ฉบับที่ 115 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 15 สิงหาคม 2553ไม่เข้า voice mail box!!! ต้องวางสายใน 5 วินาที สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม หรือ สบท.เตือนคนใช้โทรศัพท์มือถือ ระวัง! อาจเสียตังค์จากการใช้บริการรับฝากข้อความเสียง หรือ voice mail box เป็นการเสียเงินทั้งคนที่โทรเข้าและคนที่รับสาย ในกรณีของคนที่โทรเข้าแล้วปลายสายไม่สะดวกรับ ระบบจะมีการหน่วงเวลาให้ผู้โทรเข้าประมาณ 6 วินาที เพื่อให้วางสายก่อนหากไม่ต้องการฝากข้อความ หากเลยจากนั้นจะถูกคิดค่าบริการ ทั้งดีแทคและทรูมูฟ ส่วนของเอไอเอส ที่จะคิดค่าบริการหลังจบประโยคว่า “กรุณาฝากข้อความหลังได้ยินเสียงสัญญาณ” หากผู้โทรเข้าไม่ต้องการฝากข้อความจะต้องวางสายไปภายใน 5-6 วินาที มิฉะนั้นจะถูกคิดเงินทันทีตามโปรโมชั่นที่ผู้โทรเข้าใช้บริการอยู่   ส่วนผู้รับสาย จะถูกคิดค่าบริการเมื่อต้องการฟังเสียงข้อความที่ฝากไว้โดยโทรไปตรวจสอบที่ กล่องรับฝากข้อความเสียงของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดค่าบริการตามโปรโมชั่นที่ใช้บริการอยู่ มีเพียงของทรูมูฟ ที่คิดแตกต่าง คือสำหรับลูกค้าระบบเติมเงินจะคิดค่าบริการนาทีละ 4 บาท โดยคิดค่าบริการเป็นวินาที ส่วนลูกค้าระบบรายเดือนจะคิดค่าบริการนาทีละ 3 บาท คิดค่าบริการเป็นวินาทีเช่นกัน ------------------------------------------------------------------------------------------------ 17 สิงหาคม 2553ถึงเวลาราคาน้ำดื่มต้องถูกลง 1 ก.ย.นี้ ดีเดย์ลดราคาน้ำดื่ม เมื่อกรมการค้าภายในกำหนดราคาจำหน่ายปลีกน้ำดื่มขวดพลาสติกใส (เพท) ขนาด 500-600 ซีซี ไม่เกินขวดละ 7 บาท และน้ำดื่มขวดเพทขนาด 1.5 ลิตร ไม่เกิน 14 บาท เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและผู้บริโภค โดยผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายต้องจำหน่ายตามราคาแนะนำ จะเน้นกลุ่มร้านซื้อมาขายไป ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิมาร์ท ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ ร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วย สถานีขนส่ง โรงพยาบาล และศูนย์อาหาร (ฟู้ด คอร์ต) เพราะกลุ่มนี้มีต้นทุนการประกอบการน้อยและประชาชนนิยมซื้อเพื่อบริโภคจำนวนมากเกิน 80% ของยอดขายรวมทั้งหมด ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย เช่น รถเข็นขายน้ำดื่มจะอนุโลมยกเว้นไว้ เพราะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นร้านทางเลือก ส่วนกลุ่มที่เป็นสถานบริการ เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ผับ คาราโอเกะ เธค โรงแรม ร้านอาหารแบรนด์เนม ฟาสต์ฟู้ด ยังไม่เข้าไปตรวจจับตอนนี้ เพราะผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้ร้องเรียนว่ามีต้นทุนแฝงและต้นทุนการบริการอื่น ๆ รวมอยู่ เช่น ค่าพนักงาน ค่าการตลาด แต่ก็เตรียมพิจารณาเพื่อขอความร่วมมือถึงความเป็นไปได้ในการลดราคาในอนาคต ----------------------------------------------------------------------------------------------------- 20 สิงหาคม 2553ขายตรงบนเฟสบุ๊ค กระแสความนิยมการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่าง เฟสบุ๊ค (Facebook) ที่มีคนใช้กันมากมายในโลกออนไลน์ กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของเหล่ามิจฉาชีพที่ใช้ในการหลอกลวงเชิญชวนซื้อสินค้า หรือแนะนำให้เข้าร่วมทำธุรกิจออนไลน์ที่สร้างความรำคาญให้กับผู้ใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบของการเชิญชวนเข้าร่วมกิจกรรม ยกตัวอย่างเช่น “รับทีมโปรโมต web site Magazine Online” “อยากมีตังเยอะๆ อยากไปช็อปปิ้ง” หรือ “รู้ไหมว่าสุขภาพที่ดี ส่งผลกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น!!” เพื่อให้สมาชิกกดตอบตกลงเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งก็คล้ายๆ กับปัญหาสแปมเมล์ หรืออีเมล์ขยะ สแปมดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่เกิดขึ้นบนเฟสบุ๊ก แม้ว่าเว็บไซต์เครือข่ายสังคมจะเป็นสถานที่ที่ผู้คนนิยมใช้ในการแสดงตัวตนให้บุคคลอื่นรับรู้ การแก้ปัญหาเบื้องต้นที่ผู้บริโภคพอทำได้ในขณะนี้คือการหลีกเลี่ยงการกดตอบรับเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือกรอกข้อมูลส่วนตัว อีเมล์ และเบอร์โทรศัพท์ลงไป เพื่อป้องกันการถูกคุกคามทางโทรศัพท์ หรือการรายงานกิจกรรมดังกล่าวไปยังผู้ดูแลระบบเว็บไซต์เฟสบุ๊ค โดยกดด้านล่างสุดของหน้าเว็บเพจ -----------------------------------------------------------------------------------------------------   สายการบินโลว์คอส โดนร้องเรียนเพียบ ลูกค้าสายการบินโลว์คอสเข้าร้องเรียนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังเจอปัญหาสายการบินบอกเลื่อนการเดินทางบ่อยครั้ง ทำให้ธุรกิจการงานเสียหาย ซ้ำถูกมัดมือชกโดนบังคับให้ซื้อตั๋วใหม่ที่แพงกว่าและไม่ยอมคืนเงินค่าตั๋วที่จ่ายไปแล้ว การแจ้งเลื่อนเที่ยวบินของพนักงานสายการบินราคาประหยัด ส่วนใหญ่จะไม่มีการให้ข้อมูลกับผู้โดยสารที่จองตั๋วไว้ล่วงหน้าแล้ว ว่าจะมีสิทธิที่จะยกเลิกการจองตั๋วและขอเงินค่าตั๋วที่ได้จ่ายไปแล้วคืนได้หรือไม่ อย่างไร นอกจากแจ้งให้ผู้โดยสารต้องใช้สิทธิในการเปลี่ยนเป็นเที่ยวบินใหม่เท่านั้น จะไม่มีการยกเลิกหรือคืนเงินให้ การแจ้งยกเลิกหรือเลื่อนเที่ยวบินตามอำเภอใจ โดยไม่ใช่เหตุสุดวิสัย และจงใจที่จะปฏิเสธการคืนเงินให้แก่ผู้โดยสารลักษณะนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้โดยสารอย่างร้ายแรง เพราะกระทรวงคมนาคม ได้ประกาศรับรองสิทธิของผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินของไทยที่ใช้เส้นทางบินประจำภายในประเทศไว้อย่างแจ้งชัด ผู้โดยสารที่ประสบปัญหาและไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากสายการบินสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่เบอร์โทรศัพท์ 02248-3733 หรือร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิฯที่ www.consumerthai.org -----------------------------------------------------------------------------------------------------   สภาปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข สนับสนุน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เครือข่ายผู้เสนอกฎหมาย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดสภาปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข กรณี “(ร่าง)พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข” ที่ห้องประชุมนนทรี โรงแรมทีเค พาเลส เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2553 โดยมีนักกฎหมาย ประชาชน ร่วมงานกว่า 300 คน โดยในการประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ ได้มีข้อสรุปฉันทมติต่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวใน 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเด็นแรก ลักษณะความเสียหายและเพดานการชดเชย ซึ่งได้มีการเสนอให้ตัด มาตรา 6(2) เพราะจะทำให้ยุ่งยากในการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือและเงินชดเชย และไม่เป็นผลดีกับแพทย์ และควรมีการขยายเพดานการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 และค่าชดเชยจากความทุกข์ทรมานด้านจิตใจตาม มาตรา 7(4) ควรมีความชัดเจนว่าเป็นความทุกข์ทรมานด้านจิตใจญาติหรือผู้ป่วย และเพดานการชดเชยความเสียหายนั้น ควรมีเพดาน พิจารณาให้เหมาะสม ไม่น้อยเกินไป ไม่มากเกินไป ประเด็นที่สอง เรื่องของลักษณะโครงสร้างกรรมการ สำนักงาน แนวคิดหลักก็คือ ต้องเป็นหน่วยงานที่มีความอิสระ ประเด็นที่สาม ที่มาของกองทุน มีความเห็นว่าอาจมาจาก 3 กองทุนนั่นคือ หลักประกันสุขภาพฯ (มาตรา 41) สวัสดิการข้าราชการ และประกันสังคม โดยมีกรรมการบริหารกองทุนแยกเป็นอิสระ และให้ สปสช.เป็นฝ่ายเลขา ประเด็นที่สี่ เรื่องการไกล่เกลี่ยและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ภาคประชาชนมีความเห็นว่า เห็นด้วยกับร่างของรัฐบาลที่มีการไกล่เกลี่ย แต่ก็ยังมีความกังวลว่า การไกล่เกลี่ยนั้น ต้องไม่ใช่ลักษณะการเกลี้ยกล่อม ไม่ใช่การต่อรอง เพราะผู้เสียหายส่วนใหญ่ขาดประสบการณ์และอาจไม่มีความพร้อม และประเด็นที่ห้า ระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย ภาคประชาชนเห็นด้วยกับร่างของรัฐบาล พร้อมมองถึงแนวทางการพัฒนาระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม ว่าอยากให้บุคลากรทางการแพทย์มีการกระจายตัวสู่ชนบทมากขึ้นและเพิ่มค่าตอบแทนด้านวิชาชีพอย่างเหมาะสม และเพิ่มความถี่การติดตามคุณภาพของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการฯ ในระดับจังหวัด รวมถึง การนำกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างร่วมกัน   ซึ่งฉันทมติทั้งหมดที่กล่าวมาจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 156 เอสเอ็มเอส ไม่สมัครไม่ต้องจ่าย

มาอีกแล้วกับเรื่องเอสเอ็มเอสที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ แต่เครือข่ายดันมาคิดค่าบริการแล้วบอกปัดว่า “ไม่ใช่ของบริษัทฯ ค่ะ จึงไม่สามารถระงับบริการได้” ใครจะเชื่อที่ผ่านมาและน่าจะยังเป็นเรื่องปัจจุบันด้วย คือรูปแบบการส่งข้อความสั้น หรือ SMS ปัญหาจะมีลักษณะที่อ้างว่าเป็นบริการในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความตลก คลิปลับ ดูดวง ชิงโชค บริการข่าว โหลดเพลง ฯลฯ และมีการหักเงินค่าบริการผ่านระบบการหักเงินอัตโนมัติจากเครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบต่างๆ ทั้งในระบบเติมเงิน และรายเดือน บางท่านจะไม่รู้ตัวเลยว่าถูกหักเงิน จนเมื่อโทรศัพท์ไม่สามารถใช้งานได้นั่นแหละ ถึงจะทราบว่าตนเองเป็นเหยื่อไปอีกรายแล้วคุณณิชาก็เช่นกัน เธอเล่าว่าใช้บริการของทรู ทั้งหมายเลขโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต Wi-Fi มานานแล้ว จนพฤษภาคม  ปีที่แล้วได้เปิดบริการเพิ่มอีก 1 เบอร์ โดยวงเงินของเบอร์นี้จำกัดไว้ที่ 1,000 บาท และเนื่องจากใช้บริการหลายอย่างจึงไม่ทันได้สังเกตถึงความผิดปกติ(รายละเอียด)ของค่าบริการว่ามีอะไรบ้าง ได้แต่ชำระเงินไปตามยอดที่ตรวจสอบได้จากทางเว็บไซต์ของทรูเท่านั้น จนเดือนตุลาคมเธอไม่สามารถใช้บริการโทรออกจากเบอร์ที่เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมนั่นแหละ จึงรู้ตัวว่าโดนเข้าแล้ว“ก็มียอดค้างค่าบริการเบอร์นี้ประมาณ 1 เดือนนะคะ ไม่คิดว่าจะถูกตัดบริการ พอลองหาใบแจ้งหนี้ค่าบริการดู เลยมารู้ตัวว่า เบอร์นี้ไม่เคยมีใบแจ้งหนี้มาที่บ้านเลยตั้งแต่สมัคร เมื่อสอบถามกับคอลเซนเตอร์ ปรากฏว่าทางบริษัทฯ จัดส่งใบแจ้งหนี้ไปที่ที่อยู่เก่า ทั้งที่ตอนสมัครใช้ก็แจ้งที่อยู่ปัจจุบันอย่างชัดเจน ยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 701 บาท ซึ่งสูงมากเพราะดิฉันไม่ค่อยได้ใช้บ่อยนัก จึงถามรายละเอียดว่าเป็นค่าอะไร ทางคอลเซนเตอร์แจ้งว่า เป็นค่าบริการที่สมัครเกมจาวา งงไปเลยค่ะว่าสมัครไปตอนไหนกัน” คุณณิชาปฏิเสธว่าไม่เคยสมัครเล่นเกมอะไรเลย ทางคอลเซนเตอร์จึงทำเรื่องยกเลิกให้ ทั้งหมด 4 เกม จากนั้นคุณณิชาลองมาดูรายละเอียดการใช้งานในเดือนกันยายนผ่านทางเว็บไซต์ ก็พบว่า มีการส่ง SMS มาที่เบอร์นี้เยอะมาก ประมาณ 80 ข้อความ(ค่าบริการ 10-20 บาท/ข้อความ) และสำหรับเดือนตุลาคมที่ยังไม่ได้ตัดรอบบิลก็เจอไปอีก 130 ข้อความ ค่าบริการทะลุไป 1,350 บาท ช่วงเวลาที่เกิดปัญหาคือช่วง 05.00 – 08.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่เคยจะหยิบโทรศัพท์มาใช้งานเลยสำหรับคุณณิชา“ดิฉันแจ้งร้องเรียนกับทางคอลเซนเตอร์ทันที ยืนยันไปค่ะว่าไม่เคยสมัคร ทางคอลเซนเตอร์ก็ยืนยันว่า ลูกค้าสมัครๆ และเสนอว่าจะลดค่าบริการให้ 300 บาท จากยอดสองเดือนรวมๆ ประมาณ 2,000 กว่าบาท มันไม่แฟร์เลยนะคะ”คุณณิชาไม่เชื่อว่าทางทรูจะไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่า ช่วยเหลือ 300 บาท ก็ขนาดยอดเงินในเบอร์นี้มีแค่ 1,000 บาท ยังปล่อยให้ข้อความสั้นมันทะลุเกินวงเงินไปได้ จึงมาร้องเรียนและขอคำปรึกษากับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อไม่ได้สมัครใช้บริการ ก็ไม่ควรต้องจ่ายค่าบริการ ทางศูนย์ฯ จึงแนะนำให้คุณณิชาทำหนังสือ หรือทำจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล์) ถึงบริษัท ทรู โดย 1.ขอให้ทางทรูตรวจสอบค่าใช้จ่ายกรณีบริการเสริมข้อความสั้น พร้อมปฏิเสธการชำระค่าบริการข้อความสั้นทั้งหมด ตามใบแจ้งหนี้ในรอบบิลที่มีปัญหา พร้อมยกเลิกบริการเสริมทุกชนิด(เพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต) 2.แจ้งขอให้ทางบริษัทฯ เปิดสัญญาณการใช้งานตามปกติ โดยทางผู้ร้องจะชำระค่าบริการที่ยังค้างอยู่เฉพาะที่เป็นค่าบริการจริงไม่เกี่ยวกับค่าบริการข้อความสั้นที่ผู้ร้องไม่ได้สมัครใช้บริการ โดยหนังสือนี้สำเนาถึงศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ด้วยต่อมาได้รับแจ้งจากคุณณิชาว่า ได้ส่งอีเมล์ไปถึงบริษัท ทรู เพื่อดำเนินการตามที่ทางศูนย์ฯ แนะนำ ปัจจุบันทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แล้ว โดยปรับลดค่าบริการส่วนเกินจากบริการข้อความสั้น(SMS) รวม 1341.78 เหลือเฉพาะค่าบริการจริง โดยจะเปิดสัญญาณให้ 3 วันเพื่อให้ทางผู้ร้องได้ชำระค่าบริการที่ค้างอยู่ พร้อมระงับบริการ SMS ทั้งหมด คุณณิชาขอบคุณที่ทางศูนย์พิทักษ์ฯ ได้ช่วยเหลือให้คำแนะนำในครั้งนี้ และยินดีจะช่วยเหลือสนับสนุนทางมูลนิธิฯ หากมีประเด็นที่ต้องการพลังจากผู้บริโภคคนเล็กคนน้อย //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 122 ร้องประปาเชียงใหม่ ใช้ข้อความข่มขู่

“หากไม่ชำระหนี้ภายในกำหนด อาจถูกงดจ่ายน้ำ และต้องชำระเงินค่าธรรมเนียม 535 บาท”เป็นข้อความแบบนี้ล่ะครับ ที่คุณสุธน เห็นว่าเป็นการข่มขู่ผู้ใช้บริการน้ำประปา ทั้งๆ ที่ยังไม่มีการผิดนัดชำระค่าน้ำเลยเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2553 คุณสุธนได้ส่งแฟกซ์มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีข้อร้องเรียนด้วยลายมือหนึ่งหน้ากระดาษ พร้อมสำเนาใบแจ้งหนี้ค่าน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่ ที่มีข้อความเจ้าปัญหาล้อมกรอบสี่เหลี่ยมอยู่ใต้ชื่อและที่อยู่ของผู้ใช้บริการน้ำประปาคุณสุธนบอกว่า ตนพึ่งได้รับบริการ ติดตั้งประปาที่บ้านไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เพราะบ้านอยู่นอกเขตเทศบาล แต่ให้มาเสียความรู้สึกทุกครั้งเมื่อต้องมาเจอข้อความในกรอบสี่เหลี่ยมนี้ และมีข้อสังเกตว่า เหตุใดกิจการรัฐวิสาหกิจของรัฐที่เป็นองค์กรเพื่อบริการสาธารณูปโภคของประชาชน จึงสามารถ(ข่มขู่ ขูดรีด) จากผู้ใช้บริการได้ขนาดนี้ ในกรณีหากผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าใช้บริการน้ำประปา“ผมขอฝากร้องเรียน และสอบถามผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการด้วย... เห็นการข่มขู่เช่นนี้แล้วทนไม่ได้ครับ เห็นใจคนจนๆ อื่นๆ” เป็นข้อความทิ้งท้ายของคุณสุธน แนวทางแก้ไขปัญหาเมื่อได้รับข้อร้องเรียนและสำเนาใบแจ้งค่าใช้บริการน้ำประปาจากคุณสุธน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนนี้ไปยังผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาคและผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาไม่นานได้รับหนังสือตอบกลับจากการประปาส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่ว่า การประปาส่วนภูมิภาคสาขาเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ)ได้ออกไปพบและเรียนชี้แจงสร้างความเข้าใจกับคุณสุธนจนเป็นที่พึงพอใจแล้วและในส่วนข้อความเจ้าปัญหาที่ประทับตราลงในใบแจ้งค่าบริการน้ำประปานั้น ได้รับข้อมูลแจ้งว่า การประปาส่วนภูมิภาคเชียงใหม่(ชั้นพิเศษ) ไม่ได้ประทับตราข้อความนี้ลงในใบแจ้งค่าบริการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554มูลนิธิฯ ขอขอบพระคุณการประปาส่วนภูมิภาคที่ใส่ใจต่อสิทธิผู้บริโภคในครั้งนี้ และขอให้กิจการเป็นที่รักใคร่ของประชาชนเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ

อ่านเพิ่มเติม >