ฉบับที่ 206 โฆษณาเกินจริง แม้ไม่เชื่อ ก็มีความผิด

สวัสดีครับ พบกันทุกเดือนเช่นเคยฉบับนี้ ผมขอบอกเล่าเรื่องอุทาหรณ์ของการโอ้อวดเกินจริง โดยเฉพาะทุกวันนี้ มีการเผยแพร่ข่าวสาร โฆษณาต่างๆ เพื่อชวนเชื่อให้เราซื้อสินค้าหรือบริการมากมาย  ที่มีทั้งจริงและไม่จริง มีคนสงสัยว่า ในทางกฎหมาย การโฆษณานอกจากเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแล้ว หากข้อความโฆษณานั้น มีลักษณะโอ้อวดเกินจริง ใครก็รู้ ไม่ได้หลงเชื่อ แบบนี้จะมีความผิดไหม  พอค้นๆ ดู ก็พบว่า มีคดีหนึ่งที่น่าสนใจ เกี่ยวกับการโฆษณาในแผ่นพับของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่โอ้อวดว่าของตนดีกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ และไปกล่าวหาว่าโรงพยาบาลของโจทก์เขาไม่ดี  ทำให้โรงพยาบาลดังกล่าวเอาเรื่องมาฟ้องศาล สู้กันจนถึงศาลฎีกา และมีคำพิพากษาในที่สุดว่า การโฆษณาของโรงพยาบาลที่โอ้อวดเกินจริงมีความผิด และเป็นการละเมิดทำให้ผู้อื่นเสียหายด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2118/2553ข้อมูลเปรียบเทียบศักยภาพของจำเลยในใบแผ่นพับโฆษณา จำเลยแสดงผลการเปรียบเทียบให้เห็นว่าโรงพยาบาลของจำเลยดีกว่า น่าใช้บริการมากกว่า เพราะมีผู้ประกันตนที่รับได้จำนวนมากที่สุด สะดวกสบายกว่า มีจำนวนเครือข่ายหลายแห่งกว่ามีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยมากกว่าเพราะมีผู้เข้าร่วมโครงการประกันสังคมเป็นจำนวนมากกว่าใคร โรงพยาบาลของจำเลยใหญ่กว่าเพราะมีเตียงจำนวนมากกว่ามีความมั่นคงกว่าเพราะมีประกันอุบัติเหตุให้ด้วย การโฆษณาแผ่นพับของจำเลยดังกล่าวเป็นการจูงใจให้บุคคลมาใช้บริการของจำเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตหรือผู้ดำเนินการ โฆษณา หรือประกาศหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาหรือประกาศด้วยประการใดๆ ซึ่งชื่อ ที่ตั้งหรือกิจการของสถานพยาบาลหรือคุณวุฒิหรือความสามารถของผู้ประกอบวิชาชีพสถานพยาบาลเพื่อชักชวนให้มีผู้มาขอรับบริการจากสถานพยาบาลของตน โดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง หรือน่าจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการของสถานพยาบาล" ดังนั้น การที่จำเลยระบุในแผ่นพับในช่องผู้ประกันตนที่รับได้ว่า โจทก์รับได้ 25,000 คน ช่องระยะเวลาเข้าร่วมโครงการประกันสังคมว่า โจทก์เพิ่งเริ่มเข้า ช่องขนาดโรงพยาบาลว่า โจทก์มี 150 เตียง ช่องประสบการณ์การบริหารงานโรงพยาบาลด้านโครงการประกันสังคมว่า โจทก์ไม่มีประสบการณ์เลย ซึ่งความเป็นจริงทางนำสืบของโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์มีจำนวนผู้ประกันตนที่รับได้ 50,000 คน โจทก์มีเตียง 400 เตียง และโจทก์เข้าร่วมโครงการประกันสังคมตั้งแต่ปี 2535 โจทก์จึงมีประสบการณ์ตั้งแต่ปีที่เข้าร่วมโครงการเป็นต้นมา จึงเป็นการที่จำเลยเผยแพร่แผ่นพับโฆษณาไม่ตรงกับความจริงโดยมีเจตนาให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่า โรงพยาบาลจำเลยมีศักยภาพดีกว่าโรงพยาบาลโจทก์เป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่ามีประสบการณ์มากกว่า จึงเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริงโดยใช้ข้อความอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 38 และเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์ คำว่า สิทธิ หมายความถึงประโยชน์ของโจทก์ที่มีอยู่ และจำเลยหรือบุคคลอื่นต้องเคารพหรือได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการจงใจทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายแก่สิทธิเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 423 หรือบางครั้ง แม้ข้อความที่พูด จะไม่เข้าข่ายการกล่าวโอ้อวดเกินจริง แต่หากทำให้ผู้อื่นเสียหาย เสียชื่อเสียงก็เป็นละเมิดต้องรับผิดต่อเขาเช่นกัน ดังฎีกาต่อไปนี้คำพิพากษาฎีกาที่ 891/2557คำกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องที่ว่า “พวกมันมีเหี้ย 7 ตัว” หรือ “มันเป็นสามานย์” แม้เป็นการกล่าวกระทบถึงโจทก์ทั้งเจ็ด แต่ก็มิใช่การนำความเท็จหรือข้อความที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับตัวโจทก์ทั้งเจ็ดมากล่าว หากแต่เป็นการด่าโจทก์ทั้งเจ็ดด้วยความรู้สึกเกลียดชังว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี โดยเปรียบเหมือนสัตว์ซึ่งไม่ใช่เป็นการนำข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงมากล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้กล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงตาม ป.พ.พ. มาตรา 423แต่การพูดปราศรัยด้วยถ้อยคำตามฟ้องต่อประชาชนที่มาฟังการชุมนุม ณ ที่เกิดเหตุนั้นประชาชนที่ฟังย่อมรู้สึกได้ว่าโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นคนไม่ดี ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งประธานสภาหรือสมาชิกสภาเทศบาล อันเข้าลักษณะเป็นการทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายตามมาตรา 420 ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียชื่อเสียงอันเป็นสิทธิอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งเจ็ดและจำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 203 หนังสือรับสภาพความผิด ไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ

ครั้งนี้ผมจะนำเกร็ดความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทำสัญญารับสภาพความผิด มาเล่าสู่กันฟัง หากกล่าวถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ คงไม่เข้าใครออกใคร ตัวอย่างที่จะยกมาเล่าครั้งนี้ ก็เป็นเรื่องของเหรัญญิกคนหนึ่งที่ต้องดูแลเงินของกองทุนหมู่บ้าน แต่ด้วยความโลภก็เอาเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัว ต่อมามีการทำหนังสือสัญญารับสภาพความผิด และมีข้อตกลงจะรับผิดชอบหาเงินมาคืน แต่สุดท้ายเหรัญญิกก็ผิดสัญญา ไม่คืนเงิน คณะกรรมการกองทุนจึงมาฟ้องคดีให้คืนเงิน ซึ่งก็มีประเด็นที่ขึ้นสู่ศาลฎีกาว่า หนังสือรับสภาพความผิดที่ทำกัน มีผลทำให้มูลหนี้เดิมระงับไปแล้วหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ตัดสินโดยวางหลักไว้ว่า หนังสือรับสภาพความผิดไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ และมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้เดิมระงับไป โจทก์มีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่6271/2558 หนังสือรับสภาพความผิดจำเลยทำขึ้นเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้นำเงินของโจทก์ไปใช้ส่วนตัวในระหว่างดำรงตำแหน่งเหรัญญิกของโจทก์ และจำเลยยินยอมชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยให้ครบถ้วนภายในวันที่ 1 มิถุนายน  2554 หนังสือรับสภาพความผิดดังกล่าวจึงเป็นเพียงหลักฐานที่จำเลยทำขึ้นฝ่ายเดียวตกลงยอมรับผิดชำระหนี้ที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบ มิใช่คู่กรณีตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่ทำให้มูลหนี้เดิมที่จำเลยนำเงินของโจทก์ไปใช้ระงับไปแล้วเกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้งไม่มีการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ จึงมิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ระงับไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีข้อเท็จจริงใกล้เคียงกัน ศาลฎีกาได้ตัดสินว่า เมื่อกระทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายแล้ว ต่อมาผู้กระทำผิดได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงจะชำระเงินคืนให้ผู้เสียหาย หากผิดนัดยินยอมให้ผู้เสียหายดำเนินคดี ยังไม่ถือเป็นการยอมความกัน เมื่อต่อมามีการผิดสัญญารับสภาพหนี้ ก็ยังมีสิทธิฟ้องคดีอาญาข้อหายักยอกทรัพย์ได้คำพิพากษาฎีกาที่ 270/2558เดิมจำเลยได้กระทำการยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายในคดีนี้และก่อนมีการดำเนินคดีผู้เสียหายกับจำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กัน มีใจความว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายเนื่องจากได้กระทำทุจริตยักยอกเงินค่าไม้และวัสดุก่อสร้างของผู้เสียหายไป เป็นเงิน 260,597.80 บาท จำเลยตกลงชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 100,000 บาท วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 เป็นเงิน 80,289.90 บาท หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดและยินยอมให้ผู้เสียหายเรียกเงินส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10 และยินยอมให้แจ้งความดำเนินคดีฐานทุจริตยักยอกเงินของผู้เสียหาย ปัญหามีว่าถ้อยคำตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการยอมความกันหรือไม่ศาลฎีกาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว เป็นข้อตกลงที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้ผู้เสียหายในเงินที่จำเลยยักยอกไปและจะชดใช้หนี้ให้ผู้เสียหายโดยวิธีการผ่อนชำระเท่านั้น ซึ่งมีผลผูกพันกันทางแพ่งและเป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าผู้เสียหายตกลงสละสิทธิ์ในการดำเนินคดีอาญาแก่จำเลย กรณียังถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับไปจากตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองข้างต้น ทุกท่านจะเห็นว่า เวลามีการตกลงทำหนังสือรับสภาพความผิดก็ดี หนังสือรับสภาพหนี้ก็ดี ในกรณีมีการทำผิดฐานยักยอกทรัพย์ สัญญาดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการทำให้หนี้ที่เกิดขึ้นระงับไป ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ผู้เสียหายที่ถูกยักยอกเงินยังมีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องคดีเพื่อติดตามเอาเงินคืนได้ และมีสิทธิดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้ด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >