ฉบับที่ 260 จะรักษาทั้งที อย่าให้ยา”ตีกัน”

        คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเมื่อเจ็บป่วยแล้วต้องไปหาแพทย์ เภสัชกรหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อรักษานั้น  ก็บอกแค่อาการป่วยและข้อมูลแพ้ยาอะไรก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงข้อมูลเท่านี้ยังไม่พอ เพราะยังมีเรื่องสำคัญมากอีกอย่างเช่นข้อมูลพฤติกรรมและการกินยาหรืออาหารอะไรอยู่ในช่วงเวลาที่เจ็บป่วย ก็เพื่อว่า “ป้องกันยาตีกัน” นั่นเอง         ไม่ใช่แค่บอกว่าแพ้ยาอะไร ผู้ป่วยควรจะต้องแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่าในช่วงนี้ตนใช้ยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมอะไรร่วมอยู่ด้วย เพราะยาบางตัวเมื่อนำไปใช้ร่วมกับยา ยาสมุนไพร หรืออาหารเสริมตัวอื่นๆ มักจะเกิดปฏิกิริยาทำให้ระดับยาในเลือดเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษา บางครั้งอาจเกิดอาการที่รุนแรงเพิ่มขึ้นไปหรือบางครั้งก็ไปทำให้ประสิทธิภาพของยาที่ใช้ลดต่ำลง ทำให้การรักษาไม่ได้ผลหรือเกิดโรคแทรกซ้อนที่อันตรายขึ้นในภายหลัง  ปฏิกิริยาแบบนี้ ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า “ยาตีกัน”         ตัวอย่าง คนไข้ เอ ติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้รับยาฆ่าเชื้อคลาริโทรมัยซิน (Clarithromycin) จากแพทย์มารับประทาน  อีก 2 วันต่อมา คนไข้มีอาการปวดไมเกรน จึงกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แต่คนไข้ไม่ได้แจ้งว่า ตนเองกำลังใช้ยาคลาริโทรมัยซินอยู่  โรงพยาบาลจึงจ่ายยาเออร์โกตามีน (Ergotamine)  เพื่อรักษาไมเกรนมาให้  เมื่อคนไข้กลับบ้านจึงรับประทานยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน  ปรากฎว่ายาทั้ง 2 ตัว  “ตีกัน”  ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจหดตัว  เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง  กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันเสียชีวิต          กรณีนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น  ในโลกนี้ยังมียาจำนวนมากที่สามารถเกิด “ยาตีกัน” กับยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณและอาหารเสริมได้  การบอกข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รักษา “ทราบชื่อ” ยาหรือ อาหารเสริมที่คนไข้ใช้อยู่  นอกจากป้องกันยาตีกันได้แล้วยังป้องกันการได้รับยาเกินขนาด  ยาซ้ำซ้อนกับยาเดิมที่มีอยู่อีกด้วย และยังช่วยให้ประเมินได้ว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหรืออาการข้างเคียงจากยาที่ใช้อยู่หรือไม่  ยาหรืออาหารเสริมหลายตัวนอกจากจะรักษาโรคได้ ก็ยังทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ด้วยเช่นกัน   หากทราบข้อมูลเหล่านี้แล้ว ผู้ที่รักษาก็จะเปลี่ยนยา ลดขนาดหรือปรับวิธีรับประทานยา  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นเพิ่มเติม         ท่องจำย้ำเตือนให้ขึ้นใจเลยครับ เวลาไปโรงพยาบาล ร้านขายยา คลินิกหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หากในช่วงนั้นผู้ป่วยมีการใช้ ยา ยาสมุนไพรหรืออาหารเสริมอยู่ด้วย ขอให้นำติดตัวไปด้วยเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ แนะนำ หากมีฉลากหรือเอกสารต่างๆ ก็ขอให้นำติดไปด้วยจะยิ่งดี

อ่านเพิ่มเติม >