ฉบับที่ 271 กระแสต่างแดน

หยุดคุกคาม        พ่อแม่ผู้ปกครองชาวเกาหลีช่างโหดร้ายกับคุณครูเสียเหลือเกิน กระทรวงศึกษาธิการของเขาจึงต้องออกข้อแนะนำไปยังโรงเรียนประถมและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศเพื่อแก้ปัญหาก่อนจะมีครูถูกคุกคามจนถึงขั้นฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอีก         เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิของครู กระทรวงฯ ห้ามไม่ให้พ่อแม่บันทึกเสียงในห้องเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนจะถูกสอบสวนโดยหน่วยงานของรัฐ  ขณะเดียวกันก็ห้ามนักเรียนใช้สมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์ไอทีอื่นๆ อย่างสมาร์ตวอทช์ แท็บเล็ต และโน๊ตบุ๊คในห้องเรียน และคุณครูยังได้รับอนุญาตให้ “กักตัว” เด็กได้ หากเด็กมีพฤติกรรมฝ่าฝืนระเบียบโรงเรียน         นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ปกครองโทรหาครูได้เฉพาะในเวลางาน และต้องเป็นการโทรมาปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับลูกหลานตัวเองเท่านั้น ที่สำคัญที่สุดคือห้ามโรงเรียนให้เบอร์ส่วนตัวของครูกับผู้ปกครองด้วย ไม่มีผล         สมาคมยาแผนโบราณของเวียดนามออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความพยายามมากขึ้นในการลด ละ เลิก การบริโภคเนื้อสุนัขและแมว         โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละปีในเวียดนามมีน้องหมาประมาณห้าล้านตัวและน้องแมวอีกหนึ่งล้านตัวถูกฆ่าเพื่อนำเนื้อมาบริโภค สืบเนื่องจากความเชื่อว่ากินแล้วช่วยบำรุงร่างกายแถมยังรักษาโรคได้ด้วย        แต่ความจริงแล้วไม่มีงานวิจัยที่รับรองสรรพคุณเรื่องการรักษาโรคกระดูกหรือโรคข้อในมนุษย์ และตามตำราแผนโบราณก็ไม่เคยมีบันทึกเรื่องนี้ สมาคมฯ ย้ำว่าเนื้อสุนัขไม่สามารถเพิ่มพลังทางเพศ และไขกระดูกของแมวก็ไม่ได้ช่วยบำรุงกระดูกหรือกล้ามเนื้ออย่างที่เชื่อกันมา         นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า หากสามารถหยุดธุรกิจค้าเนื้อสุนัขและแมวได้ก็จะสามารถกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าไปจากโลกนี้ได้ภายในปี 2030 ด้วย         เทรนด์นี้กำลังมาแรง สตรีหมายเลขหนึ่งของเกาหลีใต้ก็กำลังผลักดันให้การบริโภคเนื้อสุนัขเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกันทำได้ก็ดี        คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอให้รถยนต์ที่ผลิตใหม่มีพลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบอย่างน้อยร้อยละ 25 เรื่องนี้ถูกใจอุตสาหกรรมรีไซเคิล แต่อุตสาหกรรมรถยนต์ยังมองไม่เห็นความเป็นไปได้           อ้างอิงข้อมูลของ EuRIC หรือสมาคมอุตสาหกรรมรีไซเคิลแห่งยุโรป ปัจจุบันร้อยละ 50 ของส่วนประกอบในรถยนต์ทำจากพลาสติก หรือเฉลี่ยประมาณคันละ 150 – 200 กิโลกรัม         ถึงแม้อียูจะต้องการให้ร้อยละ 25 ของพลาสติกในรถยนต์มาจากการรีไซเคิล แต่อุตสาหกรรมยานยนต์บอกว่าเรื่องนี้ไม่ง่าย เพราะพลาสติกที่นำมาใช้กับรถยนต์นั้นต้องผสมคาร์บอนไฟเบอร์หรือใช้โพลีเมอร์คุณภาพสูงเพื่อความแข็งแรงทนทาน ส่งผลให้ยากแก่การรีไซเคิล         การจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้จะต้องอาศัยเทคโนโลยีการรีไซเคิลที่สูงขึ้นก่อน ปัจจุบันการรีไซเคิลชิ้นส่วนพลาสติกจากรถทำได้เพียงร้อยละ 19 จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 30  ไม่สู้แสง         สเปนได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งแสงอาทิตย์ของยุโรป ด้วยปริมาณแสงแดดราว 2,500 – 3,000 ชั่วโมงต่อปี ในขณะที่อังกฤษมีเพียง 1,600 ชั่วโมง         แต่ผลการสำรวจกับพบว่าร้อยละ 10 ของคนสเปน รู้สึกว่าที่อยู่ของตัวเองมืดเกินไป (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของยุโรปที่ร้อยละ 5.9) ในขณะที่ประเทศที่ฟ้ามืดครื้มเป็นส่วนใหญ่อย่างนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ หรือสโลวาเกียกลับไม่ติดอันดับต้นๆ ของประเทศที่คนบ่นว่า “บ้านมืด”         ร้อยละ 65 ของคนสเปน อาศัยอยู่ในตึกที่ปลูกติดกันบนถนนแคบๆ เพื่อลดอุณหภูมิในหน้าร้อน ผนังภายในมักทาสีเข้มเพื่อช่วยลดแสงจ้า ส่วนห้องนอนจะอยู่ในมุมที่ลึกที่สุดและมืดที่สุดเพื่อความเย็นสบาย         สเปนเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ยังใช้ “มู่ลี่” บังแสง เพราะวัฒนธรรมแบบมัวร์ดั้งเดิมจะนิยมปลูกบ้านใกล้ชิดติดกัน จึงต้องใช้มู่ลี่เพื่อบังทั้งแสงและเสียง รวมถึงป้องกันการสอดแนมจากเพื่อนบ้าน ตรงข้ามกับวัฒนธรรมของยุโรปเหนือที่ต้องเปิดบ้านให้คนมองเข้ามาเห็นได้ เพื่อแสดงความจริงใจ  ใช้เงินกันบ้าง        ในภาพรวมอาจดูเหมือนคนจีนจำนวนมากเตรียมจะออกเที่ยวในช่วง “โกลเด้นวีค” ในช่วงต้นเดือนตุลาคม แต่สถิติระบุว่าคนจีนบางส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานบริษัท ไม่นิยมลาพักร้อนกันมากเท่าที่ควร เช่น กรณีของเมืองชานตง ที่พบว่าเพียงร้อยละ 60 ของพนักงานบริษัทเท่านั้นที่ใช้สิทธิลาพักร้อน         รายงานระบุว่าเป็นเพราะคนเหล่านี้เคยชินกับการทำงานหนัก พวกเขาโตมาในวัฒนธรรมที่เชิดชูการ “อุทิศตนให้กับงาน” ถ้าให้เลือกระหว่างเงินกับการพักผ่อน พวกเขาจะเลือกเงินเสมอ ที่สำคัญการทำงานในวันหยุดหมายถึงการได้ค่าแรงสามเท่าด้วย        นายจ้างก็ดำเนินนโยบาย “ใช้ให้คุ้ม” เพื่อให้ได้งานเพิ่มโดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่าย ในขณะที่ลูกจ้างก็แทบไม่ได้คิดเรื่องการถูกละเมิดสิทธิแรงงาน         เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิดที่ดูเหมือนจะฟื้นตัวช้าเกินไป ทางการจีนเลยขอให้นายจ้างส่งเสริมให้พนักงานลาพักร้อนไปใช้เงินกันให้มากขึ้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 นางอาย : โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน

ในวัยเด็ก ไม่ใครก็ใครหลายคนคงจะเคยได้ยินหรือร้องเพลงประสานเสียงในโรงเรียนของตนว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่ คุณครูใจดีทุกคน เด็กๆ ก็ไม่ซุกซน พวกเราทุกคนชอบไปโรงเรียน (ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” หากพินิจพิจารณาเนื้อเพลงประสานข้างต้นจริงๆ แล้ว แม้แต่เด็กๆ ที่ไร้เดียงสาเอง ก็คงตระหนักกันโดยไม่ยากว่า เป็นเพลงที่เขียนขึ้นจากจุดยืนของ “คุณครูใจดีทุกคน” มากกว่าจะเป็นมุมมองจาก “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” ที่ไม่รู้ว่าลึกๆ แล้ว “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน” กันจริงหรือไม่ แล้วเหตุใดโรงเรียนจึงกลายเป็นสถาบันที่ต้องจับเอา “เด็กๆ ที่แสนซุกซน” มาใช้ชีวิตช่วงหนึ่งอยู่ใน “โรงเรียนของเราน่าอยู่” แถมยังติดตั้งโลกทัศน์ให้ด้วยว่า “คุณครูก็ใจดีทุกคน” คำตอบต่อข้อคำถามนี้อยู่ในละครโทรทัศน์เรื่อง “นางอาย” โครงเรื่องเริ่มต้นเมื่อ “อภิรดี” หรือ “นาง” เด็กสาวแสนสวยแสนซนผู้เป็นบุตรีคนเดียวของรัฐมนตรี “เด่นชาติ” มีเหตุให้บังเอิญไปร่วมงานปาร์ตี้บ้านเพื่อนที่กำลังมั่วสุมเสพยาอยู่ จนเธอถูกตำรวจจับโดนหางเลขไปด้วย และกลายเป็นข่าวดังพาดหัวใหญ่ลงหน้าหนังสือพิมพ์ นี่จึงเป็นสาเหตุให้นางถูกบิดาส่งตัวไปเรียนต่อที่โรงเรียนคอนแวนต์หญิงล้วนที่ปีนัง ซึ่งไม่เพียงจะทำให้นางได้มารู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ อย่าง “สินีนาฏ” “สายสุดา” “มีนา” “จอยคำ” และอีกหลายๆ คนเท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่ง นางก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการกิน การอยู่ร่วมกับคนอื่น และการประพฤติตนให้อยู่ในกฎเกณฑ์ข้อบังคับของโรงเรียนอีกด้วย  ภาพของโรงเรียนคอนแวนต์แห่งนี้ ที่เต็มไปด้วยเด็กนักเรียนและคุณครูซิสเตอร์(ใจดี!!!)มากหน้าหลายตา ได้สะท้อนให้เราเห็นบทบาทหลายด้านของโรงเรียน ในฐานะสถาบันสำคัญที่เด็กและเยาวชนต้องมาใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลานานหลายปี โดยในลำดับแรกนั้น สถาบันโรงเรียนมีสถานะไม่ต่างจาก “ตะแกรง” ที่ใช้ร่อนชนชั้นทางสังคม นั่นหมายความว่า หากใครสักคนจะมีสิทธิ์เข้าไปร่ำเรียนศึกษาถึงปีนังได้แล้ว ก็ต้องมีฐานะทางเศรษฐกิจสังคมสูงในระดับหนึ่ง เหมือนกับจอยคามที่พยายามปกปิดฐานะจริงๆ ของทางบ้าน เพราะกลัวเพื่อนในกลุ่มสังคมจะรับไม่ได้ หรือสินีนาฏที่เมื่อมารดาถูกศาลฟ้องล้มละลาย เธอก็แทบจะถูกปิดกั้นโอกาสที่จะเรียนต่อไปได้เลย และแม้ต่อมาในภายหลัง ละครจะได้ให้ข้อสรุปเป็นคำอธิบายว่า มิตรภาพของเด็กๆ ที่มีให้แก่กันนั้น สำคัญเสียยิ่งกว่าการตัดสินคุณค่าจากสถานภาพทางชนชั้นของปัจเจกบุคคล แต่ข้อเท็จจริงที่ว่า โรงเรียนเป็นสถาบันที่คอยคัดกรองเด็กจากชนชั้นที่ต่างกัน ก็มิอาจปฏิเสธไปได้โดยง่ายนัก นอกจากบทบาทของโรงเรียนที่ทำหน้าที่ร่อนกรองสถานะชนชั้นทางสังคมแล้ว หากสังคมหนึ่งๆ มี “ความต้องการ” บางชุดที่อยากให้ “เด็กในวันนี้” เป็น “ผู้ใหญ่ที่ดี” และเชื่อฟังในกฎกติกามารยาทของระบบ “ในวันหน้า” ก็เป็นโรงเรียนอีกนั่นแหละที่ถูกมอบหมายบทบาทหน้าที่ของการ “ขัดเกลา” และเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดให้เด็กๆ ยอมรับว่า โรงเรียนที่มีกฎเกณฑ์ร้อยแปดช่างเป็น “โรงเรียนของเราน่าอยู่” เสียนี่กระไร เฉกเช่นที่นางเองก็ถูกบททดสอบของการขัดเกลาตั้งแต่วินาทีแรกที่ก้าวเท้าเข้ามาในขอบขัณฑสีมาของโรงเรียนคอนแวนต์ ตั้งแต่การที่เธอต้องละทิ้งความฝันที่อยากเป็นนักแข่งรถมืออาชีพ ไปจนถึงการที่ชีวิตถูกพรากออกไปจากโลกโซเชียลที่เธอชื่นชมกับการโพสต์ภาพถ่ายอัพสเตตัสอยู่เป็นอาจิณ  จากบททดสอบแรกดังกล่าว นางกับเพื่อนๆ ก็ยังถูกฝึกให้ยอมรับในกฎระเบียบของโรงเรียน และพูดวลีที่ว่า “Yes, Madam” จนติดเป็นพฤตินิสัย เพราะหากไม่ยอมรับในข้อตกลงที่ว่านี้ บทลงโทษหลากหลายก็จะถูกบริหารโดยบรรดา “คุณครูใจดีทุกคน” ตั้งแต่การนั่งสก็อตจัมพ์ ยืนคาบไม้บรรทัด สั่งอดอาหาร ล้างจานในโรงครัว ทำความสะอาดห้อง และอื่นๆ อีกมากมาย ที่แน่ๆ บททดสอบกับบทลงโทษเหล่านี้ ก็มีการสืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และยังถูกอ้างความชอบธรรมว่ามีประสิทธิภาพในการขัดเกลาบุคลิกนิสัยของเด็กผู้หญิง เหมือนกับประโยคที่ “เอมอร” มารดาของนางที่เคยเรียนในคอนแวนต์เดียวกันมาก่อน ได้กล่าวกับลูกสาวในวันมอบตัวเข้าโรงเรียนว่า “แม่เชื่อว่า ถ้าลูกรู้จักตัวลูกอย่างที่แม่รู้จัก ได้เห็นโลกกว้างกว่านี้ ลูกจะเปลี่ยนใจ”  เพราะฉะนั้น จากบุคลิกนิสัยที่เคยกระโดกกระเดก จากเด็กผู้หญิงที่เคยทำตัวขัดขืนอำนาจของผู้ใหญ่ หรือจากนางผู้แก่นแก้วที่เคยทำตัวแตกแถวไปจากระเบียบบรรทัดฐานของสังคม ยี่สิบสี่ชั่วโมงในโรงเรียนที่ดำเนินสืบเนื่องมาวันต่อวันก็ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่เด็กหญิงค่อยๆ ได้รับการ “ขัด” และ “เกลา” จนกลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ดำเนินชีวิตไปตาม “ความต้องการ” ของสังคมในที่สุด ด้วยข้อเท็จจริงที่ตัวตนของเด็กนักเรียนค่อยๆ ถูกแยกออกจากความปรารถนาที่มีมาแต่เดิมก่อนจะเข้าสู่สถาบันโรงเรียนเช่นนี้เอง ประโยคที่สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนหญิงเหล่านี้ผ่านปากตัวละครสายสุดาที่พูดว่า “ไม่มีใครเข้าใจการคิดถึงบ้านได้มากเท่ากับเด็กนักเรียนประจำหรอก” จึงกลายเป็นวาทะที่สะเทือนจิตใจของใครก็ตามที่เข้ามาได้ยินยิ่งนัก เมื่อมาถึงฉากจบ หลังจากที่ตัวละครทั้งหลายผ่านการกล่อมเกลาจนสำเร็จการศึกษาและแยกย้ายกันไปตามครรลองชีวิตของตน ผู้ชมจึงได้เห็นภาพการครองคู่ระหว่างนางกับ “ธนาธิป” ท่านกงสุลพระเอกที่เลี้ยงต้อยนางเอกมาตลอดเรื่อง หรือคู่ของสินีนาฏกับ “ชัยพล” และสายสุดากับ “คัมพล” ที่ฝ่าฟันอุปสรรคร่วมกันมาจนถึงบทสรุปอย่างเป็นสุข และในขณะเดียวกัน ละครก็ยังยืนยันให้เห็นด้วยว่า สถาบันโรงเรียนก็ได้ “ขัดเกลา” ให้เด็กหญิงนางผู้ที่เคยเป็น “นางม้าดีดกะโหลก” ไม่อยู่ในรีตในรอยของสังคม กลับกลายเป็น “นางอาย” ที่รู้จักเขินอายเพราะผ่านการขัดสีฉวีวรรณมาจนเป็นกุลสตรีที่ดีของสังคมไปแล้ว  ดังนั้น จึงยังคงเป็นความจำเป็นและไม่ผิดอันใด ที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องสืบทอดร้องเพลงกันต่อไปว่า “โรงเรียนของเราน่าอยู่” ควบคู่ไปกับ “คุณครูที่แสนใจดีทุกคน” และที่สำคัญ เด็กๆ ทุกคนก็ยัง “ชอบไป...ชอบไปโรงเรียน”

อ่านเพิ่มเติม >