ฉบับที่ 238 ตั้งใจซื้อครีมล้างหน้าแค่ 1,300 แต่เผลอจ่ายไปเกือบแสนสาม

        เครื่องสำอางกับสุภาพสตรีเป็นของคู่กัน ยิ่งผลิตภัณฑ์นั้นได้รับคำโฆษณาว่าเป็นของที่ดาราใช้หรือดาราเป็นเจ้าของแบรนด์ มันจะดึงดูดใจมากไปกว่าเครื่องสำอางแบรนด์ธรรมดา         คุณศรีสุดาไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าใหญ่ย่านบางนาในวันหยุดตามประสาสาวนักช้อป ขณะเดินผ่านบูธในลานกิจกรรมพิเศษ สาวๆ นักขายได้ชักชวนคุณศรีสุดาให้ทดลองใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและพูดคุยโน้มน้าวให้ซื้อสินค้าโดยอ้างว่า เครื่องสำอางในบูธนี้แบรนด์นี้ เป็นสินค้าที่ดาราดังคนหนึ่งใช้อยู่เป็นประจำ คุณศรีสุดาตั้งใจจะซื้อครีมล้างหน้าที่มีโปรโมชันแถมที่มาร์คหน้าในราคา 1,300 บาท เพราะทดลองมาร์คหน้าแล้วรู้สึกโอเค         “ดิฉันสอบถามพนักงานว่ามีเว็บไซต์ให้เข้าไปติดตามสินค้าหรือค้นหารายละเอียดอื่นๆ หรือไม่ พนักงานตอบว่ามีค่ะ แต่หนูไม่ทราบ ยังไงจะให้ทางบริษัทติดต่อกลับไปนะคะ” ขณะคุณศรีสุดากำลังจะถามเรื่องอื่นๆ ต่อ พนักงานขายก็ชิงลงมือโอ้อวดว่า เครื่องสำอางนี้เป็นของบริษัทที่ดาราดังคนหนึ่งพร้อมโชว์ภาพถ่ายต่างๆ รวมทั้งภาพของตัวพนักงานและดาราคนดังกล่าวหลายรูป สร้างความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก คุณศรีสุดาก็ฟังเพลินไปดูภาพสินค้าและดาราเพลินไปหน่อย สุดท้ายกลายเป็นว่า จ่ายเงินค่าเครื่องสำอางไป 13 รายการ รวมเป็นเงิน 127,000 บาท ผ่านบัตรเครดิต        คุณศรีสุดานั้นย้ำว่าขอให้พนักงานขายส่งเว็บไซต์ของบริษัทเครื่องสำอางให้ตนเองทันทีที่กลับบริษัทฯ เพราะตนเองต้องการทราบรายละเอียดต่างๆ ของผลิตภัณฑ์รวมทั้งรีวิวที่ดาราคนดังได้ใช้ตัวสินค้าเหล่านี้  ต่อมาคุณศรีสุดาได้รับลิงค์ที่เป็นเพจเฟซบุ๊กของบริษัทหนึ่ง ซึ่งไม่มีรายละเอียดอะไรเกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่คุณศรีสุดาซื้อมาเลย หนำซ้ำที่อยู่ของบริษัทในเพจไม่ตรงกับที่อยู่ของบริษัทที่อยู่ในใบเสร็จสินค้าราคาแสนกว่าบาทที่อยู่ในมือคุณศรีสุดา เธอจึงรีบติดต่อพนักงานขายแต่ติดต่อไม่ได้หลายวัน อย่างไรก็ตามวันหนึ่งก็ติดต่อได้ พนักงานขายบอกว่าสินค้าในมือเธอเป็นสินค้าใหม่ยังไม่มีรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ และโอนเรื่องให้พนักงานของบริษัทคนอื่นมาพูดแทน         “จะข้องใจอะไรกับสินค้าหนู ของนำเข้าถูกกฎหมายทุกอย่าง” ซึ่งวิธีการพูดจาแสดงถึงความโกรธเกรี้ยว คุณศรีสุดาจึงไม่พอใจมากและไม่กล้าใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาด้วย เพราะเกิดความไม่มั่นใจในตัวผลิตภัณฑ์ที่แทบไม่มีรายละเอียดอะไรเลย จึงนำสินค้าทั้งหมดกลับไปคืนที่บูธที่ยังจัดขายสินค้าอยู่ แต่พนักงานขายแจ้งว่าผู้บริหารบริษัทไม่อยู่ไปเมืองนอกขอเวลา 7 วัน ต่อมาได้รับแจ้งว่า ไม่รับคืนสินค้า “ดิฉันเห็นว่าการขายสินค้าของบริษัทไม่เป็นธรรมเพราะอวดอ้างและโฆษณาด้วยข้อมูลเท็จ เอาดารามาแอบอ้าง ไม่มีเว็บไซต์หรือรายละเอียดของสินค้าด้วย ดิฉันสามารถทำอย่างไรได้บ้าง”  แนวทางการแก้ไขปัญหา         ทางศูนย์พิทักษ์สิทธิเห็นว่ากรณีนี้ทั้งสองฝ่ายน่าจะไกล่เกลี่ยกันได้ จึงนัดให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจากัน และได้ส่งเรื่องราวถึงห้างสรรพสินค้าที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่จัดแสดงสินค้าให้รับทราบปัญหา ต่อมาทราบจากคุณศรีสุดาว่าได้ไปร้องเรียนไว้ที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย แต่ตกลงกันไม่ได้คุณศรีสุดาต้องการคืนสินค้าและขอคืนเงินทั้งหมด ส่วนบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่รับคืนสินค้า ดังนั้นทางคณะอนุกรรมการของทาง สคบ.จะส่งร้องเพื่อขอให้พิจารณารับฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อไป คุณศรีสุดาจึงยุติเรื่องร้องเรียนกับทางศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >