ฉบับที่ 254 ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด

        หลายคนคงได้ยินข่าวเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าสหภาพยุโรปประกาศข้อเรียกร้องต่ออุตสาหกรรมแฟชัน ขอให้ผลิตสินค้าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนและความสะดวกในการซ่อมแซมหรือรีไซเคิล รวมไปถึงการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค เช่น ระยะเวลาการใช้งาน หรือหลักฐานสนับสนุนว่าสินค้าตนเอง “รักษ์โลก” อย่างไร            สหภาพยุโรปมีสถิติการนำเข้าเสื้อผ้าสูงที่สุดในโลก และในช่วงสิบปีที่ผ่านมามูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทเสื้อผ้าของยุโรปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62 เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะกระแส “ฟาสต์แฟชัน” ที่แพร่ขยายไปทั่วโลก ปัจจุบันผู้คนสามารถซื้อเสื้อผ้าได้บ่อยและมากกว่าเดิม ด้วยราคาที่ถูกลง รวมถึงคอลเลคชันใหม่ๆ ที่ออกมาดึงดูดใจลูกค้าอยู่ตลอดเวลาจนเสื้อผ้าที่มีอยู่ดู “เอ๊าท์” ไปโดยปริยาย และถ้าเบื่อหรือไม่ชอบก็แค่ซุกมันไว้หรือไม่ก็ทิ้งไปแล้วซื้อใหม่ สถิติระบุว่าคนในสหภาพยุโรปทิ้งเสื้อผ้ากันคนละประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี          แต่นั่นก็ยังไม่เท่าไรเมื่อเทียบกับประเทศที่มี “การบริโภคเสื้อผ้าต่อคน“ เป็นอันดับหนึ่งของโลก อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีอัตราการทิ้งเสื้อผ้าของประชากรอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี  ในขณะที่ออสเตรเลียตามมาเป็นอันดับสอง ด้วยสถิติการซื้อเสื้อผ้าคนละ 27 กิโลกรัม และทิ้งในอัตรา 23 กิโลกรัมต่อปี         ผู้บริโภคอาจไม่คิดว่าการมีเสื้อผ้าล้นตู้จะส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากมายนัก เมื่อไม่มีพื้นที่จัดเก็บ ก็แค่นำไปบริจาคให้มูลนิธิต่างๆ หรือขายเป็นเสื้อผ้ามือสองหาเงินเข้ากระเป๋า บริษัทที่รับซื้อเสื้อผ้าเก่าเพื่อส่งออกไปขายยังประเทศอื่นก็มี ... แต่เดี๋ยวก่อน รู้หรือไม่ว่าร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกในโลกเรามาจาก “ขยะเสื้อผ้า” ที่ชาวโลกร่วมสร้างกันปีละไม่ต่ำกว่า 92 ล้านตัน (เทียบเท่ากับการนำเสื้อผ้าหนึ่งคันรถบรรทุกไปเทลงบ่อขยะหรือเตาเผาทุกหนึ่งวินาที) และหากไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงเทรนด์นี้ นักวิชาการคาดการณ์ว่าโลกเราจะมีขยะเสื้อผ้า 134 ล้านตันในปี 2030         แม้การ “รีไซเคิล” ดูจะเป็นทางออก แต่ปัจจุบันมีเสื้อผ้าเพียงร้อยละ 20 เท่านั้นที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ด้วยความซับซ้อนของดีไซน์เสื้อผ้ายุคนี้ ส่วนประกอบตกแต่ง เส้นใยหลากหลายชนิด รวมถึงสีเคมีที่ใช้ย้อม ล้วนเป็นอุปสรรคที่ทำให้การรีไซเคิลเป็นเรื่องยากและมีต้นทุนสูง           ในขณะที่อีกร้อยละ 80 ของเสื้อผ้าเหล่านี้จะถูก “ส่งต่อ” ไปยังประเทศที่สามเพื่อขายเป็นเสื้อผ้ามือสอง แต่เรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ฉลาดซื้อขอพาคุณไปดูเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศกานา ที่กำลังเผชิญปัญหาสิ่งแวดล้อมจาก “ขยะเสื้อผ้า”  หน้าผาหลากสี        ทุกสัปดาห์จะมีเสื้อผ้าใช้แล้วจากยุโรป อังกฤษ อเมริกา ออสเตรเลีย จำนวน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ (หรือประมาณ 15 ล้านชิ้น) ถูกส่งเข้ามายังเมืองอักกรา เมืองหลวงของกานา ฮับเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในอัฟริกาตะวันตก และที่ตั้งของ “ตลาดคันตามันโต” ที่มีแผงค้าเสื้อผ้ามือสองกว่า 5,000 แผง         ก่อนหน้านี้ ทุกครั้งที่มีการเปิดกระสอบ (ที่ผู้ค้าทุนหนาซื้อมาในราคา 95,000 เหรียญ) พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยจะกรูกันเข้ามาแย่งกันหยิบฉวย “เสื้อผ้าแบรนด์เนม” ที่สามารถนำไปขายทำราคาได้สูงๆ แต่เดี๋ยวนี้แค่แย่งให้ได้ “เสื้อผ้าสภาพดีพอขายได้” ก็เก่งมากแล้ว         เพราะปัจจุบันในบรรดาเสื้อผ้าใช้แล้วที่นำเข้ามายังกานา มีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สภาพดีพอที่จะนับเป็น “สินค้า” ส่วนที่เหลือต้องคัดทิ้งเป็นขยะ ที่สำคัญยังมีส่วนที่เป็น “ขยะ” อยู่แล้วปะปนมาในกระสอบด้วย         ภาระนี้จึงตกเป็นของชาวเมืองที่นี่ ศักยภาพในการกำจัดขยะของเมืองอักกราอยู่ที่วันละ 2,000 ตัน เมื่อขยะทั่วไปของเมืองรวมกับขยะเสื้อผ้าอีก 160 ตันต่อวัน จึงเกินความสามารถที่จะจัดการได้ ส่วนที่เหลือจึงถูกนำไปเผา แต่เนื่องจากปริมาณของมันมหาศาลจึงไม่สามารถเผาได้หมด เสื้อผ้าที่เหลือจากการเผาก็จะถูกนำไปกองรวมกันให้เผชิญแดดลมและความชื้นไปตามสภาพ เกิดเป็นกองขยะริมชายฝั่งทะเล ที่ถูกอัดแน่นพอกพูนขึ้นทุกวันจนดูคล้ายกับหน้าผาหลากสี ที่กลายเป็น “แลนด์มาร์ก” ของเมืองนี้ไป         แต่มันคงจะไม่ถูกพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในเร็วๆ นี้ เพราะนอกจากจะเป็นมลพิษทางสายตาแล้ว พลาสติกหรือสารเคมีจากสีย้อมที่รั่วไหลลงสู่แหล่งน้ำยังสร้างความลำบากให้กับชีวิตชาวบ้านที่ต้องอาศัยใช้น้ำและชีวิตของสัตว์น้ำในทะเลด้วย         ประเทศในอัฟริกาประเทศอื่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน บางแห่งรุนแรงจนรัฐบาลต้องเข้ามาแทรกแซง เช่น กรณีของรวันดา ที่ตัดสินใจแบนการนำเข้าเสื้อผ้าเหล่านี้ไปเลย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและปกป้องอุตสาหกรรมเสื้อผ้าในประเทศ ในขณะที่เคนยา และแทนซาเนีย กลับไม่สามารถทำอย่างนั้นได้เพราะติดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐอเมริกา หากไม่รับ “ขยะ” เหล่านี้ ก็จะต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจที่จะตามมา ฟาสต์แฟชันยังคงฟาสต์ฟอร์เวิร์ด >>>         ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แบรนด์เสื้อผ้าจากฝั่งยุโรปที่เคยจำหน่ายเสื้อผ้าปีละ 2 ซีซัน ก็สามารถผลิตออกมาวางขายได้ถึงปีละ 12 ถึง 24 คอลเลคชัน และเป็นที่รู้กันของ “สายแฟ” ว่าเดี๋ยวนี้มีเสื้อผ้าออกใหม่ทุกสัปดาห์ (เท่ากับ 52 ไมโครซีซัน เลยทีเดียว)         นอกจากนี้การเปิดตัวของร้านเสื้อผ้าออนไลน์ที่รองรับการสั่งซื้อตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น SHEIN ร้านเสื้อผ้าออนไลน์ (ประเภทไม่มีหน้าร้าน) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัทมียอดขาย 6,200 ล้านเหรียญในปี 2020 และ 15,000 ล้านเหรียญในปี 2021 และความร้อนแรงนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา บริษัทซึ่งมีมูลค่า 100,000 เหรียญสหรัฐ ยังสามารถระดมทุนได้อีก 1,000 ล้านเหรียญ         ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ SHEIN คือสหรัฐฯ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้หญิงในวัยต่ำกว่า 25 ปี เรื่องนี้สอดคล้องกับงานวิจัยที่ระบุว่ากลุ่มคนที่ซื้อเสื้อผ้ามากที่สุดคือวัยรุ่นผู้หญิง เขาพบว่าคนกลุ่มนี้ซื้อเสื้อผ้าปีละ 50 ถึง 60 ชิ้น และในจำนวนนี้มีมากกว่าร้อยละ 10 ที่ไม่เคยหยิบออกมาใส่        กระแสสังคมโซเชียลที่กระตุ้นการซื้อด้วยวาทกรรม “ของมันต้องมี” ภาพการหิ้วถุงพะรุงพะรังเดินหัวเราะร่าเริงออกจากร้าน รวมถึงการนำเสนอว่าการซื้อเสื้อผ้าเพื่อมาใส่ (เพียงครั้งเดียว) ในโอกาส “พิเศษ” นั้นเป็นเรื่องปกติ ล้วนมีอิทธิพลต่อ “คนรุ่นใหม่”         งานสำรวจจากอังกฤษพบว่า หนึ่งในสามของสาวๆ ที่นั่นมองว่าเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วหนึ่งหรือสองครั้ง ถือเป็นเสื้อผ้า “เก่า”  ในขณะที่หนึ่งในเจ็ดบอกว่าการปรากฏตัวซ้ำในภาพถ่ายด้วย “ชุดเดิม” เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่น่าสนใจคือ คน Gen Z และมิลเลนเนียล ที่ขึ้นชื่อว่าตระหนักถึงปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า และให้การยอมรับ “เสื้อผ้ามือสอง” มากกว่าคนรุ่นก่อน กลับไม่ตั้งคำถามว่าถ้าเสื้อผ้าราคาถูกขนาดนี้ คนที่เกี่ยวข้องในสายการผลิต (เช่น เกษตรกร เจ้าของโรงงาน พนักงานโรงงาน ธุรกิจขนส่ง) จะได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมหรือไม่                                                                         ข้อมูลอ้างอิงhttps://ecdpm.org/talking-points/sustainable-fashion-cannot-stop-eu-borders/?fbclid=IwAR0QRttzmKb8VB7cT2p0_N4ObdoNBWKEDOZTbgW1GJEy0DaZ-zNiJW63DTYhttps://www.abc.net.au/news/2021-08-12/fast-fashion-turning-parts-ghana-into-toxic-landfill/100358702?fbclid=IwAR2HZoRrPYBNtPLrsd0vN1V1dGSiJf7a4tXiNleJ7QP00bHoh_DT8lAtM1ghttps://www.abc.net.au/news/2021-06-11/textile-waste-consumption-under-estimated/100184578?fbclid=IwAR08GFcy-Y-PJAwx6Qris5Qk7l_cwZ-_KQZb9UovsdXeSjnEJqJ1Fa6jOfMhttps://www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/3173201/why-does-gen-z-buy-so-much-fast-fashion-if-theyre-so?fbclid=IwAR1kNqi92pJPbFdett3nJH6Z99Dq8LQlMu7iJ3lJ5RUW15s-EEWoaF3oSR0https://www.bbc.com/future/article/20200710-why-clothes-are-so-hard-to-recyclehttps://fashiondiscounts.uk/fast-fashion-statistics/

อ่านเพิ่มเติม >