ฉบับที่ 273 กระแสต่างแดน

ลดแล้วเพิ่ม         หลังจากเนเธอร์แลนด์ปรับลด “ความเร็วจำกัด” บนท้องถนนในเมือง จาก 50 กิโลเมตร เป็น 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจากอุบัติเหตุจราจรกลับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 21 จากปี 2022         ข้อมูลจากสถาบันความปลอดภัยทางถนน (SWOV) ระบุว่า ปีนี้มีผู้เสียชีวิต 745 คน บาดเจ็บสาหัส 8,300 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิต และร้อยละ 70 ของผู้ได้รับบาดเจ็บคือผู้ใช้จักรยาน คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ยังเป็นผู้สูงอายุอีกด้วย         สาเหตุหลักคือ อุบัติเหตุรถล้มขณะขับขี่ การชนกับจักรยานด้วยกันเอง หรือไม่ก็อุบัติเหตุที่คู่กรณีไม่ใช่พาหนะคันอื่น         เรื่องนี้ค้านกับสิ่งที่ผู้คัดค้านการบังคับสวมหมวกนิรภัยเคยเสนอว่าการบาดเจ็บล้มตายจากอุบัติเหตุจักรยานควรเป็นการทำสภาพถนนให้ปลอดภัยและปรับลดความเร็วจำกัดบนท้องถนน พวกเขาไม่เชื่อในการบังคับสวมหมวกนิรภัย เพราะจะทำให้คนไม่อยากใช้จักรยานไม่เอาหนี้นอก         ช่วงนี้เทรนด์การจัดการหนี้นอกระบบกำลังมา ประเทศร่ำรวยอย่างเกาหลีใต้เพิ่งจะประกาศใช้กฎระเบียบที่เข้มขึ้นพร้อมเพิ่มบทลงโทษเจ้าหนี้เงินกู้ที่คิดดอกแพงลิ่ว จุดประสงค์คือการคุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้จมกองหนี้โดยไม่มีทางออก         ลูกหนี้รายหนึ่งกู้เงินมา 250,000 วอน สามเดือนต่อมาหนี้ดังกล่าวงอกเงยขึ้นเป็น 150,000,000 วอน ในขณะที่เจ้าหนี้สาวรายหนึ่งถูกจับกุมดำเนินคดีเพราะเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 5,000 และยังข่มขู่ลูกหนี้ไปไม่ต่ำกว่า 300 ครั้ง            แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหาที่แท้จริงคือการเข้าไม่ถึงเงินกู้จากแหล่งทุนถูกกฎหมาย (สมาคมผู้ให้บริการเงินกู้บอกว่าพวกเขาปล่อยกู้ได้น้อยลงเกือบร้อยละ 70) แม้แต่การกู้เงินจากบัตรเครดิตก็ไม่ง่ายเช่นกัน         เกาหลีใต้มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้นจากปี 2019 มากกว่าสองเท่าตัว และในปี 2022 มีคนเข้าสู่วงจรนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 คน  ทาสแมวมีเฮ         รัฐบาลสิงคโปร์เสนอให้ยกเลิกการห้ามเลี้ยงแมวในแฟลตของรัฐ หลังใช้กฎหมายดังกล่าวมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลให้คำมั่นว่าแผนนี้จะเป็นผลดีทั้งต่อคนที่เลี้ยงและไม่ได้เลี้ยงแมว         ทั้งนี้ภายใต้ร่างกฎหมายใหม่ที่ว่าด้วย “การจัดการแมว” เจ้าของจะต้องนำแมวไปขึ้นทะเบียน ฝังไมโครชิป (ผู้มีรายได้น้อยสามารถขอรับบริการฟรีได้) และปฏิบัติตามมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมด้วยการติดตั้งลูกกรงหรือตาข่ายป้องกันน้องตกจากตึก เป็นต้น         หลังการประกาศใช้ในครึ่งหลังของปี 2024 ทาสแมวจะมีเวลา 2 ปีในการยื่นเรื่องขอใบอนุญาตขอเลี้ยงแมวที่มีอยู่ (ซึ่งอาจจะมากกว่าสองตัวก็ได้) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หากเกินกำหนด ทาสจะถูกปรับ 5,000 เหรียญ (ประมาณ 130,000 บาท)         ส่วนมือใหม่ที่จะเริ่มเลี้ยงแมวก็ต้องเข้ารับการอบรมออนไลน์ว่าด้วยการมีสัตว์เลี้ยงอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ก่อนจะได้รับใบอนุญาตด้วย  ขยะที่ถูกลืม         หลายประเทศมีแผนรับมือกับขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รวม “ก้นบุหรี่” ไว้ในขยะประเภทนี้         งานวิจัยโดยศูนย์ธรรมาภิบาลนานาชาติในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ยังเสนอให้มีการ “แบน” ก้นบุหรี่โดยด่วน เพราะขยะที่ถูกทิ้งในประมาณมากที่สุดในโลกคือก้นบุหรี่ ซึ่งข้อมูลวิชาการยืนยันว่าไม่ได้มีสรรพคุณในการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ได้อย่างที่เข้าใจกัน         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเทศจีนซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคยาสูบรายใหญ่ที่สุดของโลก ค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะจากก้นบุหรี่และซองใส่บุหรี่ในจีนสูงถึงปีละ 2,600  ล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นร้อยละ 20 ของค่าใช้จ่ายทั้งโลกรวมกัน)         ปัญหาสิ่งแวดล้อมอาจเป็นเรื่องใหม่ แต่ปัญหาสุขภาพนั้นมีมานานแล้ว จีนมีนักสูบไม่ต่ำกว่า 300 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคอย่างมะเร็ง โรคปอด โรคหัวใจ วันละประมาณ 3,000 คน    เงินไม่ถึง         หน่วยงานควบคุมดูแลการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีสั่งปรับบริษัทของบล็อกเกอร์/ดีไซเนอร์ ชื่อดัง เคียร่า แฟร์รานี เป็นเงินล้านกว่ายูโร         การสอบสวนพบว่าบริษัทดังกล่าวไม่ได้นำเงินที่ได้จากการขาย “เค้กการกุศล” ไปมอบให้กับมูลนิธิของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงคริสต์มาสปีที่แล้ว ตามที่โฆษณาไว้ ด้านบริษัท Balocco ผู้ผลิตเค้กก็โดนปรับไป 420,000 ยูโรเช่นกัน         หน่วยงานดังกล่าวพบว่า มูลนิธิเพื่อการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งกระดูกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองตูริน ได้รับเงินบริจาค 50,000 ยูโร จากบริษัทผู้ผลิตเค้กหลายเดือนก่อนคริสต์มาส แต่หลังจากที่บริษัทของแฟร์รานีออกแคมเปญชวนทำบุญและระดมทุนได้มากกว่าหนึ่งล้านยูโร กลับไม่มีการบริจาคเพิ่มให้อีกเลย             มาดูกันว่าผู้ติดตามเกือบ 30 ล้านคนในอินสตาแกรมของแฟร์รานีจะมีปฏิกิริยากับเรื่องนี้อย่างไร 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 268 ความเคลื่อนไหวเดือนมิถุนายน 2566

ทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวงบทลงโทษถึงติดคุก         เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 66 ที่ผ่านมา กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ได้เตือนประชาชนถึงกรณี ห้ามทิ้งขยะในพื้นที่เขตทางหลวง ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนต่อคนที่ต้องสัญจร ไป-มา เช่น การทิ้งขยะออกจากรถที่แล่นอยู่ เทน้ำเสียบนถนน ทิ้งเศษวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ การบรรทุก หิน ดิน  ทราย  หรืออื่นๆ โดยไม่ใช้อุปกรณ์ผูกมัดให้ดีทำให้มีสิ่งของร่วงหล่นบนทางจราจร ซึ่งอาจจะส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ใช้เส้นทางจราจรได้นั้น เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 45 “ห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งขยะมูลฝอย  สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย น้ำโสโครก เศษหิน ดิน ทราย หรือสิ่งอื่นใดในเขตทางหลวงหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ เป็นเหตุให้ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล เศษหิน ดิน ทราย ตกหล่นบนทางจราจรหรือไหล่ทาง” หากฝ่าฝืนมีโทษตามมาตรา 72 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรมโรงงานจับมือสคบ. ห้ามโฆษณาขาย “ไซยาไนด์” ทางออนไลน์         หลังมีข่าวเกี่ยวกับการใช้ “ไซยาไนด์” ในทางที่ผิดเพื่อก่ออาชญากรรมนั้น 1 มิ.ย.66 อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เผยว่า โพแทสเซียมไซยาไนด์ จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้รับผิดชอบดูแล ขณะนี้ทางกรมฯ ออกมาตรฐานเร่งด่วนเพื่อยกระดับการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด โดยเชิญผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตฯ เกี่ยวกับสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ มารับฟังการชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลและรับทราบมาตรการพิเศษที่ออกแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว และจะใช้ไปจนกว่าคดี "แอม สรารัตน์" จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด         ในเรื่องการโฆษณา ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือจากทางสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ออกประกาศเพื่อห้ามมิให้มีการโฆษณาและจำหน่ายโพแทสเซียมไซยาไนด์ทางช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ซื้อ-ขาย สินค้าทุกประเภท พร้อมกับเร่งยกร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการโฆษณาและนำเสนอคณะกรรมการวัตถุอันตราย เนื่องจากตามกฎหมายกรมโรงงานกำกับดูแลเฉพาะเรื่องการนำไปใช้ที่ผิดวัตถุประสงค์ อนึ่งสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ คือ วัตถุตรายชนิดที่ 3 หากผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย ผู้ใช้ นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์มีโทษต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ระวังมิจฉาชีพมาในรูปแบบ “งานเสริม”         สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เปิดเผยข้อมูลของศูนย์บริหารรับแจ้งความออนไลน์ของเดือนมีนาคม 66 ที่ผ่านมาว่า มีประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานเสริมเป็นจำนวนมากกว่า 37,900 ราย เสียหายกว่า 4,590 ล้านบาท โดยใช้วิธีการส่งข้อความทาง SMS หรือโทรหาเหยื่อโดยตรง และโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ ในออนไลน์  ซึ่งลักษณะงานช่วงแรกจะเป็นงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน และเหยื่อได้รับเงินจริง หลังจากนั้นจะมีการดึงเข้ากลุ่มไลน์และอ้างว่าให้ทำภารกิจพิเศษพร้อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่ต้องโอนเงินเข้าระบบเป็นการวางมัดจำก่อนนั้น         ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามี 10 งานเสริมที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวง ดังนี้ 1.พนักงานกดรับออเดอร์สินค้า แอบอ้างแพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์ เช่น Shopee Lazada Amazon 2.กดไลก์ ถูกใจ ตาม Facebook TikTok Instagram หรือกดแชร์ กดโหวตภาพยนตร์  3.รับชมคลิปวิดีโอเพิ่มยอดวิวใน YouTube TikTok 4.งานรีวิว ทดลองใช้สินค้าหรือบริการ เช่น รีวิวสถานที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร 5.รับจ้างนอนโรงแรม อ้างแค่นอนหลับก็มีรายได้ 6.งานแพ็กของต่างๆ เช่น สบู่ ยางมัดผม พวงกุญแจ 7.งานฝีมือทำได้ที่บ้าน เช่น ร้อยลูกปัด ทำริบบิ้น ฉีกเชือกฟาง พับนกกระดาษ พับดาว พับเหรียญโปรยทาน 8.ลงทุนส่งเสริมการโปรโมทสื่อสังคมออนไลน์ในสังกัด ตามเรทราคาต่างๆ 9.ถ่ายรูปเซลฟี่ไม่ต้องเห็นใบหน้า หลังจากส่งเสื้อผ้าให้ ไม่จำกัดส่วนสูงน้ำหนัก 10.ตัดต่อวิดีโอสั้น ไม่ต้องมีประสบการณ์ สอนให้ฟรี มพบ. ชี้ ร้านค้าตั้งเงื่อนไขไม่รับเคลมสินค้า เข้าข่ายสัญญาไม่เป็นธรรม         จากกรณีที่มีร้านค้าบางรายที่จำหน่ายสินค้าในช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ มีการตั้งเงื่อนไข กำหนดการรีวิวสินค้า เช่น การรีวิวต่ำกว่า 5 ดาว สินค้าที่ซื้อจะหมดประกันทันที ในกรณีเกิดปัญหาจะไม่รับเคลม และไม่รับคืนสินค้า พร้อมทั้งอีกกรณีคือการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยต้องรีวิว 5 ดาว ร้านค้าถึงจะขยายเวลารับประกันให้ หรือการระบุข้อความว่า #กรุณาถ่ายวิดีโอขณะเปิดกล่องพัสดุ #ไม่มีหลักฐานงดเคลมทุกกรณีไว้ที่หน้ากล่องนั้น        นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า วิธีการกำหนดเงื่อนไขไม่รับเคลมข้างต้น เข้าข่าย “ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม” เพราะเป็นสัญญาที่ฝ่ายหนึ่งได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งมากเกินสมควร ประกอบกับคู่สัญญาไม่ได้รับความยินยอมในสัญญาตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ. 2540 มาตรา 4 วรรคสาม โดยระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น ดังนั้นการที่ผู้ขายใช้เงื่อนไขบีบบังคับผู้ซื้อด้วยข้อความ “ไม่ถ่ายคลิปตอนเปิดพัสดุเคลมไม่ได้” จึงถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม         ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 กำหนดเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคว่า ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยส่งหนังสือแสดงเจตนาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง (มาตรา 33) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปคืนภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 255 กระแสต่างแดน

คิดก่อนซื้อ        กว่าร้อยละ 50 ของครัวเรือนในฝรั่งเศสจะมีสัตว์เลี้ยงอย่างน้อยหนึ่งตัว ภาพของคนปารีสที่พาสุนัขไปด้วยกันทุกที่ ไม่ว่าจะขึ้นรถไฟ เข้าคาเฟ่ หรือร้านอาหาร ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นจนชินตา         อย่างไรก็ตาม แต่ละปีมีหมาแมวถูกทิ้งไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัว โดยเฉพาะช่วงพฤษภาคมถึงสิงหาคมซึ่งเป็นวันหยุดฤดูร้อน เพราะเจ้าของไม่สะดวกจะพาไปด้วยแต่ก็ไม่สามารถหาสถานที่รับเลี้ยงได้ ล่าสุดเมื่อคนเริ่มกลับเข้าออฟฟิศหลังการระบาดของโควิด 19 ก็มีสัตว์เลี้ยงถูกทิ้งเพิ่มขึ้นเช่นกัน         จึงเป็นที่มาของกฎหมายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ในอีกสองปีข้างหน้า (2567) ที่ห้ามจำหน่ายสัตว์เลี้ยง “หน้าร้าน” เพื่อป้องกันการซื้อโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบโดยผู้คนที่เดินผ่านไปมา ใครที่อยากเลี้ยงก็ต้องติดต่อขอซื้อกับร้านค้าที่ได้รับอนุญาต คอกเพาะพันธุ์ หรือไม่ก็ขอรับเลี้ยงจากศูนย์ดูแลสัตว์ เท่านั้น         การซื้อขายสัตว์เลี้ยงออนไลน์ระหว่างผู้บริโภคก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน และในอนาคตกฎหมายยังห้ามนำโลมาและวาฬมาแสดงโชว์ (ปี 2569) และห้ามคณะละครสัตว์นำสัตว์ป่ามาร่วมแสดงด้วย (ปี 2571)     มือปราบขยะพิษ        ผลงานล่าสุดของปฏิบัติการ “คุนหลุน 2022” คือการจับกุมผู้ต้องสงสัย 22 คนที่กำลังขนถ่าย “ขยะ” ที่เป็นผลพวงจากการผลิตแบตเตอรีลิเธียมไอออน จากโรงงานในเสฉวนไปแอบทิ้งลงแม่น้ำในเขตฉงชิ่ง         เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตำรวจได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่ามีการแอบทิ้งขยะในแม่น้ำเจียหลิง (สาขาของแม่น้ำแยงซี) จากการสอบสวนพบว่ามีขยะดังกล่าว ซึ่งมีส่วนประกอบของแมงกานีส นิกเกิล และสังกะสี ทำให้เกิดมลพิษที่เป็นอันตรายต่อทั้งคน พืช และสัตว์น้ำ ถูกทิ้งลงแม่น้ำไปแล้ว 47,000 เมตริกตัน                 ผู้ที่ทำสัญญารับงาน “ทิ้งขยะ” จากโรงงานดังกล่าว อ้างว่าได้ว่าจ้างทีมรถบรรทุกมาทำการขนส่ง แต่ทีมนี้กลับนำไปทิ้งไม่ถูกที่ แต่ตำรวจยังไม่เชื่อและการสืบสวนยังดำเนินต่อไป         แถบเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซีครอบคลุมพื้นที่ 9 มณฑล และอีก 2 เทศบาล และเป็นที่อยู่อาศัยของร้อยละ 40 ของประชากรจีน แผน “คุนหลุน 2022” ที่เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อรับมือกับคดีที่เกี่ยวกับอาหาร ยา สิ่งแวดล้อม และทรัพย์สินทางปัญญา สามารถดำเนินคดีได้แล้ว 76 คดีขอใช้ไฟ        ผู้ใช้ไฟฟ้าคนหนึ่งในรัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย เดินทางไปที่สำนักงานการไฟฟ้าท้องถิ่นของ MESCOM ทุกวันเพื่อบดเครื่องเทศและชาร์จโทรศัพท์ หลังไม่ได้รับการแก้ปัญหาเรื่องไม่มีไฟฟ้าใช้         ชายคนดังกล่าวซึ่งเป็นเกษตรกร บอกว่าเขาได้พยายามโทรติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อแจ้งปัญหาหลายครั้งแล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ จนเขาตัดสินใจพบกับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงาน หลังจากมีปากเสียงกัน เจ้าหน้าที่ซึ่งมีตำแหน่งเป็นวิศวกรอาวุโส ก็พูดกับเขาทำนอวว่า “ถ้าลำบากนักก็มาใช้ไฟที่สำนักงานเลยสิ” ชายคนนี้ก็มาจริงๆ และมาทุกวัน เป็นเวลา 10 เดือนแล้ว         หลังจากเรื่องนี้ติดเทรนด์ในอินเทอร์เน็ต ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคือ พนักงานผู้น้อย 10 คน โดนใบแจ้งเตือนฐานยินยอมให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ไฟฟ้าของบริษัท ในขณะที่ชายคนดังกล่าวก็ยังไม่มีไฟฟ้าไว้ใช้เดินปั๊มสูบน้ำทำการเกษตรแต่อย่างใด             ข่าวระบุว่าพื้นที่แถบบ้านของเขามีไฟฟ้าใช้รวมแล้วเพียงวันละ 3 – 4 ชั่วโมงเท่านั้น  แบนต่อเลยได้ไหม        ออสเตรเลียเตรียมพิจารณายกเลิกการแบนรีวิวหรือการรับรองบริการศัลยกรรมความงามโดยคนไข้          แน่นอนว่าทั้งสมาคมแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียไม่เห็นด้วย เพราะหากปล่อยให้คลินิกเหล่านี้ใช้ “รีวิวจากคนไข้” ในการโฆษณาได้อย่างเสรี ปัญหาที่มีจะยิ่งเลวร้ายขึ้น         นอกจากจะไม่สามารถตรวจสอบหรือพิสูจน์คำพูดเหล่านั้นได้แล้ว ผู้บริโภคก็ไม่มีโอกาสได้เห็นรีวิวเชิงลบของบริการดังกล่าวในเว็บไซต์ของคลินิกเสริมความงามแน่นอน ที่สำคัญคลิปรีวิวเหล่านี้มักถูก “ถ่ายทำ” ทันทีหลังการผ่าตัด บางครั้งคนไข้อาจยังไม่สร่างจากฤทธิ์ยาแก้ปวดด้วยซ้ำ            ทุกวันนี้การใช้แฮชแท็กของแพทย์บางคนในอินสตาแกรมก็ไม่ต่างอะไรกับการล้างสมองให้สาวๆ รู้สึกว่าการเสี่ยงใช้บริการที่มีความเจ็บปวด อย่างการดูดไขมันหรือเสริมหน้าอก เป็นเรื่องที่ควรทำ         ออสเตรเลียได้ทำการสอบสวนพฤติกรรม “ขายเก่ง” ของแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ถูกสื่อมวลชนเปิดโปงไปก่อนหน้านี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีศัลยแพทย์หรืออินฟลูเอนเซอร์คนใดถูกลงโทษ รวมให้เสร็จ        รัฐนิวยอร์กแบน “ค่าธรรมเนียมแฝง” ในการจองตั๋ว หมายความว่าราคาตั๋วสำหรับการแสดงสดหรือการแข่งขันกีฬาที่ผู้ใช้เห็นในเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน จะต้องเป็น “ราคาสุดท้าย” ไม่มีอะไรมาบวกเพิ่มอีก และต้องอยู่ในตำแหน่งที่ผู้บริโภคมองเห็นได้อย่างชัดเจน          กฎหมายที่ว่านี้ยังห้ามคิดค่า “เดลิเวอรี” กับตั๋วออนไลน์ที่ผู้ซื้อต้องสั่งพรินต์เอง รวมถึงเพิ่มโทษสำหรับการใช้ซอฟต์แวร์หรือบ็อทในการซื้อตั๋วด้วย         ด้าน Ticketmaster ตัวแทนจำหน่ายตั๋วรายใหญ่ที่สุดในอเมริกาออกมาชื่นชมและสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว และแสดงความยินดีกับบรรดาศิลปินที่จะสามารถกำหนดราคาตั๋วการแสดงสดของตนเองให้แฟนๆ ได้ซื้อในราคาที่เหมาะสม        อย่างไรก็ตามประเด็นที่ถูกตัดออกไปก่อนที่ร่างกฎหมายดังกล่าวจะผ่านการพิจารณาได้แก่ เรื่องการขอเงินคืนกรณีที่เกิดความล่าช้าเพราะโรคระบาดโควิด 19 และการลดสัดส่วน “ตั๋วพิเศษ” สำหรับคนวงในและวีไอพี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ความเคลื่อนไหวเดือนเมษายน 2565

นายกฯ สั่งปฏิรูปรถเมล์ไทย         5 เมษายน นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและติดตามความคืบหน้าของโครงการจัดหารถโดยสารพลังงานสะอาดเพื่อมาให้บริการประชาชนในกรุงเทพฯ ซึ่งทางกระทรวงคมนาคมคาดการณ์ว่า “จะสามารถให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคม 2565”  โดยการปฏิรูปรถเมล์ครั้งนี้ ต้องการให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะยกระดับมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทาง ซึ่งกรมการขนส่งทางบก จะมีการประเมินผลการประกอบการด้วยดัชนีชี้วัด 12 ข้อ ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ รถโดยสารใหม่จะต้องมี GPS  CCTV หรือระบบ E-Ticket เก็บข้อมูลผู้โดยสาร ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ช่วงเวลาไหนผู้โดยสารแน่นหรือคนน้อย หรือช่วงไหนรถติด โดยข้อมูลจะถูกนำมาประมวลผลและวิเคราะห์ด้วยระบบ AI ทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาการให้บริการได้อย่างรวดเร็ว โฟม-พลาสติกใช้ครั้งเดียว ห้ามนำเข้าอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช         ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟมและบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง นำเข้าเขตอุทยานแห่งชาติ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง ระบบนิเวศ และเป็นการควบคุมลดปริมาณขยะในอุทยานแห่งชาติ จึงมีประกาศ ดังนี้         ห้ามนำภาชนะที่ทำด้วยโฟม และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว ได้แก่ พลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องบรรจุอาหารพลาสติก แก้วพลาสติก (แบบบางใช้ครั้งเดียว) หลอดพลาสติก และช้อน-ส้อมพลาสติก เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติ อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท (มีผล 6 เมษายน 2565 เป็นต้นไป)  ตำรวจสอบสวนกลางเตือนภัย “มิจฉาชีพ แอบอ้างเป็นบริษัทเงินกู้”         ตำรวจสอบสอบสวนกลาง ได้โพสต์เตือนภัย โดยมีข้อความระบุว่า ปัจจุบันเราจะพบเห็นกลุ่มมิจฉาชีพหลากหลายกลุ่มใช้กลลวงต่างๆ หลอกลวงประชาชน เพื่อให้ได้ไปซึ่งข้อมูลส่วนตัวต่างๆ รวมไปถึงทรัพย์สินของมีค่าของประชาชน ตำรวจสอบสวนกลางจึงขอประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ทราบถึงรูปแบบหนึ่งของมิจฉาชีพที่จะแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวของท่านไป เพื่อนำไปใช้ในการถอนเงินในบัญชี ซึ่งมิจฉาชีพจะติดต่อผ่านช่องทาง SMS Line Facebook หรืออื่นๆ และแอบอ้างเป็นบริษัทให้บริการเงินกู้ หลอกลวงให้โอนค่าธรรมค้ำประกัน หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว เลขหน้า-หลังบัตรประชาชน เลขหน้า-หลังบัตรเครดิต  วันเดือนปีเกิด หลังจากนั้นนำข้อมูลไปใช้เพื่อถอนเงินในบัญชี เพื่อความปลอดภัยเราควรตรวบสอบข้อมูลให้แน่ใจ ว่าบริษัทบริการเงินกู้นั้นได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่ https://bit.ly/3rW26VF   (เว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศ) หากพลาดโอนเงินให้มิจฉาชีพสามารถแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่ หรือติดต่อได้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โทร.1599 กรมอนามัยเผยคนไทยบริโภคน้ำตาลสูงเสี่ยงโรค NCDs          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย พบว่าปัจจุบันคนไทยกินน้ำตาลมากถึงวันละ 25 ช้อนชา มากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ คือไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ซึ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs มากยิ่งขึ้น         สอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่อพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2562 ที่ระบุว่า โดยเฉลี่ยคนไทยดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาล 3 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะเด็กอายุ 6-14 ปี ซึ่งคือกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลเฉลี่ยต่อสัปดาห์มากที่สุด  ทั้งนี้เครื่องดื่มผสมน้ำตาลที่ขายทั่วไปนั้น พบว่ามีปริมาณน้ำตาลสูงถึง 9-19 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร แต่ปริมาณที่เหมาะสมจริงๆ แล้วคือไม่ควรมีน้ำตาลเกินกว่า 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตามการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินน้ำตาลของคนไทย สามารถเปลี่ยนได้ โดยเริ่มจากการลดการดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลมาเป็นดื่มน้ำเปล่า 6-8 แก้วต่อวันแทน  และขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ร้านเครื่องดื่ม ร้านกาแฟที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ขอให้ช่วยกันในการคิดค้นหาเครื่องดื่มสูตรหวานน้อยจำหน่ายในร้าน เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนเลือกเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ลดเสี่ยงการเกิดโรคเรื้อรัง ผู้บริโภคต้องการยกเลิกจองทัวร์ท่องเที่ยว “สามารถขอเงินคืนได้”          วันที่ 14 เมษายน 2565 นางนฤมล เมฆบรสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจมีผู้บริโภคที่จองทัวร์ท่องเที่ยวไว้ แต่ด้วยความที่ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ผู้บริโภคที่จองทัวร์สามารถใช้สิทธิของผู้บริโภคในการยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 ในกรณีมีเหตุที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้เฉพาะตัว ให้นักท่องเที่ยวแจ้งขอรับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจ่ายเงินคืนในอัตรา ดังนี้  1. หากนักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 30 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 100 ของเงินค่าบริการ 2. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อน 15 วัน ให้คืนในอัตราร้อยละ 50 ของเงินค่าบริการ 3. ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าก่อนน้อยกว่า 15 วัน ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ กรณีมีเหตุให้ต้องยกเลิกนำเที่ยวตามที่ได้โฆษณาไว้ โดยไม่ใช่ความผิดผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจ่ายค่าบริการคืนในอัตรา ร้อยละ 100 ขอเงินค่าบริการ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเอง “รักษ์โลก” อย่างไร            สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแส “ฟาสต์แฟชัน” ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดู “เอ๊าท์” ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี          แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มี “การบริโภคเสื้อผ้าต่อคน“ เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี         ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจาก “ขยะเสื้อผ้า” ที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030         แม้การ “รีไซเคิล” ดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง           ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูก “ส่งต่อ” ไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ขยะเสื้อผ้า”  หน้าผาหลากสี        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของ “ตลาดคันตามันโต” ที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง         ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวย “เสื้อผ้าแบรนด์เนม” ที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้ “เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้” ก็เก่งมากแล้ว         เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็น “สินค้า” ส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็น “ขยะ” อยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย         ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ของเมืองนี้ไป         แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย         ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับ “ขยะ” เหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>>         ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของ “สายแฟ” ว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว)         นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ         ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรม “ของมันต้องมี” ภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาส “พิเศษ” นั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อ “คนรุ่นใหม่”         งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้า “เก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วย “ชุดเดิม” เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับ “เสื้อผ้ามือสอง” มากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่                                                                         ข้อมูลอ้างอิงhttps://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTYhttps://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1ghttps://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfMhttps://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recyclehttps://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 “ทิ้ง” เพื่อโลก

        หลายปีที่ผ่านมาเราได้ยินเรื่องของเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนกันมาพอสมควร เราได้รับข้อมูลเรื่องผลกระทบของการบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และตระหนักว่า “การคัดแยกขยะ” นั้นมีส่วนอย่างยิ่งในการลดโลกร้อน แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ลงมือทำ บ้างก็ทำไม่ได้ หรือทำได้แต่ไม่ถูกต้อง แม้จะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะแล้วก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้เพราะในทางปฏิบัติมีรายละเอียดที่ซับซ้อน เช่น ขวด กล่อง ถุง หรือแพ็คเกจต่างๆ ประกอบด้วยวัสดุหลายประเภท ผู้ผลิตแต่ละเจ้าให้ความสนใจในเรื่องนี้ต่างกัน ในขณะที่ภาครัฐของหลายๆ ประเทศก็ยังไม่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ             เรามาดูกรณีตัวอย่างจากออสเตรเลีย/นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ที่รัฐบาลร่วมกับภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม กำหนดแนวปฏิบัติในการจัดทำฉลากที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รองรับการนำกลับไปแปรรูปมาใช้ใหม่ และกรณีของสิงคโปร์ที่ใช้วิธีส่งเสริมให้แบรนด์ต่างๆ “ลดขนาด” ของบรรจุภัณฑ์ ด้วยการให้ “โลโก้” ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกสนับสนุนแบรนด์เหล่านี้ได้  ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์          ก่อนหน้านี้คนออสเตรเลียมีความสับสนอยู่ไม่น้อยกับ “ฉลากรีไซเคิล” ที่มีถึง 200 รูปแบบ ผู้ผลิตที่นั่นให้ความสนใจเรื่องนี้มาก ต่างคนต่างก็คิดรูปแบบเฉพาะออกมาใช้กับสินค้าตัวเอง ผู้บริโภคส่วนใหญ่ “ตามไม่ทัน” จึงยังคง “ทิ้งผิด” อยู่นั่นเอง ความพยายามนั้นจึงเท่ากับสูญเปล่า          ต่อมาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์แก้เกมด้วยการใช้ระบบฉลากรีไซเคิลที่เรียกกันว่า ARL (Australasian Recycling Label) ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย APCO หรือ Australian Packaging Covenant Organization ร่วมกับ Planet Ark และ PREP (Packaging Recyclability Evaluation Postal) Design         คณะกรรมการที่ดูแลโครงการนี้แบ่งออกเป็นสองชุด ได้แก่ คณะที่ดูแลเรื่องข้อมูล (ซึ่งต้องมีความแม่นยำสูงมาก) และคณะที่ดูแลเรื่องการสื่อสารกับผู้บริโภค สมาชิกของทั้งสองคณะประกอบด้วยตัวแทนจากแบรนด์/ร้านค้าปลีก อุตสาหกรรมรีไซเคิล/จัดการขยะ ตัวแทนจากรัฐบาล และองค์กรไม่แสวงหากำไร           ผลิตภัณฑ์ภายใต้ระบบ ARL (สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายในซูเปอร์มาร์เกต และร้านค้าประเภทอื่นๆ ที่ร่วมโครงการ) จะมีสัญลักษณ์ 3 รูปแบบได้แก่         -        ลูกศรทึบวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้ (เจอถังรีไซเคิลที่ไหน ทิ้งได้เลย)         -        ลูกศรโปร่งวิ่งวน หมายถึง รีไซเคิลได้แบบมีเงื่อนไขตามที่แจ้งไว้ใต้สัญลักษณ์         -        ถังขยะ หมายถึง ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ ทางเดียวที่ไปคือบ่อขยะ           ทั้งหมดนี้จะระบุชัดเจนว่าชิ้นส่วนไหน ต้องทิ้งอย่างไร          เช่น ตัวอย่างนี้ ส่วนที่เป็นกล่อง สามารถใส่ลงในถังรับขยะรีไซเคิลได้เลย ในขณะที่พลาสติกที่ห่อหุ้มมาจะต้องนำไป “ส่งคืนร้าน” ส่วนฝานั้นให้ทิ้งเป็นขยะทั่วไป          หัวใจของความสำเร็จของโครงการนี้คือข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ แบรนด์ที่เข้าร่วมโครงการ (ปัจจุบันเป็นแบบสมัครใจ) จะต้องประเมิน “ความสามารถในการรีไซเคิล” ของแพ็คเกจสินค้าตัวเอง โดยอ้างอิงกับฐานข้อมูลของ PREP ซึ่งมีการอัปเดตทุกปี โครงการนี้ยังส่งเสริมเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนด้วยการช่วยผู้ประกอบการออกแบบแพ็คเกจที่ตอบโจทย์เรื่องรักษ์โลกด้วย          ออสเตรเลียตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2025 แพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องเข้าเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ใช้ซ้ำได้ รีไซเคิลได้ หรือ ย่อยสลายได้   เดนมาร์ก          ระบบ Pant A, B, C ของเดนมาร์กเป็นอีกตัวอย่างที่ยืนยันว่า จะมีการส่งต่อ “ขยะ” ไปสู่กระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น หากผู้บริโภคได้รับข้อมูลที่ชัดเจนและได้ผลตอบแทนเป็นเงิน            Pant ในภาษาแดนิช แปลว่า “มัดจำ” เมื่อซื้อเครื่องดื่มในเดนมาร์ก ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่ามัดจำขวดหรือกระป๋องให้กับทางร้าน โดยร้านจะคำนวณค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้ที่หน้าเคาน์เตอร์ตามอัตราต่อไปนี้           เมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์เหล่านี้มาคืนกับ “ตู้รับคืนอัตโนมัติ” ที่ตั้งอยู่ตามร้านค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ร่วม โครงการ ซึ่งมีอยู่ 3,000 แห่งทั่วประเทศ ตู้ดังกล่าวก็จะออก “ใบเสร็จ” ให้ผู้บริโภคนำไปใช้ซื้อของในร้าน หรือจะรับเป็นเงินสดก็ได้เช่นกัน           หรือใครจะเก็บรวบรวมไว้ที่บ้านให้ได้เยอะๆ ก่อนก็ไม่ว่ากัน กรณีนี้ผู้บริโภคสามารถนำขวดหรือกระป๋องไปคืนที่ “Pantstation” ซึ่งสามารถรับได้ครั้งละ 90 ชิ้น ปัจจุบันมีสถานีรับคืนอยู่ใน 12 เมืองทั่วประเทศ          ขวดหรือกระป๋องจากตู้เหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยัง Dansk Retursystem องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งมีหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลระบบการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของเดนมาร์ก ตั้งแต่การจัดเก็บ คัดแยก ไปจนถึงการหลอมเพื่อผลิตขวดหรือกระป๋องขึ้นมาใหม่          จากข้อมูลของ DR การหลอมกระป๋องใช้แล้วขึ้นมาใหม่ ใช้พลังงานน้อยกว่าการผลิตกระป๋องขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นถึงร้อยละ 95         โครงการที่ริเริ่มขึ้นในปี 2002 โดยผู้ผลิตเบียร์ร่วมกับหน่วยงานรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง          ข้อมูลในปี 2019 ระบุว่าอัตราการส่งคืนขวด/กระป๋องเครื่องดื่ม โดยผู้บริโภคสูงถึงร้อยละ 92         นอกจากเดนมาร์กแล้ว โมเดลการมัดจำขวดก็มีใช้ในเยอรมนี สวีเดน และนอร์เวย์เช่นกัน  สิงคโปร์         กรณีของสิงคโปร์นั้นแม้จะไม่ใช่เรื่องการรีไซเคิล แต่ก็เป็นโครงการที่น่าสนใจไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะเป็นการ “ตัดตอน” การใช้ทรัพยากรและพลังงาน รวมถึงลดการสร้างขยะโดยไม่จำเป็น          ตั้งแต่ปี 2017 รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มโครงการติด “โลโก้” ให้กับสินค้าที่มีการปรับลดขนาดบรรจุภัณฑ์ ภายใต้ข้อตกลง SPA (Singapore Packaging Agreement) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ไม่ใส่บรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่เกินปริมาณสิ่งของด้านใน และเลือกสนับสนุนแบรนด์ที่ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น           สินค้าที่จะติดโลโก้ “Reduced packaging” ภายใต้โครงการ LPRP (The Logo for Products with Reduced Packaging) จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโครงการ โดยผู้ผลิตจะต้องส่งหลักฐานข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการลดปริมาณการใช้วัสดุในการผลิตบรรจุภัณฑ์ เพื่อประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาในการใช้โลโก้ดังกล่าว   ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2563 ระบุว่าโครงการนี้สามารถลดขยะบรรจุภัณฑ์ได้ถึง 54,000 ตัน และประหยัดเงินค่าวัตถุดิบได้ 130 ล้านเหรียญ   เอกสารอ้างอิง รายงานกรณีศึกษาโดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International)  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และเครือข่าย One Planet    https://www.consumersinternational.org/media/361469/unep_ci_2021_arl_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361467/unep_ci_2021_pantabc_case_study.pdf https://www.consumersinternational.org/media/361470/unep_ci_2021_lprp_case_study.pdf

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ฮาวทู (ไม่) ทิ้ง

         ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงผลกระทบจากการกินการใช้สินค้า/บริการ และต้องการทางเลือกที่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ผลการสำรวจพบว่าร้อยละ 74 ของผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐอเมริกา และอเมริกาใต้ ยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่แพ็คเกจรีไซเคิลได้         ผู้ประกอบการหลายเจ้าก็เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น มาดูกันว่าสินค้าอุปโภคบริโภคจากผู้ผลิตค่ายใหญ่ มีการปรับปรุงแพ็คเกจให้เหลือเป็น “ขยะ” น้อยลง และให้ความรู้กับผู้บริโภคเรื่องวิธีการ “ทิ้ง”หรือ “รีไซเคิล” แพ็คเกจที่ใช้แล้วหรือไม่           Consumers International หรือสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกใน 9 ประเทศ (บราซิล โปรตุเกส ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย อินเดีย และฮ่องกง ทั้งหมดนี้มีผู้บริโภครวมกันไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านคน) ทำการสำรวจบรรจุภัณฑ์ของกินของใช้ยอดนิยม 11 ชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศดังกล่าว ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2564 ว่าสามารถคัดแยกไปรีไซเคิลได้สะดวกหรือไม่และมีฉลากที่ให้ข้อมูลในเรื่องดังกล่าวมากน้อยเพียงใด         มีข้อค้นพบที่น่าสนใจจากการสำรวจดังนี้        · ในภาพรวม ร้อยละ 35 ของแพ็คเกจผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่สำรวจยังเป็นภาระในการรีไซเคิล        · ถ้าเฉลี่ยเป็นรายชิ้นจะพบว่า ร้อยละ 17 ของแพ็คเกจแต่ละชิ้นไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และยิ่งเป็นพลาสติกชิ้นบางเบา ก็ยิ่งยากต่อการรีไซเคิล        · เมื่อเทียบแพ็คเกจสินค้า 11 ชนิด ในแต่ละประเทศ ฮ่องกงมีสัดส่วนของแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้มากที่สุด ในขณะที่บราซิลมี “ขยะ” เหลือทิ้งมากที่สุด          ·  สำหรับอีก 7 ประเทศ ดูได้จากตารางด้านล่างนี้                   · ฉลากสินค้าเหล่านี้ในทุกประเทศที่สำรวจ ไม่ระบุวิธี “ทิ้ง” บางชนิดมีแพ็คเกจที่นำไปรีไซเคิลได้ แต่ฉลากกลับไม่แจ้งไว้ หรือกรณี M&M ของโปรตุเกส ที่แพ็คเกจระบุว่าให้นำไปทิ้งลงถัง ทั้งๆ ที่มันสามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100%        · ฉลากมีข้อความที่ไม่สามารถเข้าใจได้ง่ายโดยผู้บริโภคในประเทศ เช่น ฉลากน้ำแร่ซานเพลลิกรีโน ที่ขายในออสเตรเลียกับนิวซีแลนด์ กลับมีการแสดงสัญลักษณ์แบบที่ใช้ในยุโรป        · จากการเปรียบเทียบฉลากสินค้า 11 ชนิด ใน 9 ประเทศ พบว่า ออสเตรเลีย บราซิล และฝรั่งเศส มีสินค้าที่มีฉลากให้ข้อมูลรีไซเคิลมากกว่า 8 ชนิด อินเดีย มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร มีระหว่าง 5 – 8 ชนิด ฮ่องกงและโปรตุเกสมีไม่เกิน 4 ชนิด                     โดยสรุป ผู้บริโภคใน 9 ประเทศที่ทำการสำรวจรู้สึกว่า การคัดแยกขยะเพื่อการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ฉลากที่ไม่ชัดเจนหรือให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องก็ทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรับผิดชอบต่อโลกเป็นเรื่องยาก หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเรื่องความยั่งยืน ภาระเรื่องนี้ต้องไม่ใช่ของผู้บริโภคอย่างเดียว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการต้องร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามนี้ รวมถึงภาครัฐที่ปัจจุบันยังมีระดับการจัดการเรื่องนี้แตกต่างกันไป ก็ควรมีกฎเกณฑ์ในเรื่องฉลากและมีศูนย์รีไซเคิลไว้รองรับด้วย           หลัก 7R ที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถใช้เพื่อช่วยลดขยะ        REFUSE         ปฏิเสธสิ่งที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม            REDUCE        ลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงเลือกสินค้าที่สามารถใช้งานได้นานขึ้น        REUSE           ใช้บรรจุภัณฑ์ซ้ำหลายครั้งก่อนทิ้ง        REFILL           เลือกใช้สินค้าชนิดเติมได้ เพื่อลดขยะบรรจุภัณฑ์        REPAIR          ซ่อมแซมเพื่อให้สามารถใช้ต่อได้ แทนที่จะปลดระวางมันไปเป็นขยะ        RETURN        เลือกสินค้าที่สามารถส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับสู่ผู้ผลิตได้          RECYCLE     แยกขยะที่ยังมีประโยชน์ออกมาเพื่อส่งแปรรูป  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 245 กระแสต่างแดน

แบรนด์ที่ไว้ใจ        ขยะอิเลคทรอนิกส์ที่กำลังจะล้นโลกส่วนหนึ่งมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จากเราไปก่อนเวลาอันควรและไม่คุ้มที่จะซ่อมกลับมาใช้ต่อ สิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคพอจะทำได้คือ เลือกแบรนด์ที่ทำผลิตภัณฑ์ได้มีประสิทธิภาพและใช้งานได้นาน แล้วใครล่ะที่เราเชื่อถือได้         องค์กรผู้บริโภคของสหรัฐอเมริกา Consumer Reports (CR) ได้สำรวจและจัดอันดับ “ความน่าเชื่อถือ” ของแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องล้างจาน เตาไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้า เป็นต้น โดยใช้คะแนนจากความเห็นของสมาชิก         ในการสำรวจครั้งที่สามนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกอ้างอิง 760,000 ชิ้น ที่ผู้บริโภคซื้อในระหว่างปี 2010 และ 2020 และแบรนด์ที่ถูกนำมาจัดอันดับนั้นคือแบรนด์ที่มีเครื่องไฟฟ้าออกมาจำหน่ายอย่างน้อยสองประเภท สิบอันดับแรกได้แก่ Speed Queen  LG  Café’  Ikea  Thermador  Bosch Miele  GE  Roper และ Signature Kitchen Suite ส่วนยี่ห้อที่เรารู้จักกันอย่าง Whirlpool  KitchenAid และ Samsung นั้นเข้ามาที่อันดับ 11, 17 และ 20 ตามลำดับ รู้แต่ไม่เข้าใจ?        การสำรวจความเข้าใจเรื่อง “ยาปฏิชีวนะ” ในหมู่ประชากรยุโรปในปี 2018 พบว่าคนส่วนใหญ่รู้ว่ายาปฏิชีวนะ (ที่หลายคนเรียกติดปากว่า ยาแก้อักเสบ) รักษาโรคหวัดไม่ได้ และรู้ด้วยว่าหากใช้พร่ำเพรื่อจะทำให้ยาใช้ไม่ได้ผล         นอกจากนี้ยังรู้ว่ามีผลข้างเคียง และควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น         แต่เมื่อถามถึงประสิทธิภาพของยาปฏิชีวนะในการฆ่าไวรัส ร้อยละ 48 ตอบว่ายาปฏิชีวนะสามารถ “ฆ่าไวรัสได้” ในขณะที่ร้อยละ 43 ตอบว่า “ฆ่าไม่ได้” ที่เหลืออีกร้อยละ 9 ตอบว่า “ไม่รู้”แต่ละปียุโรปมีการติดเชื้อจากแบคทีเรียดื้อยาไม่ต่ำกว่า 670,000 เคส มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 33,000 คน ส่งผลให้เกิดภาระทางการเงินต่อระบบสุขภาพไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันล้านยูโร         มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ผู้คนจะเสียชีวิตจากแบคทีเรียดื้อยามากกว่าโรคมะเร็ง            ขณะนี้ประเทศที่มีอัตราการตายจากแบคทีเรียดื้อยาสูงที่สุดในยุโรปคืออิตาลี ตามด้วยฝรั่งเศส ในขณะที่กรีซ ไซปรัส และสเปน เป็นประเทศที่มีการใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดตามลำดับ   โควิดช่วยเพิ่มยอด        การศึกษาตัวเลขยอดขายยาปฏิชีวนะในอินเดีย โดยคณะวิจัยจากอเมริกาและแคนาดาพบว่ายอดสั่งซื้อยาปฏิชีวนะจากโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงโควิด-19 ระบาด         ปี 2019 มีการใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.5 ในขณะที่ปี 2020 มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 76.8         นักวิจัยคาดว่ามีการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นไปประมาณ 216 ล้านโดส หรือพูดง่ายๆ ข้อมูลนี้ทำให้ตีความได้ว่าผู้ป่วยทุกคนที่ถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิดจะได้รับยาปฏิชีวนะนั่นเอง         และเมื่อเจาะจงไปที่ยาอซิโตรมัยซิน (ที่ใช้รักษาไทยฟอยด์หรือท้องร่วง) ก็พบว่ามีการใช้ถึง 38 ล้านโดส ในระหว่างเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนัก         น่าสังเกตว่าขณะที่การใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มประเทศตะวันตกมีแนวโน้มลดลงเพราะคนไม่ค่อยเป็นหวัด ติดต่อพบปะกันน้อยลง ยกเลิกนัดทำฟันหรือการผ่าตัดเล็กอื่นๆ ที่ไม่จำเป็น แต่แนวโน้มการใช้ในอินเดียกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่โรคอย่างมาลาเรีย ไข้เลือดออก หรือโรคชิคุนกุนยาก็ลดลงแล้ว  ไหนเล่ามาซิ        สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินของสิงคโปร์ ขอคำอธิบายด่วนหลังพบว่ามีอุปกรณ์ฟิตเนสแทรคเกอร์ 341,208 ชิ้น รวมมูลค่าห้าล้านเหรียญสิงคโปร์หรือประมาณ 120 ล้านบาท ยังไม่ถูกนำไปแจกจ่ายให้กับประชาชนตามโครงการส่งเสริมสุขภาพ National Steps Challenge ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2015         อุปกรณ์ที่ราคาระหว่าง 10 ถึง 25 เหรียญ เหล่านี้อยู่ในสภาพที่ใช้งานแทบไม่ได้ มีราขึ้นทั้งสายและหน้าปัด และการรับประกันจากผู้ผลิตบางรุ่นก็หมดแล้ว บางรุ่นก็จะหมดสิ้นปีนี้ ยังไม่นับว่าเทคโนโลยีที่ใช้ก็อาจจะเก่าเกินไปแล้ว         หนักไปอีกเมื่อไม่พบว่าใครเป็น “เจ้าภาพ” ทำหน้าที่จัดทำสต็อคหรือบันทึกการแจกจ่ายผ่านทางอีเวนท์ต่างๆ และสตง. ยังพบว่ามีอุปกรณ์ดังกล่าวหายไปจากสต็อคอย่างไร้ร่องรอยถึง 17,909 เครื่อง (คิดเป็นมูลค่า 720,000 เหรียญ)         ผู้เข้าร่วม “โครงการนับก้าว” สามารถเอาคะแนนที่สะสมจากการออกกำลังกายมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการได้โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย โครงการเขาช่างจูงใจเหลือเกิน แม้แต่คนที่ตายไปแล้วก็ยังมาสมัครกันถึง 136 คน!!  อยากให้รีบสั่งเลย        ปีนี้คนออสซี่ต้องรีบคิดให้ตกว่าจะซื้อของขวัญอะไรให้เพื่อนหรือญาติในคริสต์มาสที่จะถึง... ในอีกห้าเดือนข้างหน้า คิดได้แล้วก็ต้องลงมือสั่งทันที ผู้ประกอบการเขาออกมาเตือนด้วยความหวังดี         อย่าลืมว่านักช้อปออนไลน์มีจำนวนมหาศาล ในขณะที่การขนส่งระหว่างประเทศมีข้อจำกัดมากขึ้นทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน บริษัทขนส่งทางเรือที่เคยมีดำเนินการอยู่ 24 เจ้าก็ลดเหลือแค่ 13 เจ้าในช่วงที่มีโรคระบาด         ไหนจะปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ หรือการปิดโรงงานในประเทศต้นทางเพราะพนักงานติดโควิด-19 อีก         ยิ่งถ้าต้องการสินค้าแบบเจาะจงแบรนด์ก็ยิ่งต้องรีบ โดยปกติแล้วร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งทางเครื่องบินมายังออสเตรเลียนั้นจะนั่งมาสวยๆ ใต้ท้องเครื่องบินโดยสาร (ค่าเฉลี่ยของทั้งโลกอยู่ที่ร้อยละ 50) แน่นอนว่ามีเที่ยวบินโดยสารน้อยลงเพราะปัจจุบันออสเตรเลียยอมให้มีการเดินทางเข้าประเทศได้แค่ 3,035 คนต่อสัปดาห์เท่านั้น (จากเดิม 6,070 คน) สรุปว่ารีบได้รีบ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 “ฮาวทูทิ้ง?”

        คุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและพยายามแยกขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่บางครั้งก็ไม่รู้ว่าจะจัดการกับขวด กล่อง หรือกระป๋องเปล่าพวกนั้นอย่างไร สัญลักษณ์ที่แต่ละเจ้าใช้ก็ไม่เหมือนกัน คิดมากก็เพลียจิต คุณเลยทำเท่าที่ทำได้... แล้วก็ทำใจ         ใจเย็นๆ คนทั้งโลกก็พบกับปัญหาเดียวกัน         เพื่อรับมือกับเรื่องนี้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNDP), สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International), และ One Planet Network จึงได้สำรวจและจัดทำรายงาน “CAN I RECYCLE THIS?” A global mapping and assessment of standards, labels, and claims on plastic packaging เพื่อทำแผนผังและประเมิน “ตรามาตรฐาน” “โลโก” รวมถึง “คำกล่าวอ้าง” ของผู้ผลิตบนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ว่าด้วยวัสดุที่ใช้ กระบวนการผลิต ความเป็นไปได้ในการรีไซเคิล และการทิ้งอย่างถูกต้อง        (อ่านฉบับเต็มได้ที่ https://www.consumersinternational.org/media/352255/canirecyclethis-finalreport.pdf)         การสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญใน 33 ประเทศ และสำรวจ “โลโก” และ “คำกล่าวอ้าง” บนฉลากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใน 22 ภาษาจากเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงการลงพื้นที่ในประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย และเคนยา ทำให้พบประเด็นปัญหาและเกิดข้อเสนอแนะที่สำคัญ 5 ประการ ในการสื่อสารเรื่องพลาสติกกับผู้บริโภค ดังนี้        ·      การศึกษาครั้งนี้พบว่ายังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงอีกมาก ปัจจุบันมีความแตกต่างหลากหลายในการสื่อสารด้วยโลโกบนฉลากและคำกล่าวอ้างบนบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ระดับความน่าเชื่อถือ ความชัดเจนโปร่งใส การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงการที่ผู้ผลิตให้ข้อมูลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้จึงเสนอให้ภาคธุรกิจใช้ “แนวปฏิบัติว่าด้วยการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์” ที่ตีพิมพ์โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติและศูนย์พาณิชยกรรมระหว่างประเทศ (ITC) ในการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์พลาสติกกับผู้บริโภค        ·      สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการศึกษาครั้งนี้คือ บรรดาฉลากและคำกล่าวอ้างล้วนสร้างความสับสนให้ผู้บริโภค จึงควรมีการกำหนด “ความหมาย” ให้ตรงกัน เช่น สัดส่วนปริมาณพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือการทิ้งที่ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการจากทั่วโลกจะได้ใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน        ·      มาตรฐานอ้างอิง โลโก และคำกล่าวอ้าง ต้องสะท้อนสภาพตามความเป็นจริงมากขึ้น คำจำกัดความ และข้อกำหนดทางเทคนิคที่ใช้ในมาตรฐานเกี่ยวกับระดับความสามารถในการถูกรีไซเคิล การย่อยสลาย ไม่ว่าจะโดยตัวของมันเองหรือจากฝีมือของจุลินทรีย์ในดิน ควรเป็นสิ่งที่สามารถวัดประเมินได้และทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายด้วย         ·    การใช้สัญลักษณ์ “ลูกศรวิ่งไล่กัน” ควรถูกจำกัดไว้สำหรับการแสดงว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นสามารถนำไปรีไซเคิลได้เท่านั้น งานสำรวจพบว่าปัจจุบันมีการนำสัญลักษณ์ดังกล่าวไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น ทำให้ผู้บริโภคสับสน นำไปสู่การคัดแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง และกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภค ผู้ประกอบการจึงควรเลิกใช้สัญลักษณ์นี้ในตราสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด        ·      ควรมีการนำโลโกรีไซเคิลที่ผ่านการออกแบบอย่างดีและให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภคมาใช้ โลโกที่ดีสามารถส่งเสริมพฤติกรรมการทิ้งขยะอย่างรับผิดชอบของผู้บริโภคได้ แน่นอนว่าภาคธุรกิจควรใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รีไซเคิลได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าแสดงโลโกที่เข้าใจง่ายด้วย ด้านองค์กรกำกับดูแลควรออกกฎระเบียบให้ชัดเจนเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคใช้และ “ทิ้ง” บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลไว้รองรับด้วย                 ขยะพลาสติกเป็นปัญหาที่เราร่วมกันสร้างและต้องร่วมกันแก้ แม้ในปัจจุบันภาคธุรกิจและภาครัฐจะให้ความสนใจกับการจัดการขยะพลาสติกมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายในการทำให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคและรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืน ปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตออกมาทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล         สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำอย่างเร่งด่วนคือการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่วัตถุดิบในการผลิตบรรจุภัณฑ์อย่างพลาสติกจะได้รับการคงคุณค่าทางเศรษฐกิจไว้ในนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก่อนจะถูกลดชั้นไปเป็น “ขยะ” และเป็นส่วนหนึ่งของ “ขยะพลาสติก” ที่รั่วไหลลงสู่ทะเลประมาณปีละ 8 ล้านตัน และทำให้เกิดไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ชายฝั่ง         ปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงที่มักถูกมองข้ามคือผู้บริโภค สินค้าที่เราเลือกซื้อและวิธีการ “ทิ้ง” ของเรามีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อกระบวนการผลิตสินค้าและการรั่วไหลของพลาสติกเข้าสู่สิ่งแวดล้อม หากเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เข้าใจง่าย ไม่สับสน เราจะเป็นกำลังสำคัญในขบวนการกู้โลกได้อย่างแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 240 ความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2564

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ชิ้นเล็กฝากไปกับไปรษณีย์ได้        บริษัท ไปรษณีย์ไทยผนึกกำลังเอไอเอส จัดโครงการ'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์กว่า 2 หมื่นคนทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถ 'ฝากทิ้ง ขยะอิเล็กทรอนิกส์' ผ่านบุรุษไปรษณีย์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สมาคมโรคไตแนะผู้ป่วยอย่าหลงเชื่อสมุนไพรบำรุงรักษาไต        ในงานสัปดาห์วันไตโรค สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยร่วมกับเครือข่ายองค์กรทางการแพทย์ยืนยัน ปัจจุบันยังไม่มีสมุนไพรตัวไหนที่มีข้อมูลหลักฐานทางงานวิจัยหรือการบันทึกมากเพียงพอที่แสดงถึงประโยชน์ในการรักษาโรคไตได้อย่างมั่นใจ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ โดยเฉพาะตัวถั่งเช่าที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน         รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ยืนยันว่าจากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่า ถั่งเช่ามีประโยชน์จริงในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตในมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานของอาการที่ไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย การที่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังลองทานยาสมุนไพรรักษาโรคไตนั้น น่าจะมีโทษมากกว่าประโยชน์ ซึ่งการรักษาที่ดีที่สุดคือการดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด    เครือข่าย “พาราควอต” เล็งฟ้องศาลปกครองยื้อขอใช้ต่อ        25 ก.พ. คือกำหนดเวลาสุดท้ายที่ให้ครอบครองสาร “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” เกษตรกรต้องเร่งส่งคืนสารเคมีอันตรายร้ายแรงให้กับร้านค้าสารเคมีทางการเกษตรที่ซื้อมา จากนั้นร้านค้าก็จะต้องส่งคืนให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเพื่อให้นำสารเคมีเหล่านี้ไป “กำจัด” โดยรัฐจะกำหนดวันวิธี และสถานที่ในการทำลาย ทั้งนี้ ตามประกาศได้กำหนดไว้ว่า ผู้ฝ่าฝืนที่มีสารเคมีทางการเกษตรอันตรายร้ายแรงไว้ในครอบครองหลังวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามภาระในการกำจัดสารเคมีอันตรายร้ายแรง “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จะตกไปอยู่ที่ผู้นำเข้าที่ต้องเสียค่ากำจัดเองประมาณ 100,000 บาท/ตัน         ดังนั้นจึงเกิดการเคลื่อนไหวโดยทางด้านเครือข่ายผู้ใช้เคมีปลอดภัย สมาคมวิทยาการวัชพืช เตรียมระดมทุนดึงมหาวิทยาลัย นักวิชาการ วิเคราะห์ผลตกค้างใหม่บอกผลวิจัยชุดเก่า “เชื่อถือไม่ได้” ขู่ฟ้องศาลปกครองเอาผิด คณะกรรมการวัตถุอันตราย ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 73 และ 4 อ้างทำเสียหาย 200,000 ล้านบาท "กัญชา กัญชง"ใช้ประกอบอาหารไม่ผิดกฎหมาย        22 กุมภาพันธ์ ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่าคณะกรรมการอาหารได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ 1.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ซึ่งมีสาระสำคัญคือ ปลดให้ใช้ส่วนของกัญชาและกัญชงที่ไม่เป็นยาเสพติดในผลิตภัณฑ์อาหารได้ 2.(ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ….) พ.ศ…. ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง เมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง หรือโปรตีนจากเมล็ดกัญชง โดย อย. จะเสนอ (ร่าง) ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับนี้ให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนาม และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป         ด้านองค์กรผู้บริโภค เป็นห่วงประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ระบุ 'คณะกรรมการอาหาร และ อย.' ต้องพิจารณาเรื่องการกำกับดูแลร้านอาหารและเครื่องดื่ม การแจ้งข้อมูลผู้บริโภค คำเตือน และกำหนดอายุผู้ซื้อ มีบทลงโทษถ้าไม่ดำเนินการ         “สาร THC และ CBD ที่อยู่ในใบกัญชาละลายได้ดีในอาหารที่มีไขมันเป็นองค์ประกอบและถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านระบบทางเดินอาหารได้ดี จึงมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคค่อนข้างสูง อาจเกิดผลข้างเคียงจากการบริโภคได้ โดยเฉพาะในหญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร ทารก เด็กเล็ก อาจได้รับสารนี้จากการบริโภคทั้งโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ” มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหารมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค องค์กรผู้บริโภค คัดค้านราคา 104 บาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวและร่วมเสนอทางออก        'มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านขึ้นราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวสูงสุด 104 บาท เพิ่มภาระประชาชน กลายเป็นขนส่งสาธารณะที่ยากต่อการเข้าถึง แนะเว้นค่าแรกเข้า - ตั้งเพดานราคา - จัดการสัญญาสัมปทาน' แก้ปัญหาราคารถไฟฟ้า         การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าต้องทำให้เป็นขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เพิ่มภาระค่าครองชีพ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาถูกกว่านี้ได้ โดยสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาคือ การเว้นค่าแรกเข้า เนื่องจากปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกคิดจากสัญญาสัมปทานในแต่ละสายแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีกระบบตามที่ระบุในสัญญาฯ ดังนั้นถ้าใครต้องต่อรถไฟฟ้าหลายต่อก็จะแพงขึ้นมาก เพราะต้องเสียค่าแรกเข้าให้กับทุกระบบรถไฟฟ้า ระบบตั๋วร่วมจึงควรเกิดขึ้นได้เสียที คือตั๋วเดียวและขึ้นได้ทุกระบบ และพิจารณาเรื่องการทำให้ค่าโดยสารมีส่วนลด         “รัฐควรนำสัญญาสัมปทานทุกสายมาดูเพื่อแก้ไขปัญหา เพราะหากยังใช้สัญญาสัมปทานเดิม แม้จะยกเว้นค่าแรกเข้าแล้วก็ยังราคาเกือบหนึ่งร้อยบาท ดังนั้นจึงต้องทำควบคู่กันไป ทั้งการยกเว้นค่าแรกเข้า ตั้งเพดานราคา และจัดการปัญหาสัญญาสัมปทาน นอกจากนี้เรื่องการอุดหนุนจากรัฐก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด รัฐสามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพื้นที่บนสถานีรวมถึงพื้นที่แนวเส้นรถไฟฟ้า เพื่อนำรายได้ส่วนนั้นมาดอุดหนุนเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ในราคาที่ถูกลง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 กระแสต่างแดน

โรงเรียนปิด “โรงไฟฟ้า” เปิด               รัฐบาลญี่ปุ่นต้องปิดโรงเรียนประถมจำนวนมากเนื่องจากอัตราการเกิดที่ต่ำเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่อง จึงเกิดโจทย์ให้คิดกันว่าจะใช้ประโยชน์จากโรงเรียนปลดระวางเหล่านี้อย่างไร         จนกระทั่งบริษัท ELM Inc. ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เขาเสนอขอใช้พื้นที่ในสระว่ายน้ำของโรงเรียน (เพราะทักษะการว่ายน้ำถือเป็นสิ่งจำเป็น โรงเรียนประถมของญี่ปุ่นส่วนใหญ่จึงมีสระว่ายน้ำ) เป็นพื้นที่สำหรับแผงโซลาลอยน้ำ ที่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้โดยไม่ต้องกลัวปัญหาโอเวอร์ฮีทในวันที่ร้อนเกินไป ส่วนห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่อยู่ใกล้ๆ ก็ดัดแปลงเป็นห้องเก็บคอนเวอร์เตอร์         โรงเรียนแรก (จากทั้งหมด 15 โรง ในโครงการ) ที่เริ่มติดตั้งระบบดังกล่าว อยู่ในเขตมินามิซัตสึมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ สระว่ายน้ำทั้งสองแห่งของโรงเรียน (สระ 25 เมตร และสระ 6 เมตร) ที่รองรับแผงโซลาเซลล์ได้รวมกัน 160 แผง จึงเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าปีละ 61,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง ที่บริษัทจะขายให้กับ คิวชูอิเล็กทริคพาวเวอร์ ผู้ประกอบการด้านพลังงานในภูมิภาคตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นปั่นไม่ทันจีน         ว่ากันว่าในปี ค.ศ. 2030 ยอดขายจักรยานจะแซงยอดขายรถยนต์ ... อย่างน้อยๆ ก็ในยุโรป เนเธอร์แลนด์มีประชากร 17 ล้านคน แต่มีจักรยาน 22.1 ล้านคัน ในขณะที่ร้อยละ 52 ของผู้อยู่อาศัยในเมืองโคเปนเฮเกน ใช้จักรยานในการเดินทาง         ร้อยละ 90 ของจักรยานที่คนยุโรปใช้ ผลิตในประเทศจีน เมื่อจีนลดกำลังการผลิต/ปิดโรงงาน และการขนส่งทำได้ล่าช้า (เพราะคอนเทนเนอร์จะจัดส่งได้ก็ต่อเมื่อมันบรรจุสินค้าจนเต็มเท่านั้น) บวกกับความต้องการใช้จักรยานที่เพิ่มขึ้นในยุคที่โควิด-19 ระบาด ยุโรปจึงขาดแคลนจักรยาน         ความจริงยุโรปก็ผลิตจักรยานเองได้ เขาผลิตได้ถึง 2.7 ล้านคันในปี 2019 ผู้ผลิตรายใหญ่สามอันดับแรกได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี และเยอรมนี แต่จักรยานเหล่านี้ราคาแพงกว่าจักรยานจีนซึ่งได้รับความนิยมมากกว่า         คณะกรรมาธิการยุโรปกำลังทำการสอบสวนกรณีที่จีนส่งจักรยานไฟฟ้าเข้าไปตีตลาดในราคาต่ำ (เพราะได้รับการสนับสนุนต้นทุนจากรัฐบาล) จนอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในยุโรปไม่ต่ำกว่า 800 ราย  บ่อขยะของยุโรป        โปแลนด์รับขยะหลายพันตันในยุโรปเพื่อ “นำมารีไซเคิล” โดยร้อยละ 70 ของขยะเหล่านั้นมาจากเยอรมนี ที่เหลือเป็นขยะจากสหราชอาณาจักร อิตาลี และออสเตรีย         เกิดเหตุการณ์โป๊ะแตกเมื่อธุรกิจรับกำจัดขยะในโปแลนด์ถูกเปิดโปงว่า ไม่ได้รีไซเคิลขยะที่ได้มา หลักๆแล้วนำไปทิ้งรวมในบ่อขยะ ซ้ำร้ายบางทีก็เผาทิ้งเพื่อประหยัดต้นทุน ให้ชาวบ้านและสิ่งแวดล้อมแบกรับผลกระทบ           บริษัทเหล่านี้หาประโยชน์จากข้อตกลงของสหภาพยุโรปที่อนุญาตให้ “ขยะรีไซเคิล” เช่นกระดาษ หรือพลาสติก สามารถถูกส่งไปยังประเทศในกลุ่มโดยไม่ต้องรายงานตัวเลข เขาก็เลยให้ต้นทางจั่วหัวขยะสารพัดชนิดว่าเป็น “ขยะรีไซเคิล” ก่อนส่งมาที่โปแลนด์        รัฐบาลโปแลนด์ยังโดนวิจารณ์หนัก ที่อนุญาตให้เอกชนไปรับขยะจากประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ขยะในบ้านตัวเองก็ยังจัดการไม่ได้ ไม่มีโรงงานรีไซเคิลมากพอ ไม่มีเทคโนโลยีการกำจัดที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือไม่มีการกำกับดูแลหลังออกใบอนุญาตด้วย ปัญหาไม่มุ้งมิ้ง         เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เดนมาร์กสั่งปิดฟาร์มมิงค์ทั้งประเทศ (1,500 กว่าฟาร์ม) และสั่งประหารชีวิตมิงค์ทั้ง 17 ล้านตัว ตามด้วยการออกกฎห้ามการเลี้ยงมิงค์ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2021 หลังพบว่ามีตัวมิงค์ติดเชื้อโควิดชนิดที่กลายพันธุ์ ซึ่งอาจมีผลต่อการแพร่ระบาดและเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการหาวิธีรักษาโรคโควิด-19         แต่คำสั่งนี้ผิดกฎหมายและกำลังมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนความผิดของรัฐบาล         อย่างไรก็ตามล่าสุดสภาเดนมาร์กมีมติอนุมัติเงินเยียวยา 1,600 ล้านยูโร (ประมาณ 58,000 ล้านบาท) ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงมิงค์และพนักงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ธุรกิจนี้ไม่ล้มละลายและสามารถเปิดดำเนินการได้ใหม่หลังสิ้นสุดการแบน         แน่นอนว่ามีคนไม่เห็นด้วยมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้ไม่ควรจะมีอยู่ในโลก จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องช่วย “ฟื้น” มันขึ้นมาอีก         เดนมาร์กเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกขนมิงค์รายใหญ่ที่สุดในโลกมันยังไม่สุก         คนอเมริกันคุ้นเคยกับอาหารแช่แข็งมานาน สถิติระบุว่าผู้คนไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนพึ่งพา “อาหารเย็นแช่แข็ง” แต่งานวิจัยล่าสุดโดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ (USDA) กลับพบว่าพวกเขาเตรียมอาหารกันอย่างไม่ถูกสุขลักษณะและมัก “การ์ดตก” ไม่ระมัดระวังเหมือนเตรียมอาหารดิบ           จากการสังเกตกลุ่มตัวอย่างที่มาประกอบอาหารแช่แข็งในครัวทดลอง จำนวน 403 คน เขาพบว่าร้อยละ 97 ไม่ล้างมือระหว่างประกอบอาหาร (อีกร้อยละ 3 ที่ล้าง ก็ทำได้ไม่ถูกต้อง) และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อุณหภูมิอย่างน้อย 165 องศา ในการประกอบอาหารแช่แข็ง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้เพราะเชื้อโรคยังไม่ตาย         ยิ่งกว่านั้น ร้อยละ 61 ของคนที่เคยป่วยหรือมีคนในครอบครัวล้มป่วยเพราะอาหาร ก็ยังไม่ “เปลี่ยน” วิธีการเตรียมอาหารอีกด้วย         USDA แนะนำให้จัดการกับอาหารแช่แข็งเสมือนเราจัดการกับอาหารดิบไว้ก่อนเป็นดีที่สุด แม้ว่ามันจะดูเป็นสีน้ำตาล หรือมีรอยไหม้เหมือนผ่านการทำสุกแล้วก็ตาม   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 กระแสต่างแดน

หยุดส่งออกขยะ        เมื่อแต่ละประเทศสามารถส่งออกขยะพลาสติกไปที่ไหนก็ได้โดยไม่มีการควบคุม ขยะอันตราย ปริมาณมหาศาลจากประเทศร่ำรวยจึงถูกส่งไปกองรวมกันอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งไม่มีความสามารถในการกำจัด กลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างที่รู้ๆ กัน         แต่สิ่งนี้กำลังจะเปลี่ยนไป นอร์เวย์เป็นประเทศแรกที่ประกาศแบนการส่งออกขยะพลาสติกอันตรายไปยังประเทศกำลังพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป ตามข้อตกลงในอนุสัญญาบาเซิลที่ว่าด้วยการควบคุมการกำจัดและการเคลื่อนย้ายขยะข้ามแดน         ปัจจุบันนอร์เวย์ในฐานะประเทศแถวหน้าด้านการจัดการขยะสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึงร้อยละ 97 ด้วยระบบการรับคืน โดยคนที่เอาขวดพลาสติกมาคืนสามารถเลือกได้ว่าจะรับเป็นเงินล็อตเตอรีหรือจะบริจาคให้องค์กรการกุศลและพลาสติกเหล่านี้ ก็จะกลายเป็นส่วนผสมร้อยละ10 ของขวดพลาสติกที่ผลิตออกมาใหม่นั่นเอง   ได้เวลารื้อ        ในช่วงที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศล็อคดาวน์เขาส่งเสริมให้คนทำ 5ส. เป็นกิจกรรมฆ่าเวลาขณะอยู่กับบ้าน ผู้ว่าเมืองโตเกียวถึงกับลงทุนจ้าง Marie Kondo กูรูด้านการจัดบ้านมาทำคลิปโปรโมทเลยทีเดียว         ผลพลอยได้คือการเติบโตของตลาดสินค้ามือสอง Buysell Technology บริษัทที่รับซื้อของเก่าตามบ้านมาวางขายในร้านออนไลน์ บอกว่านับถึงเดือนตุลาคมบริษัทได้จัดเที่ยวรถออกไปรับซื้อของเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31 โดยร้อยละ 75 ของลูกค้าคือคนอายุมากกว่า 50 ปี ที่พากันรื้อกิโมโน กระเป๋าถือ หรือเครื่องประดับออกมาขาย         ด้านแอปตลาดมือสองอย่าง Mercari ก็มียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 เช่นกัน รายงานข่าวบอกว่าราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คนนำแหวน สร้อยที่เก็บสะสมไว้ออกมาขายกันด้วย        ถือเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นได้กลับไปใช้ชีวิตตามหลัก “danshari” หรือ “อยู่อย่างพอเพียง” อีกครั้ง แบบนี้ขายไม่ได้        ดีลเลอร์รถมือสอง BNZ JP EURO เจ้าดังในนิวซีแลนด์ถูกปรับ 67,500 เหรียญ (ประมาณ 1.4 ล้านบาท) โทษฐานทำความผิด 6 ข้อหา หลักๆ แล้วคือการละเมิดสิทธิผู้บริโภค 77 ราย ด้วยการทำให้เข้าใจผิดว่ารถที่พวกเขาซื้อไปนั้น “ไม่มีการรับประกัน”         สามปีก่อน บริษัทนี้ซึ่งทำธุรกิจรับทำลายรถเก่าอยู่ที่เมืองปาปากูรา ได้ลงโฆษณาขายรถมือสอง “ตามสภาพ” ในราคาถูกมากทางเฟซบุ๊ก โดยให้ผู้ซื้อเซ็นยินยอมรับเงื่อนไขว่าเป็นการซื้อแบบ “ไม่มีประกัน” หากมีปัญหาอะไรต้อง “ซ่อมเอง” งานนี้มีผู้ซื้อบางรายจ่ายค่าซ่อมไปพอๆ กับราคาที่ซื้อ         คณะกรรมการกำกับการประกอบธุรกิจบอกว่า บริษัทไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะตามกฎหมายการซื้อขายรถมือสอง รถที่ขายโดยบริษัท (ไม่ใช่ซื้อขายกันเองระหว่างบุคคลทั่วไป) จะต้องเป็นรถที่อยู่ในสภาพ “ยอมรับได้” และมีการรับประกันเสมอ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าตนเองไม่มีสิทธิเพราะยอมรับเงื่อนไขการซ่อมเองไปแล้ว จึงถือเป็นการทำผิดกฎหมายว่าด้วยการทำธุรกิจที่เป็นธรรม  มันมาอีกแล้ว         องค์กรผู้บริโภคแห่งเซี่ยงไฮ้เปิดรายงานปัญหาว่าด้วยการโฆษณาผ่านแอปฯ ในมือถือ แน่นอนหนึ่งในเจ้าที่โดนเพ่งเล็งเป็นอันดับต้นๆ คือ WeChat ของเทนเซ็นต์         ที่เคืองใจมากที่สุดคือ “ความยาก” ในการปิดโฆษณาที่ไม่อยากดู ผู้ใช้กด “ไม่สนใจ” แล้ว ยังต้องให้เหตุผลด้วย ที่สำคัญไม่สามารถปิดโฆษณาได้ในแอปฯ ได้ต้องเข้าไปที่หน้านโยบายความเป็นส่วนตัว แล้วเลื่อนลงไปด้านล่างสุด จากนั้นจะถูกส่งต่อไปอีกเพจที่ต้องล็อคอินเข้าไปใหม่        ผ่านกระบวนการมากมาย ผู้ใช้เลยคิดว่าสามารถกำจัดโฆษณานี้ออกไปจากชีวิตอย่างถาวร แต่ไม่ใช่... อีกหกเดือนมันจะกลับมาอีก!         ที่มาที่ไปของโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลก็ยังน่าสงสัย แอปฯ รู้ความสนใจของผู้ใช้ได้อย่างไร บริษัทบอกไว้ชัดเจนว่าไม่ได้ดึงข้อมูลจาก “ประวัติการสนทนา” แต่ที่เหลือเข้าไปล้วงได้หมด... หรือไม่... อย่างไร กฎหมายหน้าต่าง        สถาบันกองงานอาคารและการก่อสร้างสิงคโปร์เผย ในรอบ 11 เดือนที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุ “หน้าต่างหล่น” ถึง 49 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นหน้าต่างชนิดบานเปิด ที่ตกลงมาเพราะหมุดอะลูมิเนียมเสื่อมสภาพแต่โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ        ตั้งแต่ปี 2004 สิงคโปร์กำหนดให้เจ้าของบ้านเปลี่ยนมาใช้หมุดสแตนเลส ซึ่งทนทานและรับน้ำหนักได้ดีกว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมีค่าปรับสูงสุด 5,000 เหรียญ (แสนกว่าบาท) หรือโทษจำคุก 6 เดือน         เจ้าของบ้านที่ปล่อยให้หน้าต่างหล่นลงมา ไม่ว่าจะเป็นชนิดบานเปิด บานเลื่อน (ซึ่งหล่นเพราะไม่มีตัวหยุด เวลาออกแรงเปิดมากเกินไป) หรือบานเกล็ด จะถูกเปรียบเทียบปรับได้สูงสุดถึง 10,000 เหรียญ หรือจำคุก 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ         สถาบันฯ บอกว่า ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุแบบนี้เฉลี่ยปีละ 50 ครั้ง และตั้งแต่ปี 2006 เป็นต้นมา มีคนถูกปรับไปแล้ว 378 ราย ถูกฟ้องร้อง 92 ราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 236 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม 2563

กทม.ใช้สิทธิบัตรทองได้ทุกแห่งเริ่ม 1 พ.ย. 63           นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้สิทธิบัตรทอง เมื่อเจ็บป่วยไปรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทองที่ใดก็ได้ในเครือข่ายบริการนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มวันที่ 1 พ.ย.นี้         การให้บริการจะแบ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายบริการที่มีศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.จำนวน 69 แห่ง ในแต่ละเขต ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายเชื่อมต่อหน่วยบริการปฐมภูมิ เช่น คลินิกเอกชน ร่วมดูแลในเครือข่ายบริการนั้นๆ ซึ่ง 1 เขตอาจจะมี 2 เครือข่ายบริการได้ และหนึ่งเครือข่ายบริการอาจมีโรงพยาบาลรองรับการส่งต่อ 2-3 แห่ง นอกจากหน่วยบริการประจำหน่วยบริการรับส่งต่อแล้วยังมีรายชื่อหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายบริการซึ่งอาจจะมี 10-20 แห่งต่อเครือข่ายบริการที่ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้ ทั้งรักษาพยาบาลเบื้องต้น รักษาต่อเนื่องโรคเรื้อรังและบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค พร้อมกันนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยพัฒนาระบบนัดหมายล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" เพื่ออำนวยความสะดวกในการนัดหมายรับบริการล่วงหน้า พร้อมตรวจสอบรายชื่อด้วย ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในไทยมีแนวโน้มล้นประเทศ          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าปัจจุบันในไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศเป็นจำนวนมาก ประมาณ 400,000 ตันต่อปี และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อมีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นในเดือนกันยายน ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศ เรื่อง ‘กำหนดให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2563’ โดยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 428 รายการ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2563         ในงานศึกษา 'การขับเคลื่อนและอุปสรรคของการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย' โดยพีรนาฏ คิดดี และสุทธิพร บุญมาก คาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างปี 2559-2564 จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษและสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อปี 2558 แล้วพบว่าในช่วงปี 2559-2564 ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นจาก 947,881 พันชิ้น ในปี 2559 เป็น 1,067,767 พันชิ้น ในปี 2564 (อัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี) การคาดการณ์ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2564 เมื่อจำแนกเป็นชนิด พบว่า (คาดการณ์ว่า) อันดับหนึ่งคือ แบตเตอรี่มีจำนวนสูงถึง 718,000 พันชิ้น รองลงมาคือ หลอดฟลูออเรสเซนต์จำนวน 317,012 พันชิ้น และโทรศัพท์มือถือ/บ้าน จำนวน 13,419 พันชิ้น ตามลำดับ เหตุจากคนใช้งานสั้นลงและเปลี่ยนใหม่บ่อย         เผยผลตรวจ "ลูกอม-หมากฝรั่ง" พบใช้สีไม่ได้มาตรฐานเกือบ 10%          27 ตุลาคม นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้รวบรวมผลการตรวจวิเคราะห์สีอินทรีย์สังเคราะห์ในลูกอมทั้งชนิดแข็ง ชนิดนุ่ม และหมากฝรั่ง โดยเป็นตัวอย่างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และผู้ประกอบการส่งตรวจระหว่างปี 2560-2562 จำนวน 387 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่า มีการใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 30 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 9.8         ลูกอมและหมากฝรั่งเป็นอาหารที่อนุญาตให้ใช้สีอินทรีย์สังเคราะห์ เพื่อเติมแต่งผลิตภัณฑ์แต่ปริมาณและชนิดของสีที่ใช้ต้องเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข โดยสีอินทรีย์สังเคราะห์เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งใช้แต่งสีอาหารให้มีสีสันที่น่ารับประทานมากขึ้น ทั้งนี้หากร่างกายได้รับในปริมาณมากหรือบ่อยครั้งย่อมก่อให้เกิดอันตรายได้ เช่น สีจะไปเคลือบเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้ทำให้น้ำย่อยอาหารออกมาไม่สะดวก อาหารย่อยยาก เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และขัดขวางการดูดซึมอาหาร ก่อให้เกิดภูมิแพ้หรืออาจมีอาการของตับ ไตอักเสบ และสีอินทรีย์สังเคราะห์บางชนิดอาจก่อให้เกิดมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ  เตือนระวังโรคอ้วน ไทยอยู่อันดับสองของอาเซียน          ภาพรวมสุขภาพคนไทยพบว่า 'โรคอ้วน' หรือสภาวะอ้วน BMI (Body Mass Index) สูงมากกว่า 25% เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.28 ของประชากรวัยทำงาน ส่งสัญญาณอันตรายหลายด้าน ทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันอุดตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่า โรคอ้วนคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกไปกว่า 4 ล้านคน         จากการสำรวจข้อมูลในระดับนานาชาติพบว่า ประเทศไทยมีความชุกของภาวะโรคอ้วนโดยมีดัชนีมวลกาย หรือ BMI สูงมากกว่า 25% โดยสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.28 จากภาวะคนไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลทำให้คนไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานถึง 4.8 ล้านคน และเสียชีวิตจากการโรคดังกล่าวไปมากกว่า 200 คน/วัน  ศาลชั้นต้น รับ คดี ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นฟ้อง ‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีแบบกลุ่มและมีการนัดไต่สวนคำร้องขอดำเนินคดีแบบกลุ่มตั้ง 25 กันยายน 2560 จนถึงวันที่ 7 กันยายน 2563 นั้น         ล่าสุด 19 ตุลาคม 2563 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร มีคำสั่งอนุญาตให้รับคดี ‘กระทะโคเรียคิง’ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของกระทะดังกล่าวไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณาเป็นคดีแบบกลุ่ม        นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและทนายความผู้รับผิดชอบคดีกล่าวว่า วันนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตรับเป็นคดีแบบกลุ่ม โดยให้เหตุผลว่ามีผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อกระทะรุ่นดังกล่าวเป็นจำนวนที่มาก ดังนั้นการดำเนินคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายได้รับความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพในการดำเนินคดีมากกว่าการดำเนินคดีแบบทั่วไป นอกจากนี้ศาลยังได้กำหนดขอบเขตของผู้เสียหายที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาหากคดีสิ้นสุดลง คือ ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะยี่ห้อโคเรียคิง จำนวน 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นไดมอนด์ ซีรีส์ (Diamond Series) และ รุ่นโกลด์ ซีรีส์ (Gold Series) ทุกคน และจำเป็นต้องซื้อภายในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 หากซื้อหลังจากนี้จะถือว่าไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มและจะไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา        “ขอฝากให้ผู้เสียหายที่ซื้อกระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์และรุ่นโกลด์ซีรีส์ทุกคน เก็บหลักฐานที่เกี่ยวข้องเอาไว้ด้วย เช่น หลักฐานการสั่งซื้อ ใบเสร็จ หลักฐานการโอนเงิน กระทะรุ่นไดมอนท์ซีรีส์หรือรุ่นโกลด์ซีรีส์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีในขั้นตอนต่อไป” ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าว         ทั้งนี้จำเลยสามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ภายในกำหนด 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง หากครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้วไม่มีการอุทธรณ์ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของคดีดังกล่าวได้ทางเว็บไซต์ consumerthai.org และทางเฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 234 ทำไมต้องคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติก

        คนไทยทุกภาคส่วนทำงานหนักเพื่อลดการใช้พลาสติก และรณรงค์ให้ใช้พลาสติกให้น้อยที่สุด ไม่รับถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ หรือห้างสรรพสินค้าทั้งหลาย หรือแม้แต่การใช้แก้วน้ำส่วนตัวแทนแก้วพลาสติก         การจัดการหรือการกำจัดขยะพลาสติกทำได้ยาก ทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว ทำการแยกขยะพลาสติกอย่างละเอียดลออ เพราะการกำจัดขยะพลาสติกมีปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่ออาชีพของกลุ่มซาเล้ง ประมาณ 1.5 ล้านคน และร้านรับซื้อของเก่าทั้งประเทศที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยอีกไม่น้อยกว่า 3 หมื่นร้านค้า        ปัจจุบันประเทศไทยยังอนุญาตให้นำเข้าขยะพลาสติก โดยที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ภาพคอนเทนเนอร์ใส่ขยะจำนวนมาก ที่ไม่สามารถกดดันให้คืนกลับสู่ประเทศต้นทาง ทำให้ต้องแบกรับภาระในการจัดการขยะพลาสติกเหล่านั้น เนื่องจากการนำเข้าขยะพลาสติกรัฐยังผ่อนผันให้สามารถนำเข้าได้ 2 ปี โดยกำหนดปริมาณให้นำเข้าในปริมาณที่ลดลง เช่น ในปี 2562 กำหนดเป้าหมายไม่เกินจำนวน 7 หมื่นล้านตัน แต่พบว่า มีการนำเข้าจริงสูงถึง 3 แสนล้านตัน หรือแม้แต่ในปี 2563 ได้รับการผ่อนผันเพียง 4 หมื่นล้านตัน แต่กลับพบว่านำเข้าในระดับแสนล้านเช่นเดียวกันความล้มเหลวในการควบคุมการกำกับดูแลปริมาณการนำเข้าทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งจัดการขยะพลาสติกอันตราย ต้นเดือนกันยายนหลายภาคส่วนออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการนำเข้าขยะพลาสติกทันที ไม่มีการผ่อนผันอีกต่อไป ตามมติคณะรัฐมนตรีเหมือนกับที่กระทรวงพานิชย์ มีมาตรการห้ามนำเข้าขยะอิเลคโทรนิกส์ไปเมื่อ 15 กันยายนที่ผ่านมา และต้องกำหนดให้ประเทศไทยยกเลิกการนำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกและซากอิเล็กทรอนิกส์ 100% ภายในปี 2563ให้ได้ไม่ใช่ผ่อนผันต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด         ขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากไหนขยะเหล่านี้มาจากการยุติการห้ามนำเข้าขยะของประเทศจีน ส่งผลให้ขยะพลาสติกทะลักมาสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากจีนประสบปัญหาการลักลอบนำเข้าเข้าสารอันตรายที่ปะปนมากับขยะพลาสติกและขยะอื่นหลายชนิดที่นำมาเป็นวัตถุดิบเพื่อรีไซเคิลและผลิตสิ่งของในประเทศ จนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐบาลจีนจึงออกประกาศห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน รวมทั้งสิ้น 32 รายการมาตรการนี้ส่งผลให้ขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมหาศาลไหลทะลักสู่ประเทศอื่นในอาเซียนรวมถึงประเทศไทย เช่น พบว่า ในปี พ.ศ.2561 มีการนำเข้าเศษพลาสติกสูงถึง552,912 ตัน เทียบกับปีพ.ศ. 2559ก่อนประเทศจีนประกาศห้าม มีการนำเข้ามาเพียง 69,500 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า         นโยบายที่ขัดแย้งกันเองของรัฐบาล จะทำอย่างไรที่จะช่วยกันแก้ปัญหาต้นน้ำ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการห้ามนำเข้าขยะพลาสติก เพราะนอกจากเป็นปัญหากับซาเล้ง ส่งผลต่อสุขภาพสิ่งแวดล้อม ยังเกิดปัญหาการแย่งน้ำของชุมชุนในการทำโรงไฟฟ้าชุมชนจากขยะพลาสติก ตลอดจนความไม่เป็นธรรมในโครงสร้างราคาพลังงาน ที่โรงงานพลาสติกขายไฟฟ้าได้ 5.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่ ไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์มีรับซื้อเพียง 1.68 บาทเท่านั้น เร่งจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศเราเถิด ไม่ควรมีตำแหน่งรับกำจัดขยะพลาสติกทั่วโลก

อ่านเพิ่มเติม >