ฉบับที่ 264 กระแสต่างแดน

ทำงานช่วยชาติ         รัฐบาลเดนมาร์กมีมติยกเลิกการหยุดงานในวัน Great Prayer Day ซึ่งเป็นวันสำคัญทางคริสต์ศาสนามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 โดยให้เหตุผลว่าต้องการเงินทุนเพิ่มสำหรับการใช้จ่ายภาครัฐรวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มให้กับกระทรวงกลาโหมในยุคที่ประเทศอาจต้องเผชิญสงคราม         ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป จะไม่มี “ลองวีคเอนด์” ที่เริ่มจากวันศุกร์ที่สี่หลังอีสเตอร์ ในฤดูใบไม้ผลิ หรือวัน Great Prayer Day นั่นเอง         เมื่อไม่ใช้วันหยุด ห้างร้าน สถานประกอบการ และธุรกิจอื่นๆ ก็ต้องเปิดทำการ เมื่อผู้คนมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 7.4 ชั่วโมง ก็ย่อมมีรายได้เพิ่มและเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย         กระทรวงการคลังประเมินว่ารัฐจะมีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 3,000 ล้านแดนิชโครน (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) และจะบรรลุเป้าหมายที่นาโตกำหนดไว้ว่าประเทศสมาชิกจะต้องมีงบป้องกันประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เล็กๆ ห้ามแจก         อีกสองปีโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 50 ห้องในเกาหลีจะยกเลิกการแจกสบู่ แชมพู โลชัน ยาสีฟัน ฯลฯ ในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้กับแขกที่เข้าพัก เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. การรีไซเคิลทรัพยากร (Resource Recycle Act)         หลายคนไม่ถูกใจสิ่งนี้ เพราะของใช้ส่วนตัวดังกล่าวเป็นปัจจัยที่คนเกาหลีจำนวนไม่น้อยใช้เลือกโรงแรมที่เข้าพัก เพราะมันหมายถึงโอกาสที่จะได้ใช้ “ของไฮเอนด์” เช่นเดียวกับบรรดาแบรนด์ต่างๆ ที่มักใช้วิธีการแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ผ่านทางลูกค้าของโรงแรม         ผลตอบรับจากโรงแรมที่เริ่มใช้นโยบายนี้แล้วออกมาไม่ค่อยดีนัก พนักงานบอกว่าลูกค้าส่วนหนึ่งที่ไม่อยาก “ใช้ของร่วมกับคนอื่น”​ จะโทรลงมาขอสบู่ แชมพู ขวดใหม่ บางคนที่อยากได้แชมพูหรือครีมอาบน้ำไว้ใช้ต่อก็พกพาขวดใหญ่กลับบ้านไปด้วย        บางโรงแรมจึงแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติให้ลูกค้าได้กดซื้อเองไปเลย น้องไก่กู้โลก         หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมือง Colmar ทางตะวันออกของฝรั่งเศส มีวิธีกำจัดขยะอาหารแบบ “ออกานิก” ด้วยการแจกไก่ให้ลูกบ้านนำไปเลี้ยงครัวเรือนละสองตัว         โครงการไก่กู้โลกนี้ทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่แปดแล้ว โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการได้ต้องมีสภาพบ้านที่เหมาะสมในการเลี้ยง และเพื่อให้มั่นใจว่าน้องๆ จะอยู่ดีมีสุขตลอดเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะแวะไปเยี่ยมเยียนโดยสม่ำเสมอด้วย        ไก่หนึ่งตัวมีศักยภาพในการเก็บกินอาหารเหลือได้วันละประมาณ 300 กรัม เขาคำนวณแล้วว่าวิธีการนี้สามารถกำจัดขยะอาหารของครัวเรือนที่มีสมาชิกสองคนได้ถึงปีละ 100 กิโลกรัม         อีกแผนแก้ปัญหาโลกร้อนที่เกิดจากอาหารการกินของฝรั่งเศสคือการเตรียมประกาศ “มาตรฐานการทำปุ๋ยหมัก” ให้ทุกครัวเรือนสามารถใช้อ้างอิงได้ ในเดือนมกราคมปี 2567 และขณะนี้บางโรงเรียนเริ่มลดปริมาณเนื้อสัตว์ในอาหารกลางวันแล้วน้อยก็ต้องทอน         ชายอินเดียวัย 27 ปียื่นฟ้องบริษัทขนส่งมวลชนบังกาลอร์ (BMTC) เรียกร้องค่าเสียหายทางจิตใจที่ถูกกระเป๋ารถเยาะเย้ยเมื่อเขาทวงเงินทอน 1  รูปี         เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2562 เมื่อเขาโดยสารรถเมล์ของ BMTC แล้วให้เงินกระเป๋ารถไป 30 รูปี เพื่อจ่ายค่าโดยสารในอัตรา 29 รูปี แต่กระเป๋าไม่ยอมทอนเงินให้ แถมเธอยังพูดจาไม่ดี เมื่อเขาไปร้องเรียนกับพนักงานอาวุโสของบริษัท คนเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะเขาอีกเช่นกัน         เขาจึงใช้สิทธิตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ยื่นฟ้องบริษัทและผู้บริหาร ข้อหาบกพร่องในการให้บริการ  และเรียกร้องค่าเสียหาย 15,000 รูปี จากการถูกทำให้เสียความรู้สึก            หลังจากต่อสู้คดีกันเป็นเวลา 3 ปี ศาลตัดสินว่าพฤติกรรมการให้บริการของกระเป๋ารถคนดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และตัดสินให้เขาได้รับเงินทอน 1 รูปี พร้อมค่าชดเชยอีก 3,000 รูปี (ประมาณ 1,250 บาท) เพื่อเป็นการเยียวยาสภาพจิตใจรับมือตัวฤทธิ์         ซัมเมอร์นี้อิตาลีคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับไปเหมือนก่อนช่วงโควิดระบาด และคราวนี้บรรดาเมืองเล็กที่อยู่ในเส้นทางระหว่างสถานที่ยอดนิยมก็เตรียมมาตรการรับมือไว้แล้ว        ชุมชนเหล่านี้มีจุดยืนว่าจะไม่ “รับทุกคน” ถนนบางสายถูกกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะผู้มีใบขับขี่อิตาลี บางสายที่คนท้องถิ่นใช้สัญจรไปมาหนาแน่นก็ไม่อนุญาติให้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ของนักท่องเที่ยว (ทะเบียนต่างชาติ) เข้ามาวิ่ง             หลายที่บังคับใช้การจองผ่านแอปฯ เพื่อจำกัดจำนวนคน บางเมืองห้ามนำรถยนต์เข้าถ้าเข้าพักไม่ถึงสี่วัน ทั้งนี้รถต่างถิ่นต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้า และชาวต่างชาติจะต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดินในฤดูร้อน 3 ยูโร ด้วย         นอกจากนี้ยังมีนโยบายจำกัดจำนวนห้องที่นำมาให้บริการที่พักกับนักท่องเที่ยว เพื่อให้มั่นใจว่านักศึกษาหรือคนทำงานที่ต้องการที่อยู่ จะไม่ขาดแคลนห้องเช่านั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 คนกรุงเทพฯ ต้องการระบบขนส่งมวลชนแบบไหน

        ผ่านมาสักระยะหนึ่งแล้วที่ประเทศไทยเรามี “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งตำแหน่งนี้อาจเป็นความหวังอีกครั้งหนึ่งที่มวลชนชาวกรุงเทพฯ คาดหวังว่าระบบขนส่งมวลชนของเมืองแห่งนี้ น่าจะดีขึ้นเสียที แต่ความคาดหวังเป็นเรื่องหนึ่งส่วนผลลัพธ์อาจเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ เพราะว่าลำพังแค่อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบขนส่งมวลชนเมืองซึ่งดำรงอยู่มาอย่างยาวนานนี้ได้  อย่างไรก็ตามก่อนจะไปถึงเรื่องว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ เรามาทบทวนกันสักนิดว่า คนกรุงเทพฯ เขามีความหวังหรือความต้องการในเรื่องใดบ้างของบริการขนส่งมวลชนสำรวจกับใคร เมื่อไร         นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564    ผลสำรวจน่าสนใจ         คนกรุงเทพฯ มีขนส่งมวลชนให้เลือกได้อย่างเพียงพอ (ร้อยละ 85) อย่างไรก็ตามระยะทางที่สามารถเดินเท้าไปถึงจุดใช้บริการต้องเดินในระยะทางประมาณ 1,000 เมตร ถึงร้อยละ 38.2 ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และมากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2         ขนส่งมวลชนที่มีให้เลือกใช้บริการ (จากที่พักอาศัย) มากที่สุดคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5         ดังนั้นการเดินทางของกลุ่มตัวอย่างจึงตอบว่าใช้บริการ รถโดยสารประจำทาง ขสมก (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23 โดยจุดประสงค์ของการใช้ขนส่งมวลชนนั้นคือ ไปทำงาน ร้อยละ 61.5 ทำธุระส่วนตัว ร้อยละ 54 ซื้อสินค้า ร้อยละ 37.1 ท่องเที่ยว ร้อยละ 27 และอันดับสุดท้ายคือ เรียนหนังสือ ร้อยละ 16.2         ในส่วนของความถี่ คำตอบส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 และอันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8  เรื่องที่คนกรุงเทพฯ ต้องการจากระบบขนส่งมวลชน        -        รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์)             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7         -        รถไฟฟ้า             อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9        -        เรือโดยสาร             อันดับที่หนึ่งความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 32 อันดับที่สองคือ มีท่าเรือโดยสารที่ปลอดภัยในทุกจุดที่ให้บริการ ร้อยละ 20.6 อันดับที่สามคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 30 บาท ร้อยละ 19.4 อันดับที่สี่คือ มีการจัดการการขึ้นลงเรืออย่างเป็นระบบ ร้อยละ 18.6 อันดับที่ห้าคือ สามารถใช้ตั๋วร่วมสำหรับรถเมล์ ขสมก. รถเมล์ร่วมเอกชนได้ และรถไฟฟ้าทุกสายได้ (บัตรใบเดียว) ร้อยละ 18.1

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 252 กรแสะต่างแดน

โหวตได้หรือไม่        สวิตเซอร์แลนด์ใช้ระบบประชาธิปไตยทางตรงที่ประชาชนสามารถโหวตได้ทุกเรื่อง แต่มีอย่างน้อยหนึ่งเรื่องที่แต่ละรัฐในประเทศยังเห็นไม่ตรงกัน มีจึงมีเพียงบางรัฐ (จากทั้งหมด 26 รัฐ) เท่านั้นที่จัดโหวตในเรื่องดังกล่าว         ประเด็นที่ว่าคือ “การขอให้บริการขนส่งมวลชนเป็นสิ่งที่รัฐจัดให้ฟรี”           เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสวิตเซอร์แลนด์กำหนดว่า ผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะต้องจ่ายค่าเดินทางในราคาที่สมเหตุสมผล ในขณะที่บางคนมองว่าการจ่ายภาษีก็ถือเป็นการร่วมจ่ายอย่างเหมาะสมแล้ว ผู้บริหารบางรัฐยังตีความว่าการจัดโหวตเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้         แต่บางรัฐอย่างรัฐโว (Vaud) ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม “บริการขนส่งสาธารณะฟรี” และให้ความเห็นว่า รัฐมีสิทธิตัดสินใจได้ว่าจะช่วยจ่ายค่าโดยสารให้เต็มราคาหรือไม่ เขาเลือกใช้หลักการ...หากเกิดข้อสงสัย ให้เลือกสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนไว้ก่อน อยากเปลี่ยนน้ำ         เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในยุโรป เดนมาร์กยังล้าหลังในเรื่องการลดปริมาณแคลเซียมในน้ำประปา ชาวบ้านจึงต้องหาวิธีจัดการกับน้ำกระด้างกันเอง บ้างก็พยายามขูดหินปูนในท่อ บ้างก็ลงทุนซื้อเครื่องกรองมาติดฝักบัว  นอกจากจะเปลืองสบู่ แชมพู และผงซักฟอก เพราะ “ตีฟองไม่ขึ้น” แล้ว การอาบน้ำกระด้างยังทำให้ผิวแห้ง หนังศีรษะเป็นรังแค แถมยังผมชี้ฟูอีกด้วย         แต่ข่าวดีคือโคเปนเฮเกนกำลังจะมีระบบกรองน้ำประปาส่วนกลางแล้ว บริษัท Hofor ผู้ให้บริการน้ำประปาในเมืองนี้และพื้นที่โดยรอบประกาศว่าเขาจะลดความกระด้างของน้ำลงให้ได้ภายในปี 2028         ด้านทันตแพทย์ออกมาเตือนว่า “น้ำอ่อน” จะทำให้คนฟันผุมากขึ้น โดยอ้างอิงงานวิจัยที่ยืนยันว่าเด็กในโคเปนเฮเกนมีฟันผุน้อยกว่าเด็กในเขตอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ (งานวิจัยนี้เก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 15 ปี จำนวน 52,000 คน)           มารอดูกันว่าเขาจะแก้ปัญหานี้อย่างไร   ป้องกันหลงผิด         ตั้งแต่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเมืองหางโจวจะเริ่มใช้กฎหมายอนุรักษ์ชาหลงจิ่ง สินค้าที่ได้รับการคุ้มครองเพราะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเมืองหางโจว         ด้วยชื่อเสียงด้านคุณภาพและราคาระดับพรีเมียม ทำให้มี “ชาแอบอ้าง” เข้ามาบุกตลาด ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรตัวจริงจากไร่ชาในเขตรอบทะเลสาบซีหู และหุบเขาในเมืองหางโจว          เพื่อพิทักษ์ “แบรนด์หลงจิ่ง” เขาจึงมีกฎหมายกำหนดรหัสเฉพาะ ที่ประกอบด้วยชื่อบริษัทผู้ผลิต ปีที่ผลิต ซีเรียลนัมเบอร์ และรหัสที่ต้องแจ้งบนกระป๋องนี้ จะไม่สามารถนำไปโอน แจกจ่าย หรือให้ใครยืมได้ ผู้ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 10,000 หยวน สำหรับบุคคลธรรมดา และ 50,000 หยวน สำหรับนิติบุคคล          นอกจากนี้ยังต้องมีแพลตฟอร์มออนไลน์ทำหน้าที่ควบคุม ดูแล จัดการ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการจัดจำหน่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วย          ไร่ชาที่นี่จะมีการสำรวจทุก 10 ปี เพื่อดูแลจัดการเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และทำฐานข้อมูลพื้นที่แต่ละแปลง รวมถึงการใช้ปุ๋ยธรรมชาติตามที่รัฐส่งเสริม โปรฯ โรแมนติก         ข่าวดีสำหรับคู่รักที่พร้อมจะแต่งงานกันภายในปีนี้ แคว้นลาซิโอ อิตาลี เขาจัดโปรโมชันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจงานแต่ง และโปรฯ นี้สามารถเข้าร่วมได้ทั้งคนอิตาเลียนและคนต่างชาติ            ตามโครงการ “In Lazio with Love” คู่สมรสที่จัดพิธีแต่งงานในเขตลาซิโอ ไม่ว่าจะเป็นในกรุงโรม ชายหาด หรือปราสาทยุคกลาง หรือโลเคชันยอดนิยมอื่นๆ จะสามารถนำใบเสร็จมาขอเบิกเงินคืนได้สูงสุด 2,000 ยูโร (ประมาณ 73,000 บาท)         ใบเสร็จที่ว่านี้อาจมาจากบริษัทรับวางแผนงานแต่ง ร้านเช่าชุดแต่งงาน ผู้ให้เช่าสถานที่ ร้านดอกไม้ บริษัทรับจัดเลี้ยง รวมไปถึงค่าจ้างช่างภาพ หรือค่าเช่ารถด้วย ทั้งนี้เขาสงวนสิทธิ์ให้ส่งใบเสร็จได้ไม่เกิน 5 ใบ         ข่าวบอกว่าเขาตั้งงบไว้ 10,000,000 ยูโร เพื่อช่วยเหลือธุรกิจงานแต่งที่ซบเซาลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2019 มีคู่รักมาจัดงานแต่งที่นี่ถึง 15,000 คู่ แต่สองปีกว่าหลังการระบาดของโควิด-19 เขามีโอกาสจัดงานแต่งไปเพียง 9,000 งานเท่านั้น       สควิดฟาร์ม        โลกกำลังจะมีฟาร์มปลาหมึกแห่งแรกในปี 2023 ภายใต้การดำเนินการของบริษัท Nueva Pescanova ของสเปน ที่ปาดหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นและเม็กซิโกไปได้         บริษัทอ้างว่าเขาลงทุนไปกว่า 65 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท และได้ศึกษาวิจัยจนพบ “สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม” กับการเลี้ยงปลาหมึกในถัง เขาจะผลิตปลาหมึกได้ถึงปีละ 3,000 ตัน ภายในปี 2026 ทั้งนี้เขาไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพราะถือเป็น “ความลับทางการค้า”         แต่นักวิชาการที่รีวิวผลงานวิจัยกว่า 300 ชิ้น ฟันธงว่า “ฟาร์มปลาหมึก” มันเป็นไปไม่ได้ การถูกจำกัดบริเวณอาจทำให้ปลาหมึกเครียดและทำร้ายกันเอง นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่เป็นการสวนกระแสเรื่องความยั่งยืน ปัจจุบันเราใช้ 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลที่จับได้มาเป็นอาหารสัตว์  แล้วเรายังจะต้องนำไปใช้ในฟาร์มปลาหมึกอีกหรือ ชาวประมงรายย่อยก็อาจได้รับผลกระทบ ในขณะที่เชฟบอกว่า “มันไม่อร่อย”            ขณะนี้ฟาร์มดังกล่าวอยู่ระหว่างรอการอนุมัติ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ขนส่งมวลชนกับการคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกันได้อย่างไร ?

        42 ปีที่แล้ว 30 เมษายน 2522  ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นเป็นฉบับแรก อีก 19 ปีต่อมาประเทศไทยยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วยการกำหนดสิทธิของผู้บริโภคเพิ่มเป็น 5 ประการ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ประกอบไปด้วย 1.สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องครบถ้วน 2.สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ 3.สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ 4.สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และ 5.สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย           นอกจากนี้สิทธิของผู้บริโภคยังถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอย่างต่อเนื่องถึงสามฉบับ เริ่มแรกในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 57 ได้บัญญัติถึงสิทธิผู้บริโภค ไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง” ต่อด้วยในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 61 ที่เพิ่มการรับรองสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยา ความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         รัฐธรรมนูญ 2560 ได้พัฒนาระบบการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้งในมาตรา 46 ที่บัญญัติการรองรับสิทธิของผู้บริโภคไว้ว่า “สิทธิผู้ของบริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค”         จะเห็นได้ว่าตลอดระยะเวลาสี่สิบปีที่ผ่านมา สิทธิของผู้บริโภคได้รับการยอมรับและรับรองไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แม้โดยหลักการสิทธิของผู้บริโภคไทยอาจจะไม่ครอบคลุมถึงสิทธิด้านต่างๆ เทียบเท่าสิทธิผู้บริโภคสากลที่ถูกบัญญัติไว้ตั้งแต่เมื่อ 59 ปีที่แล้ว หรือเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 1962 โดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จอห์น เอฟ. เคนเนดี เป็นผู้บัญญัติวันสำคัญสากลนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า Consumer Right Day โดยได้รับการรับรองจากสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ที่ปัจจุบันมีองค์กรสมาชิกจำนวน 222 องค์กร ใน 150 ประเทศทั่วโลก ที่เห็นร่วมกันถึงความสำคัญต่อสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมกันกำหนดขอบข่ายสิทธิของผู้บริโภคที่ต้องได้รับความคุ้มครองไว้        อย่างไรก็ดีแม้สิทธิของผู้บริโภคจะถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายหลายฉบับ แต่ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องอยู่ในเกือบทุกประเภทของสินค้าและบริการ โดยเฉพาะปัญหาด้านบริการขนส่งมวลชน ที่นอกจากจะกลายเป็นต้นแบบปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แบ่งแยกชนชั้นของผู้ที่ใช้บริการแล้ว ผู้บริโภคที่ใช้บริการยังต้องเจอกับการละเมิดสิทธิและจำยอมต่อความเสี่ยงที่ไม่ปลอดภัยและไม่มีทางเลือกตามสิทธิที่ควรจะมี เช่น ความเจ็บปวดทนทุกข์ทรมานจากอุบัติเหตุรถโดยสารพลิกคว่ำ รถโดยสารไฟไหม้ รถตู้บรรทุกเกิน รถผีรถเถื่อน รถเมล์เก่าควันดำ การคุกคามทางเพศ ตลอดจนปัญหาค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้าแพง สูงเกินกว่าค่าแรงขั้นต่ำ และสูงมากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะแบกรับได้         จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นำไปสู่แนวคิดการจัดระบบขนส่งมวลชนให้เป็นขนส่ง ”มวลชน” ของคนทุกกลุ่มที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าขนส่งมวลชนเป็นของมวลชนจริงๆ ทุกคนคงได้เห็นภาพบริการที่สะดวก ทั่วถึง ปลอดภัย ตลอดจนความสามารถของคนทุกคนที่จะเข้าถึงบริการที่ไม่ถูกแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งต้นตอของปัญหานี้ต้องแก้ที่แนวคิดการทำให้ขนส่งมวลชนเป็นบริการพื้นฐานที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชน เพราะทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของขนส่งมวลชนในบ้านเรา คือ ความเหลื่อมล้ำที่นับวันจะใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 บัญญัติไว้ชัดว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง หรือสิทธิผู้บริโภค”         ที่สำคัญหากหลักคิดขนส่งมวลชนของคนทุกคน คือ Mass Transit ที่เป็นบริการสาธารณะและเป็นสิทธิของทุกคนต้องขึ้นได้นั้น สิ่งแรกต้องมองโครงสร้างระบบขนส่งมวลชนทุกประเภทให้เป็นระบบเชื่อมโยงกัน คือ รถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร จะคิดแยกส่วน สร้าง แก้ ซ่อม เป็นแต่ละส่วนนั้นทำไม่ได้ สองมองภาพรวมของขนส่งมวลชนในทุกระบบทั้งประเทศมาเชื่อมต่อกัน สามพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแต่ละประเภทสนับสนุนเชื่อมร้อยกันและกันในการให้บริการแบบไร้รอยต่อ รวมถึงพัฒนาทางเท้าที่สะดวกคนทุกคนเข้าถึงได้จริงในทุกพื้นที่ และสี่ส่งเสริมให้คนทุกกลุ่มมีส่วนร่วมในการจัดบริการขนส่งมวลชนทุกระบบในทุกระดับ จัดทำความเชื่อมโยงของบริการขนส่งมวลชนทุกด้านทุกประเภท รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำสัญญาสัมปทานของรัฐกับเอกชนที่ปัจจุบันไม่เปิดเผยข้อมูล ไม่โปร่งใส ไม่มีส่วนร่วมและสร้างภาระให้กับผู้บริโภค         ทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และบริการขนส่งมวลชนให้ครอบคลุมคนทุกคนทั้งประเทศ และทำให้สิทธิของผู้บริโภคด้านขนส่งมวลชนเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งหากทำทั้งสี่ขั้นตอนนี้ได้ เป้าหมายลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและเพิ่มสัดส่วนการใช้ขนส่งมวลชนเพิ่มมากขึ้นคงไม่ไกลเกินฝัน หากทุกคนร่วมมือกัน เพราะขนส่ง”มวลชน”ไม่ใช่แค่ของหน่วยงานรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องทำให้ขนส่งมวลชนเป็นของคนทุกคนได้อย่างแท้จริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 227 บริการขนส่งมวลชนที่พึงปรารถนา

        ปัญหาเร่งด่วนและสำคัญของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน คงไม่พ้นปัญหาปากท้อง ภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แน่นอนค่าใช้จ่ายที่สำคัญของผู้บริโภค คงหนีไม่พ้นค่าใช้จ่ายเรื่อง อาหาร ที่อยู่อาศัย และค่าบริการขนส่งในการเดินทางไปทำงาน         งานวิจัยล่าสุดของสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) พบว่า ค่าใช้จ่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร สูงถึง 26-28 % หรือหากใช้รถปรับอากาศ ก็สูงถึง 15 % ของรายได้ขั้นต่ำ ขณะที่ในฝรั่งเศสมีค่าใช้จ่ายเพียง 3 % ลอนดอน 5 % โตเกียว 9 % และสิงคโปร์ 5 % ในการใช้รถไฟฟ้าเท่านั้น         โดยข้อเท็จจริงในการใช้ชีวิตของแต่ละคนในขณะนี้แพงกว่านี้อีกมาก หากคิดตั้งแต่ต้องออกจากบ้าน ใช้มอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถตู้ กว่าจะถึงรถไฟฟ้า และหากใช้รถไฟฟ้าสองสาย ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายส่วนแรกที่เรียกว่าค่าแรกเข้า 14-16 จากรถไฟฟ้าทุกสายที่ใช้บริการ         แน่นอนปัญหาความไม่เพียงพอของบริการขนส่งมวลชน ปัญหารถติด การใช้เวลาบนท้องถนน ปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่แน่นอนของบริการจากปัญหารถติด ปัญหารถไฟฟ้าราคาแพง ทำให้คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวมากถึง 43 % เดินทางด้วยรถมอเตอร์ไซค์ 26 % และรถขนส่งมวลชน 24 %  ขณะที่สิงคโปร์ใช้รถขนส่งสาธารณะถึง 62 % และ 89 % ในฮ่องกง (สถิติในปี 2015)         รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน(SDG) โดยตั้งเป้าหมายไว้ในปี พ.ศ. 2030 จะทำให้ประชากรได้รับความปลอดภัยในการเดินทาง สามารถจ่ายค่าโดยสารและสามารถเข้าถึงระบบขนส่ง และระบบขนส่งที่ยั่งยืน การปรับปรุงความปลอดภัยทางถนน ตัวอย่างที่ดีที่สุด เช่น โดยการขยายเส้นทางขนส่งสาธารณะให้ตรงกับความต้องการของผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงอย่างผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงวัย โดยกำหนดตัวชี้วัดที่สำคัญ คือต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนที่สามารถเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร          เพื่อลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ความปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งมวลชน การบริโภคที่ยั่งยืน และแน่นอนการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วพิษ PM 2.5 ที่เป็นปัญหาสุขภาพ รัฐต้องสนับสนุนให้มีการใช้บริการขนส่งมวลชนที่เพิ่มขึ้น ข้อเสนอที่สำคัญของผู้บริโภคในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มี 5 เรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่สำคัญ         1) ประชาชนทั่วประเทศ ต้องเข้าถึงป้ายรถเมล์หรือจุดบริการขนส่งสาธารณะในระยะทาง 0.5 กิโลเมตร หรือเดินไม่เกิน 15 นาที ต้องปรับปรุงระบบขนส่งมวลชนให้เป็นระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ         2) ระยะเวลาในการรอรถเมล์ หรือรถโดยสารสาธารณะไม่เกิน 15 นาที ในช่วงเร่งด่วนและไม่เกิน 30 นาทีในช่วงไม่เร่งด่วนในการเดินทางประจำวัน         3) มีระบบให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ว่า รถเมล์ หรือรถโดยสารสายอะไรที่กำลังจะมา (ViaBus) ในกรุงเทพฯยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่สามารถบอกได้ในปัจจุบัน รวมทั้งในต่างจังหวัดที่ยังแทบไม่มีระบบอะไรเลย         4) ค่าใช้จ่ายบริการขนส่งมวลชนทุกประเภทรวมแล้วต้องไม่เกิน 5 % ของรายได้ขั้นต่ำในแต่ละวัน ซึ่งทั้งรัฐบาลและท้องถิ่นต้องพัฒนาระบบสนับสนุนที่โปร่งใส มีประสิทธิภาพ สะอาด มีคุณภาพในการให้บริการ         5) สำหรับกรุงเทพ ฯ ต้องจัดการให้ผู้บริโภคเสียค่าแรกเข้ารถไฟฟ้าเพียงครั้งเดียวในการใช้บริการถึงแม้จะใช้หลายเส้นทาง มีระบบที่เชื่อมโยงรถเมล์กับบริการรถไฟฟ้า และบริการขนส่งมวลชนทุกประเภท

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 ไม่หลงทาง เมื่อพกแอปพลิเคชัน ViaBus

            ฉบับนี้ขออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ต้องเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ แต่ไม่รู้เส้นทางการเดินรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งแอปพลิเคชันนี้ยังเหมาะสำหรับประชาชนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาทำภารกิจในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อีกด้วย            แอปพลิเคชันนี้ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกการใช้รถโดยสาธารณะให้กับประชาชนผู้ใช้เส้นทาง มีชื่อว่า “ViaBus”  ผู้ใช้สมาร์ทโฟนสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และระบบปฏิบัติการ Android            ภายในแอปพลิเคชันมีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนมากนัก เมื่อเข้าหน้าหลักจะปรากฏภาพแผนที่ โดยการค้นหาเส้นทางจะมีอยู่ 2 รูปแบบ ดังนี้           1. ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์แว่นขยายบริเวณด้านบนขวาของแอปพลิเคชัน และให้ระบุสถานที่ที่ต้องการเดินทางไป           2.ต้องการค้นหาเส้นทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่บริเวณที่ผู้ใช้สมาร์ทโฟนอยู่ปัจจุบัน ให้กดรูปสัญลักษณ์สี่เหลี่ยมสีแดง จากนั้นให้ระบุสถานที่เริ่มต้นในการเดินทางและสถานที่ที่เป็นจุดเป้าหมายปลายทาง            เมื่อแอปพลิเคชันได้ค้นหาเส้นทางให้แล้ว จะปรากฏเป็นภาพเส้นทางบนแผนที่ และปรากฏข้อมูลต่างๆ ไว้ด้านล่าง ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูรายละเอียดต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นสายรถเมล์ที่สามารถเดินทางไปได้ ป้ายรถเมล์ใกล้บริเวณนั้น บอกจำนวนป้ายรถเมล์ที่ต้องผ่าน หรือบางเส้นทางจะมีข้อมูลการใช้เส้นทางโดยใช้รถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังค้นหาเพิ่มให้เห็นเส้นทางสภาพการจราจรว่า ติดขัดมากน้อยเพียงใด โดยให้กดไปที่สัญลักษณ์ไฟจราจรบริเวณหน้าแอปพลิเคชันจะปรากฏเส้นทางสภาพการจราจรเป็นเส้นสีแดง สีเขียวและสีเหลือง             สิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมคือ สัญลักษณ์การค้นหาตำแหน่งของผู้ใช้สมาร์ทโฟนปัจจุบันได้ทันที โดยกดสัญลักษณ์ค้นหาตำแหน่งที่อยู่ถัดจากสัญลักษณ์ไฟจราจร เพื่อช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาหาจุดเริ่มต้นของการเดินทาง            ถ้าได้ใช้แอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง และเห็นข้อผิดพลาดของข้อมูล หรือต้องการร้องเรียนการขับรถไม่สุภาพของรถโดยสารสาธารณะ หรือปัญหาอื่นๆ ที่ต้องการแจ้งเพื่อให้แก้ไขปรับปรุง สามารถแจ้งผ่านแอปพลิเคชันได้ทันที โดยกดปุ่มด้านบนซ้าย และเข้า Report             รีบดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ViaBus มาไว้เลย เพียงเท่านี้ก็จะไม่ต้องกังวลว่าจะหลงทางอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >