ฉบับที่ 252 กะรัตรัก : ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก

               ตามสามัญสำนึกคนทั่วไป “ความรักโรแมนติก” หรือที่เรียกติดปากว่า “โรมานซ์” เป็นอารมณ์ปรารถนาที่มักตอบโจทย์ให้กับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยแรกรุ่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ความรักโรแมนติกเป็นพื้นที่ที่เอื้อให้หญิงสาวในวัยนี้ได้ “หลบหนี” เพื่อไปแต่งปั้นจินตกรรมภาพ “ผู้ชายในฝัน” ที่เธอคาดหมายจะครองคู่ในอนาคต         หากเป็นดั่งความข้างต้นนี้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้หญิงที่มีชีวิตเกินวัยแรกเริ่มความรักโรแมนติก และได้พบเจอกับ “ผู้ชายในชีวิตจริง” กันแล้ว ปรารถนาจะหวนมาสัมผัสชีวิตรักโรมานซ์กันอีกสักครั้งบ้าง คำถามข้อนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ และความรักโรแมนติกจะสัมพันธ์กับความต้องการของผู้หญิงกลุ่มหลังนี้อย่างไร         คำตอบต่อความสงสัยข้างต้นดูจะเป็นโครงเรื่องหลักของละครโทรทัศน์ “กะรัตรัก” กับการนำเสนอเรื่องราวของ “กะรัต” หญิงสาวเฉียดวัย 40 ปี ผู้บริหารคนเก่งแห่งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ “ไดมอนส์พร็อพเพอร์ตี้” และแต่งงานอยู่กินกับสามีนักธุรกิจอย่าง “ชาคริต” ที่เป็นผู้บริหารงานอีกคนในบริษัทเดียวกัน         แม้จะมีลูกชายหัวแก้วหัวแหวนวัย 6 ขวบอย่าง “พัตเตอร์” เป็นโซ่ทองคล้องใจ และคล้องผูกสายสัมพันธ์ในครอบครัวมานานหลายปี แต่เพราะกะรัตเป็นหญิงแกร่งและหญิงเก่งไปเสียแทบจะทุกด้าน สถานะของ “ช้างเท้าหลัง” ในบ้านที่จับพลัดจับผลูย่างก้าวมาเทียบเคียงเป็น “ช้างเท้าหน้า” เช่นนี้ จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ผู้ชายอีโก้สูงเยี่ยงชาคริตมิอาจยอมรับได้         ยิ่งเมื่อทั้งกะรัตและชาคริตต้องมาลงสนามแย่งชิงตำแหน่งผู้กุมบังเหียนโปรเจ็กต์เปิดตัวใหม่ “ริเวอร์ไชน์” ของบริษัทต้นสังกัดด้วยแล้ว ความริษยาลึกๆ ต่อศรีภรรยาก็ยิ่งเป็นเสมือนเชื้อเพลิงในใจของชาคริตที่รอคอยวันระเบิดปะทุออกมา         ความขัดแย้งบนผลประโยชน์นอกบ้าน ที่เขย่าความสัมพันธ์ของสามีภรรยาที่แม้จะใช้ชีวิตคู่ในชายคาบ้านเดียวกันมายาวนาน ทำให้กะรัตเองก็เริ่มเข้าใจสัจธรรมว่า “เขาย่อมเปรียบเทียบความเมื่อยามรัก แต่น้ำผักต้มขมชมว่าหวาน” แต่ทว่าหลังวันแต่งงานผ่านพ้นไป ชีวิตรักโรแมนติกที่เคย “ชมว่าหวาน” ก็อาจเจือจางจน “แต่น้ำตาลว่าเปรี้ยวไม่เหลียวแล” ได้เช่นกัน         สถานการณ์ของหญิงทำงานวัยสี่สิบกะรัตยิ่งเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงแค่ในสนามแข่งขันกับชาคริตผู้เป็นสามี และยังมี “เวนิส” สาวรุ่นใหม่ไฟแรงที่เปิดตัวเป็นคู่แข่งเพื่อชิงชัยเป็นเจ้าของโปรเจ็กต์ริเวอร์ไชน์ด้วยอีกคน แม้แต่ในสนามชีวิตครอบครัว กะรัตยังต้องประกาศสงครามกับ “นิตา” เลขานุการสาว ผู้มุ่งมั่นเป็น “แมวขโมยปลาย่าง” ที่คอยจะฉกเอาชาคริตผู้กำลังระหองระแหงกับภรรยามาเป็นสามีของตน         จนในที่สุด เมื่อศึกรุมเร้ารอบด้าน พร้อมๆ กับความรักหวานชื่นที่โรยราจืดจางลง เพราะสามียื่นเจตจำนงขอหย่าขาดจากภรรยา กะรัตผู้ที่กำลังก้าวหน้าในอาชีพการงาน จึงเลือกหันไปครวญเพลงในยุค 90s ของ ใหม่ เจริญปุระ ที่ร้องว่า “เก็บใจไว้ในลิ้นชัก คงไม่เจอแล้วรักแท้ เบื่อกับความปรวนแปร มันไม่แคร์และไม่หวัง…”         เมื่อหัวใจต้องแห้งแล้งลง ไม่ต่างจาก “ลิ้นชักที่ปิดตายเพราะรักร้าว” ผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนเช่นกะรัตก็ได้แต่เชื่อว่า เธอไม่อาจหวนมาสัมผัสกับชีวิตรักโรมานซ์ได้อีก เหมือนกับประโยคที่เธอพูดกับตัวเองหลังถูกสามีขอหย่าว่า “ฉันต้องกลายเป็นอีบ้าที่หมดความต้องการทางเพศ หมดเสน่ห์และแรงดึงดูดทางเพศแบบที่สาวๆ พึงมี” ทั้งๆ ที่จริงแล้ว กะรัตก็สำเหนียกอยู่ลึกๆ ว่า “จะบอกอะไรให้ ผู้หญิงต้องการความรักมากที่สุด”         ในขณะที่อารมณ์ความรู้สึกของผู้หญิงวัยเฉียดเลข 40 มีแต่จะแห้งเหือดลงไปพร้อมกับสายสัมพันธ์ที่แปลกแยกและเปราะบาง เฉกเช่นฉากเปิดเรื่องของละครที่กะรัตถูกขอหย่า และต้อง “ยืนอยู่กลางลมฝนสู้ทนฟันผ่า” เพราะประตูรถหนีบชายกระโปรงเอาไว้ กลับมีตัวละครชายหนุ่มหน้ามนอย่าง “ไอ่” ปรากฏกายเดินถือร่มคันใหญ่มากางปกป้องเธอไว้ในสภาวะของ “กายที่มันอ่อนล้าแทบยืนไม่อยู่” นั้นเอง         ไอ่เป็นตัวละครนักศึกษาฝึกงานด้านสถาปัตย์ อันที่จริงแล้ว ชายหนุ่มแอบตกหลุมรักกะรัตตั้งแต่ครั้งที่เธอได้รับเชิญมาบรรยายเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย และก็เหมือนกับที่ไอ่กล่าวกับกะรัตว่า “ถ้าจักรวาลมีเหตุผลมากพอให้เราได้เจอกัน ยังไงเราก็จะได้เจอกัน” ดังนั้น ในท้ายที่สุดเหตุผลแห่งจักรวาลก็ทำให้ทั้งคู่ได้โคจรมาพบกันในวันที่ชีวิตของผู้หญิงอย่างกะรัตรู้สึกอ่อนแอที่สุด         หากโรมานซ์เป็นความรู้สึกที่เติมเต็มภาพ “ชายในฝัน” ให้กับผู้หญิงสาวแรกรุ่นทั้งหลาย อารมณ์รักโรแมนติกแบบเดียวกันนี้ก็สามารถเป็นกลไก “ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ” ทางความรู้สึกให้กับผู้หญิงที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยกลางคนได้ไม่ยิ่งหย่อนกัน         เพราะฉะนั้น เมื่อไอ่เริ่มตั้งคำถามกับกะรัตถึง “บ้าน” ว่าเป็น “สถานที่ที่มีคนเปิดไฟรอให้เรากลับมา แล้วเราก็พูดว่า กลับมาแล้วครับ” และตามด้วยการ “ขายขนมจีบ” ให้กับบอสสาวรุ่นใหญ่ว่า “ถ้าคบผู้ใหญ่สร้างบ้านแล้วไม่น่าอยู่ ลองคบเด็กสร้างบ้านก็ไม่เลวนัก” กะรัตจึงตอบตกลงที่จะครวญเพลงยุค 90s ต่อเนื่องให้กับชายหนุ่มรุ่นน้องว่า “เก่งมาจากไหนก็แพ้หัวใจจากเธอ เมื่อไหร่ที่เผลอยังนึกว่าเธออยู่ในฝัน…”         แม้เมื่อเลิกร้างกับชาคริตไป กะรัตจะมี “มาร์ก” ซีอีโอรูปหล่อพ่อม่ายเรือพ่วง แถมคุณสมบัติเหมาะสมกันทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และฐานะการงานการเงิน เสนอตัวมาเป็นพ่อเลี้ยงคนใหม่ให้กับน้องพัตเตอร์ แต่เรื่องของความรักก็หาได้เกี่ยวพันกับเหตุผลเรื่องความแตกต่างระหว่างวัยไม่ เพราะไอ่ได้กลายมาเป็นคำตอบในใจโทรมๆ ของกะรัตไปแล้ว และความรู้สึกโรมานซ์ที่มีต่อหนุ่มรุ่นน้องห่างวัยในครั้งนี้ ก็ได้ทำให้ผู้หญิงวัยเฉียดสี่สิบกะรัตเหมือนมีน้ำทิพย์ชะโลมใจ และย้อนวัยให้เธอเป็นประหนึ่งดรุณีดอกไม้แรกรุ่นกันอีกครา         เหมือนกับที่บทเพลงบอกว่า “ยังมีอีกหรือรักแท้ที่เคยเสาะหามานาน วันนี้เป็นไงเป็นกันจะรักเธอ…” ดังนั้น เพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งผู้ชายในฝันที่เธอปรารถนา ควบคู่ไปกับการช่วงชิงชัยในเกมธุรกิจของบริษัท เราจึงเห็นภาพของกะรัตที่เดินเกมรุกนั่งกินโต๊ะจีนกับครอบครัวของไอ่ เข้าสู่สนามต่อสู้กับ “อัญญา” คู่แข่งรุ่นเด็กกว่าที่แอบมาชอบชายหนุ่มคนเดียวกับเธอ ไปจนถึงตอบรับรักหนุ่มรุ่นน้องต่อหน้าสาธารณชนแบบไม่แคร์เวิร์ลด์         ในฉากจบของเรื่องที่ทั้งกะรัตและไอ่เดินจูงมือกัน ยิ้มแย้มอย่างมีความสุขอยู่ริมทะเล จึงเป็นภาพที่แตกต่างไปจากฉากอวสานของละครโทรทัศน์แนวโรมานซ์ทั่วไป ที่มักเป็นพระเอกนางเอกซึ่งดูเหมาะสมรุ่นวัยจะมาเดินเคียงคู่ตระกองกอดกันในซีนรักริมทะเลแบบเดียวกันนี้         ภาพความรักกระหนุงกระหนิงของกะรัตและไอ่ที่ดูต่างออกไปจากวิถีปฏิบัติของละครเรื่องอื่นๆ คงให้ข้อสรุปกับผู้หญิงได้ว่า กาลครั้งหนึ่งพวกเธอเคยได้สัมผัสความรักโรแมนติกมาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป อารมณ์รักโรมานซ์ก็อาจจืดจางลางเลือนลง จนกว่าจะมีเหตุผลของจักรวาลและความมุ่งมาดปรารถนาของผู้หญิงเองเท่านั้น ที่จะทำให้พวกเธอได้รับความรู้สึกรักโรแมนติกกลับคืนมา และ “she will never walk alone” อีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 ดวงใจในมนตรา : ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า...

                ย้อนกลับไปสมัยเด็กๆ ผู้เขียนเคยได้ยินเนื้อเพลงที่ขับร้องโดยคุณสวลี ผกาพันธุ์ ที่ขึ้นต้นว่า “ฆ่าฉัน ฆ่าฉันให้ตายดีกว่า ไยถึงไม่เข่นฆ่าเมื่อไม่ไยดี...” ตอนได้ยินได้ฟังครั้งแรกนั้น ก็รู้สึกสนเท่ห์ใจอยู่ในทีว่า เพราะเหตุใดกันหรือที่ทำให้ผู้หญิงต้องมาร้องครวญรำพันให้ชายที่เธอหลงรัก “ฆ่าให้ตายดีกว่า”         หากในอดีตอิสตรีเป็นผู้ครวญเพลงเรียกร้องให้บุรุษเพศฆ่าเธอให้ตายเช่นนี้แล้ว เหตุไฉนในละครโทรทัศน์เรื่อง “ดวงใจในมนตรา” จึงถึงคราวที่ตัวละครอย่าง “พชร” ชายผู้ถูกสาปให้ไม่มีหัวใจและไม่มีวันตาย ได้ออกมาเรียกร้องให้หญิงคนรักอย่าง “มทิรา” ถอนซึ่งมนตราคำสาป และฆ่าเขาให้ตายดีกว่า         ในทุกวันนี้ที่มนุษยชาติต่างเกลียดและกลัว “ความตาย” แต่ทำไมชายหนุ่มพชรจึงนิยามความหมายใหม่ให้ “ความตาย” กลายเป็น “สิ่งล้ำค่า” ที่ปรารถนาสูงสุดในชีวิตอมตะของเขา?         จำเริญความตามท้องเรื่องของละคร โดยย้อนกลับไปในปางบรรพ์ พชรเป็นอดีตนักรบแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัมเมื่อกว่าสองพันปีก่อน ในครั้งนั้นพชรได้ตกหลุมรักกับมทิรา เทวทาสีผู้ถือครองพรหมจรรย์เพื่อบูชาองค์เทพ แต่เพราะความรักที่มีให้กับเขา เธอยอมสละทุกอย่างแม้แต่ร่างพรหมจรรย์เพื่อให้ได้อยู่ครองคู่กับพระเอกหนุ่ม         แต่ทว่า ด้วยภาพฉากหลังของเรื่องที่ดำเนินไปบนความขัดแย้งและการช่วงชิงบัลลังก์แห่งกษัตริย์ผู้ปกครองนครโบราณตารวะปุรัม ทั้งพชรและมทิราจึงถูกสถานการณ์บีบให้เข้าสู่วังวนแห่งการเมืองอันเนื่องมาแต่ผลประโยชน์และอำนาจดังกล่าว         และเพราะมทิรายึดถือ “ความรัก” แบบชายหญิง ดังที่เธอก็เลือกสละเพศพรหมจรรย์เพื่อมอบดวงใจรักให้กับพระเอกหนุ่ม แต่กับพชรนั้น เขากลับเลือกยึดมั่นใน “หน้าที่” และบ้านเมืองเป็นสรณะ โดยมิอาจทรยศได้แต่อย่างใด สนามรบทางการเมืองของนครในตำนานจึงก่อกลายเป็นสนามรบทางเพศระหว่างชายหญิง หรือระหว่าง “หน้าที่” กับ “ความรัก” ไปโดยปริยาย         ดังนั้น เมื่อ “หน้าที่” ของพชรบีบบังคับให้เขาต้องประหารชีวิตผู้ต้องหากบฏ อันรวมถึง “เสนาบดีสุรายา” ผู้เป็นบิดาของมทิรา ส่งผลให้หัวใจของหญิงที่เต็มไปด้วย “ความรัก” อย่างมทิราต้องสิ้นสลายกลายเป็นความโกรธแค้นที่ฝังแน่นอุรา         “เจ็บใจนักเพราะรักมากไป ไม่เตรียมใจซะบ้าง ไม่ระวังก็เพราะมัวแต่ไว้ใจ…” ในที่สุดมทิราก็ตัดสินใจสมาทานตนเข้าสู่ด้านมืด และถูกมนต์ดำแห่งอัคคีเทวาเข้าแทรกในจิตใจ เธอจึงใช้ “มนตรา” และกริชที่ชายคนรักมอบให้แทงเข้าที่อกและควัก “ดวงใจ” ของเขาออกมา ก่อนจะสาปให้ “ดวงใจในมนตรา” ของพระเอกหนุ่มกลายเป็น “เพชรดวงใจนักรบ” โดยที่พชรก็เหลือเพียงแต่ร่างที่เป็นอมตะไม่มีวันตาย ส่วนเธอก็จะจองเวรเขาทุกชาติไป และนับจากวันนั้นนครตารวะปุรัมก็ล่มสลายไปตลอดกาล         เวลาผ่านไประลอกแล้วระลอกเล่า พชรที่ถูกเวทมนตร์ซึ่งสาปไว้โดยหญิงคนรักให้เขาเป็นผู้ไม่มีวันตาย กลับต้องมาเห็นชีวิตที่เวียนว่ายตายเกิดและเกิดใหม่หลายภพชาติของตัวละครอื่นๆ รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น “สินธุ” อดีตทหารคนสนิทของพชร หรือน้องสาวบุญธรรมอย่าง “ลดา” ผู้กลับมาเกิดเป็น “พราวพลอย” หญิงสาวผู้มีใบหน้าเหมือนมทิราในภพชาติล่าสุด ไปจนถึงมทิราเองที่เวียนว่ายมาเกิดใหม่เป็น “วิภู” ชายหนุ่มเจ้าของรีสอร์ตหรูที่วางแผนทุกทางเพื่อกลับมาแก้แค้นพชรในชาติปัจจุบัน         ในขณะที่คนรอบข้างต่างเป็นมนุษย์ผู้เวียนวนในสังสารวัฏ แต่ร่างอมตะของพชรก็ยังคงเฝ้าวนเวียนตามหาเพชรดวงใจนักรบ หรือหัวใจของเขาที่ต้องคำสาป พระเอกหนุ่มจึงต้องดำรงอยู่กับความรู้สึกเดียวดาย และต้องกลายเป็นร่างไร้ชีวิตซึ่งรอคอยการให้อภัยจากมทิราที่จะปลดปล่อยเขาจากอาถรรพเวทแต่ปางก่อน        ตามความเชื่อของคนไทย มนุษย์และสรรพชีวิตทั้งมวลล้วนตกอยู่ภายใต้วัฏสงสารเป็นตัวกำหนด หรืออีกนัยหนึ่ง ตราบใดที่เรายังดำรงอยู่ในวัฏฏะแห่งการ “เกิดแก่เจ็บตาย” (รวมถึงการเกิดใหม่) ตราบนั้นเราก็ยังคงสภาวะความเป็นมนุษย์อยู่อย่างแท้จริง ความตายตามคติความเชื่อนี้จึงหาใช่จะเป็นเรื่องไม่น่าอภิรมย์ หากแต่มรณานุสติหรือสติที่จะเข้าใจความตาย ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในความเข้าใจชีวิตของมนุษย์เรา         แต่เพราะพชรถูกคำสาปให้มีเพียง “เกิด” ขึ้นมา หากทว่าไม่รู้จัก “แก่” เนื่องจากสังขารยังคงสภาพเยี่ยงเดิมมานับศตวรรษ ไม่รู้จัก “เจ็บ” เพราะแม้จะถูกลอบยิงลอบทำร้ายหรือมีบาดแผล ก็ฟื้นคืนร่างกายได้โดยเร็ว และเป็นอมตะไม่รู้จัก “ตาย” หรือ “เกิดใหม่” ดังนั้นพระเอกหนุ่มจึงกลายเป็นผู้สูญสิ้นซึ่งความเป็นมนุษย์ไป         และในเวลาเดียวกัน เพราะเป็นชีวิตที่มีเพียงการ “เวียนว่าย” แต่ไร้ซึ่ง “ตายเกิด” พชรจึงอยู่ในสภาวะประหนึ่งอมนุษย์ ไม่ต่างจากผีดิบหรือแวมไพร์ และยิ่งต้องรู้สึกเจ็บปวดมากขึ้นที่ได้เห็นคนรอบข้างมีเกิดมีดับมีเกิดใหม่ในต่างภาพชาติ ร่างของพระเอกหนุ่มที่ดำรงอยู่โดยไม่วายปราณ จึงเป็นเพียงแค่ซากอันไร้ชีวิตนั่นเอง         โดยนัยนี้ ในสนามรบระหว่างหญิงชายที่ข้ามมาหลายภพหลายชาตินั้น แม้พชรจะเคยยืนยันว่า “ภาระหน้าที่” คือคำตอบข้อสุดท้ายในชีวิตแม่ทัพเอกแห่งนครตารวะปุรัม แต่หลังจากที่ต้องคำสาปให้ตามหาเพชรดวงใจนักรบ และถูกกลเกมพยาบาทของมทิราที่คอยหลอกล่อเขาไปทุกชาติภพ นักรบหนุ่มก็เข้าใจสัจธรรมในการดำรงอยู่ซึ่งความเป็นมนุษย์ในท้ายที่สุด         ประโยคที่พชรได้พูดกับพราวพลอยว่า “แม้ผมจะไม่มีหัวใจ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผมไม่มีความรู้สึกใดๆ” ก็คือการบอกเป็นนัยว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เพศหญิงและเพศชายนั้น เหตุผลเรื่องภาระหน้าที่โดยไม่มีซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเอื้ออาทรแต่อย่างใด คงไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าไรนัก แบบเดียวกับที่เขาเองก็ต้องตามหาหัวใจที่ต้องคำสาปมาทั้งชีวิต         นับแต่ฉากต้นเรื่องของละคร “ดวงใจในมนตรา” ที่พระเอกหนุ่มพชรได้กล่าวว่า “มีหลายเรื่องบนโลกใบนี้ ถ้าคุณใช้สติคิดดู คุณก็จะพบว่า มีบางสิ่งบางอย่างที่คุณแทบจะไม่เชื่อว่ามันมีอยู่จริง” คำพูดนี้คงไม่ใช่จะแค่สื่อความถึงผู้ฟังอย่างพราวพลอย แต่ยังรวมถึงเราๆ ที่เป็นผู้เฝ้าชมชะตากรรมชีวิตไม่มีวันตายของเขาอยู่         ดังนั้น หากที่ผ่านมามนุษย์ในยุคเราๆ จะรู้สึกเกลียดและกลัวความตาย หรือมนุษย์เพศชายจะเอาแต่ยึดมั่นอยู่ในเหตุผลและภาระหน้าที่โดยไม่พลิกผัน แต่หากเราลองใช้สติไตร่ตรองดูดีๆ เราก็อาจจะพบเช่นกันว่า ในบางครั้งมนุษย์ก็อาจต้องเริ่มเรียนรู้เข้าใจและปรารถนาให้ความตายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตเรา และมนุษย์เพศชายเองก็อาจต้องหันกลับทบทวนหวนคิดถึงการดำรงอยู่แห่งอารมณ์ความรักและความรู้สึก ควบคู่ไปกับการยึดมั่นเพียงเหตุผลและภาระหน้าที่เพียงอย่างเดียว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 เล่ห์บรรพกาล : ความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรจะหยั่งรู้

        นักคิดบางคนเคยกล่าวเปรียบเปรยไว้ว่า “เวลา” เป็นประหนึ่ง “แอ่ง” หรือ “ภาชนะ” ที่บรรจุไว้ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ นั่นแปลว่า ทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนเรา ต้องมีเงื่อนไขของเวลาเป็น “ภาชนะ” รองรับกำหนดไว้เสมอ         หากคนไทยมีคำพูดเตือนใจว่า จะทำการอันใดก็ต้องรู้จัก “กาลเทศะ” แล้ว นอกเหนือจากบริบทของ “เทศะ” หรือพื้นที่ เราเองก็ต้องพึงสำเหนียกว่า เรื่องของ “กาละ” หรือเวลา ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เข้ามากำกับความคิดและพฤติกรรมของคนเราด้วยเช่นกัน          ด้วยเหตุที่การกระทำของมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของเวลาเช่นนี้ จึงมีความพยายามของคนบางคนที่ต้องการมีอำนาจจะเอาชนะเวลา และความปรารถนาที่จะกำชัยเหนือกาลเวลาดังกล่าวนี้เอง ก็ได้กลายมาเป็นเส้นเรื่องหลักในละครแนวดรามาสืบสวนสอบสวนแบบข้ามภพข้ามชาติเรื่อง “เล่ห์บรรพกาล”         ละครเปิดฉากปูเรื่องจากภาพยุคสมัยปัจจุบัน ที่ได้เกิดเหตุการณ์ตึกถล่มกลางกรุง และปรากฏอักขระลึกลับโบราณอยู่ในสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสนเท่ห์ใจให้กับพระเอกหนุ่ม “เพลิงฟ้า” นักข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง 6 และยังเป็นจุดเริ่มต้นให้เขาได้มารู้จักพบเจอกับนางเอก “สิตางศุ์” หรือชื่อเล่นก็คือ “ตัวไหน” อาจารย์สาวนักประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง         หลังจากครั้งนั้น ก็เริ่มมีเหตุการณ์ที่ตัวละครใกล้ชิดรอบข้างพระเอกของเราถูกฆ่าตายไปทีละคน และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฆาตกรรมนั้น ยิ่งเพลิงฟ้าสืบสาวคดีไปมากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบว่า เรื่องราวจะต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับ “อดุล” ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงด้านประวัติศาสตร์ และ “ปักบุญ” ภรรยาสาวลึกลับที่มีสัมผัสพิเศษกับอดีต         เมื่อตัวละครทั้งสี่คนได้เวียนวนมาบรรจบพบเจอกัน นอกจากละครจะยืนยันให้เห็นวัฏสงสารแห่งกรรมที่ทุกคนเคยร่วมทำกันมาในแต่ละชาติภพ แต่อีกด้านหนึ่ง ภายใต้วัฏจักรแห่งกรรมที่ร้อยรัดกันไว้นี้เอง เพลิงฟ้าและปักบุญจึงเป็นสองตัวละครที่สามารถหยั่งรู้มีพลังที่มองเห็นอดีตชาติของตนได้         ความผูกพันของตัวละครสี่คนพันผูกโยงไปราวๆ พันปีก่อน เมื่อเพลิงฟ้าที่ปางก่อนคือ “ท้าวราวิ” แห่งเมืองไวสาลี นักเวทย์หนุ่มผู้มีอาคมแก่กล้าได้มาพบรัก และเลือกเข้าพิธีเสกสมรสกับ “นางพญาศศิณา” แห่งเมืองอรุณา ซึ่งชาติปัจจุบันก็กลับมาเกิดเป็นสิตางศุ์         ความรักของราวิและศศิณาได้ก่อตัวเป็นความแค้นในหัวใจของสตรีอีกนางอย่าง “ทิณสรี” หรือปักบุญในชาติภพปัจจุบัน มิใช่เพราะเธอแอบรักราวิด้วยคิดว่าตนเป็นเนื้อคู่กันมาแต่ชาติก่อนเท่านั้น แต่เพราะเธอถูกเล่ห์กลลวงของ “ท้าววาร” ที่วางแผนให้ “ความรักอันบังตา” กลายมาเป็นความแค้นชนิดที่ “จะเจ็บจำไปถึงปรโลก” กันเลยทีเดียว        เบื้องหลังของท้าววาร หรือศาสตราจารย์อดุลในปัจจุบันนั้น เป็นผู้ที่มักใหญ่ใฝ่สูง และเพราะด้วยเป็นผู้ชำนาญในอาถรรพเวท ท้าววารจึงปรารถนาจะสร้างและปลุกเสกเทวรูป “กาลเทพ” ที่ใครก็ตามหากได้ครอบครอง คนผู้นั้นก็จะมีอำนาจรับรู้ทุกห้วงกาลเวลา ที่มิใช่แค่เห็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต หากยังควบคุมกาลเวลาของมนุษยชาติได้          เมื่อท้าววารเป็นจุดเริ่มต้นของปมชั่วร้ายแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” และราวิเองก็ตระหนักว่า ความลับแห่งเวลาเป็นสิ่งที่มนุษย์มิอาจรู้ หรือมิบังควรที่จะล่วงรู้แต่อย่างใด เขาจึงวางแผนขัดขวางพิธีกรรมปลุกเสกองค์กาลเทพ จนสามารถสังหารท้าววาร พร้อมๆ กับสละชีพของตนให้ถูกเพลิงไหม้พร้อมไปกับการฝังความลับของเทวรูปเอาไว้นับเป็นพันปี         แต่เพราะโลภะโทสะโมหะเองก็สามารถข้ามผ่านกาลเวลาได้ เมื่อก้าวเข้าสู่ภพชาติใหม่ในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ราวิและศศิณาจึงได้กลับมาเกิดเป็น “ขุนอุทัยโยธิน” และ “แม่หญิงดวงแข” ผู้ที่ยังคงสืบต่อภารกิจหน้าที่ในการปกป้องเทวรูปกาลเทพจาก “หมอผีบุญ” และ “บุญเหลือ” ซึ่งก็คือท้าววารและทิณสรี ผู้พกพาความอาฆาตแค้นและปรารถนาอำนาจเหนือกาลเวลา จนได้รีเทิร์นกลับมาพบกันในอีกคำรบหนึ่ง          ดังนั้น เมื่อมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน ตัวละครได้กลับมาสะสางปมปัญหาและผลประโยชน์ซึ่งขัดแย้งกัน โดยที่ฝั่งหนึ่งก็ต้องการพิทักษ์ความลับแห่งเวลา ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งก็มุ่งมาดจะช่วงชิงการถือครองอำนาจแห่งเวลามาเป็นของตน เรื่องราวก็ค่อยๆ เฉลยออกมาว่า ตัวละครหลากหลายชีวิตที่เข่นฆ่าประหัตประหารกันนั้น ก็สืบเหตุเนื่องมาแต่กิเลสของท้าววารที่ฝักใฝ่ในอำนาจแต่ครั้งบุรพกาลเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังนั่นเอง         อย่างไรก็ตาม หากเราพินิจพิจารณากันดีๆ ชื่อขององค์เทวรูป “กาลเทพ” อันหมายถึงองค์เทพผู้คุ้มครองดูแลกาลเวลานั้น ก็ดูจะพ้องเสียงกับคำว่า “กาฬเทพ” อันอนุมานได้ถึงพระกาฬหรือพญายม เทพเจ้าแห่งความตาย ดังนั้น วิถีแห่งกาลเวลาจึงเป็นประหนึ่งเหรียญสองด้าน ที่แม้จะสร้างสรรค์ แต่ก็พร้อมจะเป็นเพลิงเผาผลาญทำลายล้างจนนำมาซึ่งความตายได้เช่นกัน         และถึงแม้เวลาจะสามารถทำลายล้าง ดุจเดียวกับที่ตัวละครหลายชีวิตต้องพบจุดจบเพื่อเซ่นสังเวยการปลุกเสกพลังขององค์กาลเทพ แต่อีกด้านหนึ่ง แม้จะตระหนักรู้ความน่ากลัวของเวลา แต่กิเลสที่ล้นเกินในอำนาจ ก็ทำให้มนุษย์บางคนยอมสมาทานตนเองเข้าสู่ “ด้านมืด” เพื่อถือครองเอาชนะเวลาให้จงได้         เฉกเช่นที่ครั้งหนึ่งปักบุญผู้อยู่ในสภาพ “เวลาไม่ช่วยอะไรหากใจมันยังฝังจำ” เคยกล่าวถึงการช่วงชิงองค์เทวรูปกาลเทพว่า “ต่อให้เอาสมบัติทั้งโลกมากองรวมกัน มันก็ไม่มีค่าเท่ากับการควบคุมเวลาได้หรอก…”         จนเมื่อเรื่องราวของละครงวดเคี่ยวเข้ามาเรื่อยๆ ความจริงแห่ง “เล่ห์บรรพกาล” ก็ได้ถูกเผยออกมาว่า อดุลก็คือตัวการหลักของเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ในเรื่อง เพราะนอกจากเขาจะเชื่อว่า “คนเราเมื่อลุ่มหลงในอำนาจ ความรักอะไรก็ไม่มีความหมายทั้งสิ้น” แล้ว ด้วยเหตุผลเรื่องอำนาจอีกเช่นกัน ที่ทำให้เขากล้าจะละเมิดความลับแห่งเวลาที่มนุษย์เราไม่ควรจะล่วงรู้ได้         กับฉากท้ายเรื่องที่ร่างของอดุลถูกปักบุญฉุดลากไปทำลายจนมอดไหม้ด้วยฤทธานุภาพขององค์กาลเทพ ก่อนที่เขาจะย้อนเวียนกลับมาเกิดใหม่อีกครั้งครา ก็คงบอกเป็นนัยๆ ได้ว่า อำนาจที่มนุษย์ฝักใฝ่ลุ่มหลงนั้น ช่างเวียนวนเป็นวัฏฏะที่หาใช่จะสิ้นสุดได้โดยง่าย         และที่สำคัญ เมื่อใดที่ความปรารถนาในอำนาจได้เริ่มต้นขึ้นคำรบใหม่ เมื่อนั้นสงครามช่วงชิงเพื่อครอบครองความลับแห่งเวลาที่มนุษย์มิควรรู้ ก็จะปะทุเชื้อไฟขึ้นมาครั้งใหม่ได้ด้วยเช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 ด้ายแดง : เพราะเหรียญนั้นมีสองด้านเสมอ

                ธรรมชาติของเหรียญก็ต้องมีสองด้านเสมอ แต่ปัญหาก็คือ ถ้ามีเหรียญหนึ่งอันวางอยู่ คนเราก็มักจะมองเห็นเพียงด้านหนึ่งของ “หัว” หรือ “ก้อย” ที่หงายขึ้น โดยอาจจะหลงลืมไปว่า ยังมีอีกด้านของเหรียญที่คว่ำไว้โดยที่เรามองไม่เห็น เฉกเช่นเดียวกับโลกทัศน์หรือวิธีคิดของคนเราที่มีต่อโลก ก็เป็นประดุจดังเหรียญสองด้าน ซึ่งหากเราเลือกพลิกด้านหนึ่งของเหรียญหรือโลกทัศน์บางอย่างมามองดูโลกรอบตัวแล้ว เราก็มักไม่สำเหนียกว่า ยังมีเหรียญอีกด้านที่มองต่างมุมกันออกไป         ละครโทรทัศน์เรื่อง “ด้ายแดง” ก็คือ บทพิสูจน์การมีอยู่ของเหรียญที่มีสองด้านในความคิดของสังคมเช่นกัน โดยเริ่มต้นเปิดฉากขึ้นที่คฤหาสน์จีนหลังใหญ่ของตระกูลมหามงคล กับภาพของตัวละคร “เหม่ยอิง” คุณนายใหญ่ของบ้านที่นั่งถักทอ “ด้ายแดง” เพื่อเอาไว้มอบให้เป็นสิริมงคลแก่ “หลงเว่ย” ผู้เป็นบุตรชาย         เสียงก้องในห้วงคำนึงของเหม่ยอิงที่มีสีหน้าอิ่มเอิบ ในขณะที่ผูกสานเส้นด้ายสีแดงไว้ให้ลูกชาย เป็นคำพูดที่กล่าวขึ้นว่า “คนจีนเรามีคำพูดว่า ด้ายในมือแม่ไม่มีวันหมด เพราะคนเป็นแม่ต้องปะชุนเสื้อผ้าให้ลูกไปจนวันตาย แต่จริงๆ แล้ว ความหมายของคำๆ นี้มันลึกซึ้งกว่านั้น ในเมื่อเกิดมาเป็นแม่ลูกกันแล้ว แม่ก็ต้องปกป้องดูแลลูก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน ความรักของแม่ก็เหมือนเส้นด้ายที่ยืดยาวไม่มีวันหมดสิ้น...ตลอดกาล...”         การเปิดฉากด้วยภาพเช่นนี้อาจตีความเป็นความหมายสองนัย โดยนัยหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า เส้นเรื่องหลักของละครได้ผูกรัดให้เราเห็นความสัมพันธ์ที่มารดาจะถักร้อยให้กับบุตรชายด้วยความรักแบบไม่มีวันสิ้นสุด        แต่โดยอีกนัยหนึ่งนั้น เบื้องหลังของคฤหาสน์จีนหลังใหญ่ซึ่งมีม่านประเพณีปฏิบัติกันมาช้านาน ก็บ่งบอกด้วยว่า ขณะที่แม่ผูกทอความสัมพันธ์มายังลูกชายนั้น ระบบค่านิยมที่สลักฝังอยู่ในพรมแดนของบ้าน ก็คืออีกตัวแปรหนึ่งที่เข้ามากำกับชีวิตของหลงเว่ยภายใต้เส้นด้ายสีแดงที่ร้อยรัดข้อมือของเขาไว้ด้วยเช่นกัน         ตามท้องเรื่องเดิมนั้น ตระกูลมหามงคลมี “เจ้าสัวหม่า” เป็นประมุขใหญ่ของบ้าน โดยมีภรรยาสองคนคือ “เลี่ยงจิน” ภรรยาหลวงหรือเป็นคุณนายใหญ่ที่คนในครอบครัวจีนรับรู้โดยทั่วไป กับตัวของเหม่ยอิงที่มีสถานภาพเป็นคุณนายรอง         ด้วยความเชื่อตามจารีตเดิมของครอบครัวจีนขนาดใหญ่นั้น มักยึดมั่นยึดติดกับเรื่องดวงชะตาที่กำหนดชีวิตของปัจเจกบุคคล ฉะนั้น เมื่อซินแส “สินอู่” ได้ทำนายดวงชะตาของหลงเว่ยว่าจะชงกับพี่ชายต่างมารดา และคำทำนายนั้นก็เกิดเป็นจริงขึ้นมา เพราะ “เทียนอี้” ลูกชายคนโตเสียชีวิตลงด้วยอุบัติเหตุความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของหลงเว่ย เจ้าสัวหม่าจึงส่งหลงเว่ยไปเรียนที่ฮ่องกงเพื่อให้ห่างไกลบ้านมหามงคล         ต่อมา เมื่อเจ้าสัวหม่าและคุณนายใหญ่เลี่ยงจินได้ถึงแก่กรรมลง เหม่ยอิงจึงได้ขึ้นครองเป็นคุณนายใหญ่แห่งบ้านมหามงคลแทน แต่เพราะผู้หญิงที่ไม่เคยถือครองอำนาจมาก่อน ต้องก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ในฐานะผู้นำของบ้าน คุณนายใหญ่คนใหม่ก็ต้องพบว่า ขนบธรรมเนียมที่ตระกูลมหามงคลและแม้แต่ตัวเธอเองยึดมั่นอยู่นั้น ต้องฝ่าแรงคลื่นพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาปะทะถาโถมระลอกแล้วระลอกเล่าเพียงใด             โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหลงเว่ยถูกเรียกตัวกลับมาเพื่อให้สืบทอดกิจการของตระกูล พลันที่เขาและ “ซูซี่” ภรรยาชาวฮ่องกงที่กำลังตั้งท้องอยู่ ได้ย่างเหยียบเข้ามาในคฤหาสน์หลังใหญ่ สงครามระหว่างตัวแทนแห่งม่านประเพณีอย่างเหม่ยอิง กับโลกทัศน์แบบเสรีนิยมหัวก้าวหน้าของซูซี่ ก็ได้เริ่มต้นฉากสัประยุทธ์ขึ้นทันที         แม้ว่าจริงๆ แล้ว บ้านมหามงคลจะปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นระลอกๆ ตั้งแต่ตัวเรือนของบ้านที่ออกแบบให้ผสมผสานสไตล์ตะวันตก ตัวละครชายที่เลือกสวมเครื่องแต่งกายในชุดสากล หรือการพูดภาษาไทยโดยไม่ติดสำเนียงจีนแบบดั้งเดิม เหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่า ความเป็นจีนเองก็มีมุมที่ปรับปรนปรับเปลี่ยนตลอดเวลาอยู่แล้ว         แต่เมื่อต้องมาเผชิญคลื่นลมระลอกใหม่ๆ อย่างตัวละครซูซี่ผู้ “ไม่แคร์เวิร์ลด์” หรือมิได้ใส่ใจกับประเพณีปฏิบัติโบร่ำโบราณเท่าใดนัก ตั้งแต่การเมินเฉยต่อธรรมเนียมกินข้าวร่วมโต๊ะ การแต่งตัวที่ไม่ยึดติดขนบจารีตเดิม อากัปกิริยาสมัยใหม่ที่แสดงออกได้แม้แต่ในที่สาธารณะ ไปจนถึงการแต่งงานอยู่กินกันก่อนจะเข้าพิธียกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ แบบแผนปฏิบัติที่ขัดกับศีลาจารวัตรเดิมๆ ย่อมเป็นสิ่งที่เหม่ยอิงมิอาจยอมรับได้          และแน่นอน บททดสอบความแข็งแกร่งของวัฒนธรรมจีนที่สายอนุรักษนิยมสุดขั้วยึดมั่นมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นแรงปะทะที่มีต่อความเชื่อในโชคชะตา ที่ฝังรากเอาไว้ในธรรมเนียมนิยมหลักของครอบครัวจีน ดังคำที่เหม่ยอิงพูดอยู่เสมอว่า “คนคำนวณ ไม่สู้ฟ้าลิขิต”         ดังนั้น อีกครั้งเมื่อซินแสสินอู่ได้ทำนายว่า ลูกในท้องของซูซี่จะเป็นกาลกิณีต่อหลงเว่ยผู้เป็นพ่อ เหม่ยอิงจึงทำทุกวิถีทางเพื่อขจัดลูกของซูซี่ และนำหลานในไส้ไปทิ้งศาลเจ้าให้ไกลจากบ้านมหามงคล เหมือนกับที่เธอพูดกับ “อาจู” สาวใช้คนสนิทว่า “ถ้าคนหนึ่งจะมา แล้วอีกคนจะไป คนที่จะไปต้องไม่ใช่ลูกฉัน”         จากนั้น ปฏิบัติการผลักไสให้ซูซี่ทิ้งหลงเว่ยกลับฮ่องกง และยัดเยียดให้ “เพ่ยเพ่ย” หญิงสาวอีกคนมาเป็นภรรยาของหลงเว่ยจึงอุบัติขึ้น โดยที่ทั้งหลงเว่ยและเพ่ยเพ่ยหาได้ยินยอมพร้อมใจแต่อย่างใดไม่        ระบบคิดแบบอนุรักษนิยมที่คอยจะจับวางใครต่อใครให้มาเป็นหมากเบี้ยบนกระดาน จึงไม่ต่างจากภาพที่คุณนายเหม่ยอิงหยิบเอาเส้นด้ายสีแดงมาถักทอร้อยรัดข้อมือบุตรชายเอาไว้ด้วยความรัก แต่ในท้ายที่สุด กลับนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่เพ่ยเพ่ยเองได้กระทำอัตวินาตกรรม และหลงเว่ยก็รู้ความจริงว่า มารดาของตนอยู่เบื้องหลังการจับชีวิตเขาร้อยไว้ด้วยกฎเกณฑ์ทางประเพณีแบบไม่ให้ดิ้นหลุดได้เลย         ฉากที่หลงเว่ยกระชากด้ายแดงจนขาด เพื่อสลัดตนออกจากความขัดแย้งสองแพร่งของอุดมคติแบบอนุรักษนิยมและอุดมการณ์แบบเสรีนิยม จึงไม่ต่างจากประโยคที่เขากล่าวกับมารดาว่า “เลิกทำเพื่อผมเสียที ผมไม่ต้องการให้แม่มาดูแลปกป้องผมอีกแล้ว ความรักความห่วงใยของแม่มันรัดคอจนผมหายใจไม่ออกแล้ว สักวันผมคงจะต้องตายด้วยความหวังดีของแม่...”         จนมาถึงในเจนเนอเรชั่นรุ่นถัดมา ชะตากรรมของ “หลิงหลิง” หลานสาวในไส้ที่ถูกทิ้งไว้ที่ศาลเจ้าตั้งแต่แรกคลอด กับ “ป่อป้อ” ลูกติดท้องของเพ่ยเพ่ยก่อนแต่งงานมาเป็นสะใภ้เหม่ยอิง ก็ยิ่งสำทับภาพปัจเจกบุคคลที่ต้องมาอยู่กลางสนามรบของโลกทัศน์ความคิดที่สุดขั้ว ไม่ต่างจากที่รุ่นพ่อและแม่เคยเผชิญมาอีกเช่นกัน        จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่เช่นนี้ ตราบใดที่ “เหรียญสองด้าน” ของขั้วความคิดที่แตกต่าง ไม่ยอมลดทอนมิจฉาทิฐิลงเสียบ้าง ยังเป็นอนุรักษนิยมที่เพิกเฉยต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง หรือเป็นเสรีนิยมที่ไม่ไยดีต่อธรรมเนียมปฏิบัติเดิมกันเลย บทสรุปของด้ายแดงที่ถูกสะบั้นขาดออกไปด้วยมือของหลงเว่ย ก็คงคุ้นๆ คล้ายๆ กับภาพสังคมการเมืองแบบที่เราก็เห็นอยู่ตรงหน้าทุกวัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 120 เส้นทางสายกุหลาบ

  สิ่งที่หลายคนนิยมมอบให้กันเพื่อสื่อแทนความรักและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของวันวาเลนไทน์ คือ “กุหลาบ” ราชินีแห่งดอกไม้ เธอกลายมาเป็นสัญลักษณ์ได้อย่างไร มีคุณค่ามากพอไหมสำหรับการบอกรัก เรามาติดตามเส้นทางชีวิตของเธอกัน  เมื่อถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ของทุกปี ดอกกุหลาบจะกลายเป็นของที่หลายๆ คนต้องการ เพราะดอกกุหลาบจะไม่ได้เป็นเพียงแค่ดอกไม้ธรรมดา แต่จะกลายเป็นของขวัญสุดล้ำค่าที่ใช้เป็นสื่อแสดงถึงความรักความรู้สึกดีๆ ของคนที่ให้ไปถึงยังคนที่รับ (อาจจะฟังดูเว่อร์ๆ แต่เรื่องแบบนี้เชื่อว่าคนที่เคยมีความรักน่าจะเข้าใจดี) ช่วงเทศกาลแห่งความรัก นอกจากคนที่มีความรักหัวใจจะชื่นบานแล้ว การซื้อ-ขายดอกกุหลาบก็ดูจะคึกคักเบิกบานตามไปด้วย  เมื่อดอกกุหลาบกลายเป็นของมีค่าที่คนมีความรักต่างก็เรียกหาในวันวาเลนไทน์ ลองมาดูกันซิว่า  ดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลแห่งความรัก มีความลับอะไรซ่อนอยู่หรือเปล่า?   บนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบกุหลาบ เป็นไม้ตัดดอกที่ออกตลอดทั้งปี ซึ่งปกติถ้าไม่ใช่ช่วงวันวาเลนไทน์ เราจะซื้อกุหลาบมาสำหรับไหว้พระ รอยมาลัย หรือตกแต่งใส่แจกัน กุหลาบถือเป็นดอกไม้ที่ขายง่าย หาซื้อก็ง่าย ในเมืองไทยเรามีพื้นที่ปลูกกุหลาบตัดดอกอยู่ประมาณ 5,500 ไร่ โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ที่ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ที่เหลือจะกระจายอยู่ที่ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายและบางจังหวัดในภาคกลาง เช่น นครปฐม และราชบุรี เหตุที่อำเภอพบพระเป็นแหล่งปลูกกุหลาบตัดดอกแหล่งใหญ่ของประเทศ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศเหมาะสม ไม่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป พื้นที่ก็มีความลาดชันน้อยกว่าทางเหนือ แถมยังนิยมใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีค่าแรงที่ถูกกว่า ที่อำเภอพบพระจะปลูกกุหลาบเพื่อส่งขายไปทั่วประเทศตลอดทั้งปี ดอกกุหลาบที่วางขายที่ปากครองตลาด ตลาดดอกไม้สำคัญของคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็มาจากที่นี่ รวมทั้ง เชียงใหม่และเชียงรายด้วย   แต่ใช่ว่าบ้านเราจะนิยมเฉพาะแต่ดอกกุหลาบในประเทศ เพราะเราก็ยังคงต้องนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ หลักๆ จะมาจาก เนเธอร์แลนด์และจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกดอกไม้สวยงามอยู่แล้ว ความสวยงามและสีสันของดอกกุหลาบจะมีความแตกต่างกับกุหลาบที่ปลูกในบ้านเราอยู่บ้าง ด้วยความที่สายพันธุ์และสภาพของภูมิอากาศในพื้นที่ที่ปลูกกุหลาบมีความแตกต่างกัน แต่อย่าคิดว่าดอกกุหลาบนำเข้าจะต้องสวยกว่าหรือแพงกว่าดอกกุหลาบที่ปลูกในประเทศเสมอไป เพราะราคาของกุหลาบไม่ได้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา แต่ว่าขึ้นอยู่กับสภาพความสวยงามและขนาดของดอกกุหลาบ   เมื่อรักคือการให้...งั้นไปซื้อกุหลาบกัน ถ้าใครเคยไปเดินเลือกซื้อกุหลาบที่ปากคลองตลาด ก็จะเห็นว่าที่นี้มีกุหลาบให้เลือกซื้อมากมาย หลายสี หลายขนาด ที่สำคัญก็คือมีหลายราคา ดอกกุหลาบที่ปากคลองตลาดมีทั้งแบบที่ปลูกในบ้านเราและดอกที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยกุหลาบที่ขายกันจะมีทั้งแบบที่ขายเป็นมัด มัดหนึ่งมีตั้งแต่ 20 – 50 ดอก มัดรวมกันไว้เป็นห่อ มีทั้งแบบดอกสีเดียวและแบบคละสี ซึ่งถ้าขายในลักษณะนี้จะเป็นดอกกุหลาบที่ไม่ค่อยสวยเท่าไร ดอกจะช้ำๆ ใน 1 มัดอาจจะมีดอกที่สวยจริงๆ แค่ไม่กี่ดอก แต่ดีตรงที่ราคาจะถูก  ส่วนแบบที่ขายแยกเป็นดอกก็จะแพงกว่าแบบที่ขายเป็นมัด แต่เราสามารถเลือกได้ ได้เห็นสภาพของดอกกุหลาบจริงๆ และแบบที่ขายเป็นดอกเดี่ยวๆ ดอกกุหลาบจะมีคุณภาพมากกว่า สวยกว่า ดอกใหญ่กว่า ที่สำคัญคือ ทางร้านจะเก็บรักษาดีกว่า คือมีการดูแลพรั่งพร้อม ดอกกุหลาบจะถูกแช่น้ำไว้ ทำให้ดอกยังดูสด กลีบดอกจะไม่มีรอยช้ำ เพราะไม่ได้ถูกมัดหรือถูกวางทับรวมกันไว้ แต่ถ้าใครพอจะมีงบสูงสักหน่อยในการจะเลือกซื้อดอกกุหลาบ แล้วอยากได้แบบที่สวยโดนใจ เอาไปให้ใครแล้วเขาต้องประทับใจแน่นอน แนะนำให้เลือกจากร้านที่เขารับจัดดอกไม้ เพราะตามร้านรับจัดดอกไม้ส่วนใหญ่ เขาจะคัดดอกกุหลาบที่สวยงาม ดอกใหญ่ ก้านยาว แถมเรายังเจาะจงเลือกได้ว่าใน 1 ช่อ จะให้ดอกกุหลาบกี่ดอก สีอะไรบ้าง ตกแต่งด้วยอะไร เรียกว่าไม่ต้องลุ้นเหมือนการซื้อดอกกุหลาบแบบที่ขายเป็นมัดๆ และก็ไม่ต้องเหนื่อยไปจัดช่อเองถ้าซื้อแยกเป็นดอกๆ แต่กุหลาบจัดช่อนั้นขอแนะนำเฉพาะคนที่พร้อมจะลงทุนให้กับความรักจริงๆ เท่านั้น เพราะกุหลาบแบบจัดช่อจะมีราคาค่อนข้างสูง ส่วนมากจะอยู่ที่หลักพันบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนดอกและความยาวของก้านดอก แถมบรรดาร้านที่รับจัดช่อดอกไม้ยังมีจุดขายที่เรื่องความสะดวกสบายของลูกค้า เพราะมีทั้งบริการสั่งจองช่อดอกไม้ออนไลน์และบริการเดลิเวอร์รี่ส่งดอกไม้ถึงมือผู้รับให้ด้วย ++++การแบ่งเกรดของดอกกุหลาบจะดูกันที่ความยาวของก้าน ยิ่งก้านยาวจะถือเป็นกุหลาบที่มีความสวยงามมากแถมหายาก ทำให้ราคาก็ยิ่งสูงมากตามไปด้วยการแบ่งเกรดของดอกกุหลาบก็มีตั้งแต่ เกรดของดอกกุหลาบ ความยาวของก้าน (เซนติเมตร)เกรดพิเศษ         60 ขึ้นไปเกรดเอ             50เกรดบี              40เกรดซี              30ตกเกรด            น้อยกว่า 30 +++++++++   เมื่อถึงวันวาเลนไทน์ ดอกกุหลาบก็กลายเป็นของมี (มูล) ค่า (สูง)++ ถือเป็นเรื่องที่คนที่มีความรักต้องเตรียมใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ราคาดอกกุหลาบช่วงวาเลนไทน์จะปรับขึ้นมากกว่าราคาที่ขายในช่วงเวลาปกติมาก ++ การขึ้นราคาของดอกกุหลาบมาจากเหตุผลง่ายๆ ว่าเมื่อสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ค้าจะปรับราคาให้สูงขึ้น โดยผู้ซื้อเองก็ยินดีที่จะจ่ายเพื่อแลกกับสินค้าที่ต้องการ  ++ ราคาดอกกุหลาบในช่วงวันวาเลนไทน์จะสูงกว่าช่วงปกติถึง 3 เท่า  ++ ไม่ใช่แค่ดอกกุหลาบเท่านั้น ที่ราคาจะสูงขึ้นในช่วงวันวาเลนไทน์ แต่ดอกไม้สวยงามอื่นๆ ทั้ง คาร์เนชั่น ลิลลี่ ทิวลิป เยียบีร่า ราคาก็สูงขึ้นด้วยเช่นกัน  ++ ราคากุหลาบจะไม่ตายตัวจะปรับเปลี่ยนทุกวัน แม่ค้ากุหลาบที่ปากคลองตลาดบอกว่าการตั้งราคาขายจะดูจากหลายปัจจัยหลายองค์ประกอบ ทั้งจากคุณภาพของดอกไม้ ความคับคั่งของการซื้อ – ขาย ถ้าวันไหนดอกกุหลาบขายดีมีคนเดินเยอะก็สามารถตั้งราคาสูงได้ แต่ถ้าวันไหนตลาดเงียบเหงาก็จำเป็นต้องลดราคาหรือตั้งราคาให้ถูกลงเพื่อให้สินค้าขายได้ง่ายขึ้น  ++ ความต้องการดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์จะมีมากกว่าช่วงเวลาปกติถึง 10 เท่า  ++ ราคากุหลาบจะค่อยๆ สูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาทองของดอกกุหลาบ  ++ กุหลาบไม่ได้แพงแค่ช่วงเทศกาลแห่งความรักเท่านั้น แต่ช่วงที่มีการรับปริญญาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงประมาณเดือนกรกฎาคม ดอกกุหลาบก็จะมีราคาสูงขึ้นด้วยเช่นกัน  ++ กุหลาบเกรดดีๆ ที่ปลูกในบ้านเรา จะมีราคาต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 10 - 15 บาท ในขณะที่ดอกกุหลาบที่นำเข้าจากต่างประเทศต้นทุนจะถูกกว่า เนื่องจากกุหลาบเกรดคุณภาพในบ้านเรา ยังมีการปลูกกันน้อย  ++ ช่วงวันวาเลนไทน์ดอกกุหลาบแบบที่มัดขายเป็นห่อจะขายดีที่สุด เพราะราคาถูก เนื่องจากลูกค้ากลุ่มหลักที่จะหาซื้อดอกกุหลาบในวันแห่งความรักก็คือ นักเรียน – นักศึกษา ซึ่งยังไม่มีรายได้ ส่วนใหญ่จึงใช้วิธีรวมเงินกันซื้อแล้วค่อยไปแบ่งกุหลาบกัน ++ ร้านขายกุหลาบหรือร้านที่รับจัดช่อดอกไม้บางร้าน มีบริการรับสั่งจองกุหลาบล่วงหน้าสำหรับวันวาเลนไทน์ ถ้าหากสั่งแต่เนินๆ สัก 2 – 3 อาทิตย์ จะได้ราคาที่ถูกลงกว่าซื้อใกล้ๆ วันวาเลนไทน์++++++++++++++++++++++++++++++++++++   แม้ดอกกุหลาบจะเป็นสัญลักษณ์ของความรักและวันวาเลนไทน์ แต่ผลสำรวจเมื่อปี 2553 พบว่า ของขวัญยอดฮิตในวันวาเลนไทน์หาใช่ดอกกุหลาบไม่ แต่กลับเป็นช็อกโกแลต โดยมีการสรุปตัวเลขจำนวนเงินที่ใช้ในการซื้อช็อกโกแลตเอาไว้ว่า 1 คน จะลงทุนไปกับการซื้อช็อกโกแลตประมาณ 292 บาท ส่วนดอกกุหลาบได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 งบในการซื้อดอกไม้ให้คนที่รักจะอยู่ที่ประมาณ 285 บาท โดยดอกกุหลาบสีแดงได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงคือสีขาว และสีชมพู (ในผลสำรวจไม่ได้บอกว่างบที่ใช้ซื้อของขวัญในวันวาเลนไทน์นั้น เป็นงบที่ใช้กับผู้รับแค่ 1 คนหรือเปล่า ถ้าใครมีแฟนหรือคนที่แอบชอบหลายคน ก็อาจจะต้องใช้งบซื้อของมากกว่าที่บอกในผลสำรวจนะ อิอิ)ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย +++++++++++++++++   ไม่รักได้ไง ถ้าดอกกุหลาบที่ให้ ราคา 5 แสน!!!อย่าเพิ่งตกใจ เพราะดอกกุหลาบราคานี้มีขายจริงๆ ดอกกุหลาบช่อกลมสำหรับวันวาเลนไทน์ จำนวน 799 ดอก ซึ่งสื่อความหมายว่า “รักเธอตลอดกาล” ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของช่อกุหลาบมีความกว้างถึง 1 เมตร เรียกว่าใครที่ได้รับดอกกุกลาบ 799 ดอก ราคา 5 แสนบาทไปเป็นของขวัญ ก็คงประทับใจไม่รู้ลืม อาจจะประทับใจจนช็อคไปเลยก็ได้ ส่วนที่จะรักเธอตลอดกาลหรือเปล่าอันนี้คงบอกไม่ได้  เคยมีคนบอกว่าความรักทำได้ทุกสิ่ง แต่เรื่องนี้ต้องเฉพาะคนที่มีเงินถึงจริงๆ เท่านั้นถึงจะทำได้(***ช่อดอกกุกลาบ 799 ดอก ราคา 5 แสนบาท มีขายจริงๆ ที่ มิสลิลลี่ ฟลาเวอร์)++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นห่อ ราคาประมาณ 70 – 180 บาทส่วนใหญ่เป็นกุหลาบจาก อ.พบพระ จ.ตาก ห่อหนึ่งจะมีกุหลาบอยู่ประมาณ 50 ดอก ข้อดีคือราคาถูก ได้กุหลาบเยอะ แต่ข้อเสียคือ ดอกกุหลาบมักจะไม่ค่อยสวย ดอกเล็ก กลีบดอกช้ำ เพราะถูกมัดรวมกันมา การดูแลจากชาวสวนและแม่ค้าหลังจากตัดดอกและก่อนนำมาวางขายมีน้อยมาก ซื้อมา 1 มัด 50 ดอก อาจจะดอกที่สวยถูกใจเหมาะจะเอาไปให้คนที่รักไม่ถึง 10 ดอก   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นกำ ราคาประมาณ 100 – 500 บาท1 กำจะมีดอกกุหลาบ ประมาณ 10 – 20 ดอก คุณภาพของดอกจะดีกว่าแบบที่ขายเป็นห่อ ดอกใหญ่กว่า ส่วนมากเป็นดอกกุหลาบเชียงใหม่ หรือไม่ก็เป็นดอกกุหลาบนำเข้า ใน 1 กำจะมีให้เลือกทั้งแบบสีเดียวและคละสี แต่ลักษณะการขายเป็นกำก็ยังมีข้อเสียคล้ายๆ กับกุหลาบที่ขายเป็นห่อคือการจัดเก็บและขนส่งจากสวนมายังตลาด กุหลาบมีโอกาสได้รับความบอบช้ำสูง   ดอกกุหลาบแบบขายเป็นดอก ราคาประมาณ 20 บาท จนถึงหลักร้อยดอกกุหลาบที่แยกขายแบบดอกเดียวมีหลากหลายรูปแบบ ความสวยงามและคุณภาพของดอกก็เป็นไปตามราคา ยิ่งดอกใหญ่ สด กลีบไม่ช้ำ ก้านยาว ราคาก็ยิ่งสูง   ดอกกุหลาบแบบขายแบบจัดช่อ – หลักร้อย จนถึงหลักหมื่นเรื่องคุณภาพและความสวยงามของดอกกุหลาบไปต้องพูดถึง แถมยังตกแต่งมาเป็นช่อเรียบร้อย เรื่องราคาก็ว่ากันไปตามคุณภาพ ชนิด และปริมาณของดอกไม้ ฝีมือของคนจัดช่อ รับประกันว่าถูกใจคนรับ แต่ราคาอาจจะไม่ถูกสำหรับคนซื้อ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ปลูกกุหลาบแดงไว้เพื่อเธอการปลูกกุหลาบในบ้านเราจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือแบบเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ การปลุกกุหลาบแบบเชิงปริมาณ คือการปลูกที่เน้นที่จำนวนของดอกกุหลาบ ปลูกในพื้นที่ขนาดใหญ่ให้ดอกมากเก็บเกี่ยวได้เร็ว แต่ดอกกุหลาบที่ได้จะไม่ค่อยได้คุณภาพ ดอกจะมีขนาดเล็ก ก้านสั้น หรือไม่ก็มีตำหนิจากโรคและแมลง ทำให้อายุของดอกกุหลาบจะค่อนข้างสั้น ไม่เหมาะแก่การนำไปปักแจกัน แต่การผลิตดอกกุหลาบในลักษณะนี้ทำให้เกษตรกรสามารถตัดดอกกุหลาบส่งขายตลาดได้ทุกวัน ส่วนการปลูกกุหลาบเชิงคุณภาพ เป็นการปลูกที่ต้องมีการดูแลกุหลาบอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงของการปลุกไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว นิยมปลูกในโรงเรือนเพื่อควบคุมอุณหภูมิและป้องกันแมลง ดอกกุหลาบที่ได้จะมีคุณภาพสูง นิยมส่งไปตามร้านที่รับจัดช่อดอกไม้ซึ่งต้องใช้ดอกกุหลาบที่มีขนาดใหญ่ สีสด ไม่มีตำหนิที่กลีบดอก ซึ่งกุหลาบในลักษณะนี้เมืองไทยยังผลิตได้น้อยกว่าความต้องการของตลาด จึงทำให้ยังต้องมีการนำเข้าดอกกุหลาบจากต่างประเทศ ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++   ฉันซื้อกุหลาบให้ตัวเอง...ไม่ว่าจะซื้อกุหลาบให้ตัวเอง หรือให้คนอื่นๆ ลองมาดูเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในการเลือกซื้อกุหลาบ ให้ได้ดอกที่สวยถูกใจ ไม่ผิดหวังทั้งคนให้และคนรับ   1.เลือกดอกที่ยังดูสด ไม่เหี่ยวแห้ง ไม่มีรอยช้ำ หรือสีสันไม่สดใส ไม่เปล่งปลั่ง เพราะแบบนั้นแสดงว่ากุหลาบขาดน้ำ จะเก็บไว้ได้ไม่นาน 2.นอกจากดูที่ดอกแล้วก็ต้องดูที่ใบด้วย ใบก็ต้องสวย ไม่เหี่ยว หรือห่อลู่ ไม่หักงอ ใบอยู่เต็มไม่ขาด 3.ลองจับที่กลีบดอกกุหลาบเบาๆ กุหลาบที่สุขภาพดีกลีบต้องยังมีความแข็ง จับแล้วไม่ช้ำหรือหักตามแรงกด แต่วิธีนี้ต้องอาจต้องแอบทำ เพราะส่วนใหญ่แม้ค้ามักจะไม่ให้เราสัมผัสดอกกุหลาบ ระวังถูกแม่ค้าโกรธ  4.ถ้าซื้อดอกกุหลาบแล้วเก็บข้ามคืนเพื่อใช้งานในวันถัดไป ต้องเลือกที่ดอกยังไม่บานเต็มที่ แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นดอกตูมจนเกินไป เพราะอาจจะเป็นดอกที่ไม่บานแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นควรเลือกดอกที่กลีบยังเป็นทรงสวย บานออกบางแล้ว แต่ไม่ขยายมากจนเกินไป  5.ดูว่าร้านมีการดูแลดอกกุหลาบยังไงบ้าง เพราะดอกกุหลาบที่ถูกตัดมาขายจะขาดน้ำไปเลี้ยง หากแม่ค้านำมาขายโดยไม่ได้แช่น้ำ ดอกกุหลาบก็มีโอกาสเหี่ยวเร็ว  6.ถ้าไปเลือกซื้อที่ปากคลองตลาด ก็ควรยอมเสียเวลาเดินเลือกให้ทั่ว เพราะอย่างที่รู้ว่าที่นี่เป็นแหล่งขายดอกไม้ มีให้เลือกหลายร้านหลายแบบหลายราคา ลองเปรียบเทียบกันดู รับรองต้องเจอแบบที่ทั้งถูกทั้งใจถูกทั้งราคาแน่นอน  กุหลาบแทนใจ...อยากเก็บไว้หลายๆ วัน1.เมื่อซื้อกุหลาบมาแล้ว ให้เด็ดใบที่ไม่ต้องการออกบ้าง แล้วนำไปแช่ในน้ำ นำไปเก็บในที่ที่อากาศเย็น ไม่มีแดดส่อง ซึ่งการหลีกเลี่ยงไม่ให้กุหลาบถูกแดดก่อนนำไปใช้งานก็เพื่อป้องกันการสังเคราะห์แสง เพราะดอกอาจเปลี่ยนสภาพ และอย่าให้อุณหภูมิของน้ำร้อนหรือเย็นเกินไป 2.อย่าแช่ดอกกุหลาบไว้ในแจกันหรือภาชนะที่ใส่น้ำจนแน่นเกินไป เพราะมีผลต่อการดูดซึมน้ำของดอกกุหลาบ ถ้าแช่ดอกกุหลาบมากเกินไปจนดอกต้องเบียดกันแน่นอาจทำดอกและใบชำ 3.หมั่นเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวัน ดอกกุหลาบก็ชอบน้ำสะอาดๆ เพราะฉะนั้นเวลาทุกครั้งที่เปลี่ยนน้ำอย่าลืมล้างทำความสะอาดแจกันด้วย  4.การตัดก้านกุหลาบเพื่อนำมาปักแจกัน ควรตัดในแนวเฉียง เพราะปลายก้านในลักษณะเฉียงจะช่วยให้ดอกกุหลาบดูดซับน้ำได้มากขึ้น 5.ริดหนามออกก็สามารถช่วยชะลอไม่ให้กุหลาบเฉาเร็วได้ แต่อย่าให้มีรอยฉีกที่ก้านเพราะกลายเป็นว่าจะทำให้ดอกไม้เน่าเร็วแทน  6.ว่ากันว่าถ้าใส่เหรียญสลึงลงในแจกันที่จัดดอกกุหลาบไว้ ส่วนผสมที่เป็นทองแดงในเหรียญจะช่วยยับยั้งเชื้อแบคที่เรียที่อยู่ในแจกัน ทำให้ดอกกุหลาบไม่เหี่ยวเร็ว++++++++

อ่านเพิ่มเติม >