ฉบับที่274 ปี 2567 สู่ประเทศไทยที่ธุรกิจโทรคมนาคมผูกขาดแล้วโดยสมบูรณ์

        วันที่ 1  มีนาคม 2567  จะครบรอบระยะเวลา 1 ปี  หลังบริษัททรู และดีแทค ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัทใหม่ร่วมกันเสร็จสมบูรณ์ อย่างเป็นทางการในชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)”        ปัจจุบันกว่า 10 เดือนภายหลังการควบรวม สถานการณ์ไม่ผิดแผกและยังใกล้เคียงกับหลายคำเตือนที่หลากหลายฝ่ายได้ส่งเสียงเตือน ก่อน กสทช.ส่งสัญญาณ ไฟเขียวให้เกิดกการควบรวม ครั้งสำคัญในครั้งนี้        คือตลาดและอุตสาหกรรมโทรคมคมในประเทศไทย จาก 3 ราย จะเหลือเพียง 2 รายที่มีส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้เคียงกัน ส่งผลต่อการแข่งขันอย่างเสรี ไม่อาจมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเปิดให้บริการได้อีกแล้วโดยง่าย และผลกระทบต่างๆ สุดท้ายย่อมตกถึงประชาชน         แรกเริ่มผลกระทบที่ประชาชนได้รับ ไม่ได้เด่นชัดมาจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แต่มาจากศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ที่ได้ติดตามศึกษาวิจัยในชื่อว่า "กสทช. กับการ (ไม่?) บังคับใช้ตามมาตรการควบรวม TRUE-DTAC" เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา         งานศึกษาชิ้นนี้ได้สัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดตามมาตรการการควบรวมที่ กสทช. กำหนดให้บริษัทต้องดำเนินการและเรื่องสำคัญคือ การลดอัตราค่าบริการเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักของทั้งสองค่ายที่จะต้องลดลงร้อยละ 12  ใน 90 วัน แต่ข้อค้นพบจากงานวิจัยครั้งนี้กลับไม่เป็นไปอย่างนั้น         รายงานวิจัยซึ่งสำรวจประสบการณ์ผู้บริโภคจำนวน 99 หมายเลข จาก "ทุกค่ายมือถือ" ใน 50 จังหวัดทุกภูมิภาค (ระบบเติมเงิน 48 หมายเลข และระบบรายเดือน 51 หมายเลข) พบว่า หลังจากการควบรวมของทรู-ดีแทค ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไทยทั่วประเทศจ่ายค่าบริการโทรศัพท์มือถือโดยเฉลี่ยลดลงราว 0.5-3.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการรวมธุรกิจ แต่นาทีการโทรและปริมาณอินเทอร์เน็ตมือถือที่ผู้บริโภคได้รับก็ลดลงด้วยเช่นกัน         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใช้เครือข่ายของทรูและดีแทค กลับพบว่ากลุ่มนี้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยรวมราว 2.9% โดยกลุ่มที่ใช้แพ็กเกจแบบรายเดือนจ่ายค่าบริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 12.9% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยที่นาทีการโทรได้เพิ่มเพียง 1.4% เท่านั้น ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลง 3.3%         ราคาค่าบริการจริง ๆ ยังลดลงไม่ถึงตามเกณฑ์ 12% ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะลดลงไปเพียง 2-3% เท่านั้น...หรือหากมองว่านาทีการโทรได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนปริมาณอินเทอร์เน็ตที่ได้รับกลับลดลงด้วย...ค่าบริการย่อมไม่เคยลดลงเลย         อีกฟากหนึ่ง ผลเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้บริการไม่ได้อยู่เพียงในรายงานวิจัยชิ้นนี้เท่านั้น เมื่อประชาชนส่งเรื่องร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมากขึ้นๆ อย่างต่อเนื่อง ถึงปัญหาจากการใช้บริการสัญญาณมือถือ ทั้งความเร็วอินเตอร์เน็ตที่มีปัญหา ต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น และอีกหลากหลายปัญหา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญและอาจเป็นสัญญาณถึงปัญหาอื่นอีกมากมายที่ยังไม่ได้รวบรวมให้สังคมได้รับรู้ จึงเป็นที่มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับสภาผู้บริโภค จัดทำแบบสำรวจ เรื่อง ผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนของผู้บริโภคที่ใช้บริการทุกเครือข่าย ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566         การสำรวจครั้งนี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งสิ้น 2,924 ราย ผลการสำรวจพบ 5 ปัญหาใหญ่คือ สัญญาณอินเทอร์เน็ตช้า , สัญญาณหลุดบ่อย ,โปรโมชันเดิมหมดต้องใช้โปรโมชันที่แพงขึ้น, ค่าแพ็กเกจ ราคาเท่ากันหมดทำให้ไม่มีทางเลือก, และ call center โทรติดยาก โดยร้อยละ 81 ที่ได้รับผลกระทบเป็นผู้ใช้บริการค่ายมือถือที่ควรวมธุรกิจโทรคมนาคม         นอกจากผลสำรวจความคิดเห็น ผู้ใช้บริการทุกเครือข่ายหลังควบรวมธุรกิจโทรคมนาคม  ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน 2566 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาดำเนินโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ได้แก่ AIS, DTAC, NT และ TRUE โดยเก็บข้อมูลการทดสอบในระหว่างวันที่ 5 - 17 กันยายน 2566         เพื่อเฝ้าระวังมาตรฐานการให้บริการ  Call Center หลังทรูและดีแทคได้ควบรวมกิจการเมื่อวันที่ 1 มี.ค. และประชาชนจำนวนมากยังหวังพึ่ง Call Center ในการสอบถามข้อมูล รับปัญหา และแก้ไขปัญหาให้พวกเขา          การทดสอบครั้งนี้สำรวจในกลุ่มผู้ใช้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,116 ราย โดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือของทั้ง 4 เครือข่าย และเบอร์โทรศัพท์พื้นฐาน (02) โทร.ติดต่อ call center ของทุกค่ายมือถือ         ผลการทดสอบตอกย้ำถึงปัญหา call center โทรติดยาก โดยพบว่า ระยะเวลานานสุดที่จับคือนานถึง 28.10 นาที เมื่อใช้เบอร์เครือข่าย NT โทร.ไปยัง call center ของ TRUE call center ของ TRUE ยังเป็นค่ายมือถือที่ใช้ระยะเวลาเฉลี่ยนานสุดทุกขั้นตอน         นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ และรองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ฝ่ายเผยแพร่ ผู้ริเริ่มโครงการทดสอบการใช้งาน call center ของมือถือค่ายต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หลังบริษัททรูและดีแทคได้ควบรวมธุรกิจตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566เผยด้วยความห่วงกังวลว่า บริการ Call Center เป็นช่องทางสำคัญที่คอยรับเรื่อง แก้ไขปัญหาให้ผู้บริโภค การควบรวมธุรกิจที่ไม่มีการปรับเพิ่มการให้บริการ ยิ่งทำให้ Call Center กระจุกตัวและมีสัดส่วนน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้บริการที่ค่ายมือถือต้องดูแลมากขึ้นหลังการควบรวมจึงต้องไม่ลดมาตรฐานลง ด้วยการมีเจ้าหน้าที่ call center ที่เป็นมนุษย์อย่างเพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่บริการด้วย AI เพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นข้อเสนอที่ประชาชนได้เสนอผ่านการสำรวจด้วยเช่นกัน         ย้อนกลับไปดู กสทช. ได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง                 ก่อนเสียงร้องเรียนถึงปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือของประชาชนจะดังขึ้นเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ย้อนกลับไปดูกันสักนิดว่า คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยตรง ได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง         ตั้งแต่เริ่มแรก แม้ กสทช.มีท่าทีหลีกเลี่ยงบทบาทหน้าที่ของตนเอง ด้วยการยืนยันว่า กสทช. มีอำนาจหน้าที่เพียง ‘รับทราบ’ การควบรวมธุรกิจครั้งนี้เท่านั้น           อย่างไรก็ตามแม้ในวันที่  20 ต.ค. 2565  กสทช. จะใช้อำนาจเพียง ‘รับทราบ’ แต่มติดังกล่าว ยังมาพร้อมกำหนดเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคมที่ กสทช. วางกำหนดไว้เองคือ        1.  การกำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย                •  อัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลงร้อยละ 12                •  ให้มีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ                •  ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็นโดยให้มีหน่วยงานตรวจสอบ                •  ให้ประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้         2.  การกำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)                •  จัดให้มีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญเพื่อทำหน้าที่สอบทาน (Verify) ความถูกต้องของข้อมูลตรวจสอบโครงสร้างต้นทุน โครงสร้างอัตราค่าบริการ และนำมาคำนวณหาต้นทุนเฉลี่ย (AC) และต้นทุนส่วนเพิ่ม (MC) ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันของแต่ละรายบริการ และข้อมูลต่างๆ เมื่อมีการรวมธุรกิจให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยผู้ยื่นคำร้องรวมธุรกิจเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดพร้อมจัดจ้างที่ปรึกษา         3.  การคงทางเลือกของผู้บริโภค                •  กำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี         4.  สัญญาการให้บริการ                •  บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว         5.  การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ                •  บริษัทต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป          ฉัตร คำแสง หนึ่งในคณะวิจัย ศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง หรือ 101 Public Policy Think Tank ชี้ว่า ข้อมูลภายหลังการควบรวมคือ เครือข่ายคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งก็คือเอไอเอส ยังมีการปรับเปลี่ยนราคา ปริมาณการโทรและอินเทอร์เน็ตมือถือให้เท่ากับกลุ่มทรู-ดีแทคด้วย รายงานการดำเนินการของทรู-ดีแทค ชี้ว่า อาจไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะตามที่รายงานต่อ กสทช. และข้อมูลยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของการแข่งขันที่ลดลงในตลาดโทรคมนาคมที่อาจทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงเสนอแนะว่า กสทช. ควรนำข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำรวจประสบการณ์ที่ผู้บริโภคได้พบเจอ มาประกอบการพิจารณาด้วย         "ทั้ง 3 เจ้า แพ็กเกจแทบจะก๊อป (copy) วางกันหมด มันเห็นหลักฐานอยู่ว่า การแข่งขันที่ลดลงทำให้ผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์จากการควบรวมครั้งนี้ตามที่โฆษณา" นักวิจัย 101 PUB ระบุ         ณัฐวดี เต็งพาณิชย์กุล เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)   ผู้รวบรวมผลกระทบจากการรวมธุรกิจ ทรู- ดีแทค และเสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า “ หลังประกาศควบรวมธุรกิจวันที่ 1 มี.ค. 2566 เพียง วันที่ 3 มี.ค. เราก็พบว่ามีการสำรวจราคาแพ็กเกจทั้ง 3 เครือข่าย มีการปรับราคาแพ็คเกจมือถือรายเดือนทั้ง 3 เครือข่าย จนเท่ากันหมด เคสร้องเรียนที่เข้ามาที่มูลนิธิ ยังมีทั้งปัญหาความเร็วอินเตอร์เน็ตลดลง, เน็ตไม่พอต้องซื้อแพคเกจเสริม หลังการควบรวมสัญญาณอ่อน  ใช้ได้บางพื้นที่ ไม่ครอบคลุม ถูกเปลี่ยนโปรโมชั่นโดยไม่ได้แจ้งล้วงหน้าและต้องจ่ายราคาสูงขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนสิทธิพิเศษ ซึ่งทั้งหมดนี้ผู้ร้องเรียนมีหลักฐานเข้ามาประกอบชัดเจน”         ที่ผ่านมากสทช.  ได้จัดแถลงข่าวด่วน วันที่19 ธ.ค.66 กสทช.ในเรื่อง ”เกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังทรู – ดีแทค ถูกร้องเรียนเรื่องคุณภาพ - บริการ “ ยืนยัน ค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ หลังทรูควบรวมดีแทค ยังไม่พบปัญหาตามที่ผู้บริโภคร้องเรียนทุกกรณี ที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการการยุบเสาไปยังพื้นที่ซึ่งครอบคลุมมากกว่า จึงทำให้สัญญาณให้บริการไม่เสถียรในบางช่วงเวลาและไม่ได้สื่อสารให้ผู้ใช้บริการในพื้นที่ทราบ โดย กสทช. ได้สุ่มตรวจความเร็วของอินเทอร์เน็ตในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ยืนยันได้ว่า คุณภาพการให้บริการไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ นี่คือเสียงจากนาย ไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และ รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช.         อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากภาพรวมการทำงานของ กสทช. กลับไม่ได้ราบรื่น เรียบร้อยตามถ้อยแถลงดังกล่าวเมื่อการประชุมของ กรรมการของ กสทช. ไม่อาจขึ้นได้ สะท้อนความขัดแย้งภายในจนไม่อาจขับเคลื่อนวาระสำคัญที่ กสทช.จะต้องดำเนินการมาตลอดปี 2566 โดยประชุมของ กรรมการ กสทช. ล่มต่อเนื่องถึง 7 ครั้ง  ซึ่งแม้จะมีความพยายามจัดการประชุมให้เกิดขึ้นสำเร็จโดยเป็นการประชุม 3 วันต่อเนื่องในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาคือ วันที่ 20 25 และ 26 ธันวาคม 2566 แต่ในการประชุมครั้งแรกของปี 2567 คือวันที่ วันที่ 10 ม.ค.ยังมีวาระเพื่อพิจารณา 52 วาระ ทั้งยังมีวาระที่ค้างพิจารณาอยู่ถึง 72 วาระ  วาระสำคัญจำนวนมากเป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วนที่ควรพิจารณาให้แล้วเสร็จเมื่อ 4- 6 เดือนมาแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ลุล่วงได้         การทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาจึงทั้งล่าช้า ไม่อาจตัดสินใจเรื่องสำคัญจนคั่งค้างจำนวนมาก ไม่เท่าทันต่อความเดือดร้อนของประชาชน การกำกับติดตามการดำเนินการของบริษัทที่ไม่เป็นไปอย่างเชิงรุก รอให้บริษัทรายงานผลการดำเนินการเข้ามาให้พิจารณาเท่านั้น  อะไรที่ยังเป็นความหวังอยู่บ้าง         แม้ประชาชนได้รับปัญหา และมีภาระที่ต้องจ่ายมากขึ้นจากการควบรวมธุรกิจของทรูและดีแทคแล้ว และการทำงานของ กสทช. ยังล่าช้า ไม่อาจให้ความชัดเจนและเชื่อมั่นต่อสังคมได้ อย่างไรก็ตามในรอบปีที่ผ่านมา ยังมีสัญญาณที่ดีในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค เมื่อศาลปกครองสูงสุดก็มีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ให้รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ขอให้ศาลเพิกถอนมติ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมกิจการของทรู-ดีแทค ที่ออกมาเมื่อเดือน ต.ค. 2565 โดยศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าแม้เป็นการยื่นฟ้องพ้นเวลาแต่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการเป็นวงกว้าง ถือเป็นการฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ         “บริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ที่มีจำนวนจำกัด อีกทั้งการลงทุนในการประกอบกิจการต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก ตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีผู้ประกอบการจำนวนน้อยราย จึงทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมจะควบรวมธุรกิจกันหรือไม่ จึงกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม  มีผลทำให้ผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบในวงกว้าง จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์อันเกิดแก่การจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง กรณีจึงเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมตามนัยมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองจึงมีอำนาจรับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ตามมาตรา 52 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว         การที่ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบมความนั่น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย จึงมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ”  ข้อความดังกล่าวนี้คือคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด          “ข้อมูลจากสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ในปี 2565 หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของทั้ง ทรูและดีแทค รวมกันแล้วมีมากกว่า  77,000,000 เลขหมาย การควบรวมธุรกิจครั้งนี้จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ตอนนี้คดีนี้จึงเข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาลปกครองชั้นต้นแล้ว และเราจะรวบรวมผลกระทบต่อประชาชนอย่างต่อเนื่องเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชั้นศาลต่อไป ”         “การดำเนินการหลังจากนี้ เรากำลังทำแนวทางเพื่อการทดสอบความเร็วของอินเตอร์เน็ต (Speed Test) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเราตระหนักดีว่าเราจะต้องทำงานบนฐานข้อมูลที่ชัดเจน รัดกุมมากขึ้น เช่นที่เราได้ทำในการสำรวจที่ผ่านมา ทำให้ความเดือดร้อน ปัญหาต่างๆ ถูกรวบรวมและสื่อสารมาได้อย่างมีพลัง และเราจะดำเนินการอีกหลายอย่าง เราจะไม่ทำให้เรื่องนี้เงียบเพียงเพราะ กสทช. หรือบริษัทออกมาบอกว่าเขาได้ดำเนินการอะไรแล้วบ้าง แต่ความเดือดร้อนยังมีอยู่ ถึงทุกวันนี้เรายุติการสำรวจไปแล้วแต่เรื่องร้องเรียนปัญหาจากการใช้บริการค่ายมือถือก็ยังเข้ามาร้องเรียนกับมูลนิธิฯ อยู่ต่อเนื่อง ” นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงสิ่งที่จะดำเนินการต่อไป         โดยที่ผ่านมา วันที่ 22 ธันวาคม 2566 นฤมล ได้ร่วมกับ นายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายคณะทำงานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือถึง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รวมถึง คณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้ กสทช. เร่งตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบของผู้บริโภคหลังการควบรวม TRUE – DTAC พร้อมแนบหลักฐานผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากเครือข่ายมือถือทุกระบบ จำนวน 2,924 ราย        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมองว่า การดำเนินการที่ดีที่สุดในเวลานี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการมือถือให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค และการแข่งขันในตลาด คือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. ควรกำกับดูแลให้บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเฉพาะ ที่ กสทช. ได้เป็นผู้กำหนดวางแนวทางไว้ด้วยตนเองอย่างเข้มงวด         นอกจากเงื่อนไข/ มาตรการเฉพาะ ที่ กสทช.ได้วางไว้แล้วสิ่งที่ในวันนี้ กสทช.ไม่อาจปฏิเสธได้แล้วอีกต่อไปจะต้องดำเนินการเปิดรับฟังเสียงและข้อเสนอแนะจากประชาชน ที่วันนี้พร้อมเข้ามีส่วนร่วมและทุกปัญหาที่ร้องเรียน มีหลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้         เพราะเพียงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคดำเนินการสำรวจเพียงช่องทางออนไลน์ระหว่างวันที่   9 - 23 พฤศจิกายน 2566 ประชาชนยังสามารถให้ข้อเสนอได้ต่อทั้ง กสทช.และบริษัทผู้ให้บริการอย่างชัดเจน         จึงไม่ยากเลยที่ กสทช. จะดำเนินการรับฟังข้อเสนอเหล่านี้ไปตรวจสอบ หากวันนี้ กสทช.มองเห็นแล้วว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนแล้วจริงๆ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ว่าด้วยเรื่องยุ่งยากของการ “เลิก”

        ผลพวงหนึ่งของโควิด-19 ที่ก่อปัญหาให้กับผู้บริโภค ในเรื่องการใช้บริการมือถือ ก็คือการต้องถูกยกเลิกบริการและต้องสูญเสียเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือสูญเสียเบอร์ไปโดยไม่เต็มใจ ซึ่งผลกระทบของการสูญเสียเบอร์มือถือในยุคนี้ไม่ใช่แค่เรื่องพลาดการติดต่ออีกต่อไป แต่อาจกระทบทั้งเรื่องการรับ-จ่ายเงิน การยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการหรือซื้อ-ขายสินค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงสิทธิประโยชน์บางอย่าง ฯลฯ         ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการแบบจ่ายรายเดือนหรือแบบเติมเงิน ต่างประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน อันเนื่องมาจากเกิดความไม่สะดวกหรือลืมที่จะเติมเงินเข้าระบบ/ไปชำระค่าบริการในแต่ละรอบเดือน และเมื่อ “วันหมด” หรือ “ค้างชำระเกิน 2 เดือน” ปัญหา “การถูกเลิก” ก็จะตามมา         เนื่องจากตามกติกาที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กำหนด มีการอนุญาตให้ผู้ให้บริการเป็นฝ่ายยกเลิกการให้บริการโทรคมนาคมตามสัญญาได้ ในกรณีที่ “ผู้ใช้บริการผิดนัดชำระค่าธรรมเนียมและค่าบริการเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาสองคราวติดต่อกัน...” ดังนั้น สำหรับผู้ใช้บริการมือถือแบบจ่ายรายเดือน เมื่อมีการค้างชำระค่าบริการเกิน 2 รอบบิล ผู้ใช้บริการบางรายจึงอาจถูกตัดสัญญาณ ทำให้เกิดการสูญเสียเบอร์ตามมา         ส่วนกติกาทางด้านของการใช้บริการแบบเติมเงิน เนื่องจาก กสทช. อนุญาตให้ผู้ให้บริการกำหนดอายุหรือระยะเวลาของเงินที่เติมเข้าระบบในแต่ละครั้งไว้เพียงว่าจะต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน ดังนั้นทุกๆ จำนวนเงินที่เติมและสะสมในแต่ละเบอร์จึงมีวันหมดอายุ ซึ่งหากอายุหมด แม้จำนวนเงินที่สะสมไว้ยังคงเหลือ ผู้ให้บริการก็มีสิทธิที่จะระงับบริการหรือยกเลิกบริการได้ จากนั้นเลขหมายหรือเบอร์ของผู้บริโภคก็อาจหลุดมือไป         แท้จริงแล้ว ตามกติกาที่ กสทช. กำหนด ซึ่งอยู่ในรูปของประกาศเรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ได้กำหนดเรื่องการยกเลิกสัญญาให้บริการโทรคมนาคมไว้ในลักษณะให้สิทธิผู้ใช้บริการ โดยระบุไว้ในข้อ 32 ว่า         “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ” ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ” ขณะเดียวกันก็ได้กำหนดเหตุที่ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิยกเลิกสัญญาได้ทันทีไว้ 4 ประการ เช่น ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา        ตามข้อกฎหมายดังกล่าว แม้ว่าข้อความขึ้นต้นจะระบุชัดเจนว่า “ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้...” แต่ภายในสำนักงาน กสทช. ก็ยังมีปัญหาการตีความในส่วนของข้อความที่ตามมา ในเรื่องการบอกกล่าวเป็นหนังสือ โดยเห็นว่า สิทธิดังกล่าวจะมีผลชอบด้วยกฎหมายก็ต่อเมื่อมีการขอยกเลิกสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น หากเป็นเพียงการแจ้งด้วยวาจาก็เท่ากับไม่เกิดผลในทางกฎหมาย         เมื่อตีความเช่นนี้ ข้อ 32 ของประกาศมาตรฐานของสัญญาฯ จึงเปลี่ยนบทบาทจากการรับรองหรือให้สิทธิแก่ผู้ใช้บริการ มาเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ให้บริการมากกว่า เนื่องจากในทางปฏิบัติจริง ผู้บริโภคทั่วไปย่อมไม่ลุกขึ้นมาร่างหนังสือเพื่อแจ้งขอยกเลิกสัญญา/บริการโทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบริการมือถือ ประกอบกับทางฝ่ายผู้ให้บริการเองก็มิได้มีแบบฟอร์มหรือแบบหนังสือขอเลิกบริการไว้ให้กรอกง่ายๆ ดังนั้น แม้แต่ในกรณีที่ผู้ใช้บริการไปหาถึงร้านหรือศูนย์บริการของผู้ให้บริการ ในความเป็นจริง ก็ยังแจ้งยกเลิกบริการเพียงด้วยวาจาเท่านั้น         เรื่องจึงกลายเป็นว่า หากสามารถเจรจาหรือสนทนากันเป็นที่เข้าใจและเห็นพ้องก็แล้วไป แต่ถ้าฝ่ายผู้ให้บริการไม่ยินดีหรือไม่ยินยอม ปัญหาการตามเรียกเก็บบริการก็จะเกิดขึ้น และเมื่อตีความตามแนวทางของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. หากผู้บริโภคมิได้ทำหนังสือขอเลิกสัญญาก็เท่ากับสัญญายังมีผล และผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าบริการที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บต่อไป         อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาข้อกฎหมายดังกล่าวในอีกแนวทางหนึ่ง ว่า เรื่องการ “บอกกล่าวเป็นหนังสือ” เป็นเพียงวิธีการ มิใช่สาระสำคัญที่ถึงกับจะทำให้สิทธิต้องเสียไปหากวิธีการไม่ถูกหรือไม่สมบูรณ์ ในยามที่เกิดข้อโต้แย้งเรื่องการเรียกเก็บค่าบริการหลังจากผู้บริโภคขอยกเลิกสัญญาแล้ว ก็สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในแง่ของการใช้บริการ ว่าในช่วงเวลาเหล่านั้นได้มีการใช้งานหรือไม่ ซึ่งหากมีการใช้งานก็ย่อมต้องชำระค่าบริการ แต่หากไม่ได้ใช้งาน เจตนาการยกเลิกก็ย่อมชัดเจน และไม่ควรที่จะยอมให้มีการเรียกเก็บเงินเพียงเพราะขาดหนังสือขอเลิกสัญญา         เขียนมาถึงตรงนี้ ประเด็นสำหรับผู้บริโภคก็คือ ถ้าจะเลิกสัญญาโทรคมนาคมแบบไม่มีช่องโหว่ก็ควรต้องทำเป็นหนังสือ อาจเขียนเองง่ายๆ ก็ได้ ขอเพียงมีเนื้อหาชัดในเรื่องการแจ้งความจำนง ลงวันที่ และลงชื่อ ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเถียงกับผู้ให้บริการในภายหลัง รวมถึงสำนักงาน กสทช. ด้วย เพราะแนวคิดไปในทิศทางเดียวกันอย่างยิ่ง         ส่วนสำนักงาน กสทช. หากปักใจที่จะขีดเส้นในทางกฎหมายเช่นนี้ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ด้านหนึ่งก็ควรที่จะกำชับให้ผู้ให้บริการมีแบบฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกันก็ควรที่จะประชาสัมพันธ์หรือรณรงค์ให้ความรู้และบอกสิ่งที่ควร/ไม่ควรทำแก่ผู้บริโภคด้วย เพื่อประโยชน์ในด้านการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค         กลับมาว่าด้วยการยกเลิกบริการ/สัญญาจากฝั่งผู้ให้บริการอีกครั้ง ทางด้านนี้ หากผู้บริโภคไม่อยากประสบปัญหา ก็ต้องระมัดระวังกับเรื่องการชำระค่าบริการ และในการเติมเงินต้องให้ความสำคัญกับจำนวนวันที่เหลือ ซึ่งอายุของเงินจะได้มาตามจำนวนครั้งการเติมเงิน แม้เติมจำนวนน้อยก็จะต้องได้ 30 วันเป็นขั้นต่ำ ดังนั้นความถี่จึงอาจสำคัญกว่ายอดเงินที่เติม         เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลค่อนข้างคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกับผู้ประกอบการ ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องดูแลคุ้มครองตนเอง...เช่นนี้แล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 251 จับตาให้ดี ยุบไม่ยุบ สถานีรถไฟหัวลำโพง

        จำข่าวใหญ่ส่งท้ายปี “ปิดตำนานหัวลำโพง” กันได้ไหม ที่กระทรวงคมนาคมตั้งเป้าจะย้ายรถไฟทุกขบวนที่เข้าออกสถานีหัวลำโพงไปเริ่มต้นใหม่ที่สถานีกลางบางซื่อ ต่อด้วยข่าวลือยุบสถานีหัวลำโพงทำเมกะโปรเจค ผุดห้างสรรพสินค้า อาคารพาณิชย์ ตลอดจนตึกสูงเสียดฟ้าท่ามกลางชุมชนโดยรอบพื้นที่เดิม  พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ต้องให้รถไฟทุกขบวนไปใช้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนสถานีหัวลำโพงเดิมจะถูกแทนที่ด้วยการพัฒนาพื้นที่ใจกลางเมืองให้มีความทันสมัยเป็นประโยชน์ต่อคนทุกคน โดยที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ความงดงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมให้คงอยู่         แต่แผนนี้กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ทันทีที่กระแสข่าวโยกย้ายขบวนรถไฟไปสถานีกลางบางซื่อ พร้อมภาพสถานีหัวลำโพงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตออกมาสู่สายตาการรับรู้ของสังคมแล้ว นอกจากกลุ่มทุนที่เชียร์ให้สร้างแล้ว ก็แทบไม่มีใครออกมาสนับสนุนอีกเลย ขณะที่เสียงคัดค้านจากทุกสารทิศต่างพุ่งตรงไปที่กระทรวงคมนาคมโดยไม่ได้นัดหมาย พร้อมตั้งคำถามดังๆ ว่า ปิดหัวลำโพงนี้เพื่อการพัฒนาหรือผลักภาระให้ประชาชนกันแน่ โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของผู้คนรากหญ้าจำนวนไม่น้อยในทุกกลุ่มวัยที่ยังจำเป็นต้องใช้รถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมผ่านหัวลำโพงเข้าออกเมือง ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน ข้าราชการชั้นผู้น้อย พนักงานบริษัทเอกชน ตลอดจนพ่อค้าแม่ขายที่ต้องอาศัยรถไฟเพื่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน         ที่ผ่านมาหากกลุ่มผู้ใช้บริการหลักต้องเดินทางจากรังสิตถึงหัวลำโพงด้วยรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคมจะเสียค่าโดยสารเพียง 6 บาทเท่านั้น ถ้ากระทรวงคมนาคมยืนยันให้จอดส่งผู้โดยสารแค่ที่สถานีกลางบางซื่อ ผู้โดยสารที่จำเป็นต้องเดินทางเข้าหัวลำโพง ต้องต่อรถโดยสารประจำทางและจะต้องเสียค่าโดยสารและเวลาเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว หรือหากจะเลือกเดินทางเข้าเมืองที่หัวลำโพงด้วยรถไฟฟ้า MRT แม้ว่าจะสะดวกสบายขึ้น ค่าโดยสารจะเพิ่มขึ้นจาก 6 บาท เป็น 46 บาท หรือมากกว่าเดิมถึง 700% เลยทีเดียว         ไม่เพียงผู้ใช้บริการรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เราไม่อาจมองข้ามชีวิตของประชาชนคนรายได้น้อยที่ต้องทำมาหากินรอบบริเวณสถานีหัวลำโพง ชีวิตพวกเขาเหล่านี้ต่างถูกนำเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง เพราะพวกเขาคือ คนที่เดือดร้อนที่สุด ถ้าสถานีหัวลำโพงถูกปิด         หนุนเสริมด้วยพลังของภาคประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และขาดไม่ได้เลย คือ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยที่ประกาศคัดค้านการหยุดให้บริการรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพราะจะทำให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน รวมถึงแผนการพัฒนาที่ดินสถานีรถไฟหัวลำโพงอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายอีกด้วย         อาจเป็นไปได้ว่ากระทรวงคมนาคมคงคาดไม่ถึงว่าแผนที่ตระเตรียมมาอย่างดีนี้ จะถูกกระแสคัดค้านที่สะท้อนออกมารุนแรงและขยายวงกว้างจนเกินกว่าที่จะต้านทานไหว เพราะอย่าลืมว่าหัวลำโพงไม่ใช่หมอชิตที่ใครคิดจะทำอะไรก็ทำได้ แต่หัวลำโพงเป็นมากกว่าแค่สถานีรถไฟเก่า หัวลำโพงคือพื้นที่แห่งประวัติศาสตร์และความทรงจำ หัวลำโพงยังเป็นพื้นที่แห่งชีวิตของคนหลายกลุ่มหลายเชื้อชาติ และหัวลำโพงคือรากเหง้าการคมนาคมที่ผูกพันผู้คนและชุมชนจากทั่วทุกสารทิศมานานกว่า 100 ปี         ดังนั้นเราจึงได้ข่าวจากกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางรางเจ้าภาพหลักว่า จะยอมถอยเปลี่ยนเกมส์เป็นคนกลางเปิดวงสาธารณะรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันว่าจะไม่มีการทุบและปิดสถานีหัวลำโพงแล้ว         อย่างไรก็ตามหลายคนที่ติดตามก็ยังไม่เชื่อเพราะข่าวการยุบสถานีรถไฟหัวลำโพงนั้น ภายนอกอาจจะถูกสื่อสารต่อสังคมให้เป็นเรื่องของการพัฒนาระบบคมนาคมทางรางเพื่อประโยชน์ของคนทั้งมวล รวมถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟหัวลำโพงให้มีความทันสมัยเป็นชุมทางเศรษฐกิจใหม่ สร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบหัวลำโพงและแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง แต่เบื้องหลังก็เต็มไปด้วยภาพมายาผสมกับความเคลือบแคลงสงสัยถึงผลประโยชน์อันมหาศาลของกลุ่มทุน ที่จะมาทำให้สมดุลของพื้นที่กับชุมชนเปลี่ยนไป กลายเป็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำเหมือนเช่นหลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนไปเมื่อความเจริญทางวัตถุเชิงพาณิชย์เข้ามาแทนที่         อีกทั้งกระทรวงคมนาคมยังแสดงออกถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปแผน ด้วยการยื้อเวลาหาทางออกแบบเนียน ๆ ว่าจะนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นไปปรับปรุงพัฒนา แต่เชื่อเถอะหากจะพัฒนาก็เป็นการพัฒนาแบบมีธงปักไว้แล้ว เพราะเมื่อปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อถูกสร้างเสร็จพร้อมใช้งาน และที่สำคัญสถานีกลางบางซื่อได้ถูกวางตัวให้กลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางที่ใหญ่สุดในอาเซียนแล้ว เมื่อเป็นแบบนี้สถานีหัวลำโพงจึงแทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นศูนย์กลางชุมทางรถไฟแบบเดิมอีกต่อไป           ขณะนี้เมื่อกระทรวงคมนาคมยังยุบสถานีหัวลำโพงตามแผนไม่ได้ ขั้นตอนต่อจากนี้ก็ต้องลดบทบาทความสำคัญให้น้อยลง ด้วยการโยกย้ายขบวนรถไฟให้ออกเริ่มต้นทางที่สถานีกลางบางซื่อแทน ซึ่งอาจจะเริ่มขยับจากกลุ่มรถไฟทางไกลประเภทเชิงพาณิชย์ก่อน ส่วนกลุ่มรถไฟชานเมืองประเภทบริการสังคม เชื่อว่ายังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานในสังกัดที่ต้องคิดทบทวนให้ดี เพราะขึ้นชื่อว่าประเภทบริการสังคมที่ส่วนใหญ่คนใช้บริการคือคนรายได้น้อย ถ้ากระทรวงคมนาคมตัดสินใจผิดพลาด นอกจากจะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นแล้ว แผนการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็อาจจะล้มไม่เป็นท่า เพราะคิดผิดก้าวพลาดไปนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 นโยบายคมนาคมขนส่งที่ เป็นธรรมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยองค์กรภาคประชาชน ในเยอรมนี

             วันนี้ผมขอนำเสนอรูปแบบ การร่วมเสนอนโยบาย โดยองค์กรภาคประชาชน ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง ในด้านคมนาคม การจราจร และการเดินทางของประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมา ปัญหาด้านการจราจรและการขนส่ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตเมือง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องปัญหาคุณภาพอากาศ และปัญหาในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพถูมิอากาศ เนื่องจากการกำหนดนโยบายการคมนาคมและการเดินทาง อยู่ในอิทธิพลของพรรคการเมือง และก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาวะของประชาชน        ซึ่งการก่อตั้งองค์กรภาคประชาชน ในรูปแบบสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1986 มีหลักการสำคัญ คือ เพื่อเปลี่ยนผู้บริโภคจากผู้ดู ให้เป็นผู้เล่นทางการเมือง การมีองค์กรที่เป็นกลางทางการเมืองในรูปแบบสมาคม จึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญ เพื่อทำให้เกิดการสร้างแรงกดดันทางการเมืองขอฃประชาชน โดยเฉพาะกับพรรคการเมือง ที่มักจะมีอำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจบริหาร โดยได้รับอิทธิพลจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ด้วยการ Lobby         สำหรับการทำงานขององค์กรลักษณะนี้ มีนโยบายสนับสนุน ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพิ่มการสัญจรทางเท้า เพิ่มการใช้รถยนต์โดยสารสาธารณะ และลด ละเลิกการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มเส้นทางการคมนาคมสัญจร และราคาที่เป็นธรรมประชาชนสามารถจ่ายได้ เพื่อที่จะลดปริมาณการก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานในอนาคตในที่สุด        สำหรับรูปแบบการทำงานของภาคประชาสังคมที่มีความยึดโยงและใกล้ชิด กับประชาชน ในประเทศเยอรมนี คือ สมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.)         ตัวอย่างประเด็นการขับเคลื่อน นโยบายด้านการจราจรและคมนาคม        ·        นโยบาย ด้าน การใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสมาคมไม่ได้ต่อต้านการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แต่สนับสนุนและให้ความรู้กับประชาชนในการรู้จักเลือกใช้รถยนต์ส่วนบุคคลอย่างฉลาด ตลอดจนตรวจสอบความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ เสนอทางเลือกการเดินทางนอกเหนือจากรถยนต์ส่วนบุคคล การลดระดับมลพิษทางด้านเสียงและอากาศ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เพื่อประโยชน์สุขของทุกคน        ·         นโยบายการเดินทางด้วยระบบราง เนื่องจากวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน การเดินทางไม่ว่าจะเดินทางไปทำงาน เดินทางท่องเที่ยว เดินทางเพื่อทำการค้า ทำธุรกิจ หรือการเดินทางเพื่อไปพบปะญาติมิตร ในแต่ละวันจะมีผู้คนเป็นจำนวนหลักหลายล้านที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ดังนั้น การใช้ระบบรางในการเดินทาง จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจาเป็นระบบขนส่งคนจำนวนมากที่ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ ประเด็นสำคัญที่จะต้องคำนึง คือ เรื่อง ราคาที่ทุกคนสามารถจ่ายได้    ·        นโยบายการใช้รถไฟฟ้า (Electromobility) ปัจจุบันมีคำถามว่า เป็นกระแส หรือเป็นทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับ นโยบายเรื่องรถไฟฟ้า จะต่างจาก รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Personal Car) ที่เรากำลังขับเคลื่อนกันอยู่ สำหรับประชาชนชาวเยอรมันปัจจุบัน มากกว่า 2 ใน 3 ที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะที่เป็นแบบ Electromobility และใช้จักรยานไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 4 ล้านคนต่อวัน        ·        นโยบายการใช้รถบัสในการเดินทางระยะไกล เนื่องจากในปี 2013 ได้เริ่มอนุญาตให้มีการเดินรถบัสสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางไกล นอกเหนือจากการใช้รถไฟ ในอดีตตั้งแต่ปี 1930 มีการห้ามการเดินรถบัส ในเส้นทางที่มีรถไฟให้บริการอยู่แล้ว ยกเว้นเส้นทางไปสู่สนามบิน หรือ เส้นทางในเมืองที่แสดงสินค้า (Expo City) ในกรณีนี้ ทางสมาคมมีจุดยืนในการเลิกระบบผูกขาด ด้วยระบบการเดินทางระบบรางเพียงอย่างเดียว แต่สนับสนุนให้มีทางเลือก ในการเดินทาง เพื่อสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม        ·        การเดินทางทางอากาศ กระแสการเดินทางทางอากาศที่เป็นที่นิยม ด้วยราคาที่ดึงดูดและล่อใจผู้โดยสาร ทำให้ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากการเดินทางทางอากาศ ตั้งแต่ปี 1990 และถ้าพิจารณากระแสความนิยมการเดินทางทางอากาศทั่วโลก ก็จะส่งผลให้ เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแทบเป็นไปไม่ได้เลย สมาคมมีจุดยืนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางทางอากาศ มาตรการในการจัดการเรื่องนี้ คือ การใช้ระบบ CO2 – Emission trade ซึ่งในปี 2020 จะเริ่มมีการใช้ เครื่องมือนี้ ทั่วโลกในการจัดการกับปัญหาก๊าซเรือนกระจกจาการเดินทางทางอากาศ         ·        การเดินทางทางเท้า ซึ่งถือว่าเป็นการเดินทางรูปแบบหนึ่ง ในประเทศเยอรมนีเอง ก็ยังมีนโยบายในการสนับสนุนการเดินทางด้วยการเดิน น้อย และมักให้สิทธิพิเศษกับ รูปแบบการเดินทางด้วยรถ หรือ รถยนต์ในการใช้ถนนสาธารณะ ภายใต้แนวคิด การไหลของการจราจรของรถยนต์ แทนที่จะมีแนวคิดให้ เกิดการไหลของการจราจรแก่คนเดินเท้า ซึ่งสมาคมสนับสนุนให้เกิดการไหลของการจราจรของคนเดินเท้า ซึ่งจากแนวคิดนี้ จะไปสนับสนุนให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี กับผู้คนในเมือง เพราะจราจรคือ ชีวิตของผู้คน ไม่ใช่ชีวิตของรถยนต์        ·        การขนส่งสินค้า จำนวนสินค้าที่ขนส่งในประเทศเยอรมนีแต่ละปี  คือ 4,500 ล้านตัน หรือเท่ากับ 50 ตัน ต่อประชากรเยอรมนี 1 คน และในรอบ 25 ปี อัตราการขนส่งสินค้า เพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนใหญ่ ใช้การขนส่งผ่านรถบรรทุก ซึ่ง มีการปล่อยก๊าซจากการเผาไหม้ เครื่องยนต์ดีเซล ทางสมาคม จึงเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปนโยบายการขนส่ง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเรียกเก็บภาษี และค่าธรรมเนียมจากการปล่อยมลพิษ ที่สะท้อนต้นทุนจริงในการขนส่ง และสนับสนุนให้ใช้การขนส่งระบบราง และการขนส่งทางเรือ ในการขนส่งสินค้าที่ต้นทุนต่ำกว่า        ·        นโยบายสนับสนุนการเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดกรปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคมนาคมขนส่ง เนื่องจาก 90 % ของพลังงานที่ใช้ในระบบคมนาคมขนส่ง มาจาก พลังงาน ฟอสซิล ในประเทศเยอรมนี 1 ใน 5 ของก๊าซเรือนกระจกมาจากการคมนาคมขนส่ง และ 96% มาจากการปล่อยก๊าซจากท่อไอเสียของรถยนต์และรถบรรทุก ซึ่งเยอรมนีมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 เพื่อชะลอการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ        ·        นโยบายอากาศสะอาด สำหรับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอากาศสะอาดคือ ชีวิต มนุษย์และสิ่งแวดล้อมจะดำรงอยู่ได้ภายใต้อากาศที่สะอาด ควันพิษจากรถยนต์ และเขม่าควันดำ เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ เป็นต้นทุนของสังคมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง        ·        การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเมือง เป็นทางเลือกที่สำคัญ กว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้นนโยบายนี้จึงต้องเพิ่มการเข้าถึงให้ทุกคนสามารถใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้ และผู้โดยสารใช้ระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างสะดวกปลอดภัย ในราคาที่เป็นธรรม        ·        การเดินทางของผู้สูงวัย และการเดินทางของคนทุกวัย เนื่องจากการเดินทางเป็นส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่สำคัญ และเป็นเงื่อนไขที่สำคัญในการมีส่วนได้ส่วนเสียของสังคม และของปัจเจก ดังนั้นคนสูงวัยก็มีความจำเป็นที่จะสามารถเดินทางได้ ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ การใช้ถนน เส้นทาง โดยมีประเด็นในการขับเคลื่อนคือ ความปลอดภัย ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพึ่งพาตนเองได้        ·        การอบรมให้ความรู้ในเรื่องการคมนาคมและจราจรแก่ เด็กและคนสูงวัย ที่เป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจาก เด็กคืออนาคตของชาติ สมาคมให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ การฝึกอบรมกับเด็กและวัยรุ่น และ ผู้สูงวัย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ต้องอาศัย แนวความคิดใหม่    ·        การเดินทางแบบหลากหลาย และการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างการเดินทาง (Multimodality and Intelligent Networking on the Ways)แนวความคิดการเดินทางแบบนี้ คือ ไม่ได้มีรถยนต์ส่วนตัว แต่ มีรถยนต์แบบ car sharing ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและรถโดยสารสาธารณะ ที่เชื่อมต่อโดยผ่านทางเครือข่ายข้อมูลการเดินทาง สำหรับการเป็นเจ้าของรถยนต์ส่วนตัวในเมืองใหญ่ มีภาระที่ต้องแบกรับมากไม่ว่าจะเป็น ที่จอดรถ เงินประกัน และภาษี        ·        การเดินทางด้วยรถจักรยาน เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประโยชน์ ทั้งในแง่สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม การเดินทางด้วยจักรยานในเมือง ใช้เวลาน้อยกว่าในการถึงจุดหมาย ดังนั้นสิ่งที่สมาคมเรียกร้อง ในการขับเคลื่อนนโยบายการใช้จักรยานในเมืองคือ มีที่จอดรถจักรยานสาธารณะที่เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงทุนสร้างทางจักรยานที่ได้คุณภาพและปริมาณ ของเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน และมีกฎหมายที่อนุญาตให้นำรถจักรยานขึ้นไปบนรถโดยสารสาธารณะได้        ·        นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน ในปี 2017 มีคนเสียชีวิตบนท้องถนนจากอุบัติเหตุ ถึง 3,177 คน อีก 390,000 คน ได้รับบาดเจ็บ การขับเคลื่อนให้เกิดการจำกัดความเร็วบนท้องถนน เป็น เรื่องหนึ่งในอีกหลายเรื่องที่มีความสำคัญ แต่อย่างไร ก็ตามในระดับนโยบายมีการขยับน้อยมากในเรื่อง นโยบายความปลอดภัยบนท้องถนน         ·        นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่สมาคมให้ความสำคัญและทำงานขับเคลื่อนอยู่ไม่ว่า จะเป็น เรื่อง การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน การเดินทางและที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การออกแบบนโยบายการคมนาคมขนส่งสาธารณะ        ผลงานที่สำคัญ คือ การได้รับการชื่นชมจากคณะกรรมการ UNESCO แห่งเยอรมนี ถึง 2 ครั้ง ในประเด็นการให้ความรู้แก่สาธารณะในเรื่อง การพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2011/2012 และ ปี 2013/2014        แนวทางการทำงานขององค์กรภาคประชาสังคม ในประเด็นการคมนาคมขนส่ง ในประเทศเรา สามารถเรียนรู้จากองค์กรนี้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบททางสังคมของประเทศเรา        แหล่งข้อมูล เวบไซต์ของสมาคมเพื่อการคมนาคมแห่งเยอรมนี (Verkehrsclub Deutschland e.V.) https://www.vcd.org/startseite/

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 รถตู้ใหม่ยังต้องวัดใจคมนาคม

        ผลงานของรัฐมนตรีสายล่อฟ้าภายใต้รัฐบาลลุงชุดนี้ คงไม่มีใครโดดเด่นเท่าภูมิใจไทยของเสี่ยหนูอนุทิน ที่สร้างกระแสติดตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ไล่มาตั้งแต่เสนอเปิดผับได้ถึงตี 4 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว จนถูกกระแสตีกลับถอยไม่เป็นท่า ตามด้วยศึกแบนพาราควอตของคนทั้งชาติ ที่กว่าจะลงตัวได้เจ้ากระทรวงก็ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมาย และสุดท้ายที่แรงดีไม่มีตกกับอภิมหาโปรเจ็คของเจ้ากระทรวงคมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ         เรียกได้ว่าหลายนโยบายของคมนาคม หมายมั่นว่าทุกฝ่ายจะเดินไปด้วยและจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะฉะนั้นไม่ว่ากลุ่มไหนสายใดจะยื่นข้อเสนอมา ท่าทีของคมนาคมจะรับไว้หมด หากอันไหนเป็นข้อขัดแย้งก็จะส่งเรื่องให้ ขบ.หรือกรมการขนส่งทางบกไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่างน้อยก็ยื้อเวลาให้กับทุกฝ่ายได้สักระยะ ก่อนจะมีข้อสรุปว่าจะเอายังไงกันต่อ         อันที่จริงจะแตะไปตรงไหนของคมนาคมก็มีแต่ผู้ประกอบการขนส่งเดือดร้อน รถเมล์ขอขึ้นราคาบอกขาดทุนเงินไม่มีหมุนเวียน แท็กซี่ไม่น้อยหน้าขอขึ้นราคาด้วยบอกหลายสิบปีแล้วราคาเดิมตลอด รถตู้ครบสิบปีแต่ขอไม่บังคับเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส แถมขอขยายอายุรถกับยกเลิก GPS ด้วย ส่วนพี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจับมือแท็กซี่ต้านรถแกร๊บอ้างเดือดร้อนถูกแย่งทำมาหากิน ยังไม่รวมราคารถไฟฟ้าที่พุ่งปรี๊ดจนคนรายได้น้อยเรทค่าแรงขั้นต่ำคงใช้ไม่ได้ ดูแล้วมีแต่ผู้ประกอบการเรียกร้องทั้งนั้น และหลายเรื่องก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภคที่ใช้บริการ แต่เสียงสะท้อนของคนใช้บริการจริงๆ ดูจะไปไม่ถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ         ยกตัวอย่าง เรื่องที่กลุ่มรถตู้โดยสารออกมาเรียกร้องขอไม่เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสจะขอวิ่งต่อทั้งที่ครบสิบปีตามเงื่อนไขเดิม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงและผลักดันกันมาตลอดว่ารถตู้ไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับขนส่งคนโดยสาร หลายเหตุการณ์ความสูญเสียส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารมาตลอด และเป็นกลุ่มรถโดยสารที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดอีกด้วย         จนกระทั่งเหตุการณ์  2 มกราคม 2560 ที่มีผู้เสียชีวิตในครั้งเดียวมากถึง 25 คน กรณีรถตู้โดยสารพุ่งข้ามเลนชนรถกระบะที่อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี จากครั้งนั้นนำมาสู่การกำหนดมาตรการความปลอดภัยกับรถโดยสารสาธารณะ และรวมถึงรถตู้โดยสารที่ถูกจัดระเบียบความปลอดภัยด้วย        นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 5/2560 ได้มีมติห้ามเพิ่มจำนวนรถตู้โดยสารในเส้นทางรถโดยสารประจำทางทุกหมวดตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2560 และกำหนดมาตรการอายุรถสิบปีในการเปลี่ยนรถแทนรถตู้โดยสาร         และเป็นนโยบายต่อเนื่องจนถึงการประชุมคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกกลาง ครั้งที่ 7/2560  เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ยืนยันมติห้ามเพิ่มจำนวนรถตู้โดยสารประจำทางทุกหมวดตั้งแต่ 21 มิถุนายน 2560 และในเส้นทางหมวด 1 หมวด 4 ในเขตกรุงเทพมหานครและส่วนภูมิภาคให้ขยายเวลาการนำรถตู้โดยสารมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสารประจำทางคันเดิมได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2562(รวมถึงรถตู้ในเส้นทางหมวด 2 หมวด 3 ที่มีจุดจอดรับส่งผู้โดยสารระหว่างทางด้วย)         เรียกได้ว่านโยบายเอารถตู้โดยสารประจำทางออกจากระบบเริ่มเห็นชัดเป็นรูปธรรม โดยมีผู้ประกอบการรถตู้โดยสารหลายรายเริ่มทยอยเปลี่ยนไปบ้างแล้ว และยิ่งชัดเจนขึ้นเมื่อใกล้ครบกำหนด 30 กันยายน 2562         แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่ากลางกระทรวงคมนาคม หลังกลุ่มผู้ประกอบการรถตู้โดยสารเข้าพบเจ้ากระทรวง กระแสปล่อยรถตู้โดยสารสิบปีให้วิ่งรับส่งคนโดยสารต่อได้ก็ว่อนไปทั่วทุกทิศทาง แต่ก็ยังแทงกั๊กให้ไม่หมดตามที่ขอ ยังยืนยันไม่ยกเลิกจีพีเอส ยอมให้รถตู้สิบปีเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสแบบสมัครใจ และให้ ขบ.หาข้อสรุปรถตู้ขอขยายอายุอีกด้วย         แนวทางตามประกาศของเจ้ากระทรวง ยังมีผลต่อมติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ 9/2562 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562  ที่อนุญาตให้รถตู้โดยสารหมวด 1 และหมวด 4 ที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ให้สามารถวิ่งในกรุงเทพและปริมณฑล โดยขยายเวลาอีก 180 วัน ซึ่งในระหว่างนี้หากรถตู้โดยสารคันใดครบอายุการใช้งานสามารถเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสหรือจะเปลี่ยนรถตู้โดยสารใหม่ได้ตามความสมัครใจ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีมติให้ยุติการใช้รถตู้โดยสารในการขนส่งสาธารณะประจำทาง         มติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการยอมรับให้มีรถโดยสารที่ไม่ปลอดภัย(รถตู้โดยสาร) ในการให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่จะต้องจัดให้มีรถโดยสารที่ปลอดภัยให้บริการขนส่งมวลชนกับประชาชน ซึ่งกระทบต่อสิทธิผู้บริโภคที่จะต้องได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522         เท่ากับว่าตอนนี้สำหรับเรื่องรถตู้โดยสาร คงต้องรอดูว่าผลการศึกษาที่คมนาคมสั่ง ขบ.ไปนั้นจะมีผลอย่างไร คงต้องวัดใจคมนาคมกันว่าจะเลือกเอาใจกลุ่มรถตู้ หรือจะเลือกความปลอดภัยของประชาชน… กุมภาพันธ์ 2563 นี้ได้รู้กัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 204 ต้นตอ ปัญหาบริการ sms ขี้โกง แอบคิดเงินโดยไม่รู้ตัว

ปัญหาถูกคิดเงินจากบริการเสริม sms ข้อมูล ข่าวสาร ที่ไม่ได้สมัครใช้บริการ เป็นหนึ่งในปัญหาที่มีมานาน และนับวันดูจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ลองถามคนใกล้ๆ ตัวคุณดู ผมว่า ต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เคยโดนคิดเงินจากบริการเสริม sms สมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล โดยที่เจ้าตัวก็ไม่รู้ว่าเคยไปสมัครใช้บริการพวกนี้ไว้ตั้งแต่เมื่อไร ประเด็นที่น่าสนใจ คือ เมื่อเทียบกับการร้องเรียนบริการโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างบริการอินเทอร์เน็ต และบริการโทรศัพท์ เราจะพบการร้องเรียนที่หลากหลาย เช่น บริการที่ได้รับไม่ตรงตามสัญญาหรือโฆษณา  หรืออาจจะมีบ้างที่ร้องเรียนว่าไม่ได้สมัครใช้แต่ถูกคิดเงิน แต่กับการร้องเรียนบริการเสริม sms มันชัดเจนมากว่า ผู้ร้องเรียนแทบจะทุกคนยืนยันว่าไม่เคยสมัครใช้บริการเสริม sms พวกนี้ และไม่ปรากฏว่ามีการร้องเรียนในว่าสมัครไปแล้วได้บริการไม่ครบ หรือบริการเสริม sms ที่ได้รับไม่ตรงตามที่โฆษณา  ตรงนี้ผมว่า มันสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการสมัครใช้บริการของบริการเสริม sms ต้องมีปัญหาอย่างแน่นอน เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ผู้ร้องเรียนนับพันคน จะจำไม่ได้ว่าเคย แสดงเจตนาสมัครใช้บริการเสริม sms เหล่านี้   “สัญญา จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกัน” หลักกฎหมายว่าไว้อย่างนี้ คือ ต้องมี 3 องค์ประกอบ ทั้ง คำเสนอ คำสนอง และ “การแสดงเจตนาที่ต้องชัดเจน ถูกต้องตรงกัน” คำถามก็คือ แล้วการสมัครใช้บริการเสริม sms ที่ผ่านมาและในปัจจุบัน มันมีระบบที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนา หรือยืนยันว่าต้องการสมัครใช้บริการจริงๆ หรือไม่ และเป็นระบบที่มีความปลอดภัยทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงพอหรือไม่   ที่ผ่านมา ก็คงมีผู้บริโภคบางคนเผลอไปกดปุ่มสมัครใช้บริการโดยไม่เจตนา แต่ก็มีไม่น้อยที่ถูกกลโกงเขียนโปรแกรมดักไว้ให้สมัครใช้บริการเพียงแค่มือไปโดนป้ายข้อความโฆษณา แม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญด้าน cyber security ก็ยังเคยถูกเรียกเก็บค่าบริการเสริม sms ทั้งที่เจ้าตัวไม่เคยสมัครใช้บริการมาก่อน ซึ่งเป็นกลโกงของผู้ประกอบการ content partner บางรายที่ใช้วิธีเขียนโปรแกรมดักผู้ใช้บริการ เพียงแค่ลากมือผ่านป้าย banner ของบริการเสริมเหล่านี้ ก็จะมีผลเป็นการสมัครใช้บริการแล้ว ดังนั้น ยิ่งผู้คนใช้สมาร์ทโฟน หน้าจอทัชสกรีนมากขึ้น ปัญหาถูก sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการก็พุ่งสูงขึ้นสอดคล้องกัน อย่างมีนัยสำคัญ ถ้าเทียบกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อนทุกครั้งที่จะทำธุรกรรมไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการซื้อสินค้า ผ่าน mobile payment ผ่าน QR Code ในขณะที่การสมัครบริการเสริม sms ไม่มีขั้นตอนนี้ ให้ผู้ใช้บริการต้องกรอกรหัสแสดงตัวตนและยืนยันเจตนาสมัครใช้บริการ จึงเปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาบริการเสริม sms คิดค่าบริการโดยไม่ได้สมัครให้ตรงจุดที่สุด ก็ต้องแก้กันที่ต้นเหตุ ทำให้ระบบการสมัครบริการมีความชัดเจน ทั้งในแง่เนื้อหาที่โฆษณา ที่ต้องไม่กำกวม เพราะหลายบริการอ่านแล้วก็งง เช่น กด *xxxx ใช้ฟรี 7 วัน” บางคนอาจจะแค่อยากทดลองใช้ฟรี แต่เมื่อกดไปแล้วกลับกลายเป็นการสมัครใช้ และหลังจากนั้นจะได้ใช้ฟรี 7 วัน ถ้าจะพูดให้ชัดเจนจริงๆ ก็คือ สมัครใช้บริการแล้วจะได้แถมฟรี 7 วัน และที่สำคัญ จะต้องมีระบบที่มีความปลอดภัย ให้ผู้บริโภคต้องกรอกรหัสยืนยันตัวตน และแสดงเจตนาสมัครใช้บริการอย่างชัดแจ้ง ไม่ใช่แค่การคลิกเลือกช่องสมัครใช้บริการ ซึ่งแม้จะต้องคลิกหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถป้องกัน bot (โปรแกรมอัตโนมัติ) ได้  ในขณะที่ภาครัฐและภาคธุรกิจ พยายามกระตุ้นและสนับสนุนให้ ประชาชนทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อยากจะให้สังคมไทยเป็นสังคมไร้เงินสด แต่ถ้าระบบความปลอดภัย ยังไม่น่าเชื่อถือ ประชาชนก็คงไม่กล้าใช้บริการ  ก่อนจะเดินหน้าประเทศไทยยุค 4.0 แก้ปัญหาซ้ำซากอย่างเรื่อง  sms โกงเงิน กันก่อนดีไหม ครับ - CPA มีการเขียนโปรแกรมดัก ให้ mouse over มีผลเป็นการสมัครใช้บริการ- ขั้นตอนการสมัครใช้บริการ sms ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ไม่มีความปลอดภัย และรัดกุม เพียงพอ เปิดโอกาสให้มีการ เขียนโปรแกรม โกงผู้ใช้บริการได้ แม้จะมีการต้อง คลิกเลือกในหลายขั้นตอนก็ตามข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหา  ทำให้การสมัครใช้บริการ sms ข้อมูล ข่าวสาร ต้องมีกระบวนการขั้นตอน ให้ผู้ใช้บริการแสดงเจตนาสมัครใช้บริการที่ชัดเจน และมีความรัดกุม ปลอดภัย ในทางอิเล็กทรอนิกส์  เทียบกับธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก่อนที่เงินจะออกจากกระเป๋า จะต้องมีการกรอกรหัส แสดงตัวตน ยืนยันความเป็นเจ้าของก่อน ทุกครั้งที่จะทำธุรกรรม ในขณะที่การสมัคร บริการ sms ไม่มีกระบวนการในขั้นตอนนี้ ทำให้เปิดโอกาส ให้มีการเขียนโปรแกรมเข้ามาโกงผู้ใช้บริการได้ง่าย รูปธรรมในการแก้ไขปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ ใช้อำนาจ กสทช. ตามประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ข้อ 5 (6) กำหนดให้บริการโทรคมนาคม ที่ไม่มีระบบสมัครใช้บริการ ที่ให้ผู้ใช้บริการแสดงตัวตนและเจตนาที่ชัดแจ้งในการสมัครใช้บริการ ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ต่อกรณีปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้บริการ  ประกาศ กสทช. เรื่องการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ฯ ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 มีสาระสำคัญ ที่กำหนดลักษณะการกระทำของผู้ให้บริการและตัวแทนที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค อาทิ ข้อ 5 (3 )การโฆษณาเกินความจริง ที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับบริการ , ข้อ 5 (1)การไม่แจ้งรายละเอียดของบริการให้ครบถ้วน ถูกต้อง ,ข้อ 5 (5) การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวส่งข้อความโฆษณา sms โดยมิได้รับอนุญาตหรือความยินยอมจากผู้บริโภค จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เป็นต้น  เมื่อมีการร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจริงและมีคำสั่งให้ระงับการกระทำดังกล่าว บริษัทฯ ผู้ให้บริการจะต้องห้ามกระทำการในลักษณะนั้นกับผู้ใช้บริการทุกราย และถ้ายังไม่หยุดการกระทำเอาเปรียบผู้บริโภคก็จะมีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และจะปรับต่อไปเรื่อย ๆ อีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท จนกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ  มาตรการนี้ จะเป็นผลดีต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในภาพรวม เพราะการร้องเรียนของผู้บริโภค 1 คน จะส่งผลช่วยให้ผู้ใช้บริการคนอื่น ๆ ได้รับความเป็นธรรมจากการใช้บริการด้วยโดยอัตโนมัติ และมีผลห้ามมิให้เกิดการกระทำผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก  การเสนอเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ให้ กสทช. พิจารณา หลายกรณี เข้าข่ายเป็นการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่ง กสทช. ควรที่จะพิจารณาใช้อำนาจตามประกาศข้างต้น สอบสวนข้อเท็จจริง และสั่งห้ามกระทำการในลักษณะดังกล่าวอีกเป็นการทั่วไป เพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ แต่การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของ กสทช. ก็จะหยุดอยู่แค่การแก้ปัญหา case by case ให้แก้ผู้ร้องเรียน  แม้ว่า อนุกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค ด้านกิจการโทรคมนาคม และกสทช. สายคุ้มครองผู้บริโภค จะได้พยายามเสนอให้มีการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ปัญหา sms คิดเงินโดยไม่ได้สมัครใช้ ในแง่มุมของการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ในกิจการโทรคมนาคมแล้วก็ตาม แต่ก็มีการขัดขวาง ตัดตอนเรื่องร้องเรียน ให้หยุดอยู่แค่การแก้ปัญหาในระดับบุคคล 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 202 กระแสต่างประเทศ

เร็วทันใจคุณภาพของบริการโทรคมนาคมในฟิลิปปินส์นั้นถือว่าแย่มาก คนของเขาเป็นกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่นี่กลับต่ำที่สุดในโซนเอเชียแปซิฟิก(ประมาณ 5.5 Mbps) ว่ากันว่าสาเหตุที่ช้า ค่าบริการแพง และการบริการไม่ได้คุณภาพนั้นก็เพราะมีผู้ประกอบการเพียง 2 รายได้แก่ PLDT และ Globe Telecom ซึ่งมีเสาสัญญาณรวมกัน 15,000 แห่ง คนฟิลิปปินส์จึงมีเฮ เมื่อได้ข่าวว่า China Telecom จากประเทศจีนจะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ ข่าวบอกว่าประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ ออกปากเชิญบริษัทนี้ด้วยตัวเองเมื่อตอนที่ไปเยือนประเทศจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และเขายังออกคำสั่งให้หน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการออกใบอนุญาต  ดำเนินการ ให้เสร็จสิ้นภายใน 7 วันเอาเป็นว่า China Telecom จะเริ่มให้บริการได้เลยในไตรมาสแรกของปี 2018 ... เร็วดีไหมล่ะ อย่างนี้ก็ได้เหรออินเดียประกาศห้ามใช้ยาเส้นหรือยาสูบแบบเคี้ยวมาตั้งแต่ปี 2013 เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมายความปลอดภัยและมาตรฐานอาหารที่ระบุว่า อาหารจะต้องไม่มีส่วนผสมที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย(เช่น ยาสูบ และนิโคติน)แต่ละปีอินเดียมีผู้ชาย 85,000 คน ผู้หญิง 34,000 คนเสียชีวิตจากมะเร็งช่องปากและคอหอย ร้อยละ 90 ของกรณีเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการใช้ยาสูบแต่ดูเหมือนจะไม่มีใครใส่ใจ เพราะยาเส้นที่ว่านี้ยังคงหาซื้อได้ง่ายในขนาดพอคำตามแผงข้างถนนในราคาซองละ 2 ถึง 5 บาท แถมยังมีให้เลือกหลายสูตร หลายรสชาติ ทั้งๆ ที่มีการห้ามผลิตและห้ามขาย ธุรกิจนี้กลับทำรายได้มหาศาล ค่าย Manikchand ที่ผู้ก่อตั้งเพิ่งจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งช่องปาก มีรายได้ปีละประมาณ 80,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และนี่ไม่ใช่ผู้เล่นรายเดียวเสียด้วย รวมกันเราแย่ศาลสูงสุดของนิวซีแลนด์ยืนยันไม่อนุญาตให้สองยักษ์ใหญ่วงการสื่อควบรวมกิจการกัน เพราะสัดส่วนการถือครองสื่อขนาดนั้นจะมีผลต่อคุณภาพความเป็นประชาธิปไตยของประเทศNZME(เจ้าของหนังสือพิมพ์ New Zealand Herald สถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสองฉบับ) อ้างว่าต้องการควบรวมกิจการกับ Fairfax Media(เจ้าของ Stuff เว็บไซต์ที่มีคนอ่านมากที่สุด และหนังสือพิมพ์รายวันอีกสามฉบับ) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับ facebook และ Google News รวมถึงบรรดา “ข่าวหลอกให้คลิก” ที่มีอยู่ทั่วไปในหน้าเว็บรวมๆ แล้วสองค่ายนี้เป็นเจ้าของสื่อประมาณร้อยละ 90 ศาลท่านยืนยันว่าอนุญาตไม่ได้จริงๆ เพราะมันจะทำให้การถ่วงดุลระหว่างสื่อใหญ่สองเจ้าหายไป NZME และ Fairfax มีผู้อ่านรวมกัน 3.7 ล้านคน ในขณะที่นิวซีแลนด์มีประชากร 4.7 ล้านคน  มาเฟียไส้กรอกบริษัทผู้ผลิตไส้กรอก 4 รายในเยอรมนีรวมตัวกันฟ้องต่อศาลขอไม่จ่ายค่าปรับที่สำนักงานกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าเรียกเก็บ 22.6 ล้านยูโร (ประมาณ 870 ล้านบาท)สำนักงานฯ ได้ข่าวว่ามีการฮั้วราคาผลิตภัณฑ์ไส้กรอกในระหว่างผู้ผลิตเพื่อที่จะขายให้กับบรรดาร้านค้าปลีกในราคาที่สูงเกินจริง และพบว่า “กลุ่มแอตแลนติก” (เรียกตามชื่อโรงแรมที่นัดคุยกัน) ร่วมกันโก่งราคาผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์มาตั้งแต่ช่วงปี 80  ปี 2014 สำนักงานฯ สั่งปรับบริษัท 22 แห่ง และบุคคล 33 คน รวมเป็นเงิน 338 ล้านยูโร  (ประมาณ 13,000  ล้านบาท) ในจำนวนนี้มีเพียง 11 บริษัทที่ยอมจ่ายค่าปรับแต่โดยดี อีกเจ็ดบริษัทรอดไปได้โดยอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย(บริษัทแม่ไม่ต้องรับผิดชอบค่าปรับของ บริษัทลูก หากบริษัทลูกเลิกกิจการไปแล้ว) รัฐจึงขาดรายได้ไป 240 ล้านยูโร อีกสี่บริษัทยังยื้ออยู่จนถึงวันนี้ หากศาลตัดสินว่าผิดจริงกลุ่มนี้จะโดนค่าปรับหนักกว่าเดิม   ไม่รับคนนอกปีนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 34  สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลที่  ต้องการให้มีผู้มาเยือนไม่ต่ำกว่าปีละ 40 ล้านคนภายใน 2020 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก  เมื่อมีคนมาเยอะขึ้น ธุรกิจการให้เช่าห้อง/บ้านผ่านแอปพลิเคชันจึงเข้ามาตอบโจทย์ การให้เช่าแบบนี้เป็นสิ่งที่ทำได้หากแจ้งต่อหน่วยงานรัฐ มันสร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่นมากกว่าการให้เช่าแบบเดิมๆ เกือบห้าเท่า ดูแล้วน่าจะพอใจกันทุกฝ่ายแต่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมหลายแห่งในย่านฮิต เช่น บริเวณรอบอ่าวโตเกียว ได้เรียกร้องให้ทางอาคารออกกฎห้ามผู้อยู่อาศัยปล่อยเช่าห้องให้กับนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบ หน่วยงานท้องถิ่นระบุว่ามีคอนโดฯ จำนวนมากมาแจ้งขอเปลี่ยนกฎ จนต้องตั้งโต๊ะรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ  นิติบุคคลอาคารก็ต้องเข้าไปดูเว็บไซต์จองที่พักเป็นระยะเพื่อให้แน่ใจว่า ห้องที่อยู่ภายใต้การดูแลของตัวเองไม่ถูกนำไปเสนอขาย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 บอกเลิก (บริการโทรคมนาคม) อย่างไรให้ได้ผล (ตอนที่ 1)

“บอกเลิก” อย่างไรให้ได้ผล เห็นจั่วหัวอย่างนี้ อย่าเพิ่งคิดว่านี่เป็นคอลัมน์ปรึกษาปัญหาความรักนะครับ เพราะ “วิธีการบอกเลิก” ที่ผมจะแนะนำนี้ เอาไว้ใช้ยกเลิกบริการโทรคมนาคม โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์บ้าน หรือบริการอินเทอร์เน็ต อย่าเอาไปใช้กับคนข้าง ๆ นะครับ ไม่รับประกันความปลอดภัยเวลาที่เราต้องการยกเลิกบริการโทรศัพท์หรืออินเทอร์เน็ตที่สมัครไว้ บรรดาบริษัทผู้ให้บริการทั้งหลายก็จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อเหนี่ยวรั้งลูกค้าเอาไว้ อาจจะด้วยการเสนอโปรโมชั่นพิเศษ ลดราคาค่าบริการให้ หรือบางทีก็จะยกเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญามาอ้าง ไม่ให้เรายกเลิกบริการ เช่น รับเครื่องฟรีไปแล้วต้องใช้บริการให้ครบตามสัญญา , ยกเลิกบริการที่นี่ไม่ได้ ต้องไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ , ถ้าจะยกเลิกบริการต้องเสียค่าปรับ ค่าติดตั้ง ค่าธรรมเนียม ฯลฯ ผู้บริโภคหลายคนเจอบริษัทใช้ลูกไม้นี้ ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องทนใช้บริการต่อไปก็มี หนักกว่านั้นคือ บางคนยอมจ่ายค่าบริการไปเรื่อยๆ ให้ครบตามสัญญา เพราะกลัวถูกปรับ ทั้งที่ไม่ได้ใช้บริการแล้วประกาศ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549ข้อ 72  ผู้ใช้บริการมีสิทธิบอกเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการครบถ้วนแล้วจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที            (1)  ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการ ได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ            (2) ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา            (3) ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย            (4) ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ ซึ่งมีผลเป็นการลดสิทธิหรือประโยชน์อันพึงได้รับของผู้ใช้บริการลง เว้นแต่เกิดจากเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติถ้าคุณต้องการจะยกเลิกสัญญาบริการโทรคมนาคม ลองทำตามนี้ครับสิทธิในการยกเลิกบริการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณต้องใช้บริการที่คุณไม่ต้องการ ซึ่งกฎหมายก็รับรองสิทธิข้อนี้ของผู้บริโภคไว้กรณีศูนย์บริการจังหวัด ซึ่งทำได้ทุกอย่าง เปิดเบอร์ เปลี่ยนโปรโมชั่น รับชำระค่าบริการ แต่พอจะเลิกใช้บริการกลับบอกให้ไปทำเรื่องที่สำนักงานใหญ่ ในกรุงเทพฯ โอ้ว...แม่เจ้า ฟังแล้วของขึ้นถ้าเจอแบบนี้ไม่ต้องลำบากเดินทางไปสำนักงานใหญ่นะครับ แค่เขียนจดหมายน้อยฉบับเดียวเขียนถึง กรรมการผู้จัดการบริษัท แจ้งชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หรืออินเทอร์เน็ตที่ต้องการจะเลิกใช้บริการ อาจจะให้เหตุผลประกอบไปด้วยก็ได้ว่าทำไมเราถึงต้องการยกเลิกบริการ เช่น คุณภาพบริการไม่ดี มีความจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ ฯลฯ และแนบสำเนาใบเสร็จการชำระค่าบริการเดือนสุดท้ายไปเป็นหลักฐาน แล้วก็ส่งไปถึงบริษัทจะทางไปรษณีย์ โทรสารหรืออีเมล์ ก็ได้ แค่นี้การบอกเลิกสัญญาใช้บริการของคุณก็มีผลตามกฎหมายแล้วส่วนเรื่องนโยบายการปฏิเสธไม่รับยกเลิกบริการที่ศูนย์บริการนั้น ข่าวแว่ว ๆ มาว่า กสทช. เตรียมจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายน่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค เพราะ ถ้าศูนย์บริการไหน เปิดบริการให้ลูกค้าได้ ลูกค้าก็ควรจะไปยกเลิกบริการที่ศูนย์นั้นได้เช่นกัน มิใช่สร้างภาระ กีดกันมิให้ผู้บริโภคยกเลิกบริการแหม จะยกเลิกบริการแต่ละที ทำไมยากเย็นแท้ เดี๋ยวฉบับหน้ามาดูกันว่า จะมีวิธีรับมืออย่างไร ถ้าผู้ให้บริการอ้างว่าใช้บริการยังไม่ครบตามสัญญา ถ้ายกเลิกก่อนครบกำหนดจะต้องถูกคิดค่าปรับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 103 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนสิงหาคม 255219 สิงหาคม 2552อันตราย! อย่าซื้อยาต้านหวัด 2009 ผ่านเน็ตนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาขายยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ทางอินเทอร์เน็ต โดยที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้จ่ายยา เพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงทั้งจากการได้รับยาปลอม ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงการได้รับยาที่ไม่เหมาะสมต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการดื้อยา   ยาต้านไวรัสดังกล่าวจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และมีเงื่อนไขให้ใช้เฉพาะโรงพยาบาลหรือสถานพยาบาล จะไม่มีจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้มีการกระจายยาต้านไวรัส (โอเซลทามิเวียร์) ไปยังโรงพยาบาลและคลินิกที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น 25 สิงหาคม 2552เชิญร่วมทดสอบความไวเน็ต เร็วจริงหรือแค่คำโฆษณาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) จับมือกับสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดโครงการ "สปีดเทสต์" (Speed Test) เพื่อเก็บข้อมูลเรื่องความเร็วในการใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งมีผู้ร้องเรียนเข้ามามากว่าความเร็วต่ำกว่าที่มีการโฆษณา โดยหวังใช้ผลทดสอบครั้งนี้เป็นแนวทางแก้ไขและเอาผิดผู้ให้บริการที่เอาเปรียบผู้บริโภค นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการ สบท. กล่าวว่า “โครงการนี้มีชื่อว่า "โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเตอร์เน็ตปี 2552" โดยที่มาของโครงการนี้เนื่องจากทาง สบท. ได้รับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่เดือนม.ค.- มิ.ย. 2552 จำนวน 622 เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตถึง 90% ซึ่งเรื่องที่ร้องเรียนเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของความเร็วอินเตอร์เน็ตที่ไม่เป็นไปตามที่ผู้ให้บริการโฆษณา จุดมุ่งหมายของการสำรวจข้อมูลนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาปรับปรุงคุณภาพการให้บริการแก่ผู้บริโภค ซึ่งหากมีผู้ประกอบการรายได้มีข้อร้องเรียนเกินกว่า 50% ก็จะแจ้งให้ กทช.ดำเนินการต่อไป แต่เพื่อให้พัฒนาบริการไม่ใช่เพื่อปิดการให้บริการ” ผู้บริโภคสามารถเข้าทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ตัวเองใช้ผ่านเว็บไซต์ได้ที่ www.speedtest.or.th ซึ่งระบบจะทดสอบความเร็วของผู้ให้บริการรายนั้นทันที และเก็บข้อมูลไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ จากนั้นจะนำผลที่ได้มาทำการประมวลและแจ้งผลให้ทราบในวันที่ 30 พ.ย. 2552 27 สิงหาคม 2552อย. ยันยังไม่พบสาหร่ายปลอมกรณีพบฟอร์เวิร์ดเมลเรื่องสาหร่ายปลอม ซึ่งสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภคว่า สาหร่ายที่นำเข้ามาจากต่างประเทศจะมีการปลอมปนพลาสติกนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ได้ตรวจสอบการนำเข้าและการจำหน่าย พร้อมเก็บตัวอย่างสาหร่ายอบแห้งส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อวิเคราะห์หา DNA ของสิ่งมีชีวิตและพิสูจน์ว่าเป็นพลาสติกหรือไม่ โดยตรวจสอบสาหร่ายอบแห้งที่วางจำหน่ายในท้องตลาดจำนวน 5 ยี่ห้อ ซึ่งจากการส่องกล้องจุลทรรศน์เพื่อดูลักษณะทางกายภาพ ปรากฏว่าสามารถเห็นเซลล์สาหร่ายได้อย่างชัดเจน ซึ่งยืนยันได้ว่าเป็นสาหร่ายจริง อย. แนะผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากภาษาไทย ระบุรายละเอียดครบถ้วน ย้ำผลิตภัณฑ์อาหารที่ผ่านการตรวจสอบจากด่าน อย. ปลอดภัยแน่นอน สธ. รับกลับไปใช้ชื่อ “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ” ตามเดิมหลังเจรจาเครือข่ายภาคประชาชนสธ. มอบคำมั่นกับภาคประชาชน ยืนยันใช้ชื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายทางการแพทย์ตามเดิม พร้อมรับพิจารณาเรื่องสัดส่วนคณะกรรมการต้องเท่าเทียม ส่วนเรื่องตั้งเป็นองค์กรอิสระให้ครม.ตัดสินใจ เร่ง รมว.สธ. ทำข้อสรุปยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป เครือข่ายภาคประชาชน ได้แก่ เครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ชมรมเพื่อนโรคไต ฯลฯ กว่า 100 คน ได้เดินทางเข้ากระทรวงสาธารณสุขเพื่อไปเรียกร้อง ติดตามและหาข้อสรุป เรื่องร่าง “พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” โดยมีนายพิเชฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการเจรจา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้เข้าพบนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องเรียนถึงปัญหาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งในการพิจารณาของกฤษฎีกามีการแก้ไขในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายโดยเป็นไปตามที่ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขนำเสนอ ทั้งในส่วนของชื่อร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกเปลี่ยนเป็น ร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ซึ่งไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ที่ต้องการช่วยเหลือในเรื่องการดูแลชดเชยผู้เสียหายจากระบบบริการสาธารณสุข ซึ่งจะช่วยลดการฟ้องร้องระว่างแพทย์และคนไข้ได้อีกด้วย เรื่องการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่ควรเป็นอิสระและเรื่องสัดส่วนของคณะกรรมการตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่พบว่ามีไม่เท่าเทียมกันระหว่าง สภาวิชาชีพกับภาคประชาชน จึงต้องการให้มีการพิจารณาแก้ไข หลังจากการประชุมหารือ นายพิเชฐ ได้กล่าวสรุปเห็นด้วยว่าให้เปลี่ยนชื่อร่าง พ.ร.บ.กลับไปใช้ชื่อตามร่างเดิม ส่วนประเด็นการตั้งสำนักงานกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งร่างเดิมไม่มีความชัดเจนว่าจะตั้งเป็นองค์กรในลักษณะใด ดังนั้นในการพิจารณาชั้นกฤษฎีกาจึงให้สำนักงานดังกล่าวขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แต่เมื่อภาคประชาชนเห็นว่า สำนักงานน่าจะเป็นองค์กรอิสระหรืออยู่ภายใต้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนั้นจะทำข้อสรุปให้กับนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำเรื่องนี้ให้ที่ประชุมครม. ทบทวนว่าจะจัดตั้งเป็นองค์กรอิสระได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะมีมติให้อยู่ภายใต้ สปสช.หรือ สบส.ถือเป็นการตัดสินใจของ ครม. ส่วนเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการตาม ที่ประชุมยังคงมีความเห็นที่ขัดแย้งกันแต่มีแนวโน้มที่จะใช้ข้อกำหนดตามร่างเดิม คือ ให้มีตัวแทนภาคประชาชนและตัวแทนสภาวิชาชีพฝ่ายละ 3 คน แต่เนื่องจากการประชุมหารือครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนภายในสภาวิชาชีพอยู่ด้วย จึงมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ โดยทั้งนี้จะทำสรุปข้อเสนอต่างๆ ของที่ประชุมให้ รมว.สาธารณสุข เสนอไปยังกฤษฎีกาอีกครั้ง สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะในงานสัมมนาระดับชาติ เรื่อง อุบัติเหตุจราจร ครั้งที่ 9 ที่ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 52 ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนในหัวข้อ “เวทีติดตามนโยบาย : สู่มาตรฐาน รถโดยสารสาธารณะ” โดยมีผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะหลายท่านร่วมเป็นวิทยากร ผศ.ดร.สมประสงค์ สัตยมัลลี จากสำนักวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นำเสนอปัญหามาตรฐานตัวถังรถที่มักมีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งมักเป็นสาเหตุทำให้ผู้เสียชีวิตเมื่อเกิดอุบัติเหตุ เช่น เก้าอี้หลุด หลังคายุบ ยางรถไม่มีดอกยาง ไม่มีเข็มขัดนิรภัย ขณะที่คนขับรถโดยสารสาธารณะมักขาดคุณสมบัติและขาดการฝึกอบรมที่ดี ขณะที่สภาพถนนในหลายจุดของประเทศก็สร้างความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วย ด้าน ดร.สุเมธ องกิตติกุล จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นำเสนอประเด็นเรื่องนโยบายการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะในเชิงเศรษฐศาสตร์ ในการควบคุมการให้บริการ ควบคุมราคา ซึ่งเมื่อรัฐเข้ามาดูจัดการตรงนี้อย่างจริงจังก็น่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพการให้บริการและความปลอดภัยของรถโดยสารให้เพิ่มขึ้นได้ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้พูดถึงปัญหาของผู้ประสบภัยซึ่งนำไปสู่การฟ้องคดีที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีที่มาจากหลายสาเหตุทั้งการเตะถ่วงดึงเวลาจากบริษัทรถและบริษัทประกัน การไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมและการที่ผู้เสียหายไม่ทราบสิทธิของตัวเอง โดยปกติผู้โดยสารจะได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 แต่ก็จะมีการจำกัดวงเงินการรักษาพยาบาล ผู้ป่วยหนักหรือทุพพลภาพที่ต้องรักษาต่อเนื่องมักถูกผลักภาระให้ไปอยู่ในระบบสุขภาพอื่นๆ หรือกรณีที่มีคู่กรณีชัดเจนก็ต้องรอการพิสูจน์ความผิดเสียก่อน ทำให้กระบวนการชดเชยค่าเสียหายล่าช้า หากเสียชีวิตก็ได้รับเงินเพียง 1 แสนบาท ซึ่งเป็นอัตราต่ำมากในปัจจุบัน ทางออกที่เห็นว่าเหมาะสม คือการผลักดัน พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. … ขึ้นมาทดแทน พ.ร.บ. ฉบับเดิม ซึ่งจะช่วยเรื่องการจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนตามจริง ด้วยขั้นตอนที่รวดเร็วและเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อนและลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ลดภาระประชาชน และลดภาระความยุ่งยากในการเข้าถึงสิทธิของผู้ประสบภัย "ปฏิญญาเชียงราย" มาตรการคุ้มครองสิทธิด้านโทรคมนาคมสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) สภาองค์กรผู้บริโภคอาเซียน (Southeast Asian Consumer Council) สหพันธ์ผู้บริโภคสากล และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดการประชุมเครือข่ายองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมแห่งภูมิภาคอาเซียนขึ้น เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย ถือเป็นเวทีการประชุมด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของกลุ่มอาเซียนที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมอาเซียน ครั้งที่ 15 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนจากองค์กรเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมจาก 8 ประเทศ ร่วมรายงานสถานการณ์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจโทรคมนาคม ได้แก่ ออสเตรเลีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ สเปน และไทย โดยสถานการณ์ปัญหาที่สำคัญของโทรคมนาคมที่กระทบต่อผู้บริโภคคือ ปัญหาการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่ไม่เที่ยงตรง การโทร.และส่งข้อความรบกวน การละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว การไม่รู้เท่าทันกฎหมาย ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงบริการ และผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากการใช้โทรคมนาคม เป็นต้น ผลจากการประชุมทำให้ได้ร่างปฏิญญาเชียงรายที่มีเนื้อสำคัญดังนี้ (1) ทำงานอย่างแข็งขันและต่อเนื่องร่วมกับภาคีในกิจการโทรคมนาคม (2) กำหนดมาตรฐานพื้นฐานว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (3) ตระหนักว่ากิจการโทรคมนาคมเป็นบริการจำเป็นพื้นฐาน (4) ตระหนักว่าการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิมพ์เขียวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยใช้แนวทาง "คนเป็นศูนย์กลาง"(5) จัดตั้งหน่วยงานกิจการโทรคมนาคมในภูมิภาคโดยใช้กลไกที่จัดตั้งขึ้นแล้วเป็นหลัก (6) จัดประชุมทุกปี โดยจัดทำประเด็นรณรงค์ร่วมกันทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบของการใช้บริการโทรคมนาคมต่อสุขภาพ หรือการบริโภคอย่างยั่งยืน (7) ดำเนินการวิจัย/สำรวจเปรียบเทียบระหว่างประเทศในกิจการโทรคมนาคม โดยมีหัวข้อหลักคือการเข้าถึงเท่าเทียม ระบบการจ่ายเงินล่วงหน้า (Pre-paid) ระบบการเรียกเก็บค่าบริการที่เที่ยงตรง และความปลอดภัย (8) สร้างเว็บไซต์เพื่อการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (9) เรียกร้องให้รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนเข้าร่วมและสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรปกป้องผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (10) ผลักดันให้บริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมใช้หลักบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

อ่านเพิ่มเติม >