ฉบับที่ 252 เตือนภัย! โทร.มาอ้าง คปภ. ล้วงข้อมูลกรมธรรม์ หลอกขายประกัน

        อย่าหลงกล ถ้าจู่ๆ มีคนโทร.เข้ามาว่าได้รับแจ้งจาก คปภ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) ให้มาดูแลผลประโยชน์ของผู้ที่ทำประกันเอาไว้ เพราะนี่คือรูปแบบการหลอกลวงของตัวแทนประกันนอกรีต ที่กว่าคุณจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้ว         วันหนึ่งคุณไอติมได้รับโทรศัพท์อ้างว่า “เขา” เป็นผู้ที่จะเข้ามาดูแลผลประโยชน์ในเรื่องกรมธรรม์ให้นั้น เธอไม่ได้เอะใจอะไรเพราะได้ยินคำว่า คปภ. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐมอบหมายให้บุคคลผู้นี้โทร,มา จึงยอมให้เขานำกรมธรรม์ทั้งหมดของเธอกลับไปทำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์ส่งมาให้ ซึ่ง “เขา” บอกจะแจกแจงให้คุณไอติมได้ทราบว่าควรจัดการอย่างไรถึงจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด แต่... “เขา” หายไปเดือนกว่าจนเธอต้องโทร.ไปทวงกรมธรรม์คืน ซึ่งนั้นระหว่างนั้นก็มีคนโทร.เข้ามาพูดในลักษณะเดียวกันนี้อีก 3 ราย พอ “เขา” เอามาคืน ก็ไม่มีผลวิเคราะห์ใดๆ มาให้ มีแต่การนำเสนอขายประกันให้ ประจวบกับที่เธอกำลังมีปัญหาสุขภาพ และเห็นว่าเงื่อนไขที่เขาเสนอว่าค่ารักษาที่ไม่จำกัดวงเงินสามารถปรับเปลี่ยนเป็นค่าห้องได้นั้นเข้าท่าดี จึงตกลงซื้อประกันสุขภาพไป แต่เหมือนเธอยังมีโชคอยู่บ้าง ไม่รู้อะไรดลใจให้วันรุ่งขึ้นเธอโทรไปตรวจสอบเงื่อนไขนี้กับฝ่ายค่าสินไหมของโรงพยาบาลที่รักษาประจำ ซึ่งได้คำตอบว่าทำไม่ได้ ถ้ามีบริษัทประกันไหนมาอ้างแบบนี้อย่าไปเชื่อ เธอจึงโทร.ไปขอยกเลิกประกันสุขภาพฉบับนั้นได้ทันก่อนจะสายไป         ย้อนไปตอนที่เธอตกลงซื้อประกันสุขภาพไป เขาบอกว่าจะนำสรุปวิเคราะห์กรมธรรม์มาให้ แต่พอเธอยกเลิกประกันไป เขาบอกว่าไม่ทำให้แล้วเพราะเธอไม่ใช้บริการของเขา เธอจึงตำหนิไปตรงๆ ว่าถ้าอย่างนี้คือเขาตั้งใจหลอกลวงโดยอ้างว่า คปภ.ให้มาดูแล แต่จริงๆ แล้วมาเพื่อจะเสนอขายประกันมากกว่า เธอจึงไม่ไว้วางใจคนๆ นี้แล้ว เกรงว่าเขาจะเป็นมิจฉาชีพ จึงขอเอกสารสำเนาบัตรประชาชนพร้อมลายเซ็นของเธอที่ใช้เป็นหลักฐานตอนซื้อประกันสุขภาพคืนมาทั้งหมด เขาก็รับปาก แต่ก็เงียบหายไปเลย คุณไอติมจึงมาเล่าเรื่องนี้ให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไว้เตือนภัยคนอื่นๆ พร้อมกับปรึกษาหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายหากผู้อื่นนำเอกสารข้อมูลส่วนตัวของเธอไปใช้โดยพลการ      แนวทางการแก้ไขปัญหา         ฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิฯ แนะนำให้คุณไอติมไปแจ้งความบันทึกประจำวันไว้ว่า ได้ให้เอกสารไปกับบุคคลนี้ มีรายละเอียดดังนี้ ถ้าเกิดเหตุอะไรที่นอกเหนือจากนี้ คุณไอติมไม่รู้เรื่องและไม่ขอรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 246 ผู้ป่วยโควิดสีเขียวกักตัวที่บ้าน ต้องจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือไม่

        องค์กรของผู้บริโภค เรียกร้องคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ให้ทบทวนการจ่ายเงินชดเชยรายวัน กับผู้ป่วยสีเขียวที่แยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) ทุกกรณี         กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกรอบ จากข้อร้องเรียนของผู้เอาประกันภัยที่กักตัวเองที่บ้านแล้วบริษัทอ้างว่า ป่วยน้อย สีเขียว นอนที่บ้านไม่สามารถเรียกเงินชดเชยรายวันได้         โดยใช้คำวินิจฉัยของเลขาธิการคปภ. ในเอกสารแจง 17 ข้อสงสัย เหตุใดจึงไม่ให้เคลมค่าชดเชยรายวันกรณี home isolation หรือแบบ community isolation ได้ทุกกรณี? ได้อ้างเงื่อนไขตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ปัจจุบัน ในเรื่องค่าชดเชยรายวัน ให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีผู้ป่วยในไม่ครอบคลุมกรณีการรักษาแบบ home isolation หรือแบบ community isolation แล้วไม่มีโอกาสเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ถ้าผู้เอาประกันภัยมีสภาพที่จะต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน แต่ไม่สามารถหาเตียงสถานพยาบาลได้ จึงต้องรักษาตัวแบบ home isolation และ community isolation ให้ถือเสมือนเป็นผู้ป่วยในและมีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวันตามกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 และเพื่อป้องกันมิให้มีการเคลมเกินสิทธิที่พึงมีตามเงื่อนไขการคุ้มครองในกรมธรรม์ รวมทั้งป้องกันปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล เช่น เป็นผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรือผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรงขึ้น แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ เป็นต้น ซึ่งแม้ไม่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง แต่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลก็มีสิทธิได้รับค่าชดเชยรายวัน ซึ่งคำสั่งนี้ได้เปิดช่องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาลได้ด้วย         การวินิจฉัยของคปภ.แบบนี้ ย่อมสร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ต้องไม่ลืมว่า การรักษาผู้ป่วยโควิดจากเดิมกรมการแพทย์บังคับให้ทุกคนต้องนอนโรงพยาบาลเมื่อติดเชื้อโควิด 19 แต่เมื่อรัฐไม่สามารถมีเตียงรองรับในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel การนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยจึงเป็นไปไม่ได้ กรมการแพทย์ได้ประกาศให้หน่วยบริการดูแลประชาชนที่บ้าน พร้อมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้หน่วยบริการที่รับดูแลผู้ป่วยในการแยกตัวที่บ้านประมาณ 1,000 บาทต่อราย ผู้ป่วยจำนวนมากได้ยาต้านไวรัส และต้องติดตามอาการที่มีความเปลี่ยนแปลงทุกวัน ไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ ต้องแยกตัวไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ เป็นมาตรการควบคุมโรคที่สำคัญ ทุกคนที่ทำประกันเมื่อไม่มีรายได้หรือรายได้ลดลง ต้องได้ค่าชดเชยรายวันทุกคนตามสิทธิ หากในอนาคตการขายประกันของบริษัทจะกำหนดเงื่อนไข ว่า คุ้มครองเฉพาะสีเหลืองและแดงเท่านั้นก็ต้องเป็นเงื่อนไขในอนาคต ไม่ใช่เงื่อนไขในปัจจุบัน         บริษัทประกันย่อมไม่มีสิทธิที่จะไม่จ่ายสินไหมชดเชยรายวันให้กับผู้บริโภค จากเหตุที่อ้างว่าเพราะอาการของโรคน้อย ที่สำคัญจะทำอย่างไรให้ระบบการทำงานของคปภ.รับฟังความเห็นจากตัวแทนของผู้บริโภค ไม่ใช่เฉพาะจากบริษัทประกัน และการประกันภัยในประเทศไทย ต้องยึดหลักการจ่ายเป็นหลักปฏิเสธเป็นรอง ถึงเวลาที่คปภ.ต้องจัดการเรื่องนี้เพราะไม่อย่างงั้นบริษัทประกันก็คิดถึงแต่ตัวเลขกำไรงามๆของตนเองฝ่ายเดียว

อ่านเพิ่มเติม >