ฉบับที่ 272 ปัญหาที่มากกว่าวัยของโชเฟอร์

        แท็กซี่เป็นบริการรถสาธารณะที่เป็นที่ต้องการอยู่เสมอ เมื่อบริการขนส่งสาธารณะอื่นๆ อย่างรถเมล์ รถไฟฟ้า ไม่ตอบโจทย์ความต้องการส่วนบุคคล หลายประเทศจัดการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสม นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ได้รับบริการแบบมืออาชีพ ในราคาที่เหมาะสม และมีจำนวนรถให้เรียกใช้บริการเพียงพอ         ระยะหลังเราเริ่มได้ยินข่าวที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการแท็กซี่ในต่างแดน เช่น กรณีของเกาหลีใต้ที่ร้อยละ 70 ของโชเฟอร์ ล้วนเป็นผู้ที่อยู่ในวัย 60 หรือ 70 กว่าปีขึ้นไป ที่ไม่นิยมออกรถในช่วงเวลาดึก เพราะเกรงจะเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากมองเห็นได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เป็นปัญหาใหญ่ของผู้ที่ต้องการเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าว ภาครัฐเลยต้องเตรียมขึ้นอัตราค่าโดยสารเพื่อให้อาชีพขับแท็กซี่มีรายได้ดีพอจะดึงดูดคนวัยหนุ่มสาวที่หนีไปทำงานกับบริษัทขนส่งในช่วงโควิดระบาด ให้กลับมาขับแท็กซีกันมากขึ้น         ข่าวใหญ่ไม่แพ้กันคืออุบัติเหตุที่ฮ่องกงเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เมื่อมีคนเดินถนนได้รับบาดเจ็บสามรายเพราะถูกรถแท็กซี่ชน หลังพวงมาลัยคือโชเฟอร์วัย 85 ปี ที่มีอาการเจ็บหน้าอกกะทันหันและไม่สามารถควบคุมรถได้ ในขณะที่คนขับแท็กซี่อีกคนในวัย 75 ก็หลับใน ขณะที่มีผู้โดยสารอยู่ในรถ โชคดีรถโดนเบรกโดยแผ่นปูนกั้น จึงไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง เพราะบริเวณนั้นเป็นย่านธุรกิจที่มีผู้คนพลุกพล่าน มากกว่าครึ่งของโชเฟอร์แท็กซี่ในฮ่องกงมีอายุเกิน 60 ปี และสถิติระบุว่าในปี 2023 มีคนขับแท็กซี่ที่อายุเกิน 70 ปี ถึง 31,000 คน         เมื่อดูสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับแท็กซี่ระหว่างปี 2013 ถึง 2022 จะพบว่ากลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุขณะขับขี่รถให้บริการบ่อยที่สุดคือกลุ่มที่อายุ 20 ถึง 24 ปี (ใน 1,000 คน จะเกิดอุบัติเหตุ 51.3 คน) แต่สถิติของกลุ่มอายุมากกว่า 70 ปี อยู่ที่ 15.8 คน ต่อ 1,000 คน อาจดูเหมือนไม่มาก แต่ที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนครั้งของอุบัติเหตุที่เกิดกับคนขับสูงวัยเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่า (จาก 400 คน เป็น 1,100 คน)         ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ที่มีอายุเกิน 70 ปี จะต้องมีผลการตรวจร่างกาย เพื่อขอ/ต่อใบอนุญาตทุกๆ 3 ปี รายงานระบุว่าในข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถแท็กซี่ ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในปีหน้า ฮ่องกงเตรียมจะเสนอให้เปลี่ยนกำหนดอายุจาก 70 เป็น 65 ปี เหมือนในสิงคโปร์ และลดระยะเวลาการต่อใบอนุญาตจาก 3 ปี เป็นทุก 1 ปี          ด้านสมาคมผู้ประกอบการแท็กซี่และผู้ขับขี่รถแท็กซี่ บอกว่ากำลังจะเปิดศูนย์ตรวจร่างกายที่นำเทคโนโลยีเอไอมาช่วยงานให้ได้ถึง 100 แห่งภายในสิ้นปีนี้ การตรวจดังกล่าวประกอบด้วยการตรวจร่างกายทั่วไป 37 รายการ การตรวจวัดสายตา การทดสอบการได้ยิน และปฏิกิริยารีเฟล็กซ์ เป็นต้น         นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้นำระบบช่วยเบรกอัตโนมัติยามฉุกเฉิน หรือการแจ้งเตือนทันทีที่รถไม่อยู่ในเลนตัวเอง แบบเดียวกับที่ใช้ในญี่ปุ่นซึ่งมีโชเฟอร์แท็กซี่สูงวัยเป็นจำนวนมาก เข้ามาใช้ด้วยแต่ “วัย” หรือสุขภาพของคนขับแท็กซี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น สิ่งที่เรื้อรังมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบคือสภาพการทำงาน         ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการนี้บอกว่าโชเฟอร์ก็ไม่ต่างอะไรกับ “เหยื่อ”  ของเจ้าของใบอนุญาตฮ่องกงได้จำกัดจำนวนใบอนุญาตไว้ที่ 18,000 ใบ มาตั้งแต่ปี 1994 ทำให้ราคาซื้อขายใบอนุญาตตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านเหรียญฮ่องกง (ประมาณ 14 ล้านบาท) ผู้ที่ถือครองจึงมีแต่นิติบุคคลเป็นหลัก ร้อยละ 90 ของโชเฟอร์ฮ่องกงใช้วิธีเช่ารถจากบริษัทเหล่านี้ ในอัตราวันละประมาณ 400 เหรียญ (ประมาณ 1,900 บาท) ต้นทุนการทำงานจึงอยู่ที่วันละ 500 เหรียญ (อีก 100 เหรียญ หรือประมาณ 470 บาท เป็นค่าเชื้อเพลิง)         รายงานระบุว่าโชเฟอร์ที่นั่นมีรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 60 เหรียญ และในหนึ่งกะหรือ 10 ชั่วโมง จึงมีรายได้ประมาณ 600 เหรียญ จากการขับรับส่งผู้โดยสาร 25 เที่ยว ใครที่ร้อนเงินก็จะพยายามขับให้ได้จำนวนเที่ยวมากขึ้นโดยไม่พักเลยซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับตัวเองและผู้โดยสารได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนขับมีอายุมากหรือมีโรคประจำตัว         นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสภาพรถแท็กซีที่เก่าเกินไป จากรถแท็กซี่ 18,000 คัน มีรถชนิดห้าที่นั่งที่ใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงอยู่ 3,000 คัน รถเหล่านี้อายุเกิน 15 ปี แต่คนก็นิยมเช่ามาขับเพราะค่าเช่าถูกกว่า         ที่น่าสังเกตอีกประเด็นคือ แม้ฮ่องกงจะเป็นประเทศที่ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล แต่ผู้บริโภคที่นั่นยังไม่สามารถใช้บริการแอปฯ เรียกรถ เหมือนที่อื่นได้ เพราะขนส่งฯ ฮ่องกงยังไม่รับรอง ตรงข้ามกับจีนแผ่นดินใหญ่ที่บริการของ “ตีตี้ ชูซิง” ได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จอย่างยิ่งเพราะได้รับการออกแบบมาให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ เรื่องนี้ก็อยู่ในข้อเสนอที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นในปีหน้าเช่นกัน ก่อนหน้านี้ค่าย Uber เคยพยายามเข้ามาจดทะเบียนทำธุรกิจบนเกาะฮ่องกง แต่ถูกคัดค้านจากผู้ให้บริการแท็กซี่ท้องถิ่นจนต้องเก็บกระเป๋ากลับบ้านไป          กลับมาที่คำถามว่าแล้วโชเฟอร์สูงวัยที่รายได้ไม่พอใช้ จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลหรือไม่ ตามกฎหมายฮ่องกง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐได้ โดยรัฐจะให้ในอัตราเดือนละ 4,060 เหรียญ (ประมาณ 19,000 บาท) สำหรับผู้ที่มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 10,580 เหรียญ (ประมาณ 50,000 บาท) กรณีไม่มีคู่สมรสและมีทรัพย์สินไม่เกิน 388,000 เหรียญ และรายได้ไม่เกิน 16,080 เหรียญ (ประมาณ 75,800 บาท) สำหรับผู้ที่มีคู่สมรส และมีทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 589,000 เหรียญ          https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2023/09/113_337693.html         https://www.chinadaily.com.cn/a/202309/29/WS65165246a310d2dce4bb8812.html             https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/4/201069/Taxi-accident-brings-the-trade’s-aging-workforce-back-in-the-limelight

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 262 นั่ง BOLT ไปตั้งนานเพิ่งรู้ว่า คนขับไม่ตรงปก

        ปัจจุบันเชื่อหลายคนจะมีแอปพลิเคชันเรียกรถติดมือถือไว้แอปใดแอปหนึ่งหรืออาจจะหลายแอป เพราะบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้นอย่างมาก แต่นอกจากความสะดวกแล้วจากเรื่องราวของคุณหญิง อาจจะยิ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพความปลอดภัยเพิ่มด้วย           เรื่องมีอยู่ว่าไม่นานมานี้ คุณหญิงได้ไปกินสุกี้ จิ้มจุ่มกับเพื่อนรอบดึก แต่เมื่อจะกลับที่พักซึ่งเป็นเวลาตี 3 แล้วนั้น มือถือของคุณหญิงแบตหมดและเธอไม่กล้านั่งแท็กซี่กลับห้องพักเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่สู้ดี จึงใช้มือถือของเพื่อนเรียกบริการรถผ่านแอปพลิเคชัน Bolt         หลังจากเรียกรถ  ราว 6 นาที รถก็มาถึง คุณหญิงแยกย้ายกับเพื่อนนั่งมากับคนขับที่ตลอดทางจะขับกระชากไปมา  ทั้งยังมีท่าทางหลุกหลิก เธอนึกเอะใจว่าคนขับไม่ค่อยปกติหรือเปล่า แต่ก็พยายามคิดข่มความกลัวในใจว่าเดี๋ยวแป๊บเดียวก็ถึงที่พักแล้ว แต่แล้วก็สะดุ้งตื่นจากห้วงความคิด เมื่อรถเริ่มกระตุกซ้ำๆ และคนขับบอกเธอว่า “พี่ครับๆ รถผมน้ำมันใกล้จะหมดแล้วครับ” คุณหญิง “หมายถึงจะขับได้อีกนานแค่ไหนนะคะ” คนขับตอนว่า “จะหมดเดี๋ยวนี้เลยครับ” ยังไม่ทันสิ้นเสียงคนขับ รถมอเตอร์ไซค์ก็เริ่มชะลอตัว คนขับอาศัยขณะยังบังคับรถได้เบี่ยงรถเข้าข้างทาง และรถก็จอดนิ่งสนิทพอดี         คุณหญิงมองไปรอบๆ ตัว ณ ที่ที่คนขับพามาถึงจุดที่ใกล้ที่พักของเธอมากแล้ว คนขับถามเธอว่า “เหมือนใกล้ถึงแล้วนะ พี่รู้ไหมว่า แถวนี้มีปั๊มน้ำมันตรงไหนไหม”  คุณหญิงไม่รู้เพราะเธอไม่เคยขับรถใดๆ และบอกให้คนขับใช้ google map ค้นหาปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด  แต่จังหวะที่คนขับรถกำลังขยายแผนที่ในจอโทรศัพท์  แบตโทรศัพท์มือถือของเขาก็ดับวูบไปทันที  จังหวะนั้นเอง วัยรุ่น ชาย 1 หญิง 2 ที่นั่งคุยกันอยู่ริมถนนก็เข้ามาทักว่า เกิดอะไรขึ้น มีอะไรให้ช่วยไหม เธอเลยบอกว่า รถน้ำมันหมด น้องวัยรุ่นผู้ชายจึงอาสาช่วยให้คนขับเกี่ยวรถของเขาไปหาปั๊มน้ำมัน          คุณหญิงมองไรเดอร์ที่เกี่ยวรถไปหาปั๊มน้ำมันแล้วก็หนักใจเพราะทั้งเธอและคนขับรถต่างแบตโทรศัพท์หมดแล้วจะติดต่อกันได้อย่างไร และจะมีปั๊มน้ำมันในระยะใกล้ๆ นี้หรือไม่ แล้วที่สำคัญเขาจะกลับมาเมื่อไหร่ แต่เมื่อเห็นวัยรุ่นผู้หญิง 2 คน ที่นั่งรอด้วยอยู่ห่างๆ จึงพออุ่นใจขึ้นมาบ้าง         ผ่านไปราว 15 นาที คุณหญิงจึงตัดใจว่า จะโบกแท็กซี่ไปที่พักดีกว่าและจะติดต่อกับคนขับในวันรุ่งขึ้นเพื่อคืนหมวกกันน็อคให้เขาต่อไป ขณะที่ยืนเรียกแท็กซี่ น้องวัยรุ่นผู้ชายก็ขับรถกลับมา คุณหญิงดีใจคิดว่าคงได้เติมน้ำมันแล้ว แต่น้องวัยรุ่นผู้ชายกลับบอกว่า “รถผมมันใหญ่พี่ ตอนเกี่ยวมันลากไปเงอะงะๆ เขาเลยขอเข็นรถไปเอง หรือจะไปขอเกี่ยวรถคนอื่นไปต่อหรือเปล่า ผมก็ไม่รู้ แต่ผมมารับเพื่อน แล้วจะไปกันแล้วนะพี่” แล้ววัยรุ่นทั้ง 3 คนก็ขับรถออกไป (อ้าวทิ้งกันเสียแล้ว) คุณหญิงยิ่งหนักใจ และยืนโบกแท็กซี่ต่อไป แท็กซี่ผ่านเธอไป 2 – 3 คัน ไม่มีคันไหนรับ อาจเพราะคนขับแท็กซี่ก็คงจะต้องกลัวผู้โดยสารที่มายืนโบกรถตอนเกือบจะตี 4 ด้วยเหมือนกัน จึงไม่มีคันไหนรับเลยสักคัน  ผ่านไปราว 40 นาที คนขับรถยังไม่กลับมา ไม่แน่ว่าถ้าเจอปั๊มน้ำมันแล้ว เขาอาจจะขอชาร์ทแบตโทรศัพท์ต่อก็ได้ นั่นแปลว่าเขาก็จะใช้เวลาต่อไป แต่...แล้วในที่สุดเขาก็ขับรถกลับมาพร้อมกับขอโทษขอโพยมากมายที่ปล่อยให้ต้องรอ         คุณหญิงทั้งกลัวที่ต้องยืนอยู่คนเดียวและโกรธคนขับที่ไม่เตรียมความพร้อมขณะทำงาน ทำให้ทั้งน้ำมันและแบตโทรศัพท์หมดและมีปัญหาแบบนี้   วันต่อมาเธอจึงขอเพื่อนดูประวัติคนขับ ตอนนี้โป๊ะแตก เธอพบว่า คนที่ขับไปส่งเธอเป็นคนละคนกับที่มีข้อมูลในบัญชีผู้ขับ  เพื่อนสาวของเธอยังบอกว่า “ถ้าไประยะไกล  เราไม่ชอบใช้แอปนี้นะ เพราะยังไม่ตรวจประวัติคนขับ” คุณหญิงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรงมากเพราะเท่ากับเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า คนขับรถที่ให้บริการอยู่มีประวัติความเป็นมาอย่างไร จะเชื่อมั่นและปลอดภัยได้แค่ไหน แต่คุณหนิงยังไม่เชื่อเพื่อนเสียทีเดียว หลังจากนั้นเมื่อได้ใช้บริการ bolt อีก จึงถามขับเสมอๆ ประมาณเลียบเคียงหาข้อมูลว่า ถ้าตนเองอยากสมัครขับรถบ้าง ยากไหม คำตอบคือ “ไม่ยากเลยครับ ตอนนี้เขายังไม่ตรวจประวัติด้วย พี่รีบสมัครเลยครับ”           เธอหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า Bolt เปิดให้บริการขนส่งในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 ด้วยการสร้างภาพจำว่า ยกเว้นการเก็บค่าคอมมิชชันจากคนขับ ทำให้ค่าโดยสารถูกกว่าแอปอื่นๆ ถึง 20% โดยก่อนหน้านี้ ได้ให้บริการในโซนยุโรปและแอฟริกามาแล้ว   เธอไม่อยากเชื่อเลยว่าบริษัทที่ให้บริการระดับนานาชาติแบบนี้จะขาดการตรวจสอบคุณภาพของคนขับแบบร้ายแรงแบบนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         เรื่องเล่านี้คุณหญิงได้สอบถามมายัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมข้อเสนอที่ฝากให้มูลนิธิช่วยดำเนินการต่อ คือ Bolt  ควรพัฒนาระบบสมัครคนขับ ให้สามารถคัดกรองคนขับที่มีคุณภาพมากกว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงเพิ่มเติมความปลอดภัยในเรื่องอื่นๆ เช่น มีข้อกำหนดให้คนขับ ต้องมีหมวกกันน็อคให้ผู้โดยสารสวมใส่ ทุกครั้งที่ให้บริการ  ข้อห้ามไม่ให้คนขับพาลูกหรือหลานไปด้วย  เนื่องจากรถจักรยานยนต์เป็นรถขนาดเล็ก ไม่เหมาะสมที่จะโดยสาร 3 คน และที่สำคัญเพื่อสิทธิความปลอดภัยของตัวเด็กเอง  เหล่านี้คือปัญหาที่คุณหญิงได้สังเกตและยังพบเจอได้เสมอ Bolt จึงควรเร่งพัฒนาปรับปรุงระบบ เพราะเมื่อเข้าไปกรอกสมัครเป็นผู้ขับตอนนี้จะพบว่ายังไม่มีข้อกำหนดในเรื่องดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยสักเรื่องเลย          เรื่องนี้ทาง มพบ.จะแจ้งต่อยังผู้ให้บริการและส่งเรื่องถึง กรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ปัจจุบัน (ธันวาคม 2565) กรมการขนส่งฯ ได้รับรองแอปบริการรถยนต์รับจ้างแล้วถึง 6 แอปอย่างถูกกฎหมาย ได้แก่ โรบินฮู้ด Robinhood , แกร็บ Grab , ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส Hello Phuket Service , เอเชีย แค็บ Asia Cab , บอนกุ Bonku และแอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป Airasia Super App   ถ้าผู้โดยสารพบความผิดปกติของคนขับทั้งพฤติกรรม ท่าทาง หรือการโกงใด ๆ สามารถงดจ่ายค่าโดยสารตามที่แอปพลิเคชันกำหนดได้ทันที พร้อมแจ้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน กรมการขนส่งทางบก โทร.1584 ได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >