ฉบับที่ 277 กระแสต่างแดน

เมืองอยู่ยาก        นายกเทศมนตรีเมืองฟลอเรนซ์ยอมรับว่าเมืองของเขาได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวแบบไร้การควบคุม         ขณะนี้อัตราค่าเช่าบ้านในเมืองดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 84 ของเงินเดือน เมื่อมองย้อนกลับไปจะพบว่าระหว่างปี 2016 – 2023 ค่าเช่าบ้านในเมืองฟลอเรนซ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ในขณะที่จำนวนที่พักในแอป Airbnb ก็เพิ่มจาก 6,000 เป็น 15,000 ห้อง/หลัง         ล่าสุดเรื่องนี้ส่งผลกระทบให้บรรดาช่างฝีมือจำนวนมากถูก “ไล่ที่” ออกจากบริเวณทำเลทอง เพราะเจ้าของพื้นที่ต้องการเปลี่ยนจาก “โรงงาน” เป็นโรงแรมสำหรับนักท่องเที่ยว         รัฐบาลอิตาลีได้ร่างระเบียบห้ามเปิดที่พักเพิ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้เพราะเสียงค้านจากผู้ที่จะได้ประโยชน์ ในขณะที่แผนส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองก็ยังไม่เป็นมรรคผล เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาไม่เกินสามวัน จึงต้องการไปเยี่ยมชมเฉพาะสถานที่ยอดนิยมเท่านั้น  เยียวยาจิตใจ         คณะกรรมการแก้ไขข้อพิพาทผู้บริโภคแห่งเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย มีคำสั่งให้ Flipkart แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของอินเดีย จ่ายเงินชดเชยให้กับผู้บริโภค 10,000 รูปี (4,400 บาท) ฐานบกพร่องในการให้บริการและทำธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม         เดือนกรกฎาคม ปี 2022 ผู้บริโภคสั่งซื้อไอโฟนจากร้านค้าแห่งหนึ่งบนแพลตฟอร์มดังกล่าว และชำระเงินด้วยบัตรเครดิตในราคา 39,628 รูปี (17,300 บาท) หกวันต่อมาเขาได้รับข้อความสั้นจาก Flipkart ว่าคำสั่งซื้อถูกยกเลิก เนื่องจากผู้ให้บริการขนส่งติดต่อผู้รับไม่ได้         เมื่อติดต่อไปยังแพลตฟอร์มก็ได้รับคำอธิบายว่าบริษัทจะคืนเงินให้เต็มจำนวนและขอให้เขาทำการสั่งซื้อเข้ามาใหม่ แต่คราวนี้ไอโฟนรุ่นที่เขาอยากได้มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิม 7,000 รูปี         คณะกรรมการฯ มองว่าบริษัทจงใจหากำไรเพิ่มด้วยการยกเลิกออเดอร์ของลูกค้า และสร้างความทุกข์ทรมานทางจิตใจให้กับผู้บริโภคด้วยการยกเลิกโดยไม่ถามความยินยอมของเขาก่อน  ต้องจ้างเด็ก         เยอรมนีกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก ผู้ประกอบการขนส่งออกมาเตือนว่าอาจต้องลดจำนวนรถที่ให้บริการลงเพราะหาคนทำงานไม่ได้ หลายรายบอกว่าตำแหน่งที่ประกาศรับยังเหลือว่างถึงร้อยละ 30         เมื่อไม่มีพนักงานเพิ่ม คนที่ทำงานอยู่ก็หยุดงานประท้วงบ่อยเพราะต้องแบกภาระหนักเกินไป         บริษัทขนส่งมวลชน VAG ของเทศบาลเมืองนูเร็มเบิร์ก (ซึ่งต้องการพนักงานขับรถสาธารณะอย่างรถไฟ รถรางและรถเมล์ รวมกันปีละ 160 อัตรา) จึงใช้วิธีติดประกาศจ้างงานตามมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาใช้เวลาว่างเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ขับรถราง สัปดาห์ละ 20 ชั่วโมง        คุณสมบัติได้แก่เป็นผู้มีใบขับขี่ อายุเกิน 21 ปี มีความรับผิดชอบ รักงานขับรถ และทำงานเป็นกะได้ ผู้ผ่านการคัดเลือกก็จะได้รับการอบรมภาคทฤษฎี ฝึกปฏิบัติกับเครื่องจำลองการขับ จากนั้นจึงฝึกกับรถรางจริง เนื่องจากอยู่ในภาวะเร่งด่วน การฝึกจึงใช้เวลาน้อยกว่าปกติเท่าตัว ขอก่อนรื้อ         กระทรวงแรงงานเดนมาร์กประกาศห้ามการรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินโดยไม่ได้รับอนุญาต และกำหนดโทษปรับไว้ไม่ต่ำกว่า 30,000 โครน (ประมาณ 160,000 บาท)         รายงานข่าวระบุว่ากฎหมายดังกล่าวน่าจะสามารถเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมปีนี้ โดยมีระยะเวลาผ่อนผัน 6 เดือน         พูดง่ายๆ คือ “เจ้าของบ้าน” จะรื้อถอนเองไม่ได้ เพราะการรื้อถอนต้องดำเนินการโดยบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเท่านั้น บริษัทเหล่านี้จะมีระบบควบคุมคุณภาพ และมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการฝึกอบรมมาสำหรับการนี้โดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่นแร่ใยหินซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ        แร่ใยหินถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายในเดนมาร์กมา 35 ปีแล้ว แต่ปัญหานี้ยังไม่หมดไปเนื่องจากยังมีการใช้ในงานก่อสร้างต่อเติมอาคาร และยังมีอาคารจำนวนไม่น้อยที่สร้างก่อนปี 1989 (พ.ศ. 2532) ส่วนกรณีของประเทศไทย เรายังไม่อยู่ในกลุ่ม 56 ประเทศที่ประกาศแบนแร่ใยหินแล้ว รีบใช้เงิน         คนเกาหลีไต้มีแนวโน้มจะขอรับเงินเกษียณก่อนกำหนดกันมากขึ้น เพราะต้องการเงินไว้ใช้ในวันที่ค่าครองชีพแพงเหลือใจ         ข้อมูลทางการระบุว่าปีที่แล้วมีคนเกษียณก่อนกำหนด 849,744 คน นับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่ปี 1999 ซึ่งเป็นปีแรกที่อนุญาตให้มี “early retirement” และคาดว่าปี 2024 นี้จะมีถึง 960,000 คน        ก่อนหน้านี้รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศขยับอายุเกษียณจาก 62 เป็น 63 ปี เพื่อให้มีเงินเหลืออยู่ในระบบนานขึ้น แต่คนจำนวนมากไม่อยากรอจนตัวเองอายุ 63 พวกเขารู้สึกอุ่นใจกว่าถ้าได้ถือเงินก้อนไว้เลย หลายคนก็ต้องการเงินมาลดความฝืดเคืองในชีวิตประจำวัน         การขอรับเงินก่อนเวลาเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขว่าผู้รับจะถูกหักเงินบางส่วน เช่นถ้ารับก่อนกำหนดหนึ่งปี จะถูกหักร้อยละ 6 หรือถ้าขอรับก่อนเวลาห้าปีจะถูกหักร้อยละ 30 เป็นต้น          สหภาพแรงงานเกาหลีกำลังผลักดันให้การขยายเวลาการจ้างงาน เพื่อให้โอกาสผู้สูงอายุมีรายได้เพิ่มก่อนจะต้องออกไปหางานใหม่ เพราะเงินที่ได้จากการเกษียณมันน้อยเกินไป 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 259 เมื่อโลกเผชิญวิกฤติอาหาร

        องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติร่วมกับ World Food Program องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านอาหารกับผู้ที่ขาดแคลน คาดการณ์ว่าในช่วงกลางปี 2022 มีผู้คนไม่ต่ำกว่า 222 ล้านคนใน 53 ประเทศ ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในจำนวนนี้มีถึง 45 ล้านคน ใน 37 ประเทศที่ “ใกล้อดตาย” โดยหกประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดได้แก่ อัฟกานิสถาน เยเมน โซมาเลีย เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และไนจีเรีย ในโซนเอเชียแปซิฟิกยังมีศรีลังกาและปากีสถานที่น่ากังวลเช่นกัน         การขาดแคลนอาหารหรือภาวะอดอยากหิวโหยในประเทศเหล่านี้เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ หรือการขาดเสถียรภาพทางการเมือง แต่ปัจจุบัน ภาวะโลกร้อน การระบาดของโควิด19 รวมถึงสงครามยืดเยื้อระหว่างสองประเทศผู้ส่งออกอาหารและปัจจัยการผลิตรายใหญ่ของโลกอย่างรัสเซียและยูเครน กำลังทำให้ประเทศอื่นๆ ต้องเตรียมรับมือกับ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” เช่นกัน         ประเทศจีนเตรียมรับมือกับวิกฤติอาหารตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดหรือสงครามด้วยซ้ำ ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาโดยตลอด ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงย้ำเรื่องนี้ออกทีวีอยู่บ่อยๆ ตั้งแต่ขอให้เลิกกินทิ้งกินขว้าง ประกาศว่า “อาหารของคนจีน ต้องผลิตโดยคนจีนและเป็นเจ้าของโดยคนจีน” และมอบหมายให้ทุกคนในประเทศ (ประมาณ 1,400 ล้านคน) ร่วมกันสร้างความมั่นคงทางอาหาร          แต่จีนก็จะยังต้องพบกับความท้าทายอีกมากในช่วงสิบปีข้างหน้า ทั้งจากภัยแล้งรุนแรงที่ทำให้ผลผลิตตามฤดูกาลไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ในขณะที่ประชากรที่มีรายได้มากขึ้น ก็มีความต้องการบริโภคมากขึ้นด้วย มีการคาดการณ์กว่าในอีกแปดปีข้างหน้า ความสามารถในการผลิตอาหารของจีนจะอยู่ที่ร้อยละ 58.8 ของความต้องการในประเทศเท่านั้น         ที่ผ่านมาจีนได้ปฏิรูปสิทธิในที่ดินทำกิน ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร ลงทุนในเทคโนโลยีประหยัดน้ำ และเทคโนโลยีการผลิตอาหาร รวมถึงเพิ่มการผลิตเมล็ดพันธุ์ กระทรวงเกษตรและการชนบทของจีนระบุว่าได้เปิดกิจการเมล็ดพันธุ์เพิ่มอีก 116 แห่ง (จากที่เคยมีอยู่ 100 แห่ง) นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและเอกชนของจีนยังออกไปกว้านซื้อที่ดินและกิจการผลิตอาหารในต่างประเทศด้วย         มาดูที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับสองของโลกกันบ้าง รัฐบาลกังวลว่าจะมีข้าวไม่พอต่อความต้องการของประชากร 1,380 ล้านคนในประเทศ เพราะปีนี้ผลผลิตข้าวลดลงไปประมาณ 10 – 12 ล้านตัน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียประกาศห้ามส่งออก “ปลายข้าว” ซึ่งเป็นข้าวที่มีราคาถูกกว่าและเป็นทางเลือกให้กับคนรายได้น้อย (ที่ผ่านมาปลายข้าวจะมีผู้รับซื้อจากต่างประเทศเพื่อนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์) นอกจากนี้ยังเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 จากข้าวบางชนิดที่ส่งออกด้วย เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ “ลูกค้า” ของอินเดีย (ปัจจุบันมี 133 ประเทศ) กลุ่มที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่คาดหวังว่าจะซื้อข้าวได้ในราคาถูกด้วย         มาตรการลักษณะนี้อาจกลายเป็น “นิวนอร์มอล” เพราะภาวะอากาศสุดขั้วและฝนฟ้าที่คาดเดาไม่ได้ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียไม่มีเหลือเฟือเหมือนที่เคย สองวันหลังประกาศว่าจะส่งออกข้าวสาลีให้ได้ 10 ล้านตันในปีนี้ อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับสามของโลกรองจากรัสเซียและยูเครน ก็กลับลำ ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลทันที (ยกเว้นในบางประเทศ) และอินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับสองของโลกยังประกาศจำกัดการส่งออก เพื่อให้มีน้ำตาลเพียงพอต่อความต้องการในประเทศด้วย         ด้านยุโรปก็เตรียมรับมือกับภาวะขาดแคลนอาหารในช่วงฤดูหนาวเช่นกัน สืบเนื่องจากมาตรการแก้เผ็ดกลุ่มประเทศตะวันตกด้วยการปิดท่อส่งก๊าซของรัสเซีย         สหภาพเกษตรกร Copa-Cocega บอกว่าผลิตภัณฑ์เบเกอรีและผลิตภัณฑ์จากนมวัวจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะขั้นตอนการพาสเจอไรส์และการทำนมผงต้องใช้พลังงานมหาศาล ราคาเนยจึงแพงขึ้นร้อยละ 80 ในขณะที่นมผงก็แพงขึ้นร้อยละ 55         ขณะที่เนเธอแลนด์ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ก็ประกาศหยุด/ลด การปลูกผัก ผลไม้ และดอกไม้ ในโรงเรือน เนื่องจากต้นทุนพลังงานในฤดูหนาวปีนี้แพงเกินไป เช่นเดียวกับ Nordic Greens Trelleborg ผู้ปลูกมะเขือเทศรายใหญ่สุดของสวีเดน ที่ยอมรับว่าหน้าหนาวปีนี้จะไม่มีผลผลิตมะเขือเทศออกสู่ตลาดเพราะ “สู้ค่าไฟไม่ไหว”           สถานการณ์นี้อาจทำให้ยุโรปกลับไปใช้แผนดั้งเดิม นั่นคือยุโรปเหนือจะไม่ผลิตพืชผักนอกฤดูกาล แต่จะยกให้เป็นหน้าที่ของแหล่งผลิตในยุโรปใต้ เช่นสเปน ซึ่งไม่ต้องพึ่งพาฮีทเตอร์ เพราะอากาศอบอุ่นอยู่แล้ว         แล้วประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกอาหารไปเลี้ยงชาวโลกเป็นอันดับต้นๆ พอจะวางใจเรื่องนี้ได้ไหม ทีมวิจัยจาก Economist Impact จัดอันดับให้ไทยมีความมั่นคงทางอาหารเป็นลำดับที่ 64 จาก 113 ประเทศที่เขาสำรวจ ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งพึ่งพาอาหารนำเข้าเป็นหลักได้คะแนนเป็นอันดับที่ 28        เมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าจุดแข็งของเราคือ “ราคา/ความสามารถในการซื้อหาอาหาร” (83.7 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100) แต่ในหมวดที่เหลือเราทำได้ไม่ดีนัก เช่น “ความสามารถในการผลิตอาหาร” เราได้ 52.9 คะแนน ด้าน “ความยั่งยืนและการปรับตัวรับความเสี่ยง” เราได้เพียง 51.6 คะแนน และเราสอบตกในเรื่อง “คุณภาพ (ความหลากหลายและคุณค่าทางอาหาร) และความปลอดภัย” ที่เราได้เพียง 45.3 คะแนน------ เอกสารอ้างอิง    https://www.fao.org/3/cc2134en/cc2134en.pdfhttps://asia.nikkei.com/Spotlight/The-Big-Story/Farming-out-China-s-overseas-food-security-questhttps://asia.nikkei.com/Politics/International-relations/India-clamps-down-on-rice-exports-as-global-food-worries-growhttps://www.dw.com/en/how-can-india-protect-its-food-security-under-extreme-weather-conditions/a-62011438https://www.businessinsider.com/food-energy-gas-crisis-europe-farmers-shut-operations-reduce-production-2022-9https://impact.economist.com/sustainability/project/food-security-index

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 กระแสต่างแดน

สวยต้องเสี่ยง        ในปี 2021 สมาคมผู้บริโภคแห่งประเทศจีนได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับศัลยกรรมความงามถึง 16,459 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ “เงินกู้อัปหน้า” ที่ถูกทำให้เข้าใจว่าไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย แต่กลับถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 30        เรื่องดังกล่าวจบลงหลังรัฐบาลสั่งให้สถาบันการเงินตัดสัมพันธ์เงินกู้ฟาสต์แทรคกับบรรดาคลินิกศัลยกรรมต่างๆ          แต่ปัญหายังไม่หมด ความต้องการอัปหน้าในราคาประหยัดยังคงมีอยู่ และ “ศูนย์ฝึกอบรม” ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการ “บุคลากร” เพื่องานดังกล่าวก็ได้รับความนิยมเช่นกัน        ล่าสุด งาน 315 Gala หรืองานแฉผู้ประกอบการแตกแถวประจำปีของจีน เปิดโปงศูนย์ฯ แห่งหนึ่งในเมืองอานฮุย ที่เปิดสอนทุกอย่างตั้งแต่การฉีดโบท็อกซ์ ทำตาสองชั้น หรือแม้แต่เสริมจมูก แต่ละหลักสูตรใช้เวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ โดยผู้เรียนไม่ต้องมีพื้นฐานอะไรเลย        แถมเมื่อเรียนจบคอร์สที่มีค่าใช้จ่ายเพียง 5,000 หยวน (ประมาณ 26,500 บาท) ผู้เรียนยังได้ “ใบประกาศ” ไว้ใช้สมัครงานอีกด้วย ดาวน์ไซเคิล        ว่ากันว่า PET คือพลาสติกชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด เพราะขวดพลาสติกที่นิยมใช้บรรจุน้ำดื่มนี้มีอัตราการรีไซเคิลที่สูงมาก เนื่องจากหลายประเทศในยุโรปเริ่มใช้ระบบ “คืนเงิน” ให้กับผู้บริโภคที่นำขวดใช้แล้วมาฝากเข้า “ธนาคารรีไซเคิล”           ขวดเหล่านี้มีอัตราการรีไซเคิลถึงร้อยละ 50 แต่งานวิจัยโดย Zero Waste Europe กลับพบว่าพลาสติกจากขวดเก่าเหล่านี้ถูกใช้เป็นส่วนประกอบเพียงร้อยละ 17 ของขวดที่ผลิตขึ้นใหม่เท่านั้น        งานวิจัยจาก Eunomia พบว่าขวดรีไซเคิลเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำไปแปรรูปเป็นถาดพลาสติก สายรัด หรือเชือกต่างๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมแฟชั่นก็ต้องการวัสดุนี้ค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน อุตสาหกรรมเครื่องดื่มจึงไม่สามารถเข้าถึงวัสดุรีไซเคิลจากขวด PET ได้มากเท่าที่ควร         เมื่อสิ่งที่เคยเป็นขวดน้ำ ไม่สามารถกลับมาเป็นขวดน้ำได้อีก ก็แปลว่าไม่เกิดการหมุนเวียนอย่างแท้จริง การ “รีไซเคิล” กลายเป็นการ “ดาวน์ไซเคิล” ที่วัสดุถูกนำไปใช้ซ้ำอีกเพียงครั้งเดียวแล้วก็สิ้นสุดวงจรชีวิต การ์ดอย่าตก        อิสตันบูล เมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในยุโรป ติดโผระดับต้นๆ ของเมืองที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำมากสุดในโลก ด้วยสถานที่ตั้งที่ถูกขนาบด้วยน้ำเค็มจากทะเลดำและทะเลมาร์มารา ประกอบกับอัตราการเพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว และการขยายตัวของเมืองที่ทำให้ลำคลองประมาณ 300 สายหายไปกว่าครึ่ง         ปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำจึงเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลต้องรับมือตลอดมา รายงานข่าวระบุว่าปีนี้ธรรมชาติเป็นใจ ส่งหิมะลงมาให้อิสตันบูลมากเป็นประวัติการณ์ ทำให้ระดับน้ำสำรองในเขื่อนทั้ง 10 แห่งของเมืองรวมกัน มีมากถึง 757 ล้านคิวบิกเมตร ผู้คนจึงมีน้ำสำรองไว้ใช้อีกประมาณ 9 เดือน         นักวิชาการรีบออกมาเตือนว่า “ความเสี่ยง” ยังไม่หายไปไหน สถิติการเกิดน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า หรือคลื่นความร้อน ในตุรกียังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลจะมีแผนสร้างเขื่อนใต้ดินถึง 150 แห่ง  ประชากรเมืองนี้ก็ยังต้องใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่ากันต่อไป ขอลุคเกาหลี         MUSINSA ร้านเสื้อผ้าออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในเกาหลีตกเป็นเป้าโจมตี หลังชาวเน็ตตั้งคำถามว่าทำไมนายแบบนางแบบในเว็บไซต์ของแบรนด์นี้ถึงมีแต่ “ฝรั่ง”        บริษัทอธิบายว่าเขาไม่ได้เจาะจงอย่างนั้น เขาเพียงต้องการใครก็ได้ที่สามารถนำเสนอคอนเซ็ปต์ ดีไซน์ และตัวตนของแบรนด์ได้ดีที่สุด และพรีเซ็นเตอร์หลักของเขาก็คือยูอาอิน ซูเปอร์สตาร์ของเกาหลีนั่นเอง        ความจริงแล้วการใช้ฝรั่งผิวขาว ก็เป็นที่นิยมของแบรนด์อื่นๆ เช่นกัน KIRCH และ COVERNAT ก็จ้างฝรั่งเป็นหลัก ส่วนนายแบบนางแบบเกาหลีแท้ๆ เป็นเพียงตัวเสริมเท่านั้น แม้กระทั่งโฆษณาเสื้อผ้าเด็ก ก็ยังนิยมใช้เด็กฝรั่ง เพราะพ่อแม่ซึ่งอยู่ในวัย 30 – 40 กว่า ชอบแบบนั้น         บางแบรนด์ก็อธิบายว่าเขาเลือกจ้างชาวต่างชาติผิวขาวตาสีฟ้าเพราะค่าตัวถูกกว่าดาราดังของเกาหลี          ด้านเจ้าหน้าที่รัฐที่ดูแลอุตสาหกรรมแฟชันของเกาหลี ให้ความเห็นว่าหากแบรนด์เกาหลีต้องการไปให้ไกลกว่านี้ พวกเขาจะต้องฝืนเทรนด์นี้ให้ได้ และเปิดรับความหลากหลายให้มากขึ้น  บ้านไม่พอ        สวีเดนมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัยมานาน เพราะกฎระเบียบว่าด้วยการก่อสร้างทำให้ต้นทุนการสร้างบ้านสูง ราคาบ้านเลยแพงตามไปด้วย        กฎเกณฑ์การให้เช่าบ้านก็ยุ่งยากไม่แพ้กัน จึงไม่ค่อยมีคนอยากทำ “บ้านเช่า” คนที่อยากเช่าก็ต้องเข้าคิวรอกันไม่ต่ำกว่า 9 ปี ส่วนหนึ่งเลยหันไปพึ่ง “ห้องแอบเช่า” ที่ค่าเช่าแพงลิบ แถมยังไม่มีสิทธิเรียกร้องอะไร          สถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งทำให้ความต้องการบ้านเพิ่มสูงขึ้น เพราะการทำงานจากที่บ้านในช่วงโรคระบาดกำลังจะกลายเป็นเทรนด์  ร้อยละ 20 ของคนที่ work from home บอกว่าจะทำเช่นนั้นต่อไป        บริษัทต่างๆ จึงลดพื้นที่สำนักงาน ในขณะที่ร้านรวงจำนวนมากก็ปิดหน้าร้านไป เพราะผู้คนหันไปซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว         การเคหะของสวีเดนจึงเตรียมเสนอแผนเปลี่ยนสำนักงานหรือร้านว่างเหล่านี้ให้เป็นที่อยู่อาศัยไปเสียเลย         ขณะนี้สวีเดนต้องการที่อยู่อาศัยอีกประมาณ 140,000 ยูนิต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 ถูกยกเลิกสัญญาไม่มีเหตุผล

สัญญาเช่าที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจน อาจทำผู้บริโภคบางคนถูกเอาเปรียบด้วยการบอกเลิกสัญญากะทันหัน ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้ ซึ่งเราจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ลองไปดูกันคุณสมใจตกลงเช่าห้องพักรายเดือนย่านอนุสาวรีย์ชัย ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 4,500 บาท โดยขอเช่าพื้นที่จอดรถด้วย เป็นรถยนต์ 1 คันในราคาค่าเช่าที่จอดคันละ 1,000 บาท/เดือน และรถจักรยานยนต์ 1 คัน คันละ 200 บาท/เดือน อย่างไรก็ตามหลังอยู่ไปได้ 8 เดือนกว่า ทางเจ้าของหอพักก็ส่งหนังสือมาแจ้งว่า ห้ามนำรถมาจอดในพื้นที่ของหอพักอีกต่อไป โดยไม่ชี้แจงเหตุผลใดๆ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับคุณสมใจอย่างมาก เนื่องจากเธอไม่เคยผิดนัดชำระค่าที่จอดรถหรือฝ่าฝืนกฎการจอดรถของหอพักแต่อย่างใด ทำให้เธอยังคงนำรถเข้ามาจอดในพื้นที่ที่เช่าไว้ตามปกติ เพราะคิดว่าอาจเกิดจากความเข้าใจผิดและไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เหตุการณ์กลับแย่ลงกว่าเดิม เมื่อทางหอพักได้ส่งหนังสือแจ้งมาอีกครั้งว่า ได้ยกเลิกสัญญาเช่าห้องพักของเธอเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเธอได้เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามหนังสือขอยกเลิกที่จอดรถ โดยกำหนดให้ขนย้ายสิ่งของออกจากห้องพักดังกล่าวภายใน 2 สัปดาห์อีกด้วยเมื่อเหตุการณ์กลายเป็นเช่นนี้ คุณสมใจจึงส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิเพื่อขอความช่วยเหลือ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนที่ต้องหาห้องพักใหม่กะทันหัน และอยากให้ทางหอพักเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิได้ส่งจดหมายเชิญทั้งสองฝ่ายมาเจรจา และให้ผู้ร้องส่งหลักฐานสัญญาเช่ามาเพิ่มเติม เพื่อนำมาตรวจสอบระยะเวลาการเช่า ซึ่งหากพบว่าได้กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ชัดเจนไว้ ผู้ให้เช่าก็ไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้ หากผู้เช่าไม่ผิดสัญญาหรือไม่มีเหตุให้บอกเลิก หรือกรณีที่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าที่ชัดเจนไว้ การบอกเลิกสัญญาสามารถทำได้ตามมาตรา 566 ความระงับแห่งสัญญาเช่าที่กำหนดไว้ว่า คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเช่าในขณะเมื่อสุดระยะเวลาอันเป็นกำหนดชำระค่าเช่าก็ได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวแก่อีกฝ่ายหนึ่งให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่าสองเดือน ดังนั้นการที่ผู้ให้เช่ากำหนดให้ผู้ร้องต้องขนย้ายสิ่งของออกภายใน 2 สัปดาห์ อาจถือเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่มีความเป็นธรรม เพราะทำให้ผู้ร้องเดือดร้อนและไม่สามารถหาที่อยู่ใหม่ได้ทัน นอกจากนี้อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอีกด้วย ซึ่งผู้ร้องสามารถฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ผลเจรจาจะเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในโอกาสต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >