ฉบับที่ 264 เมื่อผู้บริโภคถูก “ฟ้องปิดปาก”

        การฟ้องปิดปาก (SLAPPs) หรือเรียกว่า  “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ”  เมื่อเกิดขึ้นกับใคร ย่อมบั่นทอนกำลังใจ สำหรับคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง หรือคุณนะ หนึ่งในผู้เสียหายที่เป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายกระทะโคเรีย คิง มีเพียงความเชื่อมั่นในสิทธิของผู้บริโภคเท่านั้นที่ทำให้เธอสามารถเดินหน้าต่อไปได้         ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน 2560 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ยื่นฟ้องบริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด  ผู้นำเข้า‘กระทะโคเรียคิง’ เป็นคดีกลุ่ม เนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คุณกัลยทรรศน์ได้เข้าร่วมการไต่สวนคำร้องการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามนัดของศาลมาอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาคุณกัลยทรรศน์ กลับถูกบริษัทวิซาร์ด โซลูชั่น ฟ้อง ใน 2 คดีซึ่งล้วนเป็นคดีอาญาคือ คดีที่ 1 อ.169/2565 ในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ศาลจังหวัดสตูล และคดีที่ 2 ในข้อหาเบิกความเท็จ หมายเลขดำที่ อ.2961/2565  ศาลอาญา         ทั้ง 2 คดีบริษัทฟ้อง คุณกัลยทรรศน์เป็นการส่วนบุคคล ซึ่งล้วนมีที่มาจากการที่คุณกัลยทรรศน์เข้าร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเรียกร้องให้บริษัทชดใช้ค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคทุกรายที่ซื้อสินค้ามากกว่า 1,650 ล้านบาทเหตุการณ์เริ่มต้นอย่างไร ทำไมบริษัทถึงฟ้องได้         ต้องเล่าย้อนกลับไปถึงการฟ้องคดีกลุ่ม เพราะเกี่ยวข้องกัน เราฟ้องบริษัทในฐานะที่เขาขายสินค้าไม่ตรงที่โฆษณาว่าสามารถที่จะ ผัด ทอด โดยที่ไม่ต้องใช้น้ำมันแล้วสินค้าไม่ได้เป็นตามนั้น เพราะว่าทุกครั้งที่เราใช้กระทะเราก็ต้องใช้น้ำมันอยู่ดีเรารู้สึกว่ามันไม่ตรงกับสิ่งที่เขาโฆษณาไว้ อีกอย่างหนึ่งก็หลายสตางค์นะ เราเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดสตูล เราจึงร่วมฟ้อง         แต่การซื้อ ตอนนั้นเห็นโฆษณาเราก็สั่งซื้อกัน  แต่ใช้ชื่อน้อง‘อนัตตา’  เป็นเพื่อนร่วมงานซื้อ ซื้อแล้ว  เราก็เฉลี่ยเงินแล้วก็มาแบ่งกัน  พอซื้อแล้ว เราต่างคนก็ต่างเอากระทะกลับไปใช้แล้วก็รู้ว่าคุณสมบัติเรื่องของการโฆษณาไม่เป็นไปตามนั้นเลย พอรู้ว่าตอนนั้นก็มีผู้เสียหายหลายคน และมูลนิธิจะฟ้องเราก็จะร่วมด้วย  แต่ใบเสร็จรับเงินที่อยู่ในกล่องตอนที่ซื้อมามันหายไป เราเลยไปแจ้งความ ตำรวจก็ให้ลงบันทึกประจำวันไว้ว่าใบเสร็จได้สูญหายไป ยืนยันว่าเราได้ซื้อกระทะจากบริษัทจริง กระทะทั้งสองใบก็ยังอยู่นะ  ตรงนั้นเราจึงเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมฟ้องคดีกลุ่ม แล้วบริษัทมาฟ้องได้อย่างไร         บริษัทเขาบอกว่าค้นในระบบแล้วไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ เราไม่ใช่ผู้ซื้อ  ไม่มีประวัติในการซื้อ ซึ่งกระทะก็อยู่ที่เราจนถึงตอนนี้ เลยเป็นที่มาของการฟ้อง         บริษัทฟ้องเรากลับมาคนเดียว ฟ้องคดีแจ้งความเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล  สองก็คือเบิกความเท็จ ฟ้องที่ศาลอาญา เมื่อบริษัทเขาไม่เจอชื่อเราว่าเป็นคนซื้อ  ที่เราได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันไว้ เขาเลยเอาตรงนั้นมาแจ้งข้อหาและฟ้องที่ศาลจังหวัดสตูล เมื่อช่วงปลายปี 2565         เราเองก็รู้สึกว่าไม่ยุติธรรมกับเรานะเพราะเป็นคนซื้อจริงๆ  แล้วก็จ่ายเงินจริง ใช้จริง  เราก็มั่นใจ มันเหมือนกันว่าถ้าเอาตามตัวหนังสือแน่นอนว่าไม่มีชื่อเรา  สุดท้ายศาลท่านแนะนำว่าเป็นคดีที่ไกล่เกลี่ยกันได้  ซึ่งทนายความทางศาลก็ไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ฟ้องกับเราที่เป็นจำเลย  โดยถ้ายอมรับสารภาพว่าเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ซื้อ แล้วบริษัทก็จะถอนฟ้อง แล้วอีกคดีที่บริษัทฟ้องในข้อหาเบิกความเท็จ         คดีนี้เขาฟ้องที่ศาลอาญา ฟ้องในเวลาไล่เลี่ยกันเลย เขาฟ้องว่าในคดีที่ฟ้องกลุ่ม เราเบิกความเท็จว่าเป็นผู้ซื้อ พอถูกดำเนินคดีแล้ว เราเสียอะไรไปบ้าง         วันที่หมายศาลมาที่บ้าน กลัวมาก นอนไม่หลับเครียดมาก ร้องไห้ เครียดกลัวพ่อแม่ กลัวลูกไม่สบายใจ ตอนนั้นเครียดจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเลย  เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีความรู้กฎหมาย เราก็กลัว แล้วเรื่องค่าใช้จ่าย เราต้องเดินทางขึ้นกรุงเทพ เดือนละครั้ง หรือ 2 เดือนครั้ง แล้วมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกับสภาองค์กรของผู้บริโภคเข้ามาช่วยเหลืออย่างไร         ก็ช่วยตลอดมาตั้งแต่แรก  ช่วยเรื่องเงินประกัน มีทนายความมาช่วย มูลนิธิฯ ออกค่าที่พักที่นอนให้แต่เราเองก็ต้องออกไปก่อนครั้งละ 5,000 -6,000 บาท เวลาที่ขึ้นไปศาลฯ ที่กรุงเทพ         ที่ศาลอาญา ช่วงที่รอไต่สวน เราต้องเข้าไปอยู่ในห้องขัง ต้องไปเจอผู้ต้องขังเยอะแยะมากมาย เราเสียใจ ร้องไห้นะ ในคดีแจ้งข้อความอันเป็นเท็จที่ศาลจังหวัดสตูล ทำไมเราถึงยอมรับสารภาพ         ความหมายของผู้บริโภคเมื่อเกิดความเสียหายก็สามารถฟ้องได้  เราพูดในฐานะที่เป็นผู้บริโภคแล้วเวลาเราฟ้อง ในวันนั้นที่เราฟ้องคดีกลุ่ม ฟ้องในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเราก็เป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ซื้อด้วยและเราก็บริโภคด้วยเพราะเราเป็นคนใช้ แต่ศาลที่สตูลเขาบอกว่าถ้าด้วยตัวกฎหมายก็คือว่ามันไม่ใช่ชื่อกัลยทรรศน์ แต่มันเป็นชื่ออนัตตา มันผิดตรงนั้นที่เราไปลงบันทึกประจำวันไว้ ทำไม บริษัทถึงมาฟ้องเรื่องนี้ในปี 65  ทั้งที่เริ่มฟ้องคดีกลุ่มมาตั้งแต่ปี 60 แล้ว          ในคดีกลุ่ม บริษัทฯ ก็ทยอยไกล่เกลี่ย คืนเงินชดเชยซึ่งอาจเหลือไม่กี่คนแล้ว อันนี้เขาบอกนะ ถ้าสมมุติว่าเขาทำให้พี่ถอนฟ้องได้ การฟ้องแบบนี้มันเหมือน ฟ้องปิดปากเพื่อที่จะให้เราไปถอนฟ้อง เหมือนกับคดีปิดปากอื่นๆ เขาทำให้เรารู้สึกกลัว แล้ว จำนวนคนที่ยังอยู่ที่บริษัทจะชดใช้เงินคืนก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้กำลังใจเป็นอย่างไร          เรามีกำลังใจจากคนที่เข้ามาช่วยเรา ทั้งจาก เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และน้องๆ ทนายความจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่คอยปลอบใจ ให้กำลังใจเราเสมอ สิ่งที่อยากฝาก         เราได้บทเรียนว่าวินาทีที่เราตั้งใจซื้อไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่จะต้องมีหลักฐานเอกสารขนาดต้อง Copy ไว้หมดเลยการซื้อของทุกวันนี้ต้องเก็บหลักฐานตั้งแต่วินาทีสั่งของ เวลาที่ของมาถึงเราแล้วก็ต้องถ่ายรูปคนที่เขามาส่ง ต้องจำให้หมดแล้วถ่ายสำเนาไว้หมด ต้องมีหลักฐานหมด จุดเริ่มต้นที่ร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่ม และหลังจากถูกฟ้องจากบริษัท ความคิด ความเชื่อได้เปลี่ยนไปไหม            เราก็ยังรู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปตามโฆษณาอย่างนั้นจริงๆ เพราะเราเชื่อโฆษณาไง เราก็ไม่อยากใช้น้ำมันเราอยากดูแลสุขภาพ แต่ว่ามันไม่ได้เป็นไปตามนั้น  เราก็ใช้ทุกครั้งมันก็ติดกระทะมัน ก็ไม่เป็นจริง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 ความเคลื่อนไหวเดือนสิงหาคม 2564

ปรับเป็นแสน ห้ามนำ-ใช้ ครีมกันแดดที่มีสารเคมีอันตรายเข้าอุทยานแห่งชาติ        3 สิงหาคม ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เรื่อง ห้ามนำและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ใจความสำคัญระบุว่า ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเข้าไปท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเลเป็นจำนวนมาก รวมทั้งมีการนำและใช้ครีมกันแดดที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ทั้งนี้จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารเคมีหลายชนิดที่พบในครีมกันแดดมีส่วนทำให้ปะการังเสื่อมโทรมลง มีส่วนทำลายตัวอ่อนปะการัง ขัดขวางระบบสืบพันธุ์และทำให้ปะการังฟอกขาว  ดังนั้นเพื่อเป็นการสงวน อนุรักษ์ คุ้มครองดูแลทรัพยากรและป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อปะการังและระบบนิเวศในอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ออกประกาศดังนี้         ห้ามนำและใช้ครีมกันแดด ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ได้แก่ Oxybenzone , Octinoxate ,4-Methylbenzylid Camphor และ Butylparaben หากผู้ใดฝ่าฝืนมีความผิดมาตรา 20 ประกอบมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท         ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซื้อยาฟ้าทะลายโจรระวังเจอของปลอม         23 สิงหาคม 2564 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แถลงผลการปฏิบัติกรณีบุกตรวจค้นโรงงานลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 200,000 บาท พร้อมจับแม่ลูกเจ้าของโรงงานที่ลักลอบผลิตยาฟ้าทะลายโจรปลอม  เนื่องจากมีกรณีผู้ร้องเรียนแจ้งว่า ได้สั่งซื้อยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรที่มีการโฆษณาตามเพจเฟซบุ๊ก แล้วพบว่ายาไม่มีรสชาติขมซึ่งผิดปกติจากฟ้าทะลายโจรที่มีรสขมเป็นลักษณะเด่น จึงดูที่ฉลากพบระบุสถานที่ผลิตคือ “ผลิตโดย วิสาหกิจชุมชนบ้านคลอง เลขทะเบียน 03/1-20024 ควบคุมสูตรโดยแพทย์แผนไทย” แต่ไม่พบเลขการจดแจ้งผลิตภัณฑ์สมุนไพร และไม่สามารถตรวจสอบผู้ได้รับอนุญาตหรือผู้ผลิตได้ จึงเชื่อว่ายาฟ้าทะลายโจรดังกล่าวน่าจะเป็นของปลอม ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ อย. จึงทำการสืบสวนจนพบผู้ที่โพสขายยาฟ้าทะลายโจร บนเพจเฟซบุ๊ก และเข้าจับกุม ด้าน อย.ระบุ หากผู้บริโภคต้องการซื้อยาฟ้าทะลายโจรต้องดูฉลากที่ระบุเลขที่จดแจ้งและระบุสถานที่ผลิตชัดเจน โดยซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ “ขนส่งทางบกขอ” ตำรวจไม่จับใบขับขี่หมดอายุถึงสิ้นปี         ตามที่กรมการขนส่งทางบกมีประกาศงดให้บริการประชาชนด้านใบอนุญาตขับรถและใบอนุญาตเป็นผู้ประจำรถที่สำนักงานขนส่งทั่วประเทศจากสถานการณ์โควิดระบาด จนกว่าจะมีประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น กรมฯ จึงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ผ่อนปรนการใช้กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง เกี่ยวกับกรณีใบขับขี่หมดอายุ ทั้งนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้พิจารณากฎเกณฑ์ขยายระยะเวลา ดังนี้         1.ใบขับขี่หมดอายุขับรถต่อไปได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564          2.เพิ่มการผ่อนปรนให้ผู้ที่มีใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลและส่วนบุคคลชั่วคราว สามารถขับรถที่ใช้ในการรับจ้างขนส่งสินค้าได้ เช่น รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถไม่เกิน 2,200 กิโลกรัม โดยจดทะเบียนตามกฎหมายของการขนส่งทางบก และรถปิกอัพป้ายเหลือง         กรณีที่ประชาชนมีเอกสารคำขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถหรือใบอนุญาตประจำรถ ได้แก่ เอกสารใบรับรองแพทย์ หนังสือรับรองการผ่านการอบรมและทดสอบ หรือคำขอที่ดำเนินการไม่สำเร็จภายใน 90 วัน กรมการขนส่งทางบกจะอนุโลมให้ใช้เป็นเอกสารประกอบการดำเนินการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม  2564  พืชกระท่อมปลดออกจากยาเสพติดแล้ว ประชาชน ซื้อ-ขายได้        นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระท่อมเคยถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ แต่ตอนนี้พืชกระท่อมได้ถูกปลดออกจากยาเสพติดให้โทษแล้ว ทุกคนสามารถครอบครองซื้อขายได้         และ การปลดพืชกระท่อมออกจากยาเสพติด มีผลให้ต้องปล่อยตัวผู้กระทำความผิดตามกฎหมายพืชกระท่อมจำนวน 1,038 คน ซึ่งจะต้องไม่เป็นผู้ที่เกี่ยวกับคดีสารเสพติดอื่นนอกเหนือจากพืชกระท่อม และถือว่าเป็นผู้ไม่เคยกระทำความผิด หากในกรณีที่ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนให้ยุติปล่อยตัวทันที รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ต้องมีการจำหน่ายคดีออกจากสารบบของศาล โดยได้รับการพิพากษายกฟ้อง ผู้ที่ถูกกักขังแทนค่าปรับ จะต้องยกเลิกการเสียค่าปรับทันที ไม่รับเป็นคดีกลุ่ม กรณีคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสคิดค่าบริการปัดเศษวินาทีเป็นนาที         ตามที่มีตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เหตุจากการคิดค่าบริการดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าบริการเกินกว่าที่ใช้จริงนั้น  วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอสว่า ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ ให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร ค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนเรื่องการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอส ผู้ให้บริการสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ และหากดำเนินคดีแบบสามัญการคำนวณค่าเสียหาย ผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญสะดวกกว่า         ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า จากคำตัดสินนี้ทางมูลนิธิฯ กำลังอยู่ในระหว่างตัดสินใจว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดีหรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกันในกระบวนการแบบสามัญ เช่น สมาชิก 30-40 คน อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด

อ่านเพิ่มเติม >