ฉบับที่ 270 ขอบังคับคดีกับบุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้ร่วมตามสัญญาประนีประนอมได้หรือไม่

        การบังคับคดี โดยปกติจะกระทำได้ก็เฉพาะคู่ความผู้ที่แพ้คดีและตกเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่บางกรณี บุคคลภายนอกก็อาจถูกบังคับคดีได้ หากเข้ามาเกี่ยวข้องกับลูกหนี้ตามคำพิพากษา อย่างเช่นในกรณีที่หยิบยกในครั้งนี้ เป็นเรื่องของ นาย ส. ซึ่งเดิมมิใช่คู่ความในคดีเป็นบุคคลภายนอก แต่ในระหว่างดำเนินคดี ได้ยินยอมตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยในคดี  ต่อมาเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ชำระหนี้ ศาลฏีกาได้ตัดสินให้ นาย ส. ซึ่งแม้เป็นบุคคลภายนอกคดี แต่เมื่อยอมตกลงรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้มีคำพิพากษาตามยอม แล้วต่อมา นาย ส.ไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญา ก็มีสิทธิบังคับคดีกับทรัพย์สินของนาย ส. ได้ เนื่องจากถือได้ว่านาย ส. อยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้ และต้องดำเนินการบังคับคดีภายในสิบปีวันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามแนวคำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564  คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3787/2564         แม้ ส. เป็นบุคคลภายนอกมิใช่คู่ความในคดีที่ถูกฟ้องแต่แรก แต่ ส. ยินยอมเข้ามาในคดีโดยตกลงยอมรับผิดตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างลูกหนี้ร่วมและได้ลงลายมือชื่อผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย เมื่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274  แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ แพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2560  มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2560 และโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีภายหลังจากมาตรา 274  ที่แก้ไขใหม่ มีผลใช้บังคับแล้ว การบังคับคดีของโจทก์จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 274  วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมที่ ส. ซึ่ง เป็นบุคคลภายนอกยินยอมเข้ามาผูกพันตนว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ร่วมรับผิดกับจำเลยมีผลผูกพัน ส. ในฐานะเป็นบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ชำระหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อ ส. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับคดี ส. ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 274 วรรคหนึ่ง ที่แก้ไขใหม่เกร็ดความรู้เพิ่มเติม สำหรับหลายท่านที่เป็นเจ้าหนี้ที่มีสิทธิบังคับคดี ในบางครั้งการบังคับคดี หากเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ทราบว่าทรัพย์สินลูกหนี้ตั้งอยู่หรือเก็บรักษาไว้ที่ใด เจ้าหนี้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนหาทรัพย์สินของลูกหนี้ได้             คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2559          คำร้องของโจทก์ที่ระบุว่า โจทก์ได้ดำเนินการสืบหาทรัพย์ของจำเลยแล้ว  ปรากฏว่าจำเลยไม่มีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้  แต่ตามฐานะความเป็นอยู่ของจำเลยเชื่อว่าจำเลยมีทรัพย์สินที่จะต้องถูกบังคับมากกว่าที่ตนทราบแล้ว  ย่อมมีความหมายในตัวเองว่าโจทก์เห็นว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นซึ่งโจทก์ยังไม่สามารถติดตามจนพบเพื่อบังคับคดีได้จึงต้องขอให้ศาลเรียกจำเลยมาไต่สวนให้ได้ความจริง  การที่โจทก์ไม่อาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้เพราะยังไม่พบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใด   กรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ทราบว่าจำเลยมีทรัพย์สินใดเป็นที่แน่ชัดแล้ว  แต่จะอาศัย ป.วิ.พ.มาตรา 277  เป็นเครื่องมือติดตามตัวทรัพย์สิน  หรือเพื่อให้ทราบสถานที่ตั้งของทรัพย์สินนั้น จึงมีเหตุสมควรที่จะรับคำร้องของโจทก์และมีหมายเรียกจำเลยมาไต่สวนทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 231 ทำสัญญายอมในคดีแพ่งจะมีข้อตกลงยกเว้นให้สิทธิดำเนินคดีอาญาได้ จริงหรือไม่

ช่วงนี้เรายังอยู่กับสถานการณ์โรคโควิด 19 ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง แม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อค่อยๆ ลดลง แต่เราก็ยังต้องระมัดระวัง เน้นอยู่บ้าน ถ้าออกไปไหนก็ควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทุกครั้งนะครับ  ในฉบับนี้ผมก็อยากจะพูดถึงกฎหมายในเรื่องการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพราะหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างว่า เวลาเราตกลงกันได้เพื่อให้เรื่องยุติและมีหลักฐาน เราก็จะทำสัญญายอมกัน แต่ทราบหรือไม่ว่าผลของการทำสัญญายอม กฎหมายจะถือตามสัญญาที่เกิดขึ้นและมีผลให้หนี้เดิมที่เคยโต้แย้งกันระงับไปด้วยผลของสัญญายอมนะครับ อย่างเช่นในคดีตัวอย่างที่จะยกมาพูดถึงกันในวันนี้         เรื่องมีอยู่ว่า จำเลยจ่ายหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์เป็นเช็ค ต่อมาเช็คเด้งทำให้ขึ้นเงินไม่ได้ โจทก์ก็เอาเรื่องมาฟ้องศาลทั้งคดีแพ่งและอาญา ต่อมาในคดีแพ่ง โจทก์กับจำเลยเขาตกลงกันได้ ก็ทำสัญญายอมกันไว้ และในสัญญายอมมีข้อตกลงว่า สัญญายอมไม่ผูกพันคดีอาญา คือโจทก์ยังมีสิทธิดำเนินคดีอาญาได้ ศาลฎีกาก็มองว่า เมื่อทำสัญญายอมกันแล้ว ทำให้หนี้ตามเช็คที่พิพาทกันหมดไป และต้องรับผิดกันตามสัญญายอมที่เกิดขึ้น มีผลให้คดีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปด้วย ดังนั้นการทำข้อตกลงที่ให้คดีอาญายังมีอยู่ ก็เป็นการขัดต่อกฎหมายดังกล่าว จึงไม่มีผลใช้บังคับ และข้อตกลงนี้สามารถแยกออกต่างหากได้จากข้อตกลงอื่นในสัญญายอม จึงไม่ทำให้สัญญายอมโมฆะทั้งหมด ยังมีผลใช้บังคับได้ คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 2788/2562         มูลหนี้ซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์รถยนต์ซึ่งจําเลยที่ 2 ชําระหนี้ด้วยเช็คพิพาท ถูกโจทก์ นําไปฟ้องเป็นคดีแพ่ง ซึ่งต่อมาโจทก์และจําเลยที่ 2 ได้ทําสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ในคดีแพ่งดังกล่าวและศาลพิพากษาตามยอม คดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมทําให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระเงินตามมูลหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และอุปกรณ์ รถยนต์จากการออกเช็คพิพาทเป็นอันระงับสิ้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้จําเลยที่ 2 ชําระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอม ยอมความเท่านั้น แม้จําเลยที่ 2 จะไม่ชําระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิ เรียกร้องให้จําเลยที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก จึงต้องถือว่าหนี้ค่าซื้อเครื่องยนต์และ อุปกรณ์รถยนต์ที่จําเลยที่ 2 ออกเช็คพิพาทเพื่อใช้เงินนั้น เป็นอันสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลในคดีนี้ มีคําพิพากษาถึงที่สุด คดีจึงเป็นอันเลิกกันตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ส่วนที่ในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 ระบุไว้ว่า การทําสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ไม่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาที่วินิจฉัยอยู่นี้ เป็นทํานองยกเว้น มิให้ถือว่าคดีอาญาเลิกกันด้วยก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ขัดต่อบทบัญญัติแห่ง กฎหมายโดยชัดแจ้งจึงตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ซึ่งข้อตกลง ดังกล่าวสามารถแยกออกต่างหากจากข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความในข้ออื่นได้ จึงไม่ทําให้สัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งตกเป็นโมฆะทั้งหมด ทั้งนี้ ตามมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์         จากตัวอย่างคดีนี้ ก็ทำให้เราได้เรียนรู้นะครับว่า ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความใดๆ ก็ตาม แม้คู่สัญญาจะมีเสรีภาพในการทำสัญญา แต่ก็ต้องวางอยู่บนหลักกฎหมายด้วย ดังนั้นเราต้องตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วยก่อนทำสัญญา หากไปกำหนดข้อตกลงใดๆ ก็ตาม ที่มีกฎหมายบัญญัติไว้แล้วและมีข้อตกลงนั้นขัดต่อกฎหมาย ก็จะไม่มีผลใช้บังคับเหมือนในคดีนี้ 

อ่านเพิ่มเติม >