ฉบับที่ 275 โน๊ตบุ้ก

        ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบคอมพิวเตอร์แบบพกพาทั้งขนาดจอใหญ่และเล็ก รวมถึงกลุ่ม Chromebook ที่สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ได้แก่ องค์กรผู้บริโภคจากเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรีย ฝรั่งเศส เบลเยียม โปรตุเกส สเปน อิตาลี สวีเดน สาธารณรัฐเช็ก) ทำไว้ตั้งแต่ปลายปี 2023 ถึงต้นปี 2024  มีให้เลือกจาก 5 แบรนด์ รวมทั้งหมด 22 รุ่น ในสนนราคาตั้งแต่ 9,990 ไปจนถึงมากกว่า 80,000 บาท* ในการทดสอบครั้งนี้ยังคงแบ่งคะแนนแบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่        ร้อยละ 25   ความสะดวกในการใช้งาน        ร้อยละ 20   ประสิทธิภาพในการทำงาน        ร้อยละ 20   แบตเตอรี        ร้อยละ 15   จอภาพและเสียง        ร้อยละ 15   ความสะดวกในการพกพา        ร้อยละ 5     ฟีเจอร์ต่างๆ ในภาพรวมราคายังบ่งบอกถึงคุณภาพของโน๊ตบุ้ก แต่เราก็พบว่าในระดับคะแนนที่เท่าๆ กัน เรายังสามารถเลือกโน๊ตบุ้กที่มีราคาค่อนข้างต่างกัน และโน้ตบุ้กที่ราคาที่สูงกว่าอาจไม่ใช่รุ่นที่ใช้งานได้ดีกว่าเสมอไป พลิกหน้าต่อไปเพื่อหารุ่นที่ตรงกับการใช้งานในแบบของคุณได้เลย  *โปรดตรวจสอบราคาที่อัปเดตอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 233 คอมพิวเตอร์(ยัง)ใหม่พังจ้า ขอเปลี่ยนเครื่องได้ไหม

        ชาวออฟฟิศทั้งหลายปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุ๊ค เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ถือว่าเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เลยก็ว่าได้ ถ้าขาดไปชาวออฟฟิศคงทำงานกันไม่ได้ ถ้าวันไหนคอมพิวเตอร์เสียหรือมีปัญหาเราก็อยากให้ซ่อมให้เสร็จภายในเร็ววัน        ที่ทำงานของคุณภูผา ซื้อคอมพิวเตอร์ใหม่ 1 เครื่อง ให้เขาใช้งาน โดยซื้อในงานคอมมาร์ท จากร้านค้าชื่อ Advice เป็นเครื่องของ Lenovo ออล-อิน-วัน ราคา 15,900 บาท ตั้งแต่ซื้อเขาก็ใช้งานตามปกติเรื่อยมา ใช้ได้ประมาณ 7-8 เดือน จอคอมก็มีเส้นวิ่งๆ ขึ้นมาและก็หายไป จนกระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 10 ก็มีเส้นค้างหน้าจอตลอดเวลา เขาติดต่อไปยัง Lenovo เพื่อสอบถามวิธีการแก้ไขปัญหา เจ้าหน้าที่บอกเขาว่าจะให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ เมื่อเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับมาก็ให้ความเห็นว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเส้นค้างหน้าจอได้ ต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่ แต่ยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้ เขาก็แจ้งไปยังหัวหน้าว่า คอมพิวเตอร์มีปัญหาและยังอยู่ในระยะเวลาประกัน ทาง Lenovo จะเปลี่ยนเครื่องใหม่ให้         หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ของ Lenovo ก็อีเมลมาแจ้งสเปคของคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ใหม่ ภูผาพบว่าเครื่องที่จะเปลี่ยนให้ใหม่สเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา เมื่อตรวจสอบราคาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะเปลี่ยนให้ราคาก็ต่างจากเครื่องที่ซื้อมาเกือบ 3,000 บาท เขาปรึกษาหัวหน้า เพราะเป็นคอมพิวเตอร์ของที่ทำงาน หัวหน้าให้ยืนยันไปว่าต้องการเปลี่ยนคอมเป็นสเปคเท่ากับเครื่องที่ซื้อมา         ภูผาจึงได้อีเมลตอบกลับไปตามที่หัวหน้าแนะนำ ต่อมาทางเจ้าหน้าที่ Lenovo โทรศัพท์มาอธิบายว่า เครื่องรุ่นที่ซื้อมาไม่มีในสต็อกเมืองไทยแล้ว เลยขอเปลี่ยนเครื่องตามที่ Lenovo เสนอไป ถ้าตกลง Lenovo ก็จะนำเครื่องใหม่มาเปลี่ยนให้ทันที ภูผางงใจ ไม่รู้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี เครื่องก็ไม่ใช่ของเขา หัวหน้าก็บอกให้เปลี่ยนเท่ากับสเปคที่ซื้อมา Lenovo ก็บอกว่าไม่มีสินค้าในไทยแล้ว เขาจึงปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         ศูนย์พิทักษ์สิทธิแนะนำว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมตามสัญญา ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ผู้ร้องซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้ ผู้ร้องต้องได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ หากเกิดปัญหาต้องได้รับการแก้ไข ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงระยะเวลาประกันบริษัทยิ่งต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น กรณีของผู้ร้องบริษัทจะต้องเปลี่ยนเป็นคอมพิวเตอร์ที่มีสเปคเท่ากับตัวที่ซื้อมา จะอ้างว่าไม่มีสต็อกสินค้าในประเทศและขอเปลี่ยนเป็นเครื่องที่มีสเปคต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมาไม่ได้ ถ้าไม่มีในสต็อก บริษัทต้องจัดหาคอมพิวเตอร์ยี่ห้ออื่นที่มีสเปคเท่ากับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา หรือคอมพิวเตอร์ยี่ห้อเดิมแต่สเปคต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องที่ซื้อมา หรือคืนเงินจำนวน 15,900 เท่ากับราคาที่ซื้อมาให้แก่ผู้ร้อง          ผู้ร้องได้โทรศัพท์ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ของ Lenovo โดยบอกข้อเสนอตามที่มูลนิธิแนะนำ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันว่าขอเปลี่ยนเครื่องตามที่เขาเสนอมา ผู้ร้องจึงบอกเจ้าหน้าที่ไปว่า ข้อเสนอของ Lenovo เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ผู้ร้องขอให้ Lenovo ดำเนินการแก้ไขปัญหาขั้นต่ำตามที่ผู้ร้องเสนอ ถ้า Lenovo ยังยืนยันตามข้อเสนอที่เอาเปรียบผู้บริโภคเช่นเดิม ผู้ร้องขอไม่รับการแก้ไขปัญหาแบบนี้ และคงต้องดำเนินการฟ้องคดีเพื่อเป็นตัวอย่างกรณีข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเอาเปรียบผู้บริโภค         สุดท้ายเรื่องนี้จบด้วยการที่ Lenovo ยอมเปลี่ยนเครื่องที่มีสเปคสูงกว่านิดหน่อยให้แก่ผู้ร้อง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 โอ้ละหนอ ... ดวงตาเอย

        ปัจจุบันเราใช้สายตาผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ มือถือสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตกันมาก ทำให้หลายคนอาจเกิดปัญหาต่างๆ ทางสายตามากขึ้น  จึงเป็นโอกาสทองของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่จะเข้ามาแทรกตรงนี้เพื่อให้ผู้บริโภคเคลิบเคลิ้มจนเสียเงินอย่างไม่จำเป็น โดยสารสำคัญล่าสุดที่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยกมาอ้างถึงประโยชน์คือ “ลูทีน”         ในเว็บขายสินค้าทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายชนิด ที่แจ้งว่ามีส่วนผสมของลูทีนและวิตามินต่างๆ แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ทุกชนิดจะอ้างว่าตนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงรักษาดวงตา บางผลิตภัณฑ์มีการนำผลการวิจัยที่มีตัวเลขต่างๆ มาอ้างอิงเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการรักษา เหมือนว่าเพิ่มความขลัง แรกๆ ก็อ้างว่าสามารถรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่ลองอ่านไปเรื่อยๆ ก็พบว่ามีการอ้างว่ารักษาโรคต่างๆ มากขึ้นไปอีก ประหนึ่งว่ามันคือ อาหารเทวดา เช่น ความจำเสื่อมในผู้สูงอายุ  อาการหลอดเลือดแข็ง ลดไขมัน ทำให้ผิวพรรณสดใส ฯลฯ แต่ที่หาไม่เจอคือ ข้อมูลแสดงที่มาของการวิจัยว่าเป็นหน่วยงานทางวิชาการที่ไหนทำ หรือพูดภาษาบ้านๆ คือ ยกเมฆเอาข้อมูลมาอวดอ้าง แต่ไม่บอกแหล่งที่มาว่าใครวิจัย ดีที่ไม่อ้างว่าเทวดาวิจัย(ฮา)         เมื่อตามเข้าไปดูในเฟซบุ๊คของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ยิ่งหนักขึ้นไปอีก มีการนำภาพผ้สูงอายุมาประกอบการโฆษณา โดยมีข้อความชวนตะลึงเข้าไปอีก เช่น “ทานต่อเนื่อง 3 กล่อง ต้อเนื้อหลุด ตาพร่ามัวดีขึ้น มองชัด” ผลิตด้วยเทคโนโลยีนาโน และยังแทคข้อความแฝงสรรพคุณต่างๆ เช่น #แสบตา #เคืองตา #น้ำตาไหล #ตาพร่ามัว #แพ้แสง #แพ้ลม #มองไม่ชัด#ภาพซ้อน #หยากไย่ลอยไปลอยมา #ตาบอดกลางคืน #ต้อลม #ต้อกระจก#ต้อเนื้อ #ต้อหิน ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีภาพกล่องพัสดุที่เตรียมส่งไปรษณีย์กองใหญ่ รวมทั้งโชว์ภาพใบส่งของไปรษณีย์ที่ยาวเหยียดมากมาย เหมือนโชว์ว่าสินค้านี้มีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก         อันที่จริง ลูทีน เป็นสารอาหารในกลุ่มเดียวกับ เบต้าแคโรทีนและวิตามินเอ พบได้มากในผักและผลไม้หลายชนิด เช่น ผักปวยเล้ง บร็อคโคลี่ คะน้า ข้าวโพด กีวี องุ่น ส้ม ฯลฯ ดังนั้นไม่จำเป็นเลยที่จะต้องไปเสียเงินเสียทองซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแพงๆ มากิน หากใครติดตามข่าวจะพบว่าแม้กระทั่งจักษุแพทย์ เช่น ผศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังเคยออกมาเตือนผ่านทางสื่อต่างๆ ว่า โรคตาแต่ละชนิดมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเป็นต้อกระจกต้องผ่าตัดต้อกระจก หากเป็นต้อหินก็ต้องให้ยาลดความดันลูกตา ไม่สามารถใช้วิตามินกินแล้วบอกว่ารักษาทุกโรคได้         สารลูทีนและซีแซนทีน เป็นกลุ่มวิตามิน ซึ่งมีการศึกษาที่พิสูจน์ว่าได้ประโยชน์เฉพาะผู้ป่วยจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุบางประเภท “ที่ต้องได้รับการวินิจฉัยจากจักษุแพทย์ก่อน” จึงจะสามารถใช้ยาได้ “ดังนั้นการโฆษณาว่ารักษาโรคตาได้ทุกโรคนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ หนำซ้ำจะทำให้เกิดอันตราย ขาดโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้โรครุนแรงขึ้นจนถึงขั้นตาบอดได้” เช่น ถ้าเป็นต้อเนื้อ ก็จะลุกลามจนบังการมองเห็น ถ้าเป็นต้อกระจกก็จะทำให้อาการรุนแรงเกิดผลแทรกซ้อนกลายเป็นต้อหินและตาบอดในที่สุด ยิ่งถ้าเป็นต้อหินอยู่เดิมแล้วไม่ได้รับการรักษาด้วยยาลดความดันลูกตาอาจจะทำให้ตาบอดได้ บางคนอาจจะใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็ทำให้ตาบอดได้        ทราบข้อมูลขนาดนี้แล้ว ช่วยๆ กันเตือนคนที่เรารัก ให้เท่าทัน หากมีปัญหาเรื่องตา ควรไปหาจักษุแพทย์ตรวจรักษาอย่างถูกวิธีดีกว่า อย่าไปหลงเป็นเหยื่อ ให้ผลิตภัณฑ์พวกมา...โอ้ละหนอ หลอกดวงตาจนอาจจะบอดเอย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 ปัญหา SPAM / SMS กวนใจ กับ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่

ปัญหา sms ขยะ ที่ส่งข้อความโฆษณามาชวนให้ซื้อสินค้า หรือสมัครใช้บริการต่างๆ ทั้ง sms ชวนสมัครเล่นเกมส์  โหลดคลิป ดูดวง ทายผลบอล เข้ามายังโทรศัพท์มือถือวันละหลายๆ ครั้ง หรือข้อความโฆษณาขายครีม ขายอาหารเสริมที่ส่งมาทาง Line หรือโพสฝากร้านค้าผ่าน Facebook หรือ Instagram ที่โพสซ้ำๆ จนเป็นน่ารำคาญ นับเป็นปัญหาที่พูดกันมานานในสังคมไทย มีการออกกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อจัดการปัญหา SPAM มาโดยตลอด  ล่าสุด พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560 ได้มีการแก้ไข เพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับ ปัญหา SPAM โดยในมาตรา 11 กำหนดว่า “ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิด ความเดือดร้อนรําคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับ สามารถบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน สองแสนบาท   ให้รัฐมนตรีออกประกาศกําหนดลักษณะและวิธีการส่ง รวมทั้งลักษณะและปริมาณของ ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรําคาญ แก่ผู้รับ และลักษณะอันเป็นการบอกเลิกหรือแจ้งความประสงค์เพื่อปฏิเสธการตอบรับได้โดยง่าย” ปัจจุบัน ประกาศ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง ลักษณะและวิธีการส่ง และลักษณะและปริมาณของข้อมูล ความถี่และวิธีการส่งซึ่งไม่เป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้แล้ว ผู้ที่สนใจก็สามารถ Download ข้อมูลกฎหมายดังกล่าว มาศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://www.prachachat.net/ict/news-8775  สาระสำคัญโดยย่อของกฎหมายนี้ก็คือ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามกฎหมายนี้ ครอบคลุมทั้ง การส่งข้อความ sms , e- mail , line โฆษณาขายของ การโฆษณาในลักษณะฝากร้านใน facebook , Instragram   การส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในเชิงพาณิชย์ไปยังผู้รับ จะต้องได้รับความยินยอมจึงจะไม่เป็นความผิด และข้อมูลที่ส่งไปนั้น จะต้องระบุช่องทางหรือวิธีการในการปฏิเสธการรับข้อมูล เช่น ต้องแจ้งเบอร์โทรศัพท์ โทรสาร e-mail หรือ มีระบบตอบรับอัตโนมัติที่ผู้รับจะแจ้งยกเลิกการรับข้อมูลได้โดยง่าย   หากแจ้งปฏิเสธการรับข้อมูลไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อมูลโฆษณาต่าง ๆ มาอีก ผู้บริโภคก็จะต้องแจ้งเตือนไปยังผู้ส่งเป็นครั้งที่ 2 ให้ชัดเจนว่าทางผู้ประกอบการได้รับทราบถึงการปฏิเสธนี้อย่างชัดแจ้งแล้ว ถ้ายังฝ่าฝืนส่งมาอีกคราวนี้ ก็จะถือว่าผู้ส่งมีความผิดตามมาตรา 11 มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท  นอกจากนี้ ก็จะมีบทบัญญัติว่าด้วยข้อยกเว้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการส่งข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เช่น การส่งข้อมูลเพื่อเรียกคืนสินค้า(Recall) เนื่องจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า การส่งข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรการกุศล หรือการส่งข้อมูลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในเชิงพาณิชย์  กฎหมายฉบับนี้ ออกแบบมาตามหลักการ Opt-Out คือ ผู้บริโภคต้องแสดงเจตนาว่าจะไม่รับข้อความโฆษณาต่างๆ ไปยังผู้ประกอบการ เมื่อปฏิเสธไปแล้ว ยังมีการฝ่าฝืนส่งข้อความมารบกวนอีกจึงจะถือว่า ผู้ประกอบการมีความผิด  ในต่างประเทศ ที่ใช้ระบบ Opt-Out ควบคุมการทำตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์ มิให้รุกล้ำสิทธิความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีสิ่งที่เรียกว่า Do not call register ซึ่ง อาจจะแปลเป็นไทยว่า “ระบบลงทะเบียนห้ามโทร” ซึ่งจะเป็นระบบกลางที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะรับข้อความโฆษณาต่าง ๆ ได้มาลงทะเบียนไว้ และในกรณีที่บริษัท ห้างร้าน จะทำการส่งข้อความโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ก็จะต้องมาตรวจสอบข้อมูลกับ Do not call list ก่อน ถ้าเกิดบริษัท ส่งข้อความโฆษณา ไปยังผู้ที่มาลงทะเบียนปฏิเสธไว้ ก็จะถือว่ามีความผิดทันที   ส่วนของไทย ณ ขณะนี้ ยังไม่มีระบบกลาง ผู้บริโภคก็ต้องขวนขวายแจ้งไปยังผู้ประกอบการแต่ละรายเอง แถมยังต้องมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ผู้ประกอบการได้รับทราบคำปฏิเสธแล้วยังฝ่าฝืนส่งข้อความโฆษณามา จึงจะถือว่าเป็นความผิด ก็ไม่รู้ว่า กฎหมายที่มีลักษณะเขียนเสือให้วัวกลัว แบบนี้ จะกำราบผู้ประกอบการให้หยุดส่ง SPAM ได้นานสักเท่าไร ปิดท้าย กันด้วยเกร็ดความรู้ของคำว่า SPAM ซึ่งเป็น คำแสลง ในภาษาอังกฤษ ที่ใช้เรียก การพยายามยัดเยียดส่งข้อความโฆษณาไปยังผู้รับจนเกิดความรำคาญ ซึ่งไทยเราก็เรียก ทับศัพท์ตามว่า “สแปม” คำนี้มีที่มาจาก เนื้อหมูกระป๋องยี่ห้อ SPAM ซึ่งเป็นสินค้าขายดีในชีวิตประจำวันของพวกฝรั่ง ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีหมูกระป๋องยี่ห้อนี้ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ต ส่วนเหตุที่ SPAM กลายมาเป็น ศัพท์แสลงก็ต้องย้อนกลับไป เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ในยุค 70 มีรายการโทรทัศน์ของประเทศอังกฤษ ชื่อ Monty Python ซึ่งเป็นรายการตลกสั้นๆ มีอยู่ตอนหนึ่ง ตัวเอกของเรื่องเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งทุกเมนูล้วนแต่มีส่วนผสมของ “SPAM หมูกระป๋อง” แม้ลูกค้าจะบอกว่าไม่ต้องใส่ SPAM ได้ไหม ก็ไม่วายที่พนักงานของร้านจะพยายามยัดเยียด ให้ลูกค้ากิน SPAM ให้จงได้ จนเกิดเป็นความโกลาหล ปนฮาขึ้น ลองเข้าไปชมคลิปรายการ Monty Python ตอน SPAM ทาง YouTube แล้วจะเห็นภาพชัดเจน https://www.youtube.com/watch?v=anwy2MPT5RE  เข้าใจว่า พวกฝรั่ง คงจะอินกับมุขตลกนี้มาก ดังนั้น ต่อมา เมื่อมีการพยายามส่งข้อความโฆษณา ขายสินค้าต่างๆ ให้ผู้บริโภค จนรกหูรกตา หน้ารำคาญ จึงเรียกพฤติกรรมนี้ว่า SPAM

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 ศาลโซเชียลกับความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันเครือข่ายสังคมออนไลน์ได้เข้ามามีบทบาทกับภาคสังคมและภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตจึงได้รับความนิยมมาก ในอดีตการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ต่างๆ นั้น สามารถแสดงเพียงเนื้อหาอย่างเดียวเท่านั้น บุคคลไม่สามารถติดต่อหรือโต้ตอบซึ่งกันและกันได้ แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารการพูดคุยโต้ตอบกันระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารสามารถทำได้ รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่ส่งผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ตได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะเว็บไซด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟซบุ๊ค ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้ตอบถึงกันได้  จึงเกิดเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์  “เครือข่ายสังคมออนไลน์”  หมายถึงช่องทางในการติดต่อสื่อสารแบบสองทาง โดยมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเพื่อตอบสนองความต้องการทางสังคมที่มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ข่าวสาร หรือการพูดคุยโต้ตอบระหว่างกัน รวมไปถึงการแบ่งปันสื่อต่างๆ ที่สามารถส่งผ่านทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้  การสื่อสารประเภทนี้มีอิทธิพลต่อสังคมเป็นอย่างมากทั้งในด้านดีและไม่ดี ในด้านดี กล่าวคือใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวในด้านการศึกษา การค้นคว้า การวิจัย การจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อความบันเทิง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสีย กล่าวคือในด้านการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร และสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีความปลอดภัยในการใช้ข้อมูลส่วนตัว ก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมด้านสังคม เป็นต้นดังนั้น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตจึงเปรียบเสมือนผู้ควบคุมช่องทางในการผ่านเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ตซึ่งหลังจากที่ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้แล้วก็จะสามารถเข้าถึงการใช้งานใดในระบบอินเทอร์เน็ตได้ และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560 มาตรา 3 ได้บัญญัติความหมายของผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการคือ  "ผู้ให้บริการ" หมายความว่า (1) ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันโดยประการอื่นโดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการในนามของตนเอง หรือในนามหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น  (2) ผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์ เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น "ผู้ใช้บริการ" หมายความว่า ผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการ ไม่ว่าต้องเสียค่าใช้บริการหรือไม่ก็ตาม          ปัจจุบันเกิดสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลจากการใช้บริการเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ อย่างมากมาย ซึ่งสามารถแยกประเภทพิจารณาออกได้สามกรณีกรณีที่หนึ่ง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยมิชอบ    เช่น การเข้าไปในเว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมและเข้าไปนำเอาข้อมูล  ภาพ หรือคลิป  ของผู้ใช้บริการมาเก็บไว้เพื่อเฝ้าติดตามคุกคามความเป็นส่วนตัว หรือนำไปใช้เผยแพร่แสวงหาประโยชน์  ดังนี้ อาจจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 มาตรา 16 ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง กรณีที่สอง การได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยชอบ เช่น การได้ข้อมูลส่วนบุคคลมาโดยได้รับความยินยอมจากผู้ใช้เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตามผู้เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวอาจให้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางเครือข่ายสังคมออนไลน์เท่านั้น แต่ผู้ได้รับข้อมูลส่วนบุคคลนั้นนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เพื่อการนำมาใช้เพื่อการขายตรงหรือโฆษณาสินค้าหรือบริการ ดังนี้ ดังนี้ อาจจะมีความว่าผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2)พ.ศ.2560 มาตรา11ซึ่งเป็นไปตามกรณีข้อเท็จจริง         กรณีที่สาม การนำเสนอข่าวของสื่อประเภทโซเชียล ซึ่งทำตัวเป็นเสมือนศาลที่พิพากษาให้บุคคลที่ตกเป็นข่าวเป็น”คนผิด” ในทันที โดยที่เจ้าตัวอาจจะยังไม่มีโอกาสชี้แจ้งใดๆ เลย เช่น ข่าวผู้ว่าราชการแม่ฮ่องสอนมีชื่อพัวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ สื่อทุกสื่อร่วมใจกันตีแผ่เรื่องนี้ยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ต่อมาเมื่อความจริงปรากฏว่าท่านผู้ว่าฯ ไม่ได้ทำ มลทินที่ท่านได้รับจากศาลโซเชียล ก็ยังไม่ถูกบรรเทาลงไปแต่อย่างใด หรือกรณีการส่งรูปภาพที่ได้รับมาจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งเป็นทอดๆ โดยไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของภาพจนทำให้บุคคลในภาพได้รับผลกระทบ ทั้งสามกรณี หากนำข้อมูลส่วนบุคคล ภาพ หรือคลิป ออกมาเผยแพร่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีการชี้นำให้คิดตามหรือไม่ก็ตาม  ย่อมอาจจะทำให้บุคคลนั้นถูกละเมิดเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง  หรือได้รับความอับอายได้  ประเด็นเหล่านี้ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการหรือผู้ใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์  หากจะใช้มาตรการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหา “อิทธิพลศาลโซเชียล” ได้อย่างแน่นอน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 100 รางปลั๊กไฟสำหรับคอมพิวเตอร์

ได้เวลาทดสอบรางปลั๊กไฟกันอีกครั้ง คราวนี้เอาใจคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก เราเลือกรางปลั๊กไฟที่รองรับเต้าเสียบได้อย่างน้อย 4 ตัว (สมมุติว่าเสียบปลั๊ก ซีพียู จอ ลำโพง เราท์เตอร์ เหลือสำรองไว้อีกหนึ่ง)คราวนี้เราเปลี่ยนกลุ่มสินค้าทดสอบ จากรางปลั๊กราคาย่อมเยาทั่วๆไปที่เราพบในห้างค้าปลีก มาเป็นรางปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเราเน้นสินค้าที่มีขายอยู่ในแหล่งจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบเป็นหลักอย่างที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า แต่ก็มีบ้างที่ซื้อจากจากแผนกไฟฟ้าในห้างค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน   รางปลั๊กไฟที่เราซื้อมาทดสอบในครั้งนี้มีราคาตั้งแต่ 115 บาท ถึง 985 บาท วิธีการทดสอบยังคงเป็นเหมือนครั้งที่แล้วนั่นคือ การทดสอบรางปลั๊กไฟว่าผ่านหรือไม่ใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ 1. ความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า เพื่อดูว่าวัสดุที่ใช้ทำฉนวนสามารถป้องกันการเข้าถึงส่วนที่มีไฟฟ้า (หรือการเกิดไฟดูด) ได้หรือไม่2. อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เพื่อดูว่าจะเกิดความร้อนสะสมในขณะที่เราใช้งานจนถึงขั้นทำให้เกิดติดไฟหรือไม่ 3. แรงที่ใช้ในการดึงเต้าเสียบ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นเต้ารับไฟฟ้า จะต้องผลิตให้เสียบเข้าและดึงออกได้ง่าย ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป4. ความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ วัสดุที่ดีจะต้องไม่ลุกติดไฟ หรือถ้าติดก็ต้องดับภายในเวลา 30 วินาที5. ความยาวของสายไฟ เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลากหรือไม่ จากการทดสอบเราพบว่ามีรางปลั๊กไฟ 3 รุ่น จากทั้งหมด 22 รุ่นที่เราทำการทดสอบ ที่ผ่านมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย 4 ข้อแรก ได้แก่ Paco PC-S11 (ราคา 115 บาท), Haco EP-SFE3U (ราคา 495 บาท), และWonpro WES 4.5S (ราคา 985 บาท) แต่ทั้งสามรุ่นนี้ก็ยังให้ความยาวของสายไฟน้อยกว่าที่ระบุในฉลาก เราพบว่ามีรางปลั๊กไฟเพียงรุ่นเดียวที่ให้สายไฟเกินมาจากที่ระบุไว้ นั่นคือ Electon TE 9143 ความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผู้บริโภค ว่าด้วยข้อมูลบนฉลาก ข้อสังเกตอย่างหนี่งจากการซื้อสินค้ามาทดสอบในครั้งนี้คือ รางปลั๊กไฟที่ขายกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนใช้คอมพิวเตอร์นั้น มักจะมีฉลากที่ดูไม่ธรรมดา มีข้อความทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มาอธิบายสรรพคุณของสินค้ากันมากมาย ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้เรียนรู้ไปด้วย แต่กระนั้นก็ตามเราพบว่าฉลากของรางปลั๊กไฟหลายรุ่นไม่ได้ให้ข้อมูลที่ควรจะให้ ในขณะที่บางรุ่นก็ให้ข้อมูลที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ในประเด็นนี้ อ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ ข้อมูลที่ควรแจ้งแก่ผู้บริโภค- “ใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้ารวมกันไม่เกิน 2000 วัตต์”- “ใช้ได้ภายในบ้าน และไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่อาจเปียกน้ำได้”- “ควรวางไว้ในที่ปลอดภัย ให้ห่างจากมือเด็กเล็ก”- (กรณีของรางปลั๊กที่มีตัวป้องกันไฟกระชาก) “อุปกรณ์นี้มีตัวป้องกันแรงดันเกินที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า และอาจไม่สามารถป้องกันอุปกรณ์หากเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวบ้าน สายโทรศัพท์ หรือเสาอากาศได้”- (กรณีรางปลั๊กสำหรับเต้าเสียบสามขา) “ต้องมีการเชื่อมต่อสายดินที่เต้ารับของบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยจากไฟดูด” ข้อมูลที่ไม่ควรแจ้งแก่ผู้บริโภค - ถ้ารางปลั๊กดังกล่าวไม่มีตัวป้องกันไฟกระชาก ไม่ควรระบุว่า “เหมาะสมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์” เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวอาจเสียหายได้เมื่อได้รับแรงดันเกิน- ไม่ควรระบุว่า “ป้องกันไฟฟ้ารั่ว” เพราะไฟฟ้ารั่วนั้นโดยทั่วไปนั้นเกิดจากตัวอุปกรณ์ไฟฟ้า (ไม่ได้เกิดจากรางปลั๊กไฟ) จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ เรามาดูตัวอย่างของคำเตือนบนฉลากของรางปลั๊กไฟรุ่น Toshino DD-4MSWUSB3M ซึ่งเป็นรุ่นเดียวที่มีการให้ข้อมูลบนฉลากที่ดี (แต่น่าเสียดายที่คำเตือนเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ มีเพียงสองบรรทัดแรกที่เป็นภาษาไทย) - ไม่ควรใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟเกิน 2000 W - ควรเก็บให้ห่างความชื้น- ควรใช้กับเต้ารับที่ได้มาตรฐาน (โหลดสูงสุด 240 โวลท์ และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 10A) และควรมีการติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัย- รางปลั๊กไฟนี้ไม่สามารถป้องกันอุปกรณ์ของท่านได้ หากเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวบ้าน สายโทรศัพท์ หรือเสาอากาศ- อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินไม่สามารถป้องกันแรงดันเกินที่อาจเกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า เช่น การลัดวงจรลงดิน- สำหรับใช้ภายในบ้านและในบริเวณที่แห้งเท่านั้น- ในกรณีที่มีปัญหา ควรปรึกษาช่างไฟผู้มีประสบการณ์ ดาวโหลด ตารางการทดสอบค่ะ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point