ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 105 แซลมอนซูชิ

“ซูชิ” เสน่ห์ข้าวปั้นญี่ปุ่นถ้าพูดถึงแดนอาทิตย์อุทัย เชื่อว่าหลายๆ คนก็คงอดนึกถึงอาหารญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า “ซูชิ” (Sushi) ไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นซูชิหน้าปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาซาบะ หรืออีกสารพัดหน้า นึกภาพแล้วน้ำลายก็เริ่มสอ ด้วยรสชาติอันโอชะและคุณค่าต่างๆ ที่ได้รับ โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อปลาดิบ ซูชิจึงดูเหมือนจะกลายเป็นอาหารจานโปรดของบรรดานักบริโภคทั้งหลาย เพราะทั้งสะดวกและอร่อย ปัจจุบันร้านขายซูชิผุดขึ้นมาเหมือนดอกเห็ดทั่วบ้านทั่วเมือง ตั้งแต่ร้านค้าชั้นนำลงมากระทั่งร้านแผงลอยริมฟุตบาท   แม้หลายคนนิยมชมชอบการกินซูชิ แต่ก็คงนึกหวาดๆ กับคำเตือนให้ระวังเชื้อโรคจากการกิน “ซูชิ” โดยเฉพาะหน้าปลาดิบต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค ร่วมกับฉลาดซื้อ จึงลองสุ่มสำรวจซูชิหน้าปลาแซลมอน ซึ่งเป็นหน้าปลาดิบที่คนไทยนิยมรับประทาน จากร้านค้า 5 แห่ง ได้แก่ โออิชิ ฟูจิ เซน มิกะซูชิ และพรานทะเล ส่งสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทดสอบหาจุลินทรีย์ก่อโรค ได้แก่ Fecal coliform, Salmonella, S.aureus และ V.parahaemolyticus ผลการทดสอบ ไม่พบเชื้อ Salmonella ในทุกตัวอย่าง ส่วนเชื้อ Fecal coliform S.aureus และV.parahaemolyticus พบในปริมาณน้อยมาก ไม่ก่อให้เกิดอันตรายแต่อย่างใด (เว้นแต่จะปล่อยทิ้งไว้นานๆ จนเชื้อโรคขยายตัว) ผลการทดสอบ ซูชิหน้าปลาแซลมอน ผู้ผลิต     วันที่เก็บตัวอย่าง ราคา (บาท)/ชิ้น สถานที่เก็บตัวอย่าง   ผลทดสอบจุลินทรีย์   Fecal coliform Salmo nella S. aureus V.parahaemolyticus โออิชิ   7/09/52 23 สถานีรถไฟฟ้าสยาม < 3 ไม่พบ   < 10 cfu < 10 cfu ฟูจิ 7/09/52 35 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu เซน 7/09/52 45 สยามเซ็นเตอร์ < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu มิกะ ซูชิ 7/09/52 15 โลตัสอ่อนนุช < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu พรานทะเล 7/09/52 10 บิ๊กซีพระรามสอง < 3 ไม่พบ < 10 cfu < 10 cfu                             วิเคราะห์ผลโดย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลทดสอบเพื่อตรวจหาเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในซูชินั้น จะพบเชื้อโรคในปริมาณน้อยมาก แต่การทดสอบนี้ก็ทำเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่ทางโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารฯ และฉลาดซื้อได้เลือกสำรวจและนำมาศึกษาเท่านั้น ผู้บริโภคก็ยังคงต้องระมัดระวัง โดยเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า “ซูชิ” ที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี ภาชนะที่เก็บวัตถุดิบมีการป้องกันการปนเปื้อนของฝุ่นละออง และอาหารสดก็ต้องมีการรักษาอุณหภูมิเพื่อมิให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนอาจก่อปัญหาต่อสุขภาพ จะได้รับประทานซูชิกันอย่างเอร็ดอร่อยและปลอดภัย ฉลาดซื้อแนะนำ1.เลือกร้านค้าที่มีการจัดการเรื่องความสะอาดที่ดี2.ควรเลือกซูชิจากร้านที่ขายดี มีการทำแบบสดใหม่จะดีกว่า อีกอย่างมันมีการหมุนเวียนของซูชิออกไปอย่างต่อเนื่อง 3. ควรหลีกเลี่ยงการซื้อซูชิที่จัดวางไว้เรียบร้อย ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าผ่านการปรุงแต่งมานานแค่ไหน4.หากเป็นไปได้ก็ควรจะเลือกกินหน้าที่ปรุงสุกดีกว่าหน้าที่เป็นของดิบ แต่ถ้ายังติดอกติดใจกับรสชาติอาหารดิบๆ ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป 5.ความเย็นสามารถชะลอการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้ ดังนั้นซูชิที่เย็นย่อมดีกว่าซูชิที่อยู่ในอุณหภูมิปกติ และนั่นแสดงให้เห็นว่าร้านนั้นๆ มีการเก็บรักษาอาหารอย่างเหมาะสม มารู้จักซูชิกันสักนิด...เริ่มแรกก่อนที่ ซูชิ” หรือ “ข้าวปั้นมีหน้า” จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกนั้น ชาวญี่ปุ่นได้นำข้าวมาอัดเป็นก้อนและนำปลามาวางบนด้านหน้า ซึ่งถือเป็นกรรมวิธีในการถนอมอาหารของพวกเขา ต่อมาเริ่มมีซูชิหน้าต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ปลาหมึก กุ้ง ผัก ไข่ เห็ด ฯลฯ จนมีหน้าตาของซูชิให้เลือกมากมายและแพร่หลายไปทั่วอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะนิงิริซูชิ ซึ่งมีลักษณะเป็นข้าวรูปก้อนวงรี มีปลาดิบ ปลาหมึก กุ้ง ฯลฯ วางไว้ด้านบน ตกแต่งด้วยวาซาบิ สาหร่ายทะเลทำให้อร่อย ดูน่ารับประทาน มักได้รับความนิยมมากที่สุดและหาทานได้ง่ายตามภัตตาคารหรือร้านอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังมีซูชิประเภทต่างๆ อีก ได้แก่ มากิซูชิ ซึ่งมีทั้งแบบห่อข้าวอยู่ด้านในสาหร่าย ห่อสาหร่ายอยู่ด้านใน และห่อเป็นรูปกรวย ส่วน ชิราชิซูชิ จะนำกุ้ง ผัก ไข่ ปลาดิบ ปลาหมึก ฯลฯ โดยหั่นเป็นชิ้นๆ มาเรียงบนข้าวที่ใส่อยู่ในกล่อง รวมถึง โอชิซูชิ เป็นการนำข้าวมาอัดลงในแม่พิมพ์รูปสี่เหลี่ยมตามยาว หั่นพอดีคำและนำปลามาวางไว้บนข้าว และสุดท้ายก็คือ อินะริซูชิ ซึ่งเป็นซูชิที่นำเนื้อมาใส่ในเต้าหู้ที่มีลักษณะเป็นถุง ชนิดของเชื้อก่อโรค- Fecal coliform คือ เชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์เลือดอุ่น และเป็นเชื้อโรคชนิดเดียวกันที่อยู่ในอุจจาระคน เมื่อพ่อครัว แม่ครัวที่ประกอบอาหารซูชิทั้งหลายล้างมือไม่สะอาดหลังเข้าห้องน้ำ เชื้อโรคนี้ก็อาจปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ส่งผลให้เกิดโรคท้องร่วงได้- Salmonella เป็นแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่ง มักพบในเนื้อดิบ นม ไข่ ไก่ ปลา กุ้ง ซอสน้ำสลัด ครีมที่ใช้ทำเค้กและของหวาน เป็นต้น เมื่อเชื้อโรค Salmonella ผ่านเข้าไปในลำไส้เล็ก จะทำให้เกิดบาดแผลเป็นพิษที่ลำไส้ และมักจะแสดงอาการท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ รวมถึงปวดศรีษะ- S. aureus (Staphylococcus aureus) เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ เมื่อทานอาหารที่มีเชื้อนี้ปนอยู่ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องร่วงและ ที่สำคัญเชื้อโรคตัวนี้จะสามารถอำพรางตัวในอาหารได้เป็นอย่างดีเชียวแหละ เพราะอาหารจะไม่มีกลิ่น สี หรือรสชาติที่เปลี่ยนไป- V. parahaemolyticus พบมากในอาหารทะเลพวกกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเชื้อโรคตัวนี้ก็เป็นแบคทีเรียอีกชนิดที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรือทางเดินอาหารอักเสบ รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางบาดแผลได้

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point