ฉบับที่ 272 บัญชีเทรดคริปโตฯ โดนแฮ็ก หลัง login ผ่านเว็บไซต์ เงินดิจิทัลถูกขโมยเกลี้ยง

        การทำธุรกรรมการเงินทางออนไลน์นั้นไม่ว่าจะเป็นสกุลเงินจริงหรือสกุลเงินดิจิทัล ต่างก็ต้องเสี่ยงกับเหล่ามิจฉาชีพที่คอยจ้องแฮ็กข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ เพื่อรอจังหวะขโมยถอนเงินในบัญชีออกไปด้วยรูปแบบที่แนบเนียนและแยบยล จนมีหลายเคสที่ยังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน และผู้เสียหายเองก็ทำได้เพียงรอๆ ๆ ๆ         คุณกิจเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่รอคอยอย่างมีความหวัง เขาเล่าว่าซื้อขายคริปโตฯ (สกุลเงินดิจิทัล) ผ่านแพลตฟอร์มบิทคับ (Bitkub) มาประมาณ 1 ปีแล้ว โดยปกติจะ login ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ ไม่เคยมีปัญหาอะไร แต่มีอยู่วันหนึ่งเขาจำเป็นต้อง login ผ่านเว็บไซต์ ปรากฎว่าเขาต้อง login 2-3 รอบ ถึงจะเข้าบัญชีตัวเองได้ พอเข้าได้ปุ๊บก็มีข้อความเด้งขึ้นมาปั๊บว่า "เหรียญของท่านได้รับการถอนเรียบร้อยแล้ว"          เขางงมาก ใครถอน? ถอนไปได้ไง? เพราะเขายังไม่ได้สั่งถอนเหรียญ หรือสั่งทำอะไรเลยด้วยซ้ำ เขารีบเข้าไปดูในกระเป๋าตังค์ดิจิทัล แล้วก็ต้องตกใจเมื่อพบว่าไม่มีเหรียญเหลืออยู่เลย เขาจึงติดต่อไปทางบริษัทบิทคับ ซึ่งแนะนำให้เขาไปแจ้งความเพื่อให้ตำรวจออกหมายเรียกพยานเอกสารให้ก่อน ทางบริษัทจึงจะเข้าไปดูข้อมูลย้อนหลังข้างในให้ได้ เขาจึงไปแจ้งความที่สถานีตำรวจขอนแก่น และแจ้งตำรวจออนไลน์ด้วย หลังจากนั้นทางบริษัทได้ส่งหลักฐานการทำธุรกรรมมาให้ พบว่าเหรียญของเขาทั้งหมดถูกขายไปอย่างรวดเร็ว ก่อนจะถูกนำไปซื้อเหรียญใหม่แล้วถอนออกไปทันที         คุณกิจพยายามทำทุกหนทางที่ทำได้ เขาติดต่อตำรวจออนไลน์อยู่หลายวันก็ไม่สำเร็จ จึงไปให้สถานีตำรวจที่ขอนแก่นติดต่อให้ หลังจากนั้นตำรวจออนไลน์จากส่วนกลางได้ทำเรื่องมายังสถานีตำรวจขอนแก่นให้สอบสวนเรื่องนี้ เขาได้ไปให้ปากคำพร้อมมอบหลักฐานทั้งหมดไปแล้ว แต่เขาไม่ค่อยสบายใจนัก เพราะดูเหมือนการดำเนินการค่อนข้างช้า เขาจึงไลน์มาเพื่อปรึกษาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางมูลนิธิฯ ได้ติดต่อกลับไปยังคุณกิจเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จึงทราบว่าทางตำรวจ สภ.ขอนแก่นได้ขอให้คุณกิจส่งสำเนาเอกสารหลักฐานต่างๆ ไปให้เพิ่มเติม ซึ่งเขาก็จัดการเรียบร้อยครบถ้วนแล้ว และยังได้โทรศัพท์ไปสอบถามความคืบหน้าของคดีอยู่ทุกสัปดาห์ด้วย แต่ก็ได้คำตอบเหมือนเดิมว่ายังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ         ล่าสุดทางมูลนิธิฯ ได้ส่งหนังสื่อถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลต.) เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายในกรณีนี้ ซึ่งทางสำนักงาน กลต.ติดต่อกลับมาว่าได้รับเรื่องร้องเรียนนี้และประสานไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนผลการดำเนินการจะเป็นอย่างไรนั้นจะแจ้งกลับมาที่มูลนิธิฯ อีกครั้ง ซึ่งเป็นที่รู้กันในวงการคริปโตฯ ว่า เคสแบบนี้ต้องตามกันยาวนานเป็นปีๆ ทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 272 บัตรเครดิตหายในต่างประเทศ

        จะทำอย่างไร เมื่อไปเที่ยวต่างประเทศแล้วถูกขโมยกระเป๋า โทรศัพท์มือถือ เงินสดและบัตรเครดิตหาย พอคิดถึงตรงนี้ก็เริ่มเวียนหัวกับปัญหาที่จะตามมาแล้ว หนักไปกว่านั้นเมื่อในกระเป๋าเงินมีบัตรเครดิตอยู่ถึง 3 ใบ!            เรื่องเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คุณแยมเดินทางไปเที่ยวกับครอบครัวที่นครอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์  ขณะคุณแยมและครอบครัว นั่งรับประทานอาหารกลางวันในร้าน KFC  โดยได้วางกระเป๋าไว้ข้างๆ ตัว   แต่...เพียงแค่ 10 นาที รู้ตัวอีกกระเป๋าก็หายไปแล้ว ในกระเป๋าใบนั้นมีทั้งเงินสด โทรศัพท์มือถือ พาสปอร์ต และบัตรเครดิตการ์ดอยู่ 3 ใบ         คุณแยมตกใจมากจึงรีบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ส่วนการระงับบัตรเครดิต เนื่องจากโทรศัพท์มือถือได้ถูกขโมยไปด้วย จึงแจ้งระงับบัตรเครดิตได้สำเร็จเมื่อเดินทางกลับถึงโรงแรมที่เข้าพัก        เวลาระหว่างตั้งแต่บัตรหาย จนเมื่อคุณแยมได้โทรศัพท์แจ้งติดต่อธนาคารของทั้ง 3 บัตรเครดิต บัตรเครดิตทั้ง 3 ใบ มียอดการใช้จ่ายเกิดขึ้นทั้งหมด บัตรใบที่ 1 (บัตรสีเงิน) มียอดใช้จ่าย 4-5 รายการ แล้วบัตรก็ถูกตัดไปเองโดยอัตโนมัติ  บัตรใบที่ 2 ( สีน้ำเงิน) มียอดซื้อสินค้าราคา 15,000 บาท แต่เมื่อแจ้งปฏิเสธรายการไป ยอดก็ถูกยกเลิก แต่ปัญหาที่คุณแยมหนักใจ และอยากส่งเสียงบอกเล่าเรื่องนี้คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นในบัตรที่ 3 (บัตรสีม่วง) เพราะเมื่อหายมียอดรูดบัตรราคาเท่า ๆ กัน  ติดต่อกันถึง 24 ยอดเมื่อถึงโรงแรมแล้วจึงค่อยระงับได้         เมื่อกลับมาประเทศไทย คุณแยมจึงได้อีเมล์ถึงธนาคารของบัตรสีม่วงทันทีแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับ คุณแยมจึงโทรไปทาง Call Center อีกครั้ง เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะมีการติดต่อกลับแต่ก็หายเงียบไป  คุณแยมจึงติดต่อแจ้งเรื่องนี้ที่ธนาคารแห่งประเทศเพื่อขอให้เข้ามากำกับดูแลการทำงานของธนาคารสีม่วง และหลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ เจ้าหน้าที่ธนาคารของบัตรสีม่วงได้แจ้งว่าจะประนีประนอมการชำระหนี้ให้คุณแยม โดยให้ชำระ 50% (ประมาณ 18,000 บาท) และให้ตอบรับภายในวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา         คุณแยมเห็นว่า ไม่ยุติธรรมกับผู้บริโภคอย่างมาก เพราะธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงไม่มีระบบป้องกันใดๆ ให้ผู้ถือบัตรเลย แม้จะเกิดการรูดบัตรเครดิต 24 ครั้งต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นความผิดปกติชัดเจน ก็ไม่มีระบบที่ช่วยระงับการใช้งานโดยอัตโนมัติ การใช้งานระบบจ่ายเงินแบบ Contactless โดยไร้สัมผัส ผ่านโทรศัพท์มือถือ บัตรเครดิต สมาร์ทวอทช์ ธนาคารต่างประเทศรวมถึงในประเทศด้วย ซึ่งหลายธนาคารได้มีระบบให้ใส่รหัสเพื่อตรวจพบการใช้บัตรผิดปกติแล้ว แต่ธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงก็ยังไม่มีระบบดังกล่าว  คุณแยมจึงมาร้องเรียนที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอความช่วยเหลือเพราะการที่เธอต้องจ่ายเงิน ประมาณ 18,000 บาท จากการที่ธนาคารไม่มีระบบป้องกันและยังเป็นกรณีที่บัตรเครดิตถูกขโมยด้วย เธอมีหลักฐานการแจ้งความอย่างชัดเจน ไม่เป็นธรรมกับเธอสุดๆ  แนวทางการแก้ไขปัญหาหากเกิดกรณีเช่นเดียวกับคุณแยม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ขอแนะนำว่า          1.เมื่อบัตรเครดิตหาย ให้รีบโทรศัพท์อายัดบัตรกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือทันทีที่สามารถทำได้         2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุดในพื้นที่เกิดเหตุ         3.ทำหนังสือขอปฏิเสธการชำระยอดเงิน พร้อมแนบใบแจ้งความ และหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แล้วส่งไปที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารเจ้าของบัตรเครดิต พร้อมกันนี้ให้ทำสำเนาอีกชุด ส่งไปที่ “ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย” เพื่อขอให้ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหา         4. เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง         สำหรับกรณีคุณแยม ขณะนี้ได้ทำหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินและรอคำตอบจากทางธนาคารเจ้าของบัตรสีม่วงอยู่ ซึ่งหากไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือเรื่องไม่อาจยุติลงได้ คงต้องใช้กระบวนการทางศาลต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 สั่งสินค้าออนไลน์ โดนขโมยของก่อนถึงมือ ใครต้องรับผิดชอบ?

        ยุคนี้ใครๆ ก็เข้าสู่ตลาด e-commerce ผู้บริโภคหลายคนเลือกสั่งซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ จริงอยู่ที่ว่าการสั่งออนไลน์เป็นสิ่งที่ทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้น แต่ปัญหาก็มีมาไม่น้อยเช่นกัน  หากใครเคยเจอปัญหาขนส่งส่งช้า คงไม่น่าหนักใจมากนักเพราะยังดีกว่าขนส่งที่ส่งของไม่ถึงมือเรา เนื่องจากของที่เราสั่งซื้อมาโดนขโมยไปเสียก่อน ลองมาดูกรณีนี้กัน           วันหนึ่งคุณน้ำตาลได้เลื่อนดูสินค้าบนแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ชื่อดังแห่งหนึ่ง เจอเจลล้างหน้าจากแบรนด์ดังลดราคาและมีโปรโมชั่น จึงได้สั่งซื้อผ่านแอปพลิเคชันทันที ทำการจ่ายเงินและรอรับสินค้า จนเมื่อวันก่อนเกิดเหตุมีเบอร์ขนส่งเคอรี่เจ้าประจำโทรเข้ามาแต่คุณน้ำตาลไม่ได้รับสาย ต่อมาเลยเช็คกับทางแอปพลิเคชันตลาดออนไลน์ว่าของส่งถึงไหนแล้ว ปรากฎว่าขึ้นสถานะสินค้าว่าได้จัดส่งแล้ว  คุณน้ำตาลจึงลงไปดูของที่จุดรับของบริเวณชั้นล่างของที่พัก (หอพักเอกชน) ปรากฎว่าไม่มี จึงได้เช็คหมายเลขพัสดุของขนส่งเคอรี่อีกที ซึ่งขึ้นว่า “ส่งของแล้ว” แต่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่า "ไม่เซ็น" อ้าว...ไหงงั้น  คุณน้ำตาลจึงได้โทรกลับไปเช็คกับพนักงานส่งของเพราะไม่มีของที่ซื้อวางไว้ ทางพนักงานส่งยืนยันว่า ส่งแล้วพร้อมกับเอารูปที่ถ่ายว่าส่งแล้วมายืนยันกับคุณน้ำตาล         ส่งแล้วแต่ไม่มีของ แล้วมันหายไปไหน หายไปได้อย่างไร คุณน้ำตาลจึงขอให้เจ้าของหอ ช่วยสอบสวนหน่อยว่า มีใครหยิบผิดหรือไม่?  ซึ่งปรากฎว่าไม่มีใครหยิบไป  ดังนั้นคุณน้ำตาลจึงต้องขอดูกล้องวงจรปิดช่วงวันเวลาที่มีพนักงานขนส่งของเคอรี่มาส่งของ           ในกล้องวงจรปิดพบว่า พนักงานของเคอรี่ได้ส่งของจริงตรงจุดที่หอพักทำเป็นจุดพักวางไว้ (เนื่องจากสถานการณ์โควิดทางหอไม่ให้คนนอกเข้าหอพัก) และเมื่อได้ดูต่อไปว่าใครหยิบของไป เลยเห็นว่ามีคนแต่งตัวเหมือนพนักงานส่งของ (อีกยี่ห้อหนึ่ง) ขี่จักรยานยนต์มาตรงที่วางของแล้วทำท่าเลือกของสักพัก เมื่อได้ของที่ต้องการจึงหยิบไป ขับรถทำเนียนๆ ออกไปเลย ทางคุณน้ำตาลรู้สึกเสียหายอย่างมากที่ไม่ได้รับของและคิดว่าจะอย่างไรดี ใครต้องรับผิดชอบกรณีนี้บ้างแนวทางในการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นคุณน้ำตาลได้ขอคืนเงินจากทางแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์ เพราะแม้ว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 623 ความรับผิดของผู้ขนส่งย่อมสุดสิ้นลง ถ้าผู้รับสินค้าได้รับไว้แล้วโดยไม่อิดเอื้อน และได้ใช้ค่าระวางพาหนะกับทั้งอุปกรณ์เสร็จแล้ว หรือพัสดุที่ถูกส่งไปยังที่อยู่ซึ่งมีพื้นที่รับของส่วนกลางถือว่าสิ้นสุดหน้าที่  แต่ภายในข้อกำหนดของเคอรรี่ข้อ 7 ได้ระบุไว้ว่า “หลักฐานการจัดส่ง” 7.1 จำเป็นต้องมีลายเซ็นจากผู้รับมอบเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.2 ในกรณีที่ผู้รับไม่ใช่ผู้รับมอบ ผู้จัดส่งของเราจะพยายามยืนยันตัวตนของผู้รับอย่างสมเหตุสมผล จำเป็นต้องมีลายเซ็นของผู้รับดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานการจัดส่ง 7.3 ในกรณีพิเศษที่ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ผู้จัดส่งของเราจะเขียนเป็นหมายเหตุไว้ บางครั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงผู้รับซึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถ การที่ลายเซ็นผู้รับขึ้นว่าไม่เซ็นนั้น เท่ากับว่าผู้ขนส่งไม่ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในข้อ 7         ทั้งนี้  ทางคุณน้ำตาลได้รับเงินคืนจากแอปพลิเคชันร้านค้าออนไลน์แล้ว ทางเจ้าของหอพักได้มีการเปลี่ยนสถานที่วางพัสดุ ส่วนทางขนส่งเคอรี่ได้มีการติดตามและขอหลักฐาน คือ ภาพบันทึกจากกล้องวงจรปิดกับทางคุณน้ำตาลเพื่อดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักทรัพย์ต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 217 กระแสต่างแดน

     จำกัดพื้นที่        มาเลเซีย ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลกประกาศจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มไว้ที่ 37.5 ล้านไร่(ปลายปีที่แล้วมีอยู่ 36.5 ล้านไร่) แต่จะเพิ่มความสามารถในการผลิตต่อไร่แทน เรื่องดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเดือนมีนาคม           ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการยุโรปมีข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์มในแผนการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและตั้งเป้าที่จะเลิกใช้น้ำมันปาล์มในที่สุด ด้วยเหตุผลว่ามันขัดแย้งต่อหลักการเรื่องความยั่งยืน            เสียงต่อต้านการทำสวนปาล์มมีมานานแล้วเพราะเชื่อกันว่ามันคือสาเหตุหลักของการทำลายป่าฝนเมืองร้อนซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก        อินโดนีเซีย มาเลเซีย และโคลัมเบียซึ่งเป็นผู้ผลิตร้อยละ 90 ของน้ำมันปาล์มในโลก มองว่าการจำกัดพื้นที่ปลูกปาล์มอาจส่งผลให้ผู้บริโภคหันไปพึ่งพาพืชน้ำมันชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่น้อยกว่าปาล์ม และอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเรื่องความยั่งยืน           รูปจาก https://www.foodnavigator-asia.comของมันต้องมี        Autorità Garante della Concorrenza e del Mercato องค์กรกำกับดูแลการแข่งขันของอิตาลีสั่งปรับสายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติไอริช Ryanair เป็นเงิน 3 ล้านยูโร(ประมาณ 107 ล้านบาท) เพราะเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้โดยสารอย่างไม่เป็นธรรม        Wizzair ของฮังการี ก็โดนปรับ 1 ล้านยูโร (ประมาณ 35.5 ล้านบาท) เช่นกัน        ตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้ว สองสายการบินนี้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมกระเป๋าเดินทางขนาดเล็กชนิดที่นำขึ้นเครื่องได้ในอัตรา 5 ถึง 25 ยูโร (ประมาณ 180 – 900 บาท)         AGCM บอกว่ากระเป๋าถือคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเดินทาง สายการบินต้องดำเนินการขนส่งให้ผู้โดยสารโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม        นอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยการเดินทางทางอากาศของยุโรประบุว่า บริการที่จำเป็นและคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้นจะต้องรวมอยู่ในราคาของบริการพื้นฐานแต่แรก การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มจึงถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค        Ryanair กำลังเตรียมยื่นอุทรณ์ แต่ Wizzair ยังไม่แสดงท่าที        รูปจาก https://upgradedpoints.com พร้อมทำโลกเย็น        หากคุณกำลังสงสัยว่าผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของโลกปรับปรุงตัวเองอย่างไรบ้างเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้น้ำ หรือการประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม           องค์กรไม่แสวงกำไร Carbon Disclosure Project พบว่าสามบริษัทที่พร้อมที่สุดจาก 16 บริษัทที่พวกเขาทำการสำรวจ ได้แก่ Unilever  L’Oreal และ Danone        ยูนิลิเวอร์ ชัดเจนด้วยการเข้าซื้อกิจการ Seventh Generation และอีกหลายบริษัทที่เน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ลอรีอัลก็เลือกใช้ห่วงโซ่อุปทานที่ไม่ส่งผลเสียต่อสภาพอากาศและมีแผนใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์        ดานอน ก็ลงทุนพัฒนาแผนปรับปรุงสภาพดินและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผลิตสินค้าโดยไม่ใช้ส่วนประกอบจากสัตว์ด้วย        สองแบรนด์ที่รั้งท้ายได้แก่ Kraft Heinz ซึ่งมีนวัตกรรมเรื่องการผลิตแบบคาร์บอนต่ำน้อยมาก และ Estee Lauder ที่ยังไม่แสดงความโปร่งใสเรื่องการใช้น้ำมันปาล์ม        รูปจาก https://www.seventhgeneration.comมากินด้วยกัน        รัฐบาลจีนออกข้อบังคับให้ผู้บริหารโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยม รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับเด็กๆ ในโรงอาหารของโรงเรียนเพื่อให้แน่ใจว่าอาหารนั้นปลอดภัย        ผู้บริหารจะต้องทำบันทึกรายการอาหารโดยละเอียดและแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นโดยด่วน ทั้งนี้ผู้ปกครองก็สามารถมาร่วมรับประทานและให้ความเห็นได้        โรงอาหารที่จำหน่ายอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพจะถูกปรับ 5,000 – 30,000 หยวน (ประมาณ 24,000 – 140,000 บาท) ในขณะที่ผู้รับผิดชอบอาจได้รับโทษตั้งแต่ถูกตักเตือน ปลดจากตำแหน่ง ไปจนถึงจำคุกหากถูกจับได้ว่าพยายามยักยอกเงินด้วยการจัดซื้ออาหารคุณภาพต่ำ หรือละเลยหน้าที่จนทำให้นักเรียนหรือครูล้มป่วยเพราะอาหารไม่ปลอดภัย         ประกาศนี้ยังกำหนดให้ร้านขายอาหารว่างในโรงเรียนต้องมีใบอนุญาตและไม่ขายอาหารที่มีรสเค็มหรือหวานเกินไปด้วย        รูปจาก ww.china.org.cn กินไม่ทัน        นักศึกษาชาวเยอรมันสองคนถูกปรับ 225 ยูโร(ประมาณ 8,000 บาท) และต้องทำงานรับใช้สังคมอีกแปดชั่วโมงในความผิดข้อหาร่วมกัน “ขโมยอาหารที่ทิ้งแล้ว”          สองสาวถูกจับได้ขณะกำลังเก็บอาหารจากถังขยะของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่งในเมืองมิวนิค ตามกฎหมายแล้ว อาหารเหล่านั้นยังถือเป็นทรัพย์สินของซูเปอร์มาร์เก็ตอยู่จนกว่ารถขยะจะมารับไป         สิ่งที่พวกเธอต้องการเพื่อให้คนเยอรมันช่วยกันลด “อาหารเหลือทิ้ง” คือการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปเลือกเก็บอาหารที่ผ่าน “วันกำหนดขาย” ไปบริโภคได้นั่นเอง         ในขณะที่ฝรั่งเศสล้ำไปอีกก้าวเพราะมีกฎหมายระบุให้ซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีขนาดเกิน 400 ตารางเมตร ต้องประสานให้องค์กรพัฒนาเอกชนมารับอาหารที่ขายไม่ทันไปทำการแจกจ่าย โดยกำหนดชัดเจนว่าอาหารชนิดไหนยังรับประทานได้เมื่อเลยกำหนด         ห้างไหนฝ่าฝืน ต้องจ่ายค่าปรับครั้งละ 3,750 ยูโร (ประมาณ 133,000 บาท)          รูปจาก www.npr.org

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 เมื่อถูกขโมยบัตรเครดิต

แม้บัตรเครดิตสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้า แต่ก็สามารถสร้างปัญหาใหญ่ได้ หากเราถูกขโมยบัตรไปใช้และโดนทวงหนี้ที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับผู้ร้องทั้ง 2 รายนี้เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นกับคุณสมหญิง เธอร้องเรียนมาว่าถูกคนร้ายขโมยบัตรเครดิตที่ทำไว้กับห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งไปใช้ ซึ่งนำไปรูดซื้อสินค้ารวมมูลค่ากว่า 10,000 บาท ส่วนเหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นกับคุณสมชายที่พกบัตรเครดิตติดตัวไปด้วยขณะเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ใช้รูดซื้อสินค้าใดๆ แต่เมื่อกลับมาก็พบว่ามีใบแจ้งหนี้จากบัตรเครดิตดังกล่าวเป็นจำนวนเงินกว่า 100,000 บาท โดยเป็นยอดการใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าในประเทศที่เขาได้ไปเที่ยวมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำให้ผู้ร้องทั้ง 2 รายเข้าแจ้งความ และแจ้งไปยังธนาคารของบัตรเครดิตเหล่านั้นภายใน  24 ชม. นับตั้งแต่ทราบว่าถูกขโมยบัตรไปใช้ พร้อมส่งหนังสือปฏิเสธการชำระเงินจำนวนดังกล่าวไปด้วย นอกจากนี้ต้องขอหลักฐานลายมือชื่อในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบ โดยสามารถส่งพิสูจน์ลายมือได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคาร B ชั้น 9 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 หรือโทรศัพท์สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ 02-1439112 รวมทั้งรูปจากกล้องวงจรปิดของร้านค้าในวันที่มีการซื้อสินค้าดังกล่าวด้วย ซึ่งผลจะเป็นอย่างไร ศูนย์ฯ จะติดตามความคืบหน้าต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >