกหลายราย จึงค่อยๆ เติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ ขนมของเราเน้นที่ความสดใหม่ จึงไม่คิดที่จะใส่สารกันบูด ครูจะเล่าถึงกลยุทธ์ที่เหตุใดครูจึงทำขนมที่ไม่ใส่สารกันบูด และก็ไม่มีความคิดที่จะใส่ด้วย เพราะหากเราทำขนมที่ขายหมดภายใน 3 วัน เราจะสามารถทำขนมได้ทุกวัน เพราะลูกค้าที่ซื้อไปจะต้องรับประทานให้หมดภายใน 3 วัน เพราะไม่เช่นนั้นขนมจะเสีย แต่หากเราใส่สารกันบูด หรือทำขนมที่อยู่ได้ 7 วัน หรือนานเป็นเดือน เราก็ไม่รู้ว่าขนมเราจะขายได้เมื่อไร แล้วขนมก็จะไม่อร่อยเหมือนขนมที่ทำสดใหม่ด้วย  ตอนที่มีข่าวว่าขนมของคุณครูใส่สารกันบูดมีอะไรเกิดขึ้นบ้างครูก็รู้สึกเสียใจ และโมโหเหมือนกัน เพราะขนมเราไม่ได้ใส่สารกันบูดจริงๆ คิดว่ามีคนกลั่นแกล้งเราหรือเปล่า เพราะช่วงนั้นมีทั้งข่าวโทรทัศน์ และข่าวหนังสือพิมพ์ออกมาจำนวนมาก ทำไมข่าวออกมาแบบไม่นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพนักงานของเรา เพราะโดยตัวเราเองนั้นไม่ทำอาชีพนี้ก็มีอาชีพอื่น แต่พนักงานของเราจะเดือดร้อน ดังนั้นเราจึงคิดหาวิธีแก้ไข เพราะเห็นในตอนท้ายข่าวว่าอาจปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ จึงนำเรื่องมาปรึกษากับหลาน โดยให้นำวัตถุดิบทุกชนิด ทั้ง แป้งสาลี   ไข่  เกลือ  ทุกอย่างที่เราใช้ประกอบในการทำขนมไปตรวจหาสารปนเปื้อน ซึ่งผลปรากฏว่าพบอยู่ใน แป้งสาลีที่ใช้ทำขนม จึงติดต่อสอบถามไปที่บริษัทผู้ผลิตแป้ง เขาแจ้งว่าในตัวแป้งสาลีได้ใส่สารฟอกขาว  “ตอนแรกติดต่อขอให้ทางบริษัทผลิตแป้งที่ไม่ใส่สารให้เรา ได้รับคำตอบที่ไม่แน่นอนว่าต้องมีการสั่งซื้อในแต่ละครั้งจำนวนมากน้อยเพียงใด และคิดว่าเราเป็นธุรกิจเล็กๆ เขาจะทำให้เราหรือไม่  จึงติดต่อให้ทางบริษัทออกใบรับรองให้สำหรับวัตถุดิบที่เราใช้ทุกอย่างว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้าง แต่ต่อไปจะพยายามติดต่อกับทางบริษัทผู้ผลิตแป้งอีกครั้งว่าต้องสั่งผลิตในจำนวนเท่าไรที่จะไม่ต้องใส่สารฟอกขาวให้เราได้ คิดอย่างไรหากจะต้องมีการรวมกลุ่มกันของผู้ผลิตขนมเปี๊ยะในการสั่งแป้งเพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐานยังไม่เคยคุยเรื่องนี้กับผู้ผลิตรายอื่นเหมือนกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้ต้องมีคนกลางช่วยประสานให้ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะหลายรายมารวมตัวกันเพื่อสั่งแป้งสาลีกับผู้ผลิตรายเดียว น่าจะมีความเป็นไปได้สูงกว่าให้ครูเป็นผู้ประสานเอง ดังนั้นจึงขอให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเป็นคนกลางช่วยประสานกับกลุ่มผู้ผลิตขนมที่เขาต้องการแป้งสาลีที่ไม่ใส่สารให้ด้วยค่ะ อยากให้ไปสอบถามผู้ผลิตขนมเจ้าที่ไม่พบสารกันบูดว่าใช้แป้งชนิดใดเป็นส่วนผสม ให้เขาช่วยแนะนำเรา ซึ่งวิธีนี้ครูคิดว่าจะเป็นวิธีที่ง่ายกว่า ต้องลองดูก่อน  แต่อาจไม่ได้รวมกลุ่มเฉพาะผู้ผลิตขนมเปี๊ยะเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ผลิตขนมชนิดอื่นที่ใช้แป้งสาลีเป็นวัตถุดิบในการผลิตขนม หรือให้บริษัทผู้ผลิตแป้งสาลีเสนอมาให้เราว่าบริษัทใดที่สามารถผลิตแป้งแล้วไม่ใส่สารกันเสียได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 สารกันบูดใน “ขนมเปี๊ยะ”

ขนมเปี๊ยะ อีกหนึ่งขนมยอดนิยมที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน จัดเป็นขนมที่นิยมซื้อหาไปเยี่ยมเยือนเพื่อนฝูง ญาติมิตร หรือรับประทานเป็นของว่างแสนอร่อย ปัจจุบันจึงมีขนมเปี๊ยะวางขายอยู่ทั่วไปมากมายหลายแบบหลายรสชาติ อย่างไรก็ตามด้วยความที่ขนมเปี๊ยะมีส่วนประกอบหลักคือ แป้ง และไส้ขนมที่มีปริมาณค่อนข้างเยอะทำให้ขนมเปี๊ยะมีความชื้นสูง ซึ่งเหมาะต่อการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้โอกาสที่ขนมเปี๊ยะจะเน่าเสียหรือเกิดเชื้อราก่อนรับประทานหมดนั้นเกิดได้ค่อนข้างง่าย ดังนั้นผู้ผลิตรายหลายจึงเลือกที่จะใส่หรือเติมสารกันบูดลงไปด้วย เพื่อคงสภาพของขนมให้อยู่ได้นานๆ หลายวัน ทำให้ฉลาดซื้อ ฉบับนี้เลือก ขนมเปี๊ยะ จากหลายสถานที่ผลิต นำมาทดสอบหาปริมาณสารกันบูด มาดูกันว่าบรรดาเจ้าดังเจ้าอร่อยมียี่ห้อไหนบ้างที่พบการปนเปื้อนของสารกันบูดขนมเปี๊ยะ ใส่สารกันบูดได้หรือไม่?สารการบูดที่เราทำการทดสอบครั้งนี้คือ กรดเบนโซอิก และ กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารที่นิยมใส่ในผลิตภัณฑ์กลุ่มเบเกอรี่ สามารถยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ได้ดีโดยจะไปทำให้กระบวนการแทรกซึมของจุลินทรีย์เข้าไปในอาหารอาหารผิดปกติ ทำให้จุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง ข้อกำหนดการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่ได้กำหนดเกณฑ์การใช้ กรดเบนโซอิก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ ซึ่งขนมเปี๊ยะจัดอยู่ในกลุ่มดังกล่าว เช่นเดียวกับขนมเค้ก ขนมพาย โดยในประกาศระบุเพียงว่า ให้ใช้ใน “ปริมาณที่เหมาะสม” ซึ่งถ้าลองนำไปเทียบกับกลุ่มอาหารชนิดอื่นๆ ส่วนใหญ่กฎหมายจะอนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ส่วน กรดซอร์บิก ไม่มีการกำหนดปริมาณการใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ขนมอบ อย่างไรก็ตามข้อกำหนดที่อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมนั้น เท่ากันกับที่กำหนดไว้ในมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ โคเด็กซ์ (Codex) ที่ก็อนุญาตให้ใช้กรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ในกลุ่มอาหารประเภทขนมอบ ส่วน กรดซอร์บิก โคเด็กซ์ กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากมีการใช้ทั้ง 2 ชนิดรวมกัน ปริมาณสูงสุดที่พบเมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัมผลการทดสอบผลทดสอบ ขนมเปี๊ยะ 13 ตัวอย่าง พบว่ามีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบการปนเปื้อนของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก คือ ขนมเปี๊ยะเหลือง จากร้าน เอส แอนด์ พี ขณะที่ตัวอย่างขนมเปี๊ยะอีก 12 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งหมด แต่ปริมาณของ เบนโซอิก และ ซอร์บิก ในขนมเปี๊ยะจากการสุ่มสำรวจครั้งนี้ พบในปริมาณที่น้อยมาก เฉลี่ยอยู่ที่ 20.47 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมเท่านั้น เมื่อเทียบกับปริมาณที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้คือสูงสุดไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัมข้อสังเกต-มี 3 ตัวอย่างที่มีการแจ้งบนฉลากว่า ไม่ใส่สารกันบูด คือ 1.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ยี่ห้อครูสมทรง 2.ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ร้านหมู และ 3.ขนมเปี๊ยะบางกระบือ (โง้วฮั่วเตียง) แต่ทั้ง 3 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของเบนโซอิก แต่ก็พบในปริมาณเพียงเล็กน้อย จึงมีความเป็นไปได้ว่าเบนโซอิกที่พบนั้น อาจปนเปื้อนอยู่ในส่วนของวัตถุดิบโดยผู้ผลิตไม่ทราบมาก่อน หรือผู้ผลิตมีการใส่สารกันบูดลงไปในส่วนผสม-มี 1 ตัวอย่างที่แจ้งว่ามีการใช้สารกันบูด คือ ขนมเปี๊ยะกุหลาบ ยี่ห้อ แต้ เซ่ง เฮง-ขนมเปี๊ยะที่เราเลือกเก็บมาทดสอบส่วนใหญ่แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ กลุ่มแรกคือ ขนมเปี๊ยะเจ้าดังที่เป็นที่รู้จักของคนที่ชอบกินขนมเปี๊ยะ และมักนิยมซื้อหากันในช่วงเทศกาลสำคัญของชาวจีนอย่าง วันไหว้พระจันทร์ ซึ่งร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในย่านเยาวราช เช่น ขนมเปี๊ยะ อื้อ เล่ง เฮง และ ขนมเปี๊ยะแต้เล่าจิ้นเส็ง กลุ่มที่ 2 คือ ขนมเปี๊ยะที่ขายอยู่ในร้านเบเกอร์รี่ชื่อดังที่มีสาขาหลายสาขา เช่น เอส แอนด์ พี, กาโตว์ เฮาส์ และร้านขนมบ้านอัยการ และกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่อาจจะไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่พบว่ามีวางจำหน่ายอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตชื่อดังอย่าง เทสโก้ โลตัส และ บิ๊กซี ซึ่งถือว่าสามารถเข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก-ถ้าดูจากวันที่ผลิตและวันหมดอายุของตัวอย่างขนมเปี๊ยะที่สุ่มสำรวจครั้งนี้ ส่วนใหญ่จะกำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1-2 เดือน ถือว่าเก็บไว้ได้ไม่นาน แต่ก็มีหลายตัวอย่างที่ไม่ได้มีการแจ้งเรื่องวันที่ผลิตและหมดอายุ เพราะลักษณะของร้านค้าที่ขายขนมเปี๊ยะส่วนใหญ่จะเป็นแบบทำไปขายไป กฎหมายอนุโลมให้อาหารลักษณะนี้ไม่ต้องมีฉลาก ซึ่งดูแล้วอายุของขนมเปี๊ยะในกลุ่มนี้ก็น่าจะใกล้เคียงกับกลุ่มที่มีการแจ้งข้อมูลบนฉลาก คือไม่เกิน 1-2 เดือนฉลาดซื้อแนะนำ-เลือกซื้อขนมเปี๊ยะจากร้านที่มั่นใจ ดูที่ทำสะอาดผลิตใหม่ทุกวัน -ขนมเปี๊ยะที่ซื้อมาแล้วกินไม่หมด ควรเก็บในตู้เย็น ช่วยยืดอายุของขนมเปี๊ยะให้นานขึ้น-แม้ว่าผลทดสอบที่ออกมาจะบอกว่า ขนมเปี๊ยะ อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารกันบูด เบนโซอิก และ ซอร์บิก เพราะปริมาณที่พบค่อนข้างน้อย แต่ก็ควรเลือกกินแต่พอดี เพราะในขนมเปี๊ยะมีส่วนผสมทั้งน้ำตาลและน้ำมันเป็นส่วนประกอบ กินมากๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพขนมเปี๊ยะที่ขายกันอยู่ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ แบบที่เปลือกนิ่ม เช่น เปี้ยะไหว้พระจันทร์ เปี๊ยะลูกเต๋า เปี๊ยะโมจิ อีกแบบคือขนมเปี๊ยะที่เปลือกแป้งจะมีความกรอบร่วนมีลักษณะเป็นชั้นๆ เช่น เปี๊ยะใหญ่ เปี๊ยะกุหลาบ เปี๊ยะทานตะวัน เป็นต้นตามความเชื่อของประเทศจีน ขนมเปี๊ยะ ถือเป็นขนมมงคล สื่อความหมายถึงความปรารถนาดีต่อกัน ของทั้งผู้ให้และผู้รับ ขนมเปี๊ยะเป็นขนมที่คู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ ในภาษาจีนคำว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกว่า “เย่ว์ปิ่ง” ซึ่งมาจากคำ 2 คำ คือ “เย่ว์” ที่แปลว่า พระจันทร์ และคำว่า “ปิ่ง” ซึ่งหมายถึง ขนมเปี๊ยะ เพราะในเทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นช่วงเวลาที่คนจีนจะได้พบปะญาติพี่น้องแบบพร้อมหน้าพร้อมตา ร่วมกันกินขนมและชมพระจันทร์ไปพร้อมกัน

อ่านเพิ่มเติม >