ฉบับที่ 259 ใต้หล้า : กว่าฝนจะตกทั่วฟ้า

        สังคมไทยมีรากเหง้าที่ผูกพันกับธรรมชาติและวิถีเกษตรกรรมมาอย่างยาวนาน โดยริ้วรอยที่เห็นในความเปรียบสำนวนและพังเพยต่างๆ บ่งบอกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน         และในขณะที่ผู้เขียนยกร่างต้นฉบับบทวิจารณ์ละครอยู่ ณ ขณะนี้ ก็เป็นช่วงจังหวะที่ฟ้ากำลังฉ่ำฝน เพราะเมืองไทยก้าวย่างเข้าสู่วสันตฤดูกันอีกคราหนึ่ง เลยทำให้ขบคิดตระหนักได้ว่า คำพังเพยของไทยที่อุปมาอุปไมยด้วยเรื่องราวของฟ้าฝนที่ชุ่มฉ่ำชุ่มชื้นแบบนี้ ก็ดูจะมีอยู่ไม่น้อย         ความเปรียบว่า “ฝนสั่งฟ้า ปลาสั่งหนอง” ที่หมายถึงการกระทำอันใดเพื่อฝากฝังไว้ก่อนลาจากไป หรือพังเพยที่ว่า “ฝนตกอย่าเชื่อดาว” อันกล่าวเตือนสติว่าไม่ควรวางใจใครจนมากเกินไป หรือแม้แต่สำนวนเชิงประชดประชันอย่าง “ฝนตกขี้หมูไหล” ซึ่งหมายถึงคนที่พลอยทำตัวเหลวไหลไม่ดีไปด้วยกัน ต่างก็สะท้อนความรู้สึกนึกคิดที่คนไทยผูกพันวิถีชีวิตในช่วงหน้าฝน จนกลายมาเป็นระบบภาษาสำนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน         เมื่อผู้เขียนนั่งดูละครโทรทัศน์แนวดราม่าเข้มข้นเรื่อง “ใต้หล้า” อยู่นั้น สำนวนเปรียบเปรยว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า” ก็ผุดขึ้นมาอยู่ในห้วงความคิด ความหมายจริงๆ ของสำนวนนี้แสดงนัยถึงการให้หรือจ่ายแจกสิ่งใดๆ โดยไม่ทั่วถึง หรือจะว่าไปแล้ว ก็เป็นการที่คนโบราณตั้งคำถามว่า การกระจายอำนาจ ทรัพยากร และผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ตั้งอยู่บนฐานคิดเรื่อง “ความยุติธรรม” กันบ้างไหม         หากคำถามเรื่องความยุติธรรมเป็นประหนึ่งการตั้งโจทย์ว่า ตกลงแล้วฝนตกลงมาถ้วนทั่วท้องฟ้าจริงๆ หรือ ชีวิตของตัวละครที่พื้นเพเป็นคนชั้นกลางทั่วไปแต่ฐานะขัดสนอย่าง “ใต้หล้า” ผู้ต้องเผชิญมรสุมแห่งความอยุติธรรมมากมาย ก็คือการพิสูจน์คำตอบว่า ถึงที่สุดแล้ว สองมือแห่งปัจเจกบุคคลจะสามารถทำให้ฝนจากฟ้าหล่นลงมาทั่วถ้วนผืนแผ่นหล้าได้หรือไม่         ชีวิตที่ดำเนินไปของตัวละครใต้หล้าดูจะไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งเขาได้โคจรมาเจอกับ “หิรัญ” ลูกชายของ “เปี่ยมยศ” นักธุรกิจรายใหญ่แห่งตระกูล “เถากุหลาบ” และอาจจะด้วยเป็นลูกมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ แต่ขาดความรักจากบิดา และถูกเลี้ยงตามใจให้เสียคนจาก “อุษา” ผู้เป็นมารดา หิรัญผู้เกิดมาบนกองเงินกองทองจึงเชื่อว่า “เงินเนรมิตความสุขทุกอย่างในชีวิตได้”         จนกระทั่งวันหนึ่ง หิรัญเมาสุราและได้ขับรถสปอร์ตคันงามซิ่งออกไปชนกับรถยนต์ที่พ่อแม่ของใต้หล้าขับมา ทำให้ทั้งคู่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ และเพราะ “คนรวยทำอะไรก็ไม่ผิด” แม้จะ “เมาแล้วขับ” จนมีคนตาย และใต้หล้าเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อทวงความถูกต้องยุติธรรมให้กับบุพการี แต่กระนั้น กฎหมายก็ไม่อาจทำอะไรกับทายาทมหาเศรษฐ๊ ผู้ที่ประกาศเสียงก้องอยู่ในสองโสตสัมผัสของพระเอกหนุ่มว่า “มึงทำอะไรกูไม่ได้ เพราะอะไร…เพราะกูคือเถากุหลาบ”         เมื่อสายธารชีวิตของชายหนุ่มสองคนได้ไหลมาบรรจบพบกัน โดยมีความยุติธรรมเป็นแกนกลางของเส้นเรื่อง สงครามความขัดแย้งระหว่างชนชั้นจึงระเบิดขึ้นอย่างมิอาจเลี่ยงได้ ทั้งนี้ สำหรับชนชั้นรากหญ้าที่สังคมมักรับรู้กันว่า “คนจนแค่หายใจก็ผิดแล้ว” นั้น ในสงครามยกแรก ฐานานุภาพทางการเงินของเถากุหลาบก็ทำให้เปี่ยมยศมั่นใจที่จะพูดกับหิรัญว่า “ไอ้เด็กนั่นมันไม่มีอะไรเลย เราไม่ได้เกิดมาเพื่อแพ้”         ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ละครได้ฉายภาพจำลองวิถีปฏิบัติของคนรวยที่ใช้เงินซื้อตัว “สันติ” ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ “ไม่มีอะไรเลยนอกจากหนี้ติดตัว” ให้มาสมอ้างเป็น “แพะรับบาป” ติดคุกแทนหิรัญ ตามด้วยการป้องปรามและเอาคืนใต้หล้าโดยตัดอนาคตของ “ฟ้ารุ่ง” พี่สาวของเขา ทั้งล่อลวงทางเพศและกระทำกับเธอประหนึ่งวัตถุสิ่งของด้วยการติดป้ายประจานกลางหลังว่า “ขายถูก” โพสต์เป็นคลิปลงในสื่อโซเชียล         ฉากจบในสงครามยกแรกจึงลงเอยที่ใต้หล้าได้ลุแก่โทสะท้าดวลและพลั้งไปตัดนิ้วมือข้างขวาของหิรัญขาด จนทำให้พระเอกหนุ่มติดคุกเป็น “ราคาที่ต้องจ่าย” เซ่นสังเวยให้กับความยุติธรรมที่เขาต้องการทวงถาม         เพราะ “สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร” สองปีผ่านไป ผู้ต้องขังชั้นดีอย่างใต้หล้าก็พ้นโทษ และพร้อมจะกลับมาทวงคืนความยุติธรรมกันอีกคำรบหนึ่ง แม้ใครต่อใครรวมทั้ง “อาม่า” จะพยายามเตือนสติเขาว่า “คิดเสียว่าเป็นเวรเป็นกรรม มันเกิดไปแล้ว ให้เราพาตัวเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า” แต่นั่นก็มิอาจหน่วงรั้งจิตสำนึกพระเอกหนุ่มผู้ต้องการต่อสู้เพื่อผ่าตัดเปลี่ยนแปลงระบบอันไร้ซึ่งความยุติธรรมไปได้เลย         เมื่อสงครามยกใหม่ระหว่างตัวละครได้เริ่มขึ้น ใต้หล้าผู้ที่บัดนี้มีอิสรภาพและปรารถนาจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ดังนั้น ด้วยความช่วยเหลือของ “หยาง” นายทุนจีนรายใหญ่ผู้รักในคุณธรรมความดี ไม่นานนักเขาก็ค่อยๆ มีเงินทุนและมีฐานะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างรวดเร็ว พร้อมบ่งชี้ข้อพิสูจน์กับใต้หล้าว่า สำหรับคนที่เคยติดคุก หากมีคุณธรรมและความพากเพียร ก็สามารถลุกขึ้นใหม่ได้ทุกคน         แต่เพราะสมรภูมิความขัดแย้งของชนชั้นเองก็มิเคยเจือจางลางเลือนหายไป เมื่อเถากุหลาบเล็งเห็นว่า ธุรกิจของใต้หล้าที่เติบโตและมีกลุ่มทุนจีนหนุนหลัง เริ่มเขยิบมา “เหยียบปลายจมูก” กันแล้ว ภาพของกลุ่มทุนรายใหญ่ที่จับจ้องเอาเปรียบกลุ่มคนอื่นๆ เฉกเช่นใต้หล้า จึงวนเวียนกลับมาให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง         ไม่ว่าจะเป็นความพยายามซื้อตัวฟ้ารุ่งมาเป็นพวก การลอบวางเพลิงเผาโกดังสินค้าของพระเอกหนุ่ม การที่หิรัญส่งนิ้วมือที่ถูกตัดของเขาไปข่มขู่คุกคามอาม่าผู้เป็นญาติผู้ใหญ่ รวมไปถึงการที่เปี่ยมยศใช้เงินเพื่อร้อย “อากาศ” ผู้หญิงคนรักของใต้หล้าเอาไว้หลอกใช้งาน ด้วยเหตุผลที่ลูกสาวนอกสมรสคนนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษามารดาที่ลมหายใจรวยรินอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลเถากุหลาบนั่นเอง         จากนั้น สงครามแห่งชนชั้นก็ได้ดำเนินมาใกล้ฉากจบ พร้อมๆ กับใต้หล้าและฟ้ารุ่งที่บอกกันและกันว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่พี่น้องสองคนจะ “set zero” เริ่มต้นใหม่ เพื่อทำให้เถากุหลาบรู้ซึ้งว่า “ความยุติธรรมมีอยู่จริง” ไม่ต่างจากหยาดฝนที่ปัจเจกบุคคลต้องลงมือทำให้ตกมาจากฟากฟ้าด้วยตนเอง         จนในท้ายที่สุดของเรื่อง เราจึงได้เห็นบทสรุปที่เป็นภาพของคนผิดอย่างหิรัญถอดนิ้วปลอมออกจากมือขวา และเดินเข้าคุกเพื่อชดใช้กรรม รวมไปถึงฉากที่ “แพะ” อย่างสันติตัดสินใจขับรถพุ่งชนเปี่ยมยศจนเขาพิการตลอดชีวิต แม้ภาพจะดูรุนแรง แต่ก็บอกเป็นนัยได้ว่า ถ้าความยุติธรรมในระบบกฎหมายใช้การไม่ได้กับคนบางคน หรือถ้าหาก “คุกไม่ได้มีไว้ขังคนรวย” แต่เตียงโรงพยาบาลก็อาจจะเป็นคุกที่ใช้ขังคนกลุ่มนี้ได้แทน         จากคำถามที่ว่า ฝนจะตกทั่วฟ้า หรือความยุติธรรมมีจริงได้บ้างไหม คำตอบอาจไม่ได้อยู่ที่การรอคอยให้เม็ดฝนนั้นตกมาเอง แต่อยู่ที่ปัจเจกบุคคลมากกว่าว่า จะลงมือสร้างความยุติธรรมให้ปรากฏเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ เฉกเช่นที่ใต้หล้าได้ชี้ไปที่ภูเขาลูกไกลโพ้น และกล่าวกับอากาศผู้เป็นหญิงคนรักว่า “แม้ความยุติธรรมจะใหญ่เหมือนภูเขาลูกโน้น แต่หล้าก็อยากจะลองขยับดู”

อ่านเพิ่มเติม >