ฉบับที่ 152 กระแสต่างแดน

รับประกันความเหนียว ในครึ่งแรกของปี 2013 ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร ที่คนอังกฤษร้องเรียนบ่อยที่สุดคือเรื่องที่เกี่ยวกับ “การประกันเงินกู้” ธนาคารและบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่อังกฤษนิยมขายบริการเงินกู้พ่วงกับการประกัน ด้วยเงื่อนไขว่าจะรับผิดชอบจ่ายหนี้ให้ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถทำงานได้ แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออะไร เพราะบรรดาข้อยกเว้นยุบยิบที่แนบท้ายมาในกรมธรรม์นั่นเอง ผู้ตรวจการด้านการเงินการธนาคารของอังกฤษบอกว่า ในบรรดาเรื่องร้องเรียน 327,000 เรื่องที่ส่งเข้ามา มีถึงร้อย 86 ที่เป็นกรณีธนาคารเบี้ยวเงินชดเชย หรือไม่ก็ถ่วงเวลาให้ผู้เอาประกันต้องรอโดยไม่จำเป็น   รายงานดังกล่าวระบุว่า 1 ใน 3 เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของสถาบันการเงินในกลุ่ม Lloyds Banking Group โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารแห่งสกอตแลนด์ ที่มีคนร้องเรียนมากกว่า 58,000 ราย และที่ถูกร้องเรียนมากเป็นอันดับสองได้แก่ บาร์เคลย์ ด้วยเรื่องร้องเรียนกว่า 44,000 เรื่อง ผู้ตรวจการฯ พบว่าบริษัทเหล่านี้ตั้งเงินสำรองสำหรับการประกันเหล่านี้ไว้ถึง 18,000 ล้านปอนด์ แต่ก็ยังปฏิเสธการให้เงินชดเชยกับผู้เอาประกันแม้ในกรณีที่สมควรจ่าย และที่สำคัญ 1 ใน 3 ของกรณีขอรับการชดเชยที่ถูกปฏิเสธไปนั้น เมื่อตรวจสอบดูแล้วพบว่าเข้าข่ายการได้รับเงินชดเชยด้วย ยังดีตรงที่ในการยื่นเรื่องกับผู้ตรวจการนั้น เขากำหนดให้ธนาคาร/บริษัทที่ขายประกัน เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย 550 ปอนด์ต่อเรื่องร้องเรียน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะได้รับผลการพิจารณาว่าธนาคาร/บริษัทต้องรับผิดชอบหรือไม่ ค่อยยังชั่ว ... นึกว่าต้องซื้อประกันเพื่อความมั่นใจว่าประกันเงินกู้ที่ซื้อไว้จะจ่ายค่าชดเชยให้เราอีกด้วยนะนี่   ถูกไป..ไม่กล้าซื้อ ในห้างเมโทรของเวียดนาม ส้มนำเข้าจากออสเตรเลียขายในราคาเพียงกิโลกรัมละ 50,999 ดอง(75 บาท) แอปเปิ้ลจากอเมริกาก็กิโลกรัมละ 44,900 ดอง(66 บาท) เท่านั้น แต่กลับไม่เป็นที่นิยมเพราะผู้บริโภคไม่แน่ใจว่ามันมาจากไหนกันแน่ เป็นที่รู้กันทั้งประเทศว่าเวียดนามมีกฎระเบียบการนำเข้าผลไม้ที่เข้มงวด ซึ่งกำหนดให้มีการตรวจสอบเพื่อหาแมลง โรคระบาด หรือสารเคมีตกค้างต่างๆ ราคาผลไม้นำเข้าที่นั่นจึงค่อนข้างแพง กระทรวงการเกษตรและการพัฒนาชนบท ยืนยันว่าปัจจุบันผลไม้ที่นำเข้าจากประเทศตะวันตกนั้นมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เห็นขายกันอยู่ตามท้องถนนส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้า ที่สำคัญข่าวเขาบอกว่า เป็นเรื่องยากที่จะค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของผลไม้นำเข้า เพราะแม้แต่สมาคมผักและผลไม้แห่งเวียดนามเองก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับผลไม้ส่งออกเท่านั้น ถ้าอยากรู้ก็ต้องอาศัยข้อมูลจากภายนอก แอปเปิ้ลส่วนใหญ่ที่ขายในเวียดนามมาจากจีน โดยอ้างอิงตัวเลขของจีนที่ระบุว่ามูลค่าการส่งออกแอปเปิ้ลมาเวียดนามในระหว่างปี 2008 -2010 อยู่ที่ 53 ล้านเหรียญ ในขณะที่ตัวเลขจากอเมริกามีเพียง 8 ล้านเหรียญเท่านั้น   แบรนด์นั้นสำคัญแต่ ... การสำรวจความเห็นของคน 134,000 คน ทั่วโลก โดย Havas Media Group พบว่า ผู้บริโภคไม่รู้สึกอาลัยอาวรณ์นัก ถ้าร้อยละ 73 ของแบรนด์ต่างๆ ที่มีอยู่นั้นจะหายไปจากโลกนี้ และพวกเขาเชื่อว่ามีเพียง 1 ใน 5 ของแบรนด์เหล่านี้เท่านั้นที่ทำให้คุณภาพชีวิตผู้บริโภคดีขึ้นจริงๆ ถ้าเจาะดูเฉพาะคนยุโรป จะเห็นว่าค่อนข้างโหดทีเดียว พวกเขาเชื่อว่ามีเพียงร้อยละ 5 ของแบรนด์เท่านั้นที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น และก็ไม่แคร์แม้ว่าร้อยละ 93 ของแบรนด์ที่มีอยู่จะหายไป มีเพียง 1 ใน 5 ของคนยุโรปและ 1 ใน 4 ของคนอเมริกันเท่านั้น ที่เชื่อว่าแบรนด์เหล่านี้สื่อสารกับตนเองด้วยความจริงใจเวลาที่ให้คำมั่นสัญญาหรือประกาศเจตนารมณ์ใดก็ตาม เจ้าของแบรนด์อาจจะอยากทบทวนการใช้งบประมาณหลายพันล้านปอนด์ที่ทุ่มเทให้กับการสร้างแบรนด์ แล้วหันมาเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมแทน เพราะตัวเลขจากตลาดหุ้นยืนยันว่าบริษัทที่แสดงบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคมได้ชัดเจน จะมีผลประกอบการที่สูงกว่าด้วย ที่น่าสนใจคือผู้บริโภคเชื่อว่าแบรนด์สามารถมีบทบาทในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตและเพิ่มสุขภาวะของพวกเขา  คนยุโรปและอเมริกากว่าครึ่งก็เห็นด้วย แต่ในปัจจุบันแบรนด์เหล่านี้ยังไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังดังกล่าวได้   เหมือนเดิม .. โซเดียมด้วย ด้วยกระแสกดดันให้ลด ละ เลิก อาหารที่มีไขมัน เกลือหรือน้ำตาลสูง ทำให้เราคิดไปว่าบรรดา ร้านอาหารจานด่วนรายใหญ่ๆ เขาคงจะปรับเปลี่ยนเมนูให้เป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น ... หรือเปล่า? งานสำรวจที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Journal of the Academy of Nutrition and Diabetes เปิดเผยว่า ปริมาณแคลอรี่และโซเดียมในอาหารจานหลักของร้านฟาสต์ฟู้ดในอเมริกาในปี 2011 ก็ไม่ได้ลดลงจากปี 2010 แต่อย่างใด ข้อมูลดังกล่าวเป็นผลจากสำรวจอาหารจากหลัก 26,000 เมนู ในร้านจานด่วน 213 สาขาทั่วอเมริกา ในปี 2010 ค่าเฉลี่ยของพลังงานที่ได้จากอาหารจานหลัก 1 จานในร้านเหล่านี้อยู่ที่ 670 แคลอรี่ และยังคงเท่ากับค่าในปี 2011 ที่ร้านอาหารเริ่มแสดงข้อมูลโภชนาการของอาหารเมนูต่างๆ แล้ว และแม้จะมีการลดปริมาณแคลอรี่ลงเล็กน้อยในเมนูทั่วไป กลับไม่มีการลดปริมาณแคลอรี่ในเมนูสำหรับเด็ก ส่วนปริมาณโซเดียมโดยเฉลี่ยก็ลดลงเพียง 15 มิลลิกรัมต่อเมนูเท่านั้น ผู้วิจัยยังพบด้วยว่า แม้ร้านเหล่านี้จะปรับเปลี่ยนเมนูอยู่เป็นประจำ แต่ทุกครั้งที่มีการเพิ่มเมนูเพื่อสุขภาพก็จะมีการใส่เมนูตามใจปากเข้ามาด้วย การสำรวจนี้ฟันธงว่า ผู้ประกอบการยังไม่ได้ปรับปรุงโภชนาการของอาหารในร้านให้ดีขึ้น  มาตรการที่กำหนดให้แสดงข้อมูลโภชนาการเพียงอย่างเดียวจึงน่าจะยังไม่เพียงพอที่จะทำให้คนอเมริกามีนิสัยการกินที่ดีขึ้น     พร้อมรับคนสูงวัย การสูงวัยเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประชากรทุกคนอยู่ตลอดเวลา เรามาดูกันว่าประเทศไหนพร้อมรองรับสังคมผู้สูงอายุกว่ากัน การสำรวจ Global AgeWatch Index 2013 ที่ทำใน 91 ประเทศ ซึ่งครอบคลุมร้อยละ 89 ของจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้จัดอันดับให้สวีเดนเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตและสุขภาวะดีที่สุด แม้จะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในแต่ละด้านที่ทำการสำรวจ ซึ่งได้แก่ 1) ความมั่นคงทางรายได้  2) สุขภาพ  3) การจ้างงาน/การศึกษา และ 4) สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต  แต่สวีเดนซึ่งมีประชากรวัย 60 ขึ้นไปประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด 9.5 ล้านคน ก็ติดอยู่ในอันดับท็อปเท็นของทุกด้าน ในด้านรายได้ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีที่มีรายได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรายได้เฉลี่ยของประชากรนั้นมีเพียงแค่ร้อยละ 9 และคนสวีเดนยังมีอายุคาดหลังวัย 60 ไปอีก 24 ปี อีกทั้งเขายังพบว่ามีประชากรในวัย 50 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 95.6 ที่รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมาย และผู้ที่มีอายุระหว่าง 55 – 64 ปีที่ยังมีงานทำอยู่ก็มีมากกว่าร้อยละ 70 ด้วย ตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีรายได้ดีที่สุดนั้นเป็นของลักเซมเบิร์ก ด้านสวิตเซอร์แลนด์ได้ครองตำแหน่งประเทศที่ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีที่สุด ส่วนนอร์เวย์รั้งตำแหน่งประเทศที่มีอัตราการจ้างงานผู้สูงอายุสูงที่สุด ในขณะที่ผู้สูงวัยชาวเนเธอร์แลนด์คือกลุ่มคนที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตได้โดยอิสระมากที่สุด และหากคุณสงสัย ... ประเทศไทยก็ไม่ขี้เหร่ เข้าอันดับที่ 42 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน (งานนี้เขาไม่ได้สำรวจที่สิงคโปร์) และเราได้อันดับที่ 8 ในเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุด้วย เพราะมีถึงร้อยละ 89 ที่รู้สึกว่าตนเองสามารถติดต่อเพื่อนหรือญาติได้ในกรณีที่มีปัญหา และมีมากกว่าร้อยละ 80 ที่รู้สึกว่ายังสามารถเดินไปไหนมาไหนในเมืองได้โดยไม่ต้องกลัวอันตราย   //

อ่านเพิ่มเติม >