ฉบับที่ 227 How to เก็บ เก็บยังไงให้เหลือเงิน How to ลด ลดยังไงไม่ให้เหลื่อมล้ำ

                ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจปีที่ผ่านมาช่างฝืดเคืองในความรู้สึกของชาวบ้านร้านช่อง ส่วนในปี 2563 บรรดานักเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้ให้ความหวังมากนักว่า เศรษฐกิจจะดีขึ้น ทั้งเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งกระทบต่อการส่งออกทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลงและการท่องเที่ยวที่อาจไปไม่ถึงเป้า ขณะที่กำลังซื้อในประเทศที่ลดลงน่าจะส่งผลถึงปีนี้ ผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้า ยังพบว่า ในปี 2562 หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงสุดในประวัติศาสตร์และเพิ่มจากปีก่อนร้อยละ 7.4 บวกกับสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะหยุดรบรากัน เศรษฐกิจไทยปี 2563 จึงเสี่ยงที่จะเติบโตช้า        คำถามตัวโตๆ ก็คือผู้บริโภคอย่างเราจะอยู่อย่างไรในสภาพเศรษฐกิจและการเมืองเช่นนี้         ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนหาคำตอบเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่น่าจะพอช่วยฝ่าฟันมรสุมเศรษฐกิจปี 2563 การเงินในระยะยาว แต่ต้องเน้นตัวโตๆ ตรงนี้ว่ามันคงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูปตายตัวที่ทุกคนจะนำไปใช้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องเฉพาะคน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ถูกค้ำจุนจากเชิงโครงสร้าง การผลักดันทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้          เริ่มรู้จักตัวเองและเก็บออม          การเงินส่วนบุคคลหรือ personal finance เป็นวิชาที่ไม่มีสอนในโรงเรียน นี่เป็นจุดอ่อนใหญ่ของระบบการศึกษาไทย         พูดถึงเรื่องเก็บออมหรือลงทุน เรามักนึกถึงเรื่องจำนวนเงิน ผลตอบแทน ความเสี่ยง วิธีการสารพัดที่หนังสือฮาวทูโฆษณาว่าจะทำให้คุณรวยเร็ว ฯลฯ ผิด! เพราะสิ่งแรกที่คุณต้องรู้ก่อนคือ ‘รู้จักตัวเอง’ เริ่มจากการสำรวจตัวเอง ไลฟ์สไตล์ ทัศนคติต่อเรื่องเงิน ภาระค่าใช้จ่าย งบการเงิน หนี้สิน รวมถึงเป้าหมายทางการเงินของตน เวลาพูดถึงเป้าหมายการออมและลงทุน คำตอบมักหนีไม่พ้น ‘อยากรวย’ แต่ต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงเรียกว่ารวย รวยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน        หลังจากนั้น คุณต้องหันทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้รู้ว่าเงินของคุณเดินทางเข้าออกอย่างไร มันจะช่วยให้เห็นว่ารายจ่ายตรงไหนที่ประหยัดได้อีก แต่ละเดือนมีเงินเหลือหรือไม่ กล่าวคือมันเป็นการเริ่มต้นสำรวจสถานะการเงินของคุณ สิ่งสำคัญคือสภาพคล่อง เงินสดในกระเป๋าสำหรับใช้จ่ายกินอยู่ ถ้าคุณไม่มีสภาพคล่อง หนี้สินก็จะตามมา การรู้รายรับ-รายจ่ายและการบริหารสภาพคล่องจึงเป็นเสาหลักต้นแรกที่ต้องใส่ใจ         ไม่ใช่แค่ใช้จ่าย สภาพคล่องในที่นี้ยังต้องรวมเงินสำหรับเก็บออมด้วย คำแนะนำโดยทั่วไปคือเมื่อคุณได้รายได้มาให้หักเงินออมก่อนอย่างน้อยร้อยละ 10 ของรายได้ เพราะความคิดเดิมที่ว่าเหลือแล้วค่อยเก็บนั้นล้าสมัยไปมากแล้ว         ถามว่าต้องเก็บเงินเท่าไหร่? เงินก้อนแรกที่คุณต้องเก็บคือเงินสำรองฉุกเฉิน 6-12 เดือนของรายจ่ายต่อเดือน เช่น ถ้าใน 1 เดือนคุณมีรายจ่ายและเงินออมรวม 10,000 บาท คุณต้องมีเงินสำรองฉุกเฉิน 60,000 -120,000 บาท ฟังดูมากจนน่าท้อใจ แต่ถ้าวันหนึ่งที่คุณไม่มีรายได้หรือเกิดเหตุฉุกเฉินต้องใช้เงินก้อนคุณจะเห็นความสำคัญของเงินก้อนนี้ และในระหว่างที่เก็บเงินสำรองฉุกเฉิน คุณยังสามารถออมเงินอีกก้อนไปพร้อมกันได้ หากรู้จักจัดสรรเงินโดยไม่กระทบสภาพคล่อง         อีกทั้งมันยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสิ่งที่สำคัญที่สุดของการเก็บออม นั่นคือ ‘วินัย’ ที่มักทำให้หลายคนตกม้าตายไปไม่ถึงเป้าหมายการออมของตน          จัดการหนี้สิน         หนี้สินเป็นสิ่งที่กัดกินสภาพคล่องและความมั่งคั่ง การจัดการหนี้สินจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ         สิ่งแรกที่ต้องรู้ ไม่ใช่ว่าหนี้จะเป็นสิ่งไม่ดีเสมอไป คุณต้องแยกระหว่างหนี้ดีกับหนี้ไม่ดีให้ได้ หนี้ดีคือหนี้ที่ก่อแล้วส่งผลดี เช่น เพิ่มทักษะใหม่ๆ ในการประกอบอาชีพ หนี้ที่นำมาลงทุนทำอาชีพเสริม เป็นต้น ส่วนหนี้ไม่ดีก็คือหนี้บริโภคจากการใช้จ่ายเกินตัว        จุดนี้ต้องแยกแยะให้ดี เพราะการกู้หนี้มาซื้อของอย่างเดียวกันอาจเป็นได้ทั้งหนี้ดีและหนี้ไม่ดี ยกตัวอย่างการซื้อรถ ถ้าคุณเป็นเซลที่ต้องเดินทางออกไปเสนอผลิตภัณฑ์กับลูกค้าบ่อยๆ หนี้รถก็เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าการก่อหนี้ดีจะต้องไม่กระทบกับสภาพคล่อง ทีนี้ ถ้าคุณซื้อรถเพราะเห็นเพื่อนๆ มีรถก็อยากมีบ้างหรือซื้อเพื่อแสดงสถานะทางสังคมทั้งที่รายได้ยังไม่มากพอ แบบนี้ก็เป็นหนี้ไม่ดี ดังนั้น จงหลีกเลี่ยง         หากทำได้ กำจัดหนี้ไม่ดีออกไปให้เร็วที่สุด คำนึงถึงความจำเป็นเป็นหลัก การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าอาจไม่สะดวกเท่าขับรถไปทำงานเอง แต่มันอาจประหยัดได้มากกว่าหลายเท่าตัวกับค่าผ่อนรถ ค่าบำรุงรักษา ภาษี และอื่นๆ          รับมือความเสี่ยง        ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุเป็นเบาะกันกระแทกที่ดีเมื่อคุณต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เอ๊ะ แล้วเงินสำรองฉุกเฉินล่ะทำไมไม่เอามาใช้ แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้าคุณสามารถถ่ายโอนภาระความเสี่ยงไปให้ผู้อื่นแบกรับแทน แม้คุณจะมีเงินสำรองฉุกเฉิน แต่อุบัติเหตุร้ายแรงเพียงครั้งเดียวอาจทำให้เงินก้อนนี้หายไปในชั่วพริบตา อย่างไรก็ตาม คุณจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีคัดเลือกประกันและเบี้ยประกันที่เหมาะสมกับตัวคุณ        ปัจจัยหนึ่งที่ต้องนำมาคิดก่อนซื้อประกันคือสวัสดิการสุขภาพที่มีอยู่แล้ว เช่น ประกันอุบัติเหตุของบริษัทที่คุณทำงานอยู่ สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นต้น แน่นอนว่าสิทธิการรักษาพยาบาลควรเป็นสวัสดิการที่รัฐจัดหาให้แก่ประชาชนทุกคนอย่างครอบคลุม เสมอหน้า และเท่าเทียม ทว่า ในรัฐที่ระบบสวัสดิการยังไม่ครอบคลุมและมีรัฐบาลที่เห็นว่าการซื้ออาวุธสำคัญกว่าสุขภาพของประชาชน การซื้อประกันก็เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า          เรียนรู้เพื่อลงทุน-อย่าโลภ         เมื่อคุณมีเงินสำรองฉุกเฉิน จัดการหนี้สินได้ มีเงินออม และเริ่มมีเงินเหลือ การวางแผนการเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณก็จะตามมา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณควรคิดตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน เพราะความมั่งคั่งจากการลงทุนต้องอาศัย 3 ปัจจัย-เงินต้น ผลตอบแทน และระยะเวลา         คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิด เงินต้นไม่มากพอที่จะสร้างความมั่งคั่งได้รวดเร็ว ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารก็ต่ำเตี้ยมาเป็นเวลานานโตไม่ทันกับเงินเฟ้อ คงมีแต่เวลาที่พอจะมีใกล้เคียงกัน (แต่ก็ไม่เสมอไป) ดังนั้น ยิ่งคุณเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ         การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่คำตอบของการเก็บเงินเพื่อการเกษียณ การลงทุนต่างหากที่ช่วยได้        ทันทีที่พูดเรื่องการลงทุน คนส่วนใหญ่จะทำหน้างอและถอย ข้ออ้างคือไม่มีความรู้ ไม่มีเงินก้อน นี่เป็นมายาคติตัวใหญ่ที่ขวางกั้นคุณกับความมั่งคั่ง สกู๊ปนี้คงไม่ลงรายละเอียดว่าต้องลงทุนอย่างไร คุณสามารถหาความรู้ด้านการลงทุนมากมายได้จาก www.set.or.th/education        เรามีแค่คำเตือน-อย่าโลภ ขายตรง ทองคำ ฟอร์เร็กซ์ ข่าวคราวแชร์ลูกโซ่ที่มากทั้งจำนวนผู้เสียหายและจำนวเงิน ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยความโลภทั้งสิ้น เมื่อใดที่เห็นคำโฆษณาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ เช่น ร้อยละ 12 ต่อเดือน จงระวังตัว          วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่าที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่งจนได้ฉายาว่า เทพพยากรณ์แห่งโอมาฮา ยังสร้างผลตอบแทนแบบทบต้นได้เพียงประมาณร้อยละ 22 ต่อปีเท่านั้น แล้วคุณเชื่อหรือว่าจะมีคนที่คุณเอาเงินไปให้แล้วจะสร้างผลตอบแทนให้ร้อยละ 12 ต่อเดือนโดยที่คุณแค่นั่งเฉยๆ         ดังนั้น ก่อนเริ่มลงทุน คุณต้องหาความรู้ เข้าใจความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ ผลตอบแทนที่ต้องการ รักษาวินัยในการลงทุน และอย่าโลภ          ความเหลื่อมล้ำอันกว้างใหญ่         ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเย็นเกินกว่าจะลงมือทำ         อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเรื่องเฉพาะตัวบุคคลที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ ‘ทุกคน’ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค คำตอบคือไม่ เพราะแต่ละคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน บางคนติดลบตั้งแต่เกิด อีกบางคนมีมูลค่าเป็นพันล้านตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงเด็กชาย         วารสารการเงินการธนาคารฉบับเดือนธันวาคมปี 2562 เผยภาพรวมเศรษฐีหุ้นไทยโดยวัดจากผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ถือหุ้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่ามีจำนวน 7,626 คน มูลค่าหุ้นรวมกันเท่ากับ 2,127,895 ล้านบาท คน 7,626 นี้ได้รับปันผลจากหุ้นที่ตนถือครอง 60,060 ล้านบาท ส่วนมหาเศรษฐีหุ้นไทย 500 อันดับแรก มูลค่าหุ้นที่คนกลุ่มนี้ถือครองคือ 1,607,362 ล้านบาท         นิตยสาร Forbes Thailand จัดอันดับมหาเศรษฐีไทย 50 อันดับแรก พบว่า มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยรวมของมหาเศรษฐีทั้ง 50 คนอยู่ที่ประมาณ 5.14 ล้านล้านบาท มหาเศรษฐีเหล่านี้วนเวียนอยู่ในตระกูลที่คนไทยคุ้นหูกันเป็นอย่างดี เจียรวนนท์ สิริวัฒนภักดี โอสถานุเคราะห์ อัศวโภคิน กาญจนพาสน์ ปราสาททองโอสถ โสภณพนิช ว่องกุศลกิจ เป็นต้น         ขณะที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ของทั้งประเทศอยู่ที่ 3,200,000 ล้านบาท         อีกฟากฝั่งของความร่ำรวยของคนไม่กี่คนและไม่กี่ตระกูล จากงานศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า เงินฝากมีการกระจุกตัวสูงโดยผู้ฝากรายใหญ่สุดร้อยละ 10 มีเงินฝากรวมถึงร้อยละ 93 ของเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด และคนไทยกว่าครึ่งมีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่ครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท และมีเพียงร้อยละ 0.2 ที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่าร้อยละ 32.8 ของผู้ฝากหรือ12.2 ล้านคน มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนมีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท และจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 หรือปี 2561 ประเทศไทยก็ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความเหลื่อมล้ำ        ลองเทียบตัวเลขคุณจะเห็นความผิดปกติบางอย่าง ความเหลื่อมล้ำและช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยในไทยช่างกว้างใหญ่ราวมหาสมุทรแปซิฟิก        รศ.ดร.วิมุต วานิชเจริญธรรม จากภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของไทยเป็นผลจากนโยบายของรัฐมักเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจ ไม่สนับสนุนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อความมั่งคั่งของตนเอง ดังนั้น เครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำคือการจัดสรรภาษีที่เป็นธรรมตามหลักการจัดสรรรายได้จากคนรวยสู่คนจนจึงไม่ทำงาน          สร้างรัฐที่ดูแลประชาชน         การเก็บออมเป็นวินัยที่ทุกคนควรมี แต่มันไม่เพียงพอ การถักทอตาข่ายทางสังคมที่รองรับทุกคน ส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต้องผลักดันควบคู่กันไปให้เป็นสิทธิของเราที่รัฐต้องจัดหาให้แก่ประชาชน นโยบายที่ควรต้องขับเคลื่อนให้รัฐตอบสนอง เช่น        1.การจัดสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพ        2.การจัดสวัสดิการด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพ และต้องฟรีจริงๆ        3.การสร้างระบบบำนาญแห่งชาติ        4.การเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เช่น ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีผลได้จากทุน เป็นต้น อย่างมีประสิทธิภาพ        5.การสร้างระบบการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ทุกกลุ่มได้ส่งเสียงและเสนอความต้องการ        6.การจัดสรรให้เกิดการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐอย่างเป็นธรรม        ฯลฯ         การผลักดันเชิงนโยบายเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ทำได้หรือไม่? ก็ไม่ได้ เพราะมันจะช่วยดึงความมั่งคั่งที่อยู่ในมือคนไม่กี่คนกระจายไปยังคนส่วนใหญ่ของประเทศ         อุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ยืนขวางอยู่คือรัฐบาลสืบทอดอำนาจและรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >