ฉบับที่ 273 ความเคลื่อนไหวเดือนพฤศจิกายน 2566

สถิติร้องเรียนสายด่วน 1569 ไม่ติดป้ายราคามาอันดับหนึ่ง         ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เผยถึง กรณีสถิติการร้องเรียนของสายด่วน 1569 (ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์) ในช่วงมกราคม – กันยายน 2566 ว่า มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งหมด 2,767 เรื่อง และเป็นหมวดเกี่ยวกับอาหารมากที่สุด           สำหรับอันดับเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนมากที่สุด มีดังนี้ 1.ไม่ติดป้ายแสดงราคา 1,390 เรื่อง 2.จำหน่ายราคาแพง 549 เรื่อง โดยมีการเปรียบเทียบกับปีก่อนร้องเรียนเพิ่มถึง 251 เรื่อง 3. ไม่ได้รับความเป็นธรรม อาทิ เช่น ปริมาณสินค้าไม่เหมาะสมกับราคา ป้ายราคาไม่ชัดเจน 359 เรื่อง 4. ใช้เครื่องชั่ง/มาตรวัดน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG ไม่ได้มาตรฐาน  240 เรื่อง 5. แสดงราคาขายปลีกไม่ตรงกับราคาที่ขาย 169 เรื่อง         พบ “ถุงยางแจกฟรี” ของ สปสช. แอบขายออนไลน์         ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กล่าวถึง กรณีพบถุงยาที่แจกฟรีโดย สปสช. ไปขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดนั้น ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย เนื่องจากเป็นการนำสิ่งของที่รัฐแจกฟรีให้แก่คนทั่วไปมาแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว ไม่เช่นนั้นทาง สปสช. จะมีการดำเนินการตามกฎหมาย         การแจกถุงยางฟรี คือ สิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยทาง สปสช. จัดให้แก่ชายไทยทุกคน พร้อมกับแจกยาคุมกำเนิดให้แก่สตรี โดยวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมอีกด้วย ดังนั้นอย่าหลงเชื่อผู้ที่หาประโยชน์โดยมิชอบเตือนภัย! ระวังไลน์ปลอม “กรมบัญชีกลาง”         กรมบัญชีกลางโดนมิจฉาชีพปลอมไลน์ โดยใช้ชื่อ “สพบ.กรมบัญชีกลาง” และ “กรมบัญชีกลาง” เพื่อหลอกลวงโดยมีการส่งต่อในกลุ่มไลน์ต่างๆ  นางสาวทิวาพร ผาสุก รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า มีมิจฉาชีพแอบอ้างโดยใช้ข้อมูลของกรมบัญชีกลางทำเป็นลิงก์ปลอม แอปพลิเคชันปลอม เว็บไซต์ปลอม หนังสือราชการปลอม เพื่อให้ข้าราชการ ผู้รับบำนาญและบุคคลในครอบครัว ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความเสียหาย จึงขอย้ำว่า “กรมบัญชีกลางไม่มีนโยบายส่งไลน์ SMS หรือโทรศัพท์หาข้าราชการหรือประชาชน ดังนั้นเตือนอย่าหลงเชื่อ อย่ากด อย่าดาวน์โหลด อย่าแชร์เด็ดขาด” เร่งทำมาตรฐาน “บันไดเลื่อน” ป้องกันเหตุไม่คาดฝัน         จากเหตุการณ์ที่พบว่า มีผู้บริโภคหลายคนเจออุบัติเหตุเกี่ยวกับบันไดเลื่อนจนเกิดความไม่ปลอดภัยบาดเจ็บและพิการนั้น วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566  สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) มีมติเห็นชอบให้จัดทำมาตรฐานดังกล่าวเพิ่มเติมเป็นการด่วน         โดยนางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เปิดเผยว่า จากเหตุพบว่ามีอุบัติเหตุบันไดเลื่อนและทางลาดเลื่อนในห้างสรรพสินค้าต่างๆ บ่อยครั้ง จึงได้สั่งให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดมาตรฐานบันไดเลื่อน ทางเดินอัตโนมัติ ลิฟท์ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ด้านนายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้เตรียมออกประกาศมาตรฐาน “บันไดเลื่อน ทางเลื่อน และลิฟท์” เป็นมาตรฐานด้านความปลอดภัยและระบบไฟฟ้า โดยอ้างอิงตามมาตรฐานระหว่างประเทศ (มาตรฐาน ISO) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลและทั่วโลกได้นำไปใช้ โดยจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ส่วนประกอบ การติดตั้ง ความสูง ความเร็ว น้ำหนักบรรทุก รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน  ซึ่งจะช่วยป้องกันอันตรายให้แก่ผู้ใช้งาน ทั้งนี้ คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าวได้ภายในเดือนมีนาคม 2567    พิพากษายกฟ้องคดี “กระทะโคเรียคิง” โฆษณาเกินจริง         จากกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและกลุ่มผู้บริโภคที่เสียหาย ได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เป็นคดีผู้บริโภค และขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เนื่องจากเป็นการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 นั้น         เมื่อ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ศาลแพ่งได้นัดฟังคำพิพากษา ซึ่งนางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมายและทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากศาลเห็นว่า ตามการโฆษณาของบริษัทว่ากระทะมี 8 ชั้น ไม่ได้เป็นการบ่งชี้ว่ากระทะไม่มีคุณสมบัติหรือส่วนประกอบตามที่จำเลยโฆษณา เนื่องจากจำเลยพิสูจน์ว่ากระทะมีการเคลือบกว่า 8 ชั้นจริง แต่ไม่สามารถมองเห็นการแยกชั้นเป็น 8 ชั้นด้วยตาเปล่าได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการผิดสัญญาที่ไม่ส่งมอบสินค้าให้ตรงตามโฆษณา ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในฐานะตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายจึงเตรียมยื่นอุทธรณ์เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อจนถึงที่สุด         ย้อนกลับไปยังต้นเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคฟ้องร้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น คือ โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณว่า ”กระทะโคเรีย คิง ใช้นวัตกรรม 8 ชั้น ประกอบด้วย หินอ่อนเงิน , หินอ่อนทอง , พร้อมด้วย เทคโนโลยีนาโนซิลเวอร์ โค้ตติ้ง ป้องกันแบคทีเรีย เมื่อนำไปปรุงอาหารทำให้อาหารไม่ติดกระทะ โดยราคา กระทะใบละ 15,000 บาท แต่หากซื้อผ่านรายส่งเสริมการขายจะเหลือเพียง 3,900 บาท และซื้อ 1 ใบ แถมอีก 1 ใบ”  ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ได้เข้าไปตรวจสอบและพบว่าไม่เป็นตามโฆษณา อีกทั้งพบประเด็นการตั้งราคาขายสูงจริง คืออ้างว่า ราคาจริงของกระทะอยู่ที่ใบละ 15,000 และ 18,000 บาท ซึ่งถือเป็น “การปลอมราคาจริง (Fake Original Price)”  สคบ. จึงมีมติสั่งระงับโฆษณาทั้งหมด ต่อมามีผู้เสียหายจากการซื้อกระทะดังกล่าวได้เข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงประกาศเป็นตัวกลางฟ้องคดีแบบกลุ่มแทนผู้บริโภคที่เสียหายจากกระทะ โคเรีย คิง โดยเชื่อว่าจะเป็นคดีผู้บริโภคตัวอย่างเพื่อทำให้ภาคธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการโฆษณาสินค้าและคุณภาพสินค้าเป็นไปตามที่โฆษณาให้ดีมากขึ้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 257 ยาสัตว์แอบขายออนไลน์ สัตว์เลยได้ใช้อย่างเสี่ยงๆ

        ยาสำหรับสัตว์ก็เหมือนกับยาสำหรับคน เพราะก่อนจะอนุญาตให้นำมาใช้ได้ผู้ผลิตจะต้องมาขอนุญาตขึ้นทะเบียนตำรับยาและเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ก็จะต้องจัดทำฉลากให้มีข้อมูลสำคัญต่างๆ เช่นเดียวกับยาสำหรับคน เช่น เลขทะเบียนยา ชื่อตัวยาสำคัญ วันผลิต วันหมดอายุ  ชื่อ ที่อยู่ผู้ผลิต แต่จากการลงไปสำรวจในพื้นที่กลับพบยาสำหรับสัตว์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน พูดง่ายๆ ก็ยาปลอม วางจำหน่ายตามร้านค้าหรือชายในออนไลน์มากมายหลายชนิด  เช่น         ยาที่ใช้ในการเลี้ยงปลา (พบยาปฏิชีวนะ  Amoxycillin ชนิดผง Chlormycin ชนิดผง)         ยารักษาไก่ ซึ่งมีการอ้างสรรพคุณหลายชนิด เช่น ยาฆ่าพยาธิ  หวัดหน้าบวม คอดัง ขี้ขาว ขี้เขียว  ท้องเสีย อหิวาต์  คลายกล้ามเนื้อ ข้อบวม กระตุ้นกำลังไก่ชน ขับเสมหะ  รักษาหวัด หลอดลมอักเสบ ขี้ขาว ช้ำใน ถ่ายเป็นน้ำ ไข้ เหงาซึม  ยาฉีดแก้หวัด ยาฉีดแก้ไข้ ยารักษาหวัดคอดัง ในไก่  ยาหยอดตาไก่           ยาฉีดฆ่าพยาธิ กำจัดเห็บ หมัด ในสุนัข (พบยาฆ่าพยาธิ Ivermectin 150 mg/10 ml ซึ่งหลายยี่ห้อที่ไม่มีทะเบียนยา)         ยาสูตรผสมในซองเดียว ทั้งยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดและวิตามิน (Amoxycillin + Indomethacin + Vitamin B12) ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและระบบทางเดินอาหารของไก่ เป็ด นก หมู วัว         ตามกฎหมายยานั้นกำหนดว่าร้านขายยาสัตว์จะต้องมีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรอยู่ประจำ เพื่อให้คำแนะนำการใช้ยา (เหมือนร้านขายยาแผนปัจจุบัน ที่ต้องมีเภสัชกรเป็นผู้แนะนำการใช้ยา)  แต่ปัจจุบันพบว่ามีการลักลอบจำหน่ายยาสัตว์อย่างผิดกฎหมายผ่านทางช่องทางออนไลน์อยู่มากมาย ผู้เลี้ยงสัตว์ที่สั่งยาจากช่องทางนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับยาปลอม ส่งผลทำให้สัตว์ได้รับยาที่ไม่มีทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพในการรักษาและยังอาจได้รับผลข้างเคียงจากยาปลอมจนเสียชีวิตได้ หากเป็นยาปฏิชีวนะก็จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เพราะหากใช้ยาไม่ถูกต้องไม่ครบขนาดการรักษา ใช้พร่ำเพรื่อเกินจำเป็นจะทำให้การรักษาไม่ได้ผลและอาจส่งผลจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้         จริงหรือปลอม : สองข้อง่ายๆ ในการตรวจสอบยาสำหรับสัตว์         1. ตรวจสอบเลขทะเบียนยาบนฉลาก  เลขทะเบียนยาสำหรับสัตว์ จะระบุเป็นตัวอักษร D หรือ E หรือ F (D เป็นยาสัตว์ที่ผลิตภายในประเทศ , E เป็นยาสัตว์ที่แบ่งบรรจุ , F เป็นยาสัตว์ที่นำหรือสั่งเข้าจากต่างประเทศ) ตัวอย่างเช่น 1D 10/30   คือ ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ ได้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาเป็นลำดับที่ 10 ในปีพ.ศ.2530           2. ตรวจสอบฉลากยา นอกจากชื่อยาทางการค้าแล้ว จะต้องมีชื่อสามัญทางยา ระบุชื่อและปริมาณของยาที่เป็นส่วนประกอบ มีเลขแสดงครั้งที่ผลิต (หรือ Lot. Number) มีชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต มีวัน เดือน ปี ที่หมดอายุ (Exp)  มีข้อความระบุประเภทของยา (ยาอันตราย  ยาควบคุมพิเศษ ยาแผนโบราณ) รวมทั้งระบุด้วยว่าเป็นยาสำหรับสัตว์         ดังนั้นเพื่อความมั่นใจในคุณภาพของยาและเพื่อความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง ควรเลือกซื้อยาสำหรับสัตว์จากร้านขายยาที่มีสัตวแพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อส่งมอบยาและให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ความเคลื่อนไหวเดือนตุลาคม

10 อันดับรูปแบบการหลอกลวงทางออนไลน์ ปี 2564 เฟซบุ๊กถูกร้องสูงสุด        10 ตุลาคม 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสืบสวนเอาผิดมิจฉาชีพออนไลน์ ในคดีฉ้อโกงและหลอกลวงประชาชน พบว่า ในรอบ 10 เดือนมีร้องเรียนผ่านสายด่วนเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวตั้งแต่เดือน มกราคม – ตุลาคม 2564 โดยส่วนมากเจอกลลวงหลอก ดังนี้ 1.หลอกโอนเงิน ไม่มีสินค้าส่งจริง 2. สินค้าไม่ตรงตามโฆษณา  3.จ่ายซื้อแบรนด์เนมแท้ แต่ได้ของปลอม 4.รับหิ้วของ 5.หลอกให้เซ็นรับพัสดุผิดกฎหมาย 6.ได้รับของชำรุดเสียหาย 7.หลอกซื้อลอตเตอรี่ออนไลน์ 8.หลอกเช่าพระบูชา 9.ตุ๋นขายแบบผ่อนชำระ 10.หลอกขายไม่ตรงรูป โดยสัดส่วนจากการถูกหลอกขายออนไลน์จากทางเฟซบุ๊ก มีสูงสุดคิดเป็น 82.4% ตามด้วยเว็บไซต์ 4.6% อินสตาแกรม 4.3% และพบว่าข้อมูลการถูกหลอกขายออนไลน์เพิ่มจากปีที่แล้วเป็นเฉลี่ย 2,221 ครั้ง ต่อเดือน         การกระทำดังกล่าวข้างต้นเข้าข่ายความผิดฉ้อโกงต่อประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และทั้งเป็นความผิดพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 อีกด้วย กรมปศุสัตว์แจ้งนมโรงเรียนห้ามซื้อขาย        จากกรณีที่มีกระแสดราม่าในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการโพสต์ขายนมโรงเรียน น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ได้เปิดเผยว่า ห้ามจำหน่ายนมโรงเรียนนอกโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ทุกกรณี ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 หมวด 2 ข้อ 9 ได้กำหนดหน้าที่ของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ โดยระบุว่า ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมที่เข้าร่วมโครงการ ต้องผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน และต้องจำหน่ายเฉพาะภายในประเทศไทยเท่านั้น หากนำมาจำหน่ายนอกเหนือถือว่าเป็นการกระผิด มีโทษถูกตัดสิทธิการจำหน่ายในส่วนที่เหลือในปีการศึกษานั้น หากพบเป็นการทุจริตของหน่วยงานราชการเอง จะต้องรับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยจะมีโทษทั้งทางวินัยและอาญาขั้นร้ายแรงเด็ดขาด สั่งปิด “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950”        15  ตุลาคม 2564  คปภ.ได้มีคำสั่งนายทะเบียนเพิกถอนประกอบกิจการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า มีคำสั่งนายทะเบียนปิดบริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) จากการตรวจสอบของทาง คปภ.ได้ตรวจสอบสถานะทางการเงินของบริษัทและได้มีคำสั่งหยุดรับประกันภัยชั่วคราว เนื่องจากพบว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน โดยระบุ วันที่ 30 กันยายน 2564 มีหนี้สินติดลบ 1,543 ล้านบาท จากปัญหามีผู้ติดเชื้อสูงโควิด-19 ขึ้นต่อเนื่อง จนกระทบต่อสภาพคล่องและมีค่าสินไหมทดแทนค้างจ่ายจำนวนมาก ทำให้บริษัทไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจวินาศภัยและยังฝ่าฝืนกฎหมายหลายประการ จึงเพิกถอนใบอนุญาต ให้มีผลวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยผู้เอาประกันจะได้รับความช่วยเหลือและคุ้มครอง จากกองทุนประกันวินาศภัยทันที โดยมีสมาชิก 13 บริษัทประกัน จะรับโอนกรมธรรม์ที่ยังไม่หมดอายุทุกกรมธรรม์ และหากผู้เอาประกันภัยต้องการยกเลิกกรมธรรม์ ทางกองทุนประกันวินาศภัย จะเข้ามาช่วยเหลือและคุ้มครองในการรับค่าสินไหมและค่าเบี้ยคืน แพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยค้านดีอีเอสดึงบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย        จากกรณีภาคเครือข่ายชาวไร่ยาสูบแห่งประเทศไทยและกลุ่ม ECST ที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าและแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มนุษย์ควัน”  เข้าพบนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าให้จำหน่ายได้ตามกฎหมายนั้น ทางนายชัยวุฒิ บอกว่า ได้กำลังศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดึงบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมายและมีประเด็นติดขัดเรื่องอะไรบ้าง ต่อมาทางแพทย์สมาคมแห่งประเทศไทยจึงได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่าคณะแพทย์จากราชวิทยาลัย 14 แห่ง ขอชี้แจงข้อมูลดังกล่าวพร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เปิดโอกาสให้มีการพิจารณาเรื่องที่ รมว.ดีอีเอส เสนอ และกรณีที่อ้างว่ามี 67 ประเทศ อนุญาตนั้น ขอให้กลับไปทบทวนคำอนุญาตของแต่ละประเทศ ว่ามีข้อแม้และข้อบ่งชี้ในการใช้ทั้งสิ้น ไม่ใช่ขายได้อย่างอิสระ ด้วยคำนึงเหตุผลที่ว่าประเทศเหล่านั้นต้องการปกป้องสุขภาพของประชาชนของเขาด้วยกระบวนการ “ป้องกัน ดีกว่าแก้” มพบ. เร่งกระทรวงดิจิทัลออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศ         จากกรณีที่มีผู้บริโภคกว่า 10,700 ราย ได้รับความเสียหายจากการที่เงินหายจากบัญชีโดยไม่ทราบสาเหตุ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเร่งรัดให้กระทรวงดิจิทัล ออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ ซึ่งมีสาเหตุจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลของระบบธนาคาร แต่เกิดจากมิจฉาชีพสุ่มข้อมูลบัตร และนำไปสวมรอยทำธุรกรรมผ่านร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศที่ไม่มีการใช้ One Time Password (OTP) และออกมาตรการแก้ไข 4 ข้อในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 นั้น         ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้กล่าวว่า เครื่องรูดบัตร EDC หรือเครื่องแสกนจ่ายโดยแอปพลิเคชันที่ผูกกับบัญชีธนาคาร จะมีการยืนยันตัวตนด้วยการเซ็นสลิป หรือใส่รหัสผ่าน แต่การทำระบบธุรกรรมออนไลน์ที่ใช้การผูกบัญชี ใช้แค่เลขบัตรและเลขหลังบัตรเท่านั้น ซึ่งธนาคารอาจจะต้องไปตรวจสอบว่าข้อมูลรั่วไหลได้อย่างไร  เนื่องจากผู้เสียหายบางรายไม่ได้ผูกบัญชีกับร้านค้าออนไลน์ และรัฐต้องตอบคำถามว่าจะออกมาตรการจัดการปัญหาเรื่องนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกอย่างไร หากปัญหาเกิดจากแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่างประเทศตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจง แสดงว่ารัฐยังไม่มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคและควบคุมแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ทำธุรกิจออนไลน์ในพื้นที่ประเทศไทย อาจทำให้เกิดปัญหาแบบเดิมในอนาคต หากไม่มีกฎหมายมาควบคุมธุรกิจและคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งออกกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มธุรกิจออนไลน์ต่างประเทศและคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องระบบข้อมูลของผู้บริโภคที่รั่วไหลออกไปต่างประเทศและสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ที่ทำธุรกิจออนไลน์ได้

อ่านเพิ่มเติม >