ฉบับที่ 249 สำรวจปริมาณโซเดียมในขนมขบเคี้ยวจากข้าวโพด

        ข้าวโพดมีรสหวานหอมอร่อย กินแล้วได้วิตามินเอ วิตามินบี แร่ธาตุ เส้นใยอาหาร และเป็นแหล่งของสารต้านอนุมูลอิสระ มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงสายตา ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น รวมถึงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจได้ เป็นต้น         แล้วขนมกรุบกรอบที่ทำจากข้าวโพดล่ะ กินแล้วยังได้ประโยชน์ไหม ?         ขนมข้าวโพดอบกรอบ ข้าวโพดทอดกรอบ และข้าวโพดคั่ว ในบรรจุภัณฑ์สีสันสดใส ที่มีหลากหลายรูปแบบและรสชาติให้เลือกละลานตา เป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวยอดนิยมที่หลายคนชื่นชอบโดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดใจในกลิ่นหอมของข้าวโพด สัมผัสกรุบกรอบจากกระบวนการขึ้นรูปหรือแปรรูปขนม และรสชาติหวาน มัน เค็ม ติดปาก ชวนให้เคี้ยวเพลินจนหมดห่อแบบไม่รู้ตัว โดยไม่ทันเอะใจว่า ขนมที่กินเล่นอร่อยๆ นี้ มักเคลือบด้วยสารปรุงแต่งรสชาติต่างๆ ที่มีโซเดียมในรูปสารประกอบ ซึ่งหากกินบ่อยๆ กินมากครั้งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวได้         ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย ได้สุ่มสำรวจปริมาณโซเดียมบนฉลากโภชนาการกลุ่มขนมขบเคี้ยว จำนวน 400 ตัวอย่าง เพื่อสำรวจปริมาณโซเดียมที่ระบุบนฉลากของผลิตภัณฑ์ สำหรับเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกเพื่อเลี่ยงสินค้าที่มีโซเดียมสูง โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ต้องเลือกขนมให้เด็กๆ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของขนมประเภทนี้               ฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนฯ ซึ่งได้มีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาจึงขอนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ชุดนี้ โดยฉบับนี้เลือกขนมขบเคี้ยวที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบ ที่สมาคมเพื่อนโรคไตฯ สุ่มสำรวจจำนวน 20 ตัวอย่าง 15 ยี่ห้อ เก็บตัวอย่างจากร้านสะดวกซื้อและซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 ผลการสำรวจฉลากดูปริมาณโซเดียมในกลุ่มขนมขบเคี้ยว ประเภทข้าวโพด        -ขนมจากข้าวโพดทั้งหมด 20 ตัวอย่างนี้ มีราคาขายห่อละ 15 – 29 บาท และมีน้ำหนักสุทธิ 35 - 75 กรัม         -เมื่อดูปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคบนฉลากพบว่า ยี่ห้อเซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีสมีโซเดียมสูงที่สุดคือ 390 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 25 มิลลิกรัม        -เมื่อดูขนาดบริโภคหรือปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก พบว่า ยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด และยี่ห้อคอร์นพัฟฟ์ ข้าวโพดอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณมากที่สุดคือ 36 กรัม ส่วนยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีปริมาณน้อยที่สุดคือ 20 กรัม ข้อสังเกต        -หากพิจารณาถึงความคุ้มค่า เมื่อคำนวณราคาต่อปริมาณ 1 กรัม พบว่า ยี่ห้อทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส ถูกสุดคือ 0.27 บาท ส่วนยี่ห้อโคบุค ขนมข้าวโพดกรอบ รสซุปข้าวโพด แพงสุดคือ 0.61 บาท        -ยี่ห้อ เซเว่นซีเล็ค ข้าวโพดอบกรอบ รสชีส มีราคาขายถูกที่สุด (15 บาท) ห่อเล็กที่สุด (น้ำหนักสุทธิ 35 กรัม) และมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคมากที่สุด (390 มิลลิกรัม) หากลองเปรียบเทียบกับยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม ที่มีราคาเท่ากัน มีปริมาณใกล้เคียงกัน (43 กรัม) แต่มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคน้อยที่สุด (25 มิลลิกรัม) จึงอาจชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของการปรุงแต่งรสชาติกับปริมาณโซเดียมในขนมได้ ตัวอย่างในที่นี้คือรสชีสมีโซเดียมมากกว่ารสนม เพราะกรรมวิธีผลิตชีสนั้นใช้เกลือเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย        -ขนมข้าวโพดอบกรอบ/ทอดกรอบ รสชีส มีจำนวนมากที่สุดถึง 8 ตัวอย่าง มีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคตั้งแต่ 140 - 390 มิลลิกรัม        -จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มักหยิบขนมไม่ว่าจากห่อเล็กห่อใหญ่เข้าปากเพลินจนหมดในคราวเดียว ดังนั้นเมื่อลองคำนวณปริมาณโซเดียมของขนมทั้งห่อแล้วจะพบว่า ยี่ห้อปาร์ตี้ คริสปี้ พาย ข้าวโพดทอดกรอบ รสคอร์นชีส มีโซเดียมมากที่สุดคือ 600 มิลลิกรัม และยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม มีโซเดียมน้อยที่สุดคือ 53.75 มิลลิกรัม        -จากเกณฑ์การพิจารณาใช้สัญลักษณ์โภชาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.ที่กำหนดว่าขนมขบเคี้ยวต้องมีโซเดียมไม่เกิน 500 มิลลิกรัม/100 กรัม (หรือ 150 มิลลิกรัม/ 30 กรัม) เมื่อลองคำนวณหาปริมาณโซเดียมใน 1 หน่วยบริโภคที่ 30 กรัมเท่ากันในทุกตัวอย่างชุดนี้ พบว่ามี 6 ตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ คือมีโซเดียมไม่เกิน 150 มิลลิกรัม ได้แก่ ยี่ห้อไบตี้ ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, โรลเลอร์ คอร์น ข้าวโพดอบกรอบ รสนม, ทวิสตี้ ข้าวผสมข้าวโพดอบกรอบ รสเอ็กซ์ตรีมชีส, ชาโชส บีบีคิว โบนันซ่า(ทอร์ทิลล่า ชิพ), ชีโตส ข้าวโพดทอดกรอบ รสอเมริกันชีส แล้วก็ โตโร ข้าวโพดคลุกน้ำตาลและเนย คำแนะนำ        -มีข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลแนะนำว่า เด็กอายุ 2- 15 ปี โดยเฉลี่ย ควรบริโภคอาหารว่างไม่เกิน 2 มื้อ และแต่ละมื้อควรได้รับโซเดียมปริมาณไม่เกิน 100 มิลลิกรัม        -ทางสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทยแนะนำว่า ผู้ปกครองหรือเด็กเองควรอ่านฉลากโภชนาการ หรือฉลากหวาน มัน เค็ม บนห่อขนม และเลือกซื้อขนมที่มีโซเดียมต่ำ หากเป็นขนมสุดโปรดที่มีโซเดียมสูง ให้แบ่งกิน หรือไม่ควรกินบ่อยๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น          - บางคนเลือกกินขนมกรุบกรอบห่อเล็กๆ เพราะเข้าใจว่ามีโซเดียมน้อย ซึ่งจริงๆ แล้วบางยี่ห้อแม้ห่อเล็กแต่กินหมดแล้วกลับได้โซเดียมมากกว่ากินห่อใหญ่ทั้งห่อก็มี             -พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างและฝึกให้เด็กไม่กินของจุบจิบหรือขนมระหว่างมื้อ ชวนให้เด็กมากินผัก ผลไม้ หรือขนมที่มีประโยชน์ เช่น ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด หรือถั่วต่างๆ และชวนเด็กมาออกกำลังกายด้วยกันอย่างสม่ำเสมอ        - ปัจจุบันมีขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีปริมาณโซเดียมต่ำให้เลือกบริโภคบ้างแล้ว แต่ว่าอาจยังมีราคาสูง และยังไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้างเท่าไหร่นัก ในเบื้องต้นผู้บริโภคเลือกได้โดยมองหาสัญลักษณ์โภชนาการ”ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” ของ อย.บนฉลากของขนมนั้นๆ           - ขนมข้าวโพดอบกรอบปรุงรสมักมีสีเหลืองสวยชวนกิน ซึ่งอาจใช้สีผสมอาหารสีเหลือง 6 ซึ่งมาจากปิโตรเลียมใส่ลงไป และอาจมีการแต่งรสเทียม เช่น  Methyl benzoate และ Ethyl methylphenidate ซึ่งสารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหาร โรคกระเพาะ และอาการเสพติดเหมือนกันทั้งในเด็กและผู้ใหญ่        - ระวังเด็กเล็กๆ ที่อาจกินขนมข้าวโพดคั่วแล้วติดคอ เพราะมีเมล็ดข้าวโพดส่วนที่ยังแข็งอยู่ปนมาได้ข้อมูลอ้างอิงhttps://www.pobpad.comhttps://thai.ac/news/show/354305http://healthierlogo.comhttps://kukr2.lib.ku.ac.th (บทความขนมขบเคี้ยวจากเครื่องเอกซ์ทรูดเดอร์)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 ข้าวโพดฝักอ่อน

พืชตระกูลหญ้าที่นิยมบริโภคกันมาแต่โบราณ ต้องนับข้าวโพดให้เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งไม่เพียงกินได้เมื่อฝักแก่ ยามเป็นฝักอ่อนก็นำมากินได้ ว่ากันว่าชาวอินเดียนแดงเป็นผู้ริเริ่มปลูกข้าวโพดเพื่อใช้กินภายในครอบครัว ก่อนที่ข้าวโพดจะถูกแพร่พันธุ์มายังทวีปเอเชียและทวีปอื่นๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยก็เริ่มจากเพาะปลูกบริโภคกันในครัวเรือนก่อน จนต่อมามีการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชไร่เพื่อเลี้ยงสัตว์ เมื่อเกษตรกรไทยเริ่มมีการนำฝักอ่อนมาบริโภคเช่นเดียวกับผักทั่วไป และมีเก็บขายในตลาดท้องถิ่น จึงเริ่มมีการส่งเสริมเพื่อให้เก็บเกี่ยวเฉพาะฝักอ่อนเพื่อเป็นพืชการค้า จนกลายเป็นสินค้าส่งออกไปทั่วโลก มีมูลค่าส่งออกมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี ข้าวโพดฝักอ่อนก็คือ ฝักหรือซังข้าวโพดขนาดเล็กในระยะก่อนที่จะมีการผสมเกสร โดยเมื่อข้าวโพดมีอายุประมาณ 38 วัน ช่อดอกตัวผู้จะเริ่มโผล่ออกมาจากใบยอด เกษตรกรจะดึงช่อดอกตัวผู้ทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผสมเกสรกับฝักที่เป็นตัวเมีย ทิ้งเวลาไว้สักระยะเราจะได้ฝักอ่อนขนาดเท่านิ้วก้อยมารับประทาน ข้าวโพดฝักอ่อนจะใช้เป็นผักแนมกับน้ำพริก หรือผัด แกงได้หลายอย่าง รสชาติดี หวาน กรอบและมีคุณค่าทางอาหารสูง สำคัญคือ สารเคมีฆ่าแมลงจะไม่มาก เพราะว่าใช้เวลาผลิตสั้น แมลงจึงยังไม่รบกวนเท่าไร นับว่าเป็นผักอีกชนิดที่น่าสนใจ

อ่านเพิ่มเติม >